หากเดินไปถามคนตามท้องถนนของกรุงเทพฯ คงมีไม่มากนักที่เคยได้ยินชื่อของ ‘อรอนงค์ หอมสมบัติ’ แต่ถ้าเปลี่ยนสถานที่จากเมืองหลวงของไทย ไปยังเมืองหลวงของประเทศลาวอย่างเวียงจันทน์ คงแทบไม่มีใครไม่รู้จักเธอ เพราะชื่อนี้ หมายความถึงเจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สลาวประจำปี 2018 ผู้คว้ารางวัลชุดประจำชาติจากเวทีใหญ่ที่จัดขึ้นในประเทศไทย

นั่นคือด้านที่คนส่วนใหญ่รู้จักเธอ แต่อีกมุมของอรอนงค์ที่อาจไม่ได้มีใครรู้นัก คือเธอเป็นคนที่ทุ่มความสนใจให้กับเรื่องของสังคมอย่างเข้มเข้น ในวัย 24 เธอเป็นทั้ง Public figure ในฐานะนางงาม พนักงานด้านการสื่อสารให้กับองค์กร NGO แห่งหนึ่ง และเป็นผู้หญิงที่มีความฝันที่จะเชื่อมคนให้ใกล้กันมากขึ้นผ่านธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้เราจึงนัดพบเธอในงาน YSEALI Summit ประจำปี 2019 เพื่อพูดคุยถึงชีวิตของเธอในด้านที่น้อยคนจะรู้จัก แต่น่าสนใจไม่แพ้ชัยชนะบนเวทีนางงาม

อรอนงค์ หอมสมบัติ​ Miss Universe Laos นางงามนักรณรงค์​ผู้ผลักดันความยั่งยืนนอกเวที

ในวันที่พบกันอรทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ให้กับ ‘รุ่นน้อง’ YSEALI ของเธอ สลัดภาพของมิสยูนิเวิร์ส แล้วสวมหมวกของนักกิจกรรม นักรณรงค์เพื่อสังคม ซึ่งเป็นบทบาทที่หลงใหล จนถึงขั้นรัก เราเดินหาที่เงียบๆ เพื่อนั่งลง แล้วปล่อยให้เธอได้เผยแง่มุมนอกเวทีประกวดให้ฟัง

01

เรียนรู้ จากหลายสังคม

“ตอนเด็กๆ อรไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นนางงามเลย” 

ประโยคนี้คือคำตอบของอร หลังเราเอ่ยคำถามแรกออกจากปาก และด้วยคำตอบนี้ เรายิ่งใคร่รู้ว่าคนที่ไม่เคยอยากเป็นนางงาม แต่กลับคว้ารางวัลใหญ่มาถึงสองรางวัลอย่างเธอมีก้าวเดินในชีวิตอย่างไร 

อรย้อนเวลากลับไป แล้วขุดเอาความทรงจำของเด็กสาวคนหนึ่งในเมืองเวียงจันทน์มาบรรยายให้เราฟัง เด็กสาวคนนั้นเกลียดวิชาคณิตศาสตร์ไม่ต่างจากนักเรียนหลายๆ คนในวัยเดียวกัน แต่เธอรักวิชาประวัติศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ความชอบเรื่องภาษานี้ทำให้เธอรีบคว้าโอกาสในการไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งวัย 16 ปี

“อรได้ไปแลกเปลี่ยนตอนอายุ 16 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เจอกับเพื่อนๆ จากหลากหลายประเทศ มันเหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับเรา และทำให้รู้สึกว่าโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ เราได้เห็นทั้งจุดอ่อนของตัวเอง และได้ฟังปัญหาหลายๆ ด้านของเพื่อนที่มาจากแต่ละที่”

“การเป็นคนอายุ 16 ที่ต้องไปอยู่ต่างประเทศคนเดียวมันน่าตื่นเต้นไหม” เราถาม

“ก็น่าดีใจนะ แต่ตอนนั้นภาษาอังกฤษของเรายังไม่ค่อยดีเท่าไร มันก็เลยมีความกดดันและเสียดายว่า บางทีเราน่าจะสนทนาได้ดีกว่านี้ เราน่าจะอธิบายความคิดของเราได้ดีกว่านี้” เสียงของอรหยุดไป เหมือนกำลังนึกถึงความรู้สึกในตอนนั้น

“แต่ทุกๆ ความกลัวและกดดัน มันก็กลายมาเป็นแรงผลักดันให้เราไปเรียนรู้เพิ่ม ทำให้เราได้รู้ว่าควรพัฒนาตัวเองในจุดไหน” เธอรีบต่อประโยค เพื่ออธิบายว่าความกลัวไม่ได้หมายถึงการถอยหนีแต่เพียงอย่างเดียว 

หลังจากกลับมาพร้อมความเสียดายในครั้งแรก อรก็ริเริ่มแผนการในใจว่าหลังจากนี้เธอจะเดินหน้าเผชิญกับความกลัวให้มากที่สุด เธอลงชื่อเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนอีกมากมายหลังจากนั้น เรียกได้ว่าตลอดชีวิตมัธยมปลาย เธอไปๆ มาๆ ระหว่างลาวและต่างประเทศ จนความกลัวค่อยๆ จางหายไป เหลือไว้แต่ความสนุกที่ช่วยจุดประกายความฝันให้กับเธอ

“อรก็ฝันอยากเป็นทูตมาตั้งแต่ตอนที่ได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน คือเราชอบการได้เป็นตัวแทน ได้สื่อสารเพื่อเชื่อมความเข้าใจระหว่างคน ระหว่างประเทศ เราพบว่าการมีบทสนทนาที่ดีมันทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งต่อยอดไปเป็นการพัฒนาในด้านอื่นๆ ได้อีกมากมาย”

เมื่อถึงวัยเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา อรจึงมุ่งทำตามฝันของเธอโดยการสมัครทุนเรียนต่อด้านการทูต ณ ประเทศฮังการี ซึ่งตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่เรียนมหาวิทยาลัย เธอก็ได้สั่งสมความรู้และทักษะมามากมายเกี่ยวกับการเมือง สังคม และความเป็นไปของโลก ก่อนจะกลับมายังบ้านเกิด และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในฐานะนางงาม ฐานะที่เธอไม่เคยนึกเคยฝันไว้มาก่อน

อรอนงค์ หอมสมบัติ​ Miss Universe Laos นางงามนักรณรงค์​ผู้ผลักดันความยั่งยืนนอกเวที

02

ตัวแทนความงาม ของสังคม

“การที่ได้เจอเพื่อนๆ ที่แตกต่าง ทั้งวัฒนธรรมและความคิด ทำให้เรียนรู้ว่าแต่ละคนมีความงามที่แตกต่างกัน ทุกคนมีความสวย อย่างน้อยก็สวยที่สุดสำหรับคนที่รออยู่ที่บ้าน คืนนี้ไม่ว่าใครจะได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส ทุกคนบนเวทีนี้ได้ทำให้ครอบครัวและเพื่อนๆ ภูมิใจแล้ว” นี่คือคำตอบของอร ต่อคำถามที่ว่าการประกวด มิสยูนิเวิร์สลาว 2017 ครั้งนี้ เธอได้เรียนรู้อะไรบ้าง 

คำตอบนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำสวยๆ บนเวทีประกวดนางงาม แต่มันเกิดจากความจริงใจ และความรู้สึกของคนได้เจอโลกและความแตกต่างมามากพอ “ตอนนั้นเราคิดกับตัวเองว่าถ้าตอบแบบนี้ไป เราจะได้ตำแหน่งไหมด้วยซ้ำ” อรเล่าด้วยน้ำเสียงเคอะเขิน เพราะในปีนั้น เธอคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศไปครอง

หนทางสู่การเป็นมิสยูนิเวิร์สของอร มีที่มาจากการที่ได้เห็นประกาศรับสมัครในหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนั้นสิ่งที่ดึงดูดใจเธอมากที่สุดในใบประกาศคือการได้เป็น ‘สมาชิกฟิตเนสฟรี’ แต่จากการได้ไปฟิตเนสฟรีนี่แหละ ที่พาเธอคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศในปี 2017 และ มงกุฎมิสยูนิเวิร์สประเทศลาวประจำปี 2018 ไปครอง 

มงกุฎเดียวกันนี้ ได้พาเธอไปเปิดโลกให้กว้างขึ้นกว่าดิม การเป็นตัวแทนความงามของประเทศ ทำให้เธอพบเจอคนอีกหลายพื้นที่ในโลก ซึ่งนั่นก็ยิ่งตอกย้ำให้เธอเห็นว่าความสวยงาม มันไม่มีตัววัด

“การได้เดินทางไปในหลายประเทศ ทำให้เราเข้าใจและเรียนรู้ที่จะเคารพคนจากวัฒนธรรมอื่นๆ ตอนประกวดมิสยูนิเวิร์ส มีนางงามเดินทางมาจากเก้าสิบห้าประเทศ เราจะวัดยังไงว่าใครสวยที่สุด เพราะแต่ละคนก็นำเสนออัตลักษณ์ตัวเอง รวมถึงประเทศของเขา ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความสวยงามของตัวเอง”

“อย่างน้อยทุกคนก็เป็นคนที่สวยที่สุดสำหรับคนที่บ้าน” คำตอบแรกบนเวทีนางงามของเธอยังคงกังวาน และยังคงเป็นจริงสำหรับอรอนงค์

03

แพลตฟอร์มท่องเที่ยว เพื่อสังคม

ในช่วงเวลาเดียวกับที่เธอต้องเดินสายประกวดบนเวทีนางงาม อรอนงค์ยังได้แบ่งเวลาให้กับความสนใจอีกด้านของเธอ นั่นคือการทำงานเพื่อสังคม อรตั้งทีมกับพี่ชายและสมาชิกอีกหนึ่งคน เพื่อทำโปรเจ็กต์ธุรกิจสำหรับการเข้าแข่งขันในโครงการ Mekong Business Challenge ซึ่งเป็นการแข่งขันไอเดียธุรกิจของเยาวชนในแถบลุ่มแม่น้ำโขง

“ในช่วงเริ่มต้น เราก็คิดกันจนได้ไอเดียว่าเราควรทำธุรกิจที่แปลกใหม่ สนุก และมีประโยชน์ต่อสังคมด้วย ก็มาแชร์กันว่าใครมีความสนใจในเรื่องอะไรบ้าง แล้วก็มาหยุดที่เรื่องการท่องเที่ยวเดินทาง เพราะเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากการท่องเที่ยวและโครงการแลกเปลี่ยน”

แต่ปัญหาคือการท่องเที่ยวตามปกติมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะค่าที่พักหรือค่าเดินทาง ขณะที่โครงการแลกเปลี่ยนแม้จะมีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสนั้น โจทย์ของอรและทีมจึงเป็นการออกแบบการท่องเที่ยวที่สามารถดึงข้อดีของทั้งการเที่ยวและการแลกเปลี่ยนมาไว้ในที่เดียวกัน

“เราเลยหากันว่ามันมีวิธีอื่นอะไรอีกบ้างที่จะทำให้ทุกคนสามารถเที่ยวได้ในราคาที่ไม่แพง และสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมในพื้นที่ได้ด้วย” สุดท้ายทางออกของทีมก็มาลงเอยที่การทำแพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ และเลือกได้ว่าชอบเที่ยวแบบไหน สนใจทำกิจกรรมอะไร และอยากมีส่วนร่วมกับชุมชนในด้านใดบ้าง

“การท่องเที่ยวในรูปแบบนี้อาจจะไม่หรูหรามาก แต่เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการซึมซับและรู้จักธรรมชาติ รวมถึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นด้วย ซึ่งถ้าเราทำให้มันเกิดได้ มันจะไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันของนักท่องเที่ยวและคนในชุมชนด้วย” ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของแพลตฟอร์ม T-PLEARN ที่มีความหมายถึง ‘Travel Play and Learn’ แอปพลิเคชันที่เชื่อมการท่องเที่ยวเข้ากับธรรมชาติ ชุมชน และวัฒนธรรม

น่าเสียดายที่ T-PLEARN ไม่ได้ชนะการแข่งขันประกวดไอเดียธุรกิจลุ่มแม่น้ำโขงในครั้งนั้น ทำให้ตัวแอพฯ ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา ทว่าอรและทีมงานก็ไม่ได้เสียกำลังใจ และยังทำงานลงพื้นที่เพื่อหาพาร์ตเนอร์ร่วมแพลตฟอร์มอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ไอเดียนี้เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน

อรอนงค์ หอมสมบัติ​ Miss Universe Laos นางงามนักรณรงค์​ผู้ผลักดันความยั่งยืนนอกเวที

04

สร้างความยั่งยืน ให้สังคม

ด้วยเทรนด์โลกที่พัดพากระแสของความ ‘ยั่งยืน’ มาแบบไม่หยุดยั้ง ทำให้หลายฝักหลายฝ่ายมีความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันนี้อย่างหลากหลาย เราเลยนึกอยากถามความคิดเห็นของเธอ ว่าในฐานะผู้ก่อตั้ง T-PLEARN เธอมีความคิดเห็นกับความยั่งยืนนี้อย่างไร

“เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องโปรโมตเรื่องความยั่งยืนของธรรมชาติควบคู่ไปกับการท่องที่ยว หรือที่เรียกรวมกันว่าท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนี่แหละ” อรเล่าด้วยแววตาจริงจัง

“มันกำลังเป็นเทรนด์ของโลก และเป็นสิ่งที่ทุกคนหันมาสนใจ เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม มีความสำคัญต่อสังคมอย่างมาก”

“แล้วการท่องเที่ยวมาช่วยเรื่องนี้ได้ยังไง” เรายิงคำถาม

“ประโยชน์ของการเที่ยวแบบยั่งยืนคือมันทำให้เราเข้าใจความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเมื่อได้ไปสัมผัสกับชุมชน ไปใช้ชีวิตและเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเขา เราจะทราบได้เลยว่าธรรมชาติทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างไร ซึ่งมันจะทำให้เราตระหนักถึงความรับผิดชอบขึ้นมาได้เอง”

แต่การเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องของการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ อรย้ำให้เราเห็นว่าความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมจริงๆ คือ ‘ทัศนคติ’ ที่สอดแทรกอยู่ในทุกช่วงเวลา เริ่มตั้งแต่เราก้าวเท้าออกจากบ้าน

“ความยั่งยืนที่อรพูดถึง มันต้องนับตั้งแต่การเดินทาง เราอาจจะเลือกใช้ระบบบขนส่งสาธารณะแทนการนั่งเครื่องบิน หรือเดินทางด้วยรถไฟ รถเมล์ จักรยาน เพื่อลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ หรืออย่างน้อยการไม่ทิ้งขยะผิดที่ผิดทาง ก็นับเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้”

อรอนงค์ หอมสมบัติ​ Miss Universe Laos นางงามนักรณรงค์​ผู้ผลักดันความยั่งยืนนอกเวที

05

เชื่อมคน เชื่อมสังคม

ด้วยความที่โมเดลธุรกิจของ T-PLEARN เป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้ไม่ได้คาดหวังผลตอบรับในเชิงรายได้ แต่เป็นในเชิงผลกระทบต่อสังคมวงกว้างมากกว่า ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญเรื่องผลกระทบที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว มันยังคำนึงถึงความยั่งยืนของ ‘คน’ ด้วย

“แอปฯ ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เรารู้จัก อย่าง Airbnb, Booking หรือ Couchsurfing จะเป็นเรื่องของการหาที่พักอย่างเดียว แต่แอปฯ ของเรานอกจากจะมีที่พักซึ่งเป็นรูปแบบโฮมสเตย์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงกิจกรรมในชุมชนจริงๆ ด้วย เช่น การเป็นอาสาสมัคร หรือการเรียนรู้วัฒนธรรมจากคนท้องถิ่นโดยตรง” 

การเรียนรู้วัฒนธรรมคือหนึ่งในการส่งเสริมความยั่งยืนของคน ซึ่งอรเชื่อว่าการเรียนรู้นี้ไม่ได้เกิดจากการมอง ดู เห็น เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นสิ่งที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับพื้นที่และคนในพื้นที่นั้น แอปฯ T-PLEARN จึงมีรูปแบบการใช้งานที่จะพานักท่องเที่ยวให้ไป ‘สัมผัส’ กับคนจริงๆ

“อรคิดว่าเวลาที่ไปท่องเที่ยว การมีปฏิสัมพันธ์และการคุยกันของคนเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งที่พักแบบโฮมสเตย์ของคนในพื้นที่จะช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะคนที่ไปอยู่ก็จะได้เห็นว่าครอบครัวของเขาใช้ชีวิตแบบไหน คนที่นั่นให้ความสำคัญกับอะไร ด้วยวิธีแบบนี้อรคิดว่าเราจะสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าการไปนั่งถ่ายรูปตามคาเฟ่สวยๆ”

อรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วัฒนธรรมมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะเธอตั้งเป้าหมายในการทำแอปฯ นี้ไว้ว่าจะให้มันเป็นสะพานที่เชื่อมคนในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน

“เป้าหมายแรกๆ คือเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน คือเราอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน แต่กลับมีหลายๆ อย่างที่เราไม่เข้าใจกัน อาจเพราะมันมีความหลากหลายมาก เช่น ด้านภาษา หรือวัฒนธรรม ซึ่งแอปฯ นี้จะช่วยเป็นสะพานที่เชื่อมคนเหล่านั้น”

“เช่น ถ้าคุณมีความสามารถในการพูดภาษาบาฮาซาและอยากไปเที่ยวที่ลาวด้วย แอปฯ ของเราก็จะช่วยจับคู่ความต้องการของคนในลาวที่ตรงกับความสามารถของคุณ เช่น เราจะเป็นช่องทางให้คุณพูดคุยติดต่อกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว หรือองค์กรอื่นๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ ว่าเขาสนใจรับคุณไปพักอาศัยและสอนภาษาบาฮาซาไหม”

อรอนงค์ หอมสมบัติ​ Miss Universe Laos นางงามนักรณรงค์​ผู้ผลักดันความยั่งยืนนอกเวที

06

ไม่จำเป็นต้องมีมงกุ

ก้มมองนาฬิกา พบว่าเป็นเวลาเกือบๆ ชั่วโมงที่เรานั่งฟังเธอเล่าเรื่อง ระหว่างทางเราสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นและหัวใจของนักการทูตที่หวังจะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ คน และวัฒนธรรมให้ใกล้กันมากขึ้น ชีวิตของหญิงสาววัย 24 ปีคือการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเธอก็เลือกที่จะส่งต่อความรู้เหล่านั้นคืนให้กับสังคม

“อะไรที่ผลักดันให้คุณทำงานเพื่อสังคม” เราเอ่ยถามเธอเป็นคำถามสุดท้าย

“อรรู้สึกว่าโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เราได้รับมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลกเปลี่ยน ชีวิตมหาวิทยาลัย หรือเวทีประกวด มันเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากจะใช้ทักษะความรู้เหล่านี้ไปการพัฒนาชุมชนและช่วยเหลือคนอื่น มันจะมีความหมายอะไรถ้าเราไปเรียนนั่น เรียนนี่ แล้วเราไม่ได้เอามาทำให้เกิดประโยชน์”

หลังจบประโยค ความรู้สึกนึงก็ได้เกิดขึ้นมาในใจของเราว่า หากนางงามคนหนึ่งจะต้องมีภารกิจในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมหลังจากรับตำแหน่ง มิสยูนิเวิร์สลาวคนนี้ได้เริ่มทำไปก่อนที่จะสวมมงกุฎมาตั้งนานแล้ว

Writer & Photographer

Avatar

คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์

นักเขียนอิสระ ที่กำลังลองทำงานหลายๆ แบบ ชอบลี้คิมฮวง ต้นไม้ เพลงแก่ๆ มีความฝันอยากทำฟาร์มออร์แกนิก และล่าสุดเขียนจดหมายสะสมลงในเพจ In the Letter