กำแพง อาจเป็นสิ่งก่อสร้างที่กั้น ‘ข้างใน’ ออกจาก ‘ข้างนอก’ เพื่อความปลอดภัย

กำแพง อาจกั้น ‘เรา’ ออกจาก ‘พวกเขา’ เพื่อความเป็นส่วนตัว

…แต่กำแพงที่สถานทูตของไทยในประเทศโมซัมบิกอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เมื่อไทยเปิดสถานทูตที่โมซัมบิก

โมซัมบิกถือเป็นประเทศที่มีการลงทุนของคนไทยสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา และเป็นประเทศที่มิได้แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย กอปรกับเพิ่งค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในชายฝั่งทะเลที่คาดว่าจะมีปริมาณมากเป็นอันดับ 6 ของโลก

ครั้งหนึ่ง โมซัมบิกจึงเป็นประเทศเนื้อหอมที่ดวงตาทุกดวงต่างจ้องเขม็งเข้ามาหาพร้อมกัน คงเพราะมีการคาดการณ์ว่า โมซัมบิกอาจจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด หรือที่พูดกันว่า มี GDP เติบโตมากถึง 7 เปอร์เซ็นต่อปี

ใน พ.ศ. 2556 รัฐบาลไทยจึงมีดำริที่จะเปิดสถานทูตไทยที่นั่น นัยว่าไม่ให้ตกขบวนนักลงทุนนานาชาติที่ต่างหันหน้าไปทวีปแอฟริกา และดวงตาหลายดวงก็เพ่งไปที่โมซัมบิก ประเทศที่แม้ในตอนนั้นอาจจะจนเป็นอันดับรั้งท้ายของโลก แต่ก็เพิ่งค้นพบแก๊สธรรมชาตินอกชายฝั่งใต้ทะเลบ่อมหึมา

พอกลาง พ.ศ. 2559 กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ส่งข้าราชการชุดแรกให้ประจำการที่นั่น ซึ่งถือเป็นกระบวนการสุดท้ายก่อนที่สถานทูตไทยแห่งล่าสุดในกรุงมาปูโต เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิก จะเปิดทำการ

ผมโชคดีที่ได้รับโอกาสให้ไปทำงานที่นั่นพร้อมกับท่านทูตและเพื่อนข้าราชการอีก 2 คน โดยได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนราว 3 เดือนพร้อมกับพี่เจ้าหน้าที่ด้านการเงินอีก 1 คน ก่อนที่ท่านทูตจะเดินทางมารับหน้าที่และเพื่อนข้าราชการรุ่นน้องอีก 1 คน รวมกันเป็นทั้งหมด 4 คน

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ

เมื่อเราเดินทางไปถึง งานหลักของเราก็คือการทำให้สถานทูตเปิดทำการให้ได้โดยเร็ว หลายเรื่องเป็นเรื่องที่มีการเจรจา เห็นพ้องต้องกันและเตรียมการมาก่อนหน้านี้แล้วมากมาย เหลืออยู่เพียงไม่กี่เรื่องที่เราจะต้องทำ อาทิ การจัดการให้มีสำนักงานหรืออฟฟิศสำหรับใช้ทำงานโดยเร็ว ในเวลาไม่นาน เราก็เจรจาต่อรองจนเช่าอาคารเดี่ยวขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตัดใหม่เอี่ยมอ่องของเมืองได้สำเร็จตามกำหนดเวลาที่กระทรวงการต่างประเทศให้ไว้

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

เมื่อได้อาคารที่ทำการแล้ว นอกเหนือจาก ‘ตราอาร์ม’ ซึ่งเป็นเครื่องหมายรูปครุฑที่จะต้องติดประดับไว้ด้านหน้าอาคารที่ทำการของสถานทูตไทยทุกที่ทั่วโลกแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ป้ายชื่อ

แต่ถ้าป้ายชื่อของเราจะไม่ป้ายทองเหลืองหรือป้ายหินอ่อนแบบสถานทูตอื่นๆ

ท่านทูตและพวกเราเห็นพ้องตรงกันว่า เราน่าทำป้ายชื่อด้วยกระเบื้องโมเสก ซึ่งนอกจากจะไม่ใครในที่อื่นๆ แล้ว ยังเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ตามสถานที่ราชการและท้องถนนในกรุงมาปูโต

อะไรที่เราปรับใช้ตามท้องถิ่น น่าจะเป็นเรื่องที่ดีและเหมาะสมอยู่แล้ว

คนทำป้ายชื่อ

โจทย์ป้ายชื่อเป็นกระเบื้องโมเสก ซึ่งเป็นงานคราฟต์ เป็นงานทำด้วยมือ เป็นงานศิลปะ เริ่มเป็นเรื่องยากเมื่อเราจะต้องลงมือทำตามที่เราคิดกันจริงๆ ผิดกับป้ายแบบทองเหลืองหรือแบบหินอ่อนแกะเป็นตัวอักษร ที่มีผู้รับเหมาทำเป็นกิจจะลักษณะ

เราจะหาใครมาทำให้เราได้ล่ะ

แม้จะต้องงมเข็มอยู่ในมหาสมุทรอยู่สักพัก

แม้หลายคนจะแนะนำให้ติดต่อศิลปินรุ่นใหญ่ ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นคนทำงานกระเบื้องโมเสกที่เห็นอยู่โดยรอบเมือง แต่นั่นก็มาพร้อมกับสนนราคาค่าจ้างที่แพงลิบลิ่ว เกินกว่าที่เราจะต่อรองให้เจ้าของอาคารที่เราจะเช่าอยู่ดำเนินการให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการเช่าได้

แล้วในที่สุด เราก็ได้พบกับศิลปินรุ่นใหม่คนหนึ่งที่เคยเป็นลูกมือทำกระเบื้องโมเสกของศิลปินรุ่นใหญ่คนนี้

เขารู้วิธีการทำกระเบื้องโมเสกบนกำแพงขนาดใหญ่ เพราะได้เรียนรู้จากการทำงานกับศิลปินรุ่นใหญ่มาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น และเขาก็เริ่มมีฝีไม้ลายมือทางศิลปะพอควร ภาพเขียนอะคริลิกบนผืนผ้าที่จัดแสดงและตั้งขายอยู่ที่สมาคมศิลปะของกรุงมาปูโตของเขา ก็ดูเหมือนเป็นที่ชื่นชอบของคณะผู้มาเยี่ยมเยือนจากประเทศไทยที่เราพาไปเยี่ยมเยียนอยู่เนืองๆ

สไตล์แบบเขานี่ล่ะที่เราและคนไทยโดยทั่วไปน่าจะชอบ เราจึงชวนเขามาทำป้ายชื่อให้เรา

จากป้ายชื่อกลายเป็นกำแพง

ศิลปินเสนอแบบร่างป้ายชื่อของเราเป็นงานกระเบื้องโมเสกเต็มกำแพง ด้านหน้ายาวขนาดเท่าป้ายบิลบอร์ดที่เห็นริมถนนในบ้านเรา

เราเจรจาต่อรองสัญญาเช่าให้เจ้าของอาคารจ่ายค่าทำกระเบื้องโมเสกเต็มทั้งกำแพง

หากยืนอยู่ด้านอาคารที่เป็นที่ตั้งของสถานทูตเปิดใหม่ของเรา จะเห็นกำแพงอิฐสูงที่ริมที่ดินทั้งสองฝั่ง บริเวณตรงกลางเป็นช่องประตูรั้วเลื่อนได้เว้นไว้เป็นที่จอดรถ นี่คือพื้นที่ที่ศิลปินจะต้องทำ ‘ป้ายชื่อ’ ให้เราทั้งกำแพง

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ในแบบร่างของศิลปิน เขาร่างภาพให้แบ็กกราวด์เป็นท้องฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเช้าไปจนค่ำ เส้นขอบฟ้า เห็นอาคารของไทยและโมซัมบิก ภาพฟอร์กราวด์เป็นภาพวิถีชีวิตแบบชาวบ้านของคนท้องถิ่นโมซัมบิกสลับกับเรื่องราวแบบไทย

เราเห็นพ้องกันว่า แบบร่างของเขาที่เสนอมานั้นดูดีทีเดียว

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ภาพบนกำแพงแม้เป็นจินตนาการแต่ก็มีความหมาย

ระยะเวลา 3 เดือนกว่า ตั้งแต่ก่อนวันสิ้น พ.ศ. 2559 จนถึงเดือนมีนาคมในปีต่อไป กำแพงสูงที่กั้นอาคารสมัยใหม่ซึ่งอยู่ข้างในออกจากสภาพชุมชนแออัดของคนท้องถิ่นที่เพิ่งถูกรุกคืบจากการขยายเมือง ถูกแปลงโฉมให้เป็นกำแพงในความหมายใหม่โดยศิลปินและผู้ช่วยของเขารวม 6 คน

สำหรับกลุ่มศิลปิน งานจ้างนี้อาจจะเป็นงานใหญ่ที่สุดในชีวิตที่พวกเขาจะได้รับโอกาสให้ทำ

ในตอนเริ่ม แรงงานถูกระดมมาช่วยกันขัดพื้นผิวที่เคลือบด้วยสีทาอาคารคุณภาพดี ที่เจ้าของบ้านลงทุนทาบนรั้ว หมายมุ่งที่จะหาลูกค้าที่สนใจถึงคุณภาพ เครื่องมือช่างประกอบเข้ากับจานหมุนเหล็กคมค่อยๆ เฉือนเนื้อสีชั้นแรกลึกไปถึงเนื้อปูนเป็นชั้นที่สอง เหลือไว้แค่ร่องรอยของซีเมนต์หยาบๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของผิวฉาบปูนบนผนังก่ออิฐแข็งแรง

เวลาเกือบ 2 สัปดาห์เต็มผ่านไป กำแพงถูกแทนด้วยการลงมือทำงานศิลปะกระเบื้องโมเสกตามแบบที่เขาเสนอพวกเราเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า

ก้อนถ่านที่ใช้จุดไฟในครัวเรือนก้อนแล้วก้อนเล่าถูกนำมาฝนเป็นภาพร่างบนกำแพง ที่บัดนี้ถูกขัดสีออกจนเหลือแต่ปูนซีเมนต์ฉาบ

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ภาพที่ปรากฏแตกต่างจากแบบร่างไปบ้าง ตามจินตนาการความคิดในขณะนั้น และที่พวกเขาได้รู้จักพวกเราคนไทยและเรื่องราวของประเทศไทยมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป และความสัมพันธ์ที่เรากับเขาได้รู้จักกัน

ที่กำแพงด้านหนึ่ง เขาวาดภาพอย่างมีอารมณ์ขัน เป็นภาพช้างเอเชียที่มีหูเล็ก แตกต่างกับช้างแอฟริกันหูใหญ่ (คนไทยเป็นที่รู้จักว่าฝึกช้างให้เชื่องจนใช้งานได้ ผิดกับช้างแอฟริกันที่อยู่แต่ในป่าและมีแต่ชื่อเสียงว่าใหญ่ดุร้าย) กำลังลากรถกระบะบรรทุกผู้โดยสาร ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่ารถ ‘My Love’ เพราะผู้โดยสารเหมือนเป็นรถเมล์สาธารณะ ต้องเบียดเสียดและโอบกอดกันไว้ดั่งคนรักกัน

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ภาพช้างลากรถ My Love นี้ ได้รับความสนใจจากคนท้องถิ่นที่สัญจรผ่านไปมาตั้งแต่ยังเป็นลายเส้นร่างด้วยก้อนถ่าน หลายคนมายืนดูแล้วก็หัวเราะชอบใจ เพราะคงเห็นภาพตัวเองที่ต้องไปอัดกันบนหลังรถ My Love เป็นเรื่องขำขันที่คนท้องถิ่นมีความสุขกับความโชคไม่ดีของตัวเอง

บนกำแพงอีกฝั่งหนึ่ง มีภาพรถตุ๊กตุ๊ก พร้อมกับพระสงฆ์ใส่จีวรสีส้มจัด สลับกับภาพรถตู้โดยสารเก่าซอมซ่อที่คนท้องถิ่นเรียกกว่า ‘ชาป้า’ อาจแปลได้ในทำนอง ‘รถกระป๋อง’ ที่คนท้องถิ่นต้องเบียดกันเข้าไปในรถ ซึ่งกำลังวิ่งสวนมา รถตุ๊กตุ๊กสีน้ำเงินแดงของไทย คล้ายๆ กับรถสามล้อ ‘Bajaj’ ที่นำเข้าจากอินเดีย คนท้องถิ่นเรียกเป็นภาษาโปรตุเกสว่า ‘Txopela’ (โชเปลา)

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ตึกรามบ้านช่องที่อยู่บนเส้นขอบฟ้าของทั้งสองกำแพง มีภาพอาคารที่เป็นแลนด์มาร์กของกรุงมาปูโต เช่น สถานีรถไฟแบบนีโอคลาสสิกที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณานิคม โดยนิตยสาร National Geographic จัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สถานีรถไฟที่สวยที่สุดในโลก สลับกับอาคารแบบไทยๆ เช่น เรือนไทยที่ยกใต้ถุนสูง เจดีย์ภูเขาทองและวัดพระแก้ว ฯลฯ แล้วเรายังขอให้พวกเขาเพิ่มภาพอาคารที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศที่ถนนศรีอยุธยา และอาคาร Energy Complex ถนนวิภาวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท. สผ. ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้ไปร่วมลงทุนกิจการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่โมซัมบิก และได้อนุเคราะห์ให้เราใช้พื้นที่สำนักงานของเขาที่กรุงมาปูโตเป็นที่ทำงานชั่วคราวของเราในระยะเริ่มแรกเข้าไปบนกำแพงด้วย

ในตอนกลางคืน แสงจากโคมไฟความสว่างสูงแบบ LED ที่เราติดใหม่บนรั้วสถานทูตก็ส่องกำแพงเห็นแสงระยิบ เพราะความมันเงาของแผ่นกระเบื้องที่ถูกวางเป็นมุมตกกระทบต่างๆ กัน จึงงานศิลปะบนกำแพงเห็นชัด และดวงไฟยังช่วยส่องแสงให้กับคนท้องถิ่นที่ต้องเดินทางกลับบ้าน โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ทางการยังไม่ติดไฟบนถนนหน้าสถานทูตที่เพิ่งตัดเสร็จหมาดๆ ด้วย

เมื่องานเสร็จ ท่านทูตเลี้ยงข้าวกับเบียร์แบบง่ายๆ ให้กับศิลปินและทีมงานของเขาที่ได้ลงแรงเนรมิตงานศิลปะหน้ากำแพง ซึ่งต่อมากลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของกรุงมาปูโตไปอย่างไม่ตั้งใจ

แม้กำแพงหน้าที่ทำงานของเราสูงทะมึนตามอย่างสถานทูตทั่วไป ต้องรักษาความปลอดภัยแน่นหนา เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ แต่ภาพที่ปรากฏกลับทำให้รู้สึกในทันทีว่า กำแพงที่ทั้งสูงและทึบนั้นหายไปแบบไม่มีตัวตน

คนท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบได้รู้จักและรับรู้ถึงประเทศไทยและความเป็นไทยบนกำแพง เด็กๆ มาวิ่งเล่นยามเลิกเรียน ผู้คนสัญจรผ่านเมื่อต้องเดินเข้ามาทำงานในเมืองทั้งในตอนเช้าและเย็น รถเมล์หยุดรับผู้โดยสาร ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปกับกำแพงหน้าสถานทูตของเรา

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

บรรยากาศชวนให้คิดถึงชื่องานศิลปะบนกำแพงของสถานทูต ที่พวกเขาตั้งเป็นภาษาโปรตุเกสว่า ‘Os Moçambique e tailandeses são bons amigos’ (คนโมซัมบิกและคนไทยเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน)

กำแพงเสร็จ คนไม่มีงาน

เราแทบไม่เชื่อหูตัวเองว่าเมื่อรู้ว่า การทำป้ายชื่อกระเบื้องโมเสกบนกำแพงหน้าสถานทูตที่เจ้าของบ้านจ่ายเงินให้เรานี้ จะเป็นการช่วยจ้างงานคนที่อาศัยอยู่หลังสถานทูต

และก็เป็นการฝึกวิชาชีพให้กับพวกเขาแบบ On the job training.

เราเพิ่งมารู้จากศิลปินว่า ผู้ช่วยของเขาทั้งห้าคนไม่เคยมีทักษะด้านการทำกระเบื้องโมเสกมาก่อน แต่พวกเขาค่อยๆ พัฒนาทักษะและฝีมือ รวมทั้งเรียนรู้เทคนิคการปะติดกระเบื้องนี้จากการทำงานที่กำแพงหน้าสถานทูตของเรา

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ก่อนหน้านี้ ทั้งหมดไม่มีงานทำ เพราะไม่ได้เรียนหนังสือและไม่มีทักษะความรู้ใดๆ กอปรกับเศรษฐกิจของประเทศที่เคยรุ่งเรืองกลับหยุดชะงัก ทำให้ตลาดแรงงานถูกจำกัด เราจึงขอให้พวกเขาช่วยทำกระเบื้องโมเสกปะที่ด้านในสถานทูตต่อ อย่างน้อยพวกเขาจะได้มีงานทำไปอีกสักพัก พอได้รับสตางค์ค่าจ้างแม้เพียงเล็กน้อยสำหรับเรา แต่ก็เพียงพอให้เขาประทังชีวิตและจุนเจือครอบครัวได้อย่างไม่ลำบากนัก

พวกเขาช่วยเราทำกระถางปลูกต้นไม้ในสวนที่เพิ่งสร้างขึ้นทดแทนสระว่ายน้ำที่ถมไปเพราะไม่มีความจำเป็น และแนวอิฐตามขอบกระถางปลูกพืชผักสวนครัวที่ด้านหลังสถานทูต รวมทั้งแท่นปูนที่เป็นที่ตั้งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าฉุกเฉินด้วย

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

พวกเขามีโอกาสได้ทดลองทำกระเบื้องโมเสกปะบนแผ่นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาชิ้นหนึ่งเป็นงานศิลปะที่ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนสถานทูตจะหยุดชื่นชมอยู่นาน เพราะเป็นภาพเมืองมาปูโตที่เต็มไปด้วยสีสัน ทุกคนประหลาดใจเมื่อเราเล่าว่า งานศิลปะที่แขกของเรากำลังชมอยู่นั้นเป็นฝีมือของคนที่ไม่เคยมีทักษะทางศิลปะหรือทางช่างมาก่อน

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

พอเราไม่มีที่ว่างให้พวกเขาประลองฝีมือแล้ว เราก็ให้เขาลองปะเศษกระเบื้องเป็นลายผ้าท้องถิ่นบนฝาท่อระบายน้ำ ซึ่งใครๆ เห็นแล้วก็ดูว่าเก๋ไก๋ไม่หยอก

จากเพียงแค่ป้ายชื่อ กระเบื้องโมเสกลุกลามไปแทบทุกกระเบียดนิ้วของสถานทูตแล้ว

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

กำแพงที่ชุมชนมีส่วนร่วม

และแล้ว วันที่เราจะต้องหยุดก็ใกล้มาถึง และก่อนที่เราต้องจากกัน เพราะเราคงอุ้มชูพวกเขาไม่ได้อีกต่อไป ผมเสนอให้พวกเขาลองทำกระเบื้องโมเสกที่กำแพงด้านข้างและด้านหลังสถานทูตติดกับชุมชนแออัด ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของผู้ที่มีรายได้ต่ำ และคนที่มาต่างจังหวัดเพื่อมาหางานทำในเมือง

ด้านหน้าสถานทูตที่ดูสวยงามด้วยกระเบื้องโมเสกและไฟส่องสว่าง แต่ด้านหลังและด้านข้างกลับเป็นพื้นที่สกปรกรกรุงรังของคนอีกฟากฝั่งของกำแพง ซึ่งเราที่อยู่ข้างในสถานทูตอาจไม่รู้และไม่จำเป็นจะต้องรับรู้ก็ได้ 

พื้นที่ติดกำแพงด้านหลังเป็นท่อระบายน้ำที่เต็มไปด้วยขยะมูลฝอย ไม่ว่าจะเป็นเศษถุงพลาสติก เรื่อยไปจนถึงถุงยางอนามัยใช้แล้ว และยังเป็นห้องน้ำยามฉุกเฉินและจำเป็นของผู้คนแถวนั้นด้วย พื้นที่ด้านข้างเป็นดินลูกรังเฉอะแฉะ เมื่อฝนตกหนัก น้ำก็ไหล่บ่าชะล้างดินลงมาที่ถนนคอนกรีตที่เพิ่งตัดใหม่เอี่ยมอ่อง

บนกำแพงด้านข้างและด้านหลัง มีคนมาวาดรูปและเขียนสาธยายความรักและความใคร่ รำพึงรำพันกันไม่ต่างกับฝาประตูห้องน้ำที่บ้านเรา

คนทำกระเบื้องคงจะพอช่วยอะไรเราได้บ้าง

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ที่กำแพงด้านหลังยาวกว่า 30 เมตร ผมเริ่มวาดรูปคนยืนที่ริมสุดด้านหนึ่งของกำแพง แล้วให้คนทำกระเบื้องปะเศษกระเบื้องโมเสกตามแต่สีและจินตนาการที่เขามี แล้วให้พวกเขาบอกคนที่เดินผ่านไปมาว่า หากใครอยากจะวาดอะไรก็ให้วาดรูปคนยืนอยู่คล้ายๆ กับแบบที่วาดไว้เป็นตัวอย่างให้ดู

ไม่น่าเชื่อว่าทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น และคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น ต่างมาช่วยกันวาดรูปภาพตาม เป็นรูปคนป่าบ้าง เป็นรูปคนขาเป๋ต้องใช้ไม้ค้ำยันบ้าง เป็นรูปคนรักชายหญิงที่กำลังมอบดอกไม้ให้แก่กัน หรือเป็นรูปผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ตามแต่ผู้ที่วาดจะคิดวาดฝันหรือจินตนาการถึง

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

 เราขอให้คนทำกระเบื้องเลือกรูปที่เขาชอบ แล้วปะกระเบื้องตามลายเส้นที่คนในชุมชนได้ช่วยกันร่างไว้บนกำแพง

เมื่อกำแพงมีคนยืนเต็มแล้ว เราขอให้เขาใช้กระเบื้องปะตัวอักษรเป็นประโยคภาษาโปรตุเกส ซึ่งเราขอให้คนช่วยแปลจากเป็นภาษิตคำพังเพยภาษาไทย เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า นกน้อยทำรังแต่พอตัว ขี้ช้างจับตั๊กแตน ฯลฯ

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ประโยคบนกำแพงอาจจะอ่านแล้วเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เราให้คนที่มาช่วยเราแปล แปลจากภาษาไทยแบบตรงตัวอักษร ไม่ได้แปลแบบเอาความ เพราะอยากให้ได้ถึงอรรถรสและบริบทแบบไทยๆ สุภาษิตไทยนี้จะได้ช่วยพูดทำความรู้จักกับคนในชุมชน ช่วยให้พวกเขารู้จักพวกเรามากขึ้น

อย่างน้อยในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

กำแพงแบบนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้า…

แม้ผมไม่เคยรู้สึก Appreciate เลยจนกระทั่งกลับมาอยู่เมืองไทยเมื่อปลาย พ.ศ. 2562 หลังจากขอกลับมาจากประจำการที่โมซัมบิก และได้ย้อนระลึกถึงสิ่งที่ผ่านมา

ข้อเขียนนี้ชวนให้คิดถึงชีวิตการทำงานของผมที่โมซัมบิก ในฐานะข้าราชการที่เป็นลูกน้องคนหนึ่ง

ผมจึงอยากขออุทิศความดีและเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนกำแพงหน้าสถานทูตไทยในโมซัมบิกนี้ให้กับ ท่านทูตรัศม์ ชาลีจันทร์ เอกอัครราชทูตคนแรกของสถานทูตไทยแห่งใหม่ที่กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก ซึ่งเป็นเจ้านายของผมโดยตรงในช่วงชีวิตที่ผมได้ทำงานหนักที่สนุกมาก

แน่นอนว่าในความสนุกก็มีข้อผิดพลาดมากมาย ซึ่งผมในฐานะเด็กเมื่อวานซืนคนหนึ่งคงต้องขอรับไว้

เรื่องเล่าบนกำแพงรอบสถานทูตทั้งหมดข้างต้นนี้จะไม่มีอยู่จริงเลย หากผมไม่ได้มีเจ้านายที่ให้โอกาสและพื้นที่ในการทำงาน โดยเฉพาะตามสิ่งคิดและเชื่อมั่น

ไม่น่าเชื่อว่าเวลาจะผ่านไปเร็วจี๋เช่นนี้ เพราะอีกไม่กี่เดือน ท่านทูตก็กำลังจะเกษียณอายุราชการแล้ว

ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
ศิลปะโมเสก กำแพง สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

Writer

Avatar

อาทิตย์ ประสาทกุล

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และแฟนคลับ The Cloud

Photographers

Avatar

อาทิตย์ ประสาทกุล

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และแฟนคลับ The Cloud

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป