วันแรกในแคนาดา

Cardston, Alberta Canada

เริ่มวันใหม่ที่คาร์ดสตัน (Cardston) เมืองเล็กๆ ใกล้ชายแดนฝั่งแคนาดา เช้านี้หมดสภาพทั้งคู่ค่ะ นอนเหยียดยาวลุกไม่ขึ้นจนเกือบเที่ยง ตอนแรกเรายังไม่มีแผนเดินทางไปไหนต่อ เพราะยังเหลือเวลาอีกอย่างน้อย 4 วัน ก่อนจะถึงวันนัดเจอเพื่อนร่วมทางขึ้นอะแลสกาอีก 2 คน จนกระทั่งช่วงบ่ายก็ได้ไอเดียว่า จะขี่รถไปกางเต็นท์นอนชมนกชมไม้ที่อุทยานแห่งชาติทะเลสาบวอเตอร์ตัน (Waterton Lakes National Park) กันสักคืนสองคืน

ตัวอุทยานอยู่ห่างจากเมืองที่เราอยู่แค่ประมาณ 40 กิโลเมตร เราสองคนก็เลยชวนกันไปซื้อวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร รวมทั้งผลไม้สดและของกินเล่นจนเพลิน กว่าจะออกเดินทางก็เกือบ 4 โมงเย็นเข้าไปแล้ว

ถนน

หลังออกจากเขตเมืองมาสู่ทางหลวง ก็เจอทุ่งหญ้าโล่งกว้างที่สวยชวนมองแบบนี้ค่ะ แต่กลับเป็นความสวยที่มาพร้อมความลำบากตามเคย เพราะหลังจากออกมาได้ไม่ถึง 10 นาที ก็เริ่มมีลมตีเข้ามาด้านข้างอย่างรุนแรงจนล้อรถเกาะถนนแทบไม่ไหว ทำให้มอเตอร์ไซค์มีอาการเป๋ออกข้างตลอดเวลา ปกติทั้งรถและคนก็หนักมากอยู่แล้ว วันนี้มีน้ำหนักของกินสำหรับ 2 คน 3 วันเพิ่มเข้ามาอีก เรียกได้ว่าการเห็นแก่กินนำมาซึ่งความลำบากโดยแท้

ทุ่งหญ้า

เราสองคนขี่รถแบบทุลักทุเลไปตลอดทาง บางช่วงลมแรงมากจนต้องชิดเส้นขาวริมถนน และวิ่งด้วยความเร็วแค่ประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เวลามีรถยนต์มาต่อท้าย ก็ต้องคอยทำสัญญาณให้รถยนต์แซงขึ้นหน้าไป ถ้าเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ก็ถึงกับต้องชะลอจอด เพราะไม่งั้นอาจโดนลมพัดตกถนนเอาง่ายๆ

ที่คิดกันเอาไว้ดิบดีก่อนออกมาว่าจะได้ขี่รถสบายๆ ครึ่งชั่วโมงแล้วไปกางเต็นท์นอนเล่น

ก็เป็นอันต้องล้มเลิกไป เหลือแค่นั่งภาวนาให้ทั้งคนทั้งรถถึงที่หมายอย่างปลอดภัยเป็นพอ

ภูเขา

อุทยานแห่งชาติทะเลสาบวอเตอร์ตัน

Waterton Lakes National Park, Canada

1 ชั่วโมงกว่าหลังจากนั้น เราก็เอาชีวิตรอดมาถึงทางเข้าจนได้ค่ะ อุทยานแห่งชาติทะเลสาบวอเตอร์ตัน (Waterton Lakes National Park) ของแคนาดาแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานสันติภาพนานาชาติวอเตอร์ตัน เกลเชอร์ (Waterton Glacier International Peace Park) ที่เรียกว่าอุทยานนานาชาติ ก็เพราะในบริเวณเดียวกันนั้นมีอุทยานแห่งชาติเกลเชอร์ (Glacier National Park) ซึ่งเป็นอุทยานฝั่งอเมริการวมอยู่ด้วย

หลังจ่ายค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานและขี่รถเข้ามาด้านในแล้ว เราสังเกตเห็นป้ายเตือนนักท่องเที่ยวเป็นระยะ โดยเฉพาะป้ายจำกัดความเร็วของรถและป้ายห้ามทิ้งขยะเกลื่อนกลาด เนื่องจากในอุทยานมีสัตว์หลายชนิดอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ตั้งแต่นกสวยๆ ไปจนถึงหมีตัวใหญ่ ที่วันดีคืนดีอาจโผล่ออกมาให้เห็นข้างถนนหรือออกมาเดินหาอาหารในอุทยาน ป้ายเตือนเหล่านี้จึงมีไว้เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์ในอุทยานค่ะ

 

อุทยานแห่งชาติ

ป้ายในเมืองท่องเที่ยวของแคนาดามักจะมี 2 ภาษา เพราะบางส่วนของแคนาดาใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาหลัก

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ก่อนเข้าพักในอุทยาน ต้องติดต่อศูนย์บริการนักท่องเที่ยวค่ะ แน่นอนว่าการมากับคริสเตียนที่หายใจเข้าออกเป็นการผจญภัย ทำให้เราตัดความคิดที่จะไปนอนโรงแรมของอุทยานออกไปตั้งแต่แรกโดยไม่ต้องถาม

มาถึงนี่แล้วต้องใกล้ชิดธรรมชาติ ต้องนั่งผิงไฟนอนดูดาวท้าลมหนาวให้สมใจ” (ท่อนสุดท้ายนี่เราเติมเองแหละ) เพราะฉะนั้น จากตัวเลือกมากมายที่ทางอุทยานมีให้ ก็เหลือที่พักแค่ 2 จุดที่น่าจะตอบโจทย์คือ แคมป์กราวด์เบลลี ริเวอร์ (Belly River) ค่าธรรมเนียมคืนละประมาณ 400 บาท เป็นแคมป์กราวด์แบบไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ แม้แต่ห้องน้ำ เหมาะกับคนที่อยากตัดขาดกับโลกภายนอกแบบสิ้นเชิง จุดที่สองคือ เครนเดล เมาน์เทน (Crandell Mountain) ค่าธรรมเนียมคืนละประมาณ 570 บาท จุดนี้มีน้ำดื่ม ห้องน้ำ เตาสำหรับก่อไฟให้บริการ แต่ไม่มีห้องอาบน้ำและไฟฟ้า งานนี้เราสองคนก็เลยพบกันคนละครึ่งทางที่ตัวเลือกที่สอง

คริสเตียนได้นอนเต็นท์ชมดาวอย่างที่ฝัน ส่วนเราก็มีห้องน้ำใช้เป็นที่เป็นทางเพื่อความอุ่นใจ

แคมป์

จุดตั้งแคมป์

Crandell Mountain Campground

จุดตั้งแคมป์เครนเดล เมาน์เทน อยู่ในพื้นที่ของป่าดิบเขา (Montane forest) ซึ่งมีพืชพันธุ์ทยอยผลัดใบเขียวตลอดปี ภายในแคมป์มีจุดตั้งเต็นท์หรือจอดรถบ้านทั้งหมด 129 จุด แต่ละจุดแบ่งเป็นสัดส่วนด้วยพุ่มไม้เล็กๆ มีความเป็นส่วนตัวพอสมควร ทุกจุดมีโต๊ะยาว 1 ตัว เตาก่อไฟ และตู้สำหรับเก็บอาหารทุกประเภท

ตู้เก็บอาหารที่ว่า ไม่ใช่ตู้สี่เหลี่ยมธรรมดา แต่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้หมีเปิดหรือทำลายได้ นอกจากใช้วัสดุที่แข็งแรงและสามารถเก็บกลิ่นอาหารได้แล้ว การเปิด-ปิดตู้ก็ต้องใช้วิธีหงายมือ แล้วเอานิ้วสอดเข้าไปในช่องแคบๆ และดึงเข้าหาตัวเพื่อเปิดล็อกฝาตู้

ตู้

ภาพ: Forest Service Northern Region [Public domain] จาก Wikimedia Commons

นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นตู้แบบนี้ค่ะ หลังจากนั้นมาก็สังเกตเห็นว่าถังขยะในอุทยานทั้งหมด รวมถึงถังขยะส่วนใหญ่ที่วางอยู่ข้างถนนบนทางหลวงจากแคนาดาไปจนถึงบางส่วนของรัฐอะแลสกา ก็มีหน้าตาและวิธีการเปิดปิดคล้ายๆ กัน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันสัตว์ป่าที่อาจจะตามกลิ่นอาหารออกมาและคุ้ยเขี่ยเศษขยะในถัง

ผลที่ตามมาคือสัตว์จะเกิดความเคยชินกับกลิ่นคน ทำให้เวลาเดินมาเจอกันโดยบังเอิญในป่า แทนที่ทั้งคนทั้งหมีจะเดินหนีกันไปคนละทาง ก็กลายเป็นหมีเดินเข้ามาหาเราได้โดยไม่รู้สึกกลัว

การตั้งแคมป์ในอุทยานวอเตอร์ตัน มีกฎข้อปฏิบัติที่นักท่องเที่ยวจะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามวางอาหารไว้เกลื่อนกลาด ห้ามเก็บอาหารเอาไว้ในเต็นท์ เศษอาหารรวมถึงน้ำซุปที่ไม่กินแล้วต้องนำไปทิ้งในถังขยะเฉพาะที่ทางอุทยานเตรียมไว้ให้ ภาชนะใส่อาหารทั้งหมดต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนเก็บเข้าที่ ฯลฯ ถ้านักท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ และเป็นต้นเหตุให้สัตว์ออกมารื้อเต็นท์ ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายคน ก็อาจจะต้องชำระค่าปรับและรับผิดชอบค่าเสียหายให้กับทางอุทยานอีกด้วย

 

อาหาร

หลังกางเต็นท์เสร็จเรียบร้อย เราสองคนลงมือทำอาหารง่ายๆ กินกัน แล้วแยกย้ายไปหามุมนั่งอ่านหนังสือ (ขอบคุณความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยนี้ ไม่อยากจะคิดเลยว่าทริปนี้จะผ่านไปได้ยังไง ถ้าเราต้องขนหนังสือที่อยากอ่านทุกเล่มติดตัวมาด้วย)

ตกค่ำก็พยายามจะออกมานั่งดูดาวกับเขาเหมือนกันค่ะ แต่ฟ้าฝนไม่เป็นใจกับเรา นั่งดูไปหนาวจนสั่นสะท้าน สุดท้ายก็เลยถอดใจและถอยทัพเข้าไปนอนอ่านหนังสือต่อในเต็นท์จนหลับไปแทน

กระโจม

ค้างคืนในกระโจมอินเดียนแดง

คืนแรกผ่านไปอย่างเชื่องช้าเพราะเรานอนแทบไม่หลับเลย เสียงลมลู่ต้นไม้ เสียงกระรอก เสียงกวางที่มาพร้อมเงาวอบแวบผ่านหน้าเต็นท์ เรานอนเงี่ยหูฟังและพยายามจินตนาการว่าเสียงหมีเดินควรจะเป็นยังไง ถ้าหมีแหวกเต็นท์เข้ามาเราจะวิ่งออกไปทางไหน แล้วต้องปลุกคริสเตียนหรือเปล่า ฯลฯ กว่าจะหลับได้ก็เกือบเช้า ส่วนคริสเตียนนี่หัวถึงหมอนปุ๊บหลับปั๊บ ก่อนนอนก็ไม่ลืมจะหันมาย้ำกับเราอีกว่า

“ถ้าหมีมา ยูฉีกเต็นท์วิ่งเลยนะ อย่ามัวหยิบของอยู่ล่ะ”

แหม เดี๋ยวก็ไม่ปลุกซะเลยนี่

พอฟ้าเริ่มสว่าง เราก็ล้มเลิกความคิดอยากจะนอนต่อ และลุกออกไปเดินเล่นรอบแคมป์แทน ภายในแคมป์เครนเดล นอกจากจะมีจุดกางเต็นท์แล้วยังมีบางส่วนเป็นกระโจมอินเดียนแดงให้เช่านอนได้ด้วยค่ะ คืนแรกที่เราไปถึง กระโจมพวกนี้มีคนเช่าเต็มหมดแล้ว แต่เช้าวันนี้ดูเหมือนนักท่องเที่ยวที่พักในกระโจมทยอยเก็บของกัน ช่วงสายๆ เราเลยเข้าไปติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อขอเช่ากระโจมอินเดียนแดง 1 หลัง จำได้แม่นว่าค่าเช่ากระโจมคืนละ 55 เหรียญดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 1,500 บาท ราคานี้เอาไปเปิดห้องเล็กๆ ในโรงแรมนอนก็น่าจะไหว แต่พอหันไปเห็นเด็กชายคริสเตียนที่ยืนมองภาพกระโจมด้วยตาเป็นประกาย ก็เป็นอันว่าหมดข้อสงสัยค่ะ

กระโจม

กระโจมอินเดียนแดงหรือทีพี (Teepee, Teepi, Tipi)

เดิมทีชาวพื้นเมืองใช้หนังสัตว์เย็บต่อกันเป็นแผ่นแล้วเอามาคลุมรอบโครงไม้ โดยเว้นส่วนยอดไว้ให้มีช่องเปิด-ปิดได้เวลาก่อไฟด้านใน ส่วนทีพีในอุทยานใช้วัสดุคล้ายผ้าใบที่มีน้ำหนักเยอะและกันน้ำได้มาทับกันสองชั้น ชั้นนอกเป็นผ้าใบผืนใหญ่ที่คลุมตั้งแต่ช่วงเกือบปลายยอดของโครงไม้ยาวลงมาจรดพื้น ชั้นในเป็นผ้าใบขนาดสั้นกว่าเพื่อคลุมเพียงแค่ครึ่งล่างของกระโจม และใช้วิธีพับส่วนที่เหลือเข้าด้านในเพื่อป้องกันลม ฝน และสัตว์เล็กๆ

ทางเข้าออกของกระโจมตัดไว้เป็นช่อง และใช้ผ้าใบด้านนอกมาคลุมปิด ส่วนของผ้าที่ทำหน้าที่คล้ายประตู มีท่อนไม้สอดอยู่ในตะเข็บผ้าด้านล่าง น้ำหนักของไม้จะช่วยถ่วงให้แผ่นผ้าเปิดปิดได้ตามที่เราต้องการ

จากที่มองด้วยสายตา เราคิดว่ากระโจมแบบนี้ไม่น่าจะมีพื้นที่เยอะ แต่พอได้เข้าไปยืนด้านในด้วยตัวเอง ก็พอจะเข้าใจว่า ทำไมชาวพื้นเมืองทั้งครอบครัวถึงใช้ชีวิตในกระโจมหนึ่งหลังได้ เพราะแม้แต่กระโจมจำลองของอุทยานที่เราเช่า ก็กว้างพอให้คน 5 – 6 คนเข้าไปนั่งเป็นวงกลมได้โดยไม่เบียดกัน

ตอนแรกเรากับคริสเตียนจะเก็บเต็นท์แล้วก็ย้ายถุงนอนเข้าไปในกระโจม แต่พอเห็นว่ายอดกระโจมเปิดโล่ง เลยเปลี่ยนใจยกเต็นท์เข้าไปกางในกระโจมแทน อย่างน้อยถ้าฝนตกตอนกลางคืน ก็มีเต็นท์ช่วยกันน้ำที่หยดลงตรงกลางได้

กระโจม

The Town of Waterton

ย้ายของเข้ากระโจมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ชวนกันออกไปเดินเล่นในเมืองวอเตอร์ตัน ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานเหมือนกันค่ะ ในเมืองมีทั้งโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ต

รถม้า

รถม้าเที่ยวชมรอบเมือง

กวาง กวาง

รอบอุทยานมีกวางยืนกินหญ้าตามมุมนู้นมุมนี้ของเมือง คริสเตียนเดินผ่านกวางไปเฉยๆ แบบไม่ได้สนใจอะไรมาก เพราะตอนเด็กๆ บ้านเขาอยู่ติดชายเขาแบบนี้ เลยมีกวางออกมากินหญ้าที่สนามหน้าบ้านบ่อย ส่วนเรานี่ตื่นเต้นมาก เดินได้ก้าวสองก้าวก็ต้องหยุดมอง ทั้งที่ตอนนั้นต้องประหยัดแบตกล้องเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ เราก็ยังควักกล้องถ่ายรูปออกมากดชัดเตอร์ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ทะเลสาบ

จุดที่ประทับใจที่สุดของการเดินเล่นในเมืองวันนี้ คงจะเป็นตอนที่เราเดินมาเจอป้ายที่เขียนเกร็ดเล็กๆ เกี่ยวกับเมืองวอเตอร์ตันป้ายนี้ โดยเฉพาะข้อ 3 ที่บอกว่า วอเตอร์ตันเป็นจุดที่มีลมแรงที่สุดแห่งหนึ่งของอัลเบอร์ตา ความเร็วลม 100 กม./ชม. เป็นเรื่องปกติ’ โอ้โห ถึงบางอ้อกันเลยค่ะ ตอนหาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองนี้ ไม่เห็นจะมีใครพูดถึงเรื่องลมเลย น่าจะเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ขับรถยนต์กันมา หรือถ้าขี่มอเตอร์ไซค์ ก็คงไม่ได้บ้าหอบฟางแบบเราแน่ๆ

ป้าย เก้าอี้

นกตัวนี้กางปีนได้หน่อยนึงก็โดนลมตีกลับ เจ้าหน้าที่แถวนั้นบอกว่าไม่ต้องห่วง เพราะเดี๋ยวลมเบาก็บินออกไปได้เอง

เดินเล่นจนเหนื่อยแล้ว เราสองคนก็กลับไปที่แคมป์ ช่วงค่ำมีกิจกรรมรอบกองไฟที่ทางอุทยานจัดให้ มีการเชิญวิทยากรซึ่งเป็นหลานชายของตระกูลหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงมานั่งเล่าประวัติชีวิตของคุณปู่คุณย่าให้ฟัง ไม่ได้ถ่ายรูปมาเพราะเกรงใจคนอื่นๆ ที่นั่งล้อมฟังอยู่ด้วยกัน ประมาณสี่ทุ่มกว่าทุกคนก็แยกย้ายกันไปนอนค่ะ คืนที่สองเราหลับแบบสบายใจกว่าคืนแรกเพราะแอบไปถามเจ้าหน้าที่เรื่องหมีมา เขาบอกว่ายังไม่เคยมีหมีพังกระโจมมาก่อน เคยแค่พังเต็นท์กับรถยนต์เท่านั้นเอง ได้ยินแบบนั้นเราก็เลยโล่งใจขึ้นมาหน่อย

ก่อนเข้านอนคืนนั้น เราสองคนเอาผลไม้สดและของกินเล่นบางส่วนไปแจกจ่ายเพื่อนๆ ที่พักในแคมป์ เพื่อลดน้ำหนักของกินที่อยู่ในกล่อง เพราะเช้าตรู่ของอีกวัน เราต้องออกเดินทางต่อเพื่อไปรวมตัวกับเพื่อนๆ อีก 2 คนในเมืองถัดไปค่ะ 🙂

มอเตอร์ไซค์

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ