ทุกข์ของมนุษย์โลกที่สาม: วีซ่า

การเป็นคนไทยถือหนังสือเดินทางไทย แค่มีจิตวิญญาณของนักเดินทางเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอที่จะทำให้เราออกไปบุกป่าฝ่าดงรอบโลกได้ง่ายๆ อย่าง ‘ฝรั่ง’ เขา ตอนที่เราตอบรับคำชวนไปร่วมทริปมอเตอร์ไซค์ขั้วเหนือจรดขั้วโลกใต้ในทวีปอเมริกาคราวนี้ สิ่งแรกที่เราคิดถึงคือ วีซ่า เพราะเพื่อนร่วมทางอีก 3 คนถือหนังสือเดินทางอเมริกาและแคนาดา

ทวีปอเมริกา

จากทวีปอเมริกาเหนือจรดใต้ ประเทศที่เราจะต้องเดินทางผ่านมีทั้งหมด 16 ประเทศ คืออเมริกา แคนาดา เม็กซิโก กัวเตมาลา เบลีซ ฮอนดูรัส เอล ซัลวาดอร์ นิการากัว คอสตาริกา ปานามา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย ชิลี และอาร์เจนตินา

เราแยกเงื่อนไขการขอวีซ่าออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้ดังนี้

พาสปอร์ต

กลุ่มที่ 1
ประเทศปานามา เอกวาดอร์ เปรู ชิลี และอาร์เจนตินา

อนุญาตให้คนไทยใช้หนังสือเดินทางไทยเข้าได้ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า และอยู่ได้ 30 – 90 วัน

กลุ่มที่ 2
ประเทศโบลิเวีย

เนื่องจากประเทศไทยไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลโบลิเวีย คนไทยจึงขอวีซ่าได้ที่สถานกงสุลโบลิเวียในประเทศเปรูหรือชิลีก่อนเข้าประเทศ หรือขอวีซ่าที่สถานทูตโบลิเวียในประเทศญี่ปุ่นก็ได้

กลุ่มที่ 3
ประเทศที่เหลือ

ได้แก่ เม็กซิโก เบลีซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ นิการากัว คอสตาริกา และโคลอมเบีย
ประเทศเหล่านี้อนุญาตให้คนไทยที่มีวีซ่าอเมริกาในหนังสือเดินทางไทย ซึ่งยังไม่หมดอายุ เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

เรียกว่าโชคเข้าข้างเราพอสมควร เพราะเรายังมีวีซ่าท่องเที่ยวของอเมริกาในหนังสือเดินทางที่ใช้ได้อีก 6 ปี ทำให้เดินทางเข้าประเทศกลุ่มที่ 1 และ 3 ได้โดยปริยาย ส่วนวีซ่าโบลิเวียก็ไปยื่นขอได้ที่เปรู เท่ากับว่าประเทศที่เราต้องขอวีซ่าท่องเที่ยวก่อนออกเดินทางจากประเทศไทยในทริปนี้มีแค่แคนาดาประเทศเดียวเท่านั้นเอง

21 ชั่วโมงแห่งความหวัง

หลังได้วีซ่าแคนาดามาครอบครองก่อนเดินทางไม่ถึง 1 เดือน เราก็จัดการซื้อตั๋วเครื่องบินแบบกระชั้นชิด ชนิดที่ว่าเที่ยวไหนราคาถูกที่สุดก็ต้องยอมไปเที่ยวนั้น แจ็กพ็อตเลยมาตกที่สายการบินบริติชแอร์ไลน์ (British Airline) โดยต้องไปแวะลอนดอน 21 ชั่วโมง ก่อนเปลี่ยนเครื่องไปลงที่สนามบินเดนเวอร์ในรัฐโคโลราโด ประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นบ้านของคริสเตียนและเป็นจุดที่จอดมอเตอร์ไซค์ไว้
เครื่องบิน

ตอนได้ตั๋วมาเราคิดเองเออเองว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ลอนดอนคงจะตีตราอนุญาตลงในหนังสือเดินทางให้เราออกไปเดินเล่นในเมืองได้ เพราะมีตั๋วเครื่องบินเที่ยวต่อไปอยู่ในมือแล้ว เหมือนตอนไปแวะเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศเกาหลีหรือญี่ปุ่น แต่หลังจากนั่งหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอยู่ 2 วันเต็มๆ ไม่มีแหล่งข้อมูลไหนยืนยันได้เลยว่าเราจะออกไปนอกสนามบินที่ลอนดอนได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บางแหล่งข้อมูลบอกว่า ไม่ใช่แค่ออกจากสนามบินไม่ได้ แต่อาจโดนปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องบินตั้งแต่ที่เมืองไทยด้วยซ้ำ

รู้แบบนี้แล้วเรื่องจะได้ออกจากสนามบินหรือไม่ได้ออกก็กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยทีเดียว ที่สำคัญ ตอนนั้นเราเหลือเวลาอีกแค่ 3 วันก่อนเดินทาง เลยต้องกลับมาคิดว่าจะเอายังไงกับวีซ่าอังกฤษดี ลองหาข้อมูลเรื่องขอวีซ่าแบบเร่งด่วน 24 ชั่วโมงจากสถานทูตก็เจอราคาค่าธรรมเนียมประมาณ 30,000 บาท ซึ่งถ้าต้องจ่ายราคานี้ยอมเปลี่ยนเที่ยวบินอาจจะคุ้มค่ากว่า

หลังจากติดต่อกับทางสายการบินก็ได้ความว่า เราไปต่อเครื่องที่สนามบินในลอนดอนได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า เพียงแต่แสดงวีซ่าของประเทศปลายทางตอนเช็กอินที่สุวรรณภูมิ หลังวางสายจากเจ้าหน้าที่ เราหันไปอธิบายรายละเอียดให้คริสเตียนฟัง ก็ได้คำตอบแบบไม่ต้องคิดนานจากคริสเตียนว่า

“เอาถุงนอนกับหมอนรองคอไปด้วยนะ จะได้ไปนอนอ่านหนังสือเล่นในสนามบินระหว่างรอ 21 ชั่วโมง เดี๋ยวผมออกไปเที่ยวลอนดอนเผื่อเอง”

แหม ยังไม่ทันได้เริ่มทริปก็จะทิ้งกันซะแล้วนะคริสเตียน

ผงมาม่า ปืนปลอม และการแวะนอนที่ลอนดอนแบบไม่มีวีซ่า

ถึงวันเดินทางออกจากประเทศไทย เที่ยวบิน 11 โมงเช้าจากกรุงเทพ-ลอนดอน-เดนเวอร์ หลังรู้ชะตากรรมว่าต้องนอนเฝ้าสนามบินแน่ๆ เราเลยเอาถุงนอนบางๆ กับหมอนรองคอใส่เป้สะพายขึ้นเครื่องไปด้วย ตั้งใจว่าอย่างน้อยก็ไม่ต้องนอนหนาวแอร์ในสนามบิน ส่วนคริสเตียนก็สบายอกสบายใจเพราะหนังสือเดินทางอเมริกันเดินเข้าออกประเทศอังกฤษได้แบบไม่ยุ่งยากอยู่แล้ว แถมยังมีน้ำใจมาสัญญิงสัญญากับเราอีกว่าจะซื้อขนมมาฝากจากข้างนอกด้วย

ช่วงเช้าก่อนออกจากโรงแรมไปสนามบิน เราแวะไปซื้อขนมที่เซเว่นฯ สายตาเหลือบไปเห็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือ “มาม่า” บนชั้นสินค้า แล้วก็นึกถึงตัวเองที่ขนมาม่าสองสามแพ็กใส่กระเป๋าตอนไปร่วมโครงการเวิร์กแอนด์ทราเวล (Work and Travel) ที่อเมริกาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นครึ่งหนึ่งของกระเป๋าเดินทางเป็นซองมาม่าแทบครบทุกรส นึกไปนึกมาก็คิดได้ว่าเราไม่ต้องเอาไปทั้งห่อก็ได้ เอาไปแค่ผงเครื่องปรุงก็พอแล้ว!

เรารีบเดินออกจากแถวจ่ายเงินไปกวาดมาม่าแพ็กยาวๆ มา 5 แพ็ก ทั้งรสต้มยำ ต้มโคล้ง ต้มแซ่บ  ระหว่างนั่งรถเท็กซี่ไปสนามบิน รู้สึกภูมิอกภูมิใจในตัวเองมากที่คิดวิธีนี้ขึ้นมาได้ 2 – 3 เดือนหลังจากนั้นถึงรู้ว่าคนอื่นที่ต้องไปอยู่ต่างประเทศนานๆ เขาก็ทำกันมาตั้งนานแล้ว แถมมีร้านที่แยกขายเฉพาะผงปรุงรสด้วย

ถึงสนามบินเราก็ไปหลบมุมนั่งฉีกมาม่า 50 ซอง ระหว่างนั่งรอเคาน์เตอร์เช็กอินเปิด เลือกเก็บเฉพาะซองผงปรุงรสเอาไว้ เส้นยกให้คุณพี่พนักงานทำความสะอาดที่อยู่แถวนั้น คริสเตียนเห็นเราชูถุงพลาสติกที่ข้างในมีแต่ผงหลากสีสันให้ดู ก็เดินมากระซิบติดตลกว่า ดีจัง ถ้ากระเป๋าเราสองคนโดนค้น เราจะได้โดนเรียกไปเข้า “ห้องเย็น” ทั้งคู่ เพราะผงหลากสีของเราดูไม่น่าไว้วางใจเลย

ส่วนคริสเตียนอาจจะได้มานั่งใน “ห้องเย็น” เป็นเพื่อนเรา เพราะในกระเป๋าเดินทางมีปืนปลอม มันคือ ปืนอัดลมสีดำที่เราซื้อจากร้านขายของเล่นมาฝากคริสเตียน เพราะทุกครั้งที่ไปเดินงานวัดด้วยกัน คริสเตียนจะหมดเงินไปกับซุ้มยิงปืนหลายร้อยโดยที่ไม่ได้สนใจตุ๊กตาของรางวัล เขาแค่ชอบเล่นยิงปืนมากเท่านั้นเอง เราก็เลยซื้อปืนของเล่นมาให้ยิงเป้ากระดาษเองที่บ้านให้หนำใจ พอจะเดินทางคริสเตียนเกิดไม่อยากทิ้งปืนขึ้นมา แถมที่อเมริกาก็ห้ามขายปืนของเล่นที่หน้าตาคล้ายปืนจริงแบบนี้อีก คริสเตียนเลยตั้งใจจะมาลุ้นหน้างานว่าเจ้าหน้าที่จะยอมให้เอาปืนใส่กระเป๋าที่โหลดใต้เครื่องหรือเปล่า จะมีปัญหาตอนเปลี่ยนเครื่องที่ลอนดอนหรือเปล่า และจะเอาออกจากสนามบินที่เดนเวอร์ได้หรือเปล่า ฯลฯ เรียกว่าปืนอัดลมกระบอกละไม่กี่ร้อยบาททำเอาเราหวาดระแวงตลอดเที่ยวบิน เพราะต้องคอยเงี่ยหูฟังว่าเมื่อไหร่คริสเตียนจะโดนเจ้าหน้าที่เรียกไปถามเรื่องปืน

ถึงเวลาเช็กอินเราก็แจ้งเรื่องปืนปลอมกับผงมาม่าตั้งแต่หน้าเคาน์เตอร์ เจ้าหน้าที่เลยให้เอากระเป๋าที่จะโหลดใต้เครื่องทั้งหมดไปสแกนที่ห้องด้านใน กระเป๋าที่คริสเตียนใส่ปืนไว้เป็นกระเป๋าลาก และเจ้าตัวก็ตั้งใจวางปืนไว้ด้านบนสุดของกระเป๋า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เปิดฝากระเป๋าได้เห็นปืนเป็นอันดับแรก  (“แสดงความบริสุทธิ์ใจเราไม่ได้มีเจตนาจะซ่อนปืนอยู่ไง”-คริสเตียนให้เหตุผลว่าอย่างนั้น)

ตอนเปิดกระเป๋าออกมาเจ้าหน้าที่คนไทยเห็นปืนแล้วก็อมยิ้มเพราะมองออกอยู่แล้วว่าเป็นปืนอัดลม ส่วนเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติมีสีหน้าแปลกใจเล็กน้อย แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี หลังเจ้าหน้าที่เช็กปืนละเอียดดีแล้วก็ให้คริสเตียนกรอกเอกสารที่น่าจะเป็นการยืนยันเรื่องปืนของเล่นในกระเป๋า ส่วนผงมาม่าของเรา เจ้าหน้าที่ขอไปฉีกดูหนึ่งซองแล้วก็อนุญาตให้ใส่ลงกระเป๋าได้ตามปกติ ถึงตอนนี้ก็เหลือลุ้นแค่ว่าจะมีปัญหาที่สนามบินลอนดอนกับเดนเวอร์ไหม

หลังขึ้นเครื่องมาแล้ว เรานั่งถ่างตายาวตลอด 13 ชั่วโมงบนเครื่องบิน เพราะตั้งใจจะใช้เวลา 21 ชั่วโมงไปกับการนอนหลับในสนามบิน การรอคอยสิ้นสุดลงเมื่อเครื่องถึงลอนดอนประมาณ 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ทันทีที่เหยียบสนามบินเราก็ชวนคริสเตียนเดินไปถามเจ้าหน้าที่เรื่องขอออกไปข้างนอก เพราะคิดง่ายๆ ว่าลองขอดีกว่าไม่ได้ลอง เราเอาตั๋วที่ต้องบินต่อไปเดนเวอร์ตอน 15.45 น. ของอีกวันให้เจ้าหน้าที่ดู แล้วถามว่าเราจะออกไปหาโรงแรมนอนนอกสนามบินได้หรือเปล่า ตอนแรกเจ้าหน้าที่ก็ลังเลพอสมควร และอธิบายให้ฟังว่าเขาเข้าใจสถานการณ์เรานะ ต้องรอถึง 21 ชั่วโมงมันก็นานอยู่ แต่ที่ผ่านมามีคนฉวยโอกาสใช้ประโยชน์ของการได้รับสิทธิ์ยกเว้นวีซ่าสำหรับคนที่มาต่อเครื่องเพื่อหลบเข้าอังกฤษเยอะมาก ส่วนใหญ่ใช้วิธีจองตั๋ว 2 ต่อเพื่อให้ได้แวะลอนดอนและทำทีว่าจะออกไปพักข้างนอก แล้วก็หนีหายไปไม่กลับมาอีก

ฟังเจ้าหน้าที่ชี้แจงแล้ว เรากับคริสเตียนก็เลยหยิบโทรศัพท์มือถือมาเปิดหน้าเว็บไซต์ตอนจองตั๋วให้เจ้าหน้าที่ดู เพื่อยืนยันว่าเราซื้อเที่ยวบินที่ถูกจัดไว้แล้วว่าต้องต่อเครื่องที่ลอนดอน ไม่ได้จงใจซื้อตั๋วกรุงเทพฯ-ลอนดอน, ลอนดอน-เดนเวอร์ ที่สำคัญคือตัวเลือกนี้ก็เป็นตั๋วที่ราคาถูกที่สุดจากทุกตัวเลือกด้วย เจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์เราไปเปิดหน้าเว็บไซต์ดูอยู่สักครู่แล้วถอนหายใจ ตอนนั้นเราเองก็ถอดใจไปเรียบร้อยแล้วเหมือนกันว่าคงไม่ได้แน่ๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็เงยหน้าขึ้นมาถามว่าเรารู้จักกับคริสเตียนมานานแค่ไหนแล้ว มีหลักฐานอะไรที่ยืนยันความสัมพันธ์ได้หรือเปล่า เราเลยรีบเปิดรูปในโทรศัพท์มือถือและเปิดอีเมลที่ใช้ติดต่อกันคร่าวๆ ย้อนไปตั้งแต่เมื่อปี 2011 ให้เจ้าหน้าที่ดู หลังไล่ดูจนพอใจแล้วเจ้าหน้าที่ก็หยิบหนังสือเดินทางของเราไปประทับตราให้ พร้อมกับกำชับให้เรากลับมาที่สนามบินให้ทันก่อนขึ้นเครื่องบินในวันรุ่งขึ้น

วีซ่า

จังหวะที่ยื่นมือไปรับหนังสือเดินทางกลับมา เราพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะเก็บอาการไม่ให้ยิ้มกว้างเกินความจำเป็น แล้วก็ค่อยๆ ข่มใจเดินออกมาเงียบๆ จนออกมานอกประตูแล้วนั่นแหละ ถึงกล้ากระโดดโลดเต้นออกหน้าออกตาให้สมกับที่ไม่ต้องนอนเฝ้าสนามบินแบบข้ามวันข้ามคืนขนาดนั้น

คืนนั้นเราสองคนออกไปหาที่พักแล้วก็ตื่นมาดูพระอาทิตย์ตอนเช้าตรู่ เสร็จแล้วก็ไปเดินเล่นในเมืองตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงบ่าย 2 ก่อนจะนั่งรถกลับไปสนามบินเพื่อเดินทางต่อ ตอนถึงสนามบินเดนเวอร์ ทั้งคริสเตียนและเราโดนเรียกตัวไปสอบถามเรื่องปืนอีกครั้งอย่างที่คาดกันเอาไว้ ตอนแรกเจ้าหน้าที่มาดูปืนในกระเป๋าแค่ 2 คน ตอนหลังก็ชักชวนกันมาห้าหกคนแล้วเอาปืนไปลูบๆ จับๆ และถอดด้ามดูจนละเอียดและในที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้ถือเข้าประเทศมาจนได้ 🙂

Paddington Paddington Paddington

เมื่อ “บ้าน” คือมอเตอร์ไซค์หนึ่งคันกับกล่องหนึ่งใบ

หลังรอดชีวิตจากลอนดอนและบินไปถึงบ้านคริสเตียนที่โคโลราโดอย่างปลอดภัย ก็มีเวลาเหลือให้เตรียมตัวก่อนออกทริปที่บ้านอีก 9 วัน เราใช้เวลานั่งคิดนั่งเขียนรายการข้าวของที่จะจัดลงกล่องและลองจัดดูจริงๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่วันละหลายรอบ บางรอบรื้อแล้วรื้ออีกจนท้อและต้องรามือไปนั่งสงบสติอารมณ์ก็ยังมีมาแล้ว

จนกระทั่งใกล้วันเดินทาง คริสเตียนเห็นเรานั่งคิ้วขมวดอยู่หน้าเสื้อผ้าและสมบัติ (บ้า) กองโตมาเกือบตลอดทั้งอาทิตย์ก็เปรยขึ้นมาว่า “การจัดกระเป๋าเดินทางเป็นเรื่องที่ต้อง ‘ฝึก’ ถึงจะค่อยๆ ดีขึ้นนะ ทุกครั้งที่เดินทางคุณจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าอะไรคือของจำเป็นและอะไรบ้างที่ไม่ใช่ อะไรคือสิ่งที่เราขาดได้และอะไรบ้างที่ขาดไม่ได้ หลังจากที่เราเริ่มออกทริปกันแล้วคุณจะได้ฝึกจัดกระเป๋าแทบทุกวันจนเก่งขึ้นแน่ๆ เพราะฉะนั้น วันนี้ยังไม่ต้องให้มันสมบูรณ์มากนักหรอก ถ้าขาดอะไรไปบ้างก็ค่อยไปซื้อเอา นี่จะพาไปขั้วโลกนะ ไม่ใช่ป่าแอมะซอน”

โจทย์สำคัญในการจัดกระเป๋าของทริปนี้

* ทำอย่างไรถึงจะมีข้าวของพอเพียงกับการใช้ชีวิตประมาณ 1 ถึง 2 ปีเข้าไปไว้ในกล่องที่จุราวๆ 35 ลิตรให้ได้ (18.9″x 14.4″ x 7.75″)

* ด้วยสภาพอากาศที่ต่างกันแบบสุดขั้วของแต่ละประเทศในทวีปอเมริกา ทำยังไงถึงจะจัดเสื้อผ้าให้สู้หนาวขั้วโลกไหว แต่ใส่แล้วไม่ร้อนจนสลบกลางทะเลทราย และทนฝนที่กระหน่ำตลอดทั้งวันทั้งคืนแบบเขตป่าดิบชื้นได้

Paddington

หลักการคัดเลือกและจัดสัมภาระที่ใช้ในการเดินทาง

* เสื้อผ้าที่เราสองคนใช้ส่วนใหญ่จะพยายามเลือกแบบที่ทำด้วยขนแกะเมอริโน (Merino Wool) ซึ่งราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะน้ำหนักเบา ใส่สบาย ช่วยให้ความอบอุ่นในสภาพอากาศหนาว และโปร่งสบายไม่มีเหงื่อในสภาพอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุด ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเมื่อเอามาใส่ซ้ำมากกว่า 3 – 4 ครั้ง ช่วยได้มากเวลาที่ต้องเดินทางติดต่อกันเกิน 5 วัน และไม่มีโอกาสได้ซักเสื้อผ้า

* เรื่องสภาพอากาศแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เราเตรียมเสื้อผ้าเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มสำหรับอากาศหนาว และกลุ่มสำหรับอากาศธรรมดาถึงร้อน  ช่วงที่เดินทางขึ้นไปฝั่งอะแลสกาเสื้อผ้าสำหรับป้องกันอากาศหนาวทั้งเซ็ตใส่อยู่บนตัวเราตลอดเวลา แต่ละวันเสื้อที่เปลี่ยนจะมีแค่เสื้อที่อยู่ชั้นในสุด ส่วนกางเกงยีนส์และด้านนอกก็เป็นชุดเดิมทุกชั้น ทำให้ช่วยประหยัดพื้นที่ในกระเป๋าได้เยอะ

ช่วงที่เดินทางลงมาถึงพื้นที่อากาศอบอุ่นแถบรัฐแคลิฟอร์เนียในอเมริกา เม็กซิโก และประเทศในแถบทวีปอเมริกากลางลงมา เราสองคนก็เอาเสื้อผ้าเซ็ตหน้าหนาวทั้งหมดแพ็กใส่กล่อง และใช้บริการที่คล้ายๆ การเช่าตู้ไปรษณีย์ของเมืองไทยเพื่อส่งเจ้ากล่องนี้ไปฝากไว้ในตู้ที่ประเทศอเมริกา โดยทางบริษัทจะคิดค่าฝากเป็นรายวันหรือรายเดือนตามขนาดและประเภทของนั้นๆ เมื่อเราเดินทางถึงประเทศทางแถบอเมริกาใต้ที่อากาศหนาวเย็นขึ้น ก็ติดต่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเสื้อผ้ากันหนาวมาให้ตามที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ให้เราได้

* การแยกเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในแต่ละกระเป๋าคำนึงถึงลำดับความจำเป็นในการใช้และความรวดเร็วในการเข้าถึงเป็นสำคัญ เช่น ชุดกันฝนและถุงมือกันหนาวที่ต้องหยิบให้ได้เร็วที่สุดเมื่อฝนเริ่มตก เพราะถ้าเสื้อผ้าที่ใส่อยู่ระหว่างเดินทางเปียกฝน ถึงแม้จะใส่เสื้อกันฝนทับอีกชั้นแล้ว แต่ความชื้นก็อาจทำให้หนาวจนเดินทางต่อไม่ได้

* การจัดวางสัมภาระภายในกล่องเราใช้วิธีแยกประเภทเสื้อผ้าใส่ในกระเป๋าเล็กๆ 3 – 4 ใบ ช่วยประหยัดเวลาในการจัดของได้มาก โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเดินทางติดต่อกันทุกวัน เข้าออกโรงแรมไม่ซ้ำกันในแต่ละคืน การแยกของใส่กระเป๋าเล็กทรงสี่เหลี่ยมแบบนี้ทำให้เราสลับตำแหน่งการวางกระเป๋าในกล่องได้โดยไม่ต้องรื้อและเก็บใหม่ตามลำดับให้เสียเวลา

สัมภาระ

… และ “บ้าน” หลังใหม่ของเราในระหว่างการเดินทางตลอด 2 ปีก็มีหน้าตาแบบนี้

สัมภาระ

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก