อาจเพราะอินเทอร์เน็ตเข้าถึงง่าย ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ มีโอกาสทำความรู้จักกับโลกอดีตที่เรืองรอง

อาจเพราะโลกยุคปัจจุบันไม่น่าเอ็นจอยเท่าโลกยุคเก่า

อาจเพราะเราต่างโหยหาอดีตและโรแมนติกกับมัน

อาจเพราะโลกร้อน COVID-19 

และอีกมากมายหลายอาจเพราะ…

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม Nostalgic Feeling หรือความรู้สึกโหยหาอดีต กำลังก่อตัวขึ้นกับคนในสังคมทั่วโลก จนสื่อหลายสำนักคาดคะเนกันว่า มันจะกลายมาเป็นเทรนด์ความรู้สึกของคนในยุคสมัยนี้ในอนาคตอันใกล้

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

หลังบทสนทนากับ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา จบลง เราเริ่มรู้สึกคล้อยตามการคาดคะเนเทรนด์เหล่านี้ เพราะล่าสุดเขาเพิ่งนำทีม MOO แบรนด์เสื้อผ้าน้องใหม่จาก ASAVA Group ไปทำการ Collaboration กับรองเท้านักเรียนระดับตำนานอย่างนันยาง และสร้างประสบการณ์ที่ทำให้ผู้คนที่ไม่ได้ใส่รองเท้าจากแบรนด์นี้มาเป็นสิบปี หันกลับมามองนันยางใหม่ด้วยความรู้สึกบางอย่างอีกครั้ง

วันนี้ The Cloud จึงอยากพาผู้อ่านไปรู้จักกับแบรนด์ไทยทั้งสองให้มากขึ้น รวมถึงวิธีคิดเบื้องหลังการออกแบบรองเท้า MOO x Nanyang Sneakers ที่ทำให้หลายคนได้กลับไปสัมผัสกับห้วงความคิดช่วงวัยนักเรียน

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

คิดแบบหมู Moo

“ถ้า Asava คือ Impression ที่เรามีต่อผู้หญิง”

“Moo คือ Impression ที่เรามีต่อผู้ชาย” 

หมูเกริ่นนำถึงแบรนด์ Moo น้องใหม่คนล่าสุดจาก ASAVA Group ในแบบที่คนไม่คุ้นแฟชั่นอย่างเราพอเข้าใจ

Moo คือแบรนด์เสื้อผ้าและไอเท็มของผู้ชายที่มีลุคสนุกสนาน ผ่อนคลาย สวนทางกับภาพของแบรนด์แม่อย่างสิ้นเชิง แต่หมูยืนยันว่าทุกแบรนด์ที่ออกมาจากตัวเขา ล้วนถูกหยิบมาจากชีวิตจริงไม่แง่มุมใดก็มุมหนึ่ง ซึ่งเขาก็นิยามถึง Moo ต่อว่า 

“มันอาจจะเป็น A fun side of ASAVA. ก็ได้นะ คือเป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของเราที่คนไม่ค่อยได้รู้จัก”

หากเจาะจงว่าตัวตนด้านที่สนุกสนานของ ASAVA คือเครื่องแต่งกายในสไตล์อะไร หมูเล่าให้ฟังว่ามันคือ Preppy Workwear Vintage ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก ‘ตู้เสื้อผ้า’ ของตัวเขาเอง

ฟังดูน่าพิศวงกับการที่แบรนด์เสื้อผ้าสักยี่ห้อหนึ่งจะถูกดีไซน์ขึ้นจากตู้เสื้อผ้าของผู้เป็นเจ้าของ แทนที่จะเป็นการวิจัยตลาดหรือการจับเทรนด์มาแรง 

แต่ก็อย่างที่หมูบอก ทุกแบรนด์ของ ASAVA Group ล้วนมีจุดตั้งต้นมาจากตัวเขา

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา
MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

“ไอเดียของ Moo คือเราจะหยิบจับเสื้อผ้าที่เราชอบใส่มาขยำรวมกัน จากนั้นเราก็เอาสิ่งที่เราสนใจในตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด สีสัน หรือเทรนด์ มาผสมรวมกัน ทำให้ Moo มีทั้งสไตล์ที่ชัดเจนและความร่วมสมัย”

ความร่วมสมัยหนึ่งที่สะท้อนออกมาจาก Moo คือวิธีในการปล่อยคอลเลกชันใหม่ Moo คอลเลกชันแรกถูกปล่อยออกมาช่วงปลาย ค.ศ. 2019 และทยอยปล่อยคอลเลกชันต่อมาโดยไม่ได้ยึดกับไทม์ไลน์แบบ ‘ฤดูกาล’ หรือ Season ของวงการแฟชั่น

“เราตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำหมูออกมาเป็นคอลเลกชันตามฤดูกาล เพราะเราเชื่อว่า ทุกวันนี้คนไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าตาม Sping/Summer Fall/Winter ในเชิงประโยชน์การใช้สอยอีกแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้คนไม่ได้มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่แน่นอน มีการเปลี่ยนถ่ายย้ายที่อยู่ตลอดเวลา ทำให้วิธีคิดการแต่งตัวของคนไม่ได้มี Season มากเท่ากับสมัยก่อน แต่คนกลับรับรู้การออกคอลเลกชันใหม่ของแบรนด์จากการโฆษณาของร้านค้ามากกว่า ซึ่งพอวิธีคิดของมนุษย์เปลี่ยน พฤติกรรมของเขาก็เปลี่ยนด้วย”

การออกคอลเลกชันของ Moo ถูกเรียกเป็น Drop ซึ่งแต่ละ Drop ก็จะมีไอเท็มไฮไลต์ที่เหมาะสมกับช่วงเวลานั้นๆ ไม่ว่าจะในด้านของสีสัน เนื้อผ้า หรือประโยชน์ใช้สอย การไม่ผูกตัวเองอยู่กับปฏิทินทำให้ Moo มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งความยืดหยุ่นนี้ครอบคลุมไปถึงต้นทางอย่างวิธีคิดการออกแบบไอเท็มแต่ละชิ้นด้วย

“ต้องบอกว่าดีไซน์ออฟฟิศที่นี่ไม่ได้เชื่อว่าเราเป็นคนขายเสื้อ แต่เราเป็นคนขายความคิด เพราะฉะนั้น ทุกอย่างมันจะย้อนกลับมาที่วิธีคิดทั้งหมด โอเค เราอาจจะเริ่มต้นจากการขายเสื้อ เพราะมันเป็นความหลงใหลแรกของเรา แต่ต่อไปเราก็เปลี่ยนวิธีคิดของเราให้กลายเป็นอย่างอื่นได้ เป็นรองเท้าก็ได้ อาหารก็ได้ โรงแรม สีทาบ้าน กระดาษเช็ดปาก หรือแม้แต่โรงเรียนก็ได้

“สิ่งที่สำคัญสำหรับเรา คือไม่ว่าจะเป็นอะไร มันต้องเกิดมาจากความอยากของเราจริงๆ ไม่มีแบรนด์ไหนของ ASAVA Group ที่คิดขึ้นมาเพราะรู้สึกว่าทำแล้วจะดัง ทุกแบรนด์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ Moo มันไม่มีอะไรที่ตอหลดตอแหลเลย มันคือสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราใส่ และสิ่งที่เรามองเห็นคุณค่าจริงๆ”

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

เก๋าแบบนันยาง

‘เก๋ามาตั้งแต่รุ่นพ่อ’ 

คือมอตโต้เก่าของแบรนด์รองเท้านักเรียนไทยที่ตรงกับชีวิตจริงของหลายคน เพราะแบรนด์รองเท้ายี่ห้อนี้ผลิตรองเท้าขายให้กับเหล่านักเรียนไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ซึ่งถ้านับมาจนถึง พ.ศ. นี้ ก็เป็นเวลาเกือบๆ 70 ปีแล้ว ระยะเวลาที่แบรนด์ได้ปักหลักตีตลาดนักเรียนมาอย่างยาวนานทำให้ ‘นันยาง’ ก้าวพ้นคำว่าแบรนด์ จนกลายมาเป็น ‘สถาบัน’ ของเหล่านักเรียนและอดีตนักเรียนไทยแทบทุกคน

รองเท้านันยางยืนยงผ่านกาลเวลาจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกและคงความนิยมมาได้ตลอดหลายสิบปี โดยมีตัวเลขสถิติจากเว็บไซต์ของนันยางเองระบุว่า นันยางผลิตรองเท้าออกมาแล้วกว่า 300,000,000 คู่ ตัวเลขนี้เราไม่ได้พิมพ์เลขศูนย์เกินแต่อย่างใด และมันอ่านว่า ‘สามร้อยล้านคู่!’ เราขอให้หมูใช้สายตาของคนในวงการแฟชั่นและนักออกแบบวิเคราะห์ถึงเหตุผล ว่าอะไรทำให้นันยางเป็นที่นิยมของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“ปัจจุบันรองเท้านันยางคือ Iconic ของรองเท้านักเรียน ซึ่งเราว่าของที่เป็น Iconic ทั้งหลาย คือของที่ถูกออกแบบและจัดวางมาแล้วอย่างดี แต่เราก็ตอบไม่ได้ว่ามันคือการจัดวางของอะไรกันแน่ มันอาจจะเป็นดีเทล ความรู้สึก หรือบริบทต่างๆ ที่รายล้อมตัวรองเท้าไว้ ซึ่งเราขอเรียกอะไรก็ตามที่ก้าวไปสู่จุดที่เป็น Iconic ว่า Magic เราเชื่อว่ามันเป็นเวทมนตร์บางอย่างที่ไม่มีใครรู้ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง หรือถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

“แต่ถ้าจะให้เราลองคิดดูว่าอะไรที่ทำให้นันยางยังอยู่ในใจของคนไทย แม้เขาจะเลยวัยนักเรียนแล้วก็ตาม เราคิดว่าเพราะมันคือหนึ่งในองค์ประกอบของชีวิตคนไทยแทบทุกคน เราโตมากับมัน สวมใส่มันห้าวันต่อสัปดาห์เป็นเวลาสิบกว่าปี มันมีความสำคัญมากๆ กับเราในช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิต ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารองเท้านันยางมีอิทธิพลกับผู้คนอย่างมาก”

ขณะเดียวกันหมูก็อธิบายเพิ่มเติมว่า บางครั้งความเป็น Iconic ก็ทรงอิทธิพลเสียจนไม่มีรองเท้ารุ่นอื่นๆ ผงาดขึ้นสร้าง ‘ภาพจำ’ ที่ทัดเทียมกับรองเท้านักเรียนรุ่นคลาสสิกของนันยางได้ ไม่แม้กระทั่งรองเท้ารุ่นใหม่ๆ ของนันยางเองก็ตาม ซึ่งในเรื่องนี้เอง เขาก็เคยประสบมาในรูปแบบของงานดีไซน์ที่สร้างปรากฏการณ์ในสังคมช่วงระยะเวลาหนึ่ง

“เวลาที่เราสร้างงานดีไซน์ที่ได้รับความนิยมจากสังคม แล้วเราลองเอามันมารีดีไซน์ใหม่ เช่นปรับดีเทลหรือเปลี่ยนประเภทผ้า มันกลับไม่ฮิตเหมือนกับตัวแรกที่เคยฮิต คือเราไม่รู้หรอกว่าปัจจัยรอบข้างทั้งหลายที่ทำให้ของสิ่งหนึ่งได้รับความนิยมจนกลายเป็นปรากฏการณ์คืออะไร เราพอจะหาคำอธิบายได้บ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมดหรอก”

MOO x Nanyang Sneakers เมื่อความหมูมาเจอความเก๋า

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

คงไม่มีใครคาดคิดว่าแบรนด์หน้าใหม่อายุ 1 ปีกว่าๆ จะเดินเข้าไปหาแบรนด์ระดับตำนานอย่างนันยางเพื่อทำงาน Collaboration ร่วมกัน เพราะทั้งอายุของแบรนด์ สไตล์ หรือแนวทาง ดูเหมือนไม่มีอะไรที่ใกล้กันเลย

เราจึงอดถามไม่ได้ว่า อะไรที่ทำให้ Moo ซึ่งเป็นแบรนด์รุ่นคราวลูกหรือคราวหลาน เลือกก้าวไปทำงานกับแบรนด์ที่เก๋าระดับรุ่นพ่อ จนออกมาเป็นงานคอลแลบรุ่นพิเศษอย่าง MOO x Nanyang Sneakers

“ไอ้เรามันเป็นคนชอบหาเรื่อง อะไรดีๆ เราก็ชอบตัด ชอบไปปรับมัน อย่างนันยางนี่เขาก็ขายได้ขายดีของเขาอยู่แล้ว แต่เราเห็นพื้นที่ที่น่าสนุกในการทำงานร่วมกัน เราเลยอยากไปลองคุยกับเขา”

หมูเล่าให้ฟังว่า การท้าทายให้แบรนด์ระดับนันยางลองทำสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแบรนด์ระดับสถาบันก็มีวิถีที่ชัดเจนจากการดำเนินงานมาเป็นเวลานาน ซึ่งการคอลแลบกับแบรนด์อื่นๆ ไม่ได้อยู่ในแผนของเขา ทั้งยังไม่มีความจำเป็นในแง่ธุรกิจอีกด้วย เพราะรองเท้าของนันยางขายได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่รู้จักและเชื่อมือกัน การท้าทายของหมูจึงได้รับไฟเขียวในที่สุด

“หลังจากที่รู้ว่าเขาตกลง เราก็เดินออกจากห้องประชุมพร้อมกับแบบรองเท้าที่สเก็ตช์เสร็จแล้วในหัว พอถึงออฟฟิศเราก็โยนงานให้ทีมไปแตกออปชันมาเพิ่มได้เลยว่าจะจัดวางสีสันอย่างไร ขนาดความยาวของแถบสีเท่าไร หัวรองเท้าจะเป็นแบบไหน ฯลฯ”

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

อะไรคือการสเก็ตช์ภาพชิ้นงานเสร็จในหัวหลังจากการประชุม เราถามสวนไปหาหมู

“ก็เราฝันเอาไว้นานแล้วว่าถ้าจะทำรองเท้าผ้าใบสักคู่หนึ่ง มันจะเป็นประมาณไหน” หมูตอบรวดเร็ว ก่อนเติมรายละเอียดเพิ่ม

“คือเราว่าการเริ่มต้นครั้งแรกของอะไรก็ตามมันไม่ยากหรอก เพราะเรามีภาพในหัวอยู่เยอะ อย่างลาย Stripe นี้ก็มีที่มา ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่อายุสิบห้า ตอนนั้นเราได้ตัดเสื้อครั้งแรกในชีวิต เพราะเป็นการบ้านของวิชาตัดเย็บ อาจารย์ให้โจทย์ว่าจงตัดชุดนอนมา จำได้ว่าเราก็เดินไปซื้อผ้าที่ร้านเฮี้ยงหยูฮวด แล้วเลือกลาย Stripe สีขาว-น้ำเงิน มา จากนั้นก็ตัดตามแบบที่อาจารย์ให้มานี่แหละ แต่เราก็เติมกระเป๋า เติมนู่นนี่ที่เราอยากใส่เข้าไปเอง อะไรที่อยากใส่แต่ทำไม่เป็นก็ไปถามคนที่ร้านตัดเสื้อของแม่ 

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

“ถึงเวลาเอาไปส่งอาจารย์ก็ตกใจว่างานของเรามันจริงจังเกินความคาดหวังของเขาไปไกล การเป็นลายแรกของเสื้อเรานี่แหละที่ทำให้ Stripe มีอิทธิพลต่อมาจนถึงวันนี้ เราเปิดแบรนด์มาสิบกว่าปีลวดลายนี้ก็ไม่เคยหายไปจากคอลเลกชันของเราเลย รองเท้าผ้าใบคู่แรกของเรามันก็เลยต้องเป็นลาย Stripe อยู่แล้ว”

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา
MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

80 เปอร์เซ็นต์ 

วันนี้ทุกคนคงหาดูหน้าตาของเจ้ารองเท้า Moo x Nanyang Sneakers ทั้งสองรุ่นกันได้ไม่ยาก และคงเห็นว่า ความฝันที่เป็นรูปเป็นร่างของหมูในการทำรองเท้าผ้าใบคู่แรกมีผลลัพธ์ออกมาประมาณไหน แต่เราก็ได้แอบถามหมูว่าการเดินทางของความฝันนี้ ตั้งแต่แบบในหัวจนออกมาเป็นรองเท้าทั้งสองลาย เขาพบเจอความท้าทายอะไรบ้าง

“ความท้าทายแรกคือ การที่เราจะไปท้าทายเขาให้เขาลองสิ่งใหม่ๆ นี่แหละ เพราะแบรนด์ระดับตำนานทั้งหลาย เขามีความเป็นสถาบันที่ชัดเจนและขยับเขยื้อนยาก เพราะสิ่งที่เขาทำมันยังเวิร์กอยู่ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลง อย่างการที่เรามาคอลแลบกับนันยางมันไม่ใช่ความจำเป็นในแง่ธุรกิจของเขาเลย เพราะรองเท้านันยางก็ขายได้อยู่แล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ซื้อไอเดีย และยินดีที่จะปรับบางอย่างเพื่อสร้างสรรค์สิ่งนี้ร่วมกันกับเรา”

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา
MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

ทุกๆ ครั้งที่แบรนด์แต่ละแบรนด์จับมือร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาสักอย่าง นอกจากความท้าทายในการออกแบบชิ้นงานให้ตรงใจกับคนจากทั้งสองฝ่ายแล้ว กระบวนการผลิตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมื่อแบรนด์ทั้งสองแบรนด์มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน หรือที่หมูใช้คำว่า ‘คนสายออกแบบ’ กับ ‘คนสายโรงงาน’ ซึ่งคนทั้งสองแบบนี้ต่างก็มีมุมมองเป็นของตัวเอง ว่าง่ายๆ คือคุยกันคนละภาษา ทำให้กระบวนการนี้ต้องอาศัยความเข้าใจ ความประนีประนอม และความใจเย็นของทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ดีที่สุดออกมา

“แต่เราไม่ได้คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรค” หมูเล่าถึงความท้าทายด้านการสื่อสารระหว่างแบรนด์

“ต้องเข้าใจว่าการทำงานออกแบบอย่างที่เราทำ คนที่เป็นต้นไอเดียหรือดีไซเนอร์จะเต็มไปด้วยจินตนาการและความสร้างสรรค์ แต่พอเราต้องร่วมงานกับผู้ผลิตจริงๆ มันมีอีกหลายขั้นตอนและหลายปัจจัยที่ต้องฝ่าฟันจนงานออกมา ซึ่งสุดท้ายแล้วตัวชิ้นงานมันก็ไม่เป็นดั่งที่เราฝันอยู่แล้วแหละ ได้แปดสิบเปอร์เซ็นต์จากในหัวก็เรียกได้ว่าเก่งสุดๆ แล้ว”

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

เสื้อผ้าอารมณ์

แม้เราไม่ได้ถามหมูต่อว่า Moo x Nanyang Sneakers คือกี่เปอร์เซ็นต์จากจินตนาการของเขา แต่ระหว่างที่คุยกัน แววตาเขาเต็มไปด้วยความหลงใหลและภาคภูมิใจกับรองเท้าทั้งสองคู่นี้

หนึ่ง อาจเพราะมันเป็นรองเท้าผ้าใบคู่แรกที่เขาได้ออกแบบตั้งแต่ต้นจนจบ 

สอง สาม และสี่ อยู่ในย่อหน้าถัดถัดไป

“สิ่งที่พิเศษในคอลเลกชันนี้สำหรับเราไม่ใช่ตัวรองเท้าด้วยซ้ำ แต่มันคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากที่คนได้เห็นงานดีไซน์ของเรา ตัวรองเท้าทำหน้าที่เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ไปขยับตะกอนความทรงจำบางอย่างให้ฟุ้งกลับมา ความ Nostalgia ที่มันแล่นขึ้นมาในหัวของแต่ละคนนี่แหละคือความพิเศษ

“บางครั้งก็เหมือนกับเรื่องของผัดกะเพราแหละ ที่เรากินอยู่บ่อยจนมองไม่เห็นความอร่อยหรือความพิเศษของมัน เช่นเดียวกับแบรนด์หลายๆ ยี่ห้อที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอด แต่เรามองข้ามไป ซึ่ง Moo สนใจในพื้นที่ตรงนี้และอยากเข้าไปตีความคุณค่าให้กับมันใหม่อีกครั้ง เพื่อให้คนได้หันกลับมามองสิ่งที่คุณค่าเหล่านี้อย่างชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม”

MOO x Nanyang งานคอลแลบที่พารองเท้านักเรียนเข้ามาในโลกแฟชั่นผู้ใหญ่และย้อนเวลาไปพร้อมกัน, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

Writer

Avatar

คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์

นักเขียนอิสระ ที่กำลังลองทำงานหลายๆ แบบ ชอบลี้คิมฮวง ต้นไม้ เพลงแก่ๆ มีความฝันอยากทำฟาร์มออร์แกนิก และล่าสุดเขียนจดหมายสะสมลงในเพจ In the Letter

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล