Mo. (โม, ย่อมาจาก Minimal objects) ไม่ใช่แบรนด์กระเป๋าแฟชั่น

หากแต่เป็นแบรนด์กระเป๋าฟังก์ชันที่คิดมาจากปัญหาจริงของผู้หญิงมีของ (เยอะ) ทั้งกระเป๋ารุ่น Doctor Mo. ที่ดังสุดๆ ในหมู่สถาปนิกและนักออกแบบ หรือกระเป๋าสตางค์รุ่น Mo. 80 ใบที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ซึ่งแจ้งเกิดในเว็บไซต์ระดมทุน มีผู้สนใจกระเป๋าสตางค์รุ่นนี้จากทั่วโลกจนไปถึงเป้าหมาย 25,000 เหรียญฯ หรือ 800,000 บาทในเวลาอันรวดเร็ว

Mo. เกิดขึ้นจากความหลงใหลการแก้ปัญหาด้วยงานออกแบบของ รสลิน จรรยาศักดิ์

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์ Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

“เรารู้สึกสนุกทุกครั้ง เมื่อเห็นอะไรก็ตามที่ทำให้เรามีคำถามเกิดขึ้นในหัวตลอดเวลาว่าสิ่งนั้นน่าจะพัฒนาต่ออย่างไรได้อีกบ้าง” เธอบอกเราด้วยตาที่เป็นกระกาย

รสลินเป็นนักออกแบบผู้ชอบแบรนด์ของแต่งบ้าน ชอบของที่หน้าตาเรียบๆ กระเป๋าจากเธอจึงเรียบหรูโดนใจสาวๆ มินิมอลสไตล์

สิ่งที่น่าสนใจคือ ภายใต้ความมินิมอลนั้น กระเป๋า Mo. สะท้อนบุคลิกบางอย่างซึ่งเปลี่ยนใจสาวกแบรนด์เนมให้หันมาใช้ Mo. กันทั่วเมือง

“กระเป๋าที่ใช้งานง่าย กระเป๋าที่ไม่แสดงออกฐานะที่แท้จริงของผู้ใช้” รสลินพูดพร้อมยื่นกระเป๋ารุ่นโปรดของเธอให้เราลองถือ

เราไม่อาจบอกแทนใครว่า Mo. เป็นกระเป๋าที่ตอบโจทย์ทุกคนหรือไม่ จนกว่าคุณจะได้ฟังเรื่องราวของแบรนด์นี้ และไปลองจับกระเป๋าใบจริงดูสักครั้ง

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

กระเป๋าของนักออกแบบ

“เราชอบงานประดิดประดอยตั้งแต่เด็ก เอาขันมาทำนาฬิกา ร้อยเข็มกลัดกับเชือกรองเท้า หยิบของมาพลิกแพลง” อดีตนักเรียนออกแบบเล่าย้อนความสนใจในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของเธอในวันนี้

แม้สอบได้ที่ 1 ของชั้น และได้รางวัลด้านการออกแบบมามากมายระหว่างเรียนที่คณะออกแบบอุตสาหการจากเมืองซิดนีย์ รสลินกลับเลือกที่จะเริ่มต้นทำงานในสายการตลาดกับบริษัทค้าปลีกแห่งหนึ่ง เพราะอยากเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคจากตลาดจริงเพื่อใช้ในงานวางแผนการตลาดและออกแบบผลิตภัณฑ์

โดยระหว่างที่ที่รสลินเดินทางไปเรียนภาษาที่ประเทศญี่ปุ่น เธอใช้เวลาว่างทั้งบ่ายลงเรียนทำเครื่องหนังกับสตูดิโอเล็กๆ ซึ่งเธอต้องแสดงความตั้งใจจริงอย่างหนักหน่วงก่อนสมัครเข้าเรียน เพราะอุปสรรคทางภาษาและจำนวนนักเรียนต่อชั้นที่เปิดรับเพียง 4 คนเท่านั้น

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

“ที่เริ่มต้นกับเรียนรู้การทำเครื่องหนังก่อน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้นทุนไม่มากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่อาจจะต้องขึ้นแบบหรือผ่านกระบวนการยุ่งยากในโรงงานเพื่อผลิตในจำนวนมาก” รสลินเล่า ก่อนเสริมว่า กระเป๋าเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างฟังก์ชันและแฟชั่น และไม่ใหญ่โตแบบเฟอร์นิเจอร์ ทำให้เธอลงมือทำได้เองทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ

เวลาผ่านไป 1 ปี รสลินรู้วิธีทำกระเป๋า 2 – 3 แบบ ทั้งทำไว้ใช้เองและทำให้เพื่อนเป็นของขวัญ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นกระเป๋าสตางค์ในแบบทรงที่อยากใช้แต่ไม่มีขายในท้องตลาด

“เรารู้ตั้งแต่วันแรกแล้วว่า Mo. ไม่ใช่กระเป๋าแฟชั่น แต่เป็นกระเป๋าที่คิดจากฟังก์ชันการใช้งาน ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาของผู้หญิง”

แค่ได้ยินก็ตื่นเต้นแล้ว มาดูกันว่ากระเป๋าของ Mo. แก้ปัญหาอะไรของผู้หญิงเยอะๆ อย่างเราบ้าง

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

รู้ว่าบัตรเยอะ

กระเป๋าที่เปิดมาแล้วเห็นบัตรวางเรียงกัน คือโจทย์แรกของรสลิน

เธอพบว่าผู้ใช้งานกระเป๋าส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่น้อยไปกับการหาบัตรที่ต้องการ เมื่อเก็บข้อมูลก็พบว่ายังไม่มีแบรนด์ไหนในท้องตลาดตอบโจทย์นี้

“เราชอบงานออกแบบที่สอดคล้องกับสรีระร่างกาย เช่น การใช้มือขวาหยิบบัตรจากกระเป๋าได้ทันทีเข้ากับองศาการแกว่งข้อมือ” หลังจากทดลองร่างแบบ-ทำตัวอย่าง-ทดลองใช้ ปรับจนพอใจแล้วส่งแบบนั้นให้โรงงานขึ้นตัวอย่างจริง รสลินในนามแบรนด์ Mo. ก็ประกาศระดมทุนกระเป๋ารุ่น ‘Mo. 80’ ในเว็บไซต์ indiegogo.com

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

จากตัวอย่างแบรนด์ในหมวดแฟชั่นที่แจ้งเกิดและประสบความสำเร็จผ่านการระดมทุน เช่น KEEP PURSUING จากสหรัฐอเมริกา และ linjer จากนอร์เวย์ สร้างความมั่นใจให้แก่รสลิน โดยเธอตั้งเป้าหมายการระดมทุนไว้ที่ 25,000 เหรียญฯ  หรือประมาณ 800,000 บาท ซึ่งคิดเป็นกระเป๋าจำนวน 200 ใบ

เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้การระดมทุนลุล่วงภายในระยะเวลา 1 เดือน คือ การกระจายข่าวออกไปให้มากที่สุด

“เราใช้ความพยายามอย่างมากกับการเขียน Press Release ส่งข่าวการระดมทุนนี้ถึงเว็บไซต์และสื่อทั้งในและต่างประเทศกว่า 100 สำนัก ด้วยตัวเอง

“หัวใจสำคัญของการระดมทุนคือ การทำให้คนที่ไม่รู้จักเราเชื่อใจและมั่นใจในเราจนยอมจ่ายเงินจำนวนไม่น้อย แล้วรอคอยรับของในเวลาอีก 2 – 3 เดือน แทนที่จะออกไปซื้อแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด” รสลินเล่า ก่อนเสริมว่า เธอจะคอยอัพเดตที่หน้าเว็บไซต์อยู่ตลอดว่านำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้กับเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับการทำต้นแบบ นอกจากนั้นจะคอยส่งข่าวความคืบหน้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

จะเห็นว่านอกจากไอเดียที่สดใหม่ การนำเสนอฟังก์ชันของกระเป๋าผ่านวิดีโอที่ทำอย่างตั้งใจก็เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเหตุผลที่รสลินชวนเพื่อนพ้องช่างภาพ ช่างวิดีโอ สไตลิสต์ ที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับแบรนด์ไทย มารวมตัวกันในงานชิ้นนี้

รู้ว่าของเยอะ

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

หลังจากวันที่ ‘Mo. 80’ ส่งถึงมือลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลก รสลินก็เริ่มฝันถึงกระเป๋าใบที่ใหญ่ขึ้น

จากความบังเอิญที่เห็นกระเป๋าทรงคุณหมอของอาจารย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่ง เธอคิดอยากดัดแปลงกระเป๋าผู้ชายใบนั้นให้กลายเป็นกระเป๋าผู้หญิงใช้งานง่าย “สำหรับเรามันน่ารักมาก มีคาน มีเหล็ก มีความเป็นรูปทรงตื้นลึกหนาบาง ตอนนั้นคิดแต่ว่าน่าสนุกดีถ้าทำออกมา” รสลินเล่า

ผลปรากฏว่ากระเป๋ารุ่น ‘Doctor Mo.’ ดังเป็นพลุแตก เพราะทั้งน่ารักและตอบโจทย์เรื่องความจุ ช่างรู้ใจผู้หญิงมีของ (เยอะ) อย่างชาวเรา

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์ Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

รู้ว่าออกเดินทางเยอะ

กระเป๋ารุ่นอื่นๆ ของ Mo ได้แรงบันดาลใจจากโจทย์ที่แตกต่างกันไป เช่น รุ่นยอดฮิตอีกรุ่นอย่าง ‘Shopper Mo.’ กระเป๋าทรงกล่องใบใหญ่เหมาะกับคนชอบเดินทาง เพราะใส่กล้องและเอกสารได้พร้อมกัน จะใช้ถือก็ได้ คล้องแขนก็ดี หรือสีสันของกระเป๋าสตางค์ที่คิดมาจากอินไซต์การชอบสีสัน ไม่คุมโทนอย่างกระเป๋าใบหลัก “จะเห็นเลยว่ากระเป๋าสตางค์สีเรียบขายได้ยากกว่าสีแดงหรือสีเขียวเกี่ยวทรัพย์ตามความเชื่อส่วนบุคคล” รสลินเล่าติดตลกว่าเธอไม่ได้ตั้งใจออกแบบตามสีมงคล แต่ปรับวิธีสื่อสารในออนไลน์ให้สนุกขึ้นด้วยการพูดถึงสิ่งเหล่านี้บ้าง

รู้ว่าต้องไปงานเยอะ

เบื้องหน้าเราคือ กระเป๋ารุ่น ‘Full Moon’ ทรงกลมน่ารัก

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

จากโจทย์ว่า ทำไมกระเป๋าออกงานมักจะเล็กจนใส่อะไรมากไม่ค่อยได้ รสลินจึงออกแบบกระเป๋าสำหรับใช้ไปงานเลี้ยงที่ใบใหญ่พอจะใส่ของกระเป๋าสตางค์ใบยาว ทั้งยังใช้ได้ในชีวิตประจำวันและร่วมงานเลี้ยงกลางคืน โดยไม่ต้องพกกระเป๋าหลายใบอีกต่อไป

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

รู้ว่าใช้กระเป๋ามาเยอะ (แล้ว)

ลูกค้าส่วนใหญ่ของ Mo. เป็นสถาปนิกสาวและนักออกแบบภายใน หรือเป็นคนที่เคยใช้กระเป๋ามากมายหลายระดับ ตั้งแต่ แบรนด์ทั่วไป จนถึงแบรนด์หรูหราราคาแพง และบางทีพวกเธอก็อยากได้กระเป๋าที่ใช้งานง่าย กระเป๋าที่ไม่แสดงออกฐานะที่แท้จริงของผู้ใช้

“ลูกค้าจะมาเล่าให้ฟังเสมอว่ากระเป๋าของเรามีจุดเหมือนหรือต่างกับแบรนด์ที่พวกเธอเคยใช้มาอย่างไรบ้าง ทำให้รู้ว่าสุดท้ายแล้วคนชอบใช้อะไรที่ง่าย ไม่หวือหวามาก” รสลินเล่าพร้อมรอยยิ้ม

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

รู้ว่าราคาเยอะ

มีวิธีที่ง่ายกว่ามากมายที่จะทำรายได้ให้กับแบรนด์ Mo. สบายๆ ตั้งแต่การวางสินค้าในห้างสรรพสินค้าในแผนกกระเป๋าสตรีให้ทุกคนมาทดลองจับ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการวางหน้าร้านที่ทำให้ราคากระเป๋าอาจจะต้องแพงขึ้น โดยที่ Mo. เพียงดูแลการผลิตให้เพียงพอ แต่ Mo. ไม่เลือกที่จะทำธุรกิจแบบนั้น

ในช่วงแรกรสลินใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางขายหลักเพื่อลดต้นทุนส่วนต่าง เพราะเธอตั้งใจทำกระเป๋าคุณภาพดีในราคาที่จับต้องได้ ก่อนจะปรับแผนวางขายในร้านขายของนักออกแบบบ้าง และมีหน้าร้านเล็กๆ ซ่อนตัวอย่างลับๆ ในซอยประดิพัทธ์ ซึ่งเปิดแค่ 2 วันต่อสัปดาห์เพื่อควบคุมต้นทุนการมีหน้าร้าน

“หน้าร้านเปิดแค่วันพฤหัสบดีเผื่อให้คนทำงานแถวนี้ และวันอาทิตย์อีก 1 วันสำหรับคนที่อยู่ไกล”

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์ Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

รู้ว่าเข้มงวดเยอะ (ไปก็ไม่ดี)

ตลอดการสนทนารสลินจะย้ำเสมอว่า ลูกค้าเป็นผู้สอนวิชาการทำธุรกิจแบบที่หลักสูตรบริหารธุรกิจที่ไหนก็สอนไม่ได้

ครั้งหนึ่งเธอจริงจังกับการลดต้นทุนในธุรกิจมาเกินไปจนเกือบเสียลูกค้า

“เมื่อก่อนเรามีนโยบายซื้อออนไลน์ได้รับกล่องแต่ซื้อหน้าร้านจะไม่ได้รับ หรือหากลูกค้าขอถุงเพิ่มเราจะไม่ให้ และนั่นทำให้เขารู้สึกได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี หรือตอนที่ตั้งราคากระเป๋า เราไม่ได้คิดครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนของบริการหลังการขาย เมื่อลูกค้านำกระเป๋ามาซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่แล้วเราเก็บค่าซ่อม ลูกค้าก็รู้สึกไม่พอใจ ทำให้รู้ว่าเรื่องเล็กๆ แบบนี้มีผลกับความรู้สึกมาก เราเรียนรู้ว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้ลูกค้ามีความสุข เราจะทำ ซึ่งหากมองให้ดีจะพบว่าต้นทุนการสร้างลูกค้าใหม่สูงกว่าการรักษาความรู้สึกลูกค้าเก่าด้วยซ้ำ” รสลินเล่า

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

รู้ว่าควรเตรียมพร้อมให้เยอะ

แม้จะอาจจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดี แต่รสลินก็คิดไว้แล้วว่าในอนาคตต่อไป เธอตั้งใจจะทำกระเป๋าที่ช่วยให้ผู้หญิงจัดการเรื่องต่างๆ ในชีวิตดีขึ้นในด้านต่างๆ เช่น กระเป๋าออร์แกไนเซอร์ช่วยจัดการชีวิต หรือกระเป๋าเล็กๆ ใช้งานง่ายๆ สำหรับใส่ของกระจุกกระจิก โดยที่ใส่กระเป๋ากับกระเป๋าใบไหนก็ได้ดูเข้ากันดีทั้งหมด

พร้อมกันนี้ แม้จะมี Buyer จากต่างประเทศติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แต่รสลินอยากให้ Mo. มีระบบหลังบ้านทั้งการผลิต การขนส่ง และบริการหลังการขาย ที่พร้อมมากกว่านี้ก่อน

“มาถึงวันนี้โจทย์ของการทำธุรกิจแตกต่างไปจากวันแรกอย่างไรบ้าง” เราถาม

“วันแรกเราแค่อยากลองดูว่าจะมีคนชอบไอเดียนี้ของเรามั้ย โอเค ดี มีคนชอบ จบ แต่วันนี้เราทำเพราะอยากให้แบรนด์ไทยไปอยู่ในระดับสากลให้ได้ อยากทำให้ลูกค้ามีความสุข จากการได้รับกระเป๋า ลองใช้และชอบมันมากๆ” รสลิน

Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์ Mo., กระเป๋า, รสลิน จรรยาศักดิ์

Mo.

mostory.co

facebook : Mo.

instagram : mostory.co

Mo. Museum & Objects That Matter

เปิดเฉพาะวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ เวลา 12.00 – 20.00 น.

Lesson Learnt

“มองตัวเองลึกๆ ว่ามีความถนัดด้านใด ชอบอะไร และตลาดต้องการอะไร บางทีเราชอบแต่ตลาดไม่ชอบด้วยก็เป็นธุรกิจไม่ได้ หรือบางเรื่องที่เราชอบแต่เราไม่ถนัดเลยมันก็ออกมาไม่สุด ในการทำธุรกิจ เราจำเป็นต้องมองหาสิ่งที่เราชอบ ถนัด และตลาดต้องการเสมอ” รสลินทิ้งท้ายคำแนะนำ

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ