ในสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนี้ คงไม่มีข่าวอะไรที่ร้อนแรงไปกว่าข่าวโรคระบาด COVID-19 ที่ทำเอาคนทั้งโลกต้องปวดหัว เพราะการแพร่เชื้อที่รวดเร็วของเจ้าไวรัสวายร้ายตัวนี้ ความน่ากลัวของไวรัสส่งผลกระทบกับทุกอาชีพอย่างรวดเร็วไม่ต่างกับในหนังซอมบี้ ที่ถ้าคนหนึ่งโดนกัด อีกคนก็จะติดเชื้อต่อแทบทันที 

วงการหนึ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงในช่วงโรคระบาด ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสมาก เป็นวงการที่ชาวเน็ตทั้งหลายตั้งสโลแกนว่า 

“ใส่สบงแล้วทรงพลัง”  

พอจะนึกออกกันแล้วสินะ วงการที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ก็คือ ‘วงการพระสงฆ์’ นี่เอง

เรามีพระเพื่อนรูปหนึ่งชื่อว่า พระยุ่น

พระยุ่นเป็นพระอินดี้ที่สุดเท่าที่เราเคยรู้จักมา และเป็นขวัญใจของหมาวัด 3 ตัวที่มีนามว่า อารียา สมศรี และปองศักดิ์ ปัจจุบันประจำอยู่ที่วัดรัตนปัญญารังสิตย์ (วัดสันต้นดู่) จังหวัดเชียงใหม่ เดิมทีเป็นคนไทยใหญ่ จังหวัดลางเคอ รัฐฉาน แต่ตอนเด็กๆ อพยพหนีสงครามกับครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่ไทย จนกระทั่งตอน ป.6 พ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนหนังสือ พระยุ่นเลยได้มาบวชเรียนหนังสือที่วัดแทน รวมๆ แล้วพระยุ่นบวชมาประมาณ 13 ปีได้ และคิดว่าคงจะบวชต่อไปเรื่อยๆ เพราะเหตุผลหนึ่งที่พระยุ่นยังคิดไม่ตกถ้าต้องสึก คือไม่รู้ว่าสึกมาแล้วจะทำผมทรงอะไรดี

การปรับตัวของวัดและพระยุคใหม่ ให้ญาติโยมปลอดภัยในวาระ COVID-19

บุญก็อยากทำ ไวรัสก็กลัวติด

ถ้ามีคนกำลังเศร้าใจกับการโดนเลย์ออฟจากงาน ขอบอกเลยว่า You’re not alone. เพราะตารางกิจนิมนต์นอกของสงฆ์ยังโดนยกเลิกและเลื่อนออกไปจนว่างยาวไปถึงปีหน้าเช่นกัน

พระยุ่นเล่าให้ฟังว่า หลายอย่างที่ไม่เคยเห็นก็ได้มาเห็นกันในตอนนี้ ปกติแล้วพระจะได้รับเชิญไปสวดตามอีเวนต์ หลักๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ หรืองานทำบุญร้อยวัน ซึ่งเป็นงานที่คนมารวมตัวกันเยอะมากๆ แต่สถานการณ์ในตอนนี้ ชาวบ้านในชุมชนเองก็ต่างหวาดกลัวกับไวรัสกันทั้งนั้น บุญก็อยากมี แต่ก็กลัวกลายเป็นผีถ้ามารวมตัวกัน

การปรับตัวของวัดและพระยุคใหม่ ให้ญาติโยมปลอดภัยในวาระ COVID-19

 ดังนั้น เพื่อหาสมดุลให้ชาวบ้านสะดวกกายแต่ยังคงสบายใจ ก่อนหน้าที่รัฐบาลออกมาประกาศ ทางชุมชนเลยมีมาตรการให้ใช้หน้ากากอนามัยเป็นเสมือนการ์ดเชิญเข้าร่วมงานบุญ คนที่สวมหน้ากากก็มาร่วมงานได้ แต่ถ้าไม่มีหน้ากากก็ต้องขอให้ไปพักก่อน และประกาศรายชื่อคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้มาตรวจวัดไข้เป็นระยะๆ เพราะชุมชมละแวกนี้ญาติโยมมีครอบครัวอยู่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ค่อนข้างเยอะ

แม้แต่พลังของสบงที่ทรงพลังก็ยังไม่ช่วยให้พระหาหน้ากากเจอได้ง่ายๆ ต้องขอบคุณญาติโยมทั้งหลายที่ทำหน้ากากผ้ามาถวายที่วัดบ้าง พระสงฆ์เลยได้มีหน้ากากใช้ทั้งตอนปฏิบัติกิจและกวาดลานวัดกันฝุ่น เพราะตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาด หน้ากากอนามัยธรรมดาๆ ก็กลายเป็นของหายากที่เล่นซ่อนแอบกับคนในชุมชนทันที

เมื่อแตะตัวไม่ได้ จึงเกิดการกรวดน้ำแบบบลูทูธ

อีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคืองานศพ 

ในช่วงเวลาปกติ งานศพเป็นการรวมตัวของญาติโยมทั้งหลายที่มาร่วมพิธีอำลาผู้ที่จากไป พอเสร็จงาน ทุกคนก็มาล้อมวงกินข้าวกัน แต่พอ COVID-19 ระบาด ผู้คนก็เลิ่กลั่กที่จะร่วมโต๊ะและระแวงการทานอาหารร่วมกันมากขึ้น เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย งานศพเลยปรับเปลี่ยนโดยแบ่งอาหารเป็นจานใครจานมันแทน อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ คือหลายคนพกขวดน้ำ จาน ช้อน ส้อม จากบ้านมาร่วมงานเองด้วย 

พอทางการแพทย์ยืนยันว่าไวรัสติดต่อกันได้หากสัมผัสใกล้ชิด ก็ถึงเวลาแล้วที่ทางมนุษย์เราจะปฏิรูปวิธีกรวดน้ำ เมื่อก่อนพอพระขึ้นบทสวดว่า “ยะถา…” ญาติโยมทุกคนก็รู้หน้าที่ รีบตั้งจิตอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าใครไม่มีน้ำเป็นของตัวเอง เราก็แตะศอกคนข้างหน้าเพื่อมีส่วนร่วมในการแผ่กุศลได้ แต่พอตอนนี้มีประกาศให้ทุกคนช่วยกัน Social Distancing อยู่ให้ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร ชาวบ้านหลีกเลี่ยงการแตะเนื้อต้องตัวกัน การกรวดน้ำเลยแปรเปลี่ยนจากการแตะศอกแผ่กุศลต่อๆ กัน เป็นการส่งต่อกุศลผ่านอากาศเหมือนการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ โดยใช้วิธีการหงายมือ เว้นระยะห่าง ทำมือเหมือนแตะคนข้างหน้า แต่ไม่ได้แตะแทน

กุศลคงจะไปถึงเหมือนกัน แต่ก็แถมความปลอดภัยให้ตัวเองด้วย

การปรับตัวของวัดและพระยุคใหม่ ให้ญาติโยมปลอดภัยในวาระ COVID-19

สงกรานต์ในวัดกับโคโรน่าไวรัสที่ยังไม่หายไป

สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ชุมชนตั้งตารอว่าทางวัดจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ยังไงบ้าง พระยุ่นเล่าให้ฟังว่า ช่วงนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับเจ้าอาวาสว่าปีใหม่ไทยปีนี้ ทางวัดจะทำอะไรที่อิงหลักการป้องกันไวรัสตามวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจได้บ้าง

ปกติประเพณีปีใหม่เมืองถือเป็นการขึ้นจุลศักราชใหม่ในปฏิทินการนับของล้านนา ซึ่งปฏิบัติกันมาหลายร้อยปี กิจกรรมคือการรดน้ำดำหัวพระภิกษุสงฆ์ สามเณร คนเฒ่าคนแก่ในชุมชน เพราะคนล้านนาเชื่อว่าน้ำขมิ้นส้มป่อย (น้ำมนต์) ช่วยชะล้างสิ่งอัปมงคลได้ ทุกพิธีกรรมจึงมีสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบเสมอ

การปรับตัวของวัดและพระยุคใหม่ ให้ญาติโยมปลอดภัยในวาระ COVID-19

ถ้าปีนี้ทุกคนทำกิจกรรมร่วมกันไม่ได้ ทางวัดจะทำอะไรบ้าง เปิดบริการ Grab วัด ให้ตัวแทนแต่ละครอบครัวเอาสายสิญจน์มาต่อจากพระหัตถ์พระพุทธรูปแล้วลากกลับบ้าน ส่วนทางพระก็ทำน้ำมนต์แอลกอฮอล์ เพื่อให้ชาวบ้านที่มาวัดนำกลับเอาไปใช้ได้หรือไม่

นั่นเป็นสิ่งที่พระยุ่นและเจ้าอาวาสยังคงหารือกันอยู่

ส่วนการสวดมนต์ก็ต้องเปลี่ยนไป จากมาร่วมพิธีกรรมที่วัด ปีนี้ก็ให้ทุกคนอยู่บ้านฟังเสียงสวดเสียงเทศน์ผ่านลำโพงประชาสัมพันธ์หมู่บ้านแทน แต่ถ้าบ้านอยู่ไกลลำโพงไปหน่อย ก็เข้าเฟซบุ๊กดูไลฟ์ผ่านเพจวัดเพื่อเข้าถึงพิธีกรรม ก็คิดว่าน่าจะเจ๋งไม่ใช่น้อย 

ประชันศึกใหญ่ : บทสวดมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ปะทะเจ้าไวรัสจอมร้ายกาจ

ไม่มีทางสวดมนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากร่างกายไม่สงบปลอดภัย 

การสวดมนต์เป็นสิ่งที่ทำกันมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว เปรียบเสมือนการทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้า และช่วยทำให้จิตใจสงบไปในตัว มองอีกแง่หนึ่ง ชีวิตคนเราก็เหมือนเกม The Sims ที่นอกจากต้องการพลังกายที่เต็มหลอดแล้ว ก็ยังต้องการพลังใจในด้านอื่นๆ เป็นส่วนเสริม 

การฝักใฝ่พึ่งพาการสวดมนต์อย่างเดียวอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในสถานการณ์นี้นัก เพราะการทำแบบนั้น ไม่ต่างกับการตะโกนให้กำลังใจคนที่กำลังจะจมน้ำให้มีแรงฮึดว่ายน้ำเข้าฝั่ง ทั้งที่เขาอาจว่ายน้ำไม่เป็น 

พูดอย่างจริงจังในระดับมหภาค พระยุ่นคิดว่าการสวดมนต์เป็นวิธีการที่จำเพาะเจาะจงกับกลุ่มประชาชนกลุ่มเดียว ในประเทศไทยไม่ได้มีแค่ผู้นับถือพุทธศาสนาและเชื่อในวิธีการนี้ทั้งหมด ว่าด้วยโลกาภิวัตน์สากล การสวดมนต์ไล่โคโรน่าไม่ใช่วิธีการที่ได้ผล

การปรับตัวของวัดและพระยุคใหม่ ให้ญาติโยมปลอดภัยในวาระ COVID-19

Pick Up บุญแบบ 2 in 1

ปัจจุบันสิ่งที่วัดอยากได้การสนับสนุน คือเจลล้างมือและหน้ากากอนามัย (แม้จะฟังดูยากมากก็ตาม) เพราะในหลายชุมชนนอกตัวเมืองใหญ่ วัดเปรียบเสมือนสถานที่ที่เป็นหัวใจของชุมชน เวลาชาวบ้านทุกข์ยากเดือดร้อนก็พึ่งพาวัด และพอชาวบ้านมาวัด พระก็ไม่ได้แค่อยากให้ชาวบ้านได้บุญกับความสบายใจไปอย่างเดียว ในสภาวะแบบนี้ วัดอยากปรับตัวให้บุญแบบ 2 in 1 คือ ได้ทั้งบุญและมีเจลล้างมือขวดเล็กหรือหน้ากากอนามัย สำหรับให้ชาวบ้านหยิบกลับไปใช้ที่บ้านตัวเองด้วย 

พระเองก็เข้าใจว่าการมาวัดแต่ละครั้ง แม้ผู้คนพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงแค่ไหน และทางวัดทำความสะอาดอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ตาม แต่ยังมีบางอย่างที่ชาวบ้านเผลอสัมผัสร่วมกันอย่างลืมตัว เช่น ลูกบิดห้องน้ำหรือถาดใส่ของถวายพระ ถ้ามีอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันตัวเองจากไวรัสได้ ก็อาจทำให้ชาวบ้านสบายใจมากขึ้น 

อย่าลืมว่าช่วงนี้เราควรปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้สิ่งของร่วมกัน เว้นระยะห่างกันเกิน 2 เมตร 

“อ้าว พระยุ่น แล้วงี้ชาวบ้านจะตักบาตรยังไงล่ะ” เราถามขึ้นมาด้วยความสงสัย

“เอ่อ…สั่งแกรบมาส่งที่วัดเอาละกัน เดี๋ยววิดีโอคอลไปให้พร” พระยุ่นตอบแบบติดตลก

อื้ม… นี่สินะ รวมกันเราไม่อยู่ แยกหมู่ปลอดภัยกว่า สาธุ

การปรับตัวของวัดและพระยุคใหม่ ให้ญาติโยมปลอดภัยในวาระ COVID-19

Writer & Photographer

Avatar

วิศัลลยา เกื้อกูลความสุข

นักเรียนไทยในต่างแดน มีความฝันว่าอยากทำงานด้านท่องเที่ยวและเล่นดนตรีไปรอบโลก