สามพันไมล์ก่อนถึงอะแลสกา

การจะเริ่มทริปอะแลสกา-พาตาโกเนียนั้นต้องขึ้นไปให้ถึงอะแลสกาก่อน บันทึกส่วนนี้เป็นเรื่องราวการเดินทางออกจากบ้านของคริสเตียนในรัฐโคโลราโด (Colorado) ไปจนถึงรัฐอะแลสกา (Alaska) ซึ่งเป็นจุดเหนือสุดของทริปนี้ มีระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 3,341 ไมล์ หรือ 5,377 กิโลเมตร จุดหมายหลักแห่งที่หนึ่งของเราอยู่ที่เมืองคัลการี (Calgary) ประเทศแคนาดา ที่นี่เรามีนัดกับเพื่อนร่วมทางอีก 2 คน คือ ลี (Lee) และอาร์เจ (RJ) ซึ่ง เริ่มขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาจากรัฐเท็กซัส ประเทศอเมริกา และจากเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา 

หมายเลข 1: รัฐโคโลราโด ประเทศอเมริกา, จุดเริ่มต้นของเรากับคริสเตียน

หมายเลข 2: รัฐเท็กซัส ประเทศอเมริกา, จุดเริ่มต้นของลี

หมายเลข 3: เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา, จุดเริ่มต้นของอาร์เจ

หมายเลข 4: เมืองคัลการี ประเทศแคนาดา, จุดนัดพบ

หมายเลข 5: เมืองแฟร์แบงส์ รัฐอะแลสกา ประเทศอเมริกา, จุดเหนือสุดของทริป

แผนที่คุยกันคร่าวๆ คือ เรา 4 คน มอเตอร์ไซค์ 3 คัน จะแยกกันเดินทางจากบ้านของตัวเอง และมารวมตัวกันที่เมืองคัลการีในช่วงวันที่ 4 – 5 กันยายน 2015 เมื่อครบทีมก็จะเร่งเดินทางขึ้นไปให้ถึงจุดเหนือสุดของทริปที่อะแลสกา และกลับลงมาให้ได้ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ เพราะหลังจากช่วงเวลานี้ไปแล้วหลายพื้นที่ในอะแลสกาจะเริ่มมีหิมะตกประปราย อากาศที่เย็นจัดจะทำให้มีแผ่นน้ำแข็งบางๆ เคลือบผิวถนน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ หรือที่แย่กว่านั้นคือ หิมะตกหนักจนปิดถนนและอาจทำให้ต้องหยุดเดินทางชั่วคราวจนกว่าหิมะจะละลาย

Loveland, Colorado USA – Cardston, Alberta Canada

ฝั่งเรากับคริสเตียนมีเวลา 7 วัน เดินทางจากบ้านไปยังจุดนัดพบ เมื่อนั่งหาข้อมูลเรื่องเส้นทางกันแล้วก็ตกลงกันว่าเราจะรีบทำเวลาในช่วง 2 – 3 วันแรก เพื่อข้ามชายแดนไปฝั่งประเทศแคนาดา แล้วไปจอดพักที่เมืองคาร์ดสตัน (Cardston) เมืองเล็กๆ ห่างจากชายแดนประมาณครึ่งชั่วโมง และเวลาที่เหลือหลังจากนั้นจะถือโอกาสจอดรถพักผ่อนและหาที่กางเต็นท์ชมธรรมชาติในแคนาดาสัก 2 – 3 วัน ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองคัลการี (วงกลมสีม่วง) ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 300 กิโลเมตร เพื่อไปเจอกับเพื่อนๆ ที่จุดนัดพบตามกำหนด

DAY 1: วุ่นวายตั้งแต่วันแรก

เราตั้งใจจะออกจากบ้านช่วงสายๆ แต่ออกมาได้ไม่ถึง 10 นาทีก็ต้องหาที่จอด เพราะกล่องทุกใบและน้ำหนักตัวของคนสองคนรวมกันมันมากเกินกว่าที่มอเตอร์ไซค์จะรับไหว ตอนเลี้ยวรถเข้าจอดที่ปั๊มน้ำมันรถก็ส่ายและควบคุมลำบาก แม้แต่ตอนจอดบนพื้นคอนกรีตก็ต้องถอดกล่องข้างออก 1 ใบเพราะขาตั้งรับน้ำหนักรถแทบไม่อยู่

เมื่อเห็นสภาพรถแล้วคริสเตียนก็ตัดสินใจเดี๋ยวนั้นว่า การเอารถไปเปลี่ยนสปริงสำหรับการใช้งานหนักโดยเฉพาะน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ว่าแล้วก็เอารถไปให้ศูนย์ซ่อมรถที่อยู่ใกล้ๆ ปั๊มน้ำมันเปลี่ยนให้ทันที ในระหว่างรอก็ลงมือรื้อกระเป๋าเพื่อรวบรวมของที่ ‘จำเป็นน้อยที่สุด’ ออกมา และโทรให้คุณพ่อคริสเตียนขับรถมารับของกลับบ้าน วันแรกกว่าจะได้ออกจากบ้านไปท่องโลกกว้างอย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ ก็เกือบ 5 โมงเย็นแล้ว คุณพ่อคริสเตียนชวนกลับบ้านด้วยกัน แล้วค่อยออกเดินทางเช้าอีกวัน เพราะไหนๆ วันนี้ก็เสียแผนไปเยอะแล้ว แต่หลังจากที่คุยกันสักพักก็เห็นตรงกันว่าหลังจากนี้การเดินทางของเรามันคงจะทุลักทุเลอย่างวันนี้นี่แหละ และในทริปนี้ก็คงมีวันที่เราไม่มีทางเลือกนอกจากการไปต่อ เพราะฉะนั้นก็ทำมันตั้งแต่วันนี้เลยแล้วกัน

ชั่วโมงแรกของการเดินทางเราทั้งรู้สึกตื่นเต้นและกังวลปนๆ กันไป เพราะนี่เป็นการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์บนทางหลวงนอกประเทศครั้งแรก เราก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ก่อนจะเริ่มทริปคริสเตียนเคยเล่าให้ฟังว่าการเดินทางในฝั่งประเทศอเมริกาและแคนาดาน่าจะเป็นช่วงที่สบายที่สุดและน่ากังวลใจน้อยที่สุดของทริปนี้ เพราะสภาพทางหลวงสายหลักแทบทั้งหมดจะเป็นถนน 4 เลนที่ค่อนข้างโล่งและเป็นตรงเกือบตลอดทั้งสาย แถมยังวิ่งผ่านเมืองใหญ่ๆ เป็นระยะ หิวหรือเหนื่อยเมื่อไหร่ก็หาที่จอดเติมพลังได้ตลอด ตอนนั้นฟังแล้วเราก็ได้ข้อสรุปคนเดียวในใจว่า ถ้าเราผ่านช่วงที่ ‘สบายที่สุดและน่ากังวลใจน้อยที่สุดของคริสเตียน’ ในทริปนี้ไปได้ เราก็น่าจะมีหวังที่จะลุยต่อจนจบทริป แต่ถ้าขึ้นไปถึงอะแลสกาแล้วมันเหนื่อยยากเกินกว่าเราจะรับไหว เราก็ควรจะซื้อตั๋วกลับบ้าน ปล่อยให้คริสเตียนและเพื่อนๆ ตามล่าฝันกันต่อไป

โชคดีที่วันแรกเราได้เห็นอะไรดีๆ เยอะพอสมควร หนึ่งในนั้นคือมารยาทในการใช้ถนนร่วมกันของคนที่นี่ ตลอดช่วง 3 – 4 ชั่วโมงในวันนี้ เราสังเกตเห็นว่าคริสเตียนไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ตรงไหล่ทางอย่างเคย แต่ใช้พื้นที่ในเลนของตัวเองอย่างเต็มที่ รถคันอื่นๆ ก็ปฏิบัติกับมอเตอร์ไซค์ของเราเทียบเท่ากับรถยนต์หนึ่งคัน คือไม่มีการขับรถล้ำเส้นเข้ามาในพื้นที่เลนของเรา ไม่มีการแซงเบียด แม้แต่ตอนที่จอดรถติดไฟแดงรถคันหลังก็จอดแบบเว้นระยะห่างให้พอสมควร ในขณะเดียวกันเราก็สังเกตเห็นว่า ในระหว่างที่รอสัญญาณไฟอยู่นั้น ทั้งมอเตอร์ไซค์ของเราและมอเตอร์ไซค์คันอื่นๆ ไม่มีการซอกแซกไปตามช่องว่างระหว่างรถ แต่จะจอดต่อท้ายกันตามลำดับ เรียกได้ว่าการเดินทางแบบ ‘เนื้อหุ้มเหล็ก’ ที่ไม่ต้องคอยระแวงว่าจะมีใครมาปาดซ้ายปาดขวาในวันแรกของการเดินทางนี้ เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับเรามากเลยทีเดียวค่ะ

คืนนั้นเราสองคนกัดฟันเดินทางฝ่าความหนาวไปได้ราว 370 กิโลเมตร และสุดท้ายก็เดินลากขาเข้าโรงแรมริมทางหลวงแห่งหนึ่งในเมืองแคสเปอร์ รัฐไวโอมิง (Casper, Wyoming) ตอนประมาณเที่ยงคืนค่ะ จำได้แม่นว่าเราหลับตาล้มตัวลงบนเตียงทั้งที่ยังสวมเสื้อแจ็กเก็ตมอเตอร์ไซค์ พร้อมกับคำถามที่วนเวียนในหัวว่าแค่วันแรกยังเหนื่อยกว่าที่คิดขนาดนี้ แล้วอีกหลายๆ วันหลายๆ เดือนหลังจากนี้เราจะยังไหวอย่างที่ตั้งใจไว้รึเปล่า

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก