17 กุมภาพันธ์ 2020
4 K

เราออกเดินทางด้วยเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway) จากกรุงปักกิ่งมุ่งหน้าไปเมืองอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย จอดหยุดพัก 9 สถานี รวมระยะทางไกล 1,500 กิโลเมตร ใช้เวลานั่ง กิน และนอนบนรถไฟรวมแล้ว 29 ชั่วโมงกว่าๆ ได้ชิมอาหารมองโกเลียบนรถไฟไป 6 มื้อ เป็นมื้อจืดๆ แอบมันนิดๆ มีเนื้อแพะ แกะ วัว ผัดผสมกับผักหลายชนิด กินไปก็นั่งละเลียดไปเรื่อยๆ เหมือนได้นั่งอยู่ในแกลเลอรี่ชมภาพวาดจากธรรมชาติ ทั้งท้องฟ้าสีฟ้าจัดตัดกับผืนดิน ภูเขาสีน้ำตาลเข้ม ทุ่งหญ้าสเตปป์สีเขียวกับฝูงวัว แพะ ม้า และจามรี ที่มาโชว์ตัวให้เห็นบ่อยๆ สมฐานะประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘Land of Steppes and Blue Sky’

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

จุดหมายปลายทางนี้มีไฮไลต์อยู่ 3 อย่างคือ นั่งรถไฟ นอนเกอร์ และตามไปดู ‘เทศกาลนาดัม’ (Naadam Festival) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ใน ค.ศ. 2010 ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (The Intangible Cultural Heritage of Humanity)

เรื่องของมองโกเลียที่เราจำได้ตั้งแต่เด็กๆ ส่วนใหญ่มาจากหนังจีนกำลังภายใน ทำให้เรารู้ว่า มองโกเลียเป็นดินแดนของนักรบชื่อ ‘เจงกิสข่าน’ ชาวมองโกลกับชาวฮั่นไม่ค่อยลงรอยกัน ชุดของตัวละครชาวมองโกลสวยสะดุดตาเสมอเพราะสีสันที่สดใสจัดจ้าน

หาข้อมูลมาคร่าวๆ ก็ได้รู้ว่า ‘เจงกิสข่าน’ มีความหมายว่ากษัตริย์แห่งจักรวาล เป็นชื่อตำแหน่งยกย่องให้กับนักรบเตมูจิน ผู้นำกองทัพคนแรกที่รวบรวมชนเผ่ามองโกลให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

ว่าแล้วก็คิดเล่นๆ ว่า ถ้าย้อนไปเกือบ 1,500 ปี บนทะเลทรายโกบีที่มีแต่แกะ ม้า วัว อูฐ และแพะ อยู่เป็นเพื่อนกับชาวมองโกลที่ออกเดินทางเร่รอนอย่างน้อยปีละ 2 – 4 ครั้ง หรือเรียกว่าวิถีชาวโนมัด (Nomad) เป็นการย้ายบ้านเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดในสภาพภูมิประเทศและอากาศที่แปรเปลี่ยน การที่เจงกิสข่านรวบรวมชาวมองโกลที่อยู่กันกระจัดกระจาย และยังขยายอาณาจักรด้วยการยกกองทัพไปตีเมืองอื่นๆ นั่นคือแสนยานุภาพความยิ่งใหญ่ของกองทัพเจงกิสข่านในยุคที่ยังไม่มีขีปนาวุธ ดาวเทียมจับสัญญาณ และอาวุธสงคราม

เทศกาลนาดัมกำลังเป็นไทม์แมชชีนพาเราย้อนไปดูว่าในยุคนั้นเขาฝึกฝน ใช้กลยุทธ์ไหวพริบต่อสู้กันอย่างไรจนประวัติศาสตร์โลกต้องจารึก

สนามประลองฝีมือของเหล่าจอมยุทธ

สภาพภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าสลับทะเลทรายและใช้ชีวิตแบบเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาล เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ได้เพาะปลูก แต่เน้นเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นทั้งอาหาร เสื้อผ้า ยา เหมือนเป็นปัจจัย 4 และสัตว์เลี้ยงพวกนี้ยังเป็นเหมือนเพื่อนด้วย เลี้ยงแพะเพื่อเอาขนมาทำเสื้อผ้าและเก็บนมไว้ดื่ม เลี้ยงอูฐ เลี้ยงม้าไว้ใช้เดินทาง เลี้ยงอินทรีทองเพื่อฝึกล่า หมดภารกิจเลี้ยงดูไล่ต้อนฝูงสัตว์ก็ได้เวลาบันเทิงใจ กีฬายิงธนู มวยปล้ำ ขี่ม้า ก็เลยเป็นเกมสนุกๆ แข่งขันกันในชนเผ่า

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล
นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

แต่พอถึงคราวศึกยกทัพของเจงกิสข่านเกิดขึ้น สัตว์เลี้ยงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ ชาวมองโกลกลายเป็นนักรบ เกมกีฬาที่เล่นกันเป็นประจำก็เลยถูกยกระดับจนกลายเป็นหลักสูตรรบพิเศษที่ชายชาติทหารมองโกลต้องฝึกภาคสนาม ทดสอบความอึด ความแข็งแรง ทักษะออกรบ และค่อยๆ แปรเปลี่ยนกลายเป็นเทศกาลนาดัม เทศกาลเฉลิมฉลองประจำชาติในทุกวันนี้

คำว่า ‘นาดัม’ แปลว่า เกมกีฬา 3 ประเภทของผู้ชาย (The Three Games of Men) คือมวยปล้ำ ยิงธนู และขี่ม้า เป็นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (The Intangible Cultural Heritage of Humanity) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ใน ค.ศ. 2010

เรานั่งอยู่ในสเตเดียมใจกลางเมืองอูลานบาตอร์ ในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของเทศกาลนาดัมที่จัดเป็นประจำในวันที่ 11 – 13 กรกฎาคมของทุกปีนับตั้งแต่ ค.ศ. 1921 ความสำคัญของเทศกาลนี้เห็นได้จากการที่มีผู้ใหญ่ของประเทศทั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้แทนรัฐสภา มาร่วมงาน

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล
นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล
นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

แน่นอนว่าทุกอย่างจัดแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรมองโกเลีย ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ ขบวนพาเหรดกองทัพมองโกลโบราณทั้งเก้าชนเผ่ามาพร้อมกับอาวุธต่อสู้สมัยก่อน ผู้นำกองทัพขี่ม้าเข้ามาพร้อมเสียงโห่ร้องปลุกใจจากทหารหลายพันคน จังหวะควบม้ากับเสียงตึกๆ ดังระรัว ฝุ่นตลบ เสียงดาบฟันกัน เหมือนฉากรบฉากหนึ่ง แค่นี้เรายังนั่งงงไม่รู้จะมองทางไหนดี แล้วก็คิดว่า เจงกิสข่านวางหมากคุมเกม คุมกำลังคนนับพันนับหมื่นในสนามรบให้รวมใจ รวมพลังต่อสู้ได้ยังไง

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล
นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

ส่วนบรรยากาศข้างนอกสเตเดียมเหมือนมหกรรมงานวัดที่รวมทุกความบันเทิงและความอร่อยสไตล์มองโกล โดย 3 เนื้อหลัก เนื้อแพะ เนื้อแกะ และเนื้อม้า เมนูเบาๆ ที่พอกินได้อย่างขนมจีบเนื้อแพะ เกี๊ยวทอดไส้เนื้อ แป้งทอดไส้เนื้อ นมแพะไอรัก (Airag) แถมด้วยชุดประจำชาติแบบจัดเต็ม สวมหมวกดีไซน์ รองเท้าบูตสลักลวดลายโบราณ เครื่องประดับโบราณสีสันสวยงาม ทั้งผู้เฒ่า ผู้น้อย พร้อมใจกันใส่มาเพื่อเทศกาลนี้โดยเฉพาะ และทุกคนก็ยินดีให้คนต่างถิ่นอย่างเราๆ ได้ถ่ายรูปสนุกสนาน

3 เกมของชนเผ่านักรบ

มวยปล้ำ ยิงธนู และแข่งม้า คือ 3 ทักษะประจำตัวที่นักรบมองโกลใช้เผด็จศึกศัตรู อย่างมวยปล้ำ เป็นการฝึกฝนความแข็งแรง การเคลื่อนไหว และความยืดหยุ่น สายตาที่เหมือนเหยี่ยว แม่นยำ และมือที่ดึงคันธนูออกมาเพื่อหาจังหวะยิง ในขณะที่การขี่ม้า คือการฝึกจังหวะทรงตัว ความว่องไว และความกล้าหาญในการควบม้าวิ่งทะลุทะลวงข้าศึก

ระยะใกล้ใช้ยุทธวิธีของมวยปล้ำล้มคู่ต่อสู้ ระยะไกลมีธนูและม้าเป็นอาวุธสำคัญ บวกกับการวางหมากยุทธวิธีเผด็จศึก ทำให้กองทัพเจงกิสข่านเข้าตีเมืองได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

เสียงโห่ร้องปลุกใจดังกระหึ่มท่ามกลางกองทัพทหาร กองทัพม้า ยุทโธปกรณ์สำหรับการออกศึกยุคโบราณ เป็นสัญญาณว่าได้เวลาที่เหล่าจอมยุทธผู้กล้าลงสนามประลองยุทธเพื่อชิงชัย

มวยปล้ำ มรดกสายเลือดนักสู้

มวยปล้ำ กีฬาดึกดำบรรพ์ของคนมองโกลที่มีมานานถึง 2,000 ปี เป็มเกมที่ทดสอบความแข็งแกร่ง ใช้พละกำลัง และสงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น เพราะมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยโบราณมีนักมวยปล้ำลงแข่งและกลายเป็นผู้ชนะ มารู้ทีหลังว่าเป็นผู้หญิงมาลงแข่งแทนพ่อที่อายุเยอะแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาจึงมีการออกกฎไว้ว่า นักมวยปล้ำจะต้องใส่ชุดเปิดอก

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล
นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

ชายฉกรรจ์ร่างใหญ่บึกบึนหลายสิบคนเดินเรียงแถวลงสนาม พวกเขาใส่ชุดมวยปล้ำสมัยโบราณ เปลือยอก กางเกงขาสั้น ใส่ปลอกแขนหนังสลักลวดลายโบราณ และสวมรองเท้าบูต ก่อนการแข่งขัน นักมวยปล้ำจะเต้นรำที่มีท่าทางคล้ายนก เช่น นกอินทรี เหยี่ยว ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสง่างาม ความแข็งแกร่ง และชัยชนะ

มวยปล้ำของมองโกเลีย เป็นเกมกีฬาที่ฟรีสไตล์มากๆ เพราะไม่จำกัดอายุ ไม่แบ่งระดับน้ำหนัก ขอแค่ทำยังไงก็ได้ให้อวัยวะที่เหนือกว่าหัวเข่าของคู่ต่อสู้สัมผัสกับพื้นได้ ถือว่าชนะทันที คนที่ชนะจะได้รับเกียรติประวัติยกย่องตามรอบที่ชนะ เช่น ชนะในรอบ 5 ได้ตำแหน่ง ‘เหยี่ยว’ รอบ 7 – 8 ได้ตำแหน่ง ‘ช้าง’ รอบ 10 – 11 ได้ตำแหน่ง ‘สิงโต’

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

นักแม่นธนูนัยน์ตาเหยี่ยว

เด็กชาวมองโกลถูกฝึกให้ยิงธนูเพื่อล่าสัตว์ ในสมัยเจงกิสข่าน ธนูของพวกเขาเป็นอาวุธที่น่าสะพรึงของศัตรู มีหัวธนูที่แข็งมาก คันศรที่ถูกตึงด้วยเอ็นของวัวและม้า ทำให้ใช้แรงง้างน้อย บวกกับเทคนิคยิงบนหลังม้าและความแม่นยำ ยิ่งทำให้ธนูของชาวมองโกลยิงได้ไกล เร็ว และตรงเป้า

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

พอมาเป็นเกมแข่งขันในเทศกาลนาดัม กฎกติกาเปิดกว้างให้ลงแข่งได้ทั้งชายและหญิง แตกต่างกันที่ระยะห่างจากเป้า ผู้ชายจะยิงธนูในระยะ 75 เมตร ส่วนผู้หญิงจะแข่งในระยะ 65 เมตร หนึ่งทีมมี 10 คน มีลูกธนูคนละ 4 ดอก

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

เราได้เห็นถึงความเท่ (มาก) ของคุณน้าคุณป้าชาวมองโกลที่ใส่ชุดประจำชาติลงแข่ง อกผายไหล่ผึ่ง จังหวะการค้างคันศรแล้วเล็งยิงไปที่เป้า ใช้ความนิ่งสยบ เด็ดขาด ยิงแม่นจนเหมือนหลับตายิงทะลุเป้า

นักรบบนหลังม้า

ม้าเป็นกำลังสำคัญในการพิชิตศึกของกองทัพเจงกิสข่าน

ว่ากันว่าคนมองโกลเกิดและตายบนหลังม้า ทั้งใช้เป็นอาหาร ขนของ ใช้ขี่ต้อนดูแลฝูงแกะ แพะ เป็นบุรุษไปรษณีย์ส่งข่าว เด็กๆ หัดขี่ม้าพร้อมๆ กับหัดเดิน พอโตขึ้นยังถูกฝึกให้ยิงธนูบนหลังม้าเพื่อออกรบ

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

ม้ามองโกลเป็นม้าตัวเล็ก แต่แข็งแรงมาก เพราะถูกฝึกตั้งแต่อายุยังน้อยเหมือนกับคน ที่สำคัญ พวกเขานับถือม้าเป็นเพื่อนชีวิต นมของแม่ม้าคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาจะเทเหล้าใส่แผงคอม้า เพราะแผงคอของม้าคือสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง เลือดของม้าคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาอยู่รอดในยามออกรบและไม่มีอะไรจะกิน

สนามแข่งม้าต้องนั่งรถออกไปนอกเมือง มีสภาพคล้ายทุ่งแข่งม้า เหมือนรวมทุกๆ อย่าง มีทั้งกองทัพม้า นักกีฬาทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก จ็อกกิ้งม้าเดินวิ่งปะปนไปกับคนที่มาร่วมงาน บ้างก็โชว์ลีลาบนหลังม้า บ้างก็อุ่นเครื่องควบม้าเรียกพลัง มีบางกลุ่มนั่งปิกนิก สนุกกับเกมกีฬาอื่นๆ เช่น ยิงธนู

จุดที่ทำให้รู้ว่านี่คือสนามแข่งม้าแล้ว ก็คือแผงกั้นแนวยาวสำหรับกองเชียร์

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

จังหวะที่กำลังสนุกกับนัดแรกของการแข่งขัน ด้านหลังก็มีเสียงม้าร้องดังสนั่น หันไปเห็นม้ายกสองเท้าหน้าหมุนตัวเหวี่ยงไปมา ไถลลื่นจนเจ้าหนูตัวน้อยตกจากอานและถูกเหยียบหลายตลบ ตัดมาอีกทีเห็นภาพเด็กผู้ชายนอนแน่นิ่งบนพื้น อยากวิ่งหนีให้เร็วที่สุดด้วยความกลัวแต่สองเท้าก้าวไม่ไป เห็นแต่ภาพชาวบ้านมาเดินวนเวียนรอบตัวเด็ก ไม่นานนักเด็กน้อยร่างแกร่งก็ลุกขึ้นยืนและเดินเองได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เพิ่งได้เห็นกับตาว่า คำว่า ‘ม้าดีดกะโหลก’ เป็นอย่างนี้นี่เอง

พักรบ พักใจ

พักจาก (ชม) ศึกการแข่งขัน ได้เวลากลับฐานทัพ บ้านของคนมองโกลที่เรียกว่า ‘เกอร์’ เป็นกระโจมทรงกลมตั้งอยู่กลางทุ่งหญ้า ดูจากข้างนอกไม่ใหญ่มาก แต่ข้างในแบ่งสัดส่วนเหมือนบ้าน มีครบทุกอย่าง และก็พร้อมเก็บรื้อถอนทุกอย่างพอถึงฤดูโยกย้าย

เราออกมานั่งล้อมวงคุย จิบนมไอรักอุ่นๆ ในคืนอากาศหนาวเย็น จุดเล็กๆ ของดาวเต็มท้องฟ้า นึกจินตนาการเวลาศึกสงครามของชาวมองโกล อย่างคืนนี้พวกเขาคงต้องมาช่วยกันวางหมากพลิกเกมต่อสู้ ร่างกายต้องอึด ใจต้องสู้ แถมยังทำงานเป็นทีมกับคนอื่นๆ ในกองทัพ วันที่อยู่สนามรบ ทุกทักษะจะต้องถูกนำมาใช้ ไม่ใช่เพื่อให้แค่อยู่รอด แต่ต้องชนะด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ใจ’ ที่สงบนิ่ง สู้ด้วยสมอง สำหรับเหล่านักรบ…ใจคือ ‘กระบี่’ กระบี่อยู่ที่ ‘ใจ’

นั่ง รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ไปเทศกาลนาดัม เทศกาลแข่งกีฬาดึกดำบรรพ์ของชนเผ่านักรบมองโกล

ภาพ : กิตติชาติ โพธิทัต และพรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

พรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ

สนุกกับงานสื่อสาร สุขกับการเดินลัดเลาะซอกซอย และอยากเป็นคนเล่าเรื่องที่ดี