The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
การเรียนรู้เรื่องราวความเป็นไปต่าง ๆ นานา ของ ‘Mother Roaster’ จะมีใครให้ข้อมูลได้ดีไปกว่าเจ้าของร้านตัวจริง แม้เคยเล่าผ่านการสัมภาษณ์มาหลายครั้ง มีคนเขียนถึงก็หลายหน แต่จะมีใครที่ได้ข้อมูลเชิงลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งที่ ป้าพิม ต้องการพูดถึงในแง่ความเป็นจริงให้กระจ่างชัดได้ดีเท่า ดังนั้น บทความทั้งหมดที่จะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นการเขียนของป้าพิมเองทุกถ้อยคำ ทุกตัวอักษร ล้วนเกิดจากการเคาะแป้นจากแล็ปท็อปในร้านยามว่างจากการชงกาแฟ ติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ
‘กาแฟ’ ทวีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คนมากยิ่งขึ้น แทบจะนับรวมอยู่ในหมู่ปัจจัย 4 ของหมวดอาหารที่ขาดไม่ได้ต่อการดำรงชีพ ของคนที่หลงใหลกลิ่น รส หรือฤทธิ์ของกาแฟจนต้องดื่มทุกวัน คนจำนวนมากใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่นัดพบ พูดคุย สังสรรค์ ทำงาน และติดต่อธุรกิจ นอกเหนือจากการไปนั่งดื่มเพื่อซึมซับบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์แล้ว ที่สำคัญการเปิดร้านกาแฟก็เป็นความฝันอันดับต้น ๆ ของคนหนุ่มสาวยุคใหม่วัยทำงาน ที่ต้องการชีวิตอิสระและมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
การเปิดร้านกาแฟให้ได้รับความนิยม มีคนรู้จัก ได้รับการยอมรับในรสชาติ มียอดขายที่พอใจ สร้างรายได้ให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ต้องประกอบด้วยหลายปัจจัยและตัวแปร หนึ่งในนั้นคือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ เกิดการซื้อซ้ำและดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น ไม่เป็นหนึ่งในร้านที่ต้องปิดตัวลงในแต่ละวัน จากประโยคที่มีผู้กล่าวไว้ว่า
“ร้านกาแฟเปิดตัวขึ้นใหม่วันละ 5 ร้าน แต่ปิดตัวลงไปกว่าวันละ 10 ร้าน”
หลังจากป้าพิมสร้างความฮือฮาให้วงการกาแฟตื่นตัวขึ้น ด้วยการคว้าเครื่องเอสเปรสโซ่มือมากดอยู่หลังเคาน์เตอร์ในร้านขนาดเล็กริมถนนเมื่อ 4 ปีก่อน แค่นั้นไม่พอ ยังตอกย้ำในปีถัดมาด้วยการย้ายร้านไปอยู่บนอาคารโบราณย่านตลาดน้อย ในตรอกลึกและเล็กเกินกว่ารถยนต์จะเข้าถึง ผู้คนที่ไปหาต้องเดินฝ่ากองอะไหล่เหล็กที่วางระเกะระกะสุมกันเต็มพื้นที่ชั้นล่างของตัวตึก ก่อนก้าวขึ้นบันไดเก่าคร่ำเพื่อไปพบพื้นที่ใหม่ที่สดใสกว่า เสมือนเป็นโลกอีกใบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นับเป็นการฉีกกฎการตลาดที่ต้องให้การยอมรับ
ล่าสุดก็น่าจะเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ร้านที่ไม่น่าจะพบง่ายนักในกรุงเทพฯ สำหรับการเป็นร้านที่ขายแต่กาแฟดำล้วน และยังสร้างสีสันรันวงการอีกครั้ง ด้วยพนักงานในร้านทั้งหมดเป็นคุณลุง-คุณป้าสูงวัย ที่ผ่านการอบรมการทำกาแฟเบื้องต้นในโครงการที่ริเริ่มขึ้นมากว่า 3 ปี เจ้าของร้านกาแฟแห่งนี้มีเพื่อนอายุ 60+ มาร่วมกิจกรรมกันหลายรุ่น
จุดเริ่มต้นของ Mother Roaster
ด้วยความเหงาของคนที่เลขอายุเลยหลัก 6 มาไกล แต่อยากออกนอกบ้านอย่างมีจุดหมาย ให้โอกาสตัวเองได้พบปะพูดคุยกับผู้คนอย่างมีสาระ และถ้าหากมีรายได้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมต่อการลงทุนลงแรงยิ่งดี ที่สำคัญ ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่าขึ้นกว่าการเป็นคนแก่อยู่บ้านอย่างเงียบ ๆ ร้านกาแฟขนาดเล็กถึงเล็กมากซึ่งถูกเรียกจากรูปแบบของตัวร้านตามภาษาสากลว่า Coffeestand จึงเกิดขึ้นริมถนนมหาพฤฒาราม แต่สร้างกระแสให้วงการกาแฟต้องสั่นสะเทือน เมื่อนักดื่ม เจ้าของร้าน เจ้าของโรงคั่ว และเจ้าของไร่กาแฟ ต่างตบเท้าดาหน้าเข้ามาลองเชิงและลองชิมฝีมือกันไม่ขาดสาย ยังไม่นับรวมยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ หรือแม้แต่สายข่าวและสายคาเฟ่ฮอปปิ้ง
เมื่อหลายปีก่อน จำนวนคนใช้เครื่องกดเอสเปรสโซ่แบบแมนนวลในบ้านหรือตามร้านกาแฟยังมีน้อยมาก เครื่องชงชื่อ Rok เป็นเครื่องที่ต้องใช้กำลังแขนกดก้านของตัวเครื่องให้น้ำกาแฟไหลออกมาเป็นช็อต เรามีเครื่องนี้ใช้อยู่ในบ้านจึงนำออกมาใช้ที่ร้าน มากดช็อตเอสเปรสโซ่เติมบนนมให้เป็นเมนูลาเต้ หรือใส่น้ำมะนาวเป็นกาแฟมะนาว
มันคงดูแปลกตาและแตกต่างกว่าใคร ๆ มั้ง ที่สำคัญ คนชงและคนกดไม่ได้เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว แต่กลับเป็นคนแก่ผมสีดอกเลา มายืนใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในร้านรูปแบบใหม่ มีเมล็ดกาแฟคั่วเองให้เลือกเยอะกว่าที่อื่น ๆ ก็เลยเป็นที่ฮือฮา… ก็แค่นั้น
การตลาดสไตล์ป้าพิม
จากเดิมที่เคยเป็นแค่คนชอบชง ชอบดื่ม ชอบกลิ่น ชอบลิ้มรส ชอบมีเพื่อนพูดคุยและมีความรู้ในเรื่องของกาแฟอย่างผิวเผิน แต่เมื่อคิดจะเปิดร้านขายจริงจัง ทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวายเรียนรู้ ค้นคว้า เสาะแสวงหาทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกาแฟในทุกวิถีทางอย่างเข้มข้น จนสื่อสาร โต้ตอบ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้ร่วมวงสนทนาได้อย่างมั่นใจ ความรู้เรื่องกาแฟเป็นจุดเด่นที่ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วตามกระแสและแรงกระเพื่อมของสื่อสมัยใหม่ แต่มีบ้างที่เข้าใจว่า มันคือกลไกของการทำการตลาด ที่ใช้คนสูงวัยเป็นผู้สร้างเรื่องราว โดยมีคนหนุ่มสาวเป็นผู้ดำเนินการอยู่เบื้องหลัง
เราแทบไม่เคยคิดวิธีทำการตลาดให้คนรู้จักได้อย่างรวดเร็วภายในเดือนแรกของการเปิดร้าน ไม่ได้วางแผนขนาดนั้น คนตั้งข้อสันนิษฐานว่า แม่เป็นเพียงตุ๊กตาที่ลูกนำมาสร้างสตอรี่เพื่อทำการตลาด เรายังหัวเราะกับความคิดนี้เลย เพราะคนที่ตั้งต้นต้องการเปิดร้านคือคนเป็นแม่ ลูก ๆ คือผู้ส่งเสริมให้ความคิดนั้นสำเร็จ
อย่าลืมสิ เราไม่ได้ใช้เครื่องชงแมชชีนแบบอัตโนมัติ แค่กดปุ่มก็ได้น้ำกาแฟ แต่มันคือการชงแบบดริปที่ต้องอาศัยทักษะ ความชำนาญ และความรอบรู้ที่จะเลือกเมล็ดมาชงสักแก้วต้องเลือกแบบไหน บดขนาดเท่าไหร่ Ratio แค่ไหน อุณหภูมิน้ำร้อนเท่าไหร่ ถึงจะได้กาแฟที่ใสสะอาด หอม ดื่มง่าย ไม่ฝาด ไม่ขม และถูกใจผู้ดื่ม
เราหวังแค่ได้ย้ายที่ชงจากในบ้านออกมานอกบ้าน ได้ชงกาแฟให้คนอื่น ๆ ดื่ม ได้มานั่งพูดคุยกัน เราหวังอีกว่าจะมีคนชอบกาแฟเหมือนเรา ชอบวิธีการชงแบบที่เราทำ และหวังต่อไปว่า คนคนนั้นจะกลายเป็นคนรู้จักและคนคุ้นเคยในที่สุด แค่นั้นจริง ๆ การบอกต่อ ๆ กันไปแบบปากต่อปากต่างหาก คือการทำประชาสัมพันธ์ในแบบของเรา โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย หรือจากคนมาถ่ายไปลงในสื่อโซเชียลมีเดียออนไลน์และออฟไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ
ถ้าจะคิดว่าทำยังไงให้ขายได้ หรือพูดให้สวยคือใช้หลักการตลาดมาช่วย ก็น่าจะเป็นเพราะมีเมล็ดให้เลือกเยอะและหลากหลาย บางตัวที่เรามี ร้านอื่นไม่เคยมีหรือไม่ได้เอามาชงขาย รวมถึงการไม่แต่งเติมหน้าตากาแฟ เราทำแบบบ้าน ๆ ด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ที่มี ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้คนมาหา
การสร้างแบรนด์ฉบับ ‘แม่คั่ว’
Mother Roaster เป็นชื่อที่สื่อถึงร้านขายกาแฟที่คั่วเมล็ดโดยคนเป็นแม่ เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงตัวตนและที่มาของร้าน เป็นเจตนาแสดงความจริงใจ และบ่งบอกความตรงไปตรงมาของผู้เป็นเจ้าของ
เราตั้งชื่อร้านที่แปลตรงตัวว่า ‘แม่คั่ว’ เพราะต้องการให้คนเข้าใจความแตกต่างระหว่างกาแฟในแบบที่เราทำ ว่าไม่เหมือนร้านอื่น ๆ ที่มีดาษดื่นได้ยังไง อ๋อ เพราะเราคั่วกาแฟเอง คั่วด้วยกระทะ ด้วยสองมือของเรา
ที่เริ่มต้นมาแบบนั้น ทำให้กาแฟของเรายังส่งกลิ่นหอม ยังแสดงตัวตนได้เต็มที่ เพราะเมล็ดกาแฟผ่านความร้อนจากการคั่วมาน้อย เป็นกาแฟคั่วอ่อนที่เหมาะกับการชงดริป หรือเข้มขึ้นอีกหน่อยเพื่อนำมากดช็อตใส่นม แต่กาแฟยังคงมีรสชาติโดดเด่นเต็มที่ และด้วยวิธีการชงที่ไม่ได้ผ่านเครื่องไฟฟ้า จึงทำให้กาแฟแต่ละแก้วนุ่มนวล หอม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงการเลือกใช้น้ำแข็งกลมก้อนใหญ่เพียงหนึ่งเดียวในเมนูลาเต้
แก้ว To Go แต่ละใบ ก็มีข้อความบนแก้วไม่เหมือนกัน ใครได้ไปจึงมักนำมาอวด เรื่องแบบนี้ทำให้คนจดจำได้ว่า กาแฟรสแบบนี้ ในแก้วแบบนี้ หน้าตาแบบนี้ และคุณภาพเช่นนี้ เป็นกาแฟจากร้าน Mother Roaster ของเรา
กลุ่มเป้าหมายที่รักการดื่ม
เราคิดเองว่ากลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า และคนที่เดินเข้ามาหาเรา น่าจะเป็นคนชอบดื่มกาแฟเหมือนเรา ชอบกาแฟแบบเดียวกับเรา ชอบรสและกลิ่นแท้จริงของกาแฟแบบ Single Origin ที่ไม่ได้เบลนด์หรือนำเมล็ดอื่นใดมาผสมกันให้เกิดรสชาติใหม่ ๆ ตามใจต้องการเหมือนอย่างที่เราทำ เราต้องการคงรสดั้งเดิมของกาแฟแต่ละตัวไว้ให้คนดื่มได้สัมผัส ได้รับรู้รสจริง ๆ ของกาแฟจากแต่ละแหล่งที่มา จากแต่ละแหล่งปลูก มีทั้งคล้ายกัน ใกล้เคียงกัน และแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งได้กลิ่นที่ถูกปรุงแต่งด้วยวิธีธรรมชาติจากเกษตรกรแต่ละไร่ ไม่ว่าจะเป็นแบบยีสต์ แบบแอนาโรบิก แบบเบอร์บอน หรือแบบซานตา ลูเซีย ก็ดี แม้จะผ่านวิธีการชงในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ก็ไม่ทำให้รสและกลิ่นผิดเพี้ยน
เราขายแต่เมนูกาแฟล้วน แต่แยกเป็นกลุ่ม ๆ ถ้ากาแฟดำจะผ่านวิธีการชงอย่างพิถีพิถันในแบบดริปที่มีแค่ร้อนและเย็นเท่านั้น ที่สำคัญ เป็นการชงแบบดริปออนไอซ์หรือใส่น้ำแข็งไว้ในโถ Server ด้านล่าง แล้วเทน้ำร้อนลงบนกาแฟ น้ำแข็งเป็นตัวช่วยน็อกรสชาติของกาแฟไว้ ถ้าเราใช้สัดส่วนระหว่างน้ำกับกาแฟอย่างพอดี กาแฟจะมีความหอม ฉ่ำ และกลมกล่อม ไม่จืดหรือใสไป เมนูกลุ่มถัดไปเป็นกาแฟขาว คือใส่นมที่มีแค่ลาเต้และสโนว์ไวท์ คือนำกาแฟนมไป Shake ให้เกิดความนุ่มในรสสัมผัสมากขึ้น และกาแฟสี คือผสมในน้ำผลไม้พื้นบ้านอย่างมะนาวหรือส้มจี๊ด
จุดเด่นที่ทำให้ลูกค้ากลับมา
‘การเรียนรู้ให้กระจ่างถ่องแท้ เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับการทำอะไรสักอย่าง การเปิดร้านกาแฟก็เช่นกัน’
ดังนั้น หัวใจหลักของการทำร้านของเรา คือ การรู้จริง รู้ลึก จากการทำตัวให้เป็นแก้วน้ำที่ไม่มีวันเต็ม เติมหรือรองรับน้ำที่มีคุณภาพได้เสมอ เราไม่เคยหยุดการเรียนรู้ ยังคงพัฒนาความรู้และสร้างอะไรใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
เราไม่เคยหยุดนิ่ง แม้ว่าร้านจะเดินทางแบบก้าวกระโดดก็ตาม
การได้ค้นคว้าหาความรู้ ทำให้เราตกหลุมรักเบอร์รี่ชนิดนี้อย่างจัง เพราะยิ่งเรียน ยิ่งรู้ ยิ่งลึก ยิ่งอัศจรรย์ในความพิเศษของมัน ไม่ว่าจะเรื่องรส เรื่องกลิ่น เรื่องการปลูก เรื่องการแปรรูป เรื่องการเก็บเกี่ยว หรืออื่น ๆ ที่สำคัญ ทำให้เราตระหนักได้ว่า กว่ากาแฟหอม ๆ จะเดินทางมาให้ชงแต่ละแก้วนั้น มีกระบวนการที่ซับซ้อนมากเพียงใด เราต้องศึกษาวิธีการชงในแบบที่ขายอย่างละเอียดถี่ถ้วน ต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน จึงจะได้กาแฟที่มีรสชาติเหมือนกันในเกือบทุกแก้ว หากมีเมล็ดกาแฟเป็นทางเลือกเยอะ ยิ่งต้องรู้ที่มาทั้งรสและกลิ่นของเมล็ดกาแฟเป็นอย่างดี เพื่อให้คำแนะนำและช่วยลูกค้าเลือกในแบบที่ลูกค้าชอบหรือต้องการ นั่นยิ่งสร้างความพอใจและความประทับใจให้เกิดขึ้น
สิ่งที่ตามมาคือการทำให้ลูกค้าเดินกลับมาหาเราอีกครั้งและอีกครั้ง
นอกเหนือจากการชงแล้ว การคั่วก็สำคัญและสร้างเอกลักษณ์ให้กาแฟเราแตกต่างจากที่อื่น อีกทั้งยังชัดเจนในความเป็นเรามากขึ้น เหมือนเป็นลายเซ็นที่มีแค่ร้านเราเท่านั้น
ยกตัวอย่าง เมล็ดกาแฟจาก Colombia Courcues มีโน้ตมาพร้อมสารกาแฟว่า มีส่วนผสมตื้ด ๆๆ แบบนี้นะ เมื่อเราสะดุดกับคำว่า ‘โคล่า’ ที่มีมาให้ จึงตัดสินใจเลือกไลน์การคั่วให้ออกกลิ่นโคล่าเต็มที่ เวลาแนะนำกับลูกค้าก็จะบอกว่าเมล็ดกาแฟนี้มีกลิ่นโคล่า มีรสโคล่าจาง ๆ นะ ไม่เหมือนเปิดกระป๋องมาเป็นโคล่า แต่เป็นคราฟต์โคล่าที่เวลาต้มหัวเชื้อจะใส่สมุนไพร อย่างเลมอน ซินนาม่อน ลูกผักชี และอื่น ๆ ลงไป เวลาดื่มจะเติมโซดาลงไปให้มีฟองเพื่อเจือจางหัวเชื้อและเพิ่มความซ่า
แต่เราทำกาแฟ เมื่อดริปเสร็จจึงนำไปใส่กระบอกเชกสร้างฟองเพื่อความนุ่มนวล และเพื่อชี้นำกับผู้ดื่มว่ามันคือกาแฟกลิ่นคราฟต์โคล่านะ แน่นอนจะไม่มีในร้านอื่น วิธีการทำแบบนี้เป็นเรื่องสนุก ทำให้เราต้องคิดตลอดเวลาว่า สารก่อนคั่วจะให้กลิ่นอะไร รสแบบไหน ที่ทำแล้วผู้ดื่มจะเข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอหรือหาไม่ได้จากที่อื่น ๆ
การเป็นต้นแบบ
การชงกาแฟด้วยเครื่องแบบแมนนวลยังคงใช้ในหลากเมนู แม้ย้ายมาร้านใหม่ที่กว้างขึ้น ยอดขายสูงขึ้น ซึ่งการไม่ได้นำเครื่องแมชชีนมาใช้ ทำให้ต้องใช้เวลาในแต่ละแก้วนานกว่าร้านที่เรียกว่าสปีดบาร์ แม้การรองรับผู้คนจำนวนมากในแต่ละวันอาจมีขาดตกบกพร่องไปบ้าง แต่รสชาติของกาแฟแต่ละแก้วยังคงถูกบรรจงทำขึ้นอย่างตั้งใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของร้านทุกคนพึงมี ทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่ได้มีดีสำหรับสายถ่ายรูปเท่านั้น แต่สำหรับคนรักกาแฟแล้ว มันคือร้านกาแฟที่ขายกาแฟอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นร้านต้นแบบให้อีกหลายร้านที่ทยอยเปิดตามกันมาได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะผู้มีทุนไม่มาก เครื่องชงกาแฟแบบแมนนวลเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทำให้ร้านกาแฟเล็ก ๆ เกิดขึ้นมากมาย และทำให้ยอดขายเครื่องชงชนิดนั้นมียอดสูงขึ้นตามไปด้วย
เรายังคงความเป็นร้านกาแฟแบบสโลว์บาร์ ยังคงใช้เครื่องชงแบบแมนนวล ชงทีละแก้วอย่างพิถีพิถัน เพิ่มเมนูเป็นทางเลือกให้ผู้ดื่มมากขึ้น
การทำร้านกาแฟให้แตกต่างจากที่อื่น ๆ นอกจากจะไม่มีเมนูที่ไม่ใช่กาแฟ ไม่มีน้ำตาลหรือไซรัปให้เติม ซึ่งเป็นความตั้งใจจากร้านเล็ก ๆ แล้ว เมื่อย้ายมาตลาดน้อย เราพยายามไม่ใช้หรือไม่ให้แก้วสำหรับซื้อกลับ เพราะเราไม่ต้องการเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างขยะให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ชุมชน หรือถ้าโชคร้ายแก้วตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเราอยู่ใกล้มาก เราคงเสียใจ แม้แก้วที่เลือกใช้จะเป็นแก้วพลาสติกย่อยสลายได้ในเวลาไม่นานเท่าพลาสติกธรรมดาที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีก็ตาม ซึ่งเราเลือกใช้แก้วแบบ PLA ใช้หลอดที่ทำจากชานอ้อย ในแต่ละชุดแก้วนั้นจึงมีราคาสูงกว่ามาก
นอกจากนั้น ยังคำนึงถึงอรรถรสในการดื่มสำหรับเมนูหลักอย่างกาแฟดริป จึงเลือกใช้แก้วทั้งเย็นและร้อนที่ให้อรรถรสการดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น เช่น เมนูดริปเย็น ถ้ากาแฟที่ไม่ได้เป็นเมล็ดพิเศษก็จะใส่มาในแก้วเย็น มีหน้าตาเหมือนแก้วไวน์ที่ไม่มีก้าน เวลายกจิบความกว้างของปากแก้วจะคล้ายครอบจมูก เพื่อให้กลิ่นกาแฟนำมาก่อน หรือถ้าเลือกเมล็ดพิเศษก็จะดริปร้อน แต่เรโชสำหรับดื่มเย็น น้ำกาแฟจะใส่มาในขวดหรือเหยือกเล็ก มีแก้วน้ำแข็งมาเป็นชุดให้ค่อย ๆ เทดื่ม เหตุผลก็คือ เสน่ห์ของกาแฟดริปนอกจากการเลือกเมล็ดที่หลากหลายแล้ว ยังมีความพิเศษตรงที่รสชาติจะเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของน้ำกาแฟที่ลดลง ดังนั้น จิบแรกและจิบสุดท้ายจึงไม่เหมือนกัน หากเลือกดื่มกาแฟร้อน คุณจะเจอกับประสบการณ์นี้ แล้วถ้าชอบดื่มแบบเย็นล่ะ เราต้องการให้ผู้ดื่มได้สัมผัสความพิเศษนี้ด้วย จึงนำวิธีการเสิร์ฟแบบนี้มาใช้
ดังนั้น การนั่งดื่มที่ร้านน่าจะเป็นวิธีที่ดี อย่างน้อยสำหรับคนมาเดินเล่น การมาแวะร้านคือการได้เปลี่ยนอิริยาบถ ได้นั่งพัก ได้ถ่ายรูป และได้จิบกาแฟสบาย ๆ ไม่ต้องรีบร้อน บรรยากาศโดยรอบก็ดูผ่อนคลายเหมาะแก่การพักผ่อน
ทำไมต้องเหมือนใคร
กาแฟ 1 แก้วในแต่ละเมนูของร้านผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่การตั้งชื่อ การเลือกใช้เมล็ดกาแฟหรือวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีคุณภาพมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ และที่นี่น่าจะเป็นร้านแรก ๆ ที่เมนูนมอย่างลาเต้เป็นเมนูที่ถูกกล่าวขวัญกันว่าไม่ควรพลาด นอกจากความเด่นของเมล็ดกาแฟที่เลือกมาใช้อวดตัวได้เต็มที่ ไม่ถูกรสนมกลบกลิ่นให้ด้อยไปแล้ว น้ำแข็งที่ใส่ยังถูกบรรจงเลือกใช้เป็นก้อนกลมก้อนเดียว อันเป็นจุดเด่นของลาเต้แก้วนั้น หรือกาแฟผสมน้ำส้มจี๊ด ที่จัดให้เป็นแก้วเริ่มต้นสำหรับมือใหม่หัดดื่ม ก็ล้วนมีกระบวนการคั้นที่ต้องระวังไม่ให้ติดความขมจากเปลือก ด้วยผลส้มมีขนาดเล็กมาก แม้แต่เมล็ดกาแฟที่นำมาใช้ยังเลือกแบบที่มีกลิ่นเข้ากัน จึงช่วยส่งเสริมให้แก้วนั้นมีรสเด่นชัดยิ่งขึ้น
บ้านเราชอบดื่มกาแฟกันทั้งบ้าน งานทุกอย่างในร้าน เราทำกันเองเฉพาะคนในครอบครัว เราไม่ได้จ้างใคร เพราะมีไม่พอจ่าย ใครถนัดแบบไหนก็ช่วยกัน ปรึกษาหารือกัน อย่างการออกแบบตกแต่งร้านหรือเมนู เราก็ช่วยกันคิดและสร้างเมนูใหม่ ๆ ขึ้นมา เรามีเมล็ดกาแฟ ก่อนคั่วขายก็ลองคั่วแล้วชงมาชิมกัน ออกความเห็นร่วมกันว่าจะให้เป็นทางไหน แตกต่างกว่าคนอื่นอย่างไร บ้านเราไม่เหมือนใครอยู่แล้ว จึงทำอะไรที่เห็นกันว่าดี เหมาะสมกับความเป็นเรามากที่สุด
อย่างเมนูที่กำลังเป็นที่นิยมคือ กาแฟนมเข้มข้นที่เรียกกันทั่วไปว่า Dirty ที่ร้านเราใช้ชื่อเมนูว่า Good Sometimes Bad มาจากความชอบดูหนังฟังเพลงของลูก ๆ ที่หยิบยกมาตั้งชื่อแบบมีนัย ถ้าอธิบายอย่างง่าย ๆ เมื่อคุณยกกาแฟแก้วนี้ขึ้นจิบ สิ่งที่รับรสได้ก่อนคือความหอมมันของนม ทำให้ฟีลกู๊ด ก่อนเจอความแบดจากความเข้มของกาแฟ
อีกเมนูที่พ้องชื่อกันคือ Bad Sometimes Good เป็นกาแฟนมราดบนพานาคอตต้า แบดคือความ ‘บิตเตอร์’ ของกาแฟด้านบนที่คุณต้องเจอ ก่อนใช้ช้อนตักเนื้อพานาคอตต้าด้านล่างมาใส่ปาก ฟีลกู๊ดจึงตามมาให้สัมผัส อะไรอย่างนี้
ก้าวที่กล้าครั้งที่ 3
คนในวัยเดียวกันย่อมเข้าใจบริบทของคนวัยเดียวกันได้ฉันใด ก้าวที่ 3 ของร้านกาแฟนี้ก็มีจุดเริ่มต้นด้วยเหตุนั้นเช่นกัน
เราจัดโครงการเรียนรู้การทำกาแฟเบื้องต้นให้แก่ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ทำต่อเนื่องมาตลอดนับแต่ร้านแรกเปิดได้ไม่ถึงปี เป้าหมายหลักคือต้องการให้เพื่อน ๆ ไม่กลับไปดื่มกาแฟที่ประโคมความหวานจากนมและน้ำตาลซึ่งให้โทษต่อร่างกาย สร้างสังคมใหม่ให้เกิดขึ้น มีเพื่อนใหม่ ๆ ได้พูดคุยสื่อสารด้วยภาษาที่คนวัยใกล้เคียงกันเข้าใจ เกิดจุดมุ่งหมายใหม่ในชีวิตเพิ่มขึ้น ช่วยให้การจดจำไม่ลบเลือนได้ง่าย และสิ่งสำคัญคือตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง
เพื่อนวัยเดียวกันเข้ามาร่วมกิจกรรมกันหลายรุ่น โดยมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการต่อยอดด้วยการเปิดร้านเป็นของตนเอง อาจเป็นแค่ด้านหน้าหรือมุมเล็ก ๆ ของพื้นที่บ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ไว้จับจ่าย การฝึกวิชาการชงกาแฟให้แก่กล้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น และการที่ร้านมีพนักงานทั้งหมดเป็นคนวัยเกษียณ จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ตั้งเป้าหมายไว้หลังจากร้านตลาดน้อยก้าวเข้าสู่ปีที่ 2
ร้านตลาดน้อยมีคนมากันแน่นทั้งวันและทุกวัน ลูกกลัวแม่จะเหนื่อย จึงแบ่งหน้าที่ให้อยู่ด่านหน้า เรียกว่าเป็นคนแรกที่ลูกค้าจะได้พบ ได้พูดคุยถามไถ่ถึงความต้องการว่า ชอบกาแฟแบบไหน เมนูอะไร เย็นหรือร้อน เลือกเมล็ดหรือไม่ ชอบเปรี้ยวไหม เข้มหรือกลาง ฟลอรัลหรือฟรุตตี้ เราก็แนะนำกันไปตามความชอบของแต่ละคน
หน้าที่หลักอีกอย่างคือต้องทำตัวเป็นดาราหน้ากล้อง คอยร่วมเฟรมถ่ายภาพกับแฟนคลับที่ดั้นด้นมาหา ก็รู้สึกดีนะ รับรู้ได้ถึงการให้เกียรติและการได้รับเกียรติ แต่จำนวนคนในแต่ละวันนั้นมากมายหลากหลายถิ่น อาจขาดตกบกพร่องในเรื่องการต้อนรับหรือการโต้ตอบบ้าง บางครั้งก็สร้างความไม่ได้ดั่งใจให้กับใครบางคน จนฉายา ‘ป้าหน้าเหวี่ยง’ มากระทบหูให้ได้ยินบ่อยครั้ง ก็คิดว่าถึงเวลาสำหรับการก้าวออกไปทำตามโจทย์ที่ตั้งไว้ รอเวลาที่เหมาะเท่านั้น เมื่อเห็นว่าสมควรแล้วจึงตัดสินใจปล่อยมือให้ลูก ๆ ดูแลร้านกันเอง เพราะเราได้ทำเป็นตัวอย่าง ได้ถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ และวิธีการ ให้เห็นถึงคุณค่าของความทุ่มเท ความใส่ใจในทุกรายละเอียดของทุกสิ่ง สิ่งเหล่านั้นจะช่วยหล่อหลอมให้เขาซึมซับ รับรู้ถึงศาสตร์แห่งการทำร้านกาแฟ เพื่อดำรงกิจการให้อยู่รอดปลอดภัยได้แม้ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา
เรื่องเล่าจากร้านคนสูงวัย
ร้านประตูผี ร้านคนแก่ หรือ ‘มาเธอร์โรสเตอร์โกสต์เกต’ ในขวบปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดี แม้ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก คนทำงานสูงวัยต้องหายหน้าไป แต่ร้านยังคงดำเนินต่อไปโดยมีผู้เป็นเจ้าของยืนเดี่ยวเหนียวแน่น ขายแต่กาแฟดำในหลากวิธีการชง ทั้งดริป ไซฟ่อน โมก้าพอต การชงแบบตุรกี รวมถึงการกดเครื่องคู่ใจอย่าง Rok จากเช้าจรดเย็นในทุกวันพุธถึงวันศุกร์ และปิดบริการ 2 วันด้วยข้ออ้างว่าเป็นคนขี้เกียจ แต่โดยนัยคือต้องการใช้ความสมดุลมาเป็นเครื่องกำหนดการใช้ชีวิตและการทำงานให้พอดีกับแรงที่มี แบ่งเวลาสำหรับความบันเทิงได้บ้าง
การที่ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติทวีจำนวนขึ้น และแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย เป็นการฝึกฝนการเจรจาภาษาอังกฤษให้พัฒนาตามไปด้วย เขาเหมือนเป็นครูสอนภาษาให้เราทุกวัน จนพูดแบบมั่นใจขึ้นมาก และก้าวที่เงียบสงบ ไม่ต้องเร่งเร้า ไม่ต้องร้อนรน ก็เกิดขึ้นสมความตั้งใจ เพราะการขายแต่กาแฟดำทำให้กลุ่มคนดื่มน่าจะมีขนาดเล็กลง พอดีกับจำนวนที่นั่งในร้าน จึงนับเป็นความสุขยิ่ง
ตอนร้านนี้เปิดแรก ๆ มีพนักงานวัยหลังเกษียณ 4 คนประจำเคาน์เตอร์ มีคนที่ผ่านเวิร์กชอปมาฝึกทำงานอีกสัปดาห์ละคนเปลี่ยนสลับกันไป ทุกอย่างยังไม่ลงตัวนัก ลุงกับป้าคู่แรกที่มาติวเข้มตั้งใจจะเปิดร้านเอง ก็ขอให้เพิ่มเมนูนมและอื่น ๆ เพื่อเสริมความชำนาญ บางทีก็จำต้องใช้เครื่องชงแบบอัตโนมัติมาช่วยทุ่นแรง ทุกสิ่งดูวุ่นวายหน่อยแต่ก็สนุกดี มีเรื่องขำเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งลืมทำกาแฟให้ลูกค้า หรือลืมใส่โน่น ลืมเติมนี่ ลืมหยิบนั่น มีทั้งการถกเถียงว่าใครถูกใครผิดแบบไม่มีใครยอมใคร ซึ่งเป็นปกติของคนวัยนี้ พอคนเยอะเรื่องเลยแยะ
ตอนต้นปี โควิด-19 มาแบบดุมาก ๆ ก็เลยหายกันไป พอร้านต้องปิดหลายเดือน โครงการก็พับตามไปด้วย เมื่อกลับมาเปิดใหม่ยังไม่มีใครกลับมา จึงขายแต่กาแฟดำอย่างที่ตั้งใจไว้แต่ต้น การยืนทำคนเดียวเป็นอะไรที่ชอบนะ ขนาดร้านพอดีกับจำนวนคนไม่เยอะ ไม่พลุกพล่าน เงียบสงบและนั่งสบายสมกับการเป็นร้านสโลว์บาร์ ที่ยังคงความเป็นแมนนวล ยังมีเมล็ดให้เลือกเยอะ ถ้าลูกค้าเป็นชาวต่างชาติก็จะสนับสนุนให้ลองดื่มกาแฟไทย แต่ถ้าเป็นคนไทยก็จะพยายามเชียร์ให้ชิมกาแฟนำเข้าในราคาไม่ห่างกัน แต่ความซับซ้อนกับรสที่ได้แตกต่างกัน เพราะโอกาสจะไปดื่มกาแฟถึงแหล่งปลูกในแต่ละประเทศนั้น ๆ ค่อนข้างน้อย สู้มาเปิดโลกเรียนรู้รสชาติกาแฟหลากถิ่นกันที่นี่ดีกว่า
การต่อยอดทางธุรกิจ
เพราะเมล็ดกาแฟคั่วในถุงแพ็กขนาด 250 กรัม และ 100 กรัม ขายดีจากหน้าร้าน หลังจากลูกค้าลิ้มรสมักซื้อติดมือกลับไปทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ และซื้อผ่านออนไลน์ได้สะดวก การต่อยอดทางธุรกิจด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำกาแฟในรูปแบบต่าง ๆ จึงถูกนำเสนอให้เป็นอีกทางเลือก
ในเมื่อ มร. ขายแต่กาแฟดำทั้งร้าน ไม่มีเมนูนมหรืออื่น ๆ ดังนั้น สินค้าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำกาแฟดำจึงถูกผลิตออกมาขายด้วย เช่น ดริปแบ็ก กาแฟ Coldbrew มีทั้งแบบสำเร็จเป็นขวดพร้อมดื่ม และแบบซองให้กลับไปทำเองได้ง่าย ๆ แม้กระทั่งกาแฟแคปซูลสำหรับเครื่องเนสเปรสโซ่ก็มีจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดบรรจุโดยเมล็ดกาแฟที่เราคั่วเอง และอีกไม่นาน ‘ดริปเปอร์’ ลายเซ็นของ มร. ก็จะเปิดตัวให้ได้จับจองกัน
สารที่อยากส่งต่อ
ในหลายปีที่ผ่านมา จากการได้เปิดร้านกาแฟ ทำให้ชีวิตหลังเกษียณเต็มไปด้วยสีสัน มีความสุข สนุก ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และได้ส่งผ่านความสุขนั้นไปให้คนรอบข้างและเพื่อนร่วมรุ่น ทั้งหมดทั้งมวลที่ลงมือทำเป็นความสุขที่เติมเต็มให้ไม่เหงา ไม่โดดเดี่ยว ได้สร้างคุณค่า ไม่ได้เป็นแค่คนแก่ไร้ประโยชน์ แต่เป็นคนที่มีเกียรติ ได้รับการยอมรับ มีคุณค่า เป็นร่มไม้ใหญ่ให้ลูกหลาน และเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคน แค่นั้นก็พอแล้ว
เหนือสิ่งอื่นใด ‘ลูกค้า’ คือครูคนใหม่ของเราเสมอ ทุกท่านที่เดินผ่านเข้ามาในร้านสร้างความทรงจำให้ระลึกถึง อีกทั้งยังให้ความรู้ในบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่เคยรู้ด้วย
การเรียนรู้จากการเป็นบาริสต้า
เราตอกย้ำอยู่เสมอว่าเราไม่ใช่บาริสต้า เราพึงใจในการเป็นคนชงกาแฟ มากกว่าการเป็นบาริสต้า
ในความหมายจากภาษาต่างประเทศหรือความเป็นจริงแล้ว บาริสต้าไม่ได้เป็นเพียงแค่คนชงกาแฟเท่านั้น หากแต่ต้องแบกรับหน้าที่ต่าง ๆ ของร้านไว้เต็มสองบ่า แน่นอนเป็นงานที่หนักหนาเอาเรื่อง เช่น การดูแลรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ให้พร้อมอยู่เสมอ ต้องพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพตลอดเวลา ดูภาพรวมของร้าน เช็กสต็อกจำนวนวัตถุดิบไม่ให้ขาด ต้องคิดค้นและทดลองเมนูใหม่ ๆ รวมถึงงานเลอะเทอะอย่างการทำความสะอาด แม้แต่ทิ้งขยะก็ต้องทำ แต่บ้านเราเข้าใจต่างออกไป และให้ความสำคัญกับสถานะของคนเป็นบาริสต้าไว้ค่อนข้างสูง เราจึงพอใจกับคำว่า เป็นคนชงกาแฟมากกว่า
การเป็นคนชงกาแฟที่ดีต้องเอาใจใส่ ต้องเรียนรู้ความชอบของกลุ่มลูกค้าเป็นอันดับแรก เช่น ถ้าคนสั่งอเมริกาโน่ จะเข้าใจได้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนชอบกาแฟเข้มหรือกลางที่ไม่เปรี้ยว เพราะเราชงกาแฟดริปเป็นหลัก ถ้าลูกค้ารู้จักและสั่งกาแฟดริป นั่นหมายถึงไม่เกี่ยงรสเปรี้ยวของกาแฟ แต่ชอบในกลิ่นและรสที่ชัดเจน การได้พูดคุยหรือถามไถ่จะเข้าใจถึงความต้องการได้ไม่ยากนัก ที่สำคัญ เป็นการสอนให้รู้จักวิธีดูคนให้ลึกถึงตัวตน ถึงความปรารถนาได้อีกทางหนึ่ง
ทิศทางในอนาคต
ทั้ง มร. และ MR. เราทั้งสองไม่ได้เป็นสาขากัน เพราะขายไม่เหมือนกัน เป็นคนละร้านในชื่อเดียวกันที่มีการนำเสนอต่างกัน อนาคตอันใกล้ยังไม่มีแผนเปิดร้านใหม่ไม่ว่าในชื่อใด เราคุยกันในครอบครัวและตกลงร่วมกันว่า ต้องการขายกาแฟในแบบฉบับของเรา โดยการตระเวนเปิด Pop Up Bar ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อออกไปเยือนลูกค้าถึงถิ่น ให้ลูกค้าได้พบเจอ มาดื่มกาแฟที่เราเต็มใจชงแทนการต้องเดินทางมาหาเรา ขณะเดียวกันเราก็ได้ ‘ให้’ สิ่งที่เราเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือการออกไปใช้ชีวิตอย่างที่เราตามหา
ขยายความได้ว่า เราจัดการสัญจรไปเปิดขายกาแฟนอกสถานที่ หักรายได้ในทุกแก้วบริจาคช่วยบ้านดูแลสัตว์ป่วย พิการ เร่ร่อน ตามแต่เห็นสมควร แต่สิ่งที่หวังมากกว่าคือการทำให้ร้านของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เราไปเยือน ไปเปิดบาร์ชงกาแฟชั่วคราวนั้น เพิ่มพูนจำนวนคนรู้จักในพื้นที่นั้นให้มากขึ้นด้วย นั่นคือประโยชน์สูงสุดเท่าที่เราจะทำได้เพื่อสังคมและคนอื่น ๆ
บทส่งท้าย
อะไรก็ตามที่ทำเพื่อความสุขของตนเองโดยไม่เดือดร้อนใคร จงลงมือทำตอนที่ยังมีเรี่ยวแรงและความคิด อย่านั่งรอให้โอกาสมาถึงจึงจะคว้า เพราะโอกาสไม่ได้มีมาบ่อย แต่จงสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ใครจะไปคิดว่าการเริ่มต้นธุรกิจตอนอายุ 70 ปี จะประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย มีชื่อเสียงขจรไกลเป็นต้นแบบให้ใคร ๆ ได้เดินตาม ได้รับการยอมรับ และได้รับเกียรติอย่างน่าประทับใจ
อย่ามัวแต่คิด จงลงมือทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่ารอให้พร้อมจึงค่อยทำ เพราะวันนั้นอาจเดินทางมาไม่ถึง
Lessons Learned
- ธุรกิจกาแฟมีหลาย Section ทั้ง Speedbar, Slowbar, Cafe ที่มีความแตกต่างกันไม่มากนัก หากจะเริ่มต้นหรือดำเนินธุรกิจ ต้องเลือกให้ชัดเจนว่าจะอยู่ตรงไหน เพื่อโฟกัสจุดเด่นของร้านให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และยังต้องปรับตัวตามสถานการณ์ พร้อมที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
- การสื่อสารกับลูกค้าอย่างรู้ลึกและรู้จริง เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับร้านกาแฟแบบ Slow Bar เพราะจะได้ตอบสนองความต้องการที่ตรงประเด็น ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็ว และสร้างความแตกต่างจากร้านอื่น
- การส่งต่อและการให้ ไม่ว่าจะรูปแบบใด ทั้งการให้ความรู้ ให้โอกาส เป็นการตอกย้ำเพื่อการจดจำแบรนด์ได้ง่ายขึ้น จนทำให้เกิดการซื้อซ้ำ อันเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้
แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง
นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!