The Cloud x SCG

หากเราลองรื้อเสื้อผ้าที่ล้นตู้ในบ้านออกมากองดูสักครั้ง เชื่อเลยว่าต้องมีเสื้อหรือกางเกงสักตัวที่เราหลงลืมไปแล้วว่าเคยซื้อมาตอนไหน หรือว่าใส่มันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ แล้วพอค้นไปเรื่อยๆ เราก็จะพบอีกว่าเสื้อผ้าหลายๆ ตัวที่ไม่เคยหยิบจับออกมาใช้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ยัดใส่ตู้ใบเดิมเข้าไปเรื่อยๆ 

ฟังแล้วอาจจะดูขำๆ ก็แค่นิสัยส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่น่ามีผลกระทบกับใคร

แต่โดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันว่าเรากำลังร่วมขบวนรถไฟในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สมเหตุสมผลและเกินพอดี

วันนี้เราเลยอยากพาคุณไปรู้จักสตาร์ทอัพสัญชาติไทยเจ้าหนึ่งที่ชื่อว่า ‘moreloop’ ธุรกิจดีต่อโลกซึ่งเกิดจากการผสมผสานการแก้ปัญหาทางธุรกิจและแพสชัน ของคนสองคนที่ต่างกันสุดขั้ว 

แอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์  และ พล-อมรพล หุวะนันทน์

หนึ่งในนั้นคือ พล-อมรพล หุวะนันทน์ หนุ่มอดีตนักวิเคราะห์ด้านการเงินและความเสี่ยงบริษัท ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตวัยกลางคน ในการค้นหาความหมายของสิ่งที่ทำและการมีชีวิตอยู่ กับ แอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่กำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็น Sunset ของธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งเธอยังเชื่อว่ามีโอกาสและความเป็นไปได้ที่น่าจะเติบโต

  ทั้งสองมาเจอกัน แล้วนำการแก้ปัญหาธุรกิจสิ่งทอผสมแพสชันในการอยากดูแลสิ่งแวดล้อม จนกลายมาเป็นโรงงานรับผ้าคุณภาพดีมือสอง แพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ที่ชุบชีวิตเศษผ้าที่เหลือทิ้งในโรงงานผลิตให้กลับมามีชีวิตและมูลค่าอีกครั้ง

01

เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาและแพสชัน

“เรียกว่าเป็นวิกฤตวัยกลางคนของผมแล้วกัน ผมว่าทุกคนต้องเจอ” พลเริ่มเปิดประเด็นกับเราอย่างน่าสนใจ ด้วยการเล่าถึงช่วงชีวิตที่ใครหลายคนมองว่าน่าอิจฉา เพราะเขาอยู่ในสายงานที่แสนมั่นคง แถมไต่เต้าขึ้นไปถึงตำแหน่งเฮดออฟฟิศของบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่เขากลับหาความหมายของสิ่งที่ตัวเองทำไม่เจอ

“เรามองเห็นแล้วว่าอีกหกถึงเจ็ดปี ถ้าเรายังทำงานด้านนี้ ก็คงอยู่ตรงนี้แหละ ไม่ได้ไปไหน เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตคือทำงานมีตำแหน่ง มีบ้าน มีครอบครัว แต่งงานมีลูก แต่มาถึงจุดหนึ่ง เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง และอยากจะออกมาทำอะไรของตัวเองดู

“ตัวผมสนใจประเด็นเรื่องยะมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะเรารับรู้ว่าถุงพลาสติกต้องใช้เวลาย่อยสลายนานมาก กินเวลาสี่ถึงห้าร้อยปี และคิดว่ามันต้องกลายเป็นปัญหาแน่ๆ แต่ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ เลยเริ่มคิดว่าอย่างนั้นเรามองขยะหรือของเหลือให้กลายเป็นทรัพยากรได้ไหม”

แอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์  และ พล-อมรพล หุวะนันทน์

เมื่อได้กลับมาโฟกัสแพสชันที่ตัวเองมี ประจวบเหมาะกับมาเจอรุ่นน้องสมัยมหาวิทยาลัยอย่าง แอ๋ม ทายาทรุ่นสองของธุรกิจผลิตเสื้อสำเร็จรูป ซึ่งกำลังมองหาทางแก้ปัญหาในธุรกิจ เพราะอยากจัดการสต๊อกผ้า ที่เหลือจากการผลิตในโรงงาน

“แก่นธุรกิจของ moreloop คือการรวมแพสชันของพี่พลกับปัญหาในฝั่งของธุรกิจของเรา คือการได้ระบายผ้าในสต๊อกออกไป ในส่วนการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม คือทำอย่างไรให้ไม่ต้องใช้ทรัพยากรใหม่ เราเลยไม่มีผ้าใหม่ เวลาคนมาถามว่ามีผ้าใหม่ไหม เราจะบอกว่าเราไม่มีผ้าใหม่เลย”

แอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์

ทั้งสองบอกตัวเลขที่น่าตกใจให้ฟังว่า เราอาจจะรับรู้กันดีว่า จากรูปแบบการอุปโภคบริโภคของคนไทย ทำให้เกิดขยะมากถึง 27 ล้านตันต่อปี แต่สิ่งที่เราไม่เคยรู้คือปริมาณขยะที่เกิดในระบบอุตสาหกรรม หรือที่เรียกกันว่า Industrial Waste นั้นสูงถึง 50 ล้านตันต่อปี สูงกว่าการใช้สินค้าแล้วทิ้งของคนเราเกือบเท่าตัว แล้วขยะในระบบอุตสาหกรรมเหล่านั้นก็เกิดจากวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิต ซึ่งไม่มีการนำไปสร้างมูลค่าต่อ นั่นจึงเป็นช่องว่างทางธุรกิจที่ทั้งสองคนมองเห็นตรงกัน

“พอรู้แบบนั้น ผมเลยตั้งสมติฐานว่าถ้ารวบรวมของเหลือจากระบบอุตสาหกรรมที่ติดอยู่ในโรงงาน คัดแยกมันออกมาด้วยดาต้า แล้วเอาข้อมูลก้อนนี้ไปอยู่ในตลาดออนไลน์ให้ทุกคนเข้าถึงได้ มูลค่าของสิ่งนั้นก็จะเปลี่ยนไป เพราะว่าของสิ่งหนึ่งจะเป็นขยะหรือไม่เป็นขยะขึ้นอยู่กับการมอง สิ่งที่ moreloop ทำคือการสร้างการมองเห็นให้ได้มากที่สุด”

02

ความเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามระยะทาง

ทั้งสองเล่าถึงรูปแบบการทำธุรกิจสิ่งทอในปัจจุบันที่ทำให้มูลค่าของบางสิ่งบางอย่างหล่นหายไประหว่างทาง เพราะโดยปกติโรงงานที่ผลิตผ้าสำเร็จรูปต้องสั่งผ้ามาในจำนวนที่เยอะ และจะเผื่อเหลือเผื่อขาดวัตถุดิบไว้ประมาณ 2 – 3 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละครั้ง สิ่งที่เกิดเมื่อแต่ละงานเสร็จสิ้นคือผ้าค้างสต็อกจำนวนมาก กินทั้งพื้นที่โรงงาน ต้นทุน และเพิ่มค่าเสียเวลาในการจัดการขยะ

“เมื่อจบงานเราจะเห็นว่าไม่ว่าผ้าที่เหลือจะเนื้อดียังไง สุดท้ายจะถูกนำไปชั่งกิโลขาย ทุกอย่างมันถูกลดคุณค่าไปหมดเลย และเราเสียดายเพราะเห็นว่านี่คือของที่ยังมีมูลค่าอยู่ ไม่ควรถูกลดมูลค่าไวขนาดนี้ แค่ตีตั๋วส่งของจบ มูลค่าของวัตถุดิบที่เหลือลดลงหมดเลย ทั้งที่ตอนผลิตงานวัตถุดิบที่ว่ายังอยู่ในมูลค่าเดิม สิ่งที่ moreloop ทำคือการเอาของที่มีอยู่มาจับคู่กับคนที่เขาต้องการ และทำให้ของสิ่งนั้นยังขายได้ใกล้เคียงกับมูลค่าเดิม”

moreloop ธุรกิจโรงงานผ้ารูปแบบใหม่ของคนไทยที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ผลิตผ้าใหม่สักผืน

แต่สิ่งที่พวกเขาทำนั้นท้าทายมากๆ เพราะพวกเขายอมรับเองว่ามันคือการเริ่มสิ่งใหม่ และไม่มีระดับความสำเร็จของใครให้ทาบวัดมาก่อน

“มันกลายเป็นว่าเราไม่มีต้นแบบอะไรให้ก๊อปปี้ได้เลย เราสองคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทางที่เราเดินไปถูกหรือผิดตั้งแต่ต้น ที่ทุกคนเห็น moreloop มีแพลตฟอร์มหน้าตาแบบนี้ มันเกิดจากการที่เราทำเซอร์เวย์ เราทดลองปรับนู่นนั่นนี่ ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็ออกมาแบบนี้เลย แต่ความเชื่อของเราจะค่อยๆ เพิ่ม จากระยะทางที่เราเดินมาไกลขึ้น” แอ๋มเล่า ก่อนที่พลจะเสริมว่า 

“เบื้องหลังทำให้เรามีความเชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับผมแรงผลักดันสำคัญที่อยากทำงานตรงนี้คือความอยากรู้ ถ้าเราเอาแนวคิด Circular Economy เข้ามาใส่ในธุรกิจ และเอาของเหลือในอุตสาหกรรมมาวนลูปได้ จะได้ธุรกิจออกมาหน้าตาแบบไหน”

03

Circular Economy หมุนเวียนเพื่อยั่งยืน

แนวคิดเรื่อง Circular Economy เริ่มถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น เป็นผลมาจากรูปแบบการทำธุรกิจตั้งแต่อดีตลากยาวมาถึงปัจจุบัน เพราะเราถลุงทรัพยากรเยอะมาก จนเกิดโลกร้อนและปัญหาขยะล้นโลก การแก้ปัญหาของระบบอุตสาหกรรมยุคนี้คือจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด โดยที่เราไม่ต้องใช้ของใหม่ ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้เราปวดหัวในการจัดการของเหลือหรือขยะให้น้อยลง

“สำหรับแอ๋ม ถ้ามองในเชิงผู้ผลิต เราได้พื้นที่โรงงานกลับมาไม่มากก็น้อย เราได้ขายวัตถุดิบในมูลค่าที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ส่วนในแง่ของคนซื้อก็มีตัวเลือกมากขึ้น เปิดโอกาสให้แบรนด์เล็กๆ ให้ดีไซเนอร์ได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่หลากหลายมากขึ้น แล้วสุดท้ายน่าจะเป็นเรื่องดีต่อใจมั้ง (หัวเราะ) 

“เมื่อก่อน เวลาพูดเรื่อง Circular Economy แต่ละคนก็จะบอกว่าเป็นหน้าที่ภาครัฐบ้างล่ะ องค์กรใหญ่จะสนับสนุนอย่างไรบ้างล่ะ มีแต่โยนกันว่าคนนั้นคนนี้ต้องรับผิดชอบ แต่ moreloop เป็นเหมือนฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าคนตัวเล็กๆ สองคนทำได้ แค่ลงมือทำและปรับแนวคิดของตัวเองว่าสิ่งที่คุณทำจะอยู่ได้อย่างไร”

moreloop ธุรกิจโรงงานผ้ารูปแบบใหม่ของคนไทยที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ผลิตผ้าใหม่สักผืน

“สำหรับผมคำว่าขยะมันเป็นแค่ความเห็น เพราะแต่ละคนมองไม่เหมือนกันเลย อย่างพี่ซาเล้งเขาก็จะมีความรู้มากกว่าเราว่าขวดใบหนึ่งวันนี้มีราคาเท่าไหร่ เขาจะมองมันเป็นวัตถุดิบ อย่าไปมองอะไรว่าเป็นขยะ แค่เรามีวิธีเรียกที่เปลี่ยน เราก็จะรับรู้ทันทีว่ามันคือวัสดุหนึ่งนะ 

“อย่างผ้า เราก็เรียกมันว่าผ้าส่วนเกินจากการผลิต เมื่อไหร่เรามองของสิ่งนั้นเป็นขยะ มันก็จะกลายเป็นขยะไปจริงๆ เราแค่ต้องตั้งโจทย์กับมันมากขึ้น เราแค่ถามว่าจะใช้สิ่งนี้ใหม่ได้อย่างไรบ้าง moreloop ก็เริ่มแบบนั้นเหมือนกัน เราแค่ตั้งคำถาม”

ผลลัพธ์ที่เกิดทั้งในแง่ธุรกิจและสิ่งแวดล้อมของ moreloop ยืนยันแล้วว่า คำถามที่ดีมักจะให้คำตอบที่แตกต่าง 

04

Negative-sum Game กับโลกที่ทุกคนเสียประโยชน์

“ในวงการแฟชั่นทุกวันนี้มีเรื่องน่าสนใจอะไรบ้าง” เราถาม ซึ่งแอ๋มตอบกลับมาว่า

“เราว่ากระแส Sustainable Fashion นี่แหละที่น่าสนใจมาก เพราะว่ามันขัดกับตลาดและกระแสตลอดช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาเลย ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาแบรนด์ต่างๆ ล้วน Overproduce 

“ที่ผ่านมา แนวคิดในวงการแฟชั่นที่สร้างผลกระทบแก่สิ่งแวดล้อมอย่างมากมีอยู่สองอย่าง ประเภทแรกคือ Fast Fashion ที่เน้นผลิตเยอะเปลี่ยนเร็ว แต่ก็โอเคที่เขายังมีการควบคุมคุณภาพการผลิต ควบคุมใช้ผ้าสเปกประมาณนี้ แต่ที่สร้างปัญหามากยิ่งกว่า คือสินค้าประเภท Cheap Fashion ที่เน้นราคาถูกมากๆ ใช้ผ้าห่วยๆ เย็บไม่ดี จูงใจให้คนซื้อเพราะราคา แต่พอซักแล้วผ้าบิดหรือขาดไปเลย ใช้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง 

พล-อมรพล หุวะนันทน์

“เสื้อผ้าไม่ควรเป็นสินค้าที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง มันควรซักแล้วใช้ซ้ำได้ ระบบของอุตสาหกรรมทำให้คนอยากใช้ของถูกจนมากเกินไป ทำทุกอย่างให้ถูก ผลิตถูกๆ จ่ายค่าแรงงานถูก จนสุดท้ายของที่ออกมาก็ถูกทิ้ง ซึ่งเราควรหันมาซื้อของที่ราคาสมเหตุสมผลกันไหม 

“เสื้อผ้าจะถูกหรือแพงอยู่ที่จำนวนการใส่นะ สมมติเสื้อตัวละหนึ่งร้อยบาท แต่เราใส่ครั้งเดียว มูลค่าของมันก็คือหนึ่งร้อย แต่เสื้อตัวละหนึ่งพันบาทและมีคุณภาพ เราใส่สักร้อยครั้ง มูลค่าของมันก็เหลือแค่สิบบาทเองนะ ไม่อยากให้คนมองความถูกหรือแพงที่ราคาบนป้าย แต่มองความสมเหตุสมผลมากกว่า”

05

ความยั่งยืน = สมเหตุสมผล

“สิ่งที่เราอยากให้คนเข้าใจคือคำว่า Sustainable ไม่ใช่แค่เรื่องราคาหรือวัสดุดีต่อโลกไหม แต่เราคิดว่ารวมไปถึงเรื่องคุณภาพการผลิตด้วย ปัจจุบันเราอาจเห็นว่าตลาดออนไลน์โต แต่จำนวนการคืนของคืนก็โตเหมือนกัน ของไม่ได้คุณภาพบ้าง ของไม่ตรงปกบ้าง และของเหล่านั้นก็กลายเป็นสิ่งไม่ต้องการ เป็นขยะ”

ทั้งสองคนย้ำว่าสมดุลของความยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล และทุกส่วนที่อยู่บนห่วงโซ่ของธุรกิจต้องได้รับผลประโยชน์แบบวิน-วิน ไม่อย่างนั้นธุรกิจที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้

moreloop ธุรกิจโรงงานผ้ารูปแบบใหม่ของคนไทยที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ผลิตผ้าใหม่สักผืน

“เรามองว่าสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจที่เราหวังเกิดขึ้นได้จริงๆ คือเราต้องไปด้วยกัน เรามองลูกค้าทุกคนเป็นพาร์ตเนอร์ และเวลาเราเสนออะไรให้ลูกค้าไป เรามักจะเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดในมือเราให้เขา เพื่อให้เขารู้สึกว่าของที่ได้มาคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้ เราอยากให้คนมาซื้อของจากเรา เพราะสินค้าที่ได้จากเราคือสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ ของมีคุณภาพ ตรงความต้องการ ราคาสมเหตุผล ส่วนเรื่องรักโลกมันคือผลกำไรที่คุณได้ไป”

moreloop มีโอกาสร่วมงานกับองค์กรที่ใส่ใจในเรื่อง Circular Economy อย่าง SCG ซึ่งมุ่งมั่นผลักดันให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ ภายใต้แนวทาง SCG Circular Way ที่สร้างความเข้าใจ สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคสู่แนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียน 

จึงเกิดเป็นเสื้อ SCG หลากหลายรุ่น ซึ่งผลิตด้วยผ้าเนื้อดีที่มีความยั่งยืนเต็มผืนจาก moreloop ที่คำนวณให้ด้วยว่าในแต่ละรอบการผลิต ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นหนึ่งในตัวทำให้สร้างโลกร้อนไปได้เท่าไหร่

06

เป้าหมายไม่ใช่เรื่องตัวเลข

“มองเป้าหมายต่อไปของตัวเองอย่างไร”

“เป้าหมายมันเปลี่ยนเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าในปีนี้เป้าหมายของเรามันเกินคาดไปแล้ว เราไม่ได้มองแค่เรื่องตัวเลข แต่เราอยากให้เราเป็น First in mind ที่เมื่อคนคิดถึงผ้าที่มีคุณภาพและดีต่อโลก อยากให้เขาคิดถึงเราก่อน”

แอ๋มเสริมถึงประสบการณ์ที่ได้จากเส้นทางที่ผ่านมาว่า สิ่งที่ทำอยู่วันนี้ พาเธอเดินมาเจอโลกอีกใบ

“moreloop เปิดโลกอีกใบหนึ่งให้เรา เพราะที่ผ่านมาเราอยู่ในสายการผลิตมาตลอด เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในระบบอุตสาหกรรม พอเราได้ทำงานตรงนี้ เราได้เจอคนจากกลุ่มอื่นๆ ที่เขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และเราได้สร้างอะไรบางอย่างไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจซื้อขายของกันเป็นชิ้นๆ ไป แต่เราได้เจอคนที่เขาเห็นสิ่งที่เราทำ และเชื่อว่ามันทำได้จริง สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้เราทำงานตรงนี้ต่อไป

moreloop ธุรกิจโรงงานผ้ารูปแบบใหม่ของคนไทยที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ผลิตผ้าใหม่สักผืน

พลปิดท้ายถึงคนที่มีความเชื่อและเป้าหมายเดียวกันกับเขาและแอ๋มว่า

ถ้าเขาสนใจสิ่งนี้และเชื่อเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องทำแบบเรา เพราะว่าในจินตนาการของทุกคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แค่สวมคำว่า Circular เข้าไป คุณก็สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เติบโตผ่านกลไกของธุรกิจได้ 

“และถ้าทุกคนทำ เราเชื่อว่าจะสามารถลดขยะได้เกิน 100% ถ้าเป็นอย่างนั้นแทนที่เราจะสร้างขยะปีละ 27 ล้านตัน อาจจะเหลือ 20 ล้านตัน อาจจะไม่ต้องมาทำเป็นธุรกิจก็ได้ แค่มีความเชื่อแบบนี้ พฤติกรรมการตัดสินใจเปลี่ยน มันก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา

เตรียมไปฟังแรงบันดาลใจของ พล-อมรพล หุวะนันทน์ ผู้ก่อตั้ง moreloop เกี่ยวกับแนวคิดเบื้องหลังการทำธุรกิจ และประสบการณ์ตลอดเส้นทาง ที่จะพิสูจน์ให้คุณเห็นว่าแนวคิดธุรกิจ Circular Economy นั้นเกิดขึ้นได้จริง และทุกคนมีส่วนร่วมได้ที่งาน SD Symposium 10 Years “Circular Economy : Collaboration for Action” ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ติดตามชม LIVE รวมทั้งไปรับฟังแรงบันดาลใจจาก Guest Speaker ที่น่าสนใจอีกมากมาย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

วรินทร์ธร บุรธัชวัฒนสิริ

ชื่อเล่น มุกขลิน จบสถาปัตย์ลาดกระบัง สาขาถ่ายภาพ เป็นช่างภาพที่ร่าเริงสดใส รักในเสียงดนตรี แต่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เอ๋อๆงงๆ