ทีแรกเราไม่มั่นใจว่านั่งรถมาถูกที่รึเปล่า แต่ป้ายที่เขียนว่า Beyond Living ด้านหน้า ก็ทำให้ตัดสินใจเดินเข้าไปข้างในบ้านเก่าหลังนั้น

บรรยากาศที่นี่คึกคักและวุ่นวายในขณะเดียวกัน ผู้คนมากมายที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเดินขวักไขว่ทั่วบริเวณ บ้างก็ขะมักเขม้นทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไม่เหนื่อยอ่อน เราหันไปมองกี่ทอผ้าตัวเบ้อเริ่มที่มีคน 4 คนช่วยกันทออย่างประทับใจ

มุก เพลินจันทร์ ศิลปินสิ่งทอเบอร์ต้นที่ใช้ขยะและความสุข เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน

“มาแล้วเหรอ!” หญิงสาวในชุดตัดเย็บเองส่งเสียงทักทายเป็นกันเอง เธอกำลังยืนอยู่บนเก้าอี้ ทำงานศิลปะบางอย่างที่ห้อยลงมาจากเพดานร่วมกับทีมงานหลายคนที่ยืนข้างล่าง 

เราเคยเจอเธอครั้งหนึ่งแล้วที่งาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero ซึ่งสื่อสารเกี่ยวกับความยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหลักเศรษฐกิจกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์ที่ได้ขึ้นไปพูดในวันนั้น

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เรียกตัวเองว่า มุกวี (Mook V) หลายคนอาจจะเห็นเธอในหน้าสื่ออยู่บ่อย ๆ เธอเป็นนักออกแบบและศิลปินที่ทำงานสิ่งทอเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทยที่งานมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งสีสัน เท็กซ์เจอร์ วิธีการจัดวาง และการใช้วัสดุที่มักเป็นขยะหรือของเหลือใช้ หากได้เห็นที่ไหนก็เดาได้ไม่ยากว่านี่คืองานของเธอ

“จริง ๆ ไม่ได้ตั้งตัวว่าฉันจะเป็น Recycled Artist นะ ไม่ใช่เลย แค่เป็นคนไม่ชอบ Waste ไม่อยากทิ้งของ” เธอบอกกับเรา ไม่ได้ยอมรับกับตำแหน่งที่คนในสังคมมอบให้อย่างเต็มที่

วันนี้เราได้โอกาสมาคุยอย่างจริงจังเกี่ยวกับแพสชันในงานดีไซน์ งานศิลปะ และ ‘ขยะ’ กองใหญ่ถึงสตูดิโอของเธอเอง แม้ยังไม่ได้เริ่ม แต่บรรยากาศรอบตัวก็ทำให้เราตื่นเต้นไปกับบทสนทนาที่กำลังจะเกิดขึ้นซะแล้ว

มุก เพลินจันทร์ ศิลปินสิ่งทอเบอร์ต้นที่ใช้ขยะและความสุข เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน

ชีวิตหนังอินดี้ของมุกวี

มุกวีเป็นอดีตเด็กหญิงล้วน เธอเรียนมาแตร์เดอีจนถึงอายุ 13 ปี จากนั้นก็ออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ

“ไม่ชอบเรียนหนังสือ!”

“ไม่ชอบวาดรูป!” 

“ไม่ชอบเย็บปักถักร้อย!” 

“ชอบเหม่อ!” เธอเล่าถึงตัวเองในวัยเยาว์

มุก เพลินจันทร์ ศิลปินสิ่งทอเบอร์ต้นที่ใช้ขยะและความสุข เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน

ไม่ชอบเรียนหนังสือนี่เข้าใจได้ ศิลปินที่เราไปสัมภาษณ์หลาย ๆ คนก็เริ่มบรรยายชีวิตด้วยประโยคแมส ๆ นี้ แต่ไม่ชอบวาดรูป ไม่ชอบเย็บปักถักร้อยนี่ออกจะเหนือความคาดหมายสักหน่อย ดีที่เธอเล่าต่อว่าเธอชอบทำงานประดิษฐ์และถักนิตติ้งด้วยมือ

ระบบการเรียนที่อังกฤษไม่เหมือนประเทศไทยที่ต้องเรียนกันหลายวิชา มุกเล่าว่าเด็ก ๆ ที่นั่นต้องรู้ตัวเองตั้งแต่อายุ 13 – 14 ว่าอยากจะไปทางไหน จะทางศิลป์หรือทางวิทย์ จากนั้นพอเรียนถึง A-Level ก็จะเหลือวิชาเรียนแค่ 3 ตัว ซึ่งเธอเลือกเรียนศิลปะ 2 ตัว ประวัติศาสตร์ 1 ตัว ด้วยความที่คิดว่าอยากเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ แต่เมื่อได้เรียนลงลึกจริง ๆ ก็เปลี่ยนความคิด ไม่อยากเป็นแล้ว

“อยากทำตั้งแต่ศูนย์ การทำตั้งแต่ศูนย์คือการทำผ้า ตั้งแต่เป็นปุยฝ้าย ขยับมาเป็นเส้นด้าย มาทอเป็นผ้า มันเหมือนการ Create จริงๆ จากมือ พี่ไม่ได้เป็นคนวาดรูปเก่ง แต่เป็นคนที่เด่นเรื่องสีสันและเท็กซ์เจอร์” และจุดแข็งที่เธอว่า ก็ทำให้เธอก็เข้าไปเรียน Textile Design (การออกแบบสิ่งทอ) ที่ St. Martin’s College of Art & Design ที่ลอนดอนได้

“จากที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง พอเข้าได้ก็รู้สึกว่าเก่งจัง เริ่มเหลิง ก็เลยไม่ไปเรียนเลยทั้งเทอมแรก” 

อ้าว หักมุมอีกแล้ว

มุก เพลินจันทร์ ศิลปินสิ่งทอเบอร์ต้นที่ใช้ขยะและความสุข เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน
มุก เพลินจันทร์ ศิลปินสิ่งทอเบอร์ต้นที่ใช้ขยะและความสุข เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน

เธอเล่าว่าเวลาแจกโจทย์ อาจารย์จะให้มา 3 โจทย์ หากไม่ทำตาม 3 โจทย์นั้นก็ต้องแต่งโจทย์เอง มุกวีจะเลือกแต่งเองตลอด เพราะไม่ค่อยได้เข้าไปเรียนหนังสือ แต่ถึงอย่างนั้นแต้มบุญที่มีก็ทำให้เธอผ่านมาได้ด้วยดี

Textile Design แบ่งออกเป็น 3 สาขา Knitting (การถัก), Weaving (การทอ), Printing (การพิมพ์) สิ่งที่เธอเลือกแบบงง ๆ ในตอนนั้นคือ Weaving ซึ่งวิชานี้ก็พาให้ชีวิตดำเนินมาเรื่อย ๆ จนได้จบมาทำงานที่แม่ฟ้าหลวง ดอยตุง และได้อยู่ในกระบวนการทำ Bangkok Fashion Week ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก

“โห เราจบจากเมืองนอก ไม่อยู่เมืองไทยมาสิบกว่าปี พอได้ไปอยู่กับชาวเขาก็สนุกมาก” เธอเล่าถึงความหลังด้วยน้ำเสียงร่าเริง “ที่เราไปเรียนทำลาย เรียนย้อม ปั่นด้าย ตีเกลียวมา เราก็เอาไปสอนเขา แล้วเขาก็สอนในสิ่งที่เราไม่รู้อย่างการใช้กี่เท้าเหยียบ เหมือนต่างคนต่างแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เลยกลายเป็นสิ่งที่พี่ถือในความคิดมาตลอด ว่าเราทำงานกับใคร เราก็เรียนรู้จากเขาได้ตลอดเวลา”

มุกวีใช้เวลา 5 ปี ทำงานที่แม่ฟ้าหลวง แล้วตัดสินใจออกเดินทางครั้งใหม่ ด้วยการออกมามุ่งมั่นทำอะไรเป็นของตัวเองครั้งแรก

ปล่อยใจตามแพสชัน

Beyond Living หรือสตูดิโอที่เรามาเยี่ยมในวันนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2003 พวกเขาทำงาน Commercial ทั้งพรม ที่รองจาน เบาะ ปลอกหมอน และของใช้อื่น ๆ ที่ทำจากผ้าส่งออกหลายแห่งในโลก ส่วนแบรนด์ Mook V เป็นแบรนด์กระเป๋าที่เธอเพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2018 ปัจจุบันนี้ ในฐานะ เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เธอเป็นที่ยอมรับทั้งจากคนไทยและต่างประเทศ

แล้วงานศิลปะล่ะ เป็นของ Mook V ด้วยเหรอ งงไปหมดแล้วว่าแบรนด์ไหนเป็นแบรนด์ไหน

“แบรนด์ Mook V คือกระเป๋า แต่งานอาร์ตที่ไม่มีแบรนดิ้ง พี่ก็เผอิญเซ็นชื่อว่า Mook V ด้วย จริง ๆ แล้ว Mook V ก็คือพี่ คือคนคนเดียวกัน ยูจะเรียกไอเป็นอะไร ใส่หมวกใบไหน มันก็คือคนเดียวกัน” มุกวีพยายามอธิบาย “แต่บางชิ้นก็เซ็นว่า เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ นะ ก็แล้วแต่”

ตอนที่มุกยังเด็ก ที่นี่เคยเป็นบ้านของคุณอา เมื่อเติบโตมาอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงตัดสินใจเปลี่ยนบ้านเก่าหลังนี้เป็นสตูดิโอ และเดินไปติดป้าย ‘รับสมัครทีมงาน’ ไว้หน้าประตู

“มีหลายคนที่ขี่จักรยานมาสมัคร บางคนเคยขายกระเทียมดอง ขายผลไม้ ขายถุงเท้าแถวนี้มาก่อน” มุกเล่าถึงพี่ ๆ ป้า ๆ ผู้หญิงที่กำลังแท็กทีมทอผ้ากันอยู่ระหว่างที่เราคุย พวกเขาอยู่กันมากว่า 20 ปี ร่วมลงแรงทำทุกแบรนด์และทุกงานศิลปะที่มุกเป็นเจ้าของ “เราบอกไปว่า ใครที่ทอผ้าเป็นเราไม่รับ ถ้าทอผ้าเป็นจะมีทักษะบางอย่างแล้ว เช่น ทอกี่กระตุก ทอผ้าไหม แต่กี่เหล็กของพี่มันเป็นอีกแบบ มันเป็นกี่ทำเองที่หนักมาก อย่างที่เห็น มันต้องใช้แรงงานอยู่เหมือนกัน”

มุก เพลินจันทร์ ศิลปินสิ่งทอเบอร์ต้นที่ใช้ขยะและความสุข เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน
มุก เพลินจันทร์ ศิลปินสิ่งทอเบอร์ต้นที่ใช้ขยะและความสุข เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน

เธอบอกว่าตัวเองเป็น ‘คนสวนกระแส’ เธอไม่รู้สึกว่ามุกวีเข้ากับหมวดหมู่อาชีพไหนเลย เธอไม่เหมือนดีไซเนอร์ ไม่ได้แต่งตัวแบบนั้น ไม่ชอบสีดำ ไม่เหมือนศิลปินคนอื่น ๆ ที่ถูกกดและสร้างงานจากความเศร้าหรือความรันทด กลับกัน เธอสร้างงานจากความสุข ฉะนั้น จึงยากที่จะ ‘แปะป้าย’ ว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่

“I follow my passion” เพลินจันทร์ประกาศ เธอไม่อยากจำกัดว่าตัวเองเป็นศิลปินสิ่งทอเพียงอย่างเดียว “งานคือแพสชันของพี่ พี่เป็นคนที่ทำสิ่งที่ตัวเองรัก และอยากทำให้มันดีที่สุด”

วิธีการทำงานอย่างหนึ่งที่เธอทำจนกลายเป็นคาแรกเตอร์สำคัญของงาน คือ ‘การบริหารสต็อก’ เธอเป็นคนไม่ชอบทิ้งของ และเห็นด้วยกับแนวคิด Zero Waste

“โรงแรมสั่งพรมหลาย ๆ ผืน เราก็ต้องคำนวณแล้วว่าจะใช้เส้นใยในการทอกี่กิโล บางทีเราคิดออกมา 280 กิโล พอทอไปกลายเป็นใช้ไปแค่ 275 กิโล เหลือ 5 กิโล จะทอพรม 1 ผืนก็ไม่ได้ ถ้าจะทอพรม 1 ผืน มันต้องเป็นจากล็อตเดียวกัน ไม่งั้นสีจะต่าง เราก็เลยมีเหลือเส้นใยจากโปรเจกต์หนึ่ง 5 กิโล อีกโปรเจกต์ 3 กิโล ก็เลยเอามาทอเป็นชิ้น ๆ เล็ก ๆ แล้วทำเป็นกระเป๋า

“งานทำหมอนให้กับโรงแรม เวลาตัดหมอนก็จะเหลือเป็นแถบยาว ๆ บางทีเหลือตั้ง 24 ลัง ก็นำมาทำเป็นงานอาร์ตที่มาจากเศษผ้า

“ที่พี่อยากให้เป็น Zero Waste เพราะว่า หนึ่ง ไม่มีตังค์ ไม่งั้นสต็อกก็จมอยู่อย่างนั้น สอง ไม่ชอบการที่โยนของทิ้ง อยากให้คนเห็นคุณค่า” เธอพูดตรง ๆ “นอกจากเรื่องเงินนะ มันเป็นเรื่องของคุณค่าด้วย”

มุก เพลินจันทร์ ศิลปินสิ่งทอเบอร์ต้นที่ใช้ขยะและความสุข เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน

ไม่เพียงชอบนำวัสดุเหลือจากการทำงานมาใช้ประโยชน์ มุกวีชอบขยะด้วย ใช่ เราหมายถึง ‘ขยะ’ จริง ๆ

นักสร้างสรรค์พาเราเดินไปชมถุงกองใหญ่ด้านหลัง บ้างเป็นขยะบดเม็ด บ้างเป็นแหชาวประมง บ้างเป็นขยะพลาสติก บ้างเป็นกระป๋องน้ำอัดลม ทั้งหมดถูกทำความสะอาดอย่างดีแล้วแยกไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อมุกจะได้หยิบสิ่งเหล่านี้ไปทำงานศิลปะ

“ภูมิใจมาก ขยะพวกนี้เก็บโดยลูกชายนะ” เธอเป็นคุณแม่ของแฝด 3 อายุ 13 ปี ครอบครัวนี้ชอบไปเที่ยวทะเล และทุก ๆ ครั้งที่ไปก็ต้องเดินเก็บขยะตามชายหาดกันคนละไม้ละมือ บางชิ้นฝังอยู่ลึกก็ต้องใช้เสียมช่วยกันขุดขึ้นมา เรานึกภาพพ่อแม่ลูกท่าทางเหนื่อยล้าเดินไปที่เคาน์เตอร์โรงแรม แล้วขอให้พนักงานช่วยส่งพัสดุขยะเหล่านี้ไปที่บ้านครั้งแล้วครั้งเล่า เหล่าพนักงานคงจะงงไม่น้อย

“ของส่วนตัวก็เยอะ อย่างถุงน่องที่เราใช้ ใส่หนเดียวขาด แทนที่จะทิ้งพี่ก็เก็บมาทอเป็นชิ้นงาน ถุงเท้าลูกก็เยอะ ลูกแฝดเรา 3 คนโตเร็วมาก คิดดูว่าต้องใช้ถุงเท้าไปกี่คู่ พี่เอามาทอเป็นพรมให้ลูก 1 ผืนเลย เขาก็จะรู้สึกดีว่านี่คือของของฉันตอนเด็ก ๆ” เพลินจันทร์เล่าอย่างเพลิดเพลิน “พี่อยากให้ลูกรู้สึกเสียดายของ รักษาของ ซึ่งยากมากที่จะสอนเด็กสมัยนี้ เพราะทุกอย่างมันเป็นไปกับกระแส มาเร็วไปเร็ว มันเปลี่ยนจนเราไม่รู้แล้วว่าอะไรคืออะไร

“พี่ไม่ได้คิดไกลขนาดว่าจะทำให้บรรยากาศของโลกเปลี่ยนไป แค่คิดถึงคุณค่าของของ และไม่ชอบ Waste แต่ผลพลอยได้คือ เรามีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

“เราเป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่ทำในสิ่งเล็ก ๆ แต่จากคนของเราสิบกว่าคน หนึ่งในสิบก็ไปอีกสิบ จากนั้นก็ไปอีกสิบ แต่พี่ไม่ได้มองว่ามันจะไปได้ไกลขนาดไหน พี่มองแค่ว่าเราดูแลรับผิดชอบในวงเล็ก ๆ ของเราให้ดีที่สุด ในที่สุดมันก็อาจจะช่วยโลกให้ดีขึ้นได้บ้าง”

ถุงน่องเก่าย้อมสีที่มีขยะบดบรรจุอยู่ข้างใน

4 งานที่มุกวีเลือก

01 กระเป๋า : ‘Razzle Dazzle’ (Collection)

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เจ้าของแบรนด์ Mook V และ Beyond Living เล่าแพสชันในการทำงานศิลปะกับขยะและของเหลือใช้

“สามีพี่เป็นคนอ่านเยอะมาก แล้วเวลาจะทำงานอาร์ต ก็จะนั่งคุยกันว่าจะทำลวดลายอะไรดี ครั้งนี้เราใช้คอนเซ็ปต์ Camouflage หรือการพรางตัว”

ลายพรางนี้เรียกว่า Razzle Dazzle เป็นลายเพนต์ที่ปรากฏบนเรือรบอังกฤษยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 และบนเรือรบสหรัฐในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ลายชวนเวียนหัวนี้ใช้สำหรับพรางสายตา ไม่ให้คู่ต่อสู้สังเกตเห็นได้ง่าย ๆ ว่าเรือกำลังไปทางไหน และมุ่งหน้าด้วยความเร็วเท่าไหร่

กระเป๋าก็อยู่ในวงจรความยั่งยืนของมุกวี หากเศษเหลือจากการทำพรมนั้นน้อยจนไม่สามารถไปพอเป็นพรมอีกผืน นอกจากงานอาร์ตแล้ว เส้นใยเหล่านั้นก็จะมาลงเอยที่การทำกระเป๋า

02 งานอาร์ต : ‘White Skies’

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เจ้าของแบรนด์ Mook V และ Beyond Living เล่าแพสชันในการทำงานศิลปะกับขยะและของเหลือใช้

“พี่เคยไปสอนภรรยาชาวประมงทำงาน ได้ไปเล่าว่า มุกกำลังทำนิทรรศการ แหที่ไม่ใช้แล้วมุกขอได้ไหม อย่าไปทิ้ง เขาก็บอกว่าไม่มีหรอกค่ะคุณมุก เขาไม่เอากลับ เวลาเขาไปตกปลาเสร็จเขาก็เอาปลากลับแล้วก็โยนลงทะเล นี่เป็นสิ่งที่น่าเศร้า”

เชือกแหที่ใช้ในงานนี้มาจากทริปนาใต้ ภูเก็ต ของมุกวี เธอเห็นเชือกแหชาวประมงถูกซัดขึ้นมาบนชายหาด จึงเก็บมาทำงานศิลปะเป็นอุทาหรณ์

เชือกแห เส้นฝ้ายที่เหลือจากการทอพรม และดิ้นทองเส้นสั้น ๆ ที่เหลือจากการทำงานต่าง ๆ ถูกจับมารวมกัน สร้างสรรค์จนกลายเป็นผลงานน่าประทับใจชิ้นนี้

“เชือกที่ถูกซัดมาบนชายหาดมันจะมากับคราบดำอย่างที่เห็น ซักยังไงก็ไม่ออก แต่ถ้าคุณมองว่ามันสวยมันก็สวย เราว่าเหมือนมีการไล่โทนสีโดยที่ไม่ต้องย้อมเลย

“การทำงานอาร์ตจากขยะ ถ้าดูเลอะเทอะเหมือนเดิมมันก็ยากนะที่คนจะเข้าใจว่าต่างจากการเป็นขยะยังไง ฉะนั้น สิ่งที่พี่พยายามทำคือ ทำให้ขยะดูไม่เป็นขยะ เพิ่มคุณค่าเข้าไปให้มีความเป็นศิลปะ”

03 งานอาร์ต : ‘The Sea Ghost and Beyond’ (Exhibition)

“ยูก็ทำอะไรที่รู้สึกถึงมันเยอะ ๆ สิ” ช่วง 2 ปีที่แล้ว ระหว่างที่มุกกำลังหาไอเดียให้กับนิทรรศการเดี่ยวของตัวเอง สามีก็พูดประโยคนี้ขึ้นมา

“ช่วงนี้รู้สึกว่าเบื่อจัง ร้อนก็ร้อนมาก หนาวก็หนาวมาก ทำไมโลกมันเป็นแบบนี้” คือสิ่งที่เธอตอบไปในตอนนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เธอไปเสิร์ชคำว่า The effect of global warming เพื่อดูชาร์ตต่าง ๆ และเป็นสิ่งที่พาให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้น

“งานนี้เป็นงานที่ให้วัตถุดิบซึ่งก็คือขยะรอบตัวเรา เล่าเรื่องด้วยตัวของมันเอง” ขยะรอบตัวที่ว่ามาจากครอบครัวบ้าง ร้านอาหารในชุมชนบ้าง

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เจ้าของแบรนด์ Mook V และ Beyond Living เล่าแพสชันในการทำงานศิลปะกับขยะและของเหลือใช้

ชิ้นที่ 1 : ‘Saturated’

‘Saturated’ เป็นการทอภาพถ่ายทางดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่า ‘พวกเรา’ กำลังจะจม เริ่มตั้งแต่เพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว แล้วก็มาถึงประเทศไทย

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เจ้าของแบรนด์ Mook V และ Beyond Living เล่าแพสชันในการทำงานศิลปะกับขยะและของเหลือใช้

ชิ้นที่ 2 : ‘Embers’

‘Embers’ มาจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลีย สีดำคือขี้ด้ายจากโรงงานทอผ้าที่มุกไปขอซื้อเป็นกระสอบเพื่อนำมาทอ ส่วนสีส้มคือถุงน่องที่ย้อมไล่โทนสีเป็นไฟ ด้านในมีขยะบดบรรจุอยู่ แสดงให้เห็นว่าถ้าเรายังใช้ชีวิตมักง่ายกันแบบนี้ ความร้อนจะผลักป่า (สีเขียวในงาน) ออกไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็จะยืนอยู่ท่ามกลางกองไฟในที่สุด โดยพื้นสีเขียวทอจากขวดสไปรท์สีเขียวที่เลิกผลิตไปแล้วเพราะย่อยสลายยาก

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เจ้าของแบรนด์ Mook V และ Beyond Living เล่าแพสชันในการทำงานศิลปะกับขยะและของเหลือใช้

ชิ้นที่ 3 : ‘Summit Station’

‘Summit Station’ เป็นกราฟแสดงว่าอุณหภูมิเดือนมิถุนายนสูงขึ้นทุกปี มุกใช้กระป๋องน้ำอัดลมที่ลูกดื่มตัดเป็นเส้น ใช้กระดาษใช้แล้วที่ออฟฟิศตีเกลียว และใช้ Fast Fashion ที่นำมาย้อมสีแดงและตีเกลียว ทั้งหมดทอเข้าด้วยกัน ส่วนถุงสีขาวสื่อถึงหิมะที่กำลังละลาย ทำมาจากถุงน่องที่มีขยะบดบรรจุไว้ข้างใน

04 งานอาร์ต : ‘Woven Symphony’ และ ‘Adam’s Bridge’

โปรเจกต์ในคราวนี้เริ่มมาจากที่ ThaiBev ติดต่อมุกมาทำงานศิลปะที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยคอนเซ็ปต์ของศูนย์คือ ‘สืบสาน รักษา และต่อยอด’

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เจ้าของแบรนด์ Mook V และ Beyond Living เล่าแพสชันในการทำงานศิลปะกับขยะและของเหลือใช้

ผนังที่ 1 : ‘Woven Syamphony’

มุกทำอยู่ 2 ผนังด้วยกัน ผนังแรกคือผนังสีเขียว ‘Woven Symphony’ เธอหยิบศิลปะโขนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ‘สืบสาน’ มาทำงานศิลปะ ด้วยการนำเสื้อผ้าโขนมาออกแบบให้ร่วมสมัย และยังได้แรงบันดาลใจในการทำงานมาจาก รามเกียรติ์ ตอนที่นางสีดาถูกทศกัณฐ์จับไปอยู่ในกรุงลงกาด้วย

“ผนังฝั่งนี้เป็นสีเขียวเพราะเป็นเกาะ คนชอบดูว่านี่คือมังกร แต่จริง ๆ คือฉากสู้รบของหนุมานกับพระราม จะเห็นว่าเสื้อผ้าทับ ๆ พัน ๆ กันอยู่ด้วยเทคนิค Appliqué หรือการตัดต่อผ้ามารวมกัน”

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เจ้าของแบรนด์ Mook V และ Beyond Living เล่าแพสชันในการทำงานศิลปะกับขยะและของเหลือใช้

ผนังที่ 2 : ‘Adam’s Bridge’

ถัดจากผนังตรงกลางซึ่งเป็นไม้แกะในคอนเซ็ปต์ ‘รักษา’ ที่คงอยู่มากับศูนย์สิริกิติ์ฯ ตั้งแต่ตอนเปิด ก็เป็นผนังสีน้ำเงิน ‘Adam’s Bridge’ หรือที่เรียกว่าส่วน ‘ต่อยอด’

“ผนังสีน้ำเงินคือฉากต่อไป ที่หนุมานโยนก้อนหินจากเกาะลงหามาทับ ๆ กันให้เป็นสะพานเพื่อพานางสีดาไปมีชีวิตใหม่ สำหรับพี่ที่เป็นศิลปิน การต่อยอดคือการส่งต่อให้คนรุ่นหลัง คือการนำของที่คนเห็นว่าไร้คุณค่ามาทำให้มีคุณค่า เหมือนการต่อยอดปรับปรุงศูนย์สิริกิติ์ฯ ให้มีวันใหม่ที่ยั่งยืน”

วัสดุในการทำงานนี้ ประกอบไปด้วยขยะ ทั้งถุงน่อง กระป๋องอะลูมิเนียม ถุงพลาสติก ฟองน้ำ ขวดพลาสติด แห เศษผ้าจากการทำงาน และเส้นใยที่ยังเหลือจากการทอ

“คนจะเห็นว่างานอลังการใหญ่โต จริง ๆ มีเวลาทำแค่ 58 วันเองนะ” เราตกใจกับระยะเวลา จากที่ไปดูที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ มา งานนี้ใหญ่มากจริง ๆ “ที่ทำสำเร็จเพราะว่ามีหลาย ๆ ชิ้นงานเดิมมาประกอบร่างใหม่ มาบวก มาเพิ่ม มาเติม กลายเป็นงานนี้

“งานที่อาจจะไม่เวิร์กตอนนี้ แต่อาจจะมีโอกาสเวิร์กตอนหน้า คนบางคนเขาอาจจะเก็บขยะทิ้งแล้ว เราไม่ทิ้ง เราเก็บไว้ใช้ ไว้เติมดีเทลตอนหลัง มันถึงได้ออกมาเป็นอย่างนั้น

“นี่คือสิ่งที่พี่ทำมาตลอดชีวิต”

คุณค่าที่สัมผัสได้

“งานพี่ทำโดยคนไทย ออกแบบโดยคนไทย แต่ไม่ได้ติดกับลุคที่เป็นไทยจ๋า แล้วก็ไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองเป็นฝรั่งจ๋าจากการที่อยู่นอกสิบกว่าปีด้วย” มุกอธิบายคาแรกเตอร์ของงานให้เราฟัง “พี่เอา 2 อย่างมาผสมกันอยู่ในตัวพี่

“งานเราทุกวันนี้ที่เป็นลูกผสมก็มีช่องทางการขายของมัน ถึงจะไม่ได้เพราะว่าขายดีมาก ๆ หรือประสบความสำเร็จมาก ๆ เหมือนแบรนด์ใหญ่โต แต่ก็มีคนที่ชอบ เป็น Niche Market”

มุกบอกว่า โดยปกติแล้วลูกค้าที่มาอุดหนุนจะเป็นวัยทำงาน อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มนิ่ง เริ่มเห็นคุณค่าของของ ทุกวันนี้พาร์ตเนอร์ที่ดูแลเรื่องกระเป๋าก็อยากดึงอายุของกลุ่มเป้าหมายลงเป็นวัย 20 ต้น ๆ แต่มุกก็คิดว่านั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นวัยที่หวือหวาและเบื่อเร็ว

ได้แรงบันดาลใจอะไรจากการฟังคนอื่น ๆ ในงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero ที่ได้ไปร่วมมาในวันนั้นไหม

“รู้สึกดี ประทับใจกับทุกคนนะ โดยเฉพาะ อาจารย์กิตติพงศ์ อุตตมะเวทิน (ผู้ก่อตั้งร้านควินิน) คนเป็นแม่เนี่ย ลูกสำคัญที่สุดในชีวิต เพราะฉะนั้น เราจะมองว่าการสร้างคนเป็นสิ่งสำคัญเหมือนที่อาจารย์พูด”

นอกจากนี้ คุณมุกยังกล่าวชื่นชมการจัดงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero โดย GC ผู้จัดงาน ซึ่งมีพันธมิตรทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในการสร้างจิตสำนึกความรักและดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเธอรู้สึกดีที่เห็นการตื่นตัวของทุกคน เพราะทุกอย่างไม่ได้เป็นแค่คอนเซ็ปต์ แต่จับต้องได้และนำไปต่อยอดได้จริง ๆ  พอเห็นงานที่ GC จัดเป็นการสร้าง Awareness ให้กับผู้คนโดยการเรียนรู้ผ่านงานอีเวนต์แบบนี้ ทำให้เราได้เห็นภาพและการนำสิ่งของมาสร้างให้มีมูลค่ามากขึ้น แม้แต่การทำงานศิลปะผ่านสิ่งเหลือใช้ก็นำมาสร้างคุณค่าต่อได้เช่นกัน

ก่อนกลับบ้าน มุกวีพาเราเดินชมสตูดิโออีกรอบ พอได้เห็นกระบวนการถักทอด้วยตาเนื้อ ก็รู้สึกถึงคุณค่าของงานจากที่ได้ร่วมในงาน GC มากขึ้นอีก กว่าจะได้ออกมาสวยงาม สื่อความหมายได้ดีแบบที่เห็น ต้องกลั่นกรองมาจากทัศนคติต่อโลกของมุกวี ความคิดสร้างสรรค์เพื่อมาต่อยอด และที่สำคัญคือต้องผ่านความตั้งอกตั้งใจของเหล่าทีมงานในสตูดิโอหลายสิบชีวิต

อยากทำอะไรต่อไป – คำถามสุดท้ายก่อนจบ

“ก็ทำงานอาร์ต ทำแล้วมีความสุข” มุกวียิ้ม

มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ เจ้าของแบรนด์ Mook V และ Beyond Living เล่าแพสชันในการทำงานศิลปะกับขยะและของเหลือใช้

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ