เหนือระดับน้ำทะเล 1,000 – 1,600 เมตร ที่ป่าต้นน้ำในจังหวัดเชียงราย

ที่นี่คือพื้นที่ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ‘มีวนา’ (MiVana)

กาแฟที่มีซิกเนเจอร์ไม่เหมือนใคร คือ การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ทั้งอยากรักษาระบบนิเวศและอยากให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ คำนึงถึงคุณภาพกาแฟและคุณค่าของชีวิตของทั้งป่าและคน

นี่คือเรื่องราวของธุรกิจที่บริหารครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างผลกำไรจากผลผลิตให้งอกงามอย่างเป็นธรรม โดยรักษากระบวนการตามมาตรฐานกาแฟอินทรีย์ระดับสากลตลอดห่วงโซ่คุณค่า

MiVana กาแฟอินทรีย์รักษ์ป่าที่เปิด Flagship Store เพื่อให้คนและป่าเติบโตด้วยกันอีก 100 เท่า

คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท มีวนา จำกัด และ คุณมิกิ-ชัญญาพัชญ์ โยธาธรรมสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มีวนา จำกัด จะมาเล่าแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนพร้อมการเปิดร้าน Flagship ครั้งแรกในกรุงเทพฯ ที่หวังใช้เป็นโมเดลต้นแบบให้คนอยากดูแลรักษาธรรมชาติ มีส่วนร่วมช่วยสังคมได้ผ่านการจิบกาแฟ และสนใจกาแฟออร์แกนิกกันมากขึ้น

MiVana กาแฟอินทรีย์รักษ์ป่าที่เปิด Flagship Store เพื่อให้คนและป่าเติบโตด้วยกันอีก 100 เท่า

ธุรกิจเพื่อป่าที่ได้ผลกำไรเพื่อคน 

เรื่องราวของกาแฟอินทรีย์รักษาป่าเริ่มต้นที่มูลนิธิสายใยแผ่นดินริเริ่มโครงการพัฒนาชุมชน เมื่อมีการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ ก็ต้องหาระบบจัดการผลผลิตกาแฟอย่างมีประสิทธิภาพตามมา กลุ่มบริษัทพรีเมียร์จึงมาช่วยบริหารจัดการเพื่อหวังให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

คุณวิเชียร พงศธร มีวิสัยทัศน์ว่า “ทำยังไงให้ทำธุรกิจดี และสังคมดีขึ้นด้วย” 

เขาเล็งเห็นว่า “ทุกวันนี้ธุรกิจที่กำไรมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าสังคมดีขึ้นเสมอไป การตั้งต้นด้วยกำไรที่งอกเงย เห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมแย่ลง ใช้ทรัพยากรและพลังงานธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนมากเพียงพอ การทำธุรกิจต้องได้ดีไปด้วยกันและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งกำไร สิ่งแวดล้อม คน ถึงจะยั่งยืนได้”

มีวนา เป็นโมเดลธุรกิจที่มีกำไรหลายต่อ เพราะใช้กาแฟแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมได้ด้วย ทุกวันนี้ไอเดียกาแฟรักษ์ป่าทำให้มีรายได้จากการปลูกกาแฟในป่ามากขึ้น ใช้ป่าเป็นที่ดินทำกินได้ ชาวบ้านเป็นผู้อนุรักษ์ป่าไปในตัวทั้งช่วยปลูกป่าเพิ่มและดูแลเรื่องไฟป่า ได้ทั้งผลกำไรทางธุรกิจและสังคม 

MiVana กาแฟอินทรีย์รักษ์ป่าที่เปิด Flagship Store เพื่อให้คนและป่าเติบโตด้วยกันอีก 100 เท่า

มีป่า มีกาแฟ

‘วนา’ แปลว่า ป่า ‘มีวนา’ แปลว่า มีป่า

คุณมิกิ-ชัญญาพัชญ์ โยธาธรรมสิทธิ์ เล่าว่า มีวนาใช้พื้นที่กว่า 6,000 ไร่ในป่าจังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ 7 หมู่บ้าน 3 ป่าต้นน้ำของแม่สรวย แม่กรณ์ และแม่ลาว เพื่อปลูก Organic Shade-Grown Forest Coffee กาแฟออร์แกนิกใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ 

เลือกใช้กาแฟอาราบิก้า เพราะแต่เดิมมีการปลูกอาราบิก้าตามดอยอยู่แล้ว เป็นกาแฟที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูง อากาศเย็น ด้วยปริมาณแสงไม่มากเกินไป และธาตุอาหารในดินอุดมสมบูรณ์ ทำให้กาแฟมีกลิ่นหอม รสชาติมีเอกลักษณ์ตามธรรมชาติ เกษตรกรยังสามารถปลูกไม้ยืนต้นและไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ในฤดูที่ไม่ได้ปลูกกาแฟได้ด้วย ทำให้แร่ธาตุในดินยิ่งอุดมสมบูรณ์ เป็นผลดีต่อกาแฟกลับคืนมา

กระบวนการปลูกทั้งหมดใช้วิถีเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกที่ไม่ใช้สารเคมีเลยตลอดกระบวนการ แม้ผลผลิตต่อต้นที่ออกมาไม่มากเท่าทวีคูณเหมือนการใช้วิธีลัด กาแฟสุกช้ากว่า แต่เมล็ดกาแฟได้เติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์ในป่าอย่างเต็มที่ ทำให้มีรสชาติที่ดี ปลอดภัย สร้างความยั่งยืนให้ธรรมชาติและชุมชนมากกว่า

MiVana กาแฟอินทรีย์รักษ์ป่าที่เปิด Flagship Store เพื่อให้คนและป่าเติบโตด้วยกันอีก 100 เท่า

ดูแลต้นน้ำถึงปลายน้ำ  

คุณมิกิถ่ายทอดรายละเอียดของมีวนา ว่าเป็นกาแฟอินทรีย์ที่พิถีพิถันทุกกระบวนการ เพราะทุกขั้นตอนล้วนมีผลต่อรสชาติ

ใส่ใจตั้งแต่การเก็บเกี่ยวแบบ Handpick ด้วยมือทีละผล เลือกเฉพาะผลที่สุกพอดี นำไปคัดสรรหาผลที่สมบูรณ์ต่อด้วยการลอยน้ำ หากผลไหนมีแมลงเจาะจะมีอากาศข้างใน ทำให้มีน้ำหนักน้อยกว่าและลอยขึ้น จึงสามารถเลือกเฉพาะผลที่จมน้ำทำให้ได้เมล็ดกาแฟที่สมบูรณ์

จากนั้นนำไปแปรรูปภายใน 24 ชั่วโมงด้วยหลากหลายวิธีการ โดยแต่ละวิธีทำให้ได้คุณภาพและรสชาติกาแฟแตกต่างกันตามกระบวนการธรรมชาติ มีทั้งแบบ Dry Process การนำกาแฟทั้งเนื้อทั้งเปลือกไปตากแห้ง คล้ายการหมักตามธรรมชาติ Fully-Washed Process หรือวิธีแปรรูปแบบเปียกที่ใช้น้ำในการแปรรูปทุกขั้นตอน และ Semi-Washed Process แปรรูปแบบกึ่งแห้งกึ่งเปียก ปลายทางของการแปรรูปทุกแบบได้ออกมาเป็น
เมล็ดกาแฟกะลาซึ่งกลายมาเป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพดีพร้อมคั่วต่อไป

ส่วนกระบวนการคั่ว มีนักคั่วผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพควบคุมทุกกระบวนการตามมาตรฐานระดับสากล ทั้งรสชาติและความสะอาด คุณวิเชียรเปรียบว่า “กาแฟเหมือนไวน์ ต้องใช้ความพิถีพิถันและผู้เชี่ยวชาญช่วยตัดสินว่าเกรดกาแฟที่ได้ออกมาเป็นอย่างไร” 

ด้วยกระบวนการทั้งหมดทำให้เบลนด์ได้กาแฟที่มีคาแรกเตอร์กลมกล่อมหลากหลายรส ทั้งรสเปรี้ยว สว่าง สดใส สดชื่น ผสมผลไม้และดอกไม้ป่า รสโทนหวานผสมกลิ่นไอของอัลมอนด์อบ พลัม น้ำตาลอ้อย หรือรสอย่างช็อกโกแลตและน้ำตาลทรายแดง สมกับที่เป็นกาแฟ Specialty

มีวนาเป็นธุรกิจที่ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพราะคุณวิเชียรมองว่า “การที่เรามีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่อย่างครบกระบวนการ ตั้งแต่เพาะปลูก แปรรูป คั่ว จัดจำหน่าย ทำให้สามารถควบคุมมาตรฐานของกาแฟอินทรีย์ระดับสากลได้อย่างแท้จริง”

ห่วงโซ่ทั้งหมดนี้จบที่คนซื้อ ทุกคนสามารถสนับสนุน Organic Shade-Grown Forest Coffee และป่าต้นน้ำได้ผ่านการจิบกาแฟหนึ่งแก้ว 

MiVana กาแฟอินทรีย์รักษ์ป่าที่เปิด Flagship Store เพื่อให้คนและป่าเติบโตด้วยกันอีก 100 เท่า

พื้นที่เล่าเรื่องใต้ร่มเงาไม้ที่ MiVana Coffee Flagship Store

แม้กาแฟจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่การตระหนักรู้ในข้อดีของกาแฟอินทรีย์ยังไม่มากนัก คล้ายกับเวลาสินค้าออร์แกนิกในหมวดสินค้าต่างๆ เพิ่งเริ่มเข้าตลาด ผู้บริโภคต้องใช้เวลาศึกษาข้อดีของ Organic Forest Coffee มีวนาจึงอยากสื่อสารให้คนรับรู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นผ่านการเปิดร้าน Flagship สาขาแรก ว่ากาแฟ 1 แก้ว มีคุณค่ามากกว่ารสชาติ

สร้างประสบการณ์ผ่านรสและบรรยากาศ ผสมผสานเรื่องเล่าจากผืนป่าส่งตรงสู่เมือง 

แม้ระยะทางจากเมืองและป่าจะห่างไกลกันหลายกิโลเมตร แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับผลกระทบร่วมกัน เราต่างใช้อากาศและปอดของโลกร่วมกัน

MiVana กาแฟอินทรีย์ที่อยากมีคู่แข่ง และเปิด Flagship Store หวังขยายให้ป่าโตอีก 100 เท่า

คุณมิกิเล่าความตั้งใจที่อยากให้ความรักธรรมชาติอยู่ในใจคน อยากทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ร้าน Flagship แห่งนี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่รดน้ำปลูกต้นไม้ในใจคนเมือง

“อยากให้เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวแนวคิดการทำงานของมีวนา ถ่ายทอดกระบวนการทำงานและคุณค่าของแบรนด์ผ่านการให้บริการภายในร้าน นำส่งมาจนถึงเครื่องดื่ม อยากให้คนรู้จักมากขึ้นว่าแนวคิดของมีวนาที่ทำต่อเนื่องมาคืออะไร เล่าความตั้งใจที่อยากรักษาป่า อนุรักษ์ฟื้นฟูป่า”

การได้จิบกาแฟและดูแลผืนป่าไปพร้อมกัน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนรักษาป่าต้นน้ำและดูแลสังคมร่วมกันได้ เมื่อมาสัมผัสบรรยากาศใต้ร่มเงาป่าที่ร้าน นอกจากความร่มรื่นและรสชาติกาแฟที่เติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์แล้ว หากหยิบแพ็กเกจขึ้นมา จะเห็นลายเงาไม้ที่กล่องและห่อกาแฟ สื่อถึงการปลูกใต้ร่มเงาต้นไม้ที่มีอยู่จริงในพื้นที่เพาะปลูก เช่น ต้นจามจุรี ต้นชงโค ต้นพญาเสือโคร่ง เป็นต้น ทำให้คอกาแฟได้รู้ที่มาว่ากาแฟที่ดีแบบนี้ไม่ได้เดินทางไกลมาจากประเทศไหน แต่เติบโตจากใต้ร่มไม้ในป่าบ้านเรานี่เอง

การก่อสร้างตกแต่งร้านครั้งนี้ถือเป็นการขยายความร่วมมือ (Collaboration) โดยได้รับความร่วมมือจากหลายธุรกิจใต้เครือบริษัทพรีเมียร์ที่มีเป้าหมายร่วมกัน คืออยากผลักดันสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากซิกเนเจอร์ของกาแฟแล้ว ยังมีซิกเนเจอร์ของการตกแต่งร้านและอาหารจากผู้เชี่ยวชาญธุรกิจที่ถนัดในแต่ละส่วน ทั้งการตกแต่งร้านอย่างเป็นเอกลักษณ์ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นทางภาคเหนือกับสไตล์การตกแต่งแนว Contemporary ได้อย่างลงตัว จากทีมงานโรงแรม Raya Heritage จังหวัดเชียงใหม่ และพัฒนาเบเกอรี่สูตรพิเศษเพื่อสะท้อน Local Wisdom ร่วมกับทีมเชฟประจำ The Botanical House Bangkok ผู้ให้บริการรับจัดงานอีเวนต์ครบวงจร

องค์ประกอบทุกอย่างเพื่ออยากสร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ Specialty ที่ตระหนักถึงรสชาติที่คุณรักษ์ ไม่ใช่แค่ป่าที่เติบโตเท่านั้น แต่สังคมคนรักษ์กาแฟใต้ร่มเงาป่าและรักต้นไม้ก็เติบโตไปด้วยกัน Grow Together อย่างแท้จริง

MiVana ธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากสร้างมาตรฐานใหม่ให้กาแฟอินทรีย์ไทย และหวังให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
MiVana ธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากสร้างมาตรฐานใหม่ให้กาแฟอินทรีย์ไทย และหวังให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

โมเดลร้านและป่าต้นแบบที่อยากขยายอีก 100 เท่า

“อยากมีป่าเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งร้อยเท่า”

คุณวิเชียรเชื่อว่า “หากเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ทั้งมิติทางการเงิน สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคนิยมด้วย จะมีคนมาช่วยกันทำเยอะ เราทำเองคนเดียวไม่ได้ อยากสร้างต้นแบบให้สมบูรณ์ แล้วเกิดการทำซ้ำ”

เพราะเหตุนี้ มีวนาจึงเป็นธุรกิจที่อยากมีคู่แข่ง “ถ้าอยากมาเรียนรู้จากเรา ทำได้ดีกว่า หรือทำเหมือนได้เลย”

MiVana ธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากสร้างมาตรฐานใหม่ให้กาแฟอินทรีย์ไทย และหวังให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

คุณวิเชียรมองว่าคู่แข่งเหมือนเพื่อนที่มาช่วยโฆษณาให้กาแฟไทยเติบโตในตลาดโลกมากขึ้น ทัดเทียมกับประเทศอื่น ไทยไม่ได้ปลูกกาแฟมาแต่ดั้งเดิม เพิ่งเริ่มปลูกราว 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ยังต้องดึงจุดเด่นของกาแฟขึ้นอีกเพื่อแข่งขันในตลาดโลกให้ได้ ซึ่งความเป็นออร์แกนิกและปลูกใต้ร่มเงาป่านี่เองที่แตกต่างและน่าสนใจ

MiVana Coffee Flagship Store เป็นจุดเริ่มต้นและต้นแบบสำคัญที่ตั้งใจอยากให้เกิดการต่อยอด ขยายการปลูกป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ในไทยอีกมากมายในอนาคต  

มีวนามีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ทั้งลูกค้า B2C ที่สามารถซื้อมีวนาได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าชั้นนำและทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม Lazada และ Shopee รวมถึงกลุ่มลูกค้า B2B หลากหลายรูปแบบ ทั้งร้านกาแฟ คาเฟ่ที่อยากใช้เมล็ดกาแฟคั่วของมีวนา ไปจนถึงโรงคั่วกาแฟ (Roaster) และ Trader หรือผู้ส่งออกกาแฟที่ต้องการส่งออกกาแฟไปต่างประเทศ เนื่องจากมีวนาได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล ทั้ง EU (ยุโรป) และ USDA (สหรัฐอเมริกา)

ในปีนี้มีวนายังพัฒนาสินค้าให้หลากหลายเบลนด์และหลากหลายรูปแบบ ทั้งเมล็ดกาแฟคั่ว กาแฟคั่วบด และกาแฟดริป เพื่อให้ถูกใจตามความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์สังคมคนรักกาแฟใต้ร่มเงาไม้ให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก 

เมื่อไม่ได้อยากขายแค่กาแฟ แต่อยากขายความยั่งยืนด้วย จึงตั้งใจให้ร้าน Flagship มีบทบาทช่วยด้านการสื่อสารการตลาดอย่างจริงใจถึงลูกค้าและคู่ค้า แม้มีจุดเด่นเป็นกาแฟรักษ์ป่า แต่ก็ไม่ทิ้งมาตรฐานและคุณภาพกาแฟ โดยเชื่อว่าหากกาแฟไม่อร่อย ลูกค้าก็ไม่ยอมทานอยู่ดี

เป็นร้านต้นแบบที่หวังให้กำไรออกดอกออกผลและผลักดันมาตรฐานกาแฟ Specialty ในไทยให้สูงขึ้นเรื่อยๆ

MiVana ธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากสร้างมาตรฐานใหม่ให้กาแฟอินทรีย์ไทย และหวังให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
MiVana ธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากสร้างมาตรฐานใหม่ให้กาแฟอินทรีย์ไทย และหวังให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

อยู่ดีมีสุข

นอกจากอยากให้ป่าโตขึ้น มีสีเขียวมากขึ้นแล้ว สิ่งที่มีวนาอยากให้เติบโตไปด้วยกัน คือ คน มีวนาดำเนินงานตามนโยบายการค้าที่เป็นธรรม รวมทั้งเพิ่มมูลค่าและมาตรฐานกาแฟเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนด้วย

ทุกครั้งที่เพาะเมล็ดพันธุ์กาแฟ คือการแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมพัฒนากับชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น เกษตรกรกาแฟ มีส่วนคิดริเริ่มตัดสินใจและพัฒนากระบวนการปลูก ส่วนมีวนาช่วยสนับสนุนในสิ่งที่เกษตรกรไม่รู้ เช่น การดูแลจัดการวัชพืช การสร้างระบบให้กาแฟได้มาตรฐาน ต่างฝ่ายต่างทำงานร่วมกัน บ่มเพาะธุรกิจไปด้วยกัน นอกจากได้ราคาที่เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว เกษตรกรยังได้เงินทุนสนับสนุนจากการผลิตกาแฟกับมีวนาเพื่อพัฒนาชุมชน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างอยู่ดีมีสุข

ที่ MiVana Coffee Flagship Store มีป้ายคำสีขาวหลายสิบคำเรียงกันที่กำแพง

‘พลัง ไว้ใจ ความรู้ เติบโต พัฒนา สามัคคี แลกเปลี่ยน รวมกลุ่ม ช่วยเหลือ ภูมิใจ บ้าน รายได้ สุขภาพดี เย็นสบาย ต้นน้ำ ความเป็นอยู่ อายุยืน รัก รักษา ชีวิต Shade-Grown’

เหล่านี้เป็นตัวอย่างคำที่ชาวบ้านนึกถึงเมื่อถามว่า พูดถึง ‘มีวนา’ นึกถึงคำว่าอะไร  

คุณมิกิบอกว่า เมื่อชาวบ้านพูดคำเหล่านี้ออกมาเอง ทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่ริเริ่มทำร่วมกันนั้นเดินมาถูกทางแล้ว คำเหล่านี้ยังเป็นเครื่องเตือนใจและกำลังใจในการทำงานต่อไป ทำให้ไม่ลืมว่าอยากทำกาแฟรักษ์ป่าเพื่ออะไร 

MiVana ธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากสร้างมาตรฐานใหม่ให้กาแฟอินทรีย์ไทย และหวังให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

Lessons Learned 

  • ดูว่าเราถนัดหรือมีความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ตรงไหนในห่วงโซ่ของธุรกิจ หากสามารถทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้จะทำให้ยิ่งมีข้อได้เปรียบ
  • การเล่าที่มาที่ไปและความเชื่อของธุรกิจมีผลต่อประสบการณ์และมุมมองที่มีต่อแบรนด์
  • การคำนึงถึงอิมแพคก่อนกำไร ทำให้มองคู่แข่งเป็นพันธมิตร และขยายอิมแพคให้ใหญ่ขึ้นได้
  • การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกธุรกิจ ที่สามารถมีส่วนร่วมในรูปแบบที่ตัวเองถนัดได้

Writer

Avatar

รตา มนตรีวัต

อดีตสาวอักษรผู้โตมาในร้านขายหวายอายุ 100 กว่าปีย่านเมืองเก่า เป็นคนสดใสเหมือนดอกทานตะวัน สะสมแรงบันดาลใจไว้ในบล็อคชื่อ My Sunflower Thought ขับรถสีแดงชื่อ Cherry Tomato ระหว่างวันทำงานในโลกธุรกิจ เวลาว่างซาบซึ้งในศิลปะ

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน