28 กุมภาพันธ์ 2023
10 K

โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย คือหนึ่งในโรงเรียนเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนในเครือเซนต์คาเบรียล เครือเดียวกับ โรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ก่อตั้งโดยคณะภราดาเซนต์คาเบรียล มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงจบจากโรงเรียนนี้ ทั้งศิลปิน นักการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้า และอีกหลากหลายอาชีพ

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

โรงเรียนแห่งนี้เปิดเรียนวันแรก เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) และกำลังจะก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 91 จากรหัสประจำตัวนักเรียนที่มีเพียงเลขหลักเดียว ใกล้แตะ 40,000 ในปัจจุบัน ตัวเลขบอกจำนวนนักเรียนและจำนวนความทรงจำตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องเป็นความทรงจำของแต่ละรุ่น บ้างถูกส่งต่อมายังรุ่นน้อง บ้างเป็นกิตติศัพท์ที่ทำให้ผู้คนรู้จักโรงเรียนแห่งนี้มากขึ้น และบ้างมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

จากความสนใจประวัติศาสตร์ และในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า ทำให้ผู้เขียนกลับไปค้นเรื่องราวในอดีต พบว่าหลายเรื่องราวเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อเติมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของโรงเรียนกับจังหวัดเชียงใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการค้นข้อมูลจากเอกสาร สิ่งพิมพ์ ภาพถ่ายในอดีต การสัมภาษณ์บุคคลหลายท่านที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น จนถึงทายาทของบุคคลในเอกสารที่พบเจอ มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่ไม่ควรเป็นแค่เรื่องเล่าในวงเฉพาะ และน่านำมาเผยแพร่ก่อนถูกลืมเลือนตามกาลเวลา จึงนำมาสู่ ‘9 เรื่องเล่าตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย’

จากชื่อเสียงของโรงเรียนอัสสัมชัญ ทำให้กลุ่มคหบดี พ่อค้า ข้าราชการ ของภาคเหนือส่งลูกหลานไปเรียนเป็นจำนวนมาก หลังจากนักเรียนจบออกมา ก็เกิดความคิดร่วมกันว่า ควรขยายสาขาโรงเรียนและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กในภาคเหนือ คณะภราดาเซนต์คาเบรียลจึงเชิญ ภราดาไมเคิล และ ภราดา ฟ. ฮีแลร์ จากโรงเรียนอัสสัมชัญ มาเปิดโรงเรียนที่มณฑลพายัพ ตามความต้องการของศิษย์เก่าอัสสัมชัญ

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ช่วงปิดภาคการศึกษา คณะภราดาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ประกอบด้วย ภราดาไมเคิล ภราดาฮีแลร์ คุณพ่อเปรุศ พร้อมด้วย อัสสัมชนิกฝ่ายเหนือ เดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ มาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อค้นหาสถานที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ เมื่อเดินทางมาถึง มีอัสสัมชนิกชาวเหนือมารอต้อนรับและนำรถยนต์มารับพาคณะภราดาไปดูสถานที่ต่าง ๆ มีการประชุมเตรียมความพร้อมในการสร้างโรงเรียนแห่งใหม่บริเวณสำนักคุณพ่อมิราแบล กระทั่งตัดสินใจติดต่อซื้อที่ดินสวนลำไย 2 แปลง ของ หลวงอนุสารสุนทร และซื้อเพิ่มจาก นายวาเนสกี้

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ศิษย์เก่าอัสสัมชัญส่งคณะภราดาขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟจังหวัดลำปาง พ.ศ. 2474

“นี่คือวิทยาลัยมงฟอร์ตแห่งเชียงใหม่ในอนาคต เธอลองคิดดูสิว่า ตรงไหนควรเป็นสนามฟุตบอล ตึกเรียน โรงครัว นับแต่วันนี้ไป เธอไม่ต้องสอนที่โรงเรียนแห่งนี้อีก แต่จงศึกษาภาษาไทยให้จงหนัก เราตั้งใจจะส่งเธอไปเปิดโรงเรียนที่เชียงใหม่ ฉันรู้ดีว่าเธอเหนื่อยมามาก แต่เชียงใหม่เป็นเมืองสงบ อากาศดี เธอจะได้อยู่ในที่โล่ง ฉันเข้าใจว่าที่นั่นไม่มีงานมากนัก ระยะแรก ๆ เพียงแต่เปิดสอนชั้นเล็ก ๆ ก่อน เมื่องานค่อนข้างดีขึ้น เราจะจัดหาคนไปช่วย”

คำพูดของ ภราดามาร์ติน เดอ ตูรส์ อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวกับ ภราดาซิเมออน ริโคล อธิการคนแรกของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย 4 เดือนหลังจากการมาดูสถานที่ตั้งโรงเรียนของคณะภราดาเซนต์คาเบรียล 

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 ภราดาซิเมออน เดอ ริโคล เดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเชียงใหม่โดยรถไฟ มีของติดตัวแค่หนังสือ 2 – 3 เล่ม สมุดบันทึกรายชื่อนักเรียน และกระดานดำ 3 แผ่น เพื่อใช้สำหรับการเริ่มเปิดสอนนักเรียน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ใช้เรือนไม้ข้างวัดพระหฤทัยเป็นสถานที่สอนชั่วคราวระหว่างรอการก่อสร้างโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โดยมีนักเรียนรุ่นแรกจำนวนทั้งหมด 60 คน

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ประกาศเชิญชวนสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

มงฟอร์ตวิทยาลัยที่กำลังก่อสร้างมี ภราดายอห์น หลุยส์ เป็นผู้คุมงาน ใช้กรวดและทรายจากแม่น้ำปิง ซีเมนต์ ไม้สัก ซื้อจากตัวเมือง เหล็กสั่งจากกรุงเทพฯ ส่วนอิฐได้จาก นายคัยสุย นิมฮันหมิน (อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์) ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ บริจาคอิฐให้ 600 แผ่น

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ประมุขมิสซังสยาม ในฐานะผู้จัดการโรงเรียนส่งเอกสารรายงานต่อเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ถึงความจำนงในการตั้งโรงเรียนบนที่วัดโรมันคาทอลิก ตำบลช้างคลาน เนื้อที่ 17 ไร่ ประกอบด้วย บ้านพัก 1 หลัง อาคารเรียน 2 ชั้น ชั้นละ 5 ห้อง 1 หลัง โรงเล่นและสนามฟุตบอล โรงเรียนนี้มีชื่อว่า มงฟอร์ตวิทยาลัย ให้การศึกษาแก่นักเรียนชาย 2 ประเภท คือ เช้ามาเรียน-เย็นกลับ และโรงเรียนประจำ

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
พระสังฆราชแปร์รอสถ่ายภาพกับนักเรียนโรงเรียนมงฟอร์ต เรยีนาเชลี พระหฤทัย จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2475

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จึงจัดพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ มี พระอัครสังฆราชเดร์เยร์ พระสมณทูต ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยามและอินโดจีน กล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาฝรั่งเศส พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส แปลสุนทรพจน์เป็นภาษาไทย และโรงเรียนถาวรแห่งใหม่ทำการสอนในวันที่ 9 มกราคม ปีเดียวกัน (ในอดีตนับวันปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน) เปิดรับบุคลากรมาเป็นครู มีคณะครูชุดแรก 5 คน ประกอบด้วยศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ 3 คน และ ภราดา คือ ภราดาซิเมออน เดอ ริโคล, ภราดาแอมบรอซิโอ มาเรียอา, นายซุ่นเฮา ชัวเสงเฮง, นายตันยงค์ ประดิษฐศิลป และ นายเองจ๋วน สุขพานิชย์ (ศ.ขจร สุขพานิชย์) ครูชุดแรกของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย มีนักเรียน 103 คน นักเรียนหมายเลข 1 คือ เด็กชายกำลูน ปิยะเกศิน บุตรของ ขุนสมานเวชกิจ (นายแพทย์กำลูน ปิยะเกศิน อดีตเลขาธิการแพทยสภา)

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
 เด็กชายกำลูน ปิยะเกศิน จากคอลัมน์ข่าวประฏิทินบัตร์ หนังสือ อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย

ใน พ.ศ. 2477 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการจัดทำรัฐธรรมนูญจำลองขึ้นจำนวน 70 ชุด สำหรับแจกจ่ายตามจังหวัดต่าง ๆ และ 1 ชุดสำหรับประดิษฐานที่สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ พระราชอุทยานสราญรมย์ มีพิธีส่งมอบพานรัฐธรรมนูญจำลองแก่ผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2477 มี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นประธานในพิธี มี พระพินิจธนากร (บุญเพ็ง ยุกตะนันทน์) และ หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ รับมอบพานรัฐธรรมนูญจำลองนำมาประดิษฐานที่จังหวัดเชียงใหม่

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

มาสเตอร์ปราการ เปรมานนท์ ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ อดีตอาจารย์โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เขียนบันทึกความทรงจำผ่านบทความ เรื่องสั้นแดง-ขาว ลงใน หนังสืออนุสรณ์ฉลอง 20 ปีมงฟอร์ตวิทยาลัย เล่าถึงเหตุการณ์ที่ภราดาซิเมออน อธิการคนแรกของโรงเรียนได้รับหนังสือเชิญจาก พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้น ว่าหลวงศรีประกาศจะนำรัฐธรรมนูญจำลองมาประดิษฐานยังศาลากลางจังหวัด เชิญชวนชาวเชียงใหม่ออกมาต้อนรับ และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยจะเป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับครั้งนี้ ภราดาซิเมออนวางแผนการเข้าร่วมการต้อนรับรัฐธรรมนูญจำลองอย่างกะทันหัน ฝึกซ้อมวงแตรวงหรือวงโยธวาทิตอย่างเร่งด่วน ซ้อมเพลงใหม่สำหรับงานนี้โดยเฉพาะคือเพลง สดุดีรัฐธรรมนูญ 

ส่วนการแต่งกายนั้น นักเรียนวงโยธวาทิตสวมหมวกสีแดง-ขาว ส่วนนักเรียนเดินพาเหรดสวมหมวกสีเขียว ต่อมาหมวกสีแดง-ขาวโดดเด่นจนทำให้นักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในวงโยธวาทิตอยากใส่ตาม ภายหลังจึงเปลี่ยนหมวกสีเขียวของนักเรียนในขบวนมาเป็นแดง-ขาวเหมือนอย่างวงโยธวาทิต และมีการประดิษฐ์รัฐธรรมนูญจำลองของโรงเรียนเองสำหรับเข้าร่วมขบวนแห่ เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ ได้ขอยืมรถยนต์จาก พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ อดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย มาให้โรงเรียนใช้ประกอบขบวน

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ขบวนรัฐธรรมนูญจำลองที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) อุ้มประคองรัฐธรรมนูญจำลอง 

วันที่รัฐธรรมนูญจำลองเดินทางมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ด้วยขบวนรถไฟ หลวงศรีประกาศอุ้มพานลงจากรถไฟ วงโยธวาทิตบรรเลง เพลงชาติไทย ต่อด้วยคณะนักเรียนร้องเพลง สดุดีรัฐธรรมนูญ พระยาอนุบาลพายัพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เปล่งเสียง “ไชโย” ต้อนรับรัฐธรรมนูญจำลอง 

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
การเชิญรัฐธรรมนูญจำลองขึ้นสู่เสลี่ยงบนหลังช้าง

จากนั้น หลวงศรีประกาศเชิญรัฐธรรมนูญจำลองขึ้นสู่เสลี่ยงบนหลังช้าง วงโยธวาทิตมงฟอร์ตนั่งล้อมรัฐธรรมนูญจำลองที่โรงเรียนประดิษฐ์ขึ้นบนรถยนต์สีแดงที่ยืมมา ส่วนชุดของวงโยธวาทิตยังคงสีแดง-ขาวและมีการนำสีแดงมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายอื่น ๆ เช่น ชุดพละของโรงเรียน 

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากโรงเรียนเริ่มมีชื่อเสียง มีนักเรียนใหม่เข้ามาจำนวนมาก เช่นเดียวกับจำนวนของบุคลากร สถานที่เดิมของโรงเรียนบริเวณริมน้ำปิงไม่เพียงพอ จึงเกิดโครงการที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ (โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยม) ได้ อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิษย์เก่ารุ่นที่ 3 ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมร่วมสมัย มาเป็นผู้ดูแลการออกแบบ

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

โจทย์ของทางโรงเรียนที่อาจารย์จุลทัศน์ได้รับคือ ทุกอย่างต้องเสร็จภายใน 1 ปี! ต้องรองรับนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งอาจารย์ทำสำเร็จ ส่วนหนึ่งได้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีความสามารถ โดยมีอาคารเรียน 4 หลัง (ต่อมาเป็น 6 หลัง) โรงอาหาร หอประชุมใหญ่ ห้องสมุด อาคารอำนวยการ และห้องสุขา 

ศิลปินแห่งชาติในวัย 78 ปี เล่าให้ฟังถึงไอเดียการออกแบบโรงเรียนของเขาว่า

“เมื่อตอนที่ผมยังเด็ก วันหยุดของมงฟอร์ตวิทยาลัยไม่เหมือนกับที่อื่น เรามีวันหยุดทุกวันพฤหัสกับวันอาทิตย์ ผมชอบเล่นบาสมาก บ้านเรามีสนามบาสเกตบอลอยู่ ในวันหยุดเพื่อน ๆ ก็จะมาเล่นกันที่บ้านผม เพราะตอนนั้นโรงเรียนยังไม่มีสนามบาสหรือลานเล่น ด้วยพื้นที่ที่มีจำกัด

“พอได้รับมอบหมายให้ออกแบบโรงเรียนใหม่ ผมเลยย้อนกลับไปนึกถึงตอนตัวเองเป็นเด็ก เอาความเป็นเด็กของผมมาคิดว่า ในตอนนั้นโรงเรียนของเราขาดอะไร และเด็กต้องการสิ่งใด”

9 เรื่องเล่า (จากศิษย์เก่า) ตลอด 90 ปี ของมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
แผนที่อาคารเรียนและบ้านพักโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยยุคแรก
ภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

จากทุ่งนาโล่ง ๆ ริมถนนมหิดล ภาพของอาคารที่ร่างด้วยดินสอบนกระดาษปรากฏขึ้นเป็นอาคารจริง ๆ อ.จุลทัศน์ จำกัดความสถาปัตยกรรมของเขาว่าเป็นแนว Modern Tropical Architecture ใช้รูปทรงเรขาคณิตมาประยุกต์กับการออกแบบ การวางผังเกิดขึ้นจากการย้อนคิดไปถึงวัยเด็กว่าต้องการอะไรบ้างในโรงเรียน หนึ่งในนั้นคือพื้นที่โล่งที่เด็ก ๆ จะวิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมกันได้จำนวนมาก

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารของโรงเรียนมีพื้นที่ใต้ถุนโล่ง ๆ ไว้สำหรับทำกิจกรรม อากาศถ่ายเทไม่ร้อน ทุกอาคารมีทางเชื่อมถึงกันหมด และต้องมีพื้นที่สีเขียว จนเกิดเป็นส่วนพื้นที่สวนกลางอาคารและตามพื้นที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน ซึ่งสวนและต้นไม้ทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างดีจากบราเดอร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก๊ง นักบวชผู้อุทิศตนรับใช้พระเจ้าจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ซึ่งศิษย์เก่าของโรงเรียนต่างรู้ดีว่า ไม่ควรจะเดินเข้าไปเหยียบหญ้าในสวนหากไม่อยากโดนบราเดอร์อังเดรดุ

เมื่อโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยสร้างเสร็จได้ไม่นาน สภาพอากาศที่ดีของจังหวัดเชียงใหม่และภูมิประเทศที่สลับด้วยภูเขาสูงหลายลูก ป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร ความสวยงามทางธรรมชาติ ทำให้ภราดาซิเมออน อธิการโรงเรียนมีความคิดที่อยากจะมีบ้านพักบนดอยสุเทพ เมื่อความคิดนี้ทราบถึงพระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น จึงจัดสรรที่ดินแปลงหนึ่งบนดอยสุเทพ เพื่อสร้างบ้านพัก 

ทั้งหมดใช้เวลา 3 เดือน บ้านพักบนดอยสุเทพก็เป็นรูปเป็นร่าง ทำสวนกุหลาบไว้ด้านหน้า สร้างเขื่อนกั้นน้ำที่ไหลลงมาจากลำห้วย ภราดาซิเมออนเล่าถึงบ้านพักบนดอยสุเทพแห่งนี้ว่า 

“ครั้งหนึ่ง มีเพื่อนทหารเรือชาวกรุงเทพฯ ให้กล้องส่องทางไกลของทหารเรือมา แต่ไม่มีขาตั้งกล้อง จึงประดิษฐ์ขาตั้งกล้องเอง ใช้ส่องมองผู้คนในเมืองจากยอดเขาในเวลากลางคืน มีการใช้รหัสมอร์สเป็นสัญญาณไฟ ส่งข่าวจากในเมืองขึ้นมาบนยอดเขา บางทีตอบกลับไปเล่าเรื่องของเรา บางทีก็สั่งอาหารขึ้นมาทานข้างบน และในยุคนั้น การล่าสัตว์ยังเป็นกิจกรรมที่ไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงยังไม่มี พรบ.คุ้มครองสัตว์ป่าสงวนหรือคุ้มครองสัตว์ป่า กิจกรรมหนึ่งที่นิยมของการมาพักบนดอยสุเทพ คือการล่าสัตว์ในเวลากลางคืน จึงเกิดเรื่องเล่าที่ว่า เข้านอนแล้วต้องผวาเสือที่จะมากินเป็ดที่เลี้ยงไว้”

ปัจจุบันบ้านพักบนดอยหลังนี้กลายเป็นสถานปฏิบัติธรรม บ้านเข้าเงียบเซนต์หลุยส์ธรรมสถาน ดอยสุเทพ โดยการเข้าเงียบคือกิจกรรมอย่างหนึ่งของคริสต์ศาสนา มีที่มาจากหลายเรื่องเล่าในพระวารสาร เช่น เรื่องพระเยซูคริสต์เจ้าปลีกตัวอธิษฐานคนเดียวในที่เปลี่ยวเป็นเวลา 40 วัน 40 คืน 

มงฟอร์ตวิทยาลัยคือโรงเรียนแรก ๆ ในประเทศไทยและแห่งแรกของภาคเหนือที่เปิดรับนักเรียนผู้พิการทางสายตามาเรียนร่วมกันกับนักเรียนภาคปกติ ซึ่งโรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่กรุงเทพฯ เริ่มทำมาก่อน แต่ที่ภาคเหนือยังไม่มีโรงเรียนไหนที่เปิดรับ จากการพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา มณเฑียร บุญตัน ศิษย์เก่าผู้พิการทางสายตาเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เขาเรียนจบการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ เขาต้องหาที่เรียนต่อ ซึ่งตัวเลือกในเวลานั้นมีไม่กี่ที่และยังต้องเดินทางไปที่กรุงเทพฯ ซึ่งไกลจากบ้านรวมถึงสถานที่ที่เขาคุ้นเคย จนกระทั่งอาจารย์ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดบอกว่า มงฟอร์ตวิทยาลัยเปิดรับให้เข้ามาเรียนได้ มณเฑียรเลยมาสมัครเรียนที่นี่ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีการทำหนังสือเรียนหรืออักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา ต้องใช้หนังสือเรียนทั่วไป โดยมีคนช่วยพูดให้ฟัง เวลาทำการบ้าน เขาก็ทำได้ด้วยทักษะการใช้เครื่องพิมพ์ดีดทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มี ส่วนวิชาที่ต้องเติมคำก็อาศัยเพื่อนคอยช่วยบอก

ชีวิตในโรงเรียนของมณเฑียรไม่ได้มีแค่การเรียน เขาเป็นนักดนตรีของวงโรงเรียนด้วย ซึ่งในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ครั้งหนึ่งมณเฑียรทำโปรเจกต์ Boontun’s Project ขึ้นมา จัดคอนเสิร์ตวงดนตรีคนตาบอด มีการขายบัตร มีฝ่ายต่าง ๆ ทำแผ่นพับ โปสเตอร์ สัมภาษณ์คลื่นวิทยุ มีรถแห่รอบเมืองเชียงใหม่ โดยใช้ห้องจัดเลี้ยงโรงแรมปอยหลวงเป็นที่จัดงาน โดยเพื่อน ๆ เป็นออร์แกไนซ์ช่วยจัดงาน

หลังจากจบการศึกษา มณเฑียรเข้าศึกษาต่อที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนศึกษาต่อด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยเซนต์โอลาฟและมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา และเรื่องราวของมณเฑียรแสดงให้เห็นว่า ความบกพร่องทางร่างกายไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา แถมเขามีศักยภาพไม่ต่างจากคนปกติธรรมดา

มาสเตอร์จิมมี่ หยุ่น เป็นอดีตนายทหารชาวเมียนมา รุ่นเดียวกับ พลเอกหม่องเอ้ อดีตผู้บัญชาการทหารบกเมียนมา อาจารย์จิมมี่ลี้ภัยทางการเมืองจากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเข้ามาอยู่ที่เชียงใหม่ และสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

ครูคนนี้มีวิธีการสอนที่แปลกไปจากคนอื่น ๆ ด้วยการใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อการสอน

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
มาสเตอร์จิมมี่ (แถวล่างลำดับที่ 4 จากขวา) และ พลเอกหม่องเอ้ (แถวบนลำดับที่ 4 จากขวา) ขณะเป็นทหารที่เมียนมา
ข้อมูลและภาพ : พันเอก(พิเศษ) ทรงวิทย์ ศรีอ่อน

เภสัชกรกานต์ สุวรรณกิติ ศิษย์เก่าซึ่งเคยทันเรียนกับอาจารย์จิมมี่เล่าว่า

“การเรียนภาษาอังกฤษในตอนนั้น ต้องพูดคุยกันในห้องเรียนด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด ในยุคนั้นนอกจากใช้พจนานุกรมของ Oxford Advanced Learner และ พจนานุกรมของ สอ เสถบุตร ในการเรียนแล้ว ยังเรียนจากวรรณกรรมคลาสสิกต่าง ๆ เช่น Oliver Twist ของ Charles Dicken She ของ H. Rider Haggard แม้กระทั่ง Moonfleet ของ J. Meade Falkne ก็ด้วย รวมถึงหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียน นักศึกษา นั่นก็คือ Student Weekly เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ 

“พอขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ช่วงที่นักเรียนต้องเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์จิมมี่จะเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนด้วยการเพิ่มความเข้มข้นในการสอนขึ้น จากการอ่านหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักธุรกิจ นักการเมือง นั่นคือ Bangkok Post มีศัพท์ยากขึ้น ต้องเข้าใจภาษาอังกฤษในระดับดีมากถึงจะอ่านรู้เรื่อง อาจารย์จิมมี่เลือกหัวข้อข่าวที่น่าสนใจมาสอน และถามตอบกับนักเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด”

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ยุคที่มาสเตอร์จิมมี่นำใช้เป็นสื่อการสอน

“ผมจำได้แม่น ตอนสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ช่วงทำข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ มี 1 คำที่จำจนถึงทุกวันนี้ คือคำว่า ‘Fatal’ ผมแปลว่า ถึงตาย แต่เมื่อไปถามอาจารย์จิมมี่ ท่านแปลว่า สำคัญ ท่านบอกว่า ภาษาอังกฤษดิ้นได้ หนึ่งคำไม่ได้มีความหมายเดียว นั่นทำให้ผลการสอบวิชาภาษาอังกฤษของผมมีคะแนนติดอันดับ 2 ในการสอบแข่งขัน 17 จังหวัดภาคเหนือ” ศิษย์เก่าเล่าด้วยความภูมิใจ

ช่วงกระแสเปลี่ยนผ่านทางการเมืองระหว่าง พ.ศ. 2516 – 2519 เริ่มมีการก่อตัวของขบวนการนักเรียน นักศึกษา ในการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ มีการจัดตั้งศูนย์กลางนักเรียนนักศึกษาแห่งประเทศไทย ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ข่าวสารและความเคลื่อนไหวจากทางกรุงเทพฯ ก็ส่งผลมาถึงหลายจังหวัดใหญ่ ๆ รวมถึงเชียงใหม่ด้วย

จากการสนทนากับศิษย์เก่ามงฟอร์ตวิทยาลัยท่านหนึ่งที่เคยเป็นประธานสภานักเรียน รวมถึงเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนภาคเหนือในยุคนั้น เล่าให้ฟังว่า ในวันที่ 15 ตุลาคม มีการเชิญชวนนักเรียนหลายโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ไปชุมนุมที่สนามกีฬาเทศบาลเชียงใหม่ นักเรียนท่านหนึ่งถามครูที่เฝ้าประตูโรงเรียนว่าจะไปดีหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ “ถ้าคุณไม่ไปก็เสียชาติเกิด เรื่องของเด็กรุ่นคุณทั้งนั้น” 

ช่วงปลาย พ.ศ. 2516 สหพันธ์นักศึกษาเสรีได้จัดนิทรรศการที่มงฟอร์ตวิทยาลัย เล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ 14 ตุลาที่กรุงเทพฯ มีการไฮด์ปาร์ก ปราศรัย ถ้าจำไม่ผิด บุคคลที่มาคือ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในปีเดียวกันนั้นเองช่วงปลายปี ก็เริ่มมีการส่งหนังสือจากศูนย์กลางนักเรียนที่กรุงเทพฯ มาที่มงฟอร์ตวิทยาลัย เช่น หนังสือศึก หนังสือสมานมิตร ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ 

1 ปีต่อมา ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน มีการเปิดค่ายอบรมผู้เผยแพร่ประชาธิปไตยที่จังหวัดลำปาง มีการติดต่อขอนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคเหนือ 6 จังหวัดไปเข้าร่วม ผ่านทางสภานักเรียนของแต่ละโรงเรียน ขณะนั้นมงฟอร์ตวิทยาลัยยังไม่มีสภานักเรียน จึงติดต่อผ่านทางชมรมวิทยาศาสตร์ มีการส่งตัวแทนมาเข้าร่วม 2 คน ในค่ายมีการอบรมว่า ประชาธิปไตยคืออะไร ผู้แทนราษฎรคืออะไร การกาบัตรเลือกตั้งคืออะไร ให้รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตน รวมถึงการเลือกผู้แทนมาเป็นปากเสียงของประชาชน หลังจบค่ายก็มีภารกิจเล็ก ๆ ให้นักเรียนที่ผ่านการอบรมไปเผยแพร่เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตยตามแต่ละอำเภอในจังหวัดที่อยู่ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่เอง ได้รับรถจี๊ปแลนด์โรเวอร์จากผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมคนขับให้นักเรียนที่ผ่านการอบรมนั่งไปพร้อมกับสไลด์และแผ่นพับ เอาไปฉายและแจกในอำเภอต่าง ๆ ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ใช้เวลา 2 สัปดาห์ก็เสร็จสิ้นภารกิจ

หลังจบภารกิจเผยแพร่ประชาธิปไตย มีการเลือกเลขาธิการศูนย์นักเรียนเชียงใหม่คนใหม่ โดยมีนักเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์ มีการรวมตัวกันจัดงานในนามศูนย์นักเรียนเชียงใหม่ ครั้งแรกคืองานครบรอบ 1 ปี 14 ตุลาฯ ที่พุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่ และในปีเดียวกันนั้นเอง จากกระแสการเผยแพร่ประชาธิปไตย ผู้บริหารโรงเรียนในขณะนั้น คือ ภราดาสมพงษ์ ศรีสุระ จึงจัดให้มีการเลือกตั้งประธานสภานักเรียน กรรมการนักเรียน สภานักเรียน ขึ้นในโรงเรียนเป็นครั้งแรก มีการจัดทำโปสเตอร์หาเสียง มีการปราศรัยแนะนำตัวผู้สมัครแต่ละคนต่อหน้าบุคลากร นักเรียนทั้งโรงเรียน มีคูหาเลือกตั้งจำลอง มีกล่องหย่อนบัตรลงคะแนน ซึ่งจำลองมาจากระบบการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร 

ประธานสภานักเรียนโรงเรียนทำหน้าที่ควบคู่กับการเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนเชียงใหม่เรื่อยมา มีการพิมพ์หนังสือพ็อกเกตบุ๊กต่าง ๆ เช่น ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ทำในนามศูนย์นักเรียน คอยเป็นหน่วยติดโปสเตอร์ แจกใบปลิว รณรงค์ตามหัวข้อการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ประสานมา หลายคนเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมเข้ามหาวิทยาลัยไป ก็ไปตามบริบทของแต่ละคน บางคนก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 บางคนถูกจับ บางคนหนีเข้าป่า

…และบางคนไม่ได้กลับมาอีกเลย

หนึ่งในผลงานที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้จักกับโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย คือการคว้าตำแหน่งแชมป์โลกจากการแข่งขันประกวดวงโยธวาทิต 

วงโยธวาทิตโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับโรงเรียน ใน พ.ศ. 2475 ภราดาซิเมออน เดอ ริโคล เริ่มมีการจัดตั้งวงโยธวาทิตมงฟอร์ตขึ้น ตามอย่างของแตรวง AC Band โรงเรียนอัสสัมชัญ ในช่วงแรกได้รับการบริจาคเครื่องดนตรีจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และซื้อเองเพิ่มเติมอีก 17 ชิ้น มีภราดาแอมบรอซิโอ ทำหน้าที่เป่าคลาริเน็ต ภราดาเซราฟิน ตีกลอง

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
วงโยธวาทิตมงฟอร์ตยุคแรก

วงโยธวาทิตมงฟอร์ตเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเข้าร่วมงานต่าง ๆ เช่น การเดินพาเหรดร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญจำลองของจังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2477 โดยมี ภราดาซิเมออนเป็นผู้ควบคุมวงถึง 6 ปี ก่อนที่ท่านจะป่วยและกลับมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ กระทั่ง ภราดาฮูเบิร์ต จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เข้ามาเป็นอธิการต่อและทำการปรับปรุงวงโยธวาทิต แต่แล้ว พ.ศ. 2484 เกิดสงครามอินโดจีน ภราดาฮูเบิร์ตซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสต้องย้ายอย่างกะทันหัน จึงขาดผู้ควบคุมวง ภราดาอันโตนีโอ มารีอา ชาวสเปน ผู้ช่วยอธิการโรงเรียน เคยเป็นผู้ควบคุมวงโยธวาทิต AC Band อัสสัมชัญมาก่อน จึงเข้ามาควบคุมวงแทน โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนเป็นเวลาฝึกซ้อมดนตรี

เมื่อวงเริ่มมีชื่อเสียง ก็มีการส่งเข้าร่วมการประกวดวงดุริยางค์ในงานฤดูหนาว จังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2525 และได้รับรางวัลชนะเลิศ ในปีเดียวกันจึงมีการส่งเข้าแข่งขันชิงรางวัลระดับประเทศ ในการประกวดวงดุริยางค์กรุงเทพฯ ฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่ง MC Band ได้รับรางวัลรองชนะเลิศประเทศไทย โดยมีอาจารย์ผู้ควบคุมวงคือ มาสเตอร์พินัย ปรีชาภรณ์ 

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากการแข่งขันในครั้งนั้น เริ่มมีการปรับปรุงลักษณะของวงลักษณะ Marching Band ให้โดดเด่นไม่ซ้ำใคร เริ่มมีวิดีโอเทปบันทึกการแสดงของวงโยธวาทิตในต่างประเทศที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาให้นักเรียนได้ศึกษา ทำให้ต่อมาใน พ.ศ. 2526 วงโยธวาทิตมงฟอร์ตวิทยาลัยเป็นวงแรก ๆ ที่มีการแปรขบวน ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา สร้างความแตกต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ ณ เวลานั้น และได้เข้าร่วมประกวดวงโยธวาทิตแห่งประเทศไทยที่จัดโดยกรมพลศึกษาร่วมกับธนาคารทหารไทย และคว้ารางวัลชนะเลิศ ที่ 1 ประเทศไทยมาครอง

ในปีต่อมา มีการประกวดวงโยธวาทิตแห่งประเทศไทย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยเข้าร่วมและได้รับรางวัลชนะเลิศอีก ชื่อเสียงนี้ทำให้ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ติดต่อมาที่โรงเรียน เพื่อขอนำนักเรียนวงโยธวาทิตมงฟอร์ตมาถ่ายทำโฆษณาเครื่องดื่มโค้กที่จังหวัดเชียงใหม่

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

ถัดมาอีก 1 ปี มีการประกวดวงโยธวาทิตนานาชาติ หรือ World Music Contest ประเทศเนเธอร์แลนด์ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยส่งวงไปประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นเหรียญทองเหรียญแรกของประเทศไทย การได้เหรียญทองในครั้งนั้นทำให้เมื่อกลับมาเชียงใหม่มีการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ มีซุ้มต้อนรับ มีขบวนรถแห่ถ้วยรางวัลรอบเมือง หลังจากนั้นก็ร่วมแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยมาตลอด ได้รับรางวัลชนะเลิศมาตลอดใน พ.ศ. 2530, 2532, 2533, 2535 เป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 7 ปี 

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

จนถึง พ.ศ. 2538 มีการเปลี่ยนรูปแบบวงจาก Marching Band เป็นวง Symphony Orchestra เพื่อพัฒนารูปแบบของดนตรี เข้าร่วมบรรเลงในพิธีเปิดและพิธีปิดกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จากผลงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทำให้เมื่อพูดถึงชื่อโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย สิ่งที่หลายคนมักนึกถึงเสมอ จึงหนีไม่พ้นเรื่องของดนตรีหรือวงดุริยางค์นั่นเอง

จากชื่อเสียงของวงโยธวาทิต ทำให้โรงเรียนเป็นที่รู้จัก มีภาพยนตร์ โฆษณา และหลาย ๆ สื่อให้ความสนใจยกกองมาถ่ายทำ นักเรียนจึงกลายเป็นนักแสดงหรือศิลปินมากมาย พ.ศ. 2535 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยมถูกใช้เป็นฉากถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง ที่สุดของหัวใจ โดย วงเรนโบว์ และยังเป็นงานแสดงยุคแรกของ ออย-ธนา สุทธิกมล หลังจากนั้นก็ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง นั่นคือหนังแนววัยรุ่นจากไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น เรื่อง กระโปรงบานขาสั้น เทอม 2 และต่อมาใน พ.ศ. 2539 เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป รุ่น 2 ภาพยนตร์แจ้งเกิด โดม-ปกรณ์ ลัม โดยเรื่องราวในภาพยนตร์เป็นเรื่องของนักเรียนในวงโยธวาทิตมงฟอร์ตวิทยาลัย  

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยตร์และซีรีส์อีกหลายเรื่อง ทั้ง Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ, เกรียนเฮาส์ เดอะ ซีรีส์, คิดถึงวิทยา และ Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ

จากการพูดคุยกับ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังจาก รักแห่งสยาม ศิษย์เก่าของโรงเรียน เล่าย้อนความทรงจำว่า “ช่วงที่ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่นของ คุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกล มาถ่ายทำที่โรงเรียน เราเป็นนักเรียนวงโยธวาทิต ต้องไปเข้าฉากต่าง ๆ เป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก ได้เห็นการทำงานของกองถ่ายภาพยนตร์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เราคุ้นเคยกับการทำงานของกองถ่าย

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กับเพื่อน ๆ รุ่นน้องนักดนตรีวงโยธวาทิต ขณะรับรางวัลชนะเลิศวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544

“เวลาวงโยธวาทิตซ้อมดนตรี เราจะมีกล้องวิดีโอเก่า ๆ อยู่ตัวหนึ่ง เพื่อใช้บันทึกการซ้อมและนำมาปรับปรุง บางทีเราก็ต้องนอนค้างที่โรงเรียน ทีนี้ห้องที่ใช้ซ้อมดนตรีมันอยู่ในตึกเก่า ๆ บรรยากาศตอนกลางคืนก็แสนวังเวง ความที่ชอบจินตนาการไปเรื่อย เห็นแสงนู่นนี่วูบวาบ เลยเอากล้องวิดีโอตัวนั้นมาเดินถ่ายตอนกลางคืน อารมณ์เหมือนรายการ ล่าท้าผี ทุกวันนี้เลย” ศิษย์เก่าเล่าย้อนความหลัง

ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ร้อยเรียง 9 เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความผูกพัน และความทรงจำจากศิษย์เก่าถึง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

“พอกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ตอนถ่ายทำ Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ เราเลยเลือกถ่ายที่มงฟอร์ตในช่วงเวลากลางคืน เพราะอยากนำเสนอมุมเงียบสงบ เป็นภาพที่นักเรียนวงโยธวาทิตอย่างเราเคยเห็น อีกสาเหตุคือ เราว่าอาคารเรียนมันคุมโทน ทุกอย่างลงตัว ทั้งตึกสีขาวธีมแปลก ๆ ประตูสีน้ำเงิน ความโมเดิร์น เส้นสาย รูปทรงต่าง ๆ ทำให้ภาพที่ปรากฏในเฟรมกล้องสวยโดยไม่ต้องแต่งเติม

“ถึงอย่างนั้น สาเหตุจริง ๆ ที่เลือกถ่ายทำที่นี่ก็เพราะความผูกพัน บางทีกลับมาเชียงใหม่ ว่างๆ ก็มาเดินเล่นในโรงเรียน กลิ่นอายของดิน ต้นไม้ ภาพเก่า ๆ มันกลับมา เวลาเราถ่ายทอดอะไร ส่วนใหญ่ออกมาจากส่วนลึกของความทรงจำ ซึ่งมงฟอร์ตวิทยาลัยมีความทรงจำมากมายของเราอยู่ในนั้น”

ขอขอบคุณ
  • อาจารย์สมพงษ์ ศรีสุระ (อดีตอธิการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย)
  • อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิษย์เก่ามงฟอร์ตวิทยาลัย รุ่น MC 03 ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมร่วมสมัย พุทธศักราช 2547
  • พันตำรวจโทศักดิสุนทร เปรมานนท์ ทายาทมาสเตอร์ปราการ เปรมานนท์
  • คุณชูเกียรติ ศักดิ์วิระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์
  • คุณมณเฑียร บุญตัน ศิษย์เก่ามงฟอร์ตวิทยาลัย รุ่น MC 24 สมาชิกวุฒิสภา
  • อดีตประธานสภานักเรียน โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย รุ่น MC 16
  • เภสัชกรกานต์ สุวรรณกิติ กรรมการสมาคมศิษย์เก่า มงฟอร์ตวิทยาลัย กรุงเทพฯ
  • อาจารย์ พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ผู้จัดการหอจดหมายเหตุอัครสังขมณฑล กรุงเทพฯ
  • Presbyterian Historical Society 
  • งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์โรงเรียนอัสสัมชัญ
  • โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

Writer

อัครชัย อังศุโภไคย

อัครชัย อังศุโภไคย

ช่างภาพอิสระที่ใช้เวลาว่างไปกับการเดินตลาดของเก่า สะสมหนังสือภาพถ่ายเก่า ซอกแซก สำรวจเมือง และหากาแฟอร่อย ๆ กิน