ชา คือเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองของโลก (ส่วนอันดับหนึ่ง แน่นอน น้ำเปล่า)
ในหลายประเทศ ชาคือเครื่องดื่มหลักที่สะท้อนประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และวิถีชีวิต อันชัดเจนในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งไม่ว่ากระแสอาหารและเครื่องดื่มจะเปลี่ยนแปลงมากมายเพียงใด ชายังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเสมอมา
น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่นิยมดื่มชากันเป็นวงกว้าง (ซึ่งในกรณีนี้เราไม่นับชานมไข่มุกนะ) ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกชาที่มีการซื้อขายกันอย่างมาก ซึ่งสังเกตได้จากกิจการร้านชาจำนวนมากที่เปิดอยู่ใกล้ๆ ตัว และยังได้รับความนิยมมากเสียด้วย


Monsoon Tea เข้าข่ายร้านที่ว่า ที่นี่คือ ร้านค้าที่ผลิตและขายผลิตภัณฑ์ชาในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมี 2 สาขาในจังหวัดเชียงใหม่ คือสาขาหลักบนถนนรัตนโกสินทร์ และโครงการ One Nimman รวมถึงสาขาในกรุงเทพมหานครที่ฟังดูอาจเหมือนร้านชาทั่วๆ ไป แต่ความพิเศษจนกลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของ Monsoon Tea คือชาที่ผลิตจากใบเมี่ยงเป็นหลัก ทำให้มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างโดดเด่นกว่าชาประเภทอื่นๆ


The Cloud มีนัดพิเศษกับ Mr.Kenneth Rimdahl ชายหนุ่มชาวสวีเดนผู้ดำรงตำแหน่ง Founder และ CEO ของ Monsoon Tea ที่สาขาหลักของร้าน ฉันพบเขาในบรรยากาศสบายๆ ของร้านโทนสีเขียว ชั้นวางด้านในเรียงรายไปด้วยผลิตภัณฑ์ชาหลากหลายรูปแบบที่ทางร้านคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละตัวนั้นยากที่จะเลียนแบบ และน่าสนใจอย่าบอกใคร
เรื่องราวต่อไปนี้คือความพยายามในหลายแง่ของแบรนด์ชาเล็กๆ แบรนด์หนึ่ง ทั้งการผลิตชาที่เพื่อให้คนไทยทานแล้วจะหลงรัก การสร้างอาชีพให้กับผู้คนในพื้นที่ห่างไกล การช่วยเหลือธรรมชาติจากมือเล็กๆ ของคนกลุ่มหนึ่ง
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะใบชาเล็กๆ ใบเดียว
ร้านชาของชายผู้มีประสบการณ์เรื่องชามากว่า 30 ปี

ย้อนกลับไปในอดีต ความฝันของคุณเคนเนธคือการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสเปน และเขาทำเสร็จด้วยการเป็นคนทำงานในวงการนิตยสารในเมืองบาร์เซโลน่า ก่อนหันเหไปฝึกงานในร้านชาของเพื่อนในปี 2539 และตัดสินใจเปิดร้านชาของตัวเองในเวลาต่อมา
“ในยุคนั้นชาวสเปนดื่มชากันน้อยมาก เพราะค่านิยมเกี่ยวกับชาในสมัยนั้น ผู้คนคิดว่าใบชาคือยาขม ที่คนเฒ่าคนแก่จะให้เรากินเพื่อรักษาโรคต่างๆ ชาเลยกลายสิ่งที่ล้าสมัยในตอนนั้น” คุณเคนเนธเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำร้านชา
หนึ่งปีให้หลัง คุณเคนเนธตัดสินใจเปิดร้านชาของตัวเอง และควบรวมกิจการกับร้านชาเดิมของเพื่อนในภายหลัง เพราะเห็นความเป็นไปได้ในการทำให้ธุรกิจชาในประเทศสเปนขายตัวขึ้น จนกระทั่งร้านชาที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มีสาขากว่า 82 สาขาทั้งในสเปน บราซิล อาร์เจนตินา และอิตาลี
ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาคุณเคนเนธได้รับประสบการณ์มากมายจาก Tea Mentor ที่อยู่รายล้อมรอบตัวเขา นั่นคือ เพื่อนๆ ที่ดำเนินกิจการชามาด้วยกันนับแต่วันแรก และนั่นถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก
แต่แล้วโลกแห่งชาใบใหม่ของเขาได้ถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง เพียงเพราะเขาต้องการซื้อกาน้ำชาเพื่อชงชา
“ผมเดินทางมาที่เมืองไทยเพื่อต้องการหากาน้ำชาเซรามิกไว้ใช้ จนได้พบกับผู้ผลิตกาน้ำชาเซรามิกแบบเดียวกับที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งผลิตในจังหวัดลำปาง เพราะผมรู้ว่าที่จังหวัดลำปางเป็นแหล่งผลิตเซรามิกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เมื่อคุยกับชาวบ้านแถบนั้น ผมก็ได้พบกับคุณเอก (วรกานต์ วงศ์ฟู) เพื่อนที่กลายมาเป็นหุ้นส่วนสำคัญในเวลาต่อมา เขาแนะนำให้ผมรู้จักใบเมี่ยง ตอนนั้นผมคิดว่าผมรู้จักชาในหลายๆ แห่งของโลกนะ ทั้งรัสเซีย ญี่ปุ่น ตุรกี จีน แต่ผมกลับไม่รู้เลยว่าประเทศไทยก็มีแหล่งปลูกใบชาเหมือนกัน”


แบรนด์ชาที่ชวนจิบชาและรักษาโลกไปพร้อมๆ กัน
ฉันแปลกใจนิดหน่อยที่คุณเคนเนธหลงรักใบเมี่ยงทันที หลังจากเขาได้เคี้ยวมันสดๆ
ความรู้สึกนั้นเป็นยังไงกันนะ
“ผมหลงรักมันเลยครับ มันมีรสชาติต่างๆ ที่ผสมปนกันมากมายในคำเดียว ทั้งหวาน ขม อูมามิ เพียงแค่ผมสัมผัสรสชาติเหล่านั้นในคำเดียว ผมจึงตัดสินใจว่าจะนำใบเมี่ยงมาเป็นส่วนผสมหลักในชาของผม”

ไม่ใช่เพียงแต่รสชาติที่คุณเคนเนธเล็งเห็น แต่คุณประโยชน์ที่เมี่ยงมีต่อระบบนิเวศ คืออีกสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เมี่ยงคือตัวเลือกหนึ่งเดียวในใจของเขา เพราะเมี่ยงคือพืชชนิดหนึ่งที่สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ป่า เมี่ยงขึ้นและเติบโตได้ง่ายในสภาพอากาศป่าของประเทศไทย อีกทั้งการเก็บเกี่ยวใบเมี่ยงเพื่อนำใบไปใช้ในกรณีใดๆ ไม่ก่อให้เกิดการทำลายหรือเป็นอันตรายใดๆ ต่อระบบนิเวศป่า
จึงเป็นการตัดสินใจของคุณเคนเนธที่รับซื้อใบเมี่ยงจากหลายพื้นที่ในแถบภาคเหนือตอนบนกว่า 60 แห่งในพื้นที่อำเภอแม่แตง อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอน
สิ่งที่คุณเคนเนธตั้งใจจากการรับซื้อใบเมี่ยงจากชาวบ้านมี 2 ประการคือ หนึ่ง ต้องการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่รับซื้อ และสอง การรักษาความสมดุลของธรรมชาติ เป็นสิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจของร้าน

“จริงๆ แล้วใบเมี่ยงก็คือใบชาครับ หากพืชชนิดนี้อยู่ในอาหาร เราจะเรียกว่าใบเมี่ยง แต่เมื่อย้อนกลับไปในสมัยโบราณ เมี่ยงถูกนำมาชงเป็นเครื่องดื่มนานแล้ว แต่คนจีนได้พบเจอพืชชนิดนี้ จนนำมาชงเป็นเครื่องดื่ม และเรียกว่าชาในเวลาต่อมา
“แต่คนไทยไม่รู้เพราะไม่ได้นำเมี่ยงมาชงเป็นชาเหมือนอดีต จนเมี่ยงแทบไม่ได้รับความนิยม ทำให้การปลูกเมี่ยงของเกษตรกรได้ผลตอบแทนต่ำ สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านชอบทำกับเมี่ยงคือการฉีดยาฆ่าแมลง เราจึงต้องเลือกใบเมี่ยงที่ไม่มีการฉีดยาฆ่าแมลง เพราะแมลงที่กินใบเมี่ยงนั้นเป็นการการันตีถึงความสมบูรณ์ของใบเมี่ยงที่เลี้ยงไว้ และแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าครับ” คุณเคนเนธเล่า
“แล้วการรักษาพื้นที่ป่าโดยการรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้าน มันสำคัญกับคุณยังไง” ฉันถาม
“คุณรู้มั้ยว่าถ้าไม่มีป่า เราจะมีชีวิตรอดอยู่ไม่ได้ หากป่าในพื้นที่ใดๆ ถูกทำลายไป มันจะส่งผลต่อทุกคนบนโลก ที่สำคัญคือ เราต้องให้ผืนป่าเติบโตไปกับชาของเรา เราจึงซื้อผลผลิตจากชาวบ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ และเราสามารถรักษาพื้นที่ป่าให้อยู่ได้” คุณเคนเนธตอบคำถามของฉัน
คำตอบของเขา สมกับแนวคิด Friendly Forest ของ Monsoon Tea จริงๆ

ชาสูตร Ping River Blend, Doi Suthep Blend และ Tha Pae Gate Blend

ก่อนเราจะคุยกันต่อ คุณเคนเนธชวนฉันไปที่ห้องหลังร้านเพื่อเชิญฉันทำ Tea Tasting หรือการทดลองชิมชา เขาอธิบายระหว่างรินน้ำร้อนในอุณหภูมิที่พอเหมาะลงในถ้วยชาว่า เราต้องทดลองชิมชาก่อนวางขายทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบรสชาติและคุณภาพของใบชาก่อนขาย หากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เราจะได้รู้ทันทีและหาแนวทางปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป


แหล่งวัตถุดิบมีแล้ว องค์ความรู้จำนวนมากก็มีแล้ว โจทย์สำคัญที่คุณเคนเนธต้องแก้ให้ได้เมื่อจะเริ่มกิจการชาในจังหวัดเชียงใหม่คือ จะทำยังไงให้คนไทยดื่มชา
“เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากครับ เพราะคนไทยไม่มีวัฒนธรรมในการดื่มชาเป็นเครื่องดื่มหลักเหมือนหลายประเทศ เราจึงคิดว่า หากคนไทยจะดื่มชาจนกลายเป็นเครื่องดื่มหลัก เราต้องทำชาเย็น ถ้าคุณสังเกตดีๆ คนไทยจะดื่มเครื่องดื่มทุกชนิดโดยใส่น้ำแข็ง ทั้งเบียร์ ไวน์ กาแฟ ทุกอย่างต้องใส่น้ำแข็งหมด และการทำชาของเราต้องมีรสชาติ และเป็นรสชาติที่คนไทยชอบด้วย”

ชาที่มีรสชาติเหมือนไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่ เพราะใครๆ ก็ทำกัน
แต่ที่ร้านมีชารสชาติที่เวรี่ไท้ย ไทย อย่างรสข้าวเหนียวมะม่วง และชารสพิเศษที่บ่มร่วมกับผลไม้หรือสมุนไพรไทยนานาชนิด เช่น สตรอว์เบอร์รี่ ลิ้นจี่ ลำไย ตะไคร้ จนกลายเป็น Signature Blend ของร้านที่นำเอาวัตถุดิบพิเศษในจังหวัดเชียงมาบ่มเป็นชาสูตรเฉพาะทั้งหมด 3 รสชาติในซีรีส์ Chiang Mai Blend ได้แก่ Ping River Blend, Doi Suthep Blend และ Tha Pae Gate Blend อีกทั้ง Bangkok Blend ที่จำหน่ายในหน้าร้านสาขากรุงเทพมหานคร ที่ 101@True Digital Park ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี และศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ โดยมีชา 3 รสชาติที่หยิบวัตถุดิบจากกรุงเทพมหานครมาบ่มเป็นชาสูตรเฉพาะในชื่อ Chao Praya Blend, Sukhumvit Blend และ Lum Pini Blend

“กลุ่มเป้าหมายของผมจริงๆ แล้วผมต้องการคนไทยนะ เพราะมันเป็นผลิตภัณฑ์ไทยที่ผมอยากขายให้กับคนไทย ซึ่งน่ายินดีที่มีชาวเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ของเรา นอกจากคนไทยแล้วยังมีชาวต่างชาติที่สนใจในผลิตภัณฑ์ของเราด้วย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี หรือชาวต่างชาติทั้งจากยุโรปและอเมริกา” คุณเคนเนธกล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายของร้าน


ร้านยังมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งใบเมี่ยงสดที่คุณสามารถนำไปชงดื่มเองได้ง่ายๆ หรือเครื่องดื่มชาแปรรูปอย่างคอมบูฉะ ที่นำใบชาไปหมักกับจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ จนได้เป็นเครื่องดื่มชาแบบพิเศษที่อร่อยและมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย หรือเมื่อคุณมาใช้บริการที่หน้าร้านสาขาวัดเกตุ ยังมีอาหารทั้งอาหารไทยและล้านนาดั้งเดิมที่ปรุงจากใบเมี่ยงและใบชาให้บริการ และเครื่องดื่มชาแบบม็อกเทลที่เสิร์ฟในสาขากรุงเทพฯ อีกด้วย เมนูเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่คุณเคนเนธอยากให้คนไทยได้ดื่มชาในรูปแบบที่แตกต่างออกไปนอกจากเครื่องดื่มที่เราคุ้นชิน

ชาสัญชาติไทยที่อยู่ในร้านกาแฟของแบรนด์ Prada ถูกแนะนำใน Magazine B
และบนเวที World Sustainability Congress
จากความตั้งใจที่จะทำร้านชาเพื่อให้คนไทยได้ดื่ม ความตั้งใจนี้ไปไกลกว่าที่คุณเคนเนธคาดหวัง นอกจากร้านค้าในหัวเมืองใหญ่ของประเทศ ยังมีแผนที่จะเปิดร้านในจังหวัดภูเก็ตอีก ส่วนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยังได้รับการยอมรับจากโรงแรมหลายๆ แห่ง เช่น โรงแรมโฟร์ซีซันส์ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ อนันตรา รีสอร์ท โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เป็นต้น
ที่สำคัญร้านยังได้ไปต่อไกลถึงต่างประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเมนูในร้าน Woo Cafe’ ที่ไต้หวัน และร้านกาแฟในร้านของแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกอย่าง Prada ก็มีชาของ Monsoon Tea อยู่ในนั้นด้วย ยังไม่นับถึงการส่งออกใบชาไปยังต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
นั่นคือความสำเร็จในแง่ธุรกิจ ส่วนความสำเร็จในแง่ของการรักษาผืนป่าและแหล่งธรรมชาติ ถึงแม้จะไม่มีสถิติตายตัว แต่เรื่องราวของ Monsoon Tea ได้รับการชื่นชมพูดถึงในวงกว้าง ทั้งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของ Magazine B จากเกาหลีใต้ในฉบับกรุงเทพมหานคร งาน TEDxChiangmai หรือเกียรติอันสูงสุดคือการได้เล่าเรื่องธุรกิจชาที่ช่วยรักษาธรรมชาติ ช่วยสร้างอาชีพในเวที World Sustainability Congress ของสหประชาติที่จัดในกรุงเทพมหานครเมื่อปีที่ผ่านมา

ความสำเร็จของธุรกิจหนึ่งๆ ในเวลาเพียง 5 ปีถือว่าเป็นความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว แต่คุณเคนเนธกลับบอกฉันว่า เขาเพียง ‘โชคดี’ เท่านั้นที่เรามาถึงจุดนี้ได้
“ผมคิดว่าผมถูกสปอยล์จากความสำเร็จของธุรกิจชาที่สเปนมาก่อน เพราะมันได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและลูกค้าอย่างมาก จนกระทั่งเริ่มเปิดหน้าร้านครั้งแรกที่โครงการจริงใจ มาร์เก็ต ในเชียงใหม่ ในปีแรกยังมีปัญหามากมายและไม่ได้รับความนิยมจากลูกค้า ซึ่งเราหมดเงินลงทุนไปเยอะมาก มันยากลำบาก จนมาได้พื้นที่ปัจจุบันที่เป็นอย่างที่ผมฝัน ที่ผมวางแผนเอาไว้จริงๆ ว่าเราอยากทำอะไรกับมัน เรามีห้องหับต่างๆ ให้ใช้สอยมากมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเรา ที่สำคัญ เราโชคดีที่มีเพื่อนร่วมงานในหลายส่วนมากขึ้น ทำให้เราเข้าในความต้องการของลูกค้าจริงๆ”
“แล้วคุณเรียนรู้อะไรจากลูกค้าบ้าง” ฉันถาม
“ทุกอย่างครับ (หัวเราะ) ทุกอย่างเลย ลูกค้ามีส่วนสำคัญมากเลยครับ แต่ผมไม่ได้ทำตามความต้องการของลูกค้าทั้งหมดนะครับ ผมยังทำตามแนวคิดแรกสุดเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะผมยังอยากสนุกกับการทำงานอยู่ที่จะทำให้ร้านไปตามวิสัยทัศน์ที่เราได้วางไว้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมของเมี่ยงที่ยังรักษาป่า รักษาธรรมชาติ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และทำให้คนไทยรักชามากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าด้วย”

ในอนาคต Monsoon Tea ยังมีแผนธุรกิจที่จะต่อยอดในการเปิดหน้าร้านเพิ่มขึ้นอีก 2 – 3 สาขาในจังหวัดเชียงใหม่ แต่จุดหมายที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาป่าให้ได้มากที่สุด ด้วยการซื้อผลผลิตจากเกษตรกรให้ได้มากที่สุด
เพราะสำหรับคุณเคนเนธแล้ว Monsoon Tea คือทุกอย่างในชีวิตของเขา
“ทุกอย่างที่ผมลงทุนไปมันคุ้มค่ามากๆ ครับ ผมได้บทเรียนมากมายจากการทำธุรกิจนี้ ไม่ใช่เพียงการผลิตชาเท่านั้น แต่ผมเรียนรู้ทั้งแนวคิดของคนไทย ความแตกต่างทางวัฒนธรรม การมองเห็นความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ และการรักษาธรรมชาติด้วยแนวทางการทำธุรกิจของเรา” คุณเคนเนธกล่าว
ภาพ : เดโช เกิดเดโช, Mr.William Persson
Lesson Learned
คุณเคนเนธฝากคำแนะนำแก่ผู้ที่อยากประกอบธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ขอให้คิดแผนการระยะยาวที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของคุณ อดทนรอผลลัพธ์ที่จะตามมา อย่ายอมแพ้ และเชื่อมั่นในเส้นทางและแนวคิดของตัวเอง
Monsoon Tea
328/3 ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000
โทร : 0979189892
www.monsoon-tea-company.com