“กับข้าวครับ…กับข้าว มาแล้วครับ…กับข้าว”

เสียงลากดังจากรถขายกับข้าวในยามเช้ามักปลุกผมจากฝันเมื่อครั้งปิดเทอมภาคฤดูร้อน แม้ว่าผมจะไม่ได้ลุกจากเตียงออกไปซื้อกับข้าวตามเสียงเรียกนั้นก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าเพื่อนบ้านหลายๆ ท่านในซอยคงรุกพุ่งตรงไปเลือกซื้อสินค้าที่ท้ายรถกระบะคันนั้น

กระทั่งปัจจุบันนี้ที่การปิดเทอมไม่ได้มีอยู่ในชีวิตอีกแล้ว ผมพบว่ารถขายกับข้าวที่น่าจะผ่านตาทุกคนมาบ้างนั้น หากเรามองว่าสถาปัตยกรรมนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคน กิจกรรม เวลา และเมือง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารถกับข้าวที่กำลังวิ่งอยู่ในเมืองเหล่านี้มีความน่าสนใจในเชิงสถาปัตยกรรมไม่แพ้เรื่องอื่นๆ ที่เคยกล่าวมาทั้งหมดในคอลัมน์นี้เช่นกันครับ

ตลาดสด

รถกับข้าว

“รถกับข้าวเป็นการจำลองและแปลงสภาพตลาดในรูปแบบหนึ่ง และออกเคลื่อนที่ไปตามตรอกซอกซอย (Market Reconfiguration)”

คือนิยามของรถกับข้าว หรือที่คนชอบเรียกว่า ‘รถพุ่มพวง’ ของ อาจารย์เก่ง-กฤษณะพล วัฒนวันยู อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งกำลังวิจัยปริญญาเอกในหัวข้อเรื่อง ‘ปฏิบัติการของ รถกับข้าว / รถเร่ กับการสร้างเมืองในชีวิตประจำวัน’ พร้อมแนบขยายติดท้ายไว้อีกว่า “ถ้าเราไปเดินตลาดสดตลาดหนึ่ง พวกข้าวของมันก็จะเป็นแบบนี้แหละ”

สำหรับคนที่ไม่รู้จักรถพุ่มพวงแล้ว เว็บไซต์ Wikipedia ได้ให้ความหมายไว้อย่างละเอียดไว้ว่าคือ ‘รถกระบะหรือรถมอเตอร์ไซค์ที่เปิดท้ายขายของสดหรือของแห้ง ผัก ผลไม้ โดยมีสินค้ามักจะห้อยเป็นพวงๆ จับเป็นกลุ่มสินค้าไว้ทั่วตัวถังรถ โดยวิ่งไปขายตามชุมชนต่างๆ ในหมู่บ้าน ตามพื้นที่ก่อสร้าง ไปจนถึงบ้านเดี่ยว

ชื่อยอดนิยม ‘รถพุ่มพวง’ นั้น ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่ามาจากลักษณะการจัดสินค้าเป็นห้อยถุงโตงเตงท้ายกระบะ เป็นพุ่มเป็นพวงล้อไปกับชื่อนักร้องลูกทุ่งหญิงในตำนาน พุ่มพวง ดวงจันทร์

“รถพุ่มพวงที่ไปพ้องกับชื่อรถนักร้อง สำหรับผมมันคือชื่อเล่น ที่จริงกลุ่มคนขายเรียกมันว่ารถกับข้าวหรือรถเร่มากกว่า เพราะว่ารถแบบนี้มันมีหลายประเภทไม่ใช่แค่มีถุงห้อย เช่น สามารถแบ่งประเภทได้เป็น หนึ่งคือ รถกับข้าว สองคือ รถผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งต่างจากรถกับข้าวตรงที่ไม่มีถังน้ำแข็งแช่ของสด และสามคือ รถขายข้าวของจิปาถะทั่วไป” คือสิ่งที่อาจารย์เก่งกล่าวไว้ว่าชื่อรถพุ่มพวงมันก็ไม่ได้ครอบคลุมกับรูปแบบรถกับข้าวทั้งหมดนัก

“อย่างไรก็ตาม ชื่อรถพุ่มพวงก็ส่งผลดีกับการจดจำ Identity ของรถเหล่านี้ได้”

ตลาดสด
ตลาดสด
ภาพ : wikimedia.org

เราไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นคนริเริ่มใช้ชื่อนี้ เช่นเดียวกับการที่เราไม่รู้แน่ชัดว่ารถเหล่านี้มีการปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่

“มันเริ่มคึกคักในหลังยุคฟองสบู่แตกประมาณ พ.ศ. 2539 – 2540 ซึ่งก็มีบางคนบอกว่าเคยพบเห็นรถกับข้าววิ่งขายก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มาก ต้นกำเนิดรถเร่พวกนี้ก็มาจากพวกหาบเร่ แผงลอยหรือรถเข็น ที่เริ่มจากการมีอะไรขายก็นำไปเร่ขาย ดังนั้น รถกับข้าวก็มีหลักการคล้ายๆ กัน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนจากการเดิน การเข็น มาเป็นการใช้รถกระบะแทน”

ตลาดสด

ถ้าเรามองว่ารถกับข้าวคือตลาดที่เร่ขายได้ด้วยการใช้รถกระบะแล้ว เราก็จะพบวิธีคิดของการจัดสรรวิธีขายของที่ผสานเข้าไปกับท้ายกระบะ ซึ่งก็คือการดิสเพลย์สินค้าที่จะทำยังไงให้เห็นง่ายและช้อปสะดวก โดยส่วนใหญ่แล้วคู่พ่อค้าแม่ค้ารถกับข้าว มักจะเป็นคู่สามีภรรยา (หรือบางคันอาจจะเป็นญาติกัน) ตัวสามีจะเป็นคนขับรถและมีภรรยาคอยขายของอยู่หลังกระบะ

ท้ายกระบะนั้นค่อนข้างมีที่จำกัด การซ้อนทับของมากเกินไปอาจทำให้สินค้าบางชนิดช้ำได้ ทำให้การเกี่ยวแขวนถุงในแนวตั้งคือวิธีแก้ปัญหาที่นิยม ซึ่งการแบ่งของเป็นถุงๆ ห้อยไว้นั้นนอกจากจะช่วยในการแยกประเภทสินค้าให้หาง่าย ยังง่ายต่อการคิดราคาอีกด้วย

“แน่นอนว่าเวลาเราจะเริ่มขายของ เราก็ต้องคิดว่าจะขายยังไง มันเลยเกิดการลองปรับแต่งกันไปตามถนัด ถังแช่ต้องวางตรงไหน ต้องมีถุงกี่พวง ต้องห้อยยังไง จะเกี่ยวแขวนยังไง หรือแขวนมากแขวนน้อย

จนกระทั่งเริ่มดัดแปลงต่อเติมง่ายๆ ทำราวแขวนแบบต่างๆ หรือทำแท่นพื้นยื่นเพิ่มตามฟังก์ชันที่ต้องการ

ซึ่งจริงๆ มันก็มีหมวดหมู่แล้วประมาณหนึ่ง เช่นของคาวก็จะอยู่ในถังน้ำแข็ง พวกเครื่องเคียงก็จะแขวนไว้ ผักวางทางซ้าย ส่วนขนมวางไว้ขวา หรือบางอย่างจะต้องบอกก่อนถึงหยิบให้”

ตลาดสด
ตลาดสด
ภาพ : sentangsedtee.com

“ส่วนคนที่มาเป็นลูกค้ารถเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่อง Brand Loyalty เหมือนกันนะ เช่น การพูดคุยกับแม่ค้ารถคันนี้แล้วถูกคอ หรือของสดกว่าอีกคันหนึ่ง แม้กระทั่งคาแรกเตอร์ของคนขับประกาศเรียกคนและลูกค้าด้วยลำโพงก็ทำให้คนจำเสียงได้ เป็นเสียงประกาศที่คุ้นหู ไม่ว่าจะโทนเสียง คำลากยาว ลูกค้าก็จะรู้แล้วว่าต้องออกไปยังจุดจอดประจำเพื่อซื้อกับข้าว และก็อาจจะพูดได้ว่ารถกับข้าวเหล่านี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหรือช่วยทำให้เกิดการพบปะของคนในซอยหรือชุมชนนั้นๆ ได้อีกด้วย”

รถกลับเข้า

ว่ากันว่าเหตุหนึ่งที่ทำให้รถกับข้าวได้มาโลดแล่นในเมืองได้ ก็เพราะว่าภาครัฐไม่สามารถให้งานบริการครอบคลุมในความต้องการบางกลุ่มคน ดังนั้น การให้บริการแบบ Informal Urban Service อย่างรถกับข้าวจึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยนำกับข้าวกลับเข้าไปในพื้นที่เมืองที่เข้าถึงยากหรือขาดแคลนบริการพื้นฐานเหล่านั้น

ตลาดสด

“รถกับข้าวก็เป็นบริการแบบ Informal หนึ่งที่มันมีอยู่ ซึ่งก็เป็นการบริการหรือสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน คือนำตลาดกลับไปสู่กลุ่มคนที่ไม่สะดวกเดินทาง ซึ่งก็มีกลุ่มเฉพาะแตกต่างกันไป” อาจารย์เก่งเล่าเรื่องการบริการของรถกับข้าว

“กลุ่มลูกค้าหลักๆ ของรถกับข้าวก็คือ กลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มคนที่เดินทางไม่ได้ เดินทางไม่สะดวก กลุ่มผู้สูงวัย ตามหมู่บ้านจัดสรร ในย่านชุมชนต่างๆ รวมถึงกลุ่มคนงานตามไซต์งานก่อสร้างและโรงงาน

หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่ไม่อยากเดินทาง

“มันมีความคล้ายบริการโทรสั่งอาหาร หรือ Food Delivery มาก บางคนเขาก็โทรสั่งกับรถกับข้าวนอกเหนือไปจากของที่มีขายนะ เช่นวันนี้จะต้องสั่งของมาไหว้เจ้าก็จะสามารถสั่งเป็นกรณีพิเศษได้ด้วย รถบางคันก็จะคัดเลือกกลุ่มลูกค้าหลักเพื่อสะดวกในการจัดการ เช่นบางคันก็จะเน้นเป็นกลุ่มคนงานไปเลยก็มี ซึ่งการเจาะกลุ่มลูกค้านี้มันก็จะส่งผลต่อข้าวของที่นำมาขายด้วย”

ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่หนึ่งหรือซอยหนึ่งเราก็อาจจะพบรถกับข้าวหลายคันได้ เพราะว่ามีกลุ่มลูกค้าประจำคนละกลุ่ม แม้ว่าจะมีของก็คล้ายๆ กัน ซึ่งถ้าลงดีเทลก็จะพบอีกว่า การที่เข้ามาหาลูกค้าคนละกลุ่มนั้นสัมพันธ์กับจุดจอดตามซอกซอยอีกด้วย

“กว่าจะเข้ามาในอาชีพนี้ได้มันมีปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญก็คือ การมีระบบเครือญาติ หรือคนที่รู้จักที่เขาเคยทำอาชีพนี้ก่อน เพื่อจะแนะนำได้ว่าไปวิ่งที่ไหนดี มีการส่งต่อ ‘มรดกเส้นทาง’ เพราะการวิ่งเส้นไหนเส้นหนึ่งไม่ได้แปลว่าจะขายของได้ โดยมรดกเส้นทางจะบอกไว้ว่าถ้าไปเส้นดอนเมืองให้เข้าซอย 5 ออกซอย 7 และเข้าซอย 9 แล้วจอดตรงไหนถึงขายได้

“นี่คือ Know-how ที่เกิดจากการลองผิดลองถูก ซึ่งกว่าเส้นทางที่เขาจะเริ่มเซ็ตขึ้นมาได้ก็กินเวลาเป็นเกือบครึ่งปี ถึงรู้ว่าจอดตรงไหนแล้วขายได้ กระทั่งการหลีกทับเส้นทางกับรถคันอื่นอีกด้วย ซึ่งมันมี Tactic อีกมากมายเกี่ยวกับมรดกเส้นทาง ถือเป็น R&D แบบเครือญาติที่ต้องมีหูตาอัพเดตและดัดแปลงเส้นทางตลอดเวลา”

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของมรดกเส้นทางก็คือ เรื่องจุดจอดยุทธศาสตร์ “บางเส้นจอดได้ถึง 40 – 60 จุด จุดละ 8 – 10 คน จอดจุดละ 5 – 10 นาที โดยอย่างน้อยต้องมีจุดหลักใหญ่จุดหนึ่งที่มีคนมาซื้อ 10 คนขึ้นไปถึงจะคุ้มกับการวนเข้าไปจอด ซึ่งส่วนใหญ่จะขายหมด แต่ก็แล้วแต่คันนะ ซึ่งส่วนใหญ่จะออก 2 รอบ รอบเช้าก่อนฟ้าสางจนเที่ยง กับรอบบ่ายแก่ๆ ถึงช่วงคนเลิกงาน พอถึงทุ่มหนึ่งก็กลับบ้าน”

การแบ่งรอบวิ่งรถในแต่ละรอบนั้น รถกับข้าวก็จะวิ่งไปขึ้นของที่ตลาดใหญ่ๆ ตามมุมเมือง และระหว่างขึ้นของนั้นก็เกิดการหมุนเม็ดเงินมหาศาลโดยที่เราไม่รู้ตัวอีกด้วย

“ถ้าเข้าไปถามพวกแผงขายของในตลาดสดที่มีรถพวกนี้ไปจอด เขาจะบอกเลยว่ารถเร่ รถกับข้าว นี่คือกลุ่มลูกค้าหลักเลย เพราะปกติเราไปตลาดซื้อของเต็มที่ก็ทีละพันหนึ่ง แต่รถกับข้าว / รถพุ่มพวงนั้น ซื้อของขึ้นของทีหนึ่งเป็นหลักหมื่นต่อคัน ซึ่งบางตลาดมีจอดถึง 200 คัน หากลองคูณหมื่นบาทเข้าไปนี่ได้ถึง 2,000,000 เลยนะ และก็ไม่ได้เข้าไปซื้อแค่รอบเดียวด้วย ตลาดบางแห่งนั้นอาจจะเป็นหลักพันคันก็มี”

ตลาดสด

ไม่น่าแปลกใจเลยที่ช่วงหนึ่งกลุ่ม Modern Trade พยายามเข้ามาเลียนแบบรถกับข้าวเหล่านี้ แต่สุดท้ายก็ยังสู้ไม่ได้ นั่นก็อาจเพราะเจาะลูกค้าไม่ตรงกลุ่ม รวมทั้งจุดแข็งอย่างเรื่องงานบริการเสริมที่พ่วงติดมากับรถกับข้าว เช่น ขอดเกล็ดปลาให้ แล่เนื้อให้ ปิ้งไก่ให้ ปอกผลไม้ให้ หรือกระทั่งการให้ลูกค้าเชื่อหรือจดค่าของไว้ก่อนได้ ที่รถแบบอื่นๆ ไม่มีให้

สุดท้ายอาจารย์เก่งก็สรุปและมองอนาคตของรถกับข้าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในอนาคต รถเหล่านี้ก็คงจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไป อย่างรถเร่ก็พัฒนามาจากหาบเร่ มันก็เป็นไปตามยุคสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของวิถีชีวิตผู้คนในสังคมเมือง ผมมองว่ามันก็คงจะมีอยู่คู่กับสังคมเราต่อไป

“แต่ตอบไม่ได้ว่าจะมีเยอะขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งถ้าวันหนึ่งที่กรุงเทพฯ พัฒนาแล้วสิ่งเหล่านี้อาจจะหายไปก็ได้ หรือไม่ก็อาจจะวิวัฒน์ขึ้นไปในรูปแบบใหม่ และปรับตัวตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในยุคสมัยนั้นก็เป็นได้”

ตลาดสด
ตลาดสด

บทส่งท้าย

เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่ผมได้สำรวจความเป็นไทยและปรากฏการณ์เมืองในมุมมองสถาปัตยกรรม

ผ่านการเขียนคอลัมน์อาคิเต็ก-เจอนี้ ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงทดลองของเด็ก’ถาปัตย์คนหนึ่งที่ได้โอกาสจากพี่ก้อง ทรงกลด และปล่อยให้ได้อ่านกันตั้งแต่ช่วงเริ่มเปิดตัว readthecloud.co มาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับตอนนี้คอลัมน์ก็ดำเนินมาถึงตอนที่ 22 ซึ่งผมมองว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะขออนุญาตทำงานเขียนตอนนี้เป็นชิ้นสุดท้าย

โดยหวังว่าเรื่องสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ทั้ง 22 เรื่องเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจและสงสัยกับสิ่งรอบตัวที่เจอทุกวันในชีวิตประจำวันนะครับ

จากการสนทนาเรื่องรถพุ่มพวงกับอาจารย์เก่งในงานเขียนตอนสุดท้ายนี้ มีบทสนทนาท่อนหนึ่งที่ค่อนข้างพ้องกับสิ่งที่ผมเขียนและลงเดินสำรวจเมืองมาตลอด 2 ปี โดยมีเนื้อหาดังนี้ครับ

“เมืองที่ดีนั้น นอกจากจะมีการพัฒนาแล้ว มันต้องมีชีวิตชีวา มันต้องไม่แห้งแล้งและมีวิถีชีวิต ผู้คนได้พูดคุยกัน มีกิจกรรมคึกคักสังสรรค์ และยังเก็บตัวตนของวัฒนธรรมเอาไว้ได้ นี่ก็คือหัวใจของเมืองเพื่อทุกคน”

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว และใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพแข็งแรงนะครับ

สำหรับคอลัมน์นี้ สวัสดีครับ

บรรณานุกรม

หนังสือ Bangkok Handmade Transit : กรุงเทพฯ ขนส่งทำมือ – กลุ่มสายลม และ ยรรยง บุญหลง

Writer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น