ในหลายมุมของกรุงเทพฯ ยังมีตลาดสดที่ขายวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารที่มีหลากหลายประเภท ทั้งผัก เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป ซึ่งมีราคาย่อมเยา แม้ว่าจะไม่ได้ถูกบรรจุในแพ็กเกจที่สวยงามเหมือนในห้าง แต่ก็ยังถือว่าราคาเป็นมิตร สะดวกกับการเลือกสรรด้วยตัวเอง เหมาะกับบรรดาแม่บ้านที่ไม่ได้ตั้งใจจะเข้าไปซื้อของในห้างหรือสะดวกจับจ่ายแถวบ้านด้วยราคาที่สบายกระเป๋าพร้อมอุดหนุนผู้ค้ารายย่อยที่เป็นชาวบ้านอย่างเราๆ นี่แหละ

และอีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ก็ยังมีตลาดสดแบบนี้ ที่ขนบรรดาวัตถุดิบมาด้วยรถไฟขบวนยาวจากโซนตะวันออกของเมืองในทุกๆ เช้า ผ่านระยะเวลามากว่าสิบปี 

ที่นี่ ตลาดสดสถานีรถไฟมักกะสัน 

สถานีรถไฟปู๊นปู๊นใจกลางเมืองที่พาดผ่านด้วยทางด่วน ล้อมรอบด้วยตึกสูง อยู่ใกล้ตึกใบหยก ใกล้เซ็นทรัลเวิลด์ ใกล้อนุสาวรีย์ชัย 

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

ยี่สิบกว่าปีก่อน

เรา…ในวัยเพียงไม่กี่ขวบ ถูกหญิงสูงอายุจูงมือเดินมาจากปากซอยหมอเหล็งย่านหัวถนนศรีอยุธยาตัดกับราชปรารภ สองคนย่าหลานเดินข้ามทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านรั้วริมทางรถไฟลัดเลาะไปเรื่อยๆ จนไปถึงสถานีรถไฟที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ทางด่วน สถานีรถไฟที่ดูลึกลับนั้นมีชื่อว่า ‘มักกะสัน’ 

มันคือชีวิตประจำวันของเราทุกวันเสาร์ จริงๆ ย่าพาหลานมาดูรถไฟพร้อมกับใช้แรงงานหอบหิ้วของเท่าที่จะหิ้วได้ไปด้วยในตัว เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไม่เบาเพราะเราก็ชอบแหละ หิ้วของนิดๆ หน่อยๆ แต่ได้ดูรถไฟแบบเต็มๆ สองคนย่าหลานจะมาถึงในช่วงสายประมาณ 9 โมงครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่มีรถไฟ 2 – 3 ขบวนรวมรถสินค้าให้ดูก่อนถึงเวลาที่รถไฟพระเอกของงานจะมาถึงในช่วงราวๆ 10 โมง (ถ้าความทรงจำเกือบ 30 ปีก่อนของเราไม่เลือนราง)

เด็กน้อยที่นั่งดูรถไฟผ่านไปผ่านมาอย่างมีความสุขพร้อมส่งเสียงเอิ๊กอ๊ากเป็นภาพที่ชินตาของคนที่สถานีไปแล้วมั้ง ย่าเองก็นั่งคุยกับคนขายของที่ชานชาลา คุยกับแม่ค้าขายลอตเตอรี่อย่างออกรสแล้วก็ได้กลับบ้านสักใบสองใบประจำ (แต่ก็ไม่เคยถูกกับเขาหรอก) 

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

ขบวนรถรวม คือรถไฟที่มีตู้สินค้าและตู้โดยสารในขบวนเดียวกัน ภาพโดย William Ford

เมื่อถึงเวลา ขบวนรถไฟที่หน้าตาขึงขังก็วิ่งเข้ามาที่ชานชาลา 2 ของสถานีมักกะสัน รถไฟขบวนนี้แตกต่างจากขบวนอื่นๆ มันมีตู้สินค้าอยู่ด้านหน้าและมีตู้โดยสารอยู่ด้านหลัง เมื่อมันจอดสนิท หัวรถจักรคันนั้นก็ดึงตู้สินค้าทั้งหมดออกแล้วลากเข้าไปเก็บในทางที่ 3 ก่อนจะกลับเข้ามาต่อกับรถโดยสารแล้ววิ่งต่อไปสถานีปลายทาง ทิ้งให้ตู้สินค้าทั้งหมดจอดสนิทอยู่ที่สถานี 

ในขณะนั้นเอง แม่ค้าที่อยู่ภาคพื้นก็จะไปรับกะละมัง ชะลอม ลัง และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มากับตู้สินค้าลงมาที่ชานชาลาและส่งต่อไปด้านหลังสถานีซึ่งเป็นลานโล่งสำหรับขายของ หลังจากนั้นไม่นานตลาดหลังสถานีก็ถูกเติมเต็มด้วยสินค้าอีกล็อตใหญ่ที่เพิ่งลงมาจากรถไฟขบวนนั้น และนั่นคือเวลาที่ย่าเดินไปจ่ายตลาดประจำวันพร้อมหลานผู้เป็นลูกสมุนช่วยขนของ

ขบวนรถไฟขบวนนี้เราเรียกลำลองว่า ‘รถแม่ค้า’ 

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

พ.ศ. 2563 

ผ่านไปหลายสิบปี ย่าไม่อยู่แล้วเหลือแต่หลานยังยืนอยู่ที่ชานชาลาสถานีมักกะสันเหมือนเดิม มันมีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากตอนนั้นมาก

ตอนนี้มีแอร์พอร์ตลิงก์วิ่งผ่านบนหัว

ตอนนี้ทางรถไฟที่สถานีมักกะสันเหลืออยู่ 2 ทาง 

และตอนนี้รถรวม 498 กบินทร์บุรี-กรุงเทพ ได้ยกเลิกไปแล้ว ทำให้ไม่มีรถไฟลูกครึ่งโดยสารและสินค้าในเส้นทางสายตะวันออกอีก 

แต่ตลาดยังอยู่

แม่ค้าก็ยังขนของทางรถไฟอยู่

แค่เปลี่ยนขบวนมาให้เช้าขึ้น

ขบวนรถไฟสายตะวันออกวิ่งผ่านพื้นที่ด้านโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ อย่างมักกะสัน หัวหมาก ลาดกระบัง หัวตะเข้ ก่อนจะเข้าจังหวัดฉะเชิงเทราและแยกออกไป 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งไปพัทยา ไปสัตหีบ อีกฝั่งหนึ่งไปปราจีนบุรี กบินทร์บุรี อรัญประเทศ และเข้ากัมพูชาที่คลองลึก 

พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ผ่านคือ ทุ่งนา คลอง ทุ่งนา คลอง ทุ่งนา สลับกันไป

แน่นอนว่ามันคือพื้นที่เกษตรกรรมที่กว้างขวาง มีสวน มีนา มีท้องร่อง และมีคลองเยอะแยะไปหมดตามชื่อสถานีที่มีเป็นคลองเพียบ ทั้งคลองหลวงแพ่ง คลองอุดมชลจร (คลอง) เปรง คลองแขวงกลั่น คลองบางพระ คลองสิบเก้า คลองยี่สิบเอ็ด บรรดาสิ่งของธรรมชาติที่หลากหลายก็เป็นหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนละแวกนั้น ทั้งปลูกเอง กินเอง และมันก็เกิดการค้าขายขึ้น

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

หลังจากที่รถรวมกบินทร์ฯ อดีตรถไฟแม่ค้ารุ่นออริจินัลได้ล้มหายตายจากไป รถไฟที่พาแม่ค้าและของสดเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นั้นเปลี่ยนใหม่เป็นรถธรรมดาขบวนที่ 372 ต้นสายมาจากปราจีนบุรี ปลายทางกรุงเทพ รถไฟขบวนนี้ออกจากปราจีนบุรีแต่เช้ามืด จอดรับส่งคนมาตลอดทาง และเริ่มมีสินค้าล็อตแรกขึ้นที่บ้านสร้าง ต่อด้วยบางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา บางเตย คลองบางพระ คลองแขวงกลั่น คลองเปรง คลองอุดมชลจร ซึ่งแม่ค้าเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เอาทรัพยากรที่เขาหาได้จากพื้นที่อาศัย ทั้งสวนของตัวเอง หรือแม้แต่การจับปลาจากคลองหรือท้องนา ขึ้นรถไฟเพื่อมาขายที่มักกะสันเป็นประจำแบบนี้ทุกวันๆ 

ตลาดหลังสถานีรถไฟมักกะสันตั้งแผงตั้งแต่เช้ามืด การจับจ่ายสินค้าเริ่มกันตั้งแต่ตลาดเปิด แผงส่วนใหญ่ถูกวางไว้ด้วยผักสด เนื้อสัตว์ ปลา อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป แต่ก็ยังมีบางแผงที่ยังว่างเปล่าเพื่อรอเพื่อนแม่ค้าที่เดินทางมากับรถไฟขบวน 372 ซึ่งจะมาถึงตอน 7 โมงเช้า 45 นาที

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

7 โมงครึ่ง คือสัญญาณของการเตรียมตัว

แผนกภาคพื้นของตลาดหรือที่เราเรียกเล่นๆ ว่า ‘กราวนด์’ ยืนสแตนด์บายอยู่ที่ชานชาลาตรงจุดประจำ พวกเขาทำงานกันเป็นทีม แต่ละคนรู้ว่าตำแหน่งของตู้แม่ค้าจากปราจีนบุรีและแปดริ้วเดินทางมานั้นจอดอยู่ตรงไหนของสถานี จากนั้นพวกเขาก็แค่รอให้รถไฟเดินทางมาถึง

ไม่นานนักเสียงระฆังดังขึ้น เป็นสัญญาณว่ารถไฟเที่ยวเข้ากรุงเทพฯ กำลังจะเดินทางมาถึง นั่นคือรถชานเมืองขบวน 372 ปราจีนบุรี-กรุงเทพ ที่ห้อตะบึงมาอย่างรวดเร็วและจอดสนิทอย่างสวยงามที่ชานชาลา

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

รถไฟขบวนนี้มีความยาวประมาณ 10 ตู้ 

ด้านหัวและท้ายของมันเป็นตู้รถไฟชั้นสามอย่างที่เราคุ้นเคย แต่ตู้ตรงกลางของขบวนเป็นรถสเตนเลสทาสีเขียวสังขยาดูแล้วแปลกตา ตู้แบบนี้เรียกว่าตู้ควีนส์แลนด์ที่เดินทางมาไกลจากออสเตรเลียเมื่อหลายสิบปีก่อน มันเหมาะสมกับขบวนนี้ เพราะพื้นที่บางส่วนถูกเว้นว่างไว้ให้เป็นที่ยืนและที่วางของ และแน่นอนว่าบรรดาของสด ผัก และกะละมังปลา ก็ถูกขนขึ้นและจัดวางบนขบวนรถอย่างเรียบร้อยภายในตู้แค่ไม่กี่ตู้ในขบวน

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า
ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า
ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

เมื่อรถไฟจอดสนิท กระบวนการถ่ายของจากบนรถไฟสู่ภาคพื้นก็เกิดขึ้น

ผักที่ถูกมัดไว้ถูกลำเลียงลงมาที่ชานชาลาพร้อมคนที่รอรับด้านล่างและเรียงขึ้นรถเข็นอย่างรวดเร็ว

กะละมังปลาช่อนที่มีปลาช่อนและปลาดุกเป็นๆ กำลังดิ้นอยู่ถูกส่งลงมาที่ชานชาลาเป็นลำดับต่อไป และตามมาด้วยแม่ค้าอีกนับสิบคนที่หอบหิ้วตะกร้าซึ่งบรรจุผลไม้ กล้วย ถุงปลาร้า และของชิ้นเล็กๆ อัดแน่นเต็มอยู่ในนั้นเป็นลำดับสุดท้ายที่ลงจากรถ 

กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นและจบลงภายใน 5 นาที ถือว่าเป็นความรวดเร็วที่ต้องแข่งกับเวลา เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นรถไฟขบวน 372 ก็เดินทางต่อไปปลายทางที่สถานีกรุงเทพ 

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

เรามองดูของที่วางอยู่บนชานชาลาซึ่งรอการย้ายไปที่ตลาด หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งก็ไถ่ถามว่าอยากได้อะไรไหม แน่ล่ะเราไม่ใช่มาสเตอร์เชฟ คงไม่อยากได้ปลาช่อนดิ้นแด่วๆ เอาไปทำอะไรตอนนี้แน่นอน เราเลยเลือกที่จะคุยกับเธอมากกว่า 

“ป้าจะเตรียมของทุกเย็น บางทีวางยอไว้ (อุปกรณ์จับปลา) เย็นมาก็ได้ปลา ปลาช่อนมั่ง ปลาดุกมั่ง ปลาหมอก็มี ก็จะมันใส่กะละมังปิดด้วยข่าย (ตาข่าย)

“ส่วนผักพวกสะเดา กล้วย อะไรพวกนี้ก็ปลูกเองบ้าง เก็บมาบ้าง ส่วนใหญ่แล้วผักบุ้งก็ไปเก็บมาจากท้องนาไม่ก็ริมคลอง พอได้มาก็ล้างแล้วก็มัดไว้ ของทุกอย่างต้องพร้อมเสร็จก่อนค่ำ พอเช้ามืดก็ขนทุกอย่างมาที่สถานีรอรถไฟอย่างเดียว บางทีขึ้นมาบนรถก็ขายได้ด้วย พวกคนบนรถเขาก็ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไป อย่างพวกกล้วย ขนมจีนอะไรแบบนี้”

ป้าคนขายของเล่าให้ฟังระหว่างสาละวนกับการจัดระเบียบของในตะกร้า

“พอมาถึงสถานีตอนเช้าก็จะตั้งแผงแล้วก็ขาย วันไหนหมดเร็วก็ได้กลับเร็ว วันไหนหมดช้าก็กลับช้า ส่วนใหญ่แล้วก็กลับรถแปดริ้วตอนเที่ยง ไม่ก็รถคลองลึกตอนบ่ายไปเลย” 

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า
ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า
ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

เราสงสัยเหมือนกันว่าในเมื่อตอนนี้การเดินทางด้วยถนนมันสะดวกกว่ามาก ทำไมป้าและพรรคพวกอีกหลายคนยังใช้รถไฟขนของมาขายเหมือนแต่ก่อน ป้าตอบอย่างไม่รีรอเลยว่า “มันถูก มันไม่ได้หลายเงินเหมือนขับรถมา ค่ารถไฟแค่ไม่ถึงสิบบาทกับค่าระวางอีกนิดหน่อยรวมๆ แล้วก็วันละประมาณร้อยหนึ่ง ถ้าขับรถมาไหนจะค่าน้ำมัน ค่าซ่อมรถ แล้วมันไม่ได้คล่องเหมือนรถไฟ…เอาข้าวต้มมัดไหมลูก”

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า
ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

ระหว่างนั้นป้าก็กุลีกุจอขนของทั้งหมดไปที่ตลาด เราก็ถือโอกาสนี้เดิมดูตลาดไปด้วย กิจกรรมในตลาดที่นี่ก็ไม่ต่างจากตลาดสดที่อื่น เพียงแค่ว่ามันไม่ได้มีที่ตั้งขายของแบบถาวร เป็นลักษณะแผงลอยที่ประกอบง่ายๆ เก็บง่ายๆ ร้านรวงต่างๆ ถูกแยกเป็นโซนอย่างชัดเจน โซนผัก โซนเนื้อสัตว์ โซนอาหารสำเร็จรูป โซนอาหารแปรรูป 

ผักนานาชนิดหาซื้อได้ที่นี่ ไม่ว่าจะเบสิกๆ อย่างผักกาดขาว ผักกาดหอม มะเขือเทศ ชะอม กะหล่ำปลี หรือผักอื่นๆ อย่างสะเดา มะรุม ฟักเขียว สายบัว ไหลบัว ฟักทอง ในฟากเนื้อสัตว์สดๆ ก็ไม่ต่างกัน มีให้เลือกทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ และยังมีปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลากด รวมถึงกบ ที่ยังเป็นๆ ดิ้นได้กระโดดได้อยู่ในกะละมัง การันตีถึงความสดใหม่อย่างแน่นอน นอกจากนั้น อาหารแปรรูปหลากหลายชนิดเช่นปลาร้า ที่มีทั้งเวอร์ชันน้ำบรรจุขวดและเวอร์ชันมาเป็นตัวๆ เหมือนกับปลาส้ม ขนมจีนเป็นตับเรียงสวยงาม ฟักเชื่อม ผักกาดดอง มีให้ครบจบที่ตลาดเดียว

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า
ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า
ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

ด้วยความที่ร้านรวงต่างๆ อยู่ชิดกันค่อนข้างมากทำให้เราต้องใช้สกิลล์ในการแทรกตัวพอสมควร แต่ละคนที่มาจับจ่ายมีอุปกรณ์พร้อมมากทั้งกระเป๋า ถุงผ้า หรือแม้แต่กระสอบ IKEA ที่ทั้งสองแขนหอบหิ้วของสดในราคาถูกแสนถูกกลับไปทำอาหารอร่อยๆ ที่บ้านของตัวเอง

การซื้อขายผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมงตลาดก็เริ่มวาย บางเจ้าก็กลับบ้านโดยอาศัยรถกระบะ ส่วนเจ้าที่มากับรถไฟนั้นก็เก็บอุปกรณ์บรรจุต่างๆ ที่มีแต่ความว่างเปล่าซ้อนๆ กันและรอรถไฟขาออกเพื่อกลับไปยังที่ที่ตัวเองมา สิ่งนี้เกิดขึ้นมาเป็นสิบๆ ปีก่อนเราเกิดด้วยซ้ำ จนเวลาผ่านหลายปีกิจกรรมนี้ก็ยังคงอยู่ แม้ว่าปริมาณการขนของและแม่ค้าจะน้อยลง ก็ได้แต่แอบคิดว่าเมื่อวันที่ป้าๆ เริ่มเกษียณอายุกับอาชีพการขนของกับรถไฟมาขาย หรือเริ่มไม่ไหวแล้วจะมีใครมาสานต่อไหม หรือในวันที่รถไฟไทยถูกเปลี่ยนเป็นรถปรับอากาศล้วนทั้งขบวนที่สบายขึ้น เทคโนโลยีที่ใหม่ขึ้น ภาพวิถีชีวิตเหล่านี้จะยังมีอยู่หรือเปล่า มันอาจจะหายไปเลยหรือว่าอาจจะเจอจุดร่วมตรงกลางระหว่างรถไฟที่สะดวกสบายกับรถไฟบางขบวนที่ยังเป็นรถพัดลม ซึ่งพร้อมที่จะซัพพอร์ตวิถีคนที่ยังประกอบอาชีพค้าขายที่ยังคงต้องใช้รถไฟในการขนสินค้าและเดินทางในคราวเดียวกัน ซึ่งเราไม่รู้ว่าตอบจบของเรื่องนี้จะเป็นยังไง ในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้ารถไฟแม่ค้าก็อาจจะกลายเป็นตำนานและคงไว้แค่เรื่องเล่าให้ลูกหลานเราฟังแค่นั้นเอง

ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า
ตลาดสถานีรถไฟมักกะสัน ปลายทางของ 'รถ(ไฟ)แม่ค้า' ที่พาของสดจากตะวันออกเข้ากรุงทุกเช้า

ขออุทิศเรื่องนี้ให้ คุณสง่า เนียมปาน คุณย่าผู้เปิดโลกของรถไฟให้กับหลานคนนี้ กับตลาดสถานีรถไฟที่เป็นกิจวัตรประจำสัปดาห์

เกร็ดท้ายขบวน

  1. สถานีรถไฟมักกะสัน ไม่ใช่ที่เดียวกับ Airport Link มักกะสัน ซึ่งสถานีมักกะสันจะอยู่ติดกับโรงงานรถไฟมักกะสัน ย่านประตูน้ำ
  2. ช่วงเวลาจับจ่ายที่สมบูรณ์ที่สุด เริ่มต้นจากช่วง 8 โมงเช้า – 10 โมงเช้า หลังจากนั้นตลาดจะเริ่มวาย 
  3. ที่นี่ขายของทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ