ธุรกิจ : คณะสิงโตมังกรหยก

ประเภทธุรกิจ : บริการ

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2494

อายุ : 70 ปี

ผู้ก่อตั้ง : อากงซินจั๊ง แซ่อุน

ทายาทรุ่นสอง : คุณพ่อสุเทพ เกรียงไกรรัตน์

ทายาทรุ่นสาม : กัญญารัตน์ เกรียงไกรรัตน์

ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม

ตุ้งแช่ ๆ ตุ้งแช่ ๆๆ … ตุ้งแช่ ๆ ตุ้งแช่ ๆๆ

เสียงจังหวะไม้กลองกระทบสลับฉาบ ควันธูปลาง ๆ ผลไม้น้อยใหญ่ผลเด้งสีสดวางเรียง บรรยากาศเฉลิมฉลองละแวกศาลเจ้า เหล่านี้คงเป็นภาพจำของคณะเชิดสิงโตที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หนึ่งในประเพณีการเต้นรำของจีนนี้มักจัดขึ้นในโอกาสสำคัญเท่านั้น

แต่ไม่ใช่กับ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตระดับตำนานเก่าแก่ประจำอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ชื่อของที่นี่เป็นที่เลื่องลือและสืบทอดมาตั้งแต่สมัย อากงซินจั๊ง แซ่อุน มาที่ อาเตี่ยสุเทพ เกรียงไกรรัตน์ จนถึงทายาทรุ่นสามอย่าง เกี๊ยว-กัญญารัตน์ เกรียงไกรรัตน์ หลานสาวของอากงและลูกสาวของอาเตี่ยที่ตัดสินใจมารับช่วงต่อ พร้อมก้าวออกจากกรอบเดิม และสร้างภาพจำใหม่ให้คณะเชิดสิงโตที่ไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าศาลเจ้าอีกต่อไป เธอทำให้เกิดภาพของสิงโตในคอนเสิร์ต สิงโตในสถานบันเทิง สิงโตในห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงงานเปิดตัวแบรนด์นาฬิการะดับโลกอย่าง Patek Philippe ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้การเชิดสิงโต

เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบันมากขึ้น 

ภาพจำของคณะเชิดสิงโต ส่วนมากจะเป็นงานของผู้ชาย ด้วยเป็นงานที่ต้องใช้พละกำลังและต้องแบกน้ำหนักของหัวสิงโต แต่ทายาทรุ่นสามผู้หญิงคนเดียวของตระกูลกลับลบภาพนั้น แล้วแทนที่ด้วยภาพผู้หญิงคนแรกที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะ เป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นกระบอก และเป็นผู้หญิงคนแรกที่บริหารคณะสิงโตภายใต้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบโชว์ กลุ่มลูกค้า รูปแบบการนำเสนองาน และเอกลักษณ์ของสิงโตคณะมังกรหยก แสดงให้เห็นว่าทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าใครก็ทำสิ่งที่ตัวเองปรารถนาได้ ขอแค่ตั้งใจและมีใจรัก 

ระหว่างทางของเธอจึงเต็มไปด้วยความท้าท้ายและบททดสอบมากมาย เป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองให้ได้มาซึ่งการยอมรับในผลงาน และส่งต่อตำนานของคณะมังกรหยกให้ยังมีลมหายใจต่อไป

ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม

ลมหายใจของมังกรหยก 

ตำนานของมังกรหยกมีลมหายใจมากว่า 70 – 80 ปี ตั้งแต่สมัยรุ่นอากง ชาวจีนผู้หอบหิ้วเสื่อผืนหมอนใบ อพยพมาลงหลักที่ตลาดสามพราน ปักฐานริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน อากงเป็นนักเชิดสิงโตเก่า ด้วยความเพียรจึงอุตสาหะก่อตั้งคณะเชิดสิงโตขึ้น ชื่ออ่านออกเสียงตามตำราจีนว่า หลง-ยู่ หรือที่เรียกกันว่า ‘มังกรหยก’

ภาพถ่ายเก่า ๆ ที่คงอยู่ เล่าถึงความรุ่งเรืองของยุคนั้นได้เป็นอย่างดี เสาต่อขึ้นไปสูงเสียดฟ้า มีการนำสิงโตออกโชว์หลาย ๆ หัวอย่างทรงพลัง งานจัดยิ่งใหญ่อลังการและคนดูล้นหลามจนล้นเฟรม เป็นอันรู้กันดีในสมัยนั้นว่าถ้าตรุษจีนเมื่อไหร่ ต้องเรียกใช้บริการมังกรหยก

หลังจากอากงวางมือ ก็ได้ส่งไม้ต่อให้กับทายาทรุ่นสองอย่างรุ่นอาเตี่ย ในยุคนั้นมังกรหยกก็เฟื่องฟูไม่แพ้กัน เกี๊ยวจำความได้ว่าไม่มีอาทิตย์ไหนที่เตี่ยว่าง เพราะมีงานจับจองไม่เว้นสัปดาห์ เหนือใต้ออกตก มังกรหยกรุ่นอาเตี่ยได้ไปสร้างตำนานไว้หมดแล้ว ส่วนมากเป็นงานใหญ่ตามจังหวัดต่าง ๆ และมีมาเรื่อย ๆ ไม่ขาดสาย

คณะสิงโตมังกรหยกได้เชิดดังกังวานสู่ทายาทรุ่นสามอย่างเกี๊ยว หญิงสาวที่เติบโตมาพร้อมกับเสียงกลอง หัวสิงโต และการออกงานมงคลทุกครั้ง ประหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เกี๊ยวคลุกคลีกับคณะเชิดสิงโตตั้งแต่ยังเด็ก เธอตามเตี่ยไปมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในโชว์ด้วยทุกครั้ง ใบหน้าเปื้อนยิ้มและความสดใสของเด็กหญิงที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แลกมากับซองอั่งเปาเป็นรางวัลติดตัวกลับมามาทุกครั้ง สิ่งนี้ทำให้หญิงสาวรู้สึกดีและผูกพันกับคณะเชิดสิงโตอย่างแนบแน่น จนสานต่อมาถึงทุกวันนี้

ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม

หงส์เชิดมังกร

หลังจากเกี๊ยวเรียนจบคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เธอได้ทำงานตำแหน่ง Visual Merchandiser ให้แบรนด์ดังต่าง ๆ อยู่พักใหญ่ ใช้ชีวิตเดินทางตามความฝันจนมาถึงจุดหนึ่ง จุดที่รู้สึกอยากกลับบ้าน อยากมาอยู่กับแม่ เมื่อได้กลับบ้าน ภาพบรรยากาศการเชิดสิงโตในความทรงจำจึงฉายชัดเจนขึ้นอีกครั้ง

เธอเข้ามาปรับปรุงคณะสิงโต 3 เรื่องใหญ่ ๆ

แรกสุด เกี๊ยวคิดว่าสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ คือต้องก้าวให้เท่าทันยุคสมัย สิงโตมังกรหยกมีความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ เธอยังคงสานต่อพิธีดั้งเดิม พร้อมนำความมงคลนี้มาขยายกรอบให้กว้างขึ้น ปรับลุคของคณะ พัฒนาทั้งคน สิ่งของ และแนวคิดให้เข้ากับกระแสสังคม อย่างในสังคมปัจจุบัน กระแสโซเชียลมีอิทธิพลกับผู้คนเป็นอย่างมาก เกี๊ยวจึงจับจุดนี้มาพลิกให้เข้ากับคณะสิงโตของเธอ 

“ตอนนั้นเกี๊ยวทำโชว์สิงโตโซเชียล ช่วงนั้นคนชอบก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ เกี๊ยวก็เลยครีเอตโดยการให้แป๊ะซิ้มมาเป็นตัวแทนคนแบบเรา ก้มหน้าเล่นไอโฟนอันใหญ่ ๆ สื่อถึงมือถือ สิงโตก็ไปเขี่ย ๆ เรียกก็ไม่สนใจ ปกติแป๊ะซิ้มต้องเล่นคู่กันกับสิงโต พาสิงโตเดินไปตรงนั้นตรงนี้ แต่อันนี้แตกต่าง”

ถัดมา เกี๊ยวใช้ทักษะและความรักในศาสตร์การออกแบบมาปรับให้เข้ากับสิงโต โดยการออกแบบหัว หาง และตัดเย็บชุดเอง ปรับให้น่ารักและมีสตอรี่หลากหลายขึ้น เอกลักษณ์เหล่านี้ถ้าเห็นแล้วรู้เลยว่านี่คือมังกรหยก ชุดและหางสิงโตตัดเย็บพิเศษจากผ้าไหมจีน ประดับด้วยคริสตัลแวววาวหลากสี หัวสิงโตมีหลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า 

ถ้าอยากได้ความน่ารักเป็นซิกเนเจอร์ คือ สิงโตน้องเป็ดฟ้า สิงโตขาวเงิน ถ้าเน้นความมั่งคั่งร่ำรวย นำโชคลาภมาให้ เสริมสิริมงคล สมปรารถนา หรือให้มีเงินทองเต็มบ้านและความเจริญรุ่งเรือง เชิดสิงโตเจ็ดสีจักรพรรดินีเขาหงส์ แต่ถ้าอยากได้ความดุดัน น่าเกรงขาม แฝงด้วยความหมายมงคล ซื่อสัตย์ คุณธรรม ขับไล่สิ่งไม่ดี เสริมอำนาจวาสนา ความเป็นมงคลให้แก่สถานที่นั้น ๆ และผู้พบเห็น ก็ต้องหัวสิงโตเทพเจ้ากวนอูปางออกศึกธงมังกร นอกจากนี้ยังมี สิงโตแดงเขานก สิงโตทองแดงเพลิง สิงโตทองจักรพรรดิเขามังกร และหัวสิงโตใหม่ ๆ ตามวาระโอกาส ติดตามได้ที่เพจ มังกรหยก สามพราน

อีกหนึ่งข้อ เมื่อก่อนสิงโตมังกรเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึง ไม่ใช่เรื่องสำหรับทุกคน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเพณีตรุษจีนที่หนึ่งปีมีแค่ครั้งเดียว แต่ในตอนนี้เธอพยายามทำให้สิงโตกลายมาเป็นหนึ่งในการแสดง มาเอนเตอร์เทนผู้ชม มาเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ให้ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น 

ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม

“นี่คือประเด็นหลักของเราเลย เราต้องทำให้คนอยากเข้าใกล้สิงโต ไม่ต้องกลัว และมีส่วนร่วมในแต่ละโชว์ด้วย”

สิงโตในแบบของเกี๊ยวจึงไม่ได้อยู่ตามงานของศาลเจ้าอย่างเดียวอีกต่อไป เธอพาสิงโตรวมเข้ากับความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการพาสิงโตเข้าห้างสรรพสินค้า พาสิงโตเข้าสถานบันเทิงยามค่ำคืน พาสิงโตไปคอนเสิร์ตในคอนเซ็ปต์ ‘สิงโตนำโยก’ ไปเต้นกับศิลปินที่เทศกาลดนตรีบิ๊กเมาเท่น เขาใหญ่ 

งานเหล่านี้เป็นงานที่หาไม่ได้ในสมัยก่อน กลุ่มลูกค้าของทายาทมังกรหยกรุ่นสามเปิดกว้างขึ้นมาก จากกลุ่มธรรมดาที่เป็นคนจีนจัดงานตามศาลเจ้า เริ่มขยายวงกว้างไปเป็นการแสดง โดยมีลูกค้าเป็นบริษัทออแกไนซ์ หรือเจ้าของธุรกิจที่อยากได้การแสดงสิงโตไปเป็นส่วนหนึ่งในอีเวนต์ของตัวเอง

ด้วยความที่กลุ่มลูกค้าเปลี่ยน วิธีการทำงานก็เปลี่ยนตามด้วยเช่นกัน แต่ละโชว์จะมีเวลาจำกัด ต้องรันตามตารางและเวลา ต้องเป็นไปตามบรีฟของลูกค้า จากเดิมที่สิงโตเล่นตามใจ เยื้องกายได้ไม่จำกัด ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับทุกคนในทีมและวงการ

กว่าจะได้มาซึ่งงานที่หลากหลาย รูปแบบการขายงานเองก็เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยน 

“เริ่มจากลูกค้าติดต่อมา ตกลงราคากันและเราจะเสนอขายเป็นแพ็กเกจ มีหัวสิงโตแบบน่ารักฟรุ้งฟริ้ง แบบดุดันน่าเกรงขาม หรือแบบแกลมวิบวับ” เกี๊ยวจัดทำแพ็กเกจที่หลากหลาย เพื่อรองรับทุกความต้องการของลูกค้า โดยพิจารณาจากรูปแบบและบรรยากาศงาน 

นอกจากนี้ เธอยังเข้าใจและใส่ใจลูกค้า ในทุก ๆ งานจึงไม่ได้เพียงแค่นำเสนอความเป็นมังกรหยก แต่ต้องเป็นการสนับสนุนกันและกันระหว่างลูกค้ากับคณะเชิดสิงโต 

ยกตัวอย่างเช่น งานเปิดตัวรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีวัดมังกร หนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของคณะมังกรหยกนี้ เธอได้ใจลูกค้าไปเต็ม ๆ เพราะเธอยินดีที่จะสั่งตัดเสื้อใหม่ทั้งหมด สกรีนโลโก้แบรนด์ลูกค้าให้ทุกคนในทีมใส่ รายละเอียดเล็ก ๆ ที่บางคนอาจมองข้ามนี้ คือกลยุทธ์เหล็กของมังกรหยกรุ่นสาม ซึ่งสร้างความประทับใจให้ลูกค้า นำไปสู่การต่อยอดงาน เกิดการบอกต่อให้คณะมังกรหยกเติบโตไปได้เรื่อย ๆ 

ไม่เพียงเท่านี้ เพราะมังกรหยกยังรับงานอีกมากทั่วราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานรับปริญญา หรืองานวันเกิด กลายเป็นการแสดงที่สร้างสีสันให้กับงานต่าง ๆ

“อย่างวันเกิด สิงโตเป็นสิ่งมงคลอยู่แล้ว อาจจะให้แป๊ะซิ้มถือเค้กหรือช่อดอกไม้ไป หรือลูกค้าอยากไปเซอร์ไพรส์ถือเค้กเองแล้วมีสิงโตเดินตามก็ได้ เราขายไอเดียรูปแบบต่าง ๆ ไป ส่งสิงโตน้องเป็ดฟ้าหรือขาวเงินที่น่ารัก ถ้างานกลางคืนเราจะเลือกหัวที่มีกากเพชรคริสตัลมากเป็นพิเศษ มีปล่อยป้าย Happy Birthday มี Paper Shoot สวยงาม เพื่อให้รูปของลูกค้าออกมาสวย และงานวันนั้นออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด”

ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม

นี่แหละมังกรหยก

‘ถึงจนทรัพย์ จงยืนหยัดคุณธรรม’

“เตี่ยสอนอยู่เสมอเรื่องคุณธรรม บอกว่าคุณธรรมคือ ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อลูกน้อง ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า”

‘ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง’ ในงานที่ทำอยู่ ต้องทุ่มเทและตั้งใจทุกวินาทีในการทำงาน ฝึกซ้อมจนเชี่ยวชาญ ให้งานที่ออกมาสมบูรณ์แบบหรือผิดพลาดน้อยที่สุด

‘ซื่อสัตย์ต่อลูกน้อง’ มังกรหยกให้ความสำคัญเรื่องทีมงานมาจากรุ่นสู่รุ่น อาเตี่ยปลูกฝังเกี๊ยวอยู่เสมอว่า ต้องดูแลพวกเขาอย่างดีที่สุด เราเหนื่อยเขาก็เหนื่อย ถ้าเราอิ่มเขาก็ต้องอิ่มด้วย เธอจึงไม่เคยละเลยลูกน้อง หน้างานบริหารด้วยระเบียบเพื่อโชว์ที่ดีที่สุด พอจบงานเธอบริหารต่อด้วยใจ เตรียมอาหารให้ทีมอย่างทั่วถึง ใครขาดเหลืออะไรก็ช่วยจัดหาให้ ทุกคนในทีมมังกรหยกจึงเปี่ยมไปด้วยสปิริตเต็มที่และมีความรักในงานที่ทำ

‘ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า’ เกี๊ยวเชื่อว่าคุณธรรมความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าจะทำให้คณะเชิดสิงโตแห่งนี้อยู่ไปได้อีกนานแสนนาน เพราะเมื่อเขาประทับใจ เขาจะบอกต่อ สำคัญคือความจริงใจ เข้าใจ และใส่ใจ เกี๊ยวตรงไปตรงมากับลูกค้าเสมอ บอกลูกค้าอย่างจริงใจตามขอบเขตของงาน ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เธอใส่ใจทุกรายละเอียดของงาน โชว์ต้องเนี้ยบ การวางตำแหน่งต้องไม่พลาด การออกแบบเครื่องหัว ชุด และหาง ต้องใหม่และเข้ากับงาน และที่สำคัญคือความตรงต่อเวลา มังกรหยกไม่เคยไปสาย กลับกัน เธอยินดีไปเตรียมตัวก่อนโชว์เริ่มล่วงหน้า 2 – 3 ชั่วโมง สิ่งนี้ซื้อใจลูกค้าได้จนไม่คิดเปลี่ยนใจไปไหน ทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ และทำให้มีกลุ่มลูกค้าหลากหลายวงการมากขึ้น

เกี๊ยวยังคงยึดคำสอนของเตี่ยในการทำงานมาจนถึงทุกวันนี้ และนำคำสอนนั้นมาปรับให้เข้ากับสิงโตสไตล์ #เกี๊ยวมังกรหยก หนึ่งในโชว์ที่สร้างชื่อและทำให้เธอภาคภูมิใจที่สุดคือ ‘หงส์เหนือมังกร’ ซึ่งมังกรหยกเป็นแห่งแรกในไทยที่เล่นหงส์ และเธอคือผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นกระบอก สร้างตำนานใหม่ให้วงการเชิดสิงโต 

ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม
ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม

มังกรที่ไม่เคยหยุดเชิด

ทุกเส้นทางของความสำเร็จ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ในช่วงแรกที่เริ่มเปลี่ยนรูปแบบโชว์ การทำให้ทีมรวมถึงคนทั่วไปเข้าใจเป็นเรื่องยากมาก เพราะภาพเดิมของการเชิดสิงโตคือตามงานไหว้เจ้า วันตรุษจีน หรือพิธีมงคลเท่านั้น การจะนำสิงโตมาเต้นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง บ้างก็ว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ บ้างก็ว่า ‘ไม่เหมาะสม’ และที่สำคัญ ยังไม่เคยมีใครทำ

“เพราะไม่เคยทำถึงต้องทำ และเราคิดแล้วว่ามันไม่เสียหาย เราไม่ได้ทำให้สิงโตมังกรเสื่อมเสีย ไม่ได้ลบหลู่ใด ๆ การทำให้รูปลักษณ์น่ารักขึ้นก็ทำให้เข้าถึงคนง่าย ลูกค้าบางคนมีลูกเล็กเขาก็มาเต้น มาสนุก มาใกล้ชิดกับเรามากขึ้น เราอาจจะคิดแปลกจากคนอื่นเพราะไม่มีใครเคยทำ ไม่เคยทำก็ทำสิ สิ่งไหนทำแล้วไม่เสียหาย ก็ควรจะลองดู”

ในวันที่เกี๊ยวตัดสินใจจะนำสิงโตมาเต้น มีเพียงแม่และน้องชายที่เชื่อมั่นและสนับสนุน ความใหม่นี้สร้างความไม่เข้าใจให้กับคนในทีม ด้วยความเป็นผู้หญิง ข้อจำกัดหลายอย่างจึงขัดเธอไว้ ทำให้เธอไม่เคยเชิด ไม่เคยตีกลอง ไม่เคยขึ้นกระบอกมาก่อน นั่นหมายความว่าทายาทรุ่นสามคนนี้ต้องเริ่มเรียนรู้ฝึกฝนนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด เกี๊ยวจึงต้องใช้เวลานั้นพิสูจน์ตัวเอง เลือกเพลงเอง แกะท่าเต้นเอง ฝึกซ้อมเองร่วมกับแนวร่วมขนาดย่อมของเด็กรุ่นใหม่ 

ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม

“ถึงเราอยู่ในคณะสิงโตแต่เด็ก แต่เราไม่ได้เป็นคนเชิดหัว ไม่ได้เป็นคนตีกลอง เพราะเรามีทีมที่ทำให้ แต่พอวันหนึ่งที่มาทำเอง เราต้องมาเรียนรู้ใหม่อีกทีทั้งที่อายุก็เริ่มมากขึ้น แต่คิดว่าอายุเท่าไหร่ก็หยุดการเรียนรู้ไม่ได้”

ภาพความสำเร็จเป็นภาพที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เธอเชื่อในการกระทำของตัวเอง สุดท้ายความพยายามทั้งหมดนั้น ก็แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ผ่านทุกโชว์ของมังกรหยก เป็นที่สะดุดตาของผู้พบเห็น เป็นที่ฮือฮาสำหรับผู้ชม และเป็นความเชื่อที่ทำให้ทีมงานยอมรับ 

มังกรคือชีวิต

“คำชมของลูกค้า รอยยิ้มของคนดู และเสียงปรบมือ คือกำลังใจ”

3 สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้เกี๊ยวไม่เคยหยุดและพร้อมจะเดินหน้าต่อ แม้เจอวิกฤตหนักก็ไม่ยอมแพ้ เธอยอมรับว่าในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา รู้สึกท้อบ้างจนเกือบจะถอดใจ แต่มีแรงฮึดกลับมาได้โดยการสร้างพลังงานดี ๆ ให้ตัวเองและทีม ใช้เวลาว่างในยามวิกฤตฝึกซ้อมและเตรียมโชว์ใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรับทุกโชว์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่โอกาสมาถึง 

คณะมังกรหยกเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจเกี๊ยว เธอได้รับพลังงานดี ๆ ทุกครั้งที่ได้ออกไปเชิด ไปเต้น ไปเป็นส่วนหนึ่งกับสิงโต และเธอเชื่อว่ามังกรหยกไม่มีทางตาย ถ้าตราบใดที่คนเราไม่หยุดอยู่กับที่ มีความคิดเปิดกว้าง และพร้อมก้าวทันความเป็นไปของสังคม 

เกี๊ยวไม่เคยหยุดคิดโชว์ใหม่ ๆ ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง ความตั้งใจที่อยากให้สิงโตใกล้ชิดคน ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคน เธอทำได้แล้วและจะทำต่อไปเรื่อย ๆ โดยมีภาพฝันว่าในวันหนึ่ง เธออยากทำ ‘มังกรหยก แกลเลอรี่’ เป็นแกลเลอรี่สิงโตที่ทุกคนสามารถมาศึกษาศิลปะของการเชิดสิงโต เรื่องราวของหัวสิงโตแต่ละหัว อาจจะเป็นร้านกาแฟที่มานั่งกินดื่ม เป็นสมาคมที่ยังไม่มีในไทย เรารอคอยวันนั้น และเชื่อเหลือเกินว่า ทายาทรุ่นสามคนนี้จะส่งต่อความรุ่งเรืองของคณะมังกรหยก และประเพณีการเชิดสิงโตไปได้อีกหลายต่อหลายรุ่นอย่างแน่นอน 

ภาพความสำเร็จเปลี่ยนไปมากมาย หากถามว่าทายาทคนนี้อยากเปลี่ยนอะไร หรือเปลี่ยนใจจากมังกรหยกไหม เธอตอบเราพร้อมกับตอบตัวเองอย่างหนักแน่นและมั่นคงว่า

“ไม่มีวันเปลี่ยนแน่นอนค่ะ มังกรหยกเป็นเหมือนคำนิยามความเป็นเรา เป็นชีวิตของเกี๊ยวไปแล้ว”

ลมหายใจใหม่ของ ‘มังกรหยก สามพราน’ คณะเชิดสิงโตอายุกว่า 70 ปี โดยทายาทหญิงรุ่นสาม

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

วรินทร์ธร บุรธัชวัฒนสิริ

ชื่อเล่น มุกขลิน จบสถาปัตย์ลาดกระบัง สาขาถ่ายภาพ เป็นช่างภาพที่ร่าเริงสดใส รักในเสียงดนตรี แต่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เอ๋อๆงงๆ