ทำแล้วไม่มีวันเกษียณ 

ไม่มีเงินเดือน ไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีอนาคต

นี่อาจเป็นสวัสดิการการทำงานที่พิลึกพิลั่นที่สุดในโลก 

ทว่าองค์กรนี้กลับมีแต่คนเต็มใจสมัครทำงาน

องค์กรนี้คือ ‘เดอะมนต์รักแม่กลอง’ สื่อชุมชนที่มุ่งสื่อสารระหว่างคนในท้องถิ่น ตลอดจนนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อสร้างสำนึก ความรัก ความเข้าใจ และความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยมีพนักงานผู้มีใจ ดังนี้ หนู-ภัทรพร อภิชิต, โจ-วีรวุฒิ กังวานนวกุล, จิ๊บ-สรรวรส ชัยชวลิต, นก-นิสา คงศรี และ ก๊อก-กึกก้อง เสือดี

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม, ของดี แม่กลอง, ของฝาก สมุทรสงคราม
กึกก้อง เสือดี, วีรวุฒิ กังวานนวกุล, ภัทรพร อภิชิต, นิสา คงศรี และ สรรวรส ชัยชวลิต

หลังวางปากกาพักน้ำหมึกบนหน้านิตยสาร มนต์รักแม่กลอง บอกลามิตรรักแฟนหนังสือ ไปทำหน้าที่สื่อในรูปแบบอื่นหลายปี พ.ศ. 2563 นี้พวกเขากลับมาพร้อมสมาชิกหน้าใหม่ ผู้เป็นคนเก่าซึ่งผูกพันเติบโตมากับเมืองสามน้ำแห่งนี้ ในชื่อใหม่ ‘เดอะมนต์รักแม่กลอง’

แทนที่จะเล่าเรื่องท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงครามบนกระดาษอย่างแต่ก่อน ก็เปลี่ยนมาเล่าด้วยวิธีการใหม่ ที่มีทั้งรูป รส กลิ่น สัมผัส คัดสรรของกินของดีชนิด Rare Item ประจำถิ่น ที่ต้องการเวลาขวบปีขนาดหมดหนาวนี้ต้องรอจับปลาอีกทีหนาวหน้า หมดตุ่มนี้แล้วต้องรอหมักไปอีกปีเต็ม และคุณภาพคับระดับคนทำวางใจกินเอง มาให้ผู้คนจับจ่ายบนเพจ เดอะมนต์รักแม่กลอง สมุทรสงคราม

กะปิ น้ำปลา น้ำตาลมะพร้าว ทุกกระปุกในร้านนี้นำเสนอเรื่องราวแสนอร่อยของตัวเองให้คนอ่านชิม เพื่อได้เรียนรู้ทางปากกระทั่งรสชาติซึมซาบเข้าอก จนเข้าใจความสำคัญของวิถี ภูมิปัญญา และระบบนิเวศ ของทั้งจังหวัดสมุทรสงครามในคำเดียว

การค้าของเดอะมนต์รักแม่กลองจึงไม่ได้สิ้นสุดเมื่อส่งพัสดุยังที่ทำการไปรษณีย์ การกินของคุณจึงไม่ใช่แค่การนำอาหารเข้าปากแล้วอิ่ม แต่จะสร้างผลเป็นลูกโซ่ไม่ต่างจากนิทานเรื่อง ยายกะตา เมื่อคนกินเห็นคุณค่าอาหาร ก็จะกำเนิดคนทำ ชาวสวน ชาวประมงพื้นบ้าน จะเข้าใจว่าของดียังมีคนบริโภค เมื่อคนทำหันมาผลิตอาหารด้วยวิถีดั้งเดิมอย่างเคารพทรัพยากร ธรรมชาติก็จะถูกทะนุถนอมดูแล แล้วระบบนิเวศของสมุทรสงครามจะกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

บอกไว้ก่อน สื่อท้องถิ่นที่สวมบทโชห่วยนี้ไม่ได้มุ่งทำการค้าเพื่อเงินทอง ทว่าต้องการเล่าเรื่องให้เกิดสำนึกรักและหวงแหนสิ่งที่ยังมีเหลืออยู่ ซึ่งเหลือน้อยเต็มที แต่ไม่ค่อยถูกเห็นคุณค่า 

และพนักงานโชห่วยร้านนี้ต่างมีจุดหมายเฉกเช่นเดียวกัน คือทำหน้าที่โดยไม่แสวงหาผลกำไร

หากคุณคาดหวังแววตาทดท้อหรือผิดหวังจากพวกเขาหลังสิ้นสุด Job Description เราอยากให้คุณได้นั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้ตัวเดียวกับเรา เพื่อประจักษ์กับตาว่า มีเพียงรอยยิ้มกว้างที่ตามด้วยเสียงหัวเราะก้องโรงนาหลังคาสีแดงหลังนี้ต่างหาก

ไม่แน่ นี่อาจเป็นการทำงานที่มีความสุขอย่างน่าประหลาดที่สุดในโลก

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

แม่กลองเปลี่ยนไป

ในฐานะเด็กแม่กลองรุ่นหลังที่ห่างบ้านมาเข้าปีที่ 10 สายตาของเราอาจยังเห็นว่าน้ำท่ายังบริบูรณ์ สวนมะพร้าวยังเขียวร่มรื่น อาหารทะเลยังมีขายเต็มตลาด เมื่อได้มานั่งคุยกับคนแม่กลองและไม่แม่กลองแต่รักแม่กลองรุ่นเดอะ (มนต์รักแม่กลอง) แล้วได้สวมแว่นตาอันเดียวกันกับพวกเขา …สายตาก็พลันสว่างขึ้นมา

“คนคิดว่าเราลืมวัตถุ เราลืมน้ำตาล เราลืมน้ำปลา เราลืมประมงพื้นบ้าน แต่เรากำลังลืมสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้น คือหลักคิด ภูมิปัญญา ที่แฝงอยู่ ซึ่งมันคืออนาคตของเมือง ถ้าดึงกลับมาได้จะทำให้เมืองนี้ไปรอด ฐานคิดมันคิดบนระบบนิเวศ คิดบนกายภาพอย่างที่เมืองเป็น ระบบน้ำขึ้น-น้ำลงเป็นรากฐานทุกอาชีพของเมืองนี้ ดินตะกอนเป็นปุ๋ยของทุกๆ พืชพันธุ์ในเมืองนี้ ลมมีอิทธิพลกับนาเกลือ มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของชาวประมง” ก๊อกเล่า

ระบบนิเวศและภูมิปัญญาคือรากฐาน หากถูกรักษา ถูกเล่าต่อ ด้วยวิธีง่ายๆ เข้าหูง่าย เข้าปากง่าย จนถูกจดจำ มันจะเป็นภูมิปัญญาให้คนรุ่นใหม่ เป็นภูมิปัญญาในระดับที่จะทำให้เมืองรอดจากภัยพิบัติในอนาคต อีกทั้งการปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ 

“น้ำตาลมะพร้าวมันจะไม่อยู่แบบเดิม แต่ภูมิปัญญามันจะอยู่ดังเดิม เราจึงควรรักษาสิ่งที่ลึกไปกว่าวัตถุ” ฝ่ายศิลปกรรมคนเดิมย้ำ

นกยกมือขอเสริมเป็นตัวแทนเด็กบ้านสวน

“ในฐานะที่เราจากบ้านไปสามสิบปี เรากลับมา บ้านเมืองมันเปลี่ยน อย่างบ้านเราทำสวน ทำน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้แทบไม่มีเลย มันกลายเป็นน้ำตาลผสม (น้ำตาลทราย) นั่นแหละคือสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถามว่าแล้วเดอะมนต์รักแม่กลองเห็นอะไร อย่างเราเห็นว่าน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้กำลังจะสูญหาย ภูมิปัญญาเดิมๆ ที่เราเคยเห็นตอนเด็กๆ มันกำลังจะหายไปจริงๆ อยากให้มันอยู่มั้ย อยากให้มันอยู่ เราก็ต้องเล่าเรื่องนี้ให้คนรู้ว่าน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้มันดียังไง กระบวนการทำเป็นยังไง ถ้าคนข้างนอกรับรู้ หวังว่าเมื่อมีผู้บริโภค ผู้ผลิตจะกลับมา เมื่อผู้ผลิตกลับมา สวนจะได้รับการดูแล” 

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

สาวสวนมะพร้าวอย่างนกเล่าว่า สมุทรสงครามปัจจุบัน สวนถูกทิ้งให้รกร้าง การที่สวนถูกทิ้งรกร้างหมายความลำประโดงเอย ท้องร่องเอย จะตื้นเขิน เมื่อก่อนคนสมุทรสงครามใช้เรือในการสัญจร แต่ปัจจุบันลำประโดงตื้นเขิน ท้องร่องสวนก็ตื้นตาม ทำให้มีที่รองรับน้ำน้อยลง ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อระบบนิเวศ น้ำขึ้น-น้ำลงเหมือนเดิม แต่เมื่อที่รับน้ำน้อยลง ตัวเมืองแม่กลองจึงน้ำท่วมมากขึ้น ถ้าลองมองลึกๆ ปัญหาล้วนเกี่ยวพันกันไปหมด เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของเมือง เป็นเรื่องใหญ่ 

ดังนั้น ถ้าคนกลับมาทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างเดิม หนึ่ง น้ำตาลจะยังคงอยู่ สอง สวนและท้องร่องจะถูกดูแล ลำประโดงถูกใช้สอย แน่นอนว่าทางน้ำก็กลับคืนมา หากไปถึงวันนั้นได้ ระบบนิเวศของสมุทรสงครามก็จะกลับมา 

ข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างระบบสวน ไม่รวมถึงเรื่องประมงและอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น คนในพื้นที่จึงควรต้องมองเห็น แล้วหยิบขึ้นมาพูด 

“วันหนึ่งน้องก็จะเห็นว่าวันที่น้องเป็นเด็กอยู่ที่นี่ ก่อนจากบ้านไปท่องโลกมาจนทั่ว เมื่อกลับมาอะไรบางอย่างมันหายไป เมื่อรู้เสียแล้วเราจะทำยังไง นิ่งเฉยหรือค่อยๆ พูด ค่อยๆ บอก พวกเราคิดว่าจะทำอย่างหลัง ปลายทางมันไกลมาก แต่ไม่เป็นไร เราจะเดินไปทีละก้าว” เราสัมผัสถึงจิตวิญญาณในคำตอบของโปรดิวเซอร์สาว

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

สิ่งที่เดอะมนต์รักแม่กลองนำเสนอเป็นอย่างที่พวกเขาบอกไว้ “เราไม่ได้ทำค้าขาย เราต้องการเล่าเรื่อง” สินค้าเป็นเพียงปลายทาง ที่เมื่อคนรับได้กิน กินแล้วรับรู้ว่าดี ก็จะย้อนกลับมาสู่ความตั้งใจของคนรักแม่กลองรุ่นเดอะกลุ่มนี้ที่ต้องการจะบอกว่า สิ่งที่ดีได้นั้นเหตุเพราะมีต้นทางที่ดี คือเมืองที่เป็นแหล่งกำเนิดวัตถุดิบต้องมีระบบน้ำ ดิน ที่ดี

“สินค้านี้กำลังเป็นอนาคตของเรา อนาคตเราควรจะได้กินของดีๆ ใช่มั้ย ฉะนั้น เราก็ต้องกลับมารักษาสิ่งที่เรามีอยู่ ด้วยการบอกเล่าว่า ไอ้ที่คุณกินผลิตภัณฑ์ที่ผ่านโรงงานอุตสาหกรรม จริงๆ แล้วมันมีกระบวนการแปรรูป กระบวนการทำให้ไม่เน่าบูด แต่ถ้าเรากลับมาที่รากเหง้าของเรา ดิน น้ำ ลม ระบบนิเวศ ของเราดี เราจะได้กินของดีๆ นี้ต่อไปในอนาคต” หนูกล่าว 

คนรักแม่กลองจึงต้องกลับมา

มนต์รักแม่กลอง ไม่เพียงเป็นชื่อเพลงที่ขับร้องโดยนักร้องในตำนานวงการลูกทุ่งไทย ศรคีรี ศรีประจวบ คนสมุทรสงครามแต่กำเนิดที่มีนามสกุลในวงการอยู่อีกจังหวัด แต่ยังเป็นชื่อนิตยสารโดยกลุ่มคนเล็กๆ ที่เมื่อ 13 ปีก่อนลุกขึ้นมาจับปากกาเขียนหนังสือ พิมพ์นิตยสารราย 2 เดือนจำหน่าย และแจกให้ห้องสมุดโรงเรียนทั้งหมดในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม รวมถึงจัดกิจกรรมเชิงสังคม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความเข้มแข็งของสื่อท้องถิ่น ที่สะท้อนความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นชุมชนในแง่มุมต่างๆ ทั้งในจังหวัดสมุทรสงครามและท้องถิ่นอื่น

มนต์รักแม่กลอง เริ่มจากเรา พี่โจ และเพื่อนอีกคนหนึ่ง (สมิทธิ ธนานิธิโชติ) พวกเราที่เป็นคนตั้งต้น ถ้าไม่ได้รู้จักพี่เจี๊ยว (สุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกประชาคมคนรักแม่กลอง และเจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว) การเริ่มต้นอาจจะยากหรืออาจจะไม่ได้เป็นอย่างนี้ พี่เจี๊ยวเป็นคนช่วยพาเราเชื่อมโยงไปถึงใครๆ อีกมากมาย จนได้รู้จักพี่จิ๊บและได้ช่วยเหลือกัน เราไม่ได้มีกองบรรณาธิการชัดเจน เพราะไม่มีเงินเดือนจ้างใคร ทุกอย่างเป็นงานอาสาสมัคร พอต่อมา มนต์รักแม่กลอง เริ่มโตขึ้น เราอยากได้ทีมเพิ่ม ก๊อกก็สมัครมาช่วยทำงานเขียน” หนูผู้เป็นบรรณาธิการเล่า

แม้จิ๊บจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ แต่เธอว่า “รู้จักกันไว้ก็อุ่นใจดี พี่หนูกับพี่โจจะได้รู้สึกว่ารู้จักคนแม่กลองเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง”

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

“พี่นกนี่มารู้จักกันตอนทำเล่มท้ายๆ เพิ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ มนต์รักแม่กลอง เป็นน้องใหม่สุด” หนูเล่าต่อ

“น้องใหม่ที่อายุเยอะสุด” เจ้าตัวรีบต่อให้ 

การกลับมาครั้งนี้จึงมีนก หรือที่คนในวงการภาพยนตร์สารคดีรู้จักในฐานะผู้กำกับร่วมภาพยนตร์สารคดี เด็กโต๋ ที่ได้ไปฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานปี 2548 อยู่ในทีม และชื่อเดอะมนต์รักแม่กลองก็มาจากเธอ โดยเติมเดอะให้ดูใหม่ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาบอกว่า “เราคือเหล้าเก่าในขวดใหม่” ต่างหาก

“เราก็เหมือนเดิม แต่ชื่อใหม่นี้มันจะร่วมสมัยต่อไปในวันข้างหน้า” โจเสริมจากอีกมุม

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

“ช่วงที่เราหายไป ผลิตนิตยสารไม่ได้ เราร่ำลาคนอ่านของเรากันเป็นกิจจะลักษณะ ว่าถ้ามีโอกาสเราจะกลับมา เพราะอะไรที่มันจะเกิดขึ้นสักอย่างเหตุปัจจัยมันต้องพร้อม ตอนนั้นมีหลายๆ อย่างที่ทำให้เราไม่พร้อม เรามีภารกิจอื่นต้องทำจึงต้องเบรกแป๊บหนึ่ง แต่สิ่งอื่นที่เราทำก็ไม่ได้หลุดจากความเป็นมนต์รักแม่กลองเลย 

“เรากลับมาเมื่อปีที่แล้วด้วยเหตุผลเดิม เหตุปัจจัยมันกลับมาพร้อมกัน เรารู้สึกว่ามันน่าจะถึงเวลาที่เราจะทำอะไรกับมันด้วยสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว กลับมาทำหน้าที่เล่าผ่านเดอะมนต์รักแม่กลอง ตอนนั้นพี่เจี๊ยวยังอยู่ เราอยากให้เขาได้เห็นว่า มนต์รักแม่กลอง กลับมา ซึ่งเขาก็ทำงานกับเราจนช่วงสุดท้ายของชีวิต” บรรณาธิการนิตยสาร มนต์รักแม่กลอง และแอดมินร้านเดอะมนต์รักแม่กลอง กล่าวถึงการกลับมาครั้งนี้

ผู้ร่ายมนต์ชวนให้คนหลงรักแม่กลองประกอบด้วยสมาชิก 5 คนถ้วน ทุกคนมีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจน โดย หนู เป็นครีเอทีฟ Copywriter และแอดมิน โจ ทำหน้าที่ช่างภาพ และนักวาดภาพประกอบ ส่วน จิ๊บ รับผิดชอบบัญชี การเงิน นก ถูกแต่งตั้งให้เป็นโปรดิวเซอร์พ่วงผู้ควบคุมการผลิต และ ก๊อก นั้นชีวิตจริงเป็นสถาปนิก ชีวิตที่เดอะมนต์รักแม่กลองเป็นฝ่ายศิลปกรรมและฝ่ายข้อมูล 

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

และทุกคนก็มีตำแหน่งคลาสสิกพ่วงท้ายคือ “เบ็ดเตล็ด” ที่พวกเขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ 

“ในแต่ละตำแหน่งจะมีตัวช่วย เช่นโจเป็นนักวาดภาพประกอบ ก๊อกก็จะเป็นเหมือนผู้ช่วย มันจะโยงกัน ก๊อกเป็นฝ่ายข้อมูล หนูก็จะช่วยฝ่ายข้อมูล หนูเป็นครีเอทีฟ พี่นกก็จะมาช่วย วนกันแบบนี้ และทุกคนคือเบ็ดเตล็ด นี่คือเดอะมนต์รักแม่กลอง 

“เรามีองค์ประกอบที่ครบถ้วน ทีมนี้เราไว้เนื้อเชื่อใจกัน เราเหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน เราละทิ้งไอ้เรื่องจะมีปัญหากัน เพราะกอดคอกันมานาน สิ่งที่เรารู้สึกเมื่อเดินเข้ามาในกลุ่มนี้คือ เรากลับมาอยู่บ้าน เราเป็นนกที่กลับรังของตัวเอง ทีมนี้ก็บอกว่าพี่นกมาเป็นเดอะมนต์รักแม่กลองเถอะ พี่ก็ถามหนูว่า เอาจริงเปล่า ถ้าเอาจริงก็ต้องเดินกันไปยาวๆ นั่นก็คือการตัดสินใจแกะเชือกเรือที่ผูกไว้แล้วลงเรือมาด้วยกันห้าคน และช่วยกันพายไป นั่นคือจุดเริ่มต้นของเดอะมนต์รักแม่กลอง” นกที่ได้คืนรังเล่า

“เป็นส่วนผสมที่ลงตัว” เราทัก  

“เรียกว่าหลากหลายดีกว่า” ก๊อกว่า 

“เป็นกะปิ น้ำส้ม น้ำตาล เกลือ ที่มาอยู่ในครัวเดียวกัน” นกเหมือนจะสนับสนุนความคิดนั้น

หลังร้านเดอะมนต์รักแม่กลอง

จุดมุ่งหมายของเดอะมนต์รักแม่กลองคืออะไร-เรานึกสงสัย

“จุดมุ่งหมายที่พี่เจี๊ยวบอก” หนูตอบทันที

“ดำรงจุดมุ่งหมายเดิม” ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราตอบ

จุดมุ่งหมายเดิมที่ว่า คือเห็นคุณค่าของบ้านเมืองที่อยู่แล้วเล่าเรื่องผ่านอะไรก็แล้วแต่ และส่งต่อไม่ให้ถูกกระแสพัดพากระทั่งเสื่อมสลายหายไป เพื่อไม่ให้วันหนึ่งพอหมดคนรุ่นนี้ไปแล้วต้องมานั่งเสียดายว่าเรื่องนี้ ‘เคยมี’ แต่ไม่มีใครเล่าต่อ 

ชาวเดอะมนต์รักแม่กลองไม่ปรารถนาเล่าเรื่องด้วยวิธีเดิม เพราะคิดว่าสิ่งที่จะเล่าในครั้งนี้น่าจะกินได้ จับต้องได้ จึงตกผลึกมาเป็นการสื่อสารแบบใหม่ที่นำของกินไปให้คนชิม เพราะหลังน้ำส้ม น้ำปลา แต่ละขวดนั้นมีเรื่องราวมากมาย พวกเขาเชื่อเหลือเกินว่ามันก็จะผ่านน้ำตาล ผ่านน้ำปลา ผ่านน้ำส้ม ไปสู่ผู้อุดหนุนเหล่านั้นเอง

นอกจากคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดี เดอะมนต์รักแม่กลองยังให้ความรู้แก่ผู้บริโภค อย่างน้ำปลา ใครซื้อไปแล้วลองนั่งอ่านฉลาก ก็จะรู้ว่าหัวน้ำปลาแท้ ตราผู้ใหญ่แดง ทำจากปลาอกกะแล้ ที่ชื่อคุ้นหูหน่อยก็ปลาแฮร์ริ่ง จับเฉพาะฤดูหนาวโดยชาวประมงพื้นบ้านบางบ่อล่าง หมักตามภูมิปัญญาดั้งเดิม 1 ปีแบบไร้สารปรุงแต่งในโอ่งดินเผา ด้วยสูตรที่ผู้ใหญ่แดงพัฒนาขึ้นมาเองจนได้รสเค็มอมหวานตามธรรมชาติ

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม, ของดี แม่กลอง, ของฝาก สมุทรสงคราม

ฉะนั้น ถ้าหมดโอ่งนี้แล้วก็คือหมดเลย หากอยากกินคุณต้องรอ วิธีนี้เองที่จะสร้างให้ผู้บริโภครู้ว่าของดีต้องมีการรอคอย แล้วอีกอย่างเราไม่มีทางรู้ว่าปลาอกกะแล้จะหมดมั้ย หนาวไหนจะมีมากมีน้อย หนาวนี้อาจจะมีมาก หนาวหน้าอาจจะมีน้อยถ้าระบบนิเวศแปรผัน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้บริโภคล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ถ้าคุณอยากกินของดีคุณก็ต้องเข้าใจระบบทั้งหมด และต้องช่วยกันดูแล

“แน่นอน มันสอดคล้องกับภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรม ของคนที่นี่ และมันพร้อมที่จะเปลี่ยนไปได้เสมอตามกาลเวลา” โจบอก

มาถึงตรงนี้ เราเองที่เป็นคนขอยกมือถามข้อสงสัย

“สมุทรสงครามมีเตาตาลหลายแห่ง มีคนทำกะปิหลายเจ้า คนทำน้ำปลาหลายคน เลือกกันยังไงกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์เดอะมนต์รักแม่กลองช็อป”

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

“ของดีมันมาจากคนที่ดี คนเล็กๆ ที่เขาทำกินเองบ้าง ทำแจกบ้าง เพราะฉะนั้น เขาทำของดี คนพวกนี้ไม่ได้ค้าขายแบบแมส อย่างน้ำปลาแกไม่ได้ขายนะ เราไปขอให้แกเอามาขาย เป็นของแรร์ไอเทมทั้งนั้น แล้วชาวบ้านพวกนี้เขาอยากให้สินค้าตัวเองดีไปเรื่อยๆ ดีในแบบคุณภาพดี ไม่ใช่ปริมาณเยอะขึ้นหรือจะอัพราคายังไง คนเหล่านี้ไม่ได้คิดแบบนั้น” ก๊อกเฉลย

ไม่ใช่แค่ของดี คนที่ถูกคัดสรรเข้าบ้านเดอะมนต์รักแม่กลองล้วนแล้วแต่มีเรื่องราว เช่นผู้ใหญ่แดงที่ทำอะไรยิ่งใหญ่กว่าน้ำปลามากโข 

“ผู้ใหญ่แดงเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ทำงานอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว ชุมชนที่มีผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ทะเลมันจะกินพื้นที่หมู่บ้านแล้ว ผู้ใหญ่ก็คิดว่าจะทำยังไงให้ชาวบ้านจัดการเองได้ด้วย แล้วก็ไม่ทำให้ทะเลเสียด้วย จึงพัฒนาไม้ไผ่ปักกันและปลูกป่าชายเลนรับคลื่น ไม้ไผ่กันคลื่นเป็นแค่สิ่งชั่วคราว แต่ป่าชายเลนคือความยั่งยืนของชุมชน เขาคิดแบบนั้น 

“จากที่ทะเลเคยเซาะเข้ามา ตอนนี้เห็นภาพเป็นสีเขียวของป่าชายเลน ทรัพยากรเริ่มกลับมา ปลากระบอกกลับมา ปลากุเลากลับมา มีพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ ปลาอกกะแล้ก็ได้จากประมงพื้นบ้านชายฝั่ง ซึ่งมาจากแหล่งทรัพยากรที่พวกเขาสร้างมา แกก็เอามาหมักน้ำปลาตามภูมิปัญญาดั้งเดิมเก่าแก่” ฝ่ายข้อมูลแถลงให้เห็นภาพ

น้ำปลาหมักที่ว่าคนสมัยก่อนเรียกกัน ‘น้ำปลาดิบ’ ซึ่งในยุคนั้นคนแม่กลองแทบทุกหลังคาเรือนทำน้ำปลากินเองทั้งนั้น โดยเฉพาะบ้านชาวประมง พอถึงวันนี้เหลือใครรู้จักน้ำปลาดิบบ้าง 

“เรารับรู้ได้จากวันที่เราเปิดโชห่วยที่หนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม คนอายุเยอะหลายๆ คนบอกว่า เมื่อก่อนที่บ้านก็กิน ที่บ้านทำเอง ถามว่าแล้วตอนนี้แกหาได้มั้ยน้ำปลาดิบแบบนี้ แกก็หาไม่ได้แล้ว ถึงบอกว่าเป็นแรร์ไอเทม เพราะหาไม่ได้แล้ว แกรู้ด้วยนะว่าของแท้เป็นยังไง แต่แกทำกินเองไม่ได้ คนทำก็น้อยลง” จิ๊บเล่า

“มันประกอบด้วยกัน ก็คือคน ทรัพยากร ภูมิปัญญา” ก๊อกว่าอย่างนั้น 

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

“ผู้คนหมด ระบบนิเวศหมด ภูมิปัญญาหมด ก็คือจบ” นกว่าตาม

“น้ำปลาหยดหนึ่งมันคือทะเลทั้งทะเล เราจะเล่านั่นแหละว่าถ้าทะเลดี ประมงพื้นบ้านได้รับการดูแลอย่างดี เราหาของดีแบบนี้ได้” ก๊อกสรุป

เมื่อผู้บริโภคเริ่มต้นจากชิมน้ำปลา จะค่อยๆ ถอยมารู้จักผู้ใหญ่แดง แล้วก็มารู้จักสิ่งที่ผู้ใหญ่แดงทำ จนถึงเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่แดงทำว่ามีผลอะไร จากนั้นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็จะเล่าเรื่องสวนมะพร้าว ฯลฯ ต่อไป ซึ่งจะเป็นวงกลมให้เห็นภาพที่เป็นองค์ประกอบของทั้งจังหวัดสมุทรสงคราม

“จริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องของบ้านเราด้วยนะ มันคือเรื่องระบบนิเวศของทั้งโลก” หนูสำทับ

เป็นเรื่องระบบนิเวศของทั้งโลก ที่พวกเขาเล่าผ่านเมืองแม่กลอง

“จากแต่ก่อนที่คนทุกคนพึ่งพาอาหารของตนเอง พอโลกเปลี่ยนไป ทุกอย่างอยู่ในกำมือของคนไม่กี่คน เรากินสิ่งที่คนไม่กี่คนผลิตออกมาเยอะๆ แล้วทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นรากของเรา ทิ้งในที่นี้หมายถึงเราไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนั้น เช่นปลาไม่มีไม่เป็นไร มันอยู่ในขวดที่ไปหิ้วได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต เราจึงไม่ได้สนใจว่าไม่มีฤดูปลาผ่านแม่น้ำ ผ่านทะเลแล้ว เพราะมันมีอยู่ในขวดให้เราซื้อได้เสมอ คุณภาพเท่ากันทุกครั้ง” 

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

นี่ไม่ใช่อาการต่อต้าน แต่ด้วยว่าเราเป็นมนุษย์ที่มาจากธรรมชาติ ทว่าโลกที่สะดวกสบายกำลังพาเราไปไกลจากธรรมชาติเหลือเกิน ในที่สุด สิ่งแวดล้อมโลกจึงวิกฤต คนจึงเป็นโรคเรื้อรัง นี่คือชีวิตที่เราหาจริงเหรอ นี่คือโลกที่มุ่งไปสู่เหรอ เราอยากสะดวกสบายจนกระทั่งเรากลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดที่สุดงั้นเหรอ หนูตั้งคำถามกลับ

“เดอะมนต์รักแม่กลองไม่ได้พยายามเป็นพ่อค้าคนกลาง เราต้องไม่ทำหน้าที่นั้น และเราไม่ใช่นักอนุรักษ์ ไม่ได้ขายอดีต เราแค่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่แล้ว

“ในแง่การเลือกผู้ผลิต เขามีของของเขาอยู่แล้ว ในเชิงเทคนิค เรามองหาผู้ผลิตที่เขาไม่มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มตลาดแบบนี้ ถ้าเป็นผู้ผลิตที่มีคุณภาพ เขามีช่องทางการตลาดของตนเอง ก็ไม่เป็นไร แต่บางทีเห็นคุณป้า คุณย่า คุณยาย คุณตา ที่ทำของดีๆ มีคุณภาพ แต่เข้าไม่ถึงตลาด เราก็รู้สึกว่าเราช่วยทำหน้าที่นี้ได้ โดยไม่ใช่การไปซื้อของถูกมาขายคนรวย ไม่ใช่แบบนั้น เราให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” 

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นชัด คือน้ำตาลมะพร้าว มีคนมากมายในเมืองนี้ที่ทำน้ำตาลมะพร้าว แต่กลับทำน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้ไม่ได้ ไม่ใช่ทำไม่เป็น แต่เพราะมีราคาแพง ตลาดที่พวกเขาเข้าถึงคนคำนึงเรื่องราคามากกว่า ชาวสวนมะพร้าวจึงรู้สึกว่าทำแล้วไม่รู้จะเอาไปขายใคร ในขณะที่ชาวเดอะมนต์รักแม่กลองกลับรู้สึกว่าคนทำของดีสิหายาก พวกเขาจึงลงมือลงใจเชื่อมโยงให้คนกินได้มาเจอคนทำ โดยพึงระลึกเสมอว่าต้องทำหน้าที่นี้โดยที่ไม่แสวงหาผลกำไร 

ชั่วโมงต้องมนต์รักแม่กลอง

ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างในโชห่วยแห่งนี้เป็นของใช้จำเป็น มีที่มาที่ไปให้เล่าเรื่องได้ ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย ทำโดยภูมิปัญญา จากทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ผ่านการปรุงแต่งจนกลายเป็นสิ่งอื่น ไม่หวานเพราะเติมน้ำตาลทราย ไม่เค็มเพราะซอสปรุงรส เป็นอาหารธรรมชาติที่กำลังพาเรากลับไปสู่ภูมิปัญญาที่อยู่กับมนุษย์มาเป็นร้อยเป็นพันปี 

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

ยิ้มทั้งน้ำตาล

น้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้จากเตาตาลของชาวสวน ไม่ผสมน้ำตาลทราย และไม่เจือสารกันบูด

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

น้ำส้มหมักจากน้ำตาลมะพร้าว
ตรามิตรปรีชา

น้ำส้มจากน้ำตาลสดที่ได้จากดอกมะพร้าวในสวนอินทรีย์ หมักโดยไม่มีส่วนผสมอื่นใดในโอ่งดินข้ามปี

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

หัวน้ำปลาแท้ ตราผู้ใหญ่แดง

น้ำปลาดิบหมักแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมที่นับวันจะเลือนหาย จากปลาที่จับเฉพาะในฤดูหนาวตามวิถีประมงพื้นบ้าน ส่วนผสมหลักมีเพียงปลาและเกลือสมุทร หมักในโอ่งดินเผา 1 ปีเต็ม

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

กะปิเคยตาดำ ตราป้าบุญช่วย

กะปิจากเคยตาดำล้วน ไม่ผสมกุ้งหรือปลา โดยป้าบุญช่วย ชาวประมงพื้นบ้าน ที่ออกเรือไปป้องเคยเองและนำมาหมักกับเกลือสมุทรด้วยวิธีดั้งเดิม

สมุทรสงครามไม่ได้เป็นเพียงเมืองหอยหลอด ที่มียอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน หรือแค่ที่นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมเท่านั้น ในแต่ละมุมเมือง ริมคลอง เรือกสวน ท้องร่อง หรือชายเล ยังมีภูมิปัญญาซ่อนอยู่อีกมาก บนชั้นวางของโชห่วยร้านนี้จึงยังจะมีสินค้าอีกหลายชิ้นที่รอวันถูกค้นหาและหยิบยกมาเล่าเรื่องราว อย่างสินค้ารุ่นพี่ด้านบนเช่นยิ้มทั้งน้ำตาล ที่นับจากวันแรกจนถึงวันนี้เรื่องราวได้ถูกส่งต่อไปกว่า 2,000 กิโลกรัม ยังไม่รวมชิ้นอื่นๆ 

หากอ่านถึงบรรทัดนี้แล้วเริ่มน้ำลายสอ หรืออยากเป็นผู้ฟัง (และชิม) เรื่องราวน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้กิโลกรัมที่ 2,001 เพียงเข้าไปที่เพจ เดอะมนต์รักแม่กลอง สมุทรสงคราม แล้วเริ่มกระทำการช้อปปิ้งของดีแต่ละอำเภอได้ตามอำเภอใจ

“ถ้ายังไม่เจอสินค้าวางขาย ก็คือยังไม่มี ถ้ามีคือมั่นใจ” หนูย้ำความเชื่อมั่นในข้าวของทุกชิ้นที่ถูกส่งออกจากมือ

“เราเป็นแค่สื่อกลุ่มเล็ก กำลังเราน้อย เราก็ทำทีละน้อย แต่เรารู้สึกว่าตั้งแต่ต้นทางคือสินค้า มาจนกระบวนการที่ผ่านมือพวกเรา การแพ็กสินค้าแล้วนำไปส่งจนถึงมือผู้บริโภค สิ่งที่เราได้รับชัดเจนก็คือข้อความที่กลับมาหา แน่นอน อาจจะมีคนที่ชอบและไม่ชอบ หรือคนเฉยๆ เราไม่ได้ว่าอะไร แต่เสียงส่วนใหญ่ที่บอก เราสัมผัสได้ว่าเขารู้ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร 

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

“บางคนบอกว่า โห ไม่เคยกินรสชาตินี้มานานมาก โห น้ำตาลหอมมากค่ะ หรือคนเก่าแก่บอกว่า อันนี้เคยกินตอนเด็ก แต่หาไม่ได้แล้ว หรือแม้แต่การที่เราแพ็กของโดยพยายามไม่ใช้พลาสติกเลย ซึ่งยากมาก เวลาแบกไปขายมันหนักไปหมดเลย แต่เราก็พยายามทำ วัสดุกันกระแทกก็เป็นวัสดุธรรมชาติ คนถ่ายรูปกลับมา แจ้งกลับมาว่า ดีจังเลย ฟางเอาไปใช้ต่อได้ เสียงแบบนี้กลับมาเยอะมาก เยอะจนเราดีใจว่าสิ่งที่สื่อสารไปเขาได้รับนะ มีคนเห็น เชื่อเถอะว่าทำแล้วมีคนสัมผัสได้ แต่เรามันเป็นอย่างที่บอก เราเล็ก เราสื่อสารคนต่อคน แต่เราก็เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากพลังเล็กๆ”  

หากใครไม่เชื่อเรื่องความพิถีพิถัน เราคนหนึ่งเป็นพยาน ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นถูกบรรจงห่ออย่างประณีตด้วยกระดาษรียูส รองด้วยฟางแห้งที่แนบการ์ดบอกวิธีนำไปใช้ต่อ เราเชื่อเช่นกันว่าอย่างไรคนปลายทางต้องรับรู้ความตั้งใจนี้ได้

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

แล้วคนต้นทางสัมผัสถึงคุณค่าของสิ่งที่เขาทำหรือยัง-เราถาม

“เขาได้รับกำลังใจ รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมีคนเห็น และเขาก็มีกำลังใจที่จะทำต่อไป” หนูตอบ

“มันยืนยันคุณค่าอะไรบางอย่าง” เป็นจิ๊บที่เงียบฟังมานานเสริมพร้อมรอยยิ้ม

เดอะมนต์รักแม่กลองไม่ได้คิดการใหญ่เพื่อจะกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายขนาดใหญ่ เดอะมนต์รักแม่กลองแค่หวังให้คุณค่าจากคนตัวเล็กถูกมองเห็น เมื่อคุณค่าแท้ถูกมองเห็น ใครจะทำบ้างก็ได้ ไปซื้อของใครก็ได้ พวกเขามีหน้าที่เพียงนำเรื่องนี้มาบอกในฐานะที่บอกเป็น ทำงานสื่อสารเป็น 

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม, ของดี แม่กลอง, ของฝาก สมุทรสงคราม

“เราไม่ได้บอกว่าต้องมาเป็นลูกค้าเรา เราอยากให้ผู้ทำของดีมีช่องทางไป ให้ยึดมั่นในการทำสิ่งที่มีคุณภาพ คำนึงถึงคนกิน คำนึงถึงต้นทางยันปลายทาง คำนึงถึงป่า คำนึงถึงทะเลที่คุณไปจับปลา คำนึงถึงตอนที่มันเข้าปากคนกิน เรารู้สึกว่าอยากให้เกิดภาพนี้

“ในขณะกับคนกิน เราก็อยากให้รู้ว่าอะไรที่เป็นของดี ไม่ใช่ไม่รู้ว่าอันนี้คืออะไร มันไม่แฟร์ต่อผู้บริโภค เราเชื่อว่าต้องมีความซื่อสัตย์ ความเป็นธรรม กับทั้งระบบ ไม่ใช่แต่เฉพาะมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับโลก กับสิ่งแวดล้อมด้วย เราถึงจะอยู่ร่วมกันได้ มันเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก” หนูบอก 

หาของดีมาให้คนกินอิ่มท้อง พนักงานร้านนี้ล่ะอิ่มใจหรือยัง

“มันไม่มีอะไรที่ข้องใจ พอได้ลงมือทำแล้ว ไอ้ผลลัพธุ์มันยังไงไม่รู้ แต่นับจากวันนั้นมาก็ไม่ได้เสียดายเวลา” โจชิงตอบคนแรก ตามด้วยนก

“มันไม่มีคำว่าอิ่มสำหรับพวกเราหรอก อิ่มใจตรงไหนมันเป็นคำสมมติ พวกเราผ่านสมรภูมิรบมา มันมีแต่ว่าเราต้องทำเรื่องนี้กัน มันสรุปไม่ได้ว่าอิ่มใจ ทำไปทีละวันแล้ว เออ สนุกดี เหมือนชวนกันมาทดลองเล่นขายของ แทนที่จะเล่นคนเดียว” 

“งานทดลอง แต่ทำจริงจังนะ” จิ๊บพูดติดตลก 

“ผมอยากทำอะไรที่มีประโยชน์กับบ้านกับเมืองแค่นั้น รู้สึกว่าสิ่งนี้มันต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ต่อให้เหนื่อยมันก็ต้องทำ ไม่รู้ว่าจะไม่ทำไปทำไม ไม่ใช่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม แต่ไม่รู้ว่าทำไมถึงไม่ทำมากกว่า” ถึงไม่ได้หันไปมอง แต่เราเชื่อว่าทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยกับก๊อก

เดอะมนต์รักแม่กลอง สื่อชุมชนที่คัดสรรกะปิน้ำปลาดี มาเล่าเรื่องถิ่นแม่กลองให้คนชิม, สมุทรสงคราม

ที่เขาพูดกันว่าเมื่อไปเมืองไหนแล้วไม่ได้กินของดีเมืองนั้นเท่ากับไปไม่ถึงท่าจะเป็นความจริง เราอาจต้องกินให้รู้รส รู้คุณค่า รู้ความหมายจนถึงแก่นของที่นั้นๆ กินเพื่อให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังคงอยู่ 

นอกจากผลิตภัณฑ์ในโชห่วยเดอะมนต์รักแม่กลองจะกำลังทำให้ใครหลายคนกำเงินในมือแน่น โชห่วยร้านนี้อาจกำลังทำให้ใครหลายคนอยากกลับบ้านก็เป็นได้

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ