เชื่อหรือไม่ว่าแปลงทดลองทางการเกษตรแห่งแรกของโลก เกิดขึ้นมานานกว่า 500 ปีแล้ว และไม่ได้ริเริ่มมาจากนักวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกอย่างที่เราเข้าใจว่าเป็นผู้นำมาโดยตลอด
ไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ทวีปอเมริกาใต้ เป้าหมายคือแปลงทดลองเกษตรแห่งแรกของโลก บริเวณหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินคา ในประเทศเปรู
จักรวรรดิอินคา (1200 – 1500 ปีหลังคริสตกาล) เป็นอารยธรรมยิ่งใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ในยุครุ่งเรืองที่สุด กษัตริย์อินคาขยายอาณาจักรออกไปได้ถึง 2,000,000 ตารางกิโลเมตร กินอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศเปรู เอกวาดอร์ ตอนใต้ของโคลอมเบีย ภาคตะวันตกและภาคใต้ของโบลิเวีย ตอนเหนือของชิลี และบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของอาร์เจนตินา
การเดินทางมาหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินคา ต้องมาเริ่มต้นที่ Ollantaytambo เมืองที่นักท่องเที่ยวต้องมาแวะพักก่อนจะขึ้นไป ‘มาชูปิกชู (Machu Picchu)’ เมืองสาบสูญแห่งอินคา ซากอารยธรรมโบราณของชาวอินคาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
หุบเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของคนยุคก่อนตั้งแต่สมัย 800 ปีก่อนคริสตกาล โดยอารยธรรมชนาปาตะ เนื่องจากมีดินที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งใช้สำหรับการเกษตร ต่อมาอารยธรรม Qotacalla อาศัยอยู่ในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ปี 500 – 900 และอารยธรรม Killke อาศัยอยู่ในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ปี 900 มาจนถึงสมัยจักรวรรดิอินคาเข้ามาครอบครองบริเวณนี้ในปี 1400
หุบเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่แถบเทือกเขา Andes ครอบคลุมตั้งแต่เมือง Cusco ไปจนถึง Machu Picchu มีแม่น้ำอูรูบัมบา (Urubamba) แปลว่า บ้านแห่งดวงอาทิตย์ ไหลผ่านหุบเขาบริเวณนี้ ทอดยาวจากตะวันออกไปตะวันตก ชาวอินคาถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ตลอดลุ่มน้ำมีซากทางโบราณคดีและหมู่บ้านมากมาย ทำให้หุบเขาศักดิ์สิทธิ์มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการผลิต ข้าวโพดในใจกลางของจักรวรรดิอินคา เป็นแหล่งผลิตอาหารและสะสมเสบียงสำคัญในช่วงสงคราม และเป็นที่กำเนิดของระบบชลประทานและแปลงเพาะปลูกอันก้าวหน้าอย่างน่าทึ่ง
วันก่อนไปเดินดูตลาดสดในเมืองกุสโก เห็นมันฝรั่งและข้าวโพดสีสันแปลกตานานาชนิด เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าบริเวณหุบเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นแหล่งปลูกข้าวโพด มันฝรั่ง และพริกนานาชนิด
กล่าวกันว่า 60% ของพืชอาหารที่เรากินทั่วโลกมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาแอนดีส ข้าวโพดและมันฝรั่งที่ผู้คนนับพันล้านคนกินกันทั้งโลกก็มีแหล่งกำเนิดมาจากบริเวณนี้ ชาวอินคาคือผู้ริเริ่มทดลองปรับปรุงสายพันธุ์ต่าง ๆ จนทำให้ทุกวันนี้มันฝรั่งมีประมาณ 2,000 พันธุ์ และข้าวโพดอีกหลายร้อยพันธุ์ ก่อนที่ชาวสเปนผู้พิชิตจะนำพืชเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้คนรู้จัก
ผู้เขียนเหมาแท็กซี่ออกจากเมือง ขับรถขึ้นเขาสูงกว่า 3,500 เมตรไปตามไหล่เขาตามทางดินแคบ ๆและหน้าผาสูงชัน ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรจากตัวเมือง รถมาจอดบริเวณแห่งหนึ่ง เมื่อมองลงไปในหุบเขาด้านล่าง เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่มีลักษณะเป็นวงกลมและขุดเป็นวงชั้น ๆ ลดหลั่นลงไปเหมือนก้นจานหรือคล้ายนาขั้นบันไดทรงกลมลึก 150 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 220 เมตร มีชื่อเรียกว่า ‘Moray’ ถือเป็นแปลงวิจัยทางการเกษตรแห่งแรกของโลกเมื่อ 500 ปีก่อน ก่อสร้างในยุคสมัยของอาณาจักรอินคา
ชาวอินคาสร้างสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ด้วยการขุดดินและหินจำนวนมหาศาลลึกลงไปเป็นระเบียงเป็นชั้น ๆ และสร้างกำแพงกันดินถล่มแต่ละชั้นจากการเรียงหินในท้องถิ่นอย่างพิถีพิถัน โดยไม่ต้องฉาบปูนเพื่อยึดผนังกำแพงระเบียง เพราะความกว้างและความลึกของระเบียงออกแบบมาเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และทำทางระบายน้ำเพื่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำบนภูเขามารดพืชเกษตรในแต่ละชั้นมีประสิทธิภาพ
นักโบราณคดีคาดว่าระเบียงวงกลมขั้น ๆ เหล่านี้เป็นแปลงทดลองการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ของชาวอินคาเมื่อ 500 ปีก่อน (แต่หลายคนก็สันนิษฐานว่าอาจจะมีอายุเก่าแก่กว่านั้น) แต่ละขั้นบันไดมีอุณหภูมิต่างกันมาก จึงเป็นแปลงทดลองพืชอาหารที่เหมาะกับอุณหภูมิต่าง ๆ พวกเขาทดลองปลูกพืชจากที่สูง ที่ราบ พืชริมทะเล พืชในป่า ฯลฯ ที่น่าแปลกคือนักวิทยาศาสตร์เคยวัดอุณหภูมิระหว่างก้นหลุมกับปากหลุม ปรากฏว่าแตกต่างกันถึง 15 องศาเซลเซียส และมุมของแสงแดดที่ตกกระทบแต่ละชั้นก็ไม่เท่ากัน ช่วยทำให้ความร้อนจากแสงแดดแต่ละชั้นก็ไม่เท่ากัน
ผู้เขียนเดินวนลงไปตามระเบียงจนถึงด้านล่าง รู้สึกได้ว่าเป็นชามขนาดยักษ์ ยิ่งเดินลึกลงไป อุณหภูมิแตกต่างจากด้านบน ยิ่งลึกลงไปอากาศอบอุ่นขึ้นชัดเจน เป็นเสมือน Micro Climate และในห้องทดลองทางเกษตร ปัจจุบันพบได้ในเรือนกระจก หรือ Green House บริเวณนี้จึงเหมาะกับการเป็นพื้นที่ทดลองพืชชนิดต่าง ๆ ที่ต้องการอุณหภูมิไม่เหมือนกัน พบว่าดินในขั้นบันไดแต่ละส่วนมาจากแหล่งต่างกัน มีร่องรอยพืชพรรณอาหารหลากหลายชนิดและพันธุ์จากสารพัดถิ่น
ความรู้ของชาวอินคาจากการทดลองทางการเกษตรทำให้พวกเขาทราบว่าจะปลูกพืชอาหารชนิดใดทั่วอาณาจักรให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันในเทือกเขาแอนดีส ทั้งความสูง อุณหภูมิ ปริมาณแสงแดด และมีส่วนสำคัญให้จักรวรรดิอินคาแผ่ขยายไปทั่วทวีปอเมริกาใต้ จากความรู้ด้านการเกษตรเป็นตัวบุกเบิกให้คนท้องถิ่นเผ่าอื่นยอมรับในอำนาจและความรู้ของชาวอินคา
ที่สำคัญ แต่ละขั้นบันไดมีช่องระบายน้ำ มีระบบควบคุมน้ำทุกขั้นบันได ระบบชลประทานอันสลับซับซ้อนบริเวณนี้ของ Moray ยังเป็นปริศนา แม้หน้าแล้งบริเวณแปลงเพาะปลูกยังได้รับน้ำสม่ำเสมอ และแม้จะเป็นบริเวณหุบเขา แต่น้ำไม่เคยท่วมเลยสักครั้งเดียว โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ต่ำที่สุด น้ำก็ไม่เคยท่วมถึง จนคาดว่าน่าจะมีทางน้ำใต้ดินเป็นที่ระบายน้ำอีกต่างหาก
หากเราลงไปที่ขั้นบันไดล่างสุดและพูดออกมาธรรมดา เสียงจะดังก้องขึ้นมาถึงข้างบนอย่างชัดเจน ราวกับสถานที่แห่งนี้ได้รับการออกแบบการสะท้อนเสียงอย่างดี
Moray จึงเป็นสถานที่ที่แสดงถึงความถึงอัจฉริยะของชาวอินคา ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และพื้นที่ทดลองการเกษตรอย่างน่าอัศจรรย์ สร้างจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับภูมิประเทศบริเวณนั้น จนไม่น่าแปลกใจที่พืชอาหารร้อยละ 60 ที่คนกินทั่วโลกจะมีแหล่งกำเนิดมาจากบริเวณนี้ และทำให้ชาวยุโรปมาเห็นด้วยความตกตะลึงว่าชาวอินคาทำได้อย่างไร
ทุกวันนี้นาขั้นบันไดของชาวอินคามีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมร่วมสมัย กลายเป็นต้นแบบของการออกแบบโครงการเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนหลายแห่งทั่วโลก ผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ อาทิ การพังทลายของหน้าดิน การปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน
รอบ ๆ แปลงทดลองแห่งนี้มีต้นอากาเวตามธรรมชาติ ครั้งหนึ่งคนไทยนำเข้าพืชอวบน้ำชนิดนี้มาจากอเมริกาใต้มาเพาะเลี้ยง และตามบ้านคนมีเงินนิยมปลูกประดับบารมี เพราะมีราคาแพงมาก แต่ที่นี่มี มีได้เห็นทั่วไปเวลาเดินเขา แต่ต้นอากาเวที่นี่สูงมาก ขนาด 4 – 6 เมตร เราไม่เคยเห็นช่อดอกสีเหลืองสูงขนาดนี้ ชั่วชีวิตของต้นไม้อวบน้ำชนิดนี้ออกดอกครั้งเดียว พอออกดอกก็ตาย
เมืองไทยอาจมาใช้ต้นอากาเวเป็นไม้ประดับ แต่ที่อเมริกาใต้ พวกเขาใช้แทบทุกส่วนของพืชชนิดนี้ เส้นใยของใบใช้ทำเชือก ลำต้นทำเป็นอาหาร และยังนำมาผลิตเหล้าชื่อดังไปทั่วโลก คือเหล้าเตกีลา เช่นเดียวกับที่ชาวอินคานิยมนำข้าวโพดมาหมัก จนกลายเป็นเครื่องดื่มน้ำเมาข้าวโพดหมัก เรียกว่า ชิชา (Chicha) ที่ชาวอินคาดื่มในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองและเทศกาลต่าง ๆ
โดยเฉพาะหากรบชนะข้าศึกได้ ชาวอินคาจะตัดหัวศัตรูและนำกะโหลกทำเป็นภาชนะใส่เครื่องดื่มสำหรับชิชา การดื่มน้ำเมาจากกะโหลกของศัตรูเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนจากความวุ่นวายในการทำสงครามไปสู่การปกครองและจัดระเบียบของจักรวรรดิอินคา
แต่ในที่สุดอาณาจักรอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ก็ล่มสลายลง พ่ายแพ้ต่อปืน โรคระบาด ม้า ที่มาพร้อมกองทหารสเปนที่เข้ายึดครอง ปล้นและทำลายอารยธรรมอินคาจนแทบจะสูญสิ้นไปหมด