“วันนี้เริ่มซ้อมตอน 5 ทุ่มค่ะพี่ พอดีหนูยังชินกับเวลาอังกฤษอยู่”

คำพูดข้างต้นคือประโยคที่ มิงค์-ณัชชารัตน์ วงศ์หฤทัย หรือ มิงค์ สระบุรี กล่าวกับผมขณะพูดคุยกันอย่างผ่อนคลายในช่วงถ่ายรูปหลังจบการสัมภาษณ์

หากมองชีวิตของมิงค์ในฐานะแชมป์โลกสนุกเกอร์หญิงอาชีพ มันคงไม่แปลกที่นักกีฬาซึ่งประสบความสำเร็จขนาดนี้ จะเคยชินกับเวลาต่างประเทศมากกว่า GMT+7 ของบ้านเรา

แต่ถ้ามองชีวิตของบุคคลตรงหน้าในฐานะผู้หญิงไทยอายุ 22 ปี ที่เลือกเดินออกจากโรงเรียนหลังจบชั้นมัธยมต้น เพื่อมาเอาดีบนเส้นทางชีวิตอีกด้าน จนก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์โลก

มันคงเป็นความรู้สึกที่น่ามหัศจรรย์ไม่น้อยที่หญิงสาวเบื้องหน้าเราคนนี้ ก้าวไปยืนในฐานะนักกีฬาระดับโลกด้วยอายุวัยที่หลายคนพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ตอนอายุ 22 ปี ฉันทำอะไรอยู่นะ”

แต่สำหรับ มิงค์ สระบุรี เธอคือแชมป์โลกสนุกเกอร์หญิงคนแรกของเมืองไทย… แม้ในใจลึก ๆ เธออาจยังคงมองหาความสนุกในชีวิต เช่น การเล่นเกมอะไรสักอย่างที่มอบความท้าทาย และเป้าหมายเพื่อก้าวเดินต่อไปในเส้นทางที่เลือก

มิงค์ สระบุรี เด็กสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักสนุกเกอร์ แล้วได้แชมป์โลกตอนอายุ 22 ปี

เกมเดินขึ้นบันได คือคำนิยามของเกมที่เธอกำลังเล่น และภารกิจของเธอในแต่ละด้าน คือการคว้าความสำเร็จหรือเอาชนะคู่แข่งบนเวทีสนุกเกอร์ การแข่งขันที่คุณไม่มีวันรีเซฟหรือโหลดเกมเพื่อมาแก้ตัวใหม่ แพ้คือแพ้ จบคือจบ

นี่จึงเป็นความรู้สึกที่น่ามหัศจรรย์ เมื่อเรื่องราวที่จะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นชีวิตจริงของผู้หญิงอายุเพียง 22 ปี

มิงค์ สระบุรี เด็กสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักสนุกเกอร์ แล้วได้แชมป์โลกตอนอายุ 22 ปี

1

“ความจริงชีวิตหนูคลุกคลีกับกีฬาสนุกเกอร์ตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่ทำงานอยู่ที่โต๊ะสนุกเกอร์ เมื่อเลิกเรียนหนูก็ต้องไปที่นั่น เพื่อรอคุณแม่เลิกงาน หนูเลยไปทำการบ้านหรือใช้ชีวิตช่วงเย็นกับช่วงวันหยุดที่นั่นเป็นส่วนใหญ่

“ตอนแรกหนูไม่ได้สนใจจะเล่นสนุกเกอร์ เพราะเรายังเป็นเด็ก แค่มองเห็นว่านี่คือสนุกเกอร์ จนช่วงเรียนอยู่ชั้น ป.4 เจ้าของโต๊ะที่แม่หนูทำงานอยู่ เขาเห็นว่าหนูเลิกเรียนแล้วก็มาที่นี่ทุกวัน บวกกับช่วงนั้นหนูตัวสูงกว่าคนอื่น เขาก็มองว่าหนูน่าจะเล่นสนุกเกอร์ได้ ก็เลยให้ พี่บิ๊ก สระบุรี (อรรถสิทธิ์ มหิทธิ) ที่เป็นอดีตแชมป์โลกมาสอนให้”

จุดเริ่มต้นของ มิงค์ สระบุรี บนเวทีสนุกเกอร์อาจแตกต่างจากเรื่องราวของหลายนักกีฬารุ่นเยาว์ที่เราเคยได้ยินมา เพราะก่อนหน้าที่เธอจะได้รับคำชักชวนโต๊ะสักหลาด น้องมิงค์เป็นเพียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่รักสนุก ชอบทำกิจกรรมโรงเรียน และซุกซนไม่ต่างจากเด็กทั่วไป

แต่เมื่อเธอตัดสินใจเริ่มหยิบจับไม้คิว และใช้สมาธิเพื่อเพ่งเล็งไปยังลูกหลากสีเบื้องหน้า นี่คือช่วงเวลาที่ชีวิตของเด็กคนหนึ่งกำลังเปลี่ยนไปตลอดกาล แม้ในเวลานั้นเธอจะไม่เคยคิดถึงมันไปมากกว่าการเล่นเพื่อความสนุกเลยก็ตาม

มิงค์ สระบุรี เด็กสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักสนุกเกอร์ แล้วได้แชมป์โลกตอนอายุ 22 ปี

“ตอนแรกก็สนุก เพราะด้วยความเป็นเด็ก มันเหมือนกับเราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ การเล่นสนุกเกอร์ก็เลยไม่น่าเบื่อสำหรับหนู” มิงค์ ย้อนเล่าความรู้สึกแรกที่ได้เริ่มเล่นกีฬาชนิดนี้

“คือก่อนเริ่มเล่นสนุกเกอร์หนูคุยกับคุณพ่อ พ่อแนะนำว่าลองดูสักครั้งก็ไม่เป็นไร เราเล่นได้หรือไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที แต่ขอให้ลองไปก่อน อีกอย่างคุณพ่อก็มองว่า อยากให้หนูลองเล่นเพื่อเป็นนักกีฬาจริง ๆ ด้วย

“หลังจากนั้น ชีวิตหนูเปลี่ยนไปเลยค่ะ เพราะหลังเลิกเรียนแล้วกลับมาที่โต๊ะสนุกเกอร์ หนูต้องซ้อมอย่างน้อยวันละ 2 – 3 ชั่วโมง ส่วนเสาร์-อาทิตย์แทนที่เราจะได้ออกไปเล่นกับเพื่อน คุณพ่อก็จับหนูซ้อมอย่างเดียว”

แล้วมิงค์เคยรู้สึกอึดอัดบ้างไหมที่ถูกบอกให้ซ้อมหนักขนาดนั้น – ผมถามกลับ

“ความจริงหนูก็มีช่วงที่อึดอัดนะ เพราะคุณพ่อก็เป็นคนที่เล่นสนุกเกอร์พอใช้ได้ พ่อเลยจะมองรูปเกมออกเวลาหนูไปแข่งขัน เมื่อหนูแพ้หรือบางทีรู้สึกไม่ค่อยอยากจะซ้อม เพราะตัวเองยังเป็นเด็ก อยากออกไปเล่นข้างนอกกับเพื่อนบ้าง แต่คุณพ่อจะพยายามบอกให้ซ้อมตลอด

“หนูก็คิดในใจว่า ทำไมเราไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อนนะ ทำไมเราต้องมาซ้อม”

หากเป็นเด็กคนอื่นในช่วงวัยเดียวกัน พวกเขาอาจยอมแพ้และเลือกหันหลังให้กับเส้นทางสายกีฬาของตัวเองไปแล้ว แต่สำหรับมิงค์ เธอยังคงมุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อเป็นนักสนุกเกอร์ต่อไป แม้ใจจะรู้สึกอึดอัดกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ

ความจริงตรงนี้ทำให้ผมสงสัยว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เธอไม่ยอมแพ้ และก้าวเดินต่อบนเส้นทางสายนี้ถึงปัจจุบัน

“หนูว่าเป็นเรื่องของครอบครัวด้วยค่ะ” มิงค์ ตอบกลับออกมาทันควัน หลังจากผมเอ่ยปากถามสิ่งที่สงสัย

“ถามว่ามีแรงผลักดันอื่นไหม หนูคิดว่าเมื่อตัวเองออกไปแข่งขันแล้วเริ่มทำได้ มันเหมือนมีอะไรสักอย่างที่ทำให้หนูคิดว่า ตรงนี้เราสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ อีกอย่างคือ ถึงกีฬาสนุกเกอร์จะใช้เวลาการฝึกซ้อมเยอะมาก แต่ยิ่งหนูลงแข่งแล้วทำได้ดี มันยิ่งสนุกมากขึ้น หนูก็เริ่มสนุกกับมัน”

มิงค์ สระบุรี เด็กสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักสนุกเกอร์ แล้วได้แชมป์โลกตอนอายุ 22 ปี

2

ในวัยเด็ก มิงค์ สระบุรี จะมีนักสนุกเกอร์คนหนึ่งที่เธอชอบดูมากเป็นพิเศษ และยกให้เป็นไอดอลในดวงใจที่ตัวเองอยากเดินรอยตาม เขาคือ รอนนี่ โอซัลลิแวน แชมป์โลก 7 สมัยชาวอังกฤษ ผู้เริ่มต้นคว้าแชมป์รายการแข่งขันสนุกเกอร์เป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุ 9 ขวบ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่านักสนุกเกอร์ทุกคนย่อมอยากมีเส้นทางที่ประสบความสำเร็จไม่ต่างจากต้นแบบของตน แต่เด็กหญิงจากประเทศไทยคนนี้มีจุดเริ่มต้นบนเวทีการแข่งขันในทิศทางตรงกันข้าม เพราะมิงค์ต้องพบเจอกับความพ่ายแพ้ในการแข่งขันรายการแรกของตน และพบว่าตัวเองยังอยู่ห่างจากความฝันที่วาดไว้อีกหลายก้าว

“ครั้งแรกก็ยอมรับเลยว่าแพ้ เพราะแข่งครั้งแรกคือตื่นเต้นมาก แทงไม่ออกเลย คือด้วยความที่หนูไม่เคยลงแข่งขันมาก่อน แถมประสบการณ์อะไรก็ไม่มี หนูเลยเล่นตามแบบที่ตัวเองซ้อมมา

“ตอนนั้นยังสนุกกับมันอยู่ เพราะหนูยังเด็ก แถมเป็นการแข่งขันครั้งแรกด้วย ความกดดันอะไรก็ยังไม่มี หนูเองเพิ่งเล่นได้ปีเดียว เหมือนคุณพ่ออยากให้หาประสบการณ์เพิ่มมากกว่า ชนะก็โอเค แพ้ถือว่าไม่เป็นไร หนูเองเลยไม่คาดหวังจะคว้าชัยชนะตั้งแต่แรก”

ผลลัพธ์ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้มากพอกับคำว่าชัยชนะ มิงค์รู้ตัวดีว่าเธอคงไม่ใช่นักสนุกเกอร์ที่ฝีมือพิเศษกว่าใคร เธอจึงยังคงตั้งใจเอาดีด้านการเรียนเหมือนเด็กคนอื่นทั่วไป กระทั่งเรียนจบชั้น ม.3 เธอกลับพลาดสอบไม่ติดเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดสระบุรี

ความผิดหวังครั้งนี้เองจึงนำมาสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต แบบที่มิงค์เองไม่เคยคิดถึงเส้นทางนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ

มิงค์ สระบุรี เด็กสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักสนุกเกอร์ แล้วได้แชมป์โลกตอนอายุ 22 ปี

“ตอนเด็กหนูฟังคุณพ่อเยอะมากค่ะ พ่อคอยบอกเสมอว่า สนุกเกอร์มันเป็นอาชีพได้นะ คอยบอกหนูทุกวันว่ามันหารายได้ให้เราได้ คือต้องบอกว่าทางบ้านหนูไม่ใช่ครอบครัวที่มีฐานะอะไร คุณพ่อก็พูดกับหนูตรง ๆ เลยว่า ถ้าส่งเรียนก็ไม่รู้ว่าจะส่งได้ไกลถึงไหน จะส่งถึงมหาวิทยาลัยได้หรือเปล่า”

“แต่พ่อมองว่าบนเส้นทางสนุกเกอร์ ถ้าหนูไม่เลิกเล่น อย่างไรก็เล่นเป็นอาชีพได้ เหมือนคุณพ่ออยากหาอาชีพให้หนูในเวลานั้นเลย คุณพ่อจึงถามว่าอยากเรียนต่อหรือจะลองเล่นสนุกเกอร์เต็มตัว ซึ่งหนูก็โอเคนะ ไหน ๆ ก็สอบไม่ติดแล้ว ลองดูสักตั้งก็ไม่เสียหาย เพราะคุณพ่อบอกว่า ถ้าผ่านไปปีนึงยังไม่มีอะไรดีขึ้นก็ค่อยกลับไปเรียนต่อ”

ทำไมมิงค์ถึงกล้าตัดสินใจแบบนั้น ผมถามต่อ

“หนูมองว่าช่วงที่ก่อนจะไปเล่นเต็มตัว หนูเองก็มีการแข่งขันเข้ามาเรื่อย ๆ เมื่อมองจากตรงนั้นเราก็มีแพ้บ้างชนะบ้างสลับกันไป หนูเองก็มองภาพรวมหลายอย่างว่าตัวเราไปต่อได้ไหม เราควรจะลองเล่นจริงจังไหม อีกอย่างในสังคมสนุกเกอร์เราก็มีเพื่อนบ้าง หนูเลยโอเคค่ะ”

3

หลังตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับมัธยมปลาย มิงค์ออกเดินทางจากจังหวัดสระบุรี เพื่อย้ายไปฝึกซ้อมร่วมกับ ใบพัด ศรีราชา (ศิริภาพร นวนทะคำจัน) เพื่อนสนิทของเธอที่จังหวัดชลบุรี โดยมี หยิก สำโรง (พิสิษฐ์ จันทร์ศรี) คุณพ่อของใบพัดเป็นผู้ฝึกสอนให้ มิงค์จึงได้พัฒนาฝีมือของตัวเองในฐานะนักสนุกเกอร์อย่างเต็มที่ ผ่านการฝึกซ้อมถึงวันละ 9 – 10 ชั่วโมง

“หนูซ้อมทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น ยกเว้นมีรายการแข่งขัน แต่พอแข่งเสร็จก็คือต้องกลับมาซ้อม ตั้งแต่ 9 – 10 โมงเช้า จนถึงราว 1 ทุ่ม

“ตอนนั้นหนูมองว่าตัวเองพัฒนาขึ้นตามวัย เพราะช่วงนั้นหนูยังคอยพัฒนาสิ่งที่ตัวเองขาด คือต้องอธิบายก่อนว่า สนุกเกอร์มีวิธีการแทงหลากหลายรูปแบบ แล้วช่วงแรกหนูไม่ใช่คนที่แทงแม่นมากค่ะ เน้นเล่นป้องกันแล้วค่อย ๆ เก็บแต้มมากกว่า แต่เมื่อย้ายไปอยู่ศรีราชา หนูถึงเริ่มได้พัฒนาเรื่องเบสิกหรือเทคนิคต่าง ๆ ให้มากขึ้น”

หลังจากคุยกันได้สักพัก ทำให้ผมเริ่มมองเห็นอะไรบางอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจผิดไปเกี่ยวกับชีวิตของเธอ เพราะเมื่อมองย้อนหลังจากปัจจุบันที่มิงค์ประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์โลกหญิงด้วยอายุเพียง 22 ปี คนส่วนใหญ่จึงน่าจะเข้าใจว่าเธอเป็น ‘เด็กเทพ’ ที่เก่งกาจเหนือใครตั้งแต่ต้น

แต่จากคำบอกเล่าของมิงค์ที่ผ่านมา ทุกอย่างชี้ให้เห็นว่า เธอไม่ได้เก่งกว่าใครมาตั้งแต่แรก และต้องพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวสู่ระดับต่อไปเหมือนกับนักกีฬาคนอื่น

มิงค์ สระบุรี เด็กสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักสนุกเกอร์ แล้วได้แชมป์โลกตอนอายุ 22 ปี

“ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่” มิงค์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อผมถามว่าเธอคือเด็กเทพแบบที่คนทั่วไปเข้าใจหรือไม่  

“หนูไม่เคยมองว่าตัวเองเก่งที่สุดค่ะ เพราะกว่าเราจะใต่ไปแต่ละระดับ เราต้องก้าวมาจากข้างล่าง เพราะเราจะเก่งเลยมันก็ไม่ใช่ หนูแค่เป็นนักกีฬาคนหนึ่งที่เป็นรองคนอื่นที่ต้องผลักดันตัวเองขึ้นอยู่ระดับต้น ๆ ให้ได้”

ในช่วงเวลานั้น มิงค์ สระบุรี ถือเป็นหมายเลข 3 ของวงการสนุกเกอร์หญิงไทย โดยเธอยังเป็นรอง แอม นครปฐม (วรัตน์ฐนัน ศุภ์กฤศธเนส) นักกีฬารุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย ส่วนอีกคนคือ ใบพัด เพื่อนสนิทของเธอที่ผ่านการคว้าแชมป์รายการใหญ่มาแล้ว

หมายเลข 3 ในกีฬาอื่นอาจไม่ใช่อันดับที่แย่เกินไปนัก แต่สำหรับกีฬาสนุกเกอร์ นี่อาจเป็นลำดับที่น่าเจ็บปวดมากที่สุด เพราะโควต้านักกีฬาสนุกเกอร์ทีมชาติไทยในแต่ละรายการแข่งขัน จะมอบโควต้าให้แก่มือวาง 2 อันดับแรกเท่านั้น นั่นหมายความว่า หากมิงค์พัฒนาตัวเองให้แซงหน้าแอมหรือใบพัดไม่ได้ เธอจะไม่มีวันก้าวสู่เวทีระดับโลกตามความฝันของตัวเองได้เลย

“ตอนนั้นแต่ละคนก็มองต่างกันไป บางคนก็มองว่าหนูไม่ได้ห่างจากสองคนมาก ส่วนบางคนก็บอกว่าหนูต้องพัฒนาอีกเยอะถึงจะไล่ทัน ซึ่งมันเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้หนูพยายามพัฒนาตัวเอง และสร้างผลงานเพื่อจะก้าวไปอยู่ตรงนั้น เพราะหนูไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองนำใครแล้ว รู้สึกแค่ว่าเรายังต้องพัฒนาต่อไป”

“เมื่อหนูย้ายกลับมาอยู่กับ โค้ชโหน่ง สระบุรี เขาก็แนะนำหนูตลอดว่า ตอนนี้เราอยู่อันดับ 3 นะ ถ้าอยากสร้างรายได้ให้มากกว่านี้ เราต้องติดหนึ่งในสองเท่านั้น เราต้องพยายามถีบตัวเองขึ้นไปยืนเป็นตัวหลักให้ได้ มันก็เป็นแรงผลักดันของหนูในการแข่งขันหรือการฝึกซ้อมแต่ละครั้ง บอกกับตัวเองว่า เราต้องทำให้ได้”

มิงค์เล่าให้ฟังว่าเธอมองชีวิตของตัวเองเหมือนกับเกมที่ต้องปลดล็อกแต่ละด่าน เพื่อก้าวสู่ระดับต่อไปในชีวิตนักกีฬาสนุกเกอร์ โดยบอสด่านแรกที่เธอต้องเอาชนะให้ได้ ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก ใบพัด ศรีราชา เพื่อนสนิทของตัวเองที่มิงค์ไม่เคยเอาชนะได้เลย

มิงค์ สระบุรี เด็กสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักสนุกเกอร์ แล้วได้แชมป์โลกตอนอายุ 22 ปี

เหมือนฟ้าลิขิตให้ทั้งสองต้องเผชิญหน้ากันบนเวทีสำคัญ มิงค์และใบพัดโคจรมาพบกันในรอบชิงชนะเลิศศึกแชมป์เยาวชนโลกหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี เป็นครั้งที่สองในปี 2016 หลังทั้งคู่เจอกันมาแล้วในปีก่อนหน้า แต่คราวนี้ผลลัพธ์กลับจบในทิศทางที่แตกต่างออกไป เพราะกลายเป็นมิงค์ที่คว้าชัยชนะ กำจัดบอสด่านแรกที่เธอไม่เคยเอาชนะในชีวิตนักสนุกเกอร์ได้สำเร็จ

“หลังจากคว้าแชมป์ครั้งนั้น หนูรู้สึกเหมือนปลดล็อกตัวเองเลยค่ะ เพราะมันเป็นการคว้าแชมป์ครั้งแรกในต่างประเทศ และยังเป็นการชนะเพื่อนของตัวเองที่เคยแพ้มาตลอด หนูยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ถึงทุกวันนี้ คือมันดีใจมาก หลังจากจบเกมหนูเลยรีบโทรหาคุณแม่แล้วก็ร้องไห้เลย บอกกับแม่ว่าหนูทำได้แล้วนะ คุณแม่ก็ร้องไห้ หนูก็เลยร้องไห้ตาม” มิงค์หัวเราะ

“เมื่อมองย้อนกลับไป จะบอกว่าการคว้าแชมป์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งของหนูก็ได้ เหมือนว่าพอเราได้แชมป์หรือชนะใครสักคนที่เรารอคอยมานาน มันเหมือนกับการปลดล็อกไปทีละขั้น เพราะทุกครั้งที่หนูได้แชมป์ หนูจะคิดว่าฝีมือเราพัฒนามาระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราแพ้ คือเรายืนอยู่ที่เดิม

“เหมือนเราเล่นเกมก้าวขึ้นบันได สมมติว่าก้าวมาถึงขั้นที่ 3 แล้ว การจะก้าวไปขั้นที่ 4 มันยากมาก ๆ แต่เมื่อหนูชนะคนนี้ได้หรือคว้าแชมป์ได้ มันผลักเราให้ก้าวไปสู่ขั้นที่ 4 ได้ง่ายกว่า และเมื่อหนูก้าวสู่ขั้นต่อไป เหมือนมีสิ่งใหม่ที่หนูต้องปลดล็อกให้ได้ต่อไป”

4

มิงค์ สระบุรี เอาชนะเกมอีกหลายด่านที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนักสนุกเกอร์ของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันแชมป์โลกเยาวชนหญิง 3 สมัย การลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย หรือการก้าวไปแข่งขันในรายการอาชีพที่ประเทศอังกฤษ (สนุกเกอร์นอกอังกฤษ นับเป็นรายการสมัครเล่น) ซึ่งมีผู้หญิงไทยเพียงไม่กี่คนที่ก้าวถึงจุดนี้

แต่ถึงจะประสบความสำเร็จมากมายแค่ไหน มิงค์บอกเล่าว่าเธอไม่เคยมองตัวเองเก่งเหนือกว่าใคร เพราะในมุมมองที่เห็น นักสนุกเกอร์แต่ละคนต่างมีความสามารถที่ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งสำคัญคือ คุณจะแสดงฝีมือที่มีอยู่ในตัวออกมาได้มากแค่ไหน ภายใต้สถานการณ์ที่แสนกดดันในการแข่งขัน

“ความสำเร็จที่เข้ามาตอนนั้น มันเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เราพัฒนาตัวเองจากเด็กที่เล่นไม่เป็น ค่อยพัฒนาต่อไปทีละขั้นจนมาถึงตรงนี้ แต่หนูไม่เคยมองว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลก เพราะสนุกเกอร์คือกีฬาที่เป็นการแข่งขันวันเดียว เกมหนึ่งเกมไม่สามารถวัดได้หรอกว่า หนูเก่งที่สุด

“อาจจะเป็นแค่วันนั้นมันเป็นวันของเรา หรือทุกอย่างเป็นใจให้เราหมดเลย สำหรับหนูคือทุกคนมีฝีมือใกล้เคียงกันหมด แต่มันอยู่ที่ว่าตอนนั้นใครเอาศักยภาพออกมาได้มากที่สุด”

มิงค์ สระบุรี เด็กสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักสนุกเกอร์ แล้วได้แชมป์โลกตอนอายุ 22 ปี

สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่น่าประหลาด ผู้เข้าแข่งขันอาจไม่เสียเหงื่อสักหยดตลอดทั้งเกม แถมยังแทบจะไม่ต้องออกแรงอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่ในทางกลับกัน สนุกเกอร์อาจเป็นกีฬาที่ใช้สมาธิและความเข้มแข็งของจิตใจมากกว่ากีฬาไหน นั่นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่นักกีฬาอายุน้อยอย่างมิงค์จะรับมือกับความกดดันหรือความตื่นเต้นที่เข้ามา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอเดินทางไปแข่งขันยังรายการอาชีพที่ประเทศอังกฤษ แม้ว่าเธอจะอายุไม่ถึง 20 ปี

“ช่วงแรกรู้สึกเลยว่าเราฝีมือห่างกับนักกีฬาต่างประเทศ ทั้งด้วยเรื่องของประสบการณ์และการจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตอนนั้นหนูยังเป็นหน้าใหม่ เรายังไม่เคยชินกับอะไรแบบนั้น แต่พอได้แข่งสัก 2 – 3 ปี หนูเริ่มรู้แล้วว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไรกับความรู้สึกหรือความตื่นเต้นที่เข้ามา เราควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ผลการแข่งขันออกมาดีที่สุด

“ความจริงถ้าพูดตรง ๆ ว่า ความตื่นเต้นหายไปเลยไหม มันไม่หายไปแน่นอน เพราะมันยากที่จะบอกกับตัวเองว่า เราไม่ตื่นเต้น เราไม่กดดัน เพราะทุกครั้งที่หนูเข้ารอบชิงชนะเลิศ หนูคาดหวังแชมป์อยู่แล้ว

“แต่เมื่อตัวเองคาดหวังกับบางจังหวะมากเกินไป เช่น แทงช็อตนี้แล้วหนูจะได้แชมป์ มันคือความกดดันมาก ๆ ณ เวลานั้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ คือใจเราจะเต้นแรงมาก ๆ แล้วก็จะหลุดโฟกัส เพราะมัวแต่ไปคิดว่าเราจะได้แชมป์แล้ว แต่เราลืมโฟกัสลูกเดียวข้างหน้าที่ควรจะแทงมันให้ลง

“แน่นอนว่ามันก็มีช่วงเวลาที่หนูเฟลมาก ๆ คิดกับตัวเองตลอดว่า เราแพ้ได้ยังไง ทำไมเราแทงออกมาแล้วผลการแข่งขันถึงเป็นแบบนี้ ทำไมสิ่งที่เราซ้อมมาเราทำไมได้ คือตอนหนูไปแข่งรายการอาชีพผู้หญิงใหม่ ๆ หนูซ้อมหนักมาก ซึ่งในการฝึกซ้อมหนูเล่นดีมาก แต่พอเข้าไปอยู่ในการแข่งขัน หนูกลับสร้างผลการแข่งขันไม่ดีเท่าที่คาดหวังไว้ มันทำให้หนูคิดว่า สิ่งที่เราทำมันถูกอยู่หรือเปล่า”

แล้วกลับมาจากความผิดหวังตรงนั้นได้อย่างไร ผมถามต่อ

“มีช่วงหนึ่งที่หนูเข้าไปคุยกับนักจิตวิทยา และลองเริ่มนั่งสมาธิ หนูเลยลองคิดกับตัวเองเสมอว่า เราทำอะไรอยู่ พยายามอยู่กับตัวเองให้มากที่สุด ถ้าพูดโดยทั่วไปก็เหมือนอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งตรงหน้าที่ควรจะทำ แน่นอนว่ามีบางครั้งที่เราหลุดไป แต่ก็ต้องเตือนตัวเองว่าทำอย่างไรให้กลับมาได้เร็วที่สุด

“หลังจากนั้น ทุกครั้งหนูเริ่มคิดกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงแพ้ หนูจะพยายามบอกตัวเองว่า เกมที่เราแพ้ไปแล้ว เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่เราต้องทำเกมหน้าให้ดีกว่านี้ หนูแก้ไขด้วยการพยายามใหม่ เริ่มคิดใหม่ เราก็จะมามองเรื่องของเกมว่าเราพลาดอะไร อาจจะเพราะสมาธิไม่พอ หรือการตัดสินใจไม่ถูกต้อง เราอาจมีความผิดพลาดเยอะเกินไปกว่าที่ควรจะเป็น หนูก็เลือกมามองตรงนี้ พยายามแก้ไขสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เอาอะไรที่เราผิดพลาดไปแก้ไขต่อไป

“แต่แมตช์ที่แพ้หนูไม่ได้ลืมนะคะ มันยังอยู่ข้างในตลอดเวลา จนถึงทุกวันนี้ เกมที่แพ้หนูก็ยังคงจำได้อยู่ มันเป็นบทเรียนที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น”

5

มิงค์ สระบุรี ไม่เคยลืมความพ่ายแพ้ที่เคยผ่านมาในชีวิต เช่นเดียวกับที่เธอยังคงจดจำทุกชัยชนะสำคัญได้ดี เมื่อผมเอ่ยปากถามถึงเรื่องราวและความรู้สึกในวันที่เธอคว้าแชมป์โลกหญิง มิงค์ไม่ลังเลที่จะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะความรู้สึกที่เธอสัมผัสว่า โชคชะตา มีบทบาทสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์ครั้งนี้

“ตอนนั้นหนูตามเขา 5 – 3 เฟรม คิดในใจว่าคงแพ้ไปแล้ว เพราะว่าใครถึง 6 เฟรมก่อนก็ชนะ แถมเขา (เวนดี้ แจนส์) ก็เล่นดีมาก ๆ เลยคิดไปว่าเราคงแพ้แล้ว

“โชคดีที่หนูพยายามดึงตัวเองกลับมา คือไม่ได้คาดหวังว่าเราต้องกลับมาชนะ แต่คิดแค่ว่า ลูกนี้หนูจะทำออกมาให้ดีที่สุด เกมนี้หนูจะทำออกมาให้ดีที่สุด คิดเป็นเกมต่อเกม ลูกต่อลูก ช็อตต่อช็อต แค่พยายามเก็บแต้มให้ได้เยอะที่สุดในเกมที่เหลือหลังจากนี้”

จากที่เคยตามหลัง 5 – 3 เฟรม เพียงพริบตาเดียว มิงค์ไล่ต้อนคู่แข่งขันจากประเทศเบลเยียมจนเสมอกันที่ 5 – 5 เฟรม เท่ากับว่าใครคว้าชัยชนะในเฟรมสุดท้ายได้ก็จะครองแชมป์โลกทันที

การแข่งขันดำเนินไปอย่างสูสี ต่างคนต่างมีโอกาสปิดเกมได้ และดูเหมือนจะเป็น เวนดี้ แจนส์ ที่คว้าโอกาสนั้นได้ก่อน แต่เหมือนกับที่มิงค์เล่าให้ฟังว่าโชคชะตาคงเลือกให้เธอเป็นผู้ชนะ เวนดี้กลับพลาดวางลูกดำไว้ให้มิงค์จัดการปิดงานอย่างง่ายดาย (ในกีฬาสนุกเกอร์ ลูกดำต้องแทงเป็นลูกสุดท้ายของเกม) ในสายตาของคนทั่วโลก นี่คือลูกที่ง่ายแสนง่ายแบบที่มองอย่างไรมิงค์คงไม่พลาด

แต่ในการพูดคุยกันครั้งนี้ เราถึงได้รู้ว่าตลอดอาชีพนักสนุกเกอร์ของ มิงค์ สระบุรี นี่คือจังหวะที่ยากที่สุดในชีวิตของเธอ

“ถ้าใครได้ดูเกมนั้น คงรู้ว่ามันตื่นเต้นมาก ๆ ตอนลูกสุดท้ายที่เขาแทงลูกดำมาจ่อให้หนู มันเป็นลูกที่ตื่นเต้นที่สุดเท่าที่หนูเคยจำได้ในชีวิต ทั้งที่ถ้าเป็นลูกแบบนี้ในตอนซ้อม คือหนูแทง 100 ครั้ง ต้องลง 100 ครั้ง มันง่ายมาก ใครเห็นก็บอกว่าไม่ยาก แทงยังไงก็ลง

“แต่ว่า ณ ตอนนั้น แค่หนูเดินออกไปข้างหน้า หัวใจมันเต้นจนเหมือนจะหลุดออกมาจากอก คือตอนนั้นมันยากมากจริง ๆ”

มิงค์ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าหายใจเข้าลึก ๆ ควบคุมความตื่นเต้นให้มากที่สุด แล้วแทงออกไปเหมือนที่เคยซ้อมมา… อีกไม่กี่วินาทีหลังจากนั้น หญิงสาวจากประเทศไทยกลายเป็นแชมป์โลกหญิงคนใหม่ของกีฬาสนุกเกอร์

6

ในช่วงท้ายของการสนทนา มิงค์เล่าให้ฟังถึงเป้าหมายอีกมากมายในอนาคตที่เธออยากก้าวไปให้ถึง ทั้งการคว้าตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกในประเภทผู้เล่นหญิง การเอาชนะผู้เล่นอาชีพชายให้มากที่สุด รวมไปถึงการผ่านเข้าสู่รอบ 32 คนสุดท้ายของการแข่งขันชิงแชมป์โลกอาชีพชาย ซึ่งเธอบอกว่าเป็นเป้าหมายที่อาจจะยากเกินไปแม้แต่จะคิดฝัน แต่ในใจก็อยากก้าวไปให้ถึง

ด้วยความสงสัย ผมจึงถามเธอกลับไปว่า หากชีวิตตอนนี้ของเธอเป็นเกมก้าวขึ้นบันไดแบบที่เคยเล่าให้ฟัง คิดว่าชีวิตตอนนี้ของ มิงค์ สระบุรี อยู่ที่ขั้นไหน จากบรรดาบันไดทั้ง 10 ขั้นที่เกมกำหนดไว้ให้

“หนูว่าตัวเองคงก้าวผ่านมามากกว่า 5 ขั้น แต่ว่าเราก็ต้องเดินต่อไปเรื่อย ๆ ถึงต่อให้วันหนึ่งหนูก้าวถึงขั้นที่ 10 แล้ว หนูอาจจะสร้างขั้นที่ 11 และ 12 ขึ้นมาเองก็ได้

“คือมันไม่เชิงว่าเราจะไม่มีวันยืนอยู่บนจุดสูงสุด แต่ถ้าเราเริ่มคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด มันเหมือนเป็นการหยุดตัวเองไว้ เพราะเมื่อไหร่ที่เราเลือกหยุดแค่ขั้นที่ 10 และไม่เลือกที่จะก้าวสู่ขั้นต่อไป สักวันก็จะมีคนที่เดินตามหลังแล้วก้าวผ่านเราไปยังขั้นที่ 11 หรือ 12 อยู่ดี”

Writer

Avatar

ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

คนรักหนังที่เหนื่อยกับชีวิตกองถ่ายมากเกินไป เลยเปลี่ยนใจมาทำงานเป็นนักเขียน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ