คราวก่อนหน้านี้ผมได้พาทุกท่านไปดูโบสถ์คาทอลิกทรงไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันมีที่มาจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปแล้ว คราวนี้จึงขอต่อยอดไปถึงยุคถัดไป คือโบสถ์ในสมัยสงครามเย็นในยุคต้น 2500 

ผลพวงของความขัดแย้งระหว่างโลกประชาธิปไตยเสรีนิยมและค่ายคอมมิวนิสต์ผลักให้ศาสนาต้องเลือกข้าง ด้วยเนื้อแท้ของระบอบคอมมิวนิสต์นั้นต่อต้านศาสนา ดังนั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนเวทีของสงครามตัวแทน ทั้งศาสนาพุทธและคริสต์ล้วนจำเป็นต้องปรับตัว หากเราไปย้อนดูบทความในวารสารศาสนาต่างๆ ในยุคนั้น ล้วนอธิบายถึง ‘ภัย’ ของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น และการที่คอมมิวนิสต์พยายามตราหน้าศาสนาว่าเป็นความคิดโบราณคร่ำครึ ล้าสมัย ก็เป็นแรงผลักดันให้ศาสนาต้องปรับตัวด้วย 

โบสถ์แบบคลาสสิกต่าง ๆ ทั้งสไตล์โกธิก เรอเนสซองส์ หรือกระทั่งวัดพุทธเองก็ต้องปรับเปลี่ยนสไตล์ โดยหันไปหาความโมเดิร์น และกลายเป็นสีสันของงานสถาปัตยกรรมในช่วงเวลานี้

ในช่วงราว พ.ศ. 2500 – 2535 แม้ว่าประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะตกอยู่ในภาวะอันตึงเครียดของสงครามเย็น (พ.ศ. 2490 – 2534) แต่ก็เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดความเจริญในด้านต่างๆ อย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเงินทุนที่ได้รับสนับสนุนมาจากสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานที่มั่นในการต่อต้านการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์จากประเทศต่างๆ ในอินโดจีน รวมทั้งสงครามเวียดนามที่กำลังตึงเครียด ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างรวดเร็วด้วยเงินสนับสนุน

การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วนเช่นนี้มีผลต่อลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในไทย โบสถ์บางแห่งก็เฟื่องฟูขึ้นเพื่อรองรับการปฏิบัติศาสนกิจของทหารอเมริกันเป็นพิเศษ เช่น โบสถ์แม่พระรับสาร ตาคลี ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินตาคลีมากนัก เป็นโบสถ์เล็กๆ ที่ปัจจุบันยังใช้เป็นศูนย์สำหรับดูแลคนพิการอยู่

โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
วัดแม่พระรับสาร ตาคลี นครสวรรค์
ภาพ : ชัชพล เทศเทียน

สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 : สากลนิยมรูปแบบใหม่

ขณะเดียวกันพระศาสนจักรคาทอลิกท้องถิ่นในไทยก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับความทันสมัยที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศอย่างรวดเร็ว ศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นภาพแทนของความทันสมัยและเทคโนโลยีในสายตาของคนไทยมาตั้งแต่ยุคโบราณก็ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายใหม่จากส่วนกลาง สำนักวาติกันในกรุงโรมที่ไม่อาจต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์ได้ จึงได้จัดสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1962 – 1965 (พ.ศ. 2505 – 2509) โดยใจความสำคัญคือพระศาสนจักรคาทอลิกต้องพัฒนาตัวเองให้ทันยุคสมัย (Aggiornamento) ให้สอดคล้องกับความทันสมัย (Modernity) ในโลกปัจจุบัน เพื่อเปิดรับสมาชิกรุ่นใหม่และเยาวชน ไม่เป็นศาสนจักรที่ล้าหลังและขาดความเข้าใจความเป็นไปของโลก

ผนวกกับกระแสของท้องถิ่นนิยม ซึ่งหวนกลับมาตั้งคำถามกับสำนักวาติกันอยู่เสมอๆ ว่า ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของฝรั่งชาวตะวันตก หรือเป็นศาสนาของสากลโลกกันแน่ ชาวพื้นเมืองซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สามารถใช้วัฒนธรรม ดนตรี ภาษาและศิลปะของตนเองในการนมัสการพระเป็นเจ้าได้มากน้อยเพียงใด 

ที่ผ่านมาในอดีต นอกจากการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาพื้นเมืองแล้ว ภาษาละติน ดนตรี ศิลปะ และสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งตะวันตก ยังคงมีบทบาทสำคัญในชุมชนคริสต์ และเป็นภาพแทนของศาสนาคริสต์ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นเราจึงจินตนาการเห็นภาพของโบสถ์วิหารทรงโกธิก โรมาเนสก์ หรือเรอเนสซองส์ เสมอๆ เมื่อมีการกล่าวถึงศาสนสถานในศาสนาคริสต์ ขณะที่วัฒนธรรมพื้นเมืองถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมอย่างจำกัด อันเป็นผลให้ชาวคริสต์ในดินแดนต่างๆ นอกประเทศตะวันตกถูกมองอย่างระแวดระวังและเป็นคนชายขอบเสมอมา เพราะไม่อาจผสมกลมกลืนหรือใช้วัฒนธรรมของตนเองในการปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ กระแสการเข้าสู่วัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ (Inculturation) จึงเป็นแนวคิดหลักของการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ผลของการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จึงเป็นเสมือนการปลดล็อกแนวคิดอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมที่มีบทบาทมาก่อน และพยายามที่จะปรับปรุงพระศาสนจักรให้ทันสมัย อีกทั้งยังสนับสนุนให้ชาวพื้นเมืองในประเทศต่างๆ ใช้รูปแบบศิลปะและวัฒนธรรมของตัวเองในการนมัสการพระเจ้าได้ ซึ่งกระแสท้องถิ่นนิยมเช่นนี้เริ่มก่อตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว กระแสชาตินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โหมสะพัดไปทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ชาวคาทอลิกในประเทศไทยต้องปรับตัวให้เข้าความเป็นไทยหรือความเป็นสากลร่วมสมัยมากขึ้น ดังที่เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้วในโบสถ์ยุคหลังสงครามโลก ซึ่งสร้างขึ้นเป็นทรงไทยคอนกรีตประยุกต์ แนวคิดการสร้างโบสถ์ทรงไทยจึงเป็นแนวคิดล้ำสมัยที่เกิดขึ้นก่อนการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เสียอีก ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพยายามลดแรงเสียดทานทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผลของการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ซึ่งพยายามลดแนวคิดอนุรักษ์นิยมและให้เสรีภาพกับวัฒนธรรมท้องถิ่นจะไม่ได้สร้าง ‘ความเป็นไทย’ ให้โบสถ์คาทอลิกไทยเหมือนกับโบสถ์ทรงไทยในยุครัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ใหม่ คือโบสถ์คาทอลิกในไทยเริ่มหลีกหนีจากศิลปะแบบคลาสสิกต่างๆ ของประเทศตะวันตก แต่หันไปนิยมชมชอบสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (Modern) แทน ซึ่งมีความเป็นสากล (International Style) สอดคล้องกับมติการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 และกลับไปยืนยันความหมายดั้งเดิมของ ‘คาทอลิก’ ที่แปลว่า ‘สากล’ และยังเป็นตัวแทนของความทันสมัยที่สุดในยุคนั้นด้วย ลักษณะของสถาปัตยกรรมในช่วง พ.ศ. 2500 – 2535 อันเป็นยุคสงครามเย็น จึงแสดงออกถึงรูปแบบโมเดิร์นแบบสากลชัดเจน โดยเฉพาะโบสถ์ในพื้นที่ ‘สีชมพู’ ในภาคอีสาน

โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ในกรุงโรมเมื่อ ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)
ภาพ : www.lifesitenews.com/blogs/what-vatican-ii-saidand-didnt-sayabout-the-liturgy

โบสถ์โมเดิร์นสมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าให้ภาคอีสาน

ภาวะสงครามเย็นกินเวลายาวนานราว 50 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ดูเหมือนว่าหลักฐานทางสถาปัตยกรรมในประเทศไทยอันเป็นผลพวงของเหตุการณ์นี้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นหลังการตัดถนนมิตรภาพเข้าสู่ภาคอีสานในช่วง พ.ศ. 2500 ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาตั้งฐานทัพในไทย และพยายามนำความเจริญเข้าสู่ภาคอีสานเพื่อต่อต้านยุทธวิธีป่าล้อมเมืองของค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเวลานั้นกำลังร้อนระอุไปทั้งภูมิภาค ดังนั้นสถาปัตยกรรมบางส่วนที่สร้างขึ้นในภาคอีสานในช่วง พ.ศ. 2510 – 2520 จึงดูล้ำหน้าทันสมัยยิ่งกว่าสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวงเสียอีก

ด้วยนโยบายการเร่งรัดพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสานอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ จึงเกิดโบสถ์คริสต์รูปแบบใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากแบบสมัยใหม่รุ่นกลางศตวรรษที่ 19 หรือ Mid-century Modern อันเป็นการรับอิทธิพลมาจากสหรัฐอเมริกา สถาปัตยกรรมลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบที่เฟื่องฟูมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวทศวรรษ 1950 มีลักษณะที่หลีกหนีออกไปจากงานประเพณีอย่างชัดเจน ความไร้รูปร่าง ความลื่นไหลของเส้นสายคดโค้ง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากกระแสของการแข่งขันในการสำรวจอวกาศระหว่างโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์ในโซเวียต เช่น การแข่งขันกันส่งคนไปสำรวจอวกาศหรือไปเยือนดวงจันทร์ ทำให้สถาปัตยกรรมในระยะเวลานี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับยานอวกาศที่มีรูปร่างโฉบเฉี่ยว หรือคล้ายกับรูปทรงเครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์ วัสดุประเภทใหม่ๆ นอกท้องถิ่น อย่างกระจก กระจกสี พลาสติก กระเบื้องโมเสก ถูกลำเลียงโดยถนนมิตรภาพจากที่ห่างไกลเข้ามามีบทบาททำให้เกิดพื้นผิวแบบใหม่ๆ เช่นพื้นโลหะเงาวิบวับ หรือกระจกใสรอบทิศทาง ที่ทำให้ตัวอาคารดูไม่ต่างกับกระสวยอวกาศเท่าใดนัก

เราจึงพบว่าในช่วง พ.ศ. 2500 – 2520 มีอาสนวิหาร (Cathedral โบสถ์หลักศูนย์กลางของเขตแพร่ธรรม) ในภาคอีสานอย่างน้อย 4 แห่งที่สร้างขึ้นในลักษณะแบบโมเดิร์น โดยมีการรื้อเอาอาคารไม้แบบพื้นเมืองหรืออาคารก่ออิฐแบบยุโรปคลาสสิก ซึ่งบางหลังได้รับผลกระทบจากระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ออกไป แล้วสร้างอาคารทรงล้ำยุคซึ่งเป็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างอาคารในลักษณะนี้ ได้แก่ อาสนวิหารแม่พระนิรมล อุบลราชธานี (เริ่มออกแบบและสร้าง พ.ศ. 2503 – 2510) เป็นทรงโมเดิร์น ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา นับเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งที่โบสถ์ในพื้นที่ห่างไกล แต่มีการใช้สถาปนิกที่มีชื่อเสียงจากกรุงเทพฯ และยังจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา มีการใช้วัสดุที่ต้องนำเข้ามาจากเมืองหลวง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น กระจกสี กระจกพลาสติก ตัวโบสถ์ใช้สันคอนกรีตวางสับหว่างกันเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี และแม้ว่าอาคารจะกว้างถึง 25 เมตร แต่ก็ไม่มีการใช้เสาค้ำยันภายในเลย ที่สำคัญคือการใช้ผืนหลังคาแบบ Hyperbolic Paraboloid ซึ่งเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่กำลังนิยมในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และน่าจะเป็นอาคารแรกๆ ในไทยที่ใช้หลังคาลักษณะนี้ อีกทั้งมีการใช้แนวกระจกใสที่สันหลังคา นําแสงสู่ภายในของอาคาร อย่างไรก็ตาม ลักษณะของหลังคาที่เป็นแผ่นโค้งงอขนาดใหญ่ผืนเดียวทำให้เกิดน้ำฝนรั่วได้ง่าย และยังอมความร้อน ตัวอาคารที่ทรุดโทรมมากเพราะสร้างมากว่า 50 ปี จึงถูกรื้อลงสร้างใหม่ในที่สุด

โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
อาสนวิหารแม่พระนิรมล บันทึกภาพโดยคุณพ่อโจเซฟ เตรบาออล
ภาพ : สังฆมณฑลอุบลราชธานี
โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
อาสนวิหารแม่พระนิรมลหลังใหม่ ตั้งเคียงคู่กับโบสถ์หลังเก่าในต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งสร้างแบบยุโรปแท้
ภาพ : สังฆมณฑลอุบลราชธานี 
โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
โบสถ์นิกายลูเธอรันในแคลิฟอร์เนีย ใช้โครงสร้างหลังคาแบบฟรีฟอร์ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมแบบ Mid-century
ภาพ: www.roadarch.com/14/2/santee4.jpg

อาคารอื่นๆ ที่สร้างขึ้นในแบบโมเดิร์นร่วมสมัยกัน ได้แก่ อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ อุดรธานี (พ.ศ. 2510) โบสถ์ประจำสังฆมณฑลอุดรธานี ซึ่งมีมุขนายก (Bishop) ท่านแรกคือท่านคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต ชาวอเมริกัน ออกแบบโดยภราดาชาวอเมริกันที่เคยทำงานออกแบบโบสถ์มาแล้วทั่วโลก โดยกำหนดให้อาคารเป็นทรงไทยประยุกต์สมัยใหม่ มีรูปทรงอิสระ ต่างจากรูปทรงหนักแน่นทรงพลังแบบสกุลช่างพระพรหมพิจิตร มีการนำวัสดุเหลือเช่น เช่น เศษขวด มาใช้ต่างกระจกสีด้วย

นอกจากนั้นก็มีอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ สกลนคร (พ.ศ. 2511) ที่สร้างเป็นทรงเรือสำเภา แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนหอสูงข้างหน้าใหม่ให้สูงสง่ากว่าเดิม และอาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด นครราชสีมา (พ.ศ. 2522) การเลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นแทนที่จะเป็นอาคารแบบคลาสสิกหรืออาคารแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกรุงเทพฯ ยุคนั้น อาจเป็นไปได้ว่าความโมเดิร์นเป็นสัญลักษณ์ของโลกเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งในยุโรปเองก็มีการสร้างโบสถ์แบบโมเดิร์น-โพสต์โมเดิร์นขึ้นมากมายในระหว่างสงครามเย็น เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประท้วงการยึดครองของโซเวียต ซึ่งเราเห็นได้ชัดในกรณีของโปแลนด์ ประเทศคาทอลิกซึ่งปกครองโดยโซเวียตในทศวรรษ 1980 ก็เลือกใช้โบสถ์คริสต์รูปแบบโพสต์โมเดิร์นเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมและความสามัคคี (Solidarity) ในชาติเพื่อต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ที่ปฏิเสธศาสนา แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง โบสถ์ที่สร้างขึ้นมากมายเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในรูปแบบโพสต์โมเดิร์นก็ถูกทิ้งร้าง

ศาสนาคริสต์ในยุคสงครามเย็นจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งเชื่อว่ากระแสความคิดที่สังเกตได้เหล่านี้ คงจะเข้ามามีบทบาทต่อทั้งระบบวิธีคิดและการแสดงออกทางสถาปัตยกรรมในสังคมไทยด้วย

ส่งท้าย

โบสถ์ทรงโมเดิร์นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่สีชมพู อันเป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่มคอมมิวนิสต์เท่านั้น หากแต่ในกรุงเทพฯ เอง โบสถ์ทรงโมเดิร์นก็เริ่มก่อรูปขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม โบสถ์โมเดิร์นในกรุงเทพฯ กลับปะทะกับกลุ่มความคิดเก่าของสไตล์รัฐนิยมไทย กลายเป็นโมเดิร์นทรงไทยอีกแบบที่แตกต่างไปจากโบสถ์รุ่นอิทธิพลพระพรหมพิจิตร ขณะที่ในอีสานนั้นเป็นโบสถ์โมเดิร์นเต็มที่ ปราศจากอิทธิพลของศิลปะท้องถิ่นอีสานเลย ซึ่งความคิดเช่นนี้จะค่อยๆ ถูกตั้งคำถาม และเกิดการรื้อฟื้นศิลปะท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ในสมัยปัจจุบัน ขณะที่โบสถ์ในบางพื้นที่ เช่น ในกลุ่มราชบุรี ซึ่งดูแลโดยคณะสงฆ์ซาเลเซียนจากอิตาลี ยังคงรสนิยมแบบอาร์ตเดโก (Art Deco) แบบดั้งเดิมเอาไว้ได้ โดยไม่มีรูปแบบโมเดิร์นเข้าไปปะปน ซึ่งความหลากหลายของรูปทรงโบสถ์สไตล์โมเดิร์นในไทย คงจะเป็นหัวข้อที่ผู้เขียนคงจะนำมาคุยกันอีกสักพักครับ

โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
ภาพถ่ายเก่า อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ในยุคแรกที่สร้างเป็นสไตล์โมเดิร์น ปัจจุบันได้ปฏิสังขรณ์รูปแบบของหอด้านหน้าใหม่
ภาพ : หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
ภาพอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ในสภาพปัจจุบัน
ภาพ: นวรัตน์ สงวนแก้ว
โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
รูปอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ อุดรธานี 
ภาพ : www.facebook.com/338247396368616/photos/
โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
ภาพภายในอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ อุดรธานี ตกแต่งรูปแบบสากลนิยมผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย
ภาพ : www.facebook.com/338247396368616/photos
โบสถ์โมเดิร์น สมัยสงครามเย็น เมื่อยุคอวกาศเปลี่ยนโฉมหน้าโบสถ์ทั่วโลกให้ทันสมัย
รูปโบสถ์คริสต์สมัยสงครามเย็นในโปแลนด์ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากถึง 3,587 แห่ง ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ มีรูปทรงที่ดูคล้ายสถานีอวกาศเพื่อประกาศความทันสมัยและการปรับตัวของศาสนา
ภาพ : thespaces.com/get-to-know-polands-radical-post-war-churches

ข้อมูลอ้างอิง

  • พวงทอง ภวัครพันธุ์. การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น. (กรุงเทพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). 2561. 59-60.
    ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. กำเนิด “ประเทศไทย” ภายใต้เผด็จการ. (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม) 2558. 14-15.
  • อัครสังฆณฑลกรุงเทพ. ทำเนียบวัดคาทอลิกในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อัสสัมชัญ) 2541. 483.
  • David Stancliffe. The Lion Companion to Church Architecture. (London : Lion Hudson) 2009. 250 -251.
  • Jacob Kavunkal, Et Al. Vatican II: A Gift & a Task (Bombay : Saint Paul press and training school) 2006. 231-232.
  • Michael Novak. The Open Church Vatican II Act II. (New York : Macmillan company). 1964. 4-5. Vladimir Gintoff. These Churches Are the Unrecognized Architecture of Poland’s Anti-Communist “Solidarity” Movement. 07 Mar 2016. ArchDaily. เข้าถึงได้จาก https://www.archdaily.com/782902/these-churches-are-the-unrecognized-architecture-of-polands-anti-communist-solidarity-movement เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561.

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช