เมื่อพูดถึงประเทศโคลอมเบีย ก่อนหน้านี้เรามักจะนึกถึงจังหวะการเต้นที่ร้อนแรง ทีมฟุตบอลชื่อก้อง การประกวดสาวงามระดับโลก ไปจนถึงเจ้าพ่อยาเสพติดผู้ยิ่งใหญ่ แต่ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่เราเดินทางวนเวียนอยู่ในเมืองต่างๆ ของโคลอมเบีย สิ่งที่ทำให้เราผูกพันกับประเทศนี้มากที่สุดกลับเป็นการปั่นจักรยาน

โบโกตา (Bogota) เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานอันดับต้นๆ ของโลก ถึงจะตั้งอยู่บนเทือกเขาแอนดีส (Andes) เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 2,640 เมตร แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นราบและมีอากาศเย็นสบายตลอดปี

เส้นทางจักรยานในโบโกตามีระยะทางรวมถึง 350 กิโลเมตร แม้สภาพแวดล้อมโดยรวมจะยังสู้เมืองจักรยานอันดับหนึ่งอย่างอัมสเตอร์ดัมและโคเปนเฮเกนไม่ได้ แต่โบโกตาก็เป็นเมืองหลวงที่มีผู้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางมากที่สุดเมืองหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้

นอกจากนี้โบโกตายังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเมืองต้นกำเนิดของ ‘ซิโคลเวีย’ (Ciclovia) หรือการปิดถนนปั่นจักรยาน ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกนำเอาแนวความคิดนี้ไปเป็นแม่แบบจัดกิจกรรมที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในเมืองหลวง เช่น เม็กซิโกซิตี้ ปารีส เคปทาวน์ ฯลฯ

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

ภาพ : Micah MacAllen via Flickr, CC BY-SA 2.0

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

ภาพ : Carlos Felipe Pardo via Flickr, CC BY 2.0

‘ซิโคลเวีย’ ของโบโกตา คือการปิดถนนเส้นหลักทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึงบ่าย 2 โมงเป็นระยะทางติดต่อกันกว่า 120 กิโลเมตร เพื่อให้ทุกคนในเมืองได้ออกมาปั่นจักรยานและทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยจักรยานทุกประเภท ทั้งจักรยานเสือภูเขา จักรยานแม่บ้าน จักรยานพับ จักรยานสามล้อของเด็กๆ จักรยานแบบครอบครัว หรือจักรยานแบบมีรถพ่วงข้าง

นอกจากนี้ยังมีคนออกมาทำกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ทั้งเดินออกกำลังกาย วิ่ง เล่นโรลเลอร์เบลด เล่นสเก็ตบอร์ด เต้นแอโรบิก เล่นโยคะ หรือเล่นดนตรี รวมไปถึงพ่อค้าแม่ขาย เจ้าของร้านเช่าและซ่อมจักรยานที่มาตั้งโต๊ะให้บริการกันตลอดริมถนน

ซิโคลเวียได้เปลี่ยนถนนสายหลักของโบโกตาให้กลายเป็นสวนสาธารณะชั่วคราวขนาดใหญ่สำหรับคนทั้งเมือง

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

 

เราจะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่

จุดเริ่มต้นของซิโคลเวียมาจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวโคลอมเบียชื่อ ไฮเม ออร์ติซ มาริโญ (Jaime Ortiz Mariño) เขาได้รับทุนการศึกษาและเดินทางไปประเทศสหรัฐฯ เพื่อเรียนด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบในช่วงปลาย ค.ศ. 1960 ในขณะที่เป็นนักศึกษา ไฮเมไปเข้าร่วมการประท้วงสงครามเวียดนามตามคำชวนของเพื่อนๆ และคณะอาจารย์ที่บอกว่า เขา ‘เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้’ เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลง ไฮเมก็เชื่อว่าผลของการประท้วงครั้งนั้นมีส่วนทำให้เกิดการต่อต้านสงครามเวียดนามในวงกว้าง

การได้มีส่วนร่วมในการปฏิวัติทางสังคมในสมัยเรียนของไฮเม กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ทางความคิดเล็กๆ ที่รอวันเติบโต ไฮเมเห็นถึงพลังของประชาชนที่เปลี่ยนทิศทางและสถานการณ์ทางสังคมที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งได้

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

ภาพ : Carlos Felipe Pardo via Flickr, CC BY-SA 2.0

ไฮเมอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ ในยุคที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเฟื่องฟูอย่างสุดขีด ผู้คนนิยมซื้อรถยนต์ส่วนตัวและย้ายออกไปซื้อบ้านอยู่นอกเมืองเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของย่านที่อยู่อาศัยอย่างไร้ทิศทาง เมื่อคนเหล่านั้นขับรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด ตามมาด้วยปัญหามลภาวะ การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากในเมืองไปสู่ย่านชานเมืองทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ในขณะเดียวกันบางพื้นที่ของเมืองก็กลายสภาพเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและแบ่งแยกทางสังคมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อไฮเมเรียนจบและกลับมาบ้านเกิดที่โบโกตา ก็ตกใจที่หันไปทางไหนก็เห็นแต่รถยนต์ และคิดว่าหากยังเป็นแบบนี้ต่อไป โบโกตาจะมีสภาพไม่ต่างจากสหรัฐฯ ที่กำลังเป็นอยู่ในตอนนั้น และฮีโร่ที่ไฮเมเลือกที่จะนำมาแก้ไขสถานการณ์นี้ก็คือ ‘จักรยาน’

 

1974 จักรยานครองเมือง

Grand manifestation of the pedal

ค.ศ. 1970 ไฮเมและเพื่อนๆ รวมตัวกันปั่นจักรยานในโบโกตาช่วงกลางคืน โดยใช้ไฟฉายพันรอบขา พวกเขาเปิดร้านซ่อมจักรยานและออกเดินสายรณรงค์ประโยชน์ของการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันทั้งตามท้องถนน ในโรงเรียน และผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ของรัฐ การประชาสัมพันธ์ที่ทุ่มเทของไฮเมและเพื่อนๆ ทำให้เกิดเครือข่ายเล็กๆ ของกลุ่มนักปั่นจักรยาน และมีการรวมตัวกันออกมาปั่นจักรยานตอนกลางคืนสัปดาห์ละ 2 ครั้งเพื่อแสดงจุดยืนของกลุ่ม

วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1974 เจ้าหน้าที่ทางการโบโกตาได้อนุญาตให้ปิดถนนส่วนหนึ่งเป็นเวลา 3 ชั่วโมงเพื่อการปั่นจักรยาน วันนั้นมีผู้คนหลากหลายทั้งกลุ่มแม่บ้าน เด็กวัยรุ่น คนทำงาน และผู้สูงอายุ รวมแล้วกว่า 5,000 คน ออกมาร่วมปั่นจักรยานกลางเมืองหลวงอย่างพร้อมเพรียงกัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงเป็นการประกาศศักดาของจักรยานบนถนนในโบโกตาอย่างเต็มภาคภูมิเป็นครั้งแรก

แต่กว่าซิโคลเวียจะได้รับการรับรองให้เป็นกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างแท้จริงก็ต้องใช้เวลาถึงอีก 2 ปีหลังจากนั้น

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

 

เมืองหลวงของจักรยานแห่งทวีปอเมริกา

ในช่วงระยะเวลาสิบปีกว่าหลังจากที่ซิโคลเวียได้รับการยอมรับในโคลอมเบีย กระแสการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานกลางเมืองก็แพร่กระจายไปสู่เมืองใหญ่ๆ ทั้งในทวีปอเมริกาและในทวีปยุโรป ในขณะที่ซิโคลเวียในโบโกตาเองก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง ค.ศ. 1998 – 2000 นายเอนริเก้ ปีญาโลซา (Enrique Peñalosa) ผู้ว่าฯ โบโกตาที่เข้ารับตำแหน่งได้ยกเลิกแผนการใช้งบประมาณเพื่อสร้างทางหลวงเส้นใหม่ และนำเอาเงินไปใช้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนและเลนจักรยานในเมือง มีการสร้างเส้นทางจักรยานเพิ่มจาก 12 กิโลเมตรเป็น 112 กิโลเมตร

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

ในระหว่าง ค.ศ. 2007 มีการเสนอกฎหมายให้ยกเลิกซิโคลเวีย เนื่องจากทำให้เกิดปัญหารถติด ประชาชนจึงรวมตัวกันประท้วงต่อต้าน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากอดีตผู้ว่าฯ ที่เคยดูแลโครงการอยู่ จึงทำให้การพิจารณากฎหมายข้อนี้ต้องตกไป

การจัดกิจกรรมลักษณะนี้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทำให้เมืองใหญ่หลายแห่งไม่สามารถจัดกิจกรรมนี้ในระยะยาวได้ ค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดในการจัดกิจกรรมคือ ค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ที่ต้องคอยดูแลเส้นทางจักรยาน

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

โบโกตาจึงใช้วิธีรับอาสาสมัครเพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง ครั้งแรกที่เปิดรับ Guardian (ผู้พิทักษ์) มีผู้สนใจสมัครเพียง 20 กว่าคนเท่านั้น แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อตามละครดังในโคลอมเบียเรื่อง Baywatch มาเป็น ‘Bikewatch’ ก็มีคนสนใจมาก และมีผู้สมัครกว่า 1,000 คน งานที่เหล่า Bikewatch ทำมากที่สุดก็คือการปฐมพยาบาล เพราะเมื่อมีทั้งคนปั่นจักรยาน คนวิ่ง คนเล่นสเก็ตบอร์ด คนเล่นโรลเลอร์เบลด มารวมตัวกันมากขนาดนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จะมีล้มลุกคลุกคลานกันบ้าง

ในส่วนของเครื่องแบบ ป้าย อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในโครงการซิโคลเวียทั้งหมด เป็นเงินที่หักจากภาษีของคนในเมืองโบโกตานั่นเอง

 

เมื่ออยู่บนจักรยาน เราทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

เนื่องจากพื้นที่ของเมืองโบโกตามีรูปร่างยาว การกระจายของที่อยู่อาศัยจึงแบ่งเป็นส่วนเหนือ กลาง และใต้ อย่างชัดเจน คนที่มีรายได้สูงจะอยู่ทางเหนือ ชนชั้นกลางอยู่ช่วงกลางของเมือง และคนรายได้น้อยก็อยู่ทางฝั่งใต้

คนเหล่านี้แยกกันกินแยกกันอยู่ แทบไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องมาปะปนหรือพบหน้ากัน แต่ด้วยเส้นทางของซิโคลเวียในวันอาทิตย์ที่เชื่อมต่อทั้งเมืองเข้าด้วยกัน ทำให้คนทางเหนือได้ปั่นจักรยานลงไปทางใต้ และคนทางใต้ก็ปั่นจักรยานขึ้นไปทางฝั่งเหนือ การได้พบ ได้เห็น ได้เจอหน้า ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน อาจทำให้เกิดความคุ้นเคย ทักทายพูดคุยกันโดยไม่มีบริบทของชนชั้นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง

จริงอยู่ที่ทุกคนมีกำลังซื้อต่างกัน แต่ซิโคลเวียไม่ใช่การแข่งขัน ถนนสายนั้นอาจมีคุณตาคุณยายที่ปั่นจักรยานคันเก่าซึ่งใช้มาเป็น 20 ปี คุณน้าที่มีลูกหมานั่งมาในตะกร้าหน้ารถ คุณพ่อที่พาลูกสาวออกมาฝึกปั่นจักรยาน นักธุรกิจหนุ่มที่มาซ้อมปั่นจักรยานก่อนไปแข่ง หรือกลุ่มเด็กผู้ชายที่ปั่นจักรยานด้วยกันที่โรงเรียน ฯลฯ

จักรยานทุกรูปแบบจากทุกมุมเมืองมาแบ่งปันพื้นที่ถนนสายเดียวกัน จอดรอสัญญาณไฟอยู่ในจุดเดียวกัน ต่างคนต่างยืนพยุงจักรยานของตัวเองและเฝ้ารอ ชนชั้นที่แตกต่างเกิดความเสมอภาคกันในช่วงเวลานั้น

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

สำหรับนักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นอย่างเรา ซิโคลเวียเปิดโอกาสให้เราได้ปั่นจักรยานชื่นชมความงามของโบโกตา เพราะเส้นทางซิโคลเวียตัดผ่านจัตุรัสชื่อดังและพิพิธภัณฑ์ขึ้นชื่อหลายแห่ง รวมทั้งพื้นที่ในย่านเมืองเก่าซึ่งมีสถาปัตยกรรมสวยงาม แต่ถนนในย่านนั้นมีตรอกซอกซอยเล็กๆ มากมาย

ในวันธรรมดานักท่องเที่ยวมักจะได้รับคำแนะนำให้เลี่ยงการเข้าไปเดินเล่นในย่านนี้ช่วงเย็น เพราะอาจจะตกเป็นเป้าให้เกิดการชิงทรัพย์ได้ง่าย ซิโคลเวียจึงทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเรามีโอกาสปั่นจักรยานไปสัมผัสบรรยากาศย่านเมืองเก่าพร้อมกับผู้คนมากมายที่ออกมาร่วมกิจกรรม

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

ปัจจุบัน โบโกตามีผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกว่า 1 ล้านคนต่อวัน ส่วนในวันที่มีซิโคลเวียตัวเลขนี้จะพุ่งขึ้นสูงถึง 2 ล้านคน ถึงแม้ปัญหาเรื่องการจราจรและปริมาณรถยนต์ในโบโกตาจะยังแก้ไม่ตกซะทีเดียว แต่ด้วยการผลักดันนโยบายใหม่ๆ ที่สนับสนุนและรองรับการใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางอย่างเต็มรูปแบบของโบโกตาที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ อนาคตของการเป็นเมืองหลวงของจักรยานแห่งทวีปอเมริกาน่าจะอยู่แค่เอื้อม 🙂

“ทางจักรยานที่ปลอดภัยเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของประชาธิปไตย เพราะมันแสดงให้เห็นว่า คนที่ขี่จักรยานราคา 30 ดอลลาร์ฯ มีความสำคัญเท่ากับคนที่ขับรถยนต์ราคา 30,000 ดอลลาร์ฯ” นายเอนริเก้ ปีญาโลซา อดีตผู้ว่าฯ โบโกตา กล่าวไว้

โคลอมเบีย, ปั่นจักรยาน, Ciclovia

 

References

  1. .Bogota, Columbia. Wikipedia
  2. Bogotá closes its roads every Sunday. Now everyone wants to do it., VOX.July 2017
  3. Enrique Peñalosa, Wikipedia
  4. Why buses represent democracy in action by Enrique Peñalosa, TEDCity2.0
  5. Bogota Mejor Para Todos
  6. How a Colombian Cycling Tradition Changed the World, Bycycling August 2015
  7. Reclaiming the streets in Bogota, BBC. September 2013