เราเคยมา ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย’ หรือ MOCA แล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่ใจเต้นเหมือนครั้งนี้

7 ปีที่ผ่านมา MOCA ได้เปลี่ยนจากแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของวงการพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ในเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ด้วยคอลเลกชันงานระดับครูของศิลปินไทยและต่างชาติมากกว่า 800 ชิ้นที่ถูกรวบรวมไว้ด้วยใจรักของ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล นักธุรกิจสายอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสื่อสารชื่อดังของเมืองไทย อีกทั้งยังมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรมดีๆ อย่าง Art Fund Forward ซึ่งสนับสนุนวงการศิลปะไทยมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับใครที่พอจะสนใจศิลปะอยู่บ้าง ก็คงจะเคยมีสักโอกาสให้แวะเวียนผ่านมาในอาคารทรงโมเดิร์นสลักลายก้านมะลิแห่งนี้กันบ้างเป็นครั้งครา

แต่การเยี่ยมชมของเราในวันนี้พิเศษกว่าครั้งอื่นๆ เพราะเราไม่ได้มาเดินคนเดียว แต่ยังได้รับเกียรติจากคุณ คิด-คณชัย เบญจรงคกุล ลูกชายสุดหล่อของคุณบุญชัย มาเป็นไกด์นำชม ‘พิพิธภัณฑ์ของพ่อ’ ผ่านมุมมองของลูกชาย ผู้จัดการ ไปจนถึงศิลปินที่จัดแสดงงานในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

คิดมาเจอเราที่คาเฟ่ของพิพิธภัณฑ์ในชุดลำลองสบายๆ แต่ยังคงความเท่ในภาพจำของเราไว้เช่นเดิม

ตั้งแต่เขากลับบ้านมาพร้อมปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศอังกฤษ เราได้มีโอกาสคุ้นหน้าคุ้นตากับหนุ่มคนนี้ผ่านหลากหลายสื่อ ไม่ว่าจะจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสารมากมาย การเป็นช่างภาพรับเชิญในรายการ The Face Thailand ไปจนถึงในผลงานเพลงและมิวสิกวิดีโอของเขา (EP แรกชื่อ Long-Distance ปล่อยออกมาภายใต้ค่าย Cake Records)

แต่ใน 1 ปีที่ผ่านมาเขายังได้รับอีกบทบาทที่หลายคนอาจจะไม่รู้ นั่นคือการได้เข้ามาช่วยดูแลงานหน้าบ้านและหลังบ้านต่างๆ ของหอศิลป์ MOCA ให้คุณพ่อ โดยล่าสุดเขายังได้ร่วมจัดแสดงงานศิลปะแบบ Installation ในนิทรรศการกลุ่มชื่อว่า ‘มานุสสานัง’ รวมกับศิลปินอื่นๆ อีก 30 ท่านด้วย

“ธีมของงานคือ ‘มนุษย์’ ตามชื่อนิทรรศการ ซึ่งถูกตีความไปหลากหลายในความคิดของศิลปินของแต่ละคน ตัวคิดเองมองถึงมนุษย์ในแง่พุทธศาสนา ในฐานะทั้งศิลปินและคนที่ทำงานอยู่ที่นี่ด้วย เราเลยอยากสร้างสรรค์พื้นที่ที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในมิวเซียม แล้วก็สังเกตปฏิกริยาหรือ Interaction ของผู้ชมด้วย ซึ่งคิดก็คิดถึงเรื่องของความสงบ

“เวลาเรามาดูมิวเซียมบางคนก็อยากหาความสงบ แต่ในบางครั้งบางมิวเซียมมันก็ไม่เอื้ออำนวย อาจจะด้วยคนที่เยอะหรือบางทีมีสิ่งล่อตาล่อใจรอบๆ จิตเราอาจจะไม่นิ่ง ก็เลยอยากทำงานเกี่ยวกับสมาธิ แล้วก็คิดถึงการทำพื้นที่ให้คนเข้ามานั่งสมาธิในมิวเซียม ซึ่งพอพูดถึงเรื่องนี้หลายๆ คนอาจจะคุ้นกับวิธีหลับตาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีอะไรเลย แต่เราก็อยากจะลองเปลี่ยน เอาไฟกับเสียง เข้ามาทดลองว่ามันช่วยให้คนสงบได้ไหม”

ว่าแล้วคิดก็พาเราเข้าไปในโซนจัดแสดงที่เนรมิตขึ้นจากพื้นที่เปล่าใต้บันใดเลื่อน เปลี่ยนเป็นห้องกระจกชื่อ ‘สงบจิต’ บรรจุคนได้ประมาณหยิบมือ มีการออกแบบไฟโดยไซท์ (ZIEGHT) ที่ค่อยๆ กระจายตัวจากทรงสามเหลี่ยมที่สื่อถึงความสมดุล และเปลี่ยนสีไปทั่วห้องประหนึ่งคลื่นพลังที่ค่อยๆ โตขึ้นในสายตาของผู้ชม

นอกจากนี้ ก็มีส่วนของเสียงซึ่งคิดเลือก นท พนายางกูร มาช่วย คิดบอกว่า พวกเขาเลือกใช้ Binaural Beats หรือคลื่นที่เข้าหูซ้ายหูขวาไม่เท่ากัน แล้วออกแบบให้พอรวมกันในสมองเราได้ 8Hz ซึ่งถือเป็นคลื่นความถี่สูงสุดของ Theta State หรือสภาวะของสมองที่ผ่อนคลาย ผสมกับเพลงที่วนลูป เป็นเสียงซ้ำๆ เสียงธรรมชาติ ทำให้เราจิตใจสงบลง เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ สร้างบทสนทนาได้ดีทีเดียว

“งานศิลปะทุกงานมันก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่ส่วนใหญ่ก็ชอบนะ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เขาจะนั่งกันนานมาก แต่ก็มีบางคนที่ออกมาแล้วมึนหัว หรือรู้สึกงงว่าเข้าไปทำอะไร ซึ่งจริงๆ จุดประสงค์ของเราก็คืออยากเห็นความแตกต่างของแต่ละคนที่เข้าไป ต่างคนต่างมีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน บางคนนั่งสมาธิตัดจากการสื่อสารทั้งหมดเลย บางคนก็แค่อยากจะเข้าไปถ่ายรูปลงโซเชียล ว่ามันก็เป็น Visual ที่สวยดีนะ ทำให้เขาอยากแชร์ออกไป ก็เป็นการโปรโมตมิวเซียมด้วย ทั้งสองแบบก็ถือว่าชิ้นงานมันได้ทำงานกับคนตามเป้าหมายของมัน”

ขณะที่เราขึ้นบันไดเลื่อนเพื่อไปชมงานชั้นสองซึ่งมีงานจิตกรรมว่าด้วยพุทธปรัชญาอยู่ไม่น้อย เช่น ภาพ ‘พระโพธิญาณ ๒๕๕๔’ ของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ หรืองานหลายๆ ชิ้นของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

เราคุยกันว่างานของคิดเหมือนเป็นการต่อยอดหนึ่งในลักษณะเด่นของงานศิลปะใน MOCA คืองานที่ว่าด้วยความไทยหรือพุทธคติ แต่แปรรูปให้เข้าถึงง่ายมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเจ้าตัวก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง  

“มันก็จริงนะ เอาแค่เพื่อนเราก็มีหลายๆ คนที่ไม่ได้อยากจะไปเดินมิวเซียมในวันหยุด ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของเรา แต่ปีที่ผ่านมาเมื่อมี Biennale มันก็สร้างกระแสให้คนสนใจเยอะขึ้น หลังๆ ก็เห็นคนไทยมาออกเดตกันหลายคู่” เขาหัวเราะเมื่อพูดถึงเทรนด์การเข้ามาของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มิวเซียม

“นอกจากนี้คือเรื่องรสนิยมของงานศิลปะด้วย เพราะแต่ละคนก็ชอบงานศิลปะคนละแบบ ซึ่งจริงๆ แล้วงานส่วนใหญ่ที่ MOCA เป็นศิลปะร่วมสมัยนะ แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่เขาเสพงานผ่านสื่อของต่างประเทศเยอะๆ แล้ว ความชอบเขาก็อาจจะเป็นสไตล์อื่น เพราะงานร่วมสมัยเมืองนอกก็ไม่เหมือนกับงานร่วมสมัยของบ้านเราทั้งหมด หรือจริงๆ แล้วงานร่วมสมัยบ้านเราก็มีมากมายหลายแบบ ไม่จำเป็นต้อง Modern หรือ Abstract ไปเลยเท่านั้น งานยังงี้ก็เป็นร่วมสมัยได้ในบริบทสังคมของเรา

“ในขณะเดียวกัน ถ้าเราดูงานศิลปินที่ทำงานช่วงเดียวกับอาจารย์เฉลิมชัย งานที่ไม่ได้มีลายกนกหรือเป็นพุทธศิลป์ก็มี ดังนั้น โจทย์ของเราคือ จะโชว์ให้ผู้ชม ทั้งฝรั่ง ทั้งคนรุ่นใหม่ เห็นได้ยังไงว่างานร่วมสมัยในไทยนั้นมันมีหลายสไตล์ เราเองในฐานะคนรุ่นใหม่ก็อาจจะมีความชอบที่ต่างจากพ่อเราก็ได้” คิดกล่าว

“เราอยากจะปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่สนใจศิลปะ เพราะเราเองก็เป็นคนที่ทำงานในวงการนี้และอยากให้ทุกคนเข้าถึงมันได้และรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว การมาเดินพิพิธภัณฑ์มันไม่จำเป็นที่จะต้องเกร็งมากหรือเป็นทางการเสมอไป ถ้าคุณอยากจะใส่ขาสั้น มาชิลล์กินกาแฟกับเพื่อน เดินดูรูปกันสบายๆ ก็ได้ คืออยากให้มันอยู่ในไลฟ์สไตล์มากขึ้น ยิ่งตอนนี้วงการบ้านเรากำลังมีพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ใหม่ๆ เล็กๆ เปิดขึ้นมากมายด้วย”

ที่ชั้นสามเรามีเหตุต้องหยุดถ่ายรูปกับงานศิลปะชิ้นโปรดของคิดกันหลายชิ้น เริ่มจากงานสื่อผสม ‘ลูกคิด ๑’ ที่นำลูกคิดโบราณมาปะติดปะต่อเข้ากับผ้าใบสีสด ซึ่งไกด์ของเราบอกเราว่า เหตุผลแรกที่ชอบงานนี้เพราะชื่อเหมือนกับตัวเอง (ตอนเด็กๆ เขาชื่อ ‘ลูกคิด’ โตมาจึงย่อเหลือแค่ ‘คิด’) นอกจากนั้น งานนี้ก็มีสีสันสดใส ดูทันสมัย แม้ตัวงานจะมาจากศิลปินแห่งชาติและมีอายุแล้วพอสมควร

ส่วนอีกชิ้นที่เขาชอบคืองานลายเส้นบนผ้าใหญ่ขนาดใหญ่ 200 x 600 ซม. ชื่อ ‘ธรรมชาติแห่งจิต หมายเลข 7’ โดย สุพร แก้วดา เมื่อมองจากระยะไกลเราจะเห็นเป็นภาพรวมของคลื่นทะเลสีดำ เรียบๆ แต่เมื่อเข้าไปตั้งใจมองใกล้ๆ ก็จะเห็นการวาดเส้นคล้ายลายกนกภายใต้เกลียวคลื่น ซึ่งงานชิ้นนี้ศิลปินต้องการพูดถึง

แก้วดาใช้ความเพียรในการวาดเส้นจนเกิดสมาธิจดจ่อ เกิดปัญญาเห็นการเกิดขึ้นและดับลงของสิ่งที่มากระทบจิต เห็นถึงความไม่เที่ยงจึงมองเห็นว่าหากไม่ยึดติดนั่นเอง

ในชั้นที่ 4 เราเดินผ่านงานของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของ MOCA ทั้งในความงามของสี ความทรงพลังของลายเส้น และเรื่องมูลค่าของชิ้นงาน เราเลยได้โอกาสถามคิดว่า เขาคิดอย่างไรกับวาทกรรมที่ว่าศิลปะเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น

“ก็เป็นเหตุผลที่ต้องทำให้มีงานอื่นๆ ที่เข้าถึงง่ายในที่นี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานลายเส้น หรือศิลปิน แนวๆ หน่อย มันไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป ในขณะเดียวกัน งานของศิลปินบางคนแค่ลายเส้นก็มีราคาสูงมาก ลองนึกถึงพวกสไตล์งานของ โยชิโมโตะ นาระ ซึ่งพอเด็กๆ เขาก็มองเห็นตัวคล้ายๆ กันในหนังสือการ์ตูนของเขา เขาอาจตั้งคำถามว่า ทำไมอันนี้มาอยู่ในหอศิลป์ มันจึงจะกลายเป็นเรื่องที่เราจะต้องสอน มันไปไกลกว่าแค่ป้ายราคาแล้ว เป็นเรื่องของการสร้างมูลค่า หรือมุมมองที่เราใช้มองศิลปะ”

ในการเดินเล่นกับคิดครั้งนี้ เขาเน้นย้ำถึงคอลเลกชันที่คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึงว่ามีอยู่ใน MOCA ทั้งงานลักษณะที่มีความโมเดิร์น รวมถึงงานมาสเตอร์พีซของศิลปินต่างประเทศ

อย่างที่ชั้นห้าใน Richard Green Room เป็นห้องที่ถูกสร้างขึ้นในลักษณะพิเศษตามแกลเลอรี่แบบยุโรป ผนังถูกทาด้วยสีเขียวตุ่นสบายตา เข้ากับเพดานสูงทรงโค้ง จัดแสดงงานสีน้ำมันแนวนีโอคลาสสิกของศิลปินชั้นครูจากศตวรรษที่ 19 มากมาย อาทิ John William Godward โดยกอดเวิร์ดเป็นที่รู้จักจากการจัดแสดงภาพในวังสังคมชั้นสูง ณ Royal Acedmy ที่อังกฤษ มีฝีมือการถ่ายทอดภาพของหญิงงามในชุดแบบกรีกโรมันโบราณอย่างวิจิตรและเป็นธรรมชาติ ซึ่งงานของเขาชิ้นที่มีอยู่ที่ MOCA ทั้ง ‘The Skein’ หรือ ‘Contemplation’ ก็เป็นภาพวาดในสไตล์อันโด่งดังนี้ด้วย

“คอลเลกชันนี้ได้เห็นตั้งแต่เด็ก เพราะเคยอยู่ที่บ้าน ก็เลยผูกพัน อย่างรูปนี้เคยอยู่ที่ห้องรับแขกตอนเด็กๆ กลับบ้านก็จะเห็นทุกวัน ตอนนี้ก็จะโล่งๆ ไปหน่อย” คิดเล่าไปยิ้มไป เขาบอกเราว่า จุดประสงค์หลักของคุณพ่อที่สร้างห้องนี้คือ เพื่อแสดงงานเชิงเปรียบเทียบสไตล์ระหว่างตะวันตกตะวันออก โดยทุกรูปซื้อมาจากแกลเลอรี่ชื่อ Richard Green ที่ลอนดอน ตั้งใจทำให้เหมือนแกลเลอรี่เมืองนอก ให้ผู้ชมที่อาจจะไม่มีโอกาสได้ไปเมืองนอกได้สัมผัสบรรยากาศแบบนั้นจริงๆ ที่นี่ด้วย

หลังจากที่เดินมา 5 ชั้นจนเริ่มเมื่อย เราเลยได้โอกาสหย่อนก้นนั่งบนม้านั่งไม้ดีไซน์เก๋ ออกแบบโดยนักออกแบบรุ่นบรมครู ไสยาสน์ เสมาเงิน แต่ละแบบมีตัวเดียวในโลก ถือเป็นรายละเอียดความเท่ตอบโจทย์ผู้ใช้ที่กระจายอยู่ทั่วแกลเลอรี่ แน่นอนว่า หนึ่งในเหตุผลที่ผลงานศิลปะเหล่านี้มารวมตัวกันที่นี่ที่เดียวในโลก ก็เพราะความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนระหว่างคุณบุญชัยกับเหล่าศิลปิน ทำให้เราสงสัยไปถึงความสัมพันธ์ของเขากับลูกชายบ้าง

คิดเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อปลูกฝังให้เขาชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เคยสอนวาดรูปให้ แล้วก็สอนให้ชอบเก็บสะสมด้วย โดยปัจจุบันเขาสะสมคอลเลกชันนาฬิกา Swatch ต่อจากคุณพ่อ ส่วนศิลปะนั้นคิดบอกติดตลกว่ายังไม่มีเงินซื้อ เพราะชิ้นที่ชอบก็แพงเหลือเกิน ส่วนเรื่องการมาทำงานที่นี่ อันที่จริงเขาและคุณพ่อมีความคิดตรงกันหลายอย่าง เช่น เรื่องที่ไม่อยากให้คนเกร็ง เขาเล่าว่า ขนาดยามข้างหน้าคุณพ่อยังไม่อยากให้มี แต่ก็ต้องคงไว้เพื่อความปลอดภัย หรือเรื่องข้อห้ามเกี่ยวกับการถ่ายรูป ซึ่งตอนนี้ค่อยๆ ยกเลิกไปเกือบจะทุกห้องในพิพิธภัณฑ์แล้ว

“เรามองตัวเองว่าเราเป็นลูกจ้าง เป็นหนึ่งในพนักงานของที่นี่ ในเมื่อเขาวางใจให้เราเข้ามาช่วยบริหารเราก็ต้องพยายามทำให้มันเวิร์ก นี่คือการโปรโมตศิลปะไทยในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินที่ทั้งเรียกว่า Old Masters ของไทย และเป็นส่วนหนึ่งของงานร่วมสมัยนะ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประเพณีไทยนะ” คิดบอกเราถึงจุดยืนของ MOCA ด้วยสายตาจริงจัง

“โดยรวมเราโชว์ตัวแทนของศิลปะไทยร่วมสมัยค่อนข้างครอบคลุมนะ เหมาะสำหรับคนที่อยากจะมาศึกษางานศิลปะไทยว่ามันมีสไตล์ไหนยังไง เรามีการเล่าตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้ามาสอนในไทย ช่วงนั้นยุคนั้นเป็นยังไง จวบจนปัจจุบัน”

นอกจากนี้ คิดยังเล่าต่อไปอีกว่า ถึงหอศิลป์ที่อื่นจะจัดแสดงประวัติศาสตร์ศิลป์เหมือนกัน แต่ละที่ก็มีคอลเลกชัน มีจุดเด่น และงานชิ้นเอกที่ต่างกัน ถือเป็นเรื่องดีที่มีตัวเลือกประสบการณ์ที่หลากหลายให้กับประชาชนคนดู ทั้งแนวที่บริหารด้วยรัฐและเอกชน

สุดท้าย ขอให้คิดพูดถึงว่าวงการมิวเซียมไทยควรจะเพิ่มอะไรบ้างในสายตาคนรุ่นใหม่อย่างเขา สิ่งแรกที่เขาคิดถึงเลยก็คือ ‘การโปรโมต’

“แวบแรกที่คิดว่ากิจกรรมจะทำอะไรก็คือ กินข้าว ดูหนัง เขาก็ไปห้างกัน แล้วอาจจะด้วยสถานที่ที่ตั้ง การเดินทาง มันไม่ได้อยู่ใจกลางเหมือนห้าง แต่มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนนะ

“ตอนนี้คนไปเมืองนอกมากขึ้น เวลาไปเมืองนอกเราก็จะเห็นพิพิธภัณฑ์เป็น Attraction ศิลปินเดี๋ยวนี้ดังจากสื่อโซเชียลก็มี การเสพงานมันง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในหอศิลป์เสมอไป ดูจากอินสตาแกรมก็ได้

“นอกจากนี้ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับมิวเซียมก็เปลี่ยนไปแล้วในยุคนี้ บางคนก็ไปมิวเซียมเพื่อจะถ่ายรูปอย่างเดียวเลยก็มี อาจจะไม่ได้สนใจในรายละเอียด มองไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศิลปินชื่ออะไร แต่มันเป็นแบ็กกราวนด์ที่สวยดี ก็ถ่าย ซึ่งมันก็ไม่ผิดนะ มันทำให้เรานำมาคิดในการบริหารมิวเซียมด้วยซ้ำ ว่าการที่จะดึงดูดคนกลุ่มนี้ เราก็ต้องมีความเป็นมิตรในด้านเหล่านี้ด้วย”

ระหว่างทางเดินไปลิฟต์ พวกเราเดินผ่านงานของคิดอีก 2 ชิ้นที่จัดแสดงอยู่บนชั้น 5 ด้วย เป็นภาพถ่ายของสองสาวซูเปอร์สตาร์อย่าง พลอย เฌอมาลย์ และ คริส หอวัง ทำให้ได้โอกาสถามคำถามที่เราเก็บไว้ในใจตั้งแต่ชั้นหนึ่งว่า เขารู้สึกยังไงที่ได้จัดศิลปะของพ่อ?

“การได้แสดงงานในมิวเซียมเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว การที่ให้คนมาได้เห็นไม่ว่าจะที่ไหนก็ดีใจ” คิดยิ้ม

นอกจากจะได้รูปสวยๆ มาเต็มกล้องแล้ว การมาเที่ยว MOCA กับคิดครั้งนี้ ยังมอบพลังและความหวังในอนาคตของวงการศิลปะไทย มาให้หัวใจของเราตื่นเต้นกันต่อไปอีกด้วย

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ