Casper, Wyoming USA – Cardston, Alberta Canada (1,113 กม.)

การเดินทางในวันที่ 2 และ 3 เป็นการเดินทางแบบเต็มวัน เพื่อมุ่งหน้าสู่ชายแดนและข้ามไปเมืองคาร์สตันตามแผนค่ะ ระยะทางรวมทั้งหมดของ 2 วันนี้อยู่ที่ประมาณ 1,113 กิโลเมตร หรือ 692 ไมล์ ในวันที่ 2 เราเลือกวิ่งบนถนนทางหลวงสายหลักตลอดทั้งวัน ข้อดีของการขี่รถบนทางหลวงคือเราไม่ต้องกังวลกับสภาพถนนมาก แต่มีอะไรให้ดูน้อย ถ้าเจอเส้นที่มีวิวสวยๆ ให้ดูไปเรื่อยๆ ก็โชคดีหน่อยเพราะได้ถ่ายรูปตลอดทาง ชัดบ้าง เบลอบ้าง แล้วแต่จังหวะ วิวเลียบเส้นทางหลวงที่ชวนให้เราตื่นตาตื่นใจมากที่สุดก็คงจะเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้างแบบสุดลูกหูลูกตาที่คนที่นี่เห็นกันจนชิน แต่สำหรับคนที่โตมาในป่าคอนกรีตและสายไฟระโยงระยางเต็มฟ้าอย่างเรา ให้ดูนานแค่ไหนก็ไม่เบื่อเลยจริงๆ

เสียงเครื่องยนต์ เสียงลม และสัญญาณมือ

ก่อนจะมาออกทริปเราหาข้อมูลเรื่องหมวกกันน็อกแบบที่มีอุปกรณ์บลูทูธ (Bluetooth) ในตัวไว้ไม่น้อย เพราะคิดว่าการเดินทางที่กินระยะเวลาอย่างต่ำ 5 – 6 ชั่วโมงต่อวันแบบนี้ ต้องมีช่วงเวลาที่คนขี่กับคนซ้อนอยากคุยกันแก้เบื่อบ้าง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีความจำเป็นในการสื่อสารกันบ้างแน่ๆ แต่หลังรวบรวมข้อมูลไปลองคุยกับคริสเตียนดู ก็ได้รับคำอธิบายอย่างจริงจังว่าเสน่ห์ของการขี่มอเตอร์ไซค์สำหรับคริสเตียนคือการได้ยินเสียงเครื่องยนต์ เสียงลมผ่านหมวกกันน็อก ยิ่งถ้าได้วิ่งบนถนนสภาพดีและมีวิวสวยๆ ให้มอง ก็ยิ่งเหมือนการได้ทำสมาธิที่ทำให้จิตใจรู้สึกสงบเป็นพิเศษ ได้ฟังเหตุผลตามนั้นแล้วก็เป็นอันว่าต้องยกเลิกความคิดที่จะใช้หมวกกันน็อกแบบที่ใช้คุยกันได้ไปในทันทีค่ะ

เมื่อไม่มีบลูทูธไว้ให้คุยสัพเพเหระแล้ว เราสองคนก็เลยต้องหาวิธีที่จะสื่อสารกันเมื่อจำเป็น จึงกลายเป็นที่มาของสัญญาณมือแบบต่างๆ ที่เราใช้สื่อสารกับคริสเตียนในระหว่างที่รถกำลังเคลื่อนตัวด้วยความเร็วเกือบ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่น ท่าชูสองนิ้วคล้ายท่า ‘สู้ตาย’ ของคนไทยหมายถึงปวดเบา แต่ถ้าเป็นชูสองนิ้วคว่ำหมายถึงเมื่อยขา (ช่วยจอดให้ยืดเส้นหน่อย)

ท่าชูนิ้วโป้งกับนิ้วชี้คล้ายๆ หูโทรศัพท์หมายถึงการขอยืนขึ้นในขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่เพื่อเป็นการแก้เมื่อย เมื่อทำสัญญาณนี้แล้วเราต้องคอยให้คริสเตียนพยักหน้าก่อนถึงจะยืนขึ้นได้ ท่ากำมือแล้วปล่อยห้านิ้วสลับกันหมายถึงปวดหนักและต้องหาที่จอดด่วน (ตั้งแต่เริ่มทริปมายังไม่เคยต้องใช้เลยค่ะ และถ้าไม่ต้องมีโอกาสให้ใช้เลยในอนาคตได้ก็คงจะดีมาก) และท่าสุดท้ายคือ ถ้าเราตีหลังคริสเตียนตรงช่วงไหล่ขวาเบาๆ ติดกัน 2 ครั้ง หมายถึงให้จอดฉุกเฉินค่ะ

ที่ผ่านมาเราเคยใช้สัญญาณจอดฉุกเฉินแค่ครั้งเดียว ในการเดินทางวันที่ 2 นี่เอง เนื่องจากรัฐมอนทานา (Montana) ประเทศสหรัฐอเมริกา แดดค่อนข้างแรงและอากาศก็แห้งมาก วันนั้นเราพยายามกินน้ำน้อย เพราะไม่อยากเข้าห้องน้ำบ่อย สุดท้ายเกิดอาการขาดน้ำจนรู้สึกเหมือนหน้าจะมืดในระหว่างนั่งซ้อนท้าย ตอนนั้นเราพยายามตะโกนบอกคริสเตียนให้จอดแต่ก็สู้เสียงลมที่ตีเข้ามาไม่ได้ ลองทำสัญญาณปวดขา คริสเตียนก็ยังไม่เข้าใจว่าจะต้องจอดให้เร็วที่สุด โชคดีที่หันไปเจอปั๊มน้ำมันเราก็เลยรีบชี้ให้จอด ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เราเสียการทรงตัวและเอียงข้างพอดี แต่ไม่ถึงกับตกลงจากรถไปเพราะคว้าเสื้อคริสเตียนเอาไว้ได้ หลังจากนั้นมาก็เลยตกลงกันว่าเราสองคนจะต้องมีสัญญาณสำหรับการจอดฉุกเฉินเอาไว้เผื่อเหตุการณ์แบบนี้ด้วยนั่นเอง

Little Montana Campground

ช่วงบ่ายของวันที่ 2 เราตัดสินใจหลบร้อนด้วยการวิ่งถนนสายเล็กแทนทางหลวงค่ะ สภาพของถนนคอนกรีตผสมลูกรังอาจจะทำให้วิ่งช้าลงบ้าง แต่แลกกับความเย็นสบายของร่มไม้ข้างทางก็ถือว่าคุ้มค่า ก่อนพระอาทิตย์ตกวันนั้นเราสองคนผ่านมาเจอปั๊มน้ำมันและร้านค้าที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่โล่งที่แทบจะไม่มีอะไรโดยรอบในรัศมี 50 กิโลเมตร เมื่อลงไปสอบถามดูก็ได้ความว่าที่นี่นอกจากจะเป็นปั๊มน้ำมันแล้ว ก็ยังเป็น ‘แคมป์กราวนด์’ อีกด้วย

แคมป์กราวนด์ (Campground) คือสถานที่ซึ่งเปิดให้คนที่มีรถบ้าน (Camper) หรือเต็นท์มาใช้บริการพื้นที่ โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นลานโล่งกว้างขนาดใหญ่คล้ายลานจอดรถ บางแห่งมีร่มไม้จัดไว้เป็นสัดส่วน แคมป์กราวนด์มีทั้งแบบเปิดให้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แบบมีกล่องรับบริจาคเงินตามความพอใจของผู้ใช้ และแบบที่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าพื้นที่ตามจำนวนคืนที่พัก ทั้งหมดนี้หมายถึงระดับการอำนวยความสะดวกที่แตกต่างกันไปด้วย

สำหรับแบบไม่มีค่าใช้จ่ายหรือแบบวางกล่องรับบริจาคมักจะมีบริการความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น พื้นที่ให้จอดรถหรือกางเต็นท์ บางแห่งอาจจะมีโต๊ะสำหรับประกอบและรับประทานอาหารหรือห้องน้ำ ส่วนแบบมีค่าใช้จ่าย สิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็อาจจะมีน้ำสะอาด ห้องอาบน้ำ เตาปิ้งบาร์บีคิว ไฟฟ้าหรือที่ชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถบ้าน เนื่องจากรถประเภทนี้มักจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในรถ

ชาวอเมริกันและแคนาดานิยมท่องเที่ยวด้วยรถบ้าน และมักใช้บริการแคมป์กราวนด์มากกว่าการพักตามโรงแรม เนื่องจากมีราคาถูกมากโดยเฉพาะเวลาเดินทางกันทั้งครอบครัว ที่สำคัญ การจอดรถหรือกางเต็นท์ในแคมป์กราวนด์มีความปลอดภัยกว่าการไปตั้งแคมป์อยู่โดดเดี่ยวตามป่าเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบทวีปอเมริกาเหนือที่ยังมีสัตว์ป่าประเภทหมีและหมาป่าที่ยังออกล่าเหยื่อในตอนกลางคืนอยู่

คืนนั้นหลังเติมน้ำมันเสร็จก็ปรึกษากันค่ะว่าจะนอนที่แคมป์กราวนด์ดีรึเปล่า เพราะพระอาทิตย์ตกลับฟ้าไปแล้ว  แต่บังเอิญคุณลุงเจ้าของปั๊มนั่งฟังเราคุยกันอยู่ ก็เลยบอกว่าขี่รถไปอีกแค่ 50 กิโลเมตรกว่าก็จะถึงเลวิสทาวน์ (Lewistown) แล้ว และที่นั่นน่าจะมีโรงแรมให้เลือกพักได้ เป็นอันว่าคืนที่ 2 เราก็ลากสังขารกันไปจนถึงโรงแรมในเมืองจนได้ แม้ว่าจะถึงดึกมากจนหาอะไรกินไม่ได้แล้วก็ตาม

ข้ามชายแดนไปแคนาดา

Lewistown to Piegan – Carway Border Crossing

หลังเดินทางติดกันมา 2 วัน วันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนข้ามชายแดนไปแคนาดา เป็นวันที่ร่างกายเริ่มประท้วงกับการที่จู่ๆ เราเอาตัวเองมาทรมานแบบไม่เจียมสังขารแบบนี้ เช้ามาโรคภูมิแพ้ของเราก็ออกอาการเต็มที่ค่ะ ทั้งจาม ทั้งน้ำมูกน้ำตาไหลตลอดเวลา ตอนซ้อนมอเตอร์ไซค์เราก็ใส่หมวกกันน็อกแต่ปิดพลาสติกหน้าหมวกไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะจามและมีน้ำลายกระเด็นเข้าหน้าตัวเอง เลยต้องยอมทนให้ลมเย็นๆ บาดผิวหน้าให้แสบเล่นไปตลอดทาง จะกินยาแก้แพ้ก็กลัวเผลอหลับระหว่างทาง (สารภาพว่าปกติก็มีอาการหลับในและ ‘หงายเงิบ’ ไปตามลมบ้างเหมือนกัน ถ้าคริสเตียนรู้ก็จะโดนบ่นไปตามสมควร เพราะกลัวจะเกิดอุบัติเหตุ)

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดแค่ป่วยยังไม่พอ ช่วงเที่ยงก็ขี่รถหลงอีกต่างหาก ด้วยความอยากหลบแดดร้อนเลยเลี้ยวเข้าสายถนนเล็กๆ เลียบภูเขา ตั้งใจว่าจะขับกันสบายๆ ชมวิวสวยๆ ซึ่งก็สวยสมที่ตั้งใจ แต่เส้นทางมันซับซ้อนจนหลงและกว่าจะหาทางกลับเจอก็เสียเวลาไปร่วม 2 ชั่วโมง คืนนั้นกว่าเราจะข้ามชายแดนไปแคนาดาได้ก็ทุ่มกว่าแล้ว ก่อนจะข้ามก็ตื่นเต้นเพราะไม่รู้ว่าการขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามชายแดนระหว่างประเทศแบบนี้จะโดนตรวจละเอียดขนาดไหน คริสเตียนยังไม่เท่าไหร่เพราะเป็นคนท้องถิ่น เรานี่สิ เคยแต่บินเข้าประเทศ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรมากค่ะ ด่านตรวจทั้งขาออกจากอเมริกาและขาเข้าแคนาดาก็หน้าตาคล้ายๆ ช่องทางด่วนบ้านเรา ไปถึงก็จอดข้างๆ ตู้ ยื่นหนังสือเดินทางและเอกสารเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ให้เจ้าหน้าที่ พร้อมตอบคำถามอีกเล็กน้อย (ไปไหน, กลับเมื่อไหร่, มีอาหาร พืช ผัก ผลไม้ ติดมาด้วยรึเปล่า ซึ่งเราสองคนก็ตอบไปตามความจริงทั้งหมด) หลังจากนั้นก็ผ่านไปได้โดยไม่มีการขอค้นกระเป๋าหรือตรวจอะไรเป็นพิเศษอีก

ประมาณครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นเราสองคนก็เดินทางไปถึงเมืองคาร์สตันในประเทศแคนาดา ตอนที่ขี่รถเข้าเมืองไปก็เห็นว่าร้านรวงในเมืองแทบจะปิดเงียบกันหมดแล้ว เหลือแต่แดรี่ควีน (Dairy Queen) ที่ยังเปิดไฟสว่างสดใสตรงข้ามโรงแรม เราเตรียมใจตั้งแต่ก่อนผลักประตูเข้าไปแล้วว่าคืนนี้คงจะได้กินไอศครีมแก้หิวแน่ๆ แต่ปรากฏว่าแดรี่ควีนที่นี่มีอาหารขายไม่ต่างกับแมคโดนัลด์ (McDonald’s) ด้วยความที่หิวโซคล้ายวิญญาณหลุดจากร่างมาตลอดวัน อาหารง่ายๆ มื้อแรกในแคนาดามื้อนั้นจึงเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในรอบหลายปีสำหรับเราสองคนเลยทีเดียว 🙂

Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก