หมวกปานามาที่ไม่ได้มาจากปานามา
เราเป็นอีกคนที่หลงเสน่ห์ของหมวกปานามา หรือหมวกสานสีขาวครีมสบายตา คาดด้วยริบบิ้นสีเข้ม แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงจึงได้แต่แอบนิยมชมชอบอยู่เงียบๆ จนกระทั่งตอนที่วางแผนทริปนี้และได้รู้ว่าจะมีโอกาสเดินทางผ่านประเทศปานามา ก็เลยสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ซื้อของที่ระลึกจากประเทศอื่นๆ ที่ผ่านเลยแม้แต่ชิ้นเดียว และจะเก็บเงินเอาไว้ซื้อหมวกปานามาที่ประเทศปานามาให้เป็นของขวัญตัวเองสักใบ
แต่…หมวกปานามาของแท้ ต้อง ‘เมด อิน เอกวาดอร์’
หมวกปานามาทุกใบที่เราหยิบมาลองที่ร้าน นอกจากด้านในของหมวกจะมีตราประทับเป็นข้อความที่อ่านได้ว่า ‘ผลิตในประเทศเอกวาดอร์’ แล้ว คุณพนักงานขายก็ยังอธิบายให้ฟังอย่างชัดเจนด้วยว่า หมวกทุกใบมีเอกสารรับรองว่าเป็น ‘หมวกปานามา’ ที่มาจาก ‘ประเทศเอกวาดอร์’ จริงๆ และไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพราะค่าแรงงานหรือกระบวนการผลิตที่ประเทศเอกวาดอร์ราคาถูกกว่าของประเทศปานามา แต่เพราะหมวกปานามาของแท้ต้อง ‘เมด อิน เอกวาดอร์’ เท่านั้น
5 ร้านผ่านไปก็ได้ยินคำอธิบายที่คล้ายๆ กัน ความรู้ใหม่นี้ทำให้เรารู้สึกทึ่งและอดสงสัยไม่ได้ เพราะอะไรกันนะ หมวกสัญชาติเอกวาดอร์เหล่านี้ถึงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในนามของ ‘หมวกปานามา’ มากกว่าที่จะเป็น ‘หมวกเอกวาดอร์’
จากหมวกเอกวาดอร์สู่หมวกปานามา
หากจะพูดกันถึงจุดเริ่มต้น ก็คงต้องเริ่มกันตั้งแต่ที่เมืองมอนเตคริสตี (Montecristi) ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลชายฝั่งทะเลในประเทศเอกวาดอร์ ชาวพื้นเมืองของที่นี่ได้นำเอาใบของต้นโตคียา (Toquilla) ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นเฉพาะในแถบนี้ มาสานเป็นหมวกที่มีทั้งความละเอียดและความประณีตสวยงามเป็นอย่างมาก และทักษะนี้ในแต่ละครอบครัวก็สืบทอดต่อกันมายาวนานกว่าหลายร้อยปีแล้ว โดยชาวเอกวาดอร์เรียกหมวกชนิดนี้แบบตรงตัวว่า ‘หมวกสานโตคียา’ หรือ ‘หมวกมอนเทคริสตี’ ตามชื่อเมืองนั่นเอง
มีการสันนิษฐานกันว่าชาวพื้นเมืองเริ่มทำหมวกลักษณะนี้ในช่วงศตวรรษที่ 16 และค่อยๆ เริ่มทำหมวกเพื่อการแลกเปลี่ยนซื้อขายมากขึ้นในศตวรรษที่ 17 และ 18 แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อ มานูเอล อัลฟาโร (Manuel Alfaro) อดีตเจ้าหน้าที่ทหารสเปนคนหนึ่ง ได้หลบหนีจากประเทศสเปนมาอยู่ที่เมืองมอนเตคริสตี อัลฟาโรสังเกตเห็นหมวกของชาวพื้นเมือง ก็เกิดความคิดแล้วลงมือก่อตั้งธุรกิจค้าขายหมวก และมีความตั้งใจว่าจะส่งหมวกออกไปขายตามเมืองใหญ่อื่นๆ
แต่สถานะของประเทศเอกวาดอร์ในยุคนั้น เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางที่สนใจจะมาเที่ยวหรือแม้แต่เดินทางผ่าน จึงมีโอกาสน้อยมากที่หมวกสวยๆ เหล่านี้จะได้อวดโฉมแก่โลกภายนอก
Location, location, location!
ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ในยุคสมัยที่การเดินทางด้วยเครื่องบินยังเป็นไปไม่ได้ นักเดินทางที่ต้องการเดินทางจากฝั่งตะวันออกของประเทศแคนาดาหรือประเทศสหรัฐฯ ไปยังฝั่งตะวันตก จะมีตัวเลือกเพียง 3 ทาง คือ
- ทางบก ด้วยการเดินทางผ่ากลางทวีปอเมริกาเป็นแนวนอน
- ทางน้ำ ด้วยการเอาเรือล่องลงไปจนถึงจุดใต้สุดของอเมริกาใต้ แล้วล่องวนกลับขึ้นเหนือ
- ทางน้ำและบก ด้วยการลงเรือมาขึ้นฝั่งทางตะวันออกของประเทศปานามา และไปต่อเรือทางฝั่งตะวันตก ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีเดินทางที่รวดเร็วที่สุดและเป็นที่นิยมที่สุดในตอนนั้น ท่าเรือปานามาจึงเป็นท่าเรือที่คึกคักและมีผู้คนจากทั่วโลกสัญจรอยู่ตลอด
แน่นอนว่าอัลฟาโรเองก็มีจุดหมายที่จะส่งหมวกออกไปขายต่างประเทศอยู่แล้ว และปานามาก็อยู่ไม่ไกลจากเอกวาดอร์มากนัก ประจวบเหมาะกับช่วงกลาง ค.ศ. 1850 เป็นยุคตื่นทอง (Gold Rush) ที่รัฐแคลิฟอร์เนียในประเทศสหรัฐฯ นักแสวงโชคจำนวนมากแห่กันเดินทางไปขุดทองที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนหนึ่งในนั้นก็คือผู้คนจากฝั่งตะวันออกที่พากันเดินทางไปขุดทองทางฝั่งตะวันตก และต่างก็นิยมใช้เส้นทางการเดินเรือในแบบที่ 3 นั่นก็คือมาแวะขึ้นฝั่งที่ประเทศปานามาเพื่อต่อเรือขึ้นเหนือ
“หมวกสวยดี ซื้อมาจากไหน”
“ปานามา”
เมื่อนักเดินทางเหล่านี้มาพบกับแสงแดดแผดจ้าของท่าเรือปานามา หมวกสานที่มีคุณสมบัติช่วยกันแดดได้ ระบายอากาศดี น้ำหนักเบา และพกพาง่าย จึงเป็นสินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่อง ส่วนนักขุดทองที่โชคเข้าข้างและได้ทองมาจากแคลิฟอร์เนีย ก่อนเดินทางกลับบ้านก็ต้องมาแวะที่ปานามา และกวาดซื้อข้าวของไปฝากครอบครัว แน่นอนว่าหมวกสานโตคียาก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ติดมือกลับบ้านไปด้วย
หลังเดินทางกลับไปถึงบ้านเมืองตัวเอง คนอื่นๆ เห็นหมวกเข้าก็อาจจะทักว่า “หมวกสวยนะ ซื้อที่ไหน“ และคนตอบก็ตอบตามแหล่งที่ซื้อมาทันทีว่า “ปานามา” โดยไม่ได้คำนึงถึงหรือไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าหมวกที่ใส่อยู่ผลิตจากประเทศเอกวาดอร์ อีกทั้งในสมัยนั้นประเทศเอกวาดอร์ก็ไม่ได้มีเทคโนโลยีที่จะประทับตราชื่อประเทศไว้ที่สินค้า ด้วยเหตุนี้หมวกสานโตคียาจากเอกวาดอร์ที่ขายดิบขายดีในท่าเรือปานามาจึงค่อยๆ กลายเป็น ‘หมวกปานามา’ หรือ ‘Panama Hat’ ไปโดยปริยาย
การเดินทางของหมวกปานามายังไม่จบเพียงแค่นั้น ในช่วง ค.ศ. 1881 โครงการสร้างคลองปานามา (Panama Canal) ก็เริ่มต้นขึ้น คนงานก่อสร้างจำนวนมากสวม ‘หมวกปานามา’ เพื่อป้องกันแสงแดดในขณะทำงาน ภาพถ่ายของการก่อสร้างคลองปานามาที่มีคนงานจำนวนมากสวมหมวกสานขณะทำงาน จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำความเป็น ‘หมวกปานามา’ ให้มีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก
Public Domain, Wikipedia
และเมื่อบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดอย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) มาเยี่ยมชมการก่อสร้างคลองปานามาใน ค.ศ.1906 พร้อมกับสวม ‘หมวกปานามา’ มาด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้นไปอีก เนื่องจากภาพถ่ายเหล่านั้นได้รับการเผยแพร่ออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่เพียงเป็นการสร้างกระแสทางแฟชันให้กับการสวมหมวกปานามา แต่ยังเป็นการทำให้หมวกสานจากเอกวาดอร์กลายเป็น ‘หมวกปานามา’ อย่างยากจะเปลี่ยนแปลงได้อีก
ตั้งแต่นั้นมาหมวกปานามาก็ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนชั้นกษัตริย์, นักปกครอง, นักการเมืองและบุคคลมีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการ
หมวกปานามาในประเทศเอกวาดอร์
ในยุคหลังถึงปัจจุบัน หมวกปานามาที่ดีที่สุดและราคาแพงที่สุดยังคงมาจากเมืองมอนเตคริสตี ส่วนเมืองที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกหมวกปานามาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ หรืออาจจะเรียกได้ว่าของโลกก็คือเมืองเกวงกา (Cuenca) เนื่องจากมีโรงงานผลิตหมวกขนาดใหญ่เปิดดำเนินการหลายแห่ง มีการเปิดสอนวิธีการสานหมวกให้แก่คนที่สนใจอยากเรียนรู้ทุกเพศทุกวัย ถึงขนาดร่ำลือกันว่าคนที่สานหมวกไม่เป็นอาจจะโดนลงโทษด้วยการโดนขังคุก แต่อีกแหล่งข่าวก็บอกว่าเป็นการเข้าใจผิดกัน เพราะที่จริงแล้วเป็นการเกณฑ์นักโทษที่ต้องโทษในเรือนจำอยู่แล้วให้ออกมาสานหมวกเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
ด้วยนโยบายส่งเสริมที่เข้มข้นนี้ ทำให้หมวกปานามากลายเป็นสินค้าหลักที่ส่งเสริมเศรษฐกิจให้แก่ภูมิภาคนี้ได้อย่างทรงพลังและทำกำไรได้มากที่สุดอีกด้วย
เยี่ยมชมโรงงานผลิตหมวกปานามาในเอกวาดอร์
หลังจากได้เห็นและสัมผัสหมวกปานามาที่ประเทศปานามาแล้ว ประมาณ 8 เดือนต่อมาเราก็เดินทางไปยังเมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และมีโอกาสไปเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตหมวกที่โรงงานแห่งหนึ่ง โดยผู้ที่เข้าชมจะได้เห็นการสานหมวก เก็บขอบ กัดสี เข้าบล็อกตั้งทรงหมวก และตกแต่งเพิ่มเติม ฯลฯ จนกระทั่งไปถึงหน้าร้านที่วางขายสินค้า
ช่างสานหมวกในชุดสตรีพื้นเมือง
ที่เห็นได้ทั่วไปในเมืองเกวงกา
การตรวจสอบคุณภาพหมวกปานามา
คุณภาพของหมวกปานามาวัดกันที่ความแน่นของจำนวนเส้นที่ใช้สาน ยิ่งเส้นเหล่านั้นมีความละเอียดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งป้องกันแดดได้ดีขึ้น สวยงามมากขึ้น และราคาสูงมากขึ้นตามไปด้วย โดยมาตรที่ใช้วัดความแน่นของการสาน คือการนับจำนวนเส้นในแนวนอนและแนวขวางต่อ 1 ตารางนิ้ว ส่วนระยะเวลาในการสานหมวกแต่ละใบก็มีตั้งแต่ 3 สัปดาห์ 1 เดือน 5 เดือนไปจนถึง 8 เดือน
หมวกที่ชาวบ้านสานส่งให้กับโรงงาน



บล็อกไม้สำหรับการจัดวางหมวกให้อยู่ทรงในระหว่างสานช่วงปีกหมวก
By hatsfromtheheart.ec, CC BY-SA 4.0, Wikimedia Commons
เครื่องบล็อกทรงหมวกและแพตเทิร์นหมวกต่างๆ บนชั้นวางของ
จัดวางหมวกในเครื่องบล็อกในขณะที่เครื่องยังร้อน
สภาพหมวกก่อนและหลังบล็อกทรง
หมวกที่มีความละเอียดน้อยกว่า 100 เส้นต่อ 1 ตารางนิ้ว ถือเป็นหมวกที่มีคุณภาพต่ำ หมวกที่มีความละเอียด 1,600 – 2,500 เส้นต่อ 1 ตารางนิ้ว ถือเป็นหมวกที่มีคุณภาพดีมาก ส่วนหมวกที่มีความละเอียดสูงถึง 3,000 เส้นต่อ 1 ตารางนิ้ว เป็นหมวกที่หาได้ยากและอาจมีราคามากถึงใบละ 600,000 บาท
ตัวอย่างหมวกที่มีความละเอียดประมาณ 2,000 เส้น ต่อ 1 ตารางนิ้ว
By jean-christophe windland, CC BY 3.0 via wikipedia
ว่ากันว่าหมวกมอนเตคริสตีที่มีความละเอียดถึง 3,000 เส้นต่อ 1 ตารางนิ้ว ผู้ใช้สามารถหงายหมวกและเทน้ำใส่ได้โดยไม่มีน้ำรั่วซึมออกมาเลย หรือแม้แต่สามารถม้วนให้มีขนาดเล็กมาก จนสอดผ่านแหวนแต่งงานได้ และเมื่อคลี่กลับออกมา หมวกจะสามารถกลับมาคงรูปทรงเดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์ 🙂
เยี่ยมชมโรงงานผลิตหมวกปานามา Homero Ortega
เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์
*ไม่มีค่าใช้จ่าย
สถานที่: Avenue Gil Ramirez Davalos 3-86 หลังสถานีขนส่ง Terrestre, Cuenca 010106, Ecuador
โทร: +593 7-280-9000
อีเมล: [email protected]
เวลาทำการ: วันอาทิตย์ 09.00 AM – 11.30 PM
จันทร์ – ศุกร์ 08.00 AM – 06.00 PM
เสาร์ 08.30 AM – 12.30 AM
*ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมโรงงาน ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง มีรอบบรรยายสเปนและภาษาอังกฤษ เมื่อชมจบแล้วพนักงานจะพาไปชมหมวกที่ขายในร้านแต่ปล่อยให้เดินเล่นตามอัธยาศัย ไม่มีการบังคับซื้อหรือเชิญชวนให้ซื้อสินค้า*