“แคมปิ้งที่แคนาดา เล่นเซิร์ฟที่เม็กซิโก ปีนภูเขาไฟที่กัวเตมาลา เดินป่าที่คอสตาริกา เรียนเต้นซัลซาที่โคลอมเบีย นั่งเขียนไดอารี่ในมาชูปิกชูที่เปรู กระเป๋าคนละใบ มอเตอร์ไซค์ 1 คัน ไปด้วยกันนะ”

“ภายใน 3 – 4 ปีนี้ ผมตั้งใจว่าจะต้องไปขี่มอเตอร์ไซค์จากประเทศแคนาดาลงไปเที่ยวทวีปอเมริกาใต้กับเพื่อนสักสี่ห้าเดือนให้ได้”

‘คริสเตียน’ ผู้ชายที่เราตกลงใจออกมาเดตด้วยเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงกลางปี 2011 พูดเรื่องนี้ขึ้นมาตอนที่เราสองคนกำลังนั่งละเลียดกาแฟในร้านหนังสือมือสองกึ่งคาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เรามองตามสายตาคริสเตียนไปเห็นลูกค้าคนใหม่ที่กำลังผลักประตูกระจกเข้ามาในร้าน ขณะที่มืออีกข้างก็มีหมวกกันน็อกห้อยอยู่

‘เพื่อน’ ที่คริสเตียนพูดถึงคือ ‘แอนดรูว์’ หนุ่มชาวแคนาดาที่รู้จักกันโดยบังเอิญตั้งแต่ตอนมาเมืองไทยใหม่ๆ เมื่อประมาณต้นปี 2010 สองหนุ่มคุยกันถูกคอตั้งแต่แรกพบตามประสาคนชอบปีนเขาและชอบมอเตอร์ไซค์เหมือนกัน

การเดินทาง

ทริปเหนือจรดใต้ของทวีปอเมริกามีจุดเริ่มต้นตอนที่สองเพื่อนซี้ชวนกันขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ช่วงสุดสัปดาห์ แล้วเช่ามอเตอร์ไซค์ขับไปนอนเล่นที่ปาย 1 คืน เช้าวันจันทร์คริสเตียนกลับมาทำงานตามปกติ ส่วนแอนดรูว์ก็บินกลับประเทศไป แต่ปรากฏว่าทริปจบอารมณ์ไม่จบ หลังกลับไปแคนาดาได้ไม่นานแอนดรูว์ก็เขียนจดหมายและสแกนส่งมาให้คริสเตียนทางอีเมล ใจความรวมๆ คือทริปมอเตอร์ไซค์ที่ไปปายด้วยกันสนุกมาก สนุกจนทำให้กลับมานั่งคิดถึงความฝันที่อยากทำมานานแล้ว นั่นก็คือขี่รถมอเตอร์ไซค์เที่ยวอเมริกาใต้กับเพื่อนสนิทสักคน ตั้งต้นจากประเทศแคนาดาและลงไปจนถึงสุดแผ่นดินทางใต้ที่ประเทศอาร์เจนตินา และแอนดรูว์ก็อยากจะให้คริสเตียนไปทริปนี้ด้วยกัน

ว่าแล้วแอนดรูว์ก็วาดแผนที่แนบท้ายจดหมายมาให้ด้วย

บันทึก

“When you’re finished in Thailand, I need a partner.”

แน่นอน คริสเตียนเซย์เยสตั้งแต่เห็นคำว่ามอเตอร์ไซค์ ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้ไปเมื่อไหร่ แต่หลังจากได้จดหมายฉบับนี้มา คริสเตียนก็ตั้งเป้าทันทีว่าจะทำงาน เก็บเงิน และทำให้ทริปนี้กลายเป็นความจริงภายใน 5 ปีให้ได้

ตอนนั้นเรานั่งฟังแล้วก็ตอบกลับไปแบบไม่คิดอะไรมากว่า “น่าสนใจดีนะ”, “ขี่มอเตอร์ไซค์แบบไหน”, “ถ่ายวิดีโอด้วยสิ” ฯลฯ จำได้ว่าพอเราพูดจบคริสเตียนก็ยิ้มกว้างตาเป็นประกาย และบอกเราว่าเขาดีใจที่เราไม่ ‘ดราม่า’ เรื่องที่เขาจะไปกับเพื่อนสนิทแค่ 2 คนโดยไม่ชวนเรา แต่เราก็บอกเหตุผลไปตรงๆ ว่า เปล่าจ้ะ ไม่ได้จะเล่นบทนางเอกใจกว้าง แต่ที่เราไม่ได้สนใจอยากไปด้วยก็เพราะมอเตอร์ไซค์นั่นแหละ (ถึงตอนนี้คริสเตียนทำหน้าตกใจ) นี่ยังไม่พูดถึงอีกเหตุผลที่ว่า จริงๆ แล้วมันเป็นการวางแผนล่วงหน้าหลายปีด้วยซ้ำไปนะ เราสองคนจะคบกันรอดถึง 3 เดือนรึเปล่ายังไม่รู้เลย

เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เวลาไปไหนมาไหนก็ขี่และนั่งมอเตอร์ไซค์มากกว่ารถยนต์ แต่ถ้าจะเทียบการขี่มอเตอร์ไซค์ไปไหนมาไหนของเรากับการขี่มอเตอร์ไซค์อย่างที่คริสเตียนกำลังพูดถึง ก็คงจะเหมือนเอาแอปเปิ้ลมาเปรียบเทียบกับส้ม เพราะมันคือการขี่มอเตอร์ไซค์จากบ้านไปโรงเรียนหรือจากบ้านไปตลาด เรานึกภาพไม่ออกว่าการขี่หรือนั่งมอเตอร์ไซค์ที่กินเวลาสองสามชั่วโมงหรือมากกว่านั้นมันเป็นยังไง ขนาดย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ สิบกว่าปีก็ยังเคยนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไกลสุดแค่ปิ่นเกล้า-สีลมตอนเช้าเวลาไปทำงานสาย

แล้วนี่อะไร เขาจะขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามประเทศกัน 5 – 6 เดือน เป็นเรื่องที่ฟังแล้วสุดแสนจะไกลตัวและไม่เคยอยู่ในสารบบการเที่ยวของเราเลย ตอนนั้นเลยได้ข้อสรุปแบบจริงใจสุดๆ ให้กับคริสเตียนว่า

“ไปเถอะ มีเพื่อนที่สนิทกันไปด้วยก็ดีแล้ว ไปเที่ยวให้สนุก อย่าลืมส่งโปสการ์ดมาให้บ้างนะ”

แต่จะด้วยบุญหรือกรรมก็ไม่รู้ได้ 2 ปีหลังจากนั้นเรากับคริสเตียนก็ยังคบหากันอยู่ จนย่างเข้าปีที่ 3 เราสองคนตัดสินใจออกจากงานประจำแล้วย้ายไปเชียงใหม่ เหตุผลง่ายๆ คือเบื่อกรุงเทพฯ อยู่เชียงใหม่ก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์รับงานอิสระเต็มตัวทั้งคู่ ด้วยข้อจำกัดที่น้อยลงเรื่องสถานที่ทำงานและเวลาทำงาน เราสองคนก็เลยได้ไปออกทริปด้วยกันอยู่บ่อยๆ และแน่นอนว่าคริสเตียนไม่พลาดโอกาสที่จะให้เราได้สัมผัสกับการเดินทางด้วยการซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ที่ระยะไกลกว่าปิ่นเกล้า-สีลม

ช่วงแรกที่ออกทริปเริ่มจากการเดินทางสั้นๆ ครึ่งชั่วโมงอย่างขี่ขึ้นลงดอยสุเทพ แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นทริป 2 ชั่วโมง จาก 2 ชั่วโมงกว่ากลายเป็น 5 จาก 5 กลายเป็นทริปเต็มวัน ไปจนถึงทริป 2 – 3 วันซึ่งก็ไม่ได้ไปไหนไกลจากเชียงใหม่มาก แต่ใช้วิธีการหาเส้นทางที่อ้อมที่สุด หรือไม่ก็เลือกเส้นทางเล็กๆ ขับไปเจอร้านกาแฟร่มรื่นก็จอด หยิบงานไปนั่งทำ ถึงโรงแรมตอนเย็นก็เข้านอน เช้าอีกวันตื่นแล้วออกเดินทางกันต่อ พูดง่ายๆ ว่าเวลาส่วนใหญ่อยู่บนรถมอเตอร์ไซค์ มองวิวทิวทัศน์ มองชีวิตผู้คนข้างทาง มากกว่าการเน้นการขับตรงไปให้ถึงจุดหมาย

ภาคเหนือ

(หนึ่งในหลายๆ ทริปที่ออกไปด้วยกัน เชียงใหม่-ปาย-บ้านรักไทย-ปางอุ๋ง-ขุนยวม-ดอยอินทนนท์-ดอยขุนตาล-อุทยานแห่งชาติแม่ยม-อุทยานแห่งชาติขุนแจ-เชียงดาว-เชียงใหม่)

2 เดือนแรกเราถามตัวเองตลอดว่าทำไมต้องเอาตัวเองมาทรมานขนาดนี้ ปวดขา ปวดก้น เหน็บกิน ร้อนก็ร้อน ฝนตก หมาก็กลัว ไม่สนุกด้วยเลยจริงๆ ยิ่งช่วงไหนที่ทั้งงานเยอะทั้งเดินทางเหนื่อยก็ยิ่งชวนให้หงุดหงิดถึงขั้นทะเลาะกันเพราะความดึงดันที่จะเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ สุดท้ายคริสเตียนเลยเสนอวิธีแก้ปัญหาว่าลองเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์หลายๆ รุ่นดูไหม ถ้านั่งสบายขึ้นก็อาจจะสนุกขึ้น แต่ถ้าลองจนหมดแล้วไม่ใช่จริงๆ ก็จะไม่บังคับอีก

เรารับข้อเสนอ ตั้งแต่นั้นก็เลยใช้วิธีเช่ารถมอเตอร์ไซค์ทริปละรุ่น บางทริปก็ใช้มอเตอร์ไซค์วิบาก บางทริปก็ใช้มอเตอร์ไซค์คันใหญ่ ซีซีสูงต่ำแล้วแต่ระยะทางและเส้นทางที่วางแผนกัน มีครั้งหนึ่งเช่าฮาร์เลย์ขับขึ้นไปเชียงดาว กว่าจะหมดวันเล่นเอาเราทั้งปวดหลัง ปวดก้น แถมขาโดนท่อไอเสียประทับตราความเป็น ‘สก๊อย’ ที่ยังคงเป็นแผลเป็นมาจนถึงทุกวันนี้

มอเตอร์ไซค์

ในเวลาไม่ถึงเดือนหลังจากนั้นเราก็เริ่มค้นพบเสน่ห์ของการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะวิวสวยๆ ข้างทางที่ปกติไม่เคยได้เห็น เพราะถ้านั่งรถยนต์เราก็จะหลับยาว ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่อยู่เชียงใหม่เราออกทริปแทบทุกอาทิตย์ ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนที่ทำงานมากกว่าเที่ยวพักผ่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าจากที่เคยมุ่งมั่นจะไปให้ถึงปลายทางให้เร็วที่สุด ก็หันมามีความสนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่ได้พบเห็นจากข้างทางมากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนสิ้นปี 2014 เราลองของด้วยการตกลงไปออกทริปมอเตอร์ไซค์ที่ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่า เป็นทริปที่ยาวนานที่สุดของเราในตอนนั้น โดนกระหน่ำทั้งร้อน ทั้งฝน ทั้งหนาว ในแต่ละวัน ร่างกายประท้วงเต็มที่ ทั้งไอ ทั้งจาม น้ำมูกยืดตลอดทาง ทริปนั้นใช้วิธีขับวันครึ่งสลับจอดทำงานวันครึ่ง บางช่วงก็ขับ 2 วันหยุดทำงาน 2 วัน วนไปแบบนี้เรื่อยๆ

เหตุผลที่จำทริปนี้ได้แม่น เพราะในคืนสุดท้ายก่อนปิดทริปที่เชียงดาว อยู่ๆ คริสเตียนก็ถามเราขึ้นมาว่า

“ไปทริปอเมริกาใต้ด้วยกันไหม?”

“มีกล่องใส่ของคนละใบกับมอเตอร์ไซค์ 1 คัน ใช้เวลาประมาณสี่ห้าเดือน คิดว่าไหวรึเปล่า”

ไปเมื่อไหร่ ไปยังไง วีซ่าล่ะ เงินล่ะ งานล่ะ ไปแล้วไม่ไหวขึ้นมาจะทำยังไง สมบัติกล่องเดียวมันจะอยู่ได้นานขนาดนั้นเลยเหรอ ฯลฯ สารพัดคำถามขึ้นมาในหัว แต่สุดท้ายเราก็ตอบตกลงไปทั้งที่ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกหัวออกก้อย แล้วก็ปลอบตัวเองว่า “ลองดูสักตั้ง ไม่ไหวก็ซื้อตั๋วกลับบ้านกลางทางเอาแล้วกันนะเรา”

To the World’s End

“ไหนๆ ก็จะลงไปใต้สุดแล้ว จะเริ่มที่แคนาดาทำไม ขึ้นไปเริ่มที่เหนือสุดเลยดีไหม”

‘ลี’ เพื่อนเก่าสมัยเรียนของคริสเตียนที่วนเวียนมาเจอกันโดยบังเอิญที่เชียงใหม่ถามขึ้นมากลางวงกินข้าว คำถามนี้ทำให้เรากลับมานั่งหาข้อมูลเพิ่ม แล้วก็พบว่าการเดินทางจากอะแลสกาถึงอาร์เจนตินาด้วยมอเตอร์ไซค์หรือจักรยานไม่ใช่ของใหม่ซะทีเดียว มีทั้งคนขี่มอเตอร์ไซค์ ปั่นจักรยาน แบบเดี่ยว แบบคู่ หรือแบบยกครอบครัว ก็มีมาแล้ว แต่ละกลุ่มก็มีจุดเริ่มต้นและเส้นชัยเฉพาะของตัวเอง ที่นิยมกันมากมีอยู่ 2 แบบ
ทวีปอเมริกา

หมุดสีแดง เริ่มต้นจากอ่าวพรูโด (Prudhoe Bay) จุดสิ้นสุดแผ่นดินทางฝั่งโลกเหนือในอะแลสกา ลงไปจบที่อูซัวยา (Ushuaia) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในพาตาโกเนีย (Patagonia) ดินแดนสุดขอบโลกทางใต้ในประเทศอาร์เจนตินา

หมุดสีเขียว เริ่มต้นจากเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล (Arctic Circle) ในอะแลสกา ซึ่งอยู่ต่ำลงมาจากอ่าวพรูโดไม่มาก ลงไปจนถึงอูซัวยาในพาตาโกเนียเหมือนกับทริปหมุดสีแดง แต่ต่อด้วยการลงเรือไปเหยียบแผ่นดินแอนตาร์กติกา (Antarctica) และจบที่เส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิล (Antarctic Circle) นักเดินทางบางคนก็เอามอเตอร์ไซค์ลงเรือไปด้วย เรียกว่าถึงแม้ทวีปแอนตาร์กติกาจะไม่มีถนนให้วิ่ง แต่ขอให้ได้เอามอเตอร์ไซค์ลงไปแตะแผ่นดินบนฝั่งก็ยังดี ทริปหมุดสีเขียวนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่าหมุดสีแดง เพราะค่าเรือจากอูซัวยาไปถึงแอนตาร์กติกเซอร์เคิลสูงจนคนอยากไปหายใจหายคอกันไม่ค่อยคล่อง

การเดินทางจากอะแลสกาถึงอาร์เจนตินาสามารถเดินทางได้ด้วยทางหลวงสายแพน-อเมริกา (Pan-Amerian Highway) ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมทวีปอเมริกาเหนือ กลาง และใต้ เข้าด้วยกัน โดยมีระยะทางรวมทั้งหมดกว่า 48,000 กิโลเมตร หรือ 30,000 ไมล์ ถึงแม้ว่าแพน-อเมริกาจะได้รับการบันทึกในหนังสือกินเนสส์บุ๊คให้เป็นทางหลวงที่ยาวที่สุดในโลก แต่ทางหลวงสายนี้ก็ยังมีจุดขาดตอนเป็นระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร หรือ 100 ไมล์ ซึ่งเป็นบริเวณที่เรียกกันว่า ‘ดาเรียนแก็ป’ (The Darién Gap-ตำแหน่งที่จุด B และ A เจอกันเกือบจุดกึ่งกลางแผนที่ในภาพด้านบน) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างประเทศปานามาในทวีปอเมริกากลางและประเทศโคลอมเบียในทวีปอเมริกาใต้

พื้นที่ในบริเวณดาเรียนแก็ปเป็นผืนป่าดิบชื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ใช้เรือเป็นพาหนะหลัก มีกองกำลังทหารของทั้งสองประเทศคอยดูแลคุมควบตามจุดต่างๆ เนื่องจากยังมีปัญหาของการเป็นแหล่งซ่องสุมกลุ่มโจร การลักพาตัวเรียกค่าไถ่ และการใช้เส้นทางนี้ลักลอบขนส่งยาเสพติด

ที่ผ่านมามีนักสำรวจและนักเดินทางหลายกลุ่มพยายามจะเดินทางผ่านผืนป่ารกชัฏนี้ด้วยวิธีการต่างๆ กัน ทั้งเดิน นั่งเรือ ปั่นจักรยาน ขับรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ หลายรายโดนดักปล้นทำร้าย หลายรายโดนลักพาตัว และหลายรายต้องแลกด้วยชีวิต อย่างไรก็ตามในปี 1960 รถยนต์คันแรกขับผ่านดาเรียนแก็ปไปได้สำเร็จโดยใช้เวลาเดินทางกว่า 136 วัน เฉลี่ยความเร็วประมาณ 200 เมตรต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งบางส่วนของการเดินทางในครั้งนั้นก็ยังจำเป็นต้องเอารถยนต์ขึ้นแพล่องไปตามน้ำ จนกระทั่งในปี 1985 มีกลุ่มนักเดินทางที่ขับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์อีก 1 คันเดินทางข้ามดาเรียนแก็ปโดยใช้เส้นทางบนบกเพียงอย่างเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ใช้เวลาในการเดินทางกว่า 741 วัน ระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 201 กิโลเมตร หรือ 125 ไมล์

ด้วยเหตุนี้นักเดินทางที่ออกเดินทางในทริปเหนือจรดใต้ ไม่ว่าจะด้วยการปั่นจักรยาน ขับรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ จึงมักจะนิยมใช้วิธีการขนส่งยานพาหนะเหล่านี้ด้วยเรือสินค้าหรือเครื่องบินในการเดินทางระหว่างประเทศปานามา-โคลอมเบีย บางรายก็ใช้วิธีขายทิ้งที่เมืองต้นทางและซื้อใหม่ในอีกประเทศเพื่อเดินทางต่อไป

ระยะเวลาในการเดินทางของทริปอะแลสกา-อาร์เจนตินาโดยเฉลี่ย

การเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์จากอะแลสกาถึงอาร์เจนตินาใช้เวลาตั้งแต่ 8 เดือน ปีนึง ปีครึ่ง และนานกว่านั้น บางคนทำงานเก็บเงินเพื่อจะทำทริปนี้ให้สำเร็จในครั้งเดียว บางคนค่อยๆ เดินทางไปเรื่อยๆ วิธีที่นิยมกันในกลุ่มนักเดินทางช่วงอายุ 18 – 25 ปี มักจะเป็นการขอทำงานในโฮสเทลเพื่อแลกกับที่พักและอาหาร บางคนใช้วิธีเดินทาง 3 สัปดาห์หรือ 1 เดือน แล้วจอดมอเตอร์ไซค์ทิ้งไว้ตามเมืองต่างๆ ขึ้นเครื่องบินกลับไปทำงานที่บ้าน 2 – 3 เดือน แล้วก็บินกลับมาออกเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ต่อ และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนลงไปถึงปลายทางที่ประเทศอาร์เจนตินา

เมื่อชีวิตคือการเดินทาง

ตามแผนเดิมที่ ‘แอนดรูว์’ ชวนมา เราคุยกันไว้ว่าจะเดินทางจากแคนาดาลงไปอเมริกาใต้ ตอนนั้นเลยตั้งใจจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปเรื่อยๆ แบบม้วนเดียวจบภายใน 5 – 6 เดือน จอดพักบ้างประปราย แต่เน้นเดินทางและหยุดทำงานไปเลย แต่เมื่อเราหันมาสนใจทริปเหนือสุดลงใต้สุดอย่างที่ ‘ลี’ หรือเพื่อนอีกคนเสนอมา ก็เลยปรึกษากันว่าถ้าเราจะยืดระยะทางออกขนาดนี้ เราก็เดินทางไปด้วย ‘ใช้ชีวิต’ ไปด้วยเลยดีไหม ทำเหมือนกับตอนอยู่เชียงใหม่ คือเดินทางสลับกับจอดรถเคลียร์งาน จากเหนือลงใต้ผ่านประเทศไหนหรือเมืองอะไรที่ให้ความรู้สึกว่า ‘น่าอยู่’ ซึ่งสำหรับเราหมายถึงอินเทอร์เน็ตมีความเสถียร สภาพแวดล้อมปลอดภัย บรรยากาศดีเอื้ออำนวยต่อการทำงาน และค่าครองชีพไม่สูงมากนัก ก็อาจจะหยุดพักการเดินทางประมาณ 2 อาทิตย์ถึง 1 เดือน 3 เดือน หรือแม้แต่ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับจังหวะว่าจะมีงานเข้ามากน้อยแค่ไหน เมื่อไหร่ที่ออกเดินทางต่อ เราก็มุ่งหน้าลงใต้ไปเรื่อยๆ จนสุดแผ่นดินใต้ สุดท้ายก็เลยได้ข้อสรุปกันว่าเราจะใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมดประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี

จุดเริ่มต้นกับเส้นชัยของเราก็วางเอาไว้แบบเผื่อเหลือเผื่อขาด โดยตั้งใจจะขึ้นไปให้ถึงเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลที่อะแลสกา และถ้าเดินทางขึ้นไปทันก่อนหิมะจะเริ่มตกก็จะไปให้ถึงอ่าวพรูโด ส่วนทางใต้ก็จะลงไปจนสุดแผ่นดินพาตาโกเนียในอาร์เจนตินาแน่ๆ ส่วนจะออกไปถึงเส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิลหรือไม่ ก็ต้องรอลุ้นว่าจะเก็บเงินทันรึเปล่า

หลังหาข้อสรุปกันได้คร่าวๆ ลีก็ตกลงใจมาร่วมทริปด้วยอีกคน แต่อาจจะลงมาด้วยกันถึงแค่ประเทศเม็กซิโก หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ ‘อาร์เจ’ เพื่อนที่รู้จักกันในเชียงใหม่ มาร่วมขบวนการเป็นคนที่ 3 อาร์เจตั้งใจจะร่วมเดินทางด้วยเฉพาะช่วงอเมริกาเหนือเหมือนกัน เราตกลงกันว่าจะเริ่มออกเดินทางช่วงปลายปี 2015 และเนื่องจากทุกคนมีจุดเริ่มต้นกันคนละแห่ง เรากับคริสเตียนเริ่มที่รัฐโคโลราโด (Colorado) ลีเริ่มที่เท็กซัส (Texas) ประเทศสหรัฐฯ ส่วนอาร์เจเริ่มที่โตรอนโต (Toronto) ประเทศแคนาดา ก็เลยสรุปว่าจะไปเจอกันที่เมืองคาลการี (Calgary) ประเทศแคนาดาช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นจุดที่ต้องผ่านขึ้นไปก่อนถึงอะแลสกานั่นเอง

สำหรับแอนดรูว์ตัวต้นคิด เพิ่งจะเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดาได้ไม่นาน เลยตัดสินใจถอนตัว เพราะไม่อยากพลาดโอกาสก้าวหน้าในระยะยาว แต่ก็ยังพอมีหวังอยู่บ้างว่าแอนดรูว์อาจจะปลีกตัวมาร่วมทริปด้วยช่วงที่เราเดินทางผ่านประเทศแคนาดา  

ที่สุดแล้ว ทีมเรามีผู้เดินทางในช่วงทวีปอเมริกาเหนือด้วยกันทั้งหมด 4 คน คือคริสเตียน (ชาวอเมริกัน), ลี (ชาวอเมริกัน), อาร์เจ (ชาวแคนาดา) และเรา หลังจากนั้น ในช่วงของทวีปอเมริกากลางและใต้ก็จะเหลือแค่เรากับคริสเตียนที่ตั้งใจจะลุยกันไปจนถึงอาร์เจนตินาตามที่ตั้งใจไว้ให้ได้

การเดินทาง

การเดินทาง

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก