เที่ยวต่างจังหวัด พักโรงแรมดี ตื่นตั้งแต่ยังไม่สว่าง ตาลีตาเหลือกรีบไปตลาดสดตอนเช้า ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าตลาดที่นั่นเป็นอย่างไร มีอะไรน่าสนใจ 

กับอีกแบบหนึ่ง ตื่นสาย จัดการตัวเองเรียบร้อย ลงมากินอาหารเช้าในโรงแรม นั่งกินสบายๆ ไม่รีบร้อน พร้อมเมื่อไหร่ก็ออกไปเที่ยว ระหว่าง 2 แบบนี้ใครจะเลือกแบบไหน เชื่อว่าส่วนใหญ่เลือกอย่างหลัง

ลองดูแบบแรกว่าทำไมถึงไปตลาดสด อาจจะชอบกิน ชอบหาที่กิน และทำกินเป็นพื้นอยู่แล้ว การเดินตลาดถือว่าเป็นเรื่องเที่ยว เรื่องกินอย่างหนึ่ง พอเดินดูเห็นอะไรน่าซื้อ น่ากิน ก็ตื่นตา แล้วเป็นธรรมดาที่ต้องมีความสงสัย ของพวกนี้ จับมาหรือเลี้ยง ปลูกเองหรือขึ้นตามธรรมชาติ จากที่ไหน มีมากน้อยขนาดไหน เพราะอะไร เอามาทำกินอย่างไรได้บ้าง ราคาเป็นอย่างไร เมื่ออยากรู้ก็ต้องถามคนในตลาด บางทีมีเรื่องอื่นๆ ถามอีก จะไปดูที่เอามาขายนี้ได้ไหม มีอย่างอื่นดูอีกไหม แถวนั้นมีอะไรอร่อยๆ กินบ้าง ตลาดนั้นบอกได้หมด พอชอบก็เหมือนเป็นโรคตลาดเสพติด ไปที่ไหนก็อยากไปตลาด เคยไปมาแล้วก็ยังไปอีกเรื่อยๆ ไปดูความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ชอบในการเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่ากำไรที่เคยเห็นครั้งก่อนมาแล้ว   

พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง

ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องเที่ยวตลาดและสถานที่ข้างเคียงกับตลาด เอาตั้งแต่ตลาดทั่วๆ ไปและตลาดเทศบาล แต่ต้องบอกก่อนว่ามีบางที่เคยไปมานานแล้ว บางที่เหมือนเดิม บางที่แทบจำของเดิมไม่ได้ 

สำหรับตลาดทั่วไปนั้น รูปแบบเป็นกึ่งๆ ตลาดนัด เป็นเพิง มีหลังคาบ้าง โล่งบ้าง ส่วนใหญ่ติดตลาดตอนเช้ามืด พอสายก็วาย ซึ่งปกติเป็นอย่างนั้น แต่จะมีตลาดนัดใหญ่ เป็นตลาดครั้งสำคัญ จะอยู่ที่เดิมหรือไปอยู่ที่อื่น เป็นวันไหน ชุมชนเขาจะเลือกกันเอง ตลาดนัดใหญ่จะมีของขายมากกว่าปกติ ขายไปเรื่อยๆ เจ้าไหนหมดก่อนก็เลิกไป หรือพอคนซื้อน้อยลง อากาศร้อนขึ้น ตลาดก็วาย

พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง

ตลาดแรกที่ชวนไปดูเป็นที่บ้านกรูด บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ตลาดใหญ่ที่นั่นจอแจ มีสีสัน จุดเด่นเป็นปลาทะเลสดๆ มีหลายเจ้า ชาวประมงคนไหนได้อะไรมาก็เอามาขาย มีของกินสำเร็จรูปจากปลา อย่างห่อหมกย่าง ปลาห่อใบตองย่าง แจงลอน แผงข้าวแกงกับข้าวส่วนใหญ่น่ากิน มีทั้งแบบภาคกลางและภาคใต้ บางวันจะได้เห็นกับข้าวพื้นถิ่นอย่างแกงฟักทองกับปูม้า ผักก็มีผักภาคกลางและผักภาคใต้ นั่นไม่ใช่อะไร เพราะบ้านกรูดอยู่ในเขตบางสะพาน เป็นปลายๆ ของภาคกลาง ต่อไปก็เข้าเขตชุมพรที่เป็นประตูของปักษ์ใต้ อาหารการกินจึงคาบเกี่ยวกัน 

พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง

ที่จริงตลาดนี้ยังมีของใช้ในครัวที่น่าดู เป็นของท้องถิ่น มีเตาถ่านมีลิ้นยื่นออกมายาวๆ เพราะชาวบ้านแถวนั้นใช้ทางมะพร้าวเป็นเชื้อไฟ จึงต้องมีลิ้นออกมารับทางมะพร้าว สิ่งที่ได้จากตลาดบ้านกรูดคือ วิถีการกินที่เดียวมี 2 ภาค และมีชุมชนริมทะเลที่น่าอยู่อีกอย่าง

ตลาดอีกที่กระโดดไกลขึ้นเหนืออยู่ที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นี่เหมือนเที่ยวตลาดพม่าโดยไม่ต้องนั่งเครื่องบินไปพม่า หันทางไหนก็น่าสนใจ ไก่สดบนแผงทุกตัวสีเหลือง ไม่รู้เอาอะไรทา แผงปลานั้นน่าทึ่งมาก ไปเห็นปลากะโห้ตัวใหญ่มาก เป็นปลามาจากฝั่งพม่า ปลากะโห้แทบจะไม่เห็นในเมืองไทยแล้ว ถ้าพบในเมืองไทยให้เอาใบตองห่อ พันด้วยผ้าแดง ยกขึ้นแคร่แล้วขอหวย เห็นว่าปลากะโห้ที่ตลาดแม่สอดมีขายอยู่เรื่อยๆ 

พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง
พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง

ขนมที่ต้องซื้อกินเป็นส่วยทะมินกับเปงม้ง ส่วยทะมินเป็นข้าวเหนียวคลุกกะทิ น้ำตาล ใส่ถาด ราดด้วยกะทิข้นๆ หวานมัน อบด้านล่างด้วยถ่าน ด้านบนปิดฝาแล้วเอากาบมะพร้าวสุม อบจนหน้ากะทิแห้งๆ เกรียมๆ ส่วนเปงม้งเหมือนกัน ต่างกันที่ใช้แป้งข้าวเหนียว ขนม 2 อย่างนี้เป็นขนมดังของแม่ฮ่องสอนจนเข้าใจว่าเป็นขนมไทใหญ่ อยู่ๆ มาเจอในตลาดพม่าเลยไม่รู้เป็นของใคร 

ในตัวตลาดที่มีหลังคามีแผงข้าวแกงพม่าวางเรียงหลายหม้อ ส่วนใหญ่เครื่องแกงแดงเถือก มีร้านโชวห่วย ขายของพม่านับไม่ถ้วน ทั้งเครื่องเทศ เครื่องแกง และหม้อแขกอะลูมิเนียมหลายขนาด คุณภาพอะลูมิเนียมสู้เมืองไทยไม่ได้ แต่ราคาถูกมาก ตลาดแม่สอดไม่ว่าจะไปครั้งไหนก็เหมือนเดิม เพราะของที่ขายกับคนซื้อเป็นพวกเดียวกัน บรรยากาศไม่เคยเปลี่ยน  

พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง
พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง

ตลาดน่าเที่ยวอีกที่ไกลถึงลาว ผ่านด่านห้วยโกร๋น น่าน ขึ้นไปนิดเดียวเป็นเมืองเงิน เมื่อก่อนชอบเมืองนี้มาก เป็นเมืองชาวไทลื้อ เคยมีผ้าซิ่นลายน้ำไหลแบบไทลื้อดั้งเดิมและบ้านเรือนไทลื้อแท้ๆ ตอนหลังหายหมดเกลี้ยง ความเป็นไทลื้อที่หายไปส่วนหนึ่งก็เป็นพี่ไทยนี่แหละ

เมื่อเมืองเงินหมดเสน่ห์ เลยไปเมืองหงสา อยู่ห่างไปอีก 30 กว่ากิโล เมื่อก่อนถนนเป็นดินลูกรัง เมืองนี้เล็กสงบ ดูเหงาๆ แต่น่ารัก มีเกสต์เฮาส์ไม่กี่แห่ง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวเมืองนี้เป็นฝรั่งแบ็กแพ็กที่นั่งรถโดยสารมาจากหลวงพระบาง ทุกคนเป็นฝรั่งหัวแดงหมด แดงเพราะขี้ฝุ่นทางลูกรัง 

พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง

มีตลาดเช้ามืด สมัยก่อนเปิดโล่ง มีแผงเป็นแคร่ไม้ไผ่ยาวๆ 2 – 3 แผง ยิ่งเป็นหน้าหนาวหมอกลงจัด เห็นคนขายนั่งตะคุ่มๆ บรรยากาศซึมๆ แต่เย็นตา เย็นใจ ของที่ขายมีหมู ไก่ ปลา ผักหญ้าเหมือนทั่วไป และมีของป่าเยอะ อย่างตัวแย้ มัดหางรวมกันเป็นพวง ปูนา นก ชอบที่เวลาใครซื้อปลา คนขายเอาตอกไม้ไผ่เสียบเข้าทางเหงือกทะลุปาก ผักก็เช่นกัน เอาตอกแทงก้านแล้วให้คนซื้อหิ้วไป อะไรที่ต้องห่อจะใช้ใบตองห่อมัดด้วยตอกให้หิ้วได้ด้วย วิธีคิดเป็น Organic Design ที่ยอดเยี่ยมลึกซึ้ง แถมตลาดนี้ยังได้กินก๋วยเตี๋ยวเนื้อสดหรือเฝอ อร่อยรส อร่อยบรรยากาศ

ตอนบ่ายๆ เกือบเย็นเห็นเด็กนักเรียนเดินเรียงกันกลับบ้าน เด็กๆ สะพายย่าม เด็กผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นน่ารักมาก เที่ยวให้ครบต้องตามคนขี่ช้างไปเรื่อยๆ เขากลับบ้านที่อยู่ในป่า ผ่านหมู่บ้าน ผ่านท้องนา มีเถียงนา คลองที่ชาวบ้านปลูกผักริมตลิ่ง สวยเด็ดขาด เวลาเที่ยวเมืองลาวมักจะเตรียมถังสังฆภัณฑ์ไปด้วย ผ่านวัดไหนก็เอาถวายพระ ท่านสวดให้พรสำเนียงลาวเสนาะหู ที่เล่ามาเยอะแยะเพราะประทับใจกับเมืองหงสาและตลาดสดที่นั่น

แต่ตอนนี้ความดิบบริสุทธิ์ที่เคยมีเหลือน้อยไปแล้ว เพราะมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใหญ่มาก คนไทยไปลงทุนที่นั่น กลายเป็นเมืองใหญ่ คนเยอะ เป็นสังคมโรงงาน มีการจ้างงาน ร้านอาหาร โรงแรมนับไม่ถ้วน มีสถานบันเทิง ตลาดสดมีหลังคาคลุมโอ่โถง เมื่อไม่เหมือนเดิมคงต้องไปเมืองอื่นๆ อย่างเมืองเชียงฮ่อน เมืองแก่นท้าว ไปหาความความประทับใจเอาข้างหน้า

พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง
พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง

นี่เป็นตลาดสดทั่วไป มาเป็นตลาดสดเทศบาลบ้าง มีทุกจังหวัด ทุกอำเภอ รูปแบบโล่งๆ ระบบเป็นสัดส่วน ด้านหน้าขายดอกไม้ ผลไม้ มีส่วนขายอาหารสดอาหารแห้ง มีพื้นที่เปียก พื้นที่แห้ง และส่วนที่ขายของกิน มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกิน

ชีวิตชีวาอยู่รอบนอกตลาด ชาวบ้านเอาของที่มีมาวางขายกับพื้นเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้เองที่บอกความเป็นท้องถิ่นชัดเจน 

ถ้าไปหนองคายต้องไปตลาดเทศบาลโพธิ์ชัย ด้านนอกขายปลาแม่น้ำโขง บางวันมีเยอะ บางวันมีน้อย เหลือจากที่ร้านอาหารเอาของดีๆ ไปแล้ว ทีเด็ดอยู่ด้านในที่เป็นร้านขายอาหาร จะได้กินอาหารเวียดนามหลายอย่างสมใจปาก หลายคนไปตลาดโพธิ์ชัยเพื่อกินอาหารเวียดนามโดยเฉพาะ

เมื่อไปที่นั่นก็เดินทะลุไปวัดโพธิ์ชัย ไปกราบพระใส พระประธานในอุโบสถ องค์นี้งามหมดจด แล้วถ้าพอดีกับวันพระจะโชคดี ที่หน้าตลาดจะมีพุ่มใบตองสดขาย สำหรับให้เอาไปกราบพระ พุ่มใบตองสดฝีมือคลาสสิกมาก ฝั่งไทย ฝั่งลาว ใช้บูชาพระด้วยพุ่มใบตองแบบเดียวกัน

พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง
พาเดินตลาดเช้าในไทย แวะเวียนไปตลาดเมืองลาว มองวิถีชีวิตคนเมืองผ่านข้าวของบนแผง

กระโดดไปทางโน้นที ทางนี้ที มาที่ตลาดสดเทศบาลอุทัยธานี ริมเขื่อนแม่น้ำสะแกกรังนี่น่าไปมาก อุทัยธานีเมืองเงียบ แต่เป็นมหาอำนาจของปลาน้ำจืด เพราะอุทัยธานีมี 2 แม่น้ำ เจ้าพระยาและสะแกกรัง แถมเป็นปลาเหนือเขื่อนชัยนาท ชุกชุมกว่าปลาใต้เขื่อน ตลาดเช้ามีปลาสารพัด อย่างปลาคางเบือนที่น้อยคนจะรู้จัก เป็นปลาตระกูลเดียวกันกับปลาเนื้ออ่อน มีปลาเนื้ออ่อน ปลาแดง ปลาม้า ปลากระทิง ปลากด ปลาสร้อยทำน้ำปลา ที่ต้องซื้อหรือหากินในร้านอาหารเป็นปลาแรด ถึงจะเลี้ยงในกระชังก็ตาม แต่น้ำต้องไหล สะอาด และเลี้ยงด้วยผักบุ้ง ปลาแรดเป็นปลามังสวิรัติกินแต่พืช เมืองอื่นๆ หายาก ผักสดที่ชาวบ้านเอามาขายดีๆ ทั้งนั้น ถ้าเจอลูกข้าวสารต้องเหมาหมด แกงส้มเด็ดนัก

นี่เป็นตลาดโดยรวม การเที่ยวตลาดแต่ละที่ จะเห็นความเป็นตัวตนที่ไม่เหมือนกัน คนชอบตลาดนั้นเป็นโรคตลาดเสพติด ไม่มียารักษา การรักษาใช้วิธีตื่นตาลีตาเหลือก หาตลาดใหม่ไปเรื่อยๆ ที่เคยไปแล้วเกิดเปลี่ยนไปจนรับไม่ได้ก็เลิกไป

ถ้าจะเปรียบก็เหมือนคนชอบกินก๋วยเตี๋ยว กินก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยวแคะ บะหมี่หมูแดง ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ถึงจะกินมาโชกโชน พอมีร้านใหม่ๆ ก็อยากลอง ร้านเก่าๆ ที่เคยชอบยังไปเรื่อยๆ ถ้าร้านไหนไม่ได้เรื่องแล้วก็สาบส่ง เหมือนกันเป๊ะ

Writer & Photographer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ