สิ่งแวดล้อมในวัยเด็กนั้นสำคัญต่อพัฒนาการ การสร้างตัวตน และการสร้างความทรงจำที่มีคุณภาพของเด็ก
หากคุณเป็นพ่อแม่ที่อยากเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างดี นั่นอาจเป็นความจริงที่ต้องระลึกถึงอยู่เสมอ
พ่อแม่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะหาได้ให้ลูกเสมอ เชอรี่-โชติพร นันทขว้าง เชื่ออย่างนั้นเช่นกัน ในวันที่เธอลาออกจากงานมาเป็นแม่เต็มตัว หญิงสาวจึงคิดเปิดแบรนด์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเด็ก คิดสะระตะอยู่นาน สุดท้ายก็ลงตัวที่เฟอร์นิเจอร์ของน้อง ๆ หนู ๆ
เพราะเป็นแม่ที่รู้ว่าเด็กแรกเกิดมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องนอน ‘Mother Goose’ ของโชติพรจึงผลิตเตียง ตู้ และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้มากที่สุด ความพิเศษคือสินค้าทุกชิ้นผลิตแบบ Made to Order ผันแปรไปตามความต้องการของพ่อแม่ที่มีวิถีการเลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ Mother Goose ยังเป็นเหมือนเพื่อน ๆ ของพ่อแม่ พวกเขาไม่ได้เน้นผลิตเฟอร์นิเจอร์ออกมาขายล็อตใหญ่ ๆ เยอะ ๆ แต่มองว่าของทุกชิ้นจะอยู่กับครอบครัวหนึ่งไปนานนับสิบปี คล้ายเป็นมรดกของครอบครัว
เราจึงไม่แปลกใจเลยที่เตียงของ Mother Goose จะแปลงร่างกลายเป็นสนามเด็กเล่นของเด็ก โซฟา หรือโต๊ะทำงานของพ่อแม่ได้ในอนาคต ภายใต้บริการหลังการขายที่เจ้าของแบรนด์จะดูแลไปตลอด ไม่ทิ้งกันไปไหน
เฟอร์นิเจอร์ของเด็กที่มีคุณภาพต้องผ่านอะไรมาบ้าง และอะไรทำให้ Mother Goose อยู่ในใจคุณพ่อคุณแม่มาเกือบ 20 ปี คอลัมน์ The Entrepreneur ขอชวนไปนั่งคุยกับโชติพร และ จิตริน จินตปรีชา นักออกแบบประจำแบรนด์ด้วยกัน
Mother’s Furniture
เพราะเป็นแม่ จึงคิดอยากทำสินค้าเกี่ยวกับพ่อแม่และเด็ก ๆ – จุดเริ่มต้นของ Mother Goose เรียบง่ายเช่นนั้น
ก่อนจะมาเปิดแบรนด์ของตัวเอง โชติพรทำงานในแวดวงการเงินมาหลายปี ก่อนจะเบนสายมาทำงานฝ่ายจัดซื้อในเครือเซ็นทรัล จนได้เรียนรู้ว่ากว่าจะมาเป็นหน้าร้านสวย ๆ ต้องผ่านกระบวนการคิดและวางกลยุทธ์แบบไหน จนกระทั่งจุดเปลี่ยนได้มาถึง ในตอนที่เธอเริ่มสร้างครอบครัว โชติพรตัดสินใจลาออกจากงานมาเป็นคุณแม่เต็มตัว
“พอลูกกำลังจะเข้าโรงเรียน เราเริ่มคิดว่าจะทำอะไรต่อ เลยมีความคิดว่าต้องทำกิจการของตัวเองถึงจะแบ่งเวลาไปให้ลูกได้
“ตอนนั้นชีวิตวนเวียนอยู่กับการเลี้ยงลูก มันเลยไม่พ้นสินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็ก ประกอบกับพื้นเพของทางครอบครัวเราทำธุรกิจเกี่ยวกับไม้ เราคุ้นเคยกับการผลิตไม้ จึงคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่เอามาทำต่อได้”
หากย้อนไปใน พ.ศ. 2549 แวดวงธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เด็กในไทยยังไม่ได้เฟื่องฟูนัก ในตลาดมีคนทำเตียงเด็กขายในรูปแบบ Conventional มาก ๆ ขณะที่ต่างประเทศมีงานออกแบบและฟังก์ชันที่ไปไกลกว่านั้น ซึ่งโชติพรเคยคิดว่าอยากทำธุรกิจนำเข้าเฟอร์นิเจอร์เด็ก แต่เธอไม่มีเวลาเดินทางไปสำรวจแบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการคัดเลือกแบรนด์ให้ตรงใจลูกค้าเป็นกระบวนการที่ทั้งนานและเสี่ยงเกินไป เธอจึงตัดสินใจเปิดธุรกิจของตัวเองที่ผลิตและควบคุมเองได้ เพราะน่าจะรวดเร็วกว่า
ไม่นานหลังจากนั้น เตียงเด็กแบรนด์ Mother Goose ก็ออกมาโลดแล่นในตลาดสินค้าเด็ก ด้วยสีสันสไตล์คลาสสิกที่ดูแล้วสบายตา รวมทั้งมีการรับผลิตแบบ Made to Order ตอบโจทย์ตรงใจกลุ่มพ่อแม่มือใหม่รวมถึงเด็กเล็ก ชื่อของ Mother Goose ก็กลายเป็นชื่อที่ติดหูลูกค้าได้ในเวลาไม่นาน
Colorful World in the Bedroom
หลังจากทำธุรกิจมาได้ราว 7 – 8 ปีจนเริ่มอยู่ตัว โชติพรรู้สึกว่าธุรกิจในมือกำลังนิ่งเกินไปและถึงเวลาทำอะไรใหม่ ๆ
ด้วยความที่ชอบเดินงานแสดงสินค้า ชอบดูเฟอร์นิเจอร์เป็นทุนเดิม เธอพบงานออกแบบชิ้นหนึ่งที่ถูกใจแต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ผู้ใหญ่ หลังจากสืบหายกใหญ่ เธอพบว่านักออกแบบงานนั้นคือ จิตริน จินตปรีชา นักออกแบบ อาจารย์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบให้กับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยหลากหลายเจ้า
ไม่รอช้า โชติพรชวนเขามาทำงานด้วยทันที “เหมือนพรหมลิขิต เพราะตอนที่คุณโชติพรโทรมา ภรรยาผมกำลังตั้งท้อง เราก็กำลังหาข้อมูลทำเตียงเด็กและเฟอร์นิเจอร์เด็กอยู่พอดี” จิตรินบอก
นั่นคือช่วงที่ Mother Goose ได้ปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งรีแบรนด์ ปรับโลโก้ งานออกแบบ และฟังก์ชันการใช้งาน
“สินค้าของเดิมเราเน้นสีขาว ไม่มีสีสันมาก ซึ่งลูกค้าชอบแบบนั้นมาตลอด แต่พอคุณจิตรินเข้ามา ลายเซ็นของเขาเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงกับความชอบของเราในตอนนั้นพอดี” โชติพรอธิบาย
จากเตียงเด็กแสนคลาสสิกสีขาว จิตรินได้ออกแบบเตียงของ Mother Goose เป็นสไตล์ Modern Contemporary กึ่งมินิมอล ดูคลีน เข้ากับบ้านทุกสไตล์
เขายังเลือกใช้ไม้ Solid Wood เช่นไม้โอ๊กหรือไม้แอชเป็นส่วนประกอบหลัก เพื่อความแข็งแรงและใช้งานได้ยาวนานขึ้น ส่วน Mother Goose ยังเลือกผ้าที่มีลายกราฟิกนำเข้าจากหลากหลายประเทศนำมาตัดเย็บเครื่องนอน เพื่อให้เป็นผ้าที่ลายสนุก แถมยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กเล็กอีกด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลยังสร้างสรรค์ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่พวกเขาใส่ใจเป็นอย่างมาก อย่างสีที่เลือกใช้ก็เป็นสีที่ปลอดภัย เพราะเด็ก ๆ มักจะหยิบจับกัดแทะของใกล้มือโดยไม่รู้ว่าเป็นอันตรายหรือไม่
“การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้เด็กต่างจากเฟอร์นิเจอร์ของผู้ใหญ่ เพราะเฟอร์นิเจอร์ของผู้ใหญ่ไม่ได้มีขอบเขตการออกแบบที่กว้างมาก อย่างการออกแบบเก้าอี้ เราประมาณความสูงได้ แต่เด็กเขาโตขึ้นเรื่อย ๆ เราคิดเยอะมาก ตั้งแต่จับเตียงยังไงให้ไม่มีเสี้ยน ทำยังไงให้หัวเด็กไม่ไปติดในซี่ไม้ ไปจนถึงผ้าที่ใช้ คุณโชติพรคิดไปถึงขนผ้า ทำยังไงให้ด้ายที่ใช้ไม่ไปพันนิ้วเด็กเล็ก ๆ” จินตรินเล่า
“และด้วยความเป็นเตียง เราอยากให้ความสำคัญกับการนอนที่มีคุณภาพ ไม่มีสิ่งรบกวน จึงต้องมีกันชนที่อยู่รอบ ๆ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว เตียงทารกของเรามีเสาครอบมุ้งด้วย ซึ่งไม่เคยมีในเตียงของต่างประเทศ แต่เราเห็นว่าบ้านเรายุงเยอะ เลยคิดว่าควรทำเสามุ้งเพิ่มขึ้นมา”
House Heritage
นอกจากการออกแบบให้เหมาะกับเด็กเล็กทุกรายละเอียดแล้ว สิ่งที่เราฟังแล้วรู้สึกว้าวกว่านั้น คือฟังก์ชันของเตียง
โจทย์ใหญ่ที่จิตรินกับโชติพรมีร่วมกันคือ ‘เตียงที่เป็นมากกว่าเตียง’
ว่ากันง่าย ๆ คือเตียงทุกหลังของ Mother Goose ผลิตขึ้นมาให้คุณพ่อคุณแม่นำไปประกอบเองได้ แต่ที่พิเศษคือจะประกอบแบบไหนก็แล้วแต่จินตนาการ บางคนปรับเป็นเตียงเด็กโต โต๊ะทำงาน โซฟา ไปจนถึง Playhouse ขนาดย่อม
“นี่คือเหตุผลที่เราต้องใช้ไม้ Solid เพราะอยากให้เฟอร์นิเจอร์แข็งแรง ใช้ได้นานนับสิบปี ราคาอาจจะสูงกว่าท้องตลาด แต่ถ้าลองหารไปเป็น 10 – 20 ปี เขาจะรู้สึกว่าคุ้ม” จิตรินอธิบาย
“มีลูกค้าบางคนเล่าให้ลูกเขาฟังว่า เห็นโต๊ะตัวนั้นของคุณพ่อไหม มันเคยเป็นเตียงนอนของหนูนะ การที่มีฟังก์ชันประกอบหลากหลายจะทำให้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นเป็นเหมือนของที่มีคุณค่าต่อใจในบ้าน ทำให้มีเรื่องราวในครอบครัวที่เล่าต่อ ๆ กันได้” โชติพรเสริม
Lifetime Service
เปิดมาเกือบ 20 ปี แน่นอนว่าความชอบของลูกค้าก็คงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
แต่โชติพรบอกว่ากลุ่มลูกค้าที่เธอมองไว้ยังเหมือนเดิม นั่นคือเหล่าพ่อแม่มือใหม่ที่หลงใหลและให้คุณค่ากับงานออกแบบ ชอบแต่งบ้าน ให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศ และละเมียดละไมกับการใช้ชีวิต
โชติพรมองว่า Mother Goose ไม่ได้ขายแค่เตียงหรือเฟอร์นิเจอร์ แต่ขายสินค้าที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เหมาะกับที่พักอาศัย และทำให้บ้านของลูกค้าสวยขึ้นในเวลาเดียวกัน
“เราได้ยินเสียงตอบรับจากลูกค้าตลอดเวลาและเราเมินเฉยไม่ได้ ลูกค้าจะซื้อเตียงจากที่ไหนก็ได้ สั่งเข้ามาจากต่างประเทศก็ได้ แต่ทำไมเขาถึงมาหาเรา สิ่งที่ลูกค้าขอมา เราไม่ได้มองว่าเป็นปัญหานะ แต่เป็นสิ่งที่เขากำลังตามหาและยังไม่มีใครทำให้เขา นั่นเพราะการใช้ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีการเลี้ยงลูกของเราไม่ได้เหมือนกับคนยุโรป และพ่อแม่แต่ละยุคก็เลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน ลูกค้ายุคนี้บางทีอยู่คอนโดและมีข้อจำกัด สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะมาเพิ่มเติมให้กับสินค้าของเราได้อย่างดีที่สุด
“เรามองว่าในฐานะเจ้าของหรือคนทำผลิตภัณฑ์ เราไม่ได้ทำเพื่อแบรนด์เท่านั้น แต่ทำเพื่อคนที่เขามาหาเราและต้องการบางสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของเขา”
เธอเล่าอีกว่า สิ่งที่ทำให้ลูกค้าอยู่กับ Mother Goose ในระยะยาวไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนคือคำว่าบริการและสไตล์ของสินค้าที่ชัดเจน
“เฟอร์นิเจอร์ยังไงก็ต้องมีบริการหลังการขายให้ลูกค้า เพราะเราตั้งใจอยู่แล้วว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งจะอยู่กับลูกค้าได้ได้ยาว ๆ เราจึงทำ Lifetime Service เพื่อให้ลูกค้าแฮปปี้ที่สุด เมื่อตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ลูกค้าก็มั่นใจและจะช่วยบอกต่อ”
Parent Collaboration
นอกจากเตียงและตู้ที่ออกแบบมาเป็นคอลเลกชัน ภายในร้าน Mother Goose ยังจำหน่ายสินค้าสำหรับเด็ก อย่างเปล ชั้นเปลี่ยนผ้าอ้อม ไปจนถึงสินค้าแต่งห้องของแบรนด์อื่น ๆ จากไทยและเทศ เช่น โมบายล์ห้อย โคมไฟ พรม ตุ๊กตา ฯลฯ
“เราอยากให้ Mother Goose เป็นเหมือน One Stop Service ถ้าเข้ามาแล้วจะเจอสินค้าที่สร้างช่วงเวลาแห่งความสุขให้เขาได้” จิตรินบอก ก่อนที่โชติพรจะเสริมเรื่องเกณฑ์ในการเลือกสินค้ามาขายว่า
“สินค้าที่เราเลือกมาขาย จริง ๆ มาจากความชอบของตัวเองก่อน ถ้าเราไม่ชอบ เชื่อว่าลูกค้าก็ไม่น่าจะชอบเหมือนกัน เราเลือกสินค้าที่สไตล์น่าจะไปด้วยกันกับ Mother Goose ได้ นั่นคืออย่างแรก ยิ่งเป็นสินค้าที่ได้รางวัล เราก็ชอบไปศึกษาเรื่องราวของเขาแล้วจัดมุมในร้านให้มีสิินค้าแบรนด์นั้นอยู่ด้วย อีกอย่างคือแบรนด์ดี ๆ ที่ขายในช่องทางออนไลน์อย่างเดียว เราก็อยากดึงให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นการทำงานที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่”
ไม่เพียงเท่านั้น Mother Goose ยังขยันกระโดดไปทำงานร่วมกับศิลปินหรือนักออกแบบที่มีจริตคล้ายกัน เพื่อพาเฉดสีและลวดลายใหม่ ๆ เข้ามาสู่สินค้า อย่างก่อนหน้านี้โชติพรก็เคยไปดูนิทรรศการของ Aura Cherrybag ศิลปินแนวคอลลาจที่ถนัดใช้สีสันจัดจ้านและครีเอตคาแรกเตอร์สุดน่ารัก เธอประทับใจมากจนติดต่อหาออร่าเพื่อร่วมงานกัน หรืออย่าง PANISA objects ของแต่งบ้านฝีมือทายาทโรงงานของเล่นไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องการจับคู่สีได้เก่งกาจ โชติพรก็ชวนมาออกแบบเตียงเด็กสีสดใสร่วมกัน
“ศิลปินมีมุมมองต่อเฟอร์นิเจอร์ของเราในอีกมุม เขาอาจต้องการความสนุก สีสัน รูปทรง ลวดลายที่เขาชอบ ซึ่งผมมองว่าเป็นแนวความคิดที่ดี ทำให้เรามีความแตกต่างจากสินค้าในตลาด และฉีกความจำเจของเราด้วย” ชายหนุ่มเล่าข้อดีให้เราฟัง
“การทำงานกับศิลปินเหมือนการนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ของแบรนด์ เพราะเราก็ต้องการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้ลูกค้าเห็นว่าจริง ๆ เตียงเด็กไม่ได้เป็นแค่เตียง แต่เป็นงานศิลปะขนาดเล็กได้ด้วย”
Mother’s Shop
ในยุคที่ธุรกิจมีคู่แข่งผุดขึ้นมาในตลาดมากมาย Mother Goose ยังยึดมั่นกับการทำธุรกิจในโมเดลเดิม
พวกเขาไม่ได้ฝากขายกับที่ไหน แม้นั่นจะดูเป็นกลยุทธ์ที่จะหาลูกค้าได้มากขึ้น แต่โชติพรย้ำว่า Mother Goose อยากทำ Boutique Shop ของตัวเองให้แข็งแรง เปิดขายที่เดียว เพราะต้องการบริการลูกค้าให้ได้มากที่สุด
“ความท้าทายคือคู่แข่งอาจจะมีไซซ์ใหญ่ขึ้น ลูกค้าอาจจะมีตัวเลือกมากขึ้น แต่เรามองว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้และอยากใส่ใจในรายละเอียดให้ได้มากที่สุด เพราะความใส่ใจในรายละเอียดนี่แหละจะทำให้เราต่างจากคนอื่น
“ในขณะเดียวกัน เราเองก็ต้องพัฒนาตลอดเวลา ทำสินค้าให้ลูกค้ารู้สึกว่าใช่สำหรับเขา ทำให้เขาเห็นเราด้วยการทำงานกับคนรุ่นใหม่ มีคอนเซปต์ใหม่ ๆ และไอเดียใหม่ ๆ มากขึ้น เรายังเป็น Mother Goose เหมือนเดิม เพียงแต่เพิ่มความสดใสขึ้นไปอีก” โชติพรยิ้มรับความท้าทาย
“สุดท้ายแล้ว เราอยากให้ Mother Goose เป็นแบรนด์แรกที่คนนึกถึงเมื่อมองหาเฟอร์นิเจอร์เด็กเล็ก และสร้างเตียงของเราให้เป็น Classic Item เหมือนเรามองเฟอร์นิเจอร์ต่างประเทศที่เก้าอี้ตัวหนึ่งอยู่ได้หลายสิบปี แต่สิ่งที่เมืองนอกเขาทำคือไม่ได้นิ่งอยู่อย่างนั้น มีนักออกแบบคนใหม่ ๆ มีคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริมความสนุก เราต้องการทำแบบนั้นค่ะ”
Facebook : MotherGoose Thailand