เราไปถึงบ้าน เจ-มณฑล จิรา ตอนบ่ายโมงตามเวลานัดพอดิบพอดี ครั้งล่าสุดที่เจอเขาคือในคอนเสิร์ตวงดนตรีอินดี้ต่างประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน นอกจากหน้าตาที่เหมือนสตัฟฟ์ไว้ตั้งแต่อายุยี่สิบตอนกลาง เราก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาอีกเลย 

เขาต้อนรับเราสู่ห้องนอน-สตูดิโอขนาดประมาณ 30 ตารางเมตรในบ่ายวันนั้น จะเรียกว่าห้องนอนก็ไม่ได้เต็มปาก เพราะนอกจากเตียง 3 ฟุตที่มุมห้องหน้าประตู ก็ไม่มีเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอนชิ้นอื่น 

ถัดจากเตียงเป็นกลองชุด ถัดจากกลองชุดเป็นเปียโน Upright ถัดจากเปียโนหลังนั้นเป็นสตูดิโอขนาดเล็กต่อเติมจากเดิมที่เคยเป็นเฉลียง ตอนนี้กลับเต็มไปด้วยอุปกรณ์การอัดเพลง มิกเซอร์ คีย์บอร์ด และกีตาร์หลายโมเดล เป็นห้องที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตเขาได้มากพอที่จะทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

เจทานมังสวิรัติตั้งแต่อายุ 16 ปี ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เล่นโยคะทุกวัน และพยายามพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ

เขาไม่สนใจเรื่องแฟชั่น ไม่อยากให้มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเวลาชีวิต

เขาผันตัวจากการอยู่เบื้องหน้า มาทำงานดนตรีเบื้องหลังที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเองมากกว่า

เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเทศกาลดนตรี Wonderfruit และแพลตฟอร์มระดมทุน Asiola 

เขาซ้อมแต่งเพลงเป็นร้อยเพื่อเตรียมตัวสำหรับอัลบั้มภาษาไทยที่กำลังจะปล่อยในเดือนสองเดือนนี้

เขามีหนังสือ คลังคำ เป็นแหล่งข้อมูลในการเขียนเพลง

เขานอน 4 ทุ่ม เขาตื่นเช้าตรู่ และม่านไม่จำเป็นสำหรับห้องนอนของเขาเลยแม้แต่น้อย

เขารักงานของตัวเองเป็นที่สุด เขาว่างานที่ทำเหมือนการเดินทางไปที่ใหม่ๆ

ข้อดีของเขาคือการชอบทดลองทำสิ่งใหม่ๆ 

เขามีเป้าหมายที่ชัดเจน และตั้งใจทำงานหนักเพื่อไปสู่เป้าหมายตรงนั้น

20 ปีผ่านไป เจ มณฑล เติบโตจากดาราวัยรุ่นยุค 90 ที่โด่งดังมาจากการถ่ายแบบภาพนิ่งและโฆษณา สู่ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานของศิลปินเก่งๆ หลายคนอย่างฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ และ Slot Machine เช่นเดียวกับห้องของเขาที่วันนี้ดูจะเป็นสตูดิโอที่มีเตียง มากกว่าห้องนอนที่เป็นสตูดิโอเสียอีก

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

พักหลังๆ มานี้ เราเห็นคุณในบทบาทคนทำงานเบื้องหลังมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานเพลง เทศกาลดนตรี Wonderfruit หรือแพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อคนทำงานสร้างสรรค์อย่าง Asiola ทำไมถึงชอบทำงานเบื้องหลังมากกว่า

ผมชอบเพราะมันเป็นส่วนที่ได้ทำ เป็นคนที่ได้สร้างผลงาน หลายๆ คนคิดว่าคนที่เห็นเบื้องหน้าเป็นคนสร้างงาน ส่วนมากไม่ค่อยจริง อย่างการทำดนตรี หลายครั้งคนเห็นแค่นักร้องซึ่งเป็นเสียงของผลงาน แต่จริงๆ มันมีทีมที่อยู่ด้านหลังการผลิต คนแต่งเพลง คนโปรดิวซ์ คนเล่น คนมิกซ์ ตั้งแต่ต้นเราเป็นคนชอบที่จะทำในส่วนนี้

เราเลยค้นหาโอกาสที่จะได้ทำ มาฝึกให้รู้วิธีเพื่อมาทำของตัวเอง เราอยากทำผลงานของตัวเองมาตั้งแต่ปี 1998 ตั้งแต่อัลบั้มแรกที่เคยทำ ซึ่งเรามีส่วนร่วมน้อยมาก มีได้แต่งเพลงบ้าง แต่เด็กอายุสิบเจ็ด ในตอนนั้นยังไม่คล่องวิธีการหรือขั้นตอนต่างๆ เท่าไหร่ หลังจากนั้นก็เลยรู้ว่านี่คือสิ่งที่อยากทำ แต่เราต้องกลับไปเรียนรู้ทุกๆ ขั้นตอนก่อนที่จะพร้อม ตอนนี้ในวัยสี่สิบ เรารู้สึกว่าเราพร้อมแล้ว 

คุณเองเคยอยู่เบื้องหน้า ชื่อเสียงตรงนั้นมันไม่ตอบโจทย์ตัวเองเหรอ

แต่เราก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เราเริ่มจากมีโฆษณา Twelve Plus ซึ่งสิ่งที่เขาตัดออกมาก็ไม่ได้อยู่ในบท มันเป็นอะไรที่บังเอิญมาก เป็น ​Outtake เขาสั่งคัตแล้วผมยิ้มนิดหนึ่ง ไม่มีใครตั้งใจอะไรเลย มันฟลุค เป็นดวง แล้วโฆษณานี้ดังมากเพราะช่วงท้ายที่ผมยิ้มตรงนั้น หลังจากนั้นเราก็ไปออกรายการทอล์กโชว์อยู่เรื่อยๆ แขกรับเชิญคนอื่นเขาเป็นนักร้อง นักแสดง เล่นหนัง พอเขาถามเราว่า ‘คุณทำอะไรมา’ ‘ผมไม่ได้ทำอะไรเลยครับ’ (หัวเราะ) เราเลยกลับมาคิดว่าคุณค่าของงานที่เราทำมันอยู่ตรงไหน 

เป็นปมในชีวิตตอนนั้นหรือเปล่า

มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมพัฒนามาเป็นคนแบบในวันนี้มากกว่า ผมกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าอยากให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า อย่างน้อยเราต้องมีสกิลในด้านใดด้านหนึ่งหรือเปล่า เราก็เลยต้องพยายามทำงานหนักเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันมีคุณค่าอยู่

เป็นเคราะห์กรรมของคนที่เกิดมาหน้าตาดีใช่ไหม

เป็นไปได้นะ (ยิ้ม) ตอนเราเริ่มทำเพลงของตัวเองก็เหมือนศิลปินหลายๆ คน เราเห็นวิลล์ สมิธ (Will Smith) ทำเพลงหลังจากเป็นนักแสดงมาก่อน คนรู้จักเขาอยู่แล้ว แต่ถ้ามาทำเพลงจะได้เหรอ คุณอยู่กับการแสดงต่อไปไม่ดีกว่าเหรอ หรือเหมือนกับที่จัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) มาเล่นหนัง คนก็บอกว่าจะดีเหรอ ร้องเพลงดีอยู่แล้ว จะแสดงด้วยเหรอ

ตอนที่ผมเริ่ม คนก็มองว่าคนนี้เหรอจะมาทำเพลง ส่วนมากเขามองว่าเราขายหน้าตาอย่างเดียว อย่างอื่นคงไม่มีอะไรหรอก ตั้งแต่ต้นเลยถ้าเราจะเก่งเท่าคนข้างๆ ยังไงเราก็จะน้อยกว่าเขาอยู่ดี วิธีเดียวคือเราต้องเก่งกว่าคนข้างๆ สองเท่า ให้คนยอมรับว่า ‘โอเค เขาอาจจะรู้เรื่อง อาจจะทำเป็นก็ได้’ เราก็เลยต้องใช้เวลาในการสร้างผลงานต่างๆ ให้ตัวเองยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำก่อน แล้วค่อยดูว่าคนอื่นเขาจะยอมรับเราหรือเปล่า

หน้าตาชื่อเสียงเป็นดาบสองคมเหมือนกันนะ ความดังทำให้คนรู้จักเราง่าย แต่ขณะเดียวกันก็จะเกิดข้อกังขาในความสามารถของเรา

เขาตัดสินอยู่แล้ว แต่การเดินออกมาจากจุดนั้นก็ไม่ยาก เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองมีชื่อเสียงทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรให้คู่ควร คุณค่าของชื่อเสียงเหล่านั้นเลยน้อยมากสำหรับเรา เพราะถ้ามันได้มาง่ายขนาดนั้น มันต้องหายไปง่ายกว่านั้นแน่ๆ หลายคนถามว่าทำไมอยู่ดีๆ วันหนึ่งหายไปเลย แทนที่จะรอให้โอกาสหมดก่อน เรากลับตัดสินใจไปเรียนต่อในจุดที่น่าจะพีกกับอาชีพเราที่สุด คำตอบคือเพราะเราเห็นคุณค่าของมันน้อยกว่าสิ่งที่เราจะได้ไปเรียนรู้และประสบการณ์ที่เราจะได้รับ 

เคยมีจุดไหนในชีวิตที่เสียดายชื่อเสียงในตอนนั้นไหม

มองกลับไปก็คิดว่ามันน่าจะดีแล้วที่เราไปก่อนที่ชื่อเสียงดรอปลงมา มันเป็นเวลาที่แตกต่าง วิธีการมองกับการพัฒนาคาแรกเตอร์ของคนในวงการก็ไม่เหมือนกัน แต่ในช่วงเวลานั้นมันพิเศษในแบบของมันอยู่แล้ว ไม่ถึงกับเสียดาย ผมคิดว่ามันจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นแบบนั้น 

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง
คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

คาแรกเตอร์ของ เจ มณฑล ที่พัฒนามาจากตรงนั้นคืออะไร

หลังจากที่เราได้กลับมาทำงาน เรารู้สึกได้ว่าคนคาดหวังกับเราในหลายๆ รูปแบบ เช่น ผมบอกว่าวันนี้ผมจะเป็นดีเจนะ แฟนละครช่วงแรกๆ ก็งง นี่เขาทำอะไรน่ะ ผลงานเพลงของเราในช่วงแรกก็ขัดกับภาพที่เขาเคยเห็น ผมโตมากับการถ่ายแบบภาพนิ่ง เขาเห็นแต่ภาพ ใสๆ หวานๆ ง่ายๆ เขาก็จะไม่รู้จักว่าบุคลิกท่าทางนิสัยของคนคนนี้เป็นยังไง พอสิ่งที่ได้รับจริงๆ ไม่ตรงกับภาพที่คิดไว้ ทุกคนเขาก็งง ‘อ๋อ เขาเป็นแบบนี้นี่เอง’ มันเลยเกิดการ Rebranding ที่ใช้เวลาสักพักหนึ่ง เราเริ่มแคร์เรื่องอิมเมจที่ควรจะเป็นน้อยลง เริ่มสร้างตัวตนของตัวเองมากขึ้น แฟนเก่าๆ บางคนก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่คนที่เราชอบนะ หลายคนก็บอกว่า โอ้ คนนี้เขาเปลี่ยนไป ซึ่งเราเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว (หัวเราะ) แค่สมัยนั้นไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีหน้าฟีด เขาเห็นแค่ภาพที่ออกไปเท่านั้น

มันเป็นปัญหาของศิลปินดาราที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงเหมือนกันนะ

เราอึดอัด เวลาไปไหนคนจะคาดหวัง อย่างเวลาไปสัมภาษณ์ เขาก็จะคิดไว้ก่อนว่าเราต้องเป็นแบบนี้ บางทีถามอะไรมาก็แปลกๆ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เราตอบไปเขาก็งง

เช่นอะไรบ้าง จะได้ไม่เผลอถาม (หัวเราะ)

ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว อายุสิบสี่สิบห้าคนสัมภาษณ์มีความคาดหวังในคำตอบแล้วในใจ หรือคนอื่นๆ เขาอาจจะตอบแบบนี้ เราไม่ได้ไปศึกษามาก่อนว่าพี่แซม (ยุรนันท์ ภมรมนตรี) เขาพูดอะไร พี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) เขาพูดอะไร หรือมอส (ปฏิภาณ ปฐวีกานต์) เขาพูดอะไร เราไม่ได้สนว่าคนอื่นเขาตอบยังไง คนเขาถามมา เราก็ตอบตามที่เราคิด ภาษาเราอาจจะไม่แข็งแรงด้วยตอนนั้น เขาก็เลยรู้สึกว่าเด็กคนนี้แปลกๆ นะ แต่พอไปนานๆ มันก็อึดอัดที่สิ่งที่เขาคาดหวังกับตัวของเรามันขัดกันมาก เราก็เลยอยากจะหนีอยู่ดี

คุณค่าของความสำเร็จจากการเปลี่ยนมาทำงานเบื้องหลังมันต่างไปมากไหม

พอได้มาทำเบื้องหลัง คนอาจไม่รู้ว่าใครทำ แต่ผลงานที่ออกมาเป็นผลงานของเราแม้จะมีชื่อคนอื่นแปะอยู่ ความพอใจมันเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญกับเรา กับตัวผมเอง ในช่วงต้นผมไม่สนใจเรื่องเครดิตเลย เราพยายามทำเพื่อให้ตัวเองพัฒนา พอทำมาเรื่อยๆ เราก็ค่อยๆ เก็บหลายๆ ส่วน ถึงตอนนี้ที่อยากเอาทุกอย่างมารวบรวมเพื่อทำผลงานของตัวเอง 

การทำอัลบั้มเดี่ยวในวัยเลขสี่ในรอบ 20 กว่าปีด้วยภาษาไทยที่ตัวเองไม่ถนัดเลย มันท้าทายแค่ไหน

ยาก ในขั้นตอนทำเพลงส่วนมากคนที่มาหาผมจะเอาเนื้อร้องกับทำนองมา ที่เหลือเราช่วยเขาได้ ช่วยเรียบเรียง ช่วยอัดเครื่องดนตรีแต่ละอย่าง การอีดิต การมิกซ์ สิ่งที่เราน่าจะอ่อนที่สุดเลยคือการแต่งเนื้อกับทำนอง เพราะเราทำน้อยที่สุด 

ปี 2017 ผมก็เลยตัดสินใจทำงานอย่างอื่นน้อยลงเพื่อเริ่มทำอัลบั้มของตัวเอง เราแต่งแต่ทำนองกับเนื้อร้องทุกวัน ไม่ได้ทำโปรดักชันเลย เพื่อจะดูว่าเราพัฒนาสกิลนี้ได้ไหม พอหมดเรื่องราวที่อยากเล่า เราก็ใช้วิธีดึงคีย์เวิร์ดจากหนังสือพิมพ์มาแต่ง พอถึงสักร้อยห้าสิบเพลงก็เริ่มรู้สึกว่าโอเค มันไม่ห่างจากสกิลอื่นที่เรามีมากแล้ว 

ปกติเวลาคนเอาดราฟต์เพลงมาให้ทำต่อ เขาให้มากี่เพลง

สามสิบเพลงเลือกสิบห้า ไม่ก็ยี่สิบเพลงเลือกสิบ

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

ซึ่งที่บอกว่าต้องทำให้มากกว่าคนอื่นก็ทำไปแค่ 15 เท่าเท่านั้นเอง

อันนี้เป็น Exercise เลย ทำทิ้ง แต่งๆๆๆ แล้วก็มาดู อันนี้โอเค อันนี้เฉยๆ อันนี้ห่วย ก็เริ่มใหม่ เรามีไอเดีย คอนเซปต์ เราดราฟต์เอาต์ไลน์ สตอรี่ไลน์เป็นอย่างนี้นะ แล้วลองหาคำดู จนเริ่มรู้ว่าภาษาไทยมันมีข้อจำกัดเยอะ วรรณยุกต์ต่างๆ จะเข้ากับเมโลดี้ได้ยังไงเพราะเมโลดี้ถูกล็อกเอาไว้แล้ว บางคำยาวก็ไม่ได้ สั้นก็แปลกๆ เราก็ค่อยๆ พัฒนาตรงนี้ไป ทำอีกเพลงหนึ่ง โอเคอันนี้ใช้ได้ แต่โอ้โหสระไอเยอะมากเลย (หัวเราะ) เอาใหม่ ลองใหม่ ลองเทสต์หลายๆ อย่าง เริ่มทำนองก่อน ค่อยมาใส่เนื้อทีหลัง เอ้า ก็ไม่ง่าย เริ่มเนื้อก่อน ก็ยากอีก ตอนนี้ร้องไปไม่มีใครจำอะไรได้เลย (หัวเราะ) เอาใหม่ แต่งพร้อมๆ กันไปเลย เราค่อยๆ เทสต์ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ไปทีละแบบ สุดท้ายวิธีที่คิดว่าดีที่สุดคือทำทำนองมาก่อนแล้วใส่เนื้อ ซึ่งคนทำอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ทุกคนก็บอกว่าต้องทำแบบนี้ เราก็โอเค แต่ก็ลองแบบอื่นก่อนเพื่อจะได้หาวิธีอื่น

อีกสิ่งที่เราเรียนรู้คือคนฟังเพลงฟังทำนองกับเนื้อร้องเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ อีกสิบเปอร์เซ็นต์คือกลองเป็นยังไง กีตาร์เป็นยังไง คนไม่ค่อยสนหรืออาจจะไม่ได้ยินเลย บางทีเราได้ยินเพลงที่มีดนตรีต่ำกว่ามาตรฐานมากๆ แต่ทำนองกับเนื้อฟังชัดง่าย ร้องตามได้ ก็กลายเป็นเพลงที่ดังมาก แปลว่าคนไม่สนเรื่องโปรดักชันเท่าไหร่ อาจจะด้วยฟอร์แมตที่เขาฟังด้วยแหละ เขาฟังผ่านโทรศัพท์ สิ่งที่ได้ยินอย่างเดียวก็คือเสียงร้องกับสแนร์ มีคอร์ดนิดๆ เราเลยอยากทดลองว่าถ้าทำเนื้อกับทำนองให้ง่าย ร้องตามง่ายๆ ทุกเพลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ความรัก สามเส้า ความผิดหวัง และอีกสิบเปอร์เซ็นต์เป็นอะไรที่ซับซ้อนนิดนึง 

มาตรวัดความสำเร็จของอัลบั้มนี้คืออะไร

มันสำเร็จไปตั้งแต่ตอนที่เราทำเสร็จแล้ว สิบสี่เพลงแรกที่ปล่อยออกไปก่อน ถ้าไม่มีใครสนเลยอีกสองเดือนเราก็ปล่อยเพลงใหม่ แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ทดลองว่าความถี่ในการปล่อยเพลงที่ดีที่สุดคือแค่ไหน หนึ่งเดือน สองเดือน จนกว่าจะมีเพลงที่คนฟังแล้วเริ่มจำได้ มันอาจจะไปถึงเพลงที่สองร้อยหรือสามร้อย แต่แม้จะเป็นเพลงที่สามร้อยที่เขาสนใจ เขามองกลับมาก็จะเห็นอีกสองร้อยเก้าสิบเก้าเพลงที่เขากลับไปฟังได้ 

หลายคนบอกว่าอายุขนาดนี้แล้วควรจะทำเบื้องหลังไปเรื่อยๆ แหละ แต่มันไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เราทำมาตลอดเลยนะ มันแค่เปิดประตูอีกประตูเดียว 

เฟิด Slot Machine นิยามคุณว่าเป็น ‘นักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บดนตรี’

ใช่ๆ (หัวเราะ) ห้องเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พร้อมกับการดีไซน์ชีวิตตัวเอง เมื่อก่อนนี้เป็นห้องนอน ตรงนี้ (สตูดิโอ) เป็นเฉลียง ตรงเปียโนเคยเป็นมุมที่เราใช้ทำงานเพลงเล็กๆ มีทีวี มีเตียงควีนไซส์ พอทำงานมาเรื่อยๆ ทุกอย่างก็ค่อยๆ หายไป ทีวีหายไปก่อน จากเตียงควีนไซส์ตรงกลางห้องก็กลายเป็นเตียงเดี่ยวที่มุมห้อง มีต่อเติมเฉลียงให้เป็นห้องสตูดิโอ ทุกอย่างก็โดนย้ายไปเรื่อยๆ พร้อมกับส่วนทำงานที่ขยายไปเรื่อยๆ 

เหมือนการเปลี่ยนแปลงของห้องนี้บ่งบอกความสำคัญในชีวิตคุณที่เปลี่ยนไปยังไงยังงั้น

ความสำคัญมันไม่ได้เปลี่ยนไป เรารู้อยู่แล้วว่าอะไรสำคัญ แต่เราค่อยปรับไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้เข้ากับตรงนั้นมากกว่า

สตูดิโอนี้ผมค่อยๆ เก็บของมาตั้งแต่อายุสิบเก้าถึงยี่สิบ ค่อยๆ สะสม ทางอีเบย์ ซื้อมือสอง จาก Craigslist ค่อยๆ ดูมาเรื่อยๆ แล้วผมเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งสองอย่างนี้ค่าใช้จ่ายมันสูง เราเอาตรงนั้นมาลงทุนกับอุปกรณ์ดนตรีดีกว่า ตั้งแต่ตอนนั้นก็ค่อยสร้างมา พอถึงจุดนี้เลยได้รู้ว่ามันเป็นเส้นทางที่เราตั้งใจมาแต่แรกแล้ว การที่เราวางรางเอาไว้มาตั้งนานแล้วแบบนั้น มันเลยไม่ง่ายที่จะเดินออกมา

แม้แต่จะเป็นคุณเองที่ดังมากมาก่อน แล้วก็เคยทำงานในวงการดนตรีมาเกือบ 20 ปี มาถึงวันนี้ที่กำลังจะออกอัลบั้มใหม่ ยังรู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่ไหม

แน่นอน ด้วยภาพรวมของวงการดนตรีตอนนี้ คนทำกันเยอะ คนเก่งก็เยอะ สิ่งที่จะขับเคลื่อนผลงานชิ้นหนึ่งให้ไปถึงคนมากกว่าอีกชิ้นหนึ่ง เราทำงานมายี่สิบปีแล้วยังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร เพลงนี้ดีกว่าอีกเพลงเหรอ คนฟังแล้วชอบมากกว่าเพราะอะไร เราเห็นบางโปรเจกต์มีงบเยอะในการโปรโมต ทุ่มเงินเยอะมาก ปล่อยออกไปกลับไม่มีใครสนเลย เราอยู่ในวงการที่มีโอกาสแต่ต้องทดลองเอาเอง ซึ่งตื่นเต้น น่าสนใจ เราเป็นคนไม่ชอบวิ่งตามใครอยู่แล้ว 

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

แต่การที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนมันมีสองด้าน หนึ่ง ไม่เคยมีใครคิดได้ กับ สอง มีคนคิดได้แต่ลองแล้วมันไม่เวิร์ก

ถูกต้อง แต่ชอบเสี่ยงนะ เพราะถ้าเราเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ในประสบการณ์ที่มี วิเคราะห์ว่ามันมีโอกาสไหม มีสิทธิ์หรือเปล่า อย่างน้อยถ้ามันไม่เวิร์ก ก็ยังเป็นสิ่งที่เราเชื่อ อย่าง Slot Machine ที่เราทำสุดท้ายมันก็ดีมาก เราว่าการที่เราเลือกไม่ตามกระแสมันเป็นข้อได้เปรียบของเรา

คุณเป็นมังสวิรัติตั้งแต่อายุ 16 ปี ถามใครใครก็จะบอกว่า ‘พี่เจเหรอ คลีนมาก’ มีเรื่องอื่นๆ ที่เราไม่รู้อีกไหม

ไม่มีนะ ก็พยายามนอนให้พอ สี่ทุ่มก็นอนแล้ว ชีวิตไลฟ์สไตล์ที่เลือกก็ไม่เครียด กินอาหารดีๆ เล่นโยคะ ซึ่งทุกคนก็รู้อยู่แล้ว แต่เดือนนี้ผมกินแต่เนื้อทุกมื้อเป็นเวลาหนึ่งเดือนในรอบยี่สิบห้าปี มีแค่เนื้อวัว เกลือ กับน้ำเปล่า 

ปีที่แล้วผมมีรู้สึกเพลีย ทั้งๆ ที่นอนก็พอนะ เราเลยหาดูว่าอาหารเกี่ยวหรือเปล่า เราเริ่มกินอาหารที่วนเยอะเกินไปหรือเปล่า พบว่าธรรมดาคนที่กินมังสวิรัติไปนานๆ ต้องกลับมากินเนื้อสัตว์เป็นช่วงๆ เพราะร่างกายต้องเติมเต็มสิ่งที่ขาด เป็นกลไกทางร่างกายบางอย่าง ทำให้ร่างกายกลับมาหัดย่อยเอนไซม์ต่างๆ ด้วย 

จริงๆ ปกติเขาจะกินกันเดือนมกราคม แต่เราเตรียมไม่ทัน ก็เลยมาเริ่มกุมภาฯ แล้วกุมภาฯ มันมีแค่ยี่สิบแปดวันเอง (หัวเราะ)

แต่ปีนี้มี 29 วัน…

นั่นแหละ เหลืออีกห้าวัน (หัวเราะ)

ทำไมเด็กอายุ 16 คนหนึ่งถึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ตอนนั้นมีสองเหตุผล หนึ่ง ครูโยคะแนะนำ สอง ผมเคยไปทริปเดินป่า แล้วมันมี Trek หนึ่งที่ยาวยี่สิบเอ็ดวัน คนที่เป็นผู้นำเขาบอกก่อนออกลองไม่กินเนื้อสัตว์ดู ร่างกายจะดีขึ้น เราก็เลยลอง พอกลับออกมาก็รู้สึกดี เลยค่อยๆ ตัดเนื้อสัตว์ออกแล้วก็ยาวเลย 

ส่วนเหล้ากับบุหรี่ สมัยเป็นดีเจก็มีบุหรี่มือสองเยอะมากอยู่แล้ว เหล้านี่ดื่มอยู่ช่วงหนึ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัย พอถึงอายุที่ไปซื้อเองได้ก็เลิกดื่มแล้ว ตอนผิดกฎหมายดื่ม พอถูกกฎหมายเลิกเลย (หัวเราะ)

คุณเคยบอกว่าไม่ค่อยสนใจเรื่องเสื้อผ้า ถ้าซื้อใหม่ต้องโละของเก่าออกไป

มันอยู่ในรางเป้าหมายที่เราพูดถึง เราพยายามจำกัดการตัดสินใจที่ไม่เกี่ยวกับงานให้มากที่สุด แทนที่จะต้องมาคิดว่าเดี๋ยวจะใส่อะไร เราก็ตัดตรงนั้นทิ้งไปเลย ตอนแรกพยายามลิมิตการตัดสินใจเกี่ยวกับอาหาร โดยการสร้างเมนูที่คิดว่าครบ แต่พอกินไปนานๆ มันยังครบไม่พอ ก็เลิกไป แล้วก็มาเสื้อผ้า ซึ่งเราถือว่าเป็นส่วนที่เล็กมากในชีวิตของเรา นอกจากนั้นก็เป็นในชีวิตประจำวันทั่วไป โทรศัพท์เราแปดสิบเปอร์เซ็นต์น่าจะอยู่ใน Silent Mode เราเลือกได้ว่าจะติดต่อใครเมื่อไหร่ แต่เขาเลือกไม่ได้ว่าจะติดต่อเราเมื่อไหร่ เราจะได้ไม่ต้องคิดถึงตรงนั้นมาก ทีวีไม่ดู หนังเรื่องล่าสุดที่ดูคือบนเครื่องบินตอนไปไต้หวัน 

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

งานสำคัญกับคุณขนาดไหนถึงวางให้เป็นศูนย์กลางของชีวิต

สำหรับผม งานมันสนุกกว่าอย่างอื่น นั่นคือปัญหาของการทำงานแบบนี้ คนจะไม่ค่อยเข้าใจ เราก็เลยพยายามทำอย่างอื่นบ้าง แต่สิ่งที่สนุกที่สุดอยู่ตรงนี้

เรามีเพื่อนที่อายุน้อยกว่าชอบเดินทางไปโน่นไปนี่ ผมก็ชอบนะ ส่วนตัวก็ได้เดินทางมาบ้าง แต่มันมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างที่เราทำงานอยู่ตรงนี้ที่เดินทางไปได้ไกลกว่าคนที่เดินทางไปจริงๆ ด้วยซ้ำ มันเป็นความรู้สึกที่ไม่มีมาก่อน นั่งอยู่ตรงนี้เราไปได้ไกล เราไปได้หลายที่เลย เหมือนเราฝันแล้วบังคับตัวเองได้ ซึ่งมันก็มีความเซอร์ไพรส์บางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ เป็น Happy Accident เหมือนเวลาเดินทางแหละ วันนี้มาถึงแล้วรถไฟออกไปแล้ว ต้องแก้ปัญหา ต้องตัดสินใจ ตรงนี้มันสนุกกว่าเดินทางนะ แต่ถ้าไม่เคยเดินทางมาก่อน มันจะรู้สึกแบบนี้เหมือนกันหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ 

เราทำงานมาทั้งวันพอกลับบ้านมาก็ทำต่อ คนเขาก็งงว่าทำไม แล้วเสาร์อาทิตย์ทำไหม เราก็ยังอยากทำ คนทั่วไปทำเสร็จก็อยากไปทำอย่างอื่น อยากไปอยู่กับเพื่อน อยากไปดื่มเหล้า อยากดูทีวี ไปดูหนัง เทรนด์ที่เราเห็นคือคนอยากจะหลบหนีตลอด อยากหนีชีวิต ณ ปัจจุบัน ด้วยการทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับงานเลย จะดื่มเหล้าก็ดี นั่งสมาธิก็เหมือนกัน คนไหนชอบฟังเพลงก็ไปคอนเสิร์ต กีฬาก็เป็นแบบนั้น ยาเสพติดก็เหมือนกัน มันทำให้เราได้พักอยู่แป๊บหนึ่ง แต่งานของเราคือสิ่งที่เราไม่ต้องหนี หลังจากที่ทำมาทั้งวันเราเลยทำงานต่อได้ 

แล้วที่หลบหนีของคุณคืออะไร

ไม่มี เราไม่ได้อยากหนีจากตรงนี้ โดยรวมแล้วชีวิตเราเหมือนไม่มีการทำงาน เราเลยทำได้ตลอด ซึ่งก็ยาก คนใกล้ตัวก็จะ ‘แหม ทำอยู่เรื่อยๆ เลยนะ ไม่ทำอย่างอื่นบ้างเหรอ’ 

บาลานซ์ชีวิตคุณเลยจะไม่เหมือนคนอื่นเขา

ใช่ ถ้ามาดูบาลานซ์ของเรามันไม่บาลานซ์สำหรับคนอื่น หนักมาเรื่องงาน ซึ่งเราโชคดีที่ค้นพบสิ่งนี้ตอนอายุยังน้อย มีน้องที่รู้จักคนหนึ่งมาถามเราอยู่ว่า ชอบวงการดนตรีนะ แต่ไม่อยากเป็นศิลปิน ไม่อยากทำงานเกี่ยวกับโปรดักชัน เห็นเพื่อนๆ ไปทำด้านการเงินหรืออสังหาริมทรัพย์เลยคิดว่าจะตามเขา เราเลยบอกว่าทำไมอยากตามเขา ทำไมไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าชอบ เขาบอกมันน่ากลัว มันไม่มั่นคง มันเดาไม่ถูก เราก็ให้คำแนะนำไป แค่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร มันก็เข้าเกณฑ์หนึ่งแล้ว ส่วนมากหลายคนพอทำสิ่งที่ไม่ชอบไปนานๆ ผ่านไปยี่สิบปี เดี๋ยวก็ต้องกลับมาตรงนี้อยู่ดี แล้วก็จะบอกกับตัวเองว่า ‘รู้งี้ทำแบบนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว’ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข (หัวเราะ) บางคนที่ยังไม่เจอก็ต้องทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ชอบ หรือยอมทำสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อรอวันเสาร์อาทิตย์จะได้ทำในสิ่งที่ชอบ แล้วแต่การออกแบบชีวิตเขา

วิธีการทำงานของคนที่ทำงานตลอดเวลาเป็นยังไง

เราจะมี Night Session กับ Day Session ถ้า Night Session เราลองได้ เทสต์นี่ เทสต์โน่น ตั้งค่า ลองซอฟต์แวร์ใหม่ ลองเครื่องดนตรี ทำนี่ทำโน่น ส่วน Day Session ควรโฟกัสอย่างเดียวคือแต่งเพลงให้เร็วที่สุด ทำโดยที่ไม่หยุด เขาเรียกว่า Flow State แบบนักกีฬา เราพยายามอยู่ใน Flow State ให้นานที่สุด ทุกคนพยายามหา Flow State อย่างนักเทนนิสเขาจะเห็นแต่ลูกบอล สมองเขาคิดแต่เรื่องนี้ ปัญหาอื่นๆ ในชีวิตหายไปหมดเลย พอเราทำเพลงแล้วเราอยู่ใน Flow State ก็เหมือนกัน เวลาจะหายไปเลย มองขึ้นมาอีกทีผ่านไปหกชั่วโมงแล้ว ตอนที่เราอยู่ใน Day Session คือเราอยู่ใน Flow State ให้มากที่สุด ทำไปจนไม่ได้คิดถึงว่าใช้กีตาร์ตัวไหน อย่างเมื่อวานนี้ผมเพิ่งรู้ว่าเพลงหนึ่งที่ผมทำอยู่ ผมชอบเทคแรกที่สุด ซึ่งเป็นเทคที่นั่งอัดตรงนี้แล้วก็มีเสียงบ้านข้างๆ เคาะเหล็กอะไรไม่รู้ปังๆๆ เราอัดอีกสองสามเวอร์ชันที่เสียงดีกว่าแต่ความรู้สึกมันไม่ได้

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง
คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

Flow State ที่ว่าต้องอาศัยการฝึกฝนถึงจะเจอไหม

มันต้องฝึกฝนให้เข้าไปอยู่ได้บ่อยๆ อย่างบางทีเราถามศิลปินว่าเพลงนั้นมายังไง เขาจะตอบว่าไม่รู้ แต่งๆ ไปมันก็ออกมาเอง บางคนนานๆ ทีถึงจะเข้าไปได้ ต้องรอแรงบันดาลใจ รอฟีล ถึงทำงานได้ ถ้าเรารอตลอด มัวแต่รอๆๆ ก็ลำบาก แต่ถ้าทำทุกวัน Flow State ที่โผล่มาจะบ่อยขึ้น เราต้องบังคับตัวเอง อย่าไปคิดถึงแรงบันดาลใจ แรงบันดาลใจสักพักนึงเดี๋ยวมันก็เจอ

แสดงว่าเชื่อในวินัยมากกว่า

โอ้ แน่นอน ที่เราทำสิ่งนี้มาได้ถึงตอนนี้ เพราะเราเอาชนะมันด้วยวิธีนี้

หลงใหลอะไรในดนตรี ถึงได้ทำยาวมาถึงทุกวันนี้

มันเป็นความรู้สึกเลยแหละ การที่เราสร้าง เราได้ยินอะไรในหัว เราอธิบายไม่ถูก หลายๆ ครั้งเราก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งทำสิ่งนี้ไม่ได้ เราจะทำอะไรต่อ แต่นิสัยเราคือถ้าเลือกแล้วก็ทำจริงๆ อย่างเลิกกินเนื้อสัตว์ เราก็เลิกมายี่สิบห้าปีแล้ว 

อีกอย่างการทำดนตรีมันมีหลายขั้นตอน มันไม่เบื่อ มีความท้าทายให้ตัวเองตลอด แค่นับเครื่องดนตรีก็เยอะแล้ว วันนี้ไม่อยากเล่นอันนั้นก็มาเล่นอันนี้ ไม่อยากเล่นอันนี้ก็ไปเล่นโน่น เล่นโน่นไม่เอาก็ไปอันอื่น แค่นั้นเวลาในวันหนึ่งก็ไม่พอแล้ว นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการแต่งเพลง การเล่าเรื่อง มันได้ผสมความรู้สึกต่างๆ เหมือนเป็นไดอารี่ แต่ก่อนซาวนด์ที่เราชอบสำคัญที่สุด เราเพิ่งมารู้สึกว่าเรื่องราวเริ่มมีความหมายกับเรามากขึ้นก็ตอนนี้

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

ด้วยอายุที่มากขึ้นหรือเปล่า

ด้วยครับ คนอายุยี่สิบแต่งเพลงเขาจะเล่าเรื่องอะไร ผมก็เป็นแบบนั้น มันไม่มีอะไรจะพูด พออายุมากขึ้นก็มีอะไรที่อยากจะพูดในวิธีของเรา

ปกติเวลาดูสัมภาษณ์คุณ คนมักจะถามอยู่ 2 เรื่อง คือเรื่องงานกับจะแต่งงานเมื่อไหร่

ใช่ (ยิ้ม) ตอนนี้ก็ยังคิดเหมือนเดิม การที่เราจะก้าวไปถึงการแต่งงาน เราต้องผูกมัดและมีเวลาให้กับตรงนั้น ซึ่งในแพลนที่เรามียังไม่มีช่องว่างให้กับมัน หลายคนก็บอกว่าอายุเริ่มเยอะแล้วนะ ไม่เหงาเหรอ ซึ่งความอดทนต่อความเหงาของเรามีมากกว่าคนอื่น ต้องรอดู แต่ก็จะได้ยินอีกความเห็นจากเพื่อนบางคนที่เขาแต่งงานแล้ว

บอกว่า…

‘อย่าแต่ง’ (เราอ่านปากเขา) 

คนชอบถามว่าในอีกสิบปีเรามองตัวเองว่ายังไง อายุห้าสิบจะทำอะไรอยู่ เราก็น่าจะทำอย่างนี้อยู่แหละ จะมากกว่านี้ไหม อันนี้เราไม่รู้ ต้องรอดู ต้องลอง เราพยายามไม่คิดมากและอยู่กับปัจจุบัน บางอย่างก็คิดเยอะ บางอย่างก็ไม่คิดเลย

จะสรุปแบบนี้ได้ไหมว่าชีวิตของ เจ-มณฑล จิรา คือชีวิตที่ยังทดลองอยู่

ยังไปเรื่อยๆ ครับ ยังทดลองไปเรื่อยๆ ในทุกๆ ด้าน

คุยกับ เจ-มณฑล จิรา ในวัย 41 เรื่องอัลบั้มเดี่ยวในรอบ 20 ปี กับชีวิตที่ยังไม่หยุดทดลอง

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล