ทางหลวงสายประวัติศาสตร์แห่งทวีปอเมริกาเหนือ

Alaska Highway

การออกทริปมอเตอร์ไซค์ครั้งนี้ทำให้เราได้รื้อฟื้นความรู้ด้านภูมิศาสตร์ของทวีปอเมริกาเยอะพอสมควร ข้อมูลหลายๆ อย่างที่เคยอ่านผ่านตาสมัยเรียนถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่หมด หนึ่งในนั้นคือเรื่องของรัฐอะแลสกา ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ในปกครองของประเทศรัสเซียและถูกขายให้ประเทศสหรัฐฯ ใน ค.ศ. 1867 ทำให้รัฐอะแลสกาเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐฯ และเป็นรัฐเดียวที่ไม่มีพรมแดนด้านใดติดกับรัฐอื่นๆ ของประเทศตัวเองเลย

แผนที่

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอขอสร้างถนนผ่านประเทศแคนาดา เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพลจากแผ่นดินหลักไปสู่อะแลสกา รัฐบาลแคนาดาตกลง โดยมีข้อแม้ว่าสหรัฐฯ จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเมื่อจบสงครามแล้วถนนที่อยู่ภายในเขตของประเทศแคนาดาจะต้องเป็นของแคนาดา
เมื่อทั้งสองประเทศหาข้อสรุปได้ การก่อสร้างทางหลวงอะแลสกา (The Alaska Highway) จึงเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1942 โดยแบ่งทีมสร้างถนนเป็น 2 ทีมใหญ่ และให้ลงมือสร้างพร้อมกันทั้งต้นทางและปลายทาง คือที่ดอว์สันครีก (Dawson Creek) ในเขตบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) ของประเทศแคนาดา และเดลตาจังก์ชัน (Delta Junction) ของรัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐฯ แล้วมาบรรจบกันตรงกลาง โดยตั้งชื่อจุดที่ทั้งสองฝั่งมาบรรจบกันว่า ‘คอนแทค ครีก’ (Contact Creek) ซึ่งอยู่ในเขตยูคอนของประเทศแคนาดา รวมเวลาในการสร้างทั้งหมดประมาณ 8 เดือน ระยะทางตอนสร้างเสร็จอยู่ที่ 2,700 กิโลเมตร

ก่อสร้าง

รูปโดย Office of War Information. Overseas Picture Division. Washington Division; 1944. [Public domain], Wikimedia Commons

อะแลสกาไฮเวย์หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า อัลแคน (ALaska-CANadian Highway) กลายเป็นหนึ่งในทางหลวงที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลกเพราะความยากลำบากของสภาพถนน ซึ่งในอดีตเป็นโคลน หิน และลูกรัง รวมทั้งสภาพอากาศที่ไล่ไปตั้งแต่เย็น หนาว ฝน ลูกเห็บ หิมะ ไปจนถึงน้ำท่วมฉับพลัน

แม้ในปัจจุบันอะแลสกาไฮเวย์จะได้รับการปรับปรุงหลายต่อหลายครั้งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนทั่วไป แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยจึงไม่สามารถทำได้อย่างเสร็จสมบูรณ์

Alaska Highway

อย่างไรก็ตาม ความลำบากที่มีผลตอบแทนเป็นความงดงามของวิวทิวทัศน์และบรรยากาศของธรรมชาติโดยรอบ ดูจะเป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ที่ดึงดูดให้นักเดินทางมากมายทั่วโลกฝันอยากจะ ‘พิชิต’ เส้นทางสายนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะด้วยรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่จักรยาน

Alaska Highway

The Alcan and Us

กิโลเมตรแรกบนทางหลวงอัลแคน

ระยะทางรวมของอะแลสกาไฮเวย์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,232 กิโลเมตร เรา 4 คนใช้เวลาเดินทางทั้งหมดประมาณ 5 วัน เฉลี่ยวันละประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง จากเดิมคุยกันเอาไว้ว่าจะค่อยๆ ขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นอะแลสกาไฮเวย์กันไปแบบไม่รีบร้อน แต่พอมาถึงจุดเริ่มต้นที่ดอว์สันครีก และมีโอกาสได้คุยกับคนท้องถิ่นที่ใช้ถนนสายนี้เป็นประจำ ทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ปีนี้หนาวเร็วนะ บางจุดหิมะตกแล้ว” “เริ่มมีแผ่นน้ำแข็งเกาะบนถนนแล้ว” ฯลฯ พอได้ยินแบบนั้น แผนเดินทางแบบเรื่อยเปื่อยจึงเป็นอันถูกล้มเลิก และเปลี่ยนเป็นยิ่งขึ้นเหนือได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี

Alaska Highway Alaska Highway

ปกติแล้วอะแลสกาไฮเวย์เป็นถนนที่สัญจรได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนที่ทั้งปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และโรงแรมที่พัก ซึ่งมีเปิดให้บริการเกือบจะทุก 40 – 80 กิโลเมตร แต่พอเข้าช่วงหน้าหนาว ร้านค้าและบริการเหล่านี้จะมีจำกัด ปั๊มน้ำมันบางแห่งเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติที่รับเฉพาะบัตรเครดิตอย่างเดียว ส่วนปั๊มที่มีคนคอยดูแลก็เปิดให้บริการช่วงกลางวันเพียงไม่กี่ชั่วโมง บางครั้งปั๊มน้ำมันเล็กๆ ตามรายทางก็ขายน้ำมันจนหมดตั้งแต่ช่วงกลางฤดูหนาว ทำให้ระยะห่างของปั๊มสองแห่งอาจไกลถึง 300 กิโลเมตร

ในกรณีของเรา 4 คนถึงจะมีขวดน้ำมันสำรองติดรถกันมา แต่ก็ไม่มากพอที่จะวิ่งได้ระยะไกลขนาดนั้น จึงใช้วิธีป้องกันน้ำมันหมดกลางทาง ด้วยการแวะเติมน้ำมันให้เต็มถังทุกครั้งที่เจอปั๊ม

Alaska Highway

สัญญาณโทรศัพท์เป็นอีกหนึ่งอย่างที่หาได้ยากในแถบนี้ คนท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณดาวเทียม และเพราะบริการประเภทนี้มีค่าใช้จ่ายสูง อินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งที่สงวนไว้เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินมากกว่าความบันเทิง ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายแห่งที่เราแวะใช้บริการระหว่างทาง มักจะติดป้ายตัวโตเด่นชัดเรื่องการอนุญาตให้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ร้านเพื่อเช็กอีเมลอย่างเดียว และห้ามอัพโหลด ดาวน์โหลด รูปภาพหรือเข้าโซเชียลมีเดียที่ไม่จำเป็นต่างๆ

Alaska Highway เต้นท์

ส่วนที่พัก ถ้าอยู่ในเขตเมืองก็อาจจะมีโรงแรมขนาดเล็กให้เลือกพักได้อย่างมาก 2 – 3 แห่ง แต่เมื่อออกนอกเขตเมืองมาแล้ว ที่พักริมทางส่วนใหญ่จะเป็นที่พักประเภท Motel หน้าตาพื้นๆ แต่ราคาสูงทะลุเพดานโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว และตัวเลือกที่เหลือในรัศมี 100 กิโลเมตร ก็จะมีแค่แคมป์กราวนด์หรือจุดกางเต็นท์ ซึ่งตอนแรกตัวเลือกนี้น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะกับการออกทริปมอเตอร์ไซค์ในฝันมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วอุณหภูมิที่ลดต่ำจนติดลบตอนกลางคืน และน้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็งเกาะนอกเต็นท์ ทำให้ไม่มีใครได้นอนหลับเต็มตื่น และยิ่งทำให้การขี่รถในเช้าวันถัดไปกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเป็น 2 เท่า การเดินทางตลอด 5 วันบนอะแลสกาไฮเวย์ของเราสี่คนจึงมีการกางเต็นท์นอนเพียงแค่ 2 คืน หลังจากนั้นต่อให้มืดและดึกแค่ไหน ทุกคนก็ดูจะเต็มอกเต็มใจกัดฟันขี่รถไปหาโรงแรมในเมืองนอนแทน

Alaska Highway Alaska Highway Alaska Highway

Road trip through the wild, เพื่อนร่วมทาง

เส้นทางกว่า 1,850 กิโลเมตรแรกของอะแลสกาไฮเวย์อยู่ในฝั่งประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นถนนที่ตัดผ่านบ้านของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ในแถบนี้ ตลอดเส้นทางเราเลยได้เจอทั้งฝูงแพะภูเขา มูส ไบซัน (Bison) และแม้แต่หมีดำ ที่เดินหาอาหารหรือนอนเล่นอยู่ในทุ่งหญ้าข้างถนนบ้าง ริมถนนบ้าง และบางครั้งก็เดินออกมาเกาะกลุ่มอยู่กลางถนนให้เห็นอยู่เป็นระยะ

Alaska Highway Alaska Highway Alaska Highway

หนึ่งในเพื่อนร่วมทางที่น่าตื่นตาตื่นใจและน่ากลัวในเวลาเดียวกันบนอะแลสกาไฮเวย์สำหรับเรา ต้องยกให้ไบซัน สัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในแถบอเมริกาเหนือ ไบซันเป็นสัตว์รักสงบแต่ถ้าอยู่ในช่วงผสมพันธุ์หรืออารมณ์ไม่ดีก็ควรหลีกหนีให้ไกล เพราะตัวโตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 900 – 1,000 กิโลกรัม สูงประมาณ 2 เมตร ลำตัวช่วงหน้ากับไหล่จะมีขนาดใหญ่มาก แต่สองขาหลังจะเล็กและสั้น ไบซันมีขนปกคลุมหนาในช่วงหน้าหนาวและจะหลุดไปเองตอนหน้าร้อน

Bison

ไบซันมักจะอยู่กันเป็นฝูงและมีลูกครั้งละตัว ถิ่นอาศัยของไบซันอยู่ในอะแลสกา แคนาดา เม็กซิโก และในประเทศฝั่งยุโรป เดิมทีแถบนี้เคยมีประชากรไบซันอยู่เป็น 10 ล้านตัว แต่โดนคนล่าเพื่อความบันเทิงจนเหลือหลักร้อยและเกือบสูญพันธุ์ รัฐบาลสหรัฐฯ และแคนาดาจึงออกกฎหมายให้ไบซันเป็นสัตว์คุ้มครอง ปัจจุบันมีไบซันกว่าแสนตัวอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ

Bison

จากการเห็นไบซันระยะประชิดหลายครั้ง เราว่ามันเป็นสัตว์ที่หน้าตาดูใจดี แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่พอๆ กับมอเตอร์ไซค์ที่เรานั่งซ้อนท้ายอยู่ ทำให้ทุกครั้งที่มีไบซันเดินช้าๆ ผ่านข้างรถไป เราก็อดที่จะกลั้นหายใจหรือนั่งทำตัวแข็งทื่อไม่ได้ ขนาดจะยกกล้องมาถ่ายรูปก็ยังพยายามกดชัตเตอร์เบาๆ เพราะถึงคริสเตียนจะบอกเราว่าไบซันไม่ใช่สัตว์ขี้ตกใจ แต่เราก็ยังไม่อยากพิสูจน์อยู่ดีว่าเป็นเรื่องจริงรึเปล่า

ปกติแล้วถ้าขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปเจอตัวอะไรก็ตามที่ออกมายืนใกล้กับถนน ทั้งสามหนุ่มที่มาด้วยกันก็จะพร้อมใจกันชะลอรถจอด และรอให้สัตว์เดินถอยออกไปหรือไม่ก็ข้ามถนนไปอีกฝั่งให้เสร็จก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากจะซึมซับภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ ตรงหน้า และอีกส่วนที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือความปลอดภัย สัตว์ชนิดเดียวที่สามหนุ่มไม่ได้ชะลอจอดตอนที่เห็นมันยืนอยู่ข้างทางก็คือหมีดำ ซึ่งสำหรับคนที่นั่งซ้อนท้ายอยู่หลังสุดอย่างเรา ก็คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดแล้ว

Alaska Highway Alaska Highway Alaska Highway ยุง

Alaska’s Unofficial State Bird

สัตว์ปีกประจำรัฐอย่างไม่เป็นทางการ

ว่ากันว่านอกจากป้ายบอกทางข้างถนนที่บอกให้รู้ว่าใกล้ถึงอะแลสกาแล้ว ก็มีกองทัพยุงนี่แหละที่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณสำคัญ ที่จริงเราก็พอจะได้ยินมาบ้างว่าอะแลสกามียุงเยอะ แต่ตอนนั้นก็คิดว่าไม่น่าจะห่วงอะไรมาก ยุงอะแลสกาหรือจะสู้ยุงในสวน (ต้น) ยางแถวทางใต้ของบ้านเราได้

แหม คนอย่างเราเนี่ยต้องเรียกว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาจริงๆ

วันสุดท้ายก่อนข้ามชายแดนจากแคนาดาไปอะแลสกา ในระหว่างรอสามหนุ่มเติมน้ำมันมอเตอร์ไซค์ เราก็เดินลงไปยืดเส้นยืดสาย และอยู่ๆ ก็ได้ยินเสียงหึ่งๆ รอบตัวแล้วก็เห็นจุดสีดำเล็กๆ ลอยอยู่ตรงหน้า ตอนแรกเรานึกว่าแมลงหวี่แมลงวัน แต่พอลองเพ่งดูถึงได้รู้ว่าเป็นยุงทั้งฝูง เป็นครั้งแรกในชีวิตจริงๆ ที่เห็นยุงแล้วรู้สึกขนลุก เพราะมันเยอะมากซะจนเรารู้สึกเหมือนโดนตามล่า ไม่อยากจะคิดเลยว่าถ้าวันนั้นเราไม่ได้ใส่เสื้อผ้าปกปิดมิดชิดจะโดนกัดยับเยิบขนาดไหน

เรามาค้นข้อมูลทีหลังก็พบว่าอะแลสกามียุงมากถึง 35 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กินเลือดคน ฤดูพีกของยุงคือช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศอบอุ่นที่สุดของอะแลสกา และแน่นอนว่าเป็นช่วงเดียวกับที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวแถวนั้นกันเยอะ ทีนี้การเกิดมาเป็นยุงขั้วโลกทำให้เลือดสดๆ เป็นอาหารที่หาได้ยาก พอมีเหยื่อตัวใหญ่อย่างเราโผล่เข้าไป ยุงทุกตัวก็พุ่งดิ่งเข้ามาแบบหิวกระหายมาตลอดชีวิต มากันเยอะเป็นฝูงจนถึงขนาดที่มองเห็นเป็นจุดสีดำๆ เป็นแผงคล้ายผ้าตาข่าย และเยอะถึงขนาดที่มีการแซวกันขำๆ กันในวงฝรั่งว่า หรือที่จริงแล้วรัฐอะแลสกาจะมียุงเป็นสัตว์ประจำรัฐกันแน่

Alaska Highway พระอาทิตย์ตก

Welcome to Alaska!

“ยินดีต้อนรับสู่อะแลสกา” เราเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ ตม. ฝั่งรัฐอะแลสกาน่าจะพูดทักทายไปตามมารยาท แต่ตอนที่ได้ยินประโยคนั้น สามหนุ่มพร้อมใจกันส่งเสียงเฮดังลั่นด่าน จนเจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่รอบๆ ตกใจ

การ ‘พิชิต’ อะแลสกาไฮเวย์อาจจะไม่ใช่ความฝันของเรา แต่การได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำความฝันให้เป็นจริงของคนข้างๆ มันก็ทำให้รู้สึกดีไปอีกแบบนะ 🙂