ถ้า ‘คำพูดที่ไม่เคยคิด’ ที่จริงก็คือ ‘ยาพิษ’ ทำลายชีวิตของคน

‘ขยะ’ จากการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ไม่เคยมีใครคิดคำนึงถึง ก็คงเป็น ‘ยาพิษ’ ที่ทำลายชีวิตของโลกใบนี้เช่นเดียวกัน

แต่ในทางกลับกัน ‘ขยะ’ ที่ถูกทิ้ง หากใส่ใจลงไปสักนิด ขยะเหล่านั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่เราอาจคาดไม่ถึงได้ อย่างเช่นธุรกิจที่มีรายได้หลักพันล้าน เป็นต้น

คุณอ่านไม่ผิดหรอก ขยะที่เราทิ้งในทุก ๆ วันนี่แหละ กลายเป็นธุรกิจพันล้านได้จริง ๆ

ตอนแรกเราก็ไม่อยากเชื่อ เพราะหลายครั้งเมื่อพูดถึงคำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือรักษ์โลก เรื่องราวเหล่านั้นมักจะจบแค่ในทางทฤษฎี เป็นกิจกรรม CSR เล็ก ๆ หรือไม่ก็หายไปเพราะไม่ทำกำไร

แต่ภายในงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero นี้ มีคนคนหนึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า Circularity in Action หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนในทางปฏิบัตินั้นเกิดขึ้นได้จริง

Miniwiz สตาร์ทอัพระดับโลกที่เปลี่ยนขยะไร้ค่าให้กลายเป็นวัสดุก่อสร้างจนถึงอาคารทั้งหลัง

เรามีนัดหมายพิเศษกับ คุณอาเธอร์ หวง (Arthur Huang) ผู้ก่อตั้ง Miniwiz ธุรกิจที่เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นสิ่งของที่แม้แต่เรายังคาดไม่ถึง ตั้งแต่วัสดุก่อสร้างไปจนถึงอาคารทั้งหลัง หรือแม้กระทั่งหอพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล

มากไปกว่านั้น Miniwiz ไม่ได้เพียงแค่เปลี่ยนขยะให้กลับมาเป็นประโยชน์ และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ แต่บริษัทแห่งนี้ยังเติบโตอย่างมั่นคง จนตอนนี้มีรายได้หลักพันล้านบาท

มาดูกันเลยดีกว่าว่า ‘ขยะ’ จะกลายเป็น ‘ขุมทรัพย์’ ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไร

Crossing the Rubicon

จุดเริ่มต้นที่ทำให้อาเธอร์เริ่มสนใจขยะ คือตอนที่เขากำลังศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ Cornell University สหรัฐอเมริกา และมีโอกาสเดินทางไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี

ในขณะที่ประเทศบ้านเกิดอย่างไต้หวันหนาแน่นไปด้วยตึกระฟ้าและสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ แต่กรุงโรมนั้นเป็นเมืองเก่าแก่ นอกจากจะมีการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้แล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่สวยงามมากมาย

ทว่าสิ่งที่เหลือเชื่อก็คือ จริง ๆ แล้ววัสดุก่อสร้างของสถาปัตยกรรมที่สวยงามเหล่านั้น จำนวนไม่น้อยทำมาจากขยะ!

เรารู้ว่ามันไม่น่าเชื่อ ของเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั้นดินเผาใช้แล้ว เศษอาหาร หรือแม้กระทั่งเศษซากต่าง ๆ เหล่านั้น ถูกแปรรูปโดยชาวโรมันให้กลายเป็นวัสดุก่อสร้าง โดยวัสดุก่อสร้างเหล่านี้ คือสิ่งที่ยึดแบบหล่อโครงสร้างของอาคารที่ทำมาจากไม้และก้อนอิฐ ซึ่งใช้เป็นวัสดุตกแต่งพื้นผิวของอาคารเข้าด้วยกัน

นี่คือสิ่งที่จุดประกายให้อาเธอร์หันมาสนใจด้านความยั่งยืนของการใช้วัสดุต่าง ๆ ก่อนที่จะได้ไปศึกษาต่อ ณ Harvard University และตัดสินใจก่อตั้ง Miniwiz ขึ้นในปี 2005

ย้อนกลับเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในยุคนั้นคำว่ายั่งยืน อาคารสีเขียว ฯลฯ เป็นเรื่องใหม่ ขณะเดียวกันก็เป็นคำที่ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ

“เราเริ่มก่อตั้งบริษัทด้วยความโกรธ ในยุคนั้นเมื่อคุณค้นคว้าลึกลงไป จะพบว่าภายใต้คำว่าอาคารสีเขียวที่ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อนิยามอาคารเหล่านั้นกลับไม่ได้ยั่งยืนจริง ๆ อย่างที่เข้าใจ เราเลยต้องทำให้ผู้คนเห็นว่า Zero Waste ที่แท้จริงเป็นอย่างไร”

Miniwiz สตาร์ทอัพระดับโลกที่เปลี่ยนขยะไร้ค่าให้กลายเป็นวัสดุก่อสร้างจนถึงอาคารทั้งหลัง
คุณอาเทอร์ หวง (Arthur Huang) ผู้ก่อตั้ง Miniwiz

กลายเป็นเป้าหมายของ Miniwiz ที่ตั้งใจพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเกิดขึ้นได้จริง โดยการแปรรูปขยะและของเสียต่าง ๆ ให้กลายเป็นวัสดุที่ผู้คนใช้กันในชีวิตประจำวัน และจากจุดนั้น Miniwiz ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง

แน่นอนว่าหากเป็นสตาร์ทอัพในยุคนี้ พอพูดถึงการเติบโต หลายคนคงนึกถึงการพรีเซนต์ขอเงินสนับสนุนจากนักลงทุน แต่นั่นไม่ใช่กับ Miniwiz

“ในวันแรก เราไม่ได้มีนักลงทุน เรามีแค่พาร์ตเนอร์ ซึ่งก็เป็นเพื่อน ๆ ที่นำเงินเก็บของแต่ละคนมาร่วมก่อตั้งธุรกิจ”

Miniwiz เติบโตได้โดยไม่ต้องมีนักลงทุนหรือสถาบันการเงินมาร่วมลงทุนด้วย และเพิ่งจะมีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมานี่เอง

แล้วอะไรที่ทำให้ Miniwiz ก้าวขึ้นมาถึงตรงนี้ได้ – คำตอบคือ ความโกรธ

The Anger of Love

ถึงแม้ว่าตอนนี้ Miniwiz จะสร้างอาคารขนาดใหญ่จากขยะได้ แต่ย้อนกลับไปหลายปีก่อน ใครจะยอมให้เด็กอายุ 25 ที่เพิ่งจบใหม่มาสร้างตึก

“ในตอนแรกเราต้องเริ่มจากคอนเซ็ปต์เล็ก ๆ ที่เข้าใจง่าย” อาเธอร์เล่าย้อนกลับไปถึงจุดแรกเริ่ม

“ณ ตอนนั้น เราไม่สามารถสร้างตึกได้ แต่เราสร้างสิ่งของภายในตึกได้ จึงตัดสินใจเริ่มต้นด้วยการสร้างโปรดักต์ชิ้นหนึ่งที่เข้ากับคอนเซ็ปต์ความยั่งยืนของเราขึ้นมา เพื่อทดสอบว่าตลาดจะชอบมันหรือเปล่า”

โปรดักต์ชิ้นแรกของ Miniwiz คือ HYmini อุปกรณ์ชาร์จ iPod และแก็ดเจ็ตอื่น ๆ ด้วยพลังงานลมและพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งสร้างขึ้นจากวัสดุรีไซเคิล

ด้วยราคาที่จับต้องได้ (ประมาณ $50) และความสามารถในการผสานเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คน โปรดักต์ชิ้นนี้จึงสร้างชื่อเสียงให้กับ Miniwiz อย่างมาก จนถึงขั้นได้ลงนิตยสาร The New York Times 

“ด้วยโปรดักต์ชิ้นนี้ เราพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า คำว่ายั่งยืนที่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร และเราใช้ความโกรธที่มีต่อคำว่ายั่งยืนที่ไม่ได้ยั่งยืนนั้นในการที่จะก้าวต่อไป”

โลกของธุรกิจนั้นไม่ได้สวยงาม หากขาดทุนก็ไม่อาจคงอยู่อย่างยั่งยืนได้

หนึ่งในหลุมพรางที่สตาร์ทอัพหลายแห่งตัดสินใจจะสร้างผลิตภัณฑ์จากวัสดุใหม่ ๆ ไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ คือ ต้นทุน

เมื่อวัสดุที่ใช้เป็นสิ่งใหม่ ถ้าหากผลิตในจำนวนน้อย แน่นอนว่าต้นทุนต่อชิ้นจะสูง ราคาแพง ผู้คนก็อาจไม่ซื้อ

คุณอาเทอร์ หวง (Arthur Huang) ผู้ก่อตั้ง Miniwiz
คุณอาเทอร์ หวง (Arthur Huang) ผู้ก่อตั้ง Miniwiz

“ดังนั้น เราต้องหาคนที่จะซื้อของของเราในปริมาณมาก เราโชคดีที่ขายสินค้าชิ้นแรกได้เยอะ แต่เชื่อไหมว่า ชิ้นที่สองเราขายไม่ได้เลย และนั่นทำให้เราเกือบเจ๊ง

“แต่ก่อนจะเจ๊ง เราต้องหาสินค้าที่จะทำให้เรามีความยั่งยืนในด้านการเงิน ถ้าคุณไม่ทำ คุณก็ตาย แค่นั้นเลย”

แม้โลกของธุรกิจจะดูโหดร้าย แต่ถ้าหากไปถูกทาง ทิศทางของธุรกิจก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน

“ทุกครั้งที่เราอยู่ในจุดที่มีปัญหาด้านการเงิน เราจะสร้างนวัตกรรม ผมคิดว่านั่นคือวิธีเดียวที่จะเอาตัวรอดได้”

คำว่านวัตกรรมของอาเธอร์ไม่ใช่แค่การกลับมาพัฒนาสิ่งที่เคยทำให้มันดีกว่าเดิม แต่นวัตกรรมของเขาคือการวิจัยและพัฒนาเพิ่ม พร้อมกับใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป

“ตอนที่คุณอยู่ในจุดที่กำลังจะตาย คุณจะสร้างสรรค์มาก และในจุดนั้นเอง ผู้คนจะกลายเป็น 2 อย่าง คนโกหกที่ชั่วร้ายหรือคนที่ซื่อสัตย์มาก ๆ”

ในหลายครั้งเมื่อเกิดวิกฤต สิ่งที่หลายคนทำคือการโกหกตัวเองและคนอื่น แต่เมื่ออาเธอร์ตกอยู่ในสถานการณ์นั้น สิ่งที่เขาทำคือการกลายเป็นคนที่ซื่อสัตย์มาก ๆ

“เวลาผมอยู่ในจุดที่มีปัญหาด้านการเงิน ผมบอกคนที่ผมพรีเซนต์ให้ฟังเลยว่า ผมมีปัญหาด้านการเงิน ถ้าผมจะซื้ออะไรก็เพราะผมเชื่อในสิ่งนั้น ตลาดนี้ดูมีมูลค่ามาก แต่ผมคิดว่านี่ก็เป็นประโยชน์สำหรับคุณด้วย ผมขอช่วยคุณทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้ไหม”

การซื่อสัตย์กับตัวเองและผู้อื่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์เกือบทุกชิ้นของอาเธอร์ และการซื่อสัตย์ก็ทำให้คนที่เขาทำงานด้วยมั่นใจว่ากำลังทำงานกับคนมีความสามารถ

และสิ่งนี้ทำให้ Miniwiz รอดจากจุดที่เกือบเจ๊งจากสินค้าชิ้นที่สอง ด้วยการทำให้ลูกค้ายอมซื้อวัสดุก่อสร้างจากขยะ ซึ่งในตอนนั้นยังพัฒนาไม่เสร็จด้วยซ้ำ
แทนที่จะพูดถึงผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนอย่างเดียว อาเธอร์แสดงให้บริษัทอื่น ๆ เห็นว่า วัสดุก่อสร้างที่แปรรูปมาจากขยะของเขา นอกจากสวยกว่าแล้ว ยังราคาถูกกว่าอีกด้วย

Love on Fire

เมื่อพูดถึงการแปรรูปขยะให้กลายเป็นขุมรัพย์ หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าอาคารเหล่านั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่ารูปจากทั่วโลกต่อไปนี้ จะทำให้คุณร้องอ๋อหรือร้องว้าวได้เลยทีเดียว

การเล่นแร่แปรธาตุของพ่อมดผู้ก่อตั้ง Miniwiz บริษัทที่เปลี่ยนขยะให้เป็นวัสดุก่อสร้าง อาคาร และของใช้ที่คุณอาจเคยสัมผัสโดยไม่รู้ตัว
การเล่นแร่แปรธาตุของพ่อมดผู้ก่อตั้ง Miniwiz บริษัทที่เปลี่ยนขยะให้เป็นวัสดุก่อสร้าง อาคาร และของใช้ที่คุณอาจเคยสัมผัสโดยไม่รู้ตัว

นี่คือตัวอย่างจากผลงานของ Miniwiz ที่ทำให้กับแบรนด์ดังจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Nike, Starbucks, McDonald’s, Dominique Crenn, LVMH, Prada, Kering, Richmond และอื่น ๆ ถ้าจะให้เราเล่าให้หมด The Cloud อาจจะต้องเปิดคอลัมน์ใหม่เลยก็ว่าได้

การเล่นแร่แปรธาตุของพ่อมดผู้ก่อตั้ง Miniwiz บริษัทที่เปลี่ยนขยะให้เป็นวัสดุก่อสร้าง อาคาร และของใช้ที่คุณอาจเคยสัมผัสโดยไม่รู้ตัว

แม้กระทั่งในยุคโควิด-19 Miniwiz เปลี่ยนขยะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชุด PPE ใช้แล้ว ขวดพลาสติก และของเสียอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ให้กลายเป็นชุด PPE ชุดใหม่ หรือห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลมาแล้ว

ไม่ใช่แค่ในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยเอง หลายคนอาจเคยได้สัมผัสผงานของ Miniwiz อย่างไม่รู้ตัวแล้วเช่นกัน

การเล่นแร่แปรธาตุของพ่อมดผู้ก่อตั้ง Miniwiz บริษัทที่เปลี่ยนขยะให้เป็นวัสดุก่อสร้าง อาคาร และของใช้ที่คุณอาจเคยสัมผัสโดยไม่รู้ตัว

Sky-wing Bike Pavilion ภายใน Happy & Healthy Bike Lane สนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต สร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง AOT และ SCB เป็นหนึ่งในผลงานจากวัสดุก่อสร้างที่ Miniwiz แปรรูปมาจากขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว

มากไปกว่านั้น สำหรับใครที่มองว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้อาจดูไกลตัวไปสักนิด ยังไม่เห็นภาพขั้นตอนว่าขยะจะกลายเป็นวัสดุก่อนสร้างได้อย่างไร ลองนึกภาพเครื่องจักรห้องแล็บเคลื่อนที่ที่ใครก็เข้าไปใช้ได้ และเมื่อหย่อนขยะลงไป ขยะเหล่านั้นก็จะแปลงร่างกลายเป็นของใช้ต่าง ๆ ทันที

ที่เราพูดถึงไม่ใช่ในหนัง Transformer หรือ Back to the Future แต่นี่คือสิ่งที่ Miniwiz ทำร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการใช้เครื่อง Mini Trashpresso หรือโรงงานรีไซเคิลเคลื่อนที่เปลี่ยนขยะพลาสติกจากฝาขวดน้ำดื่มให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์น่ารัก ๆ  อย่างกระถางต้นไม้หรือของใช้กระจุกกระจิกได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงอึดใจ ทุกคนจะได้มีประสบการณ์ร่วมกันว่าการขยะพลาสติกสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้จริง 

การเล่นแร่แปรธาตุของพ่อมดผู้ก่อตั้ง Miniwiz บริษัทที่เปลี่ยนขยะให้เป็นวัสดุก่อสร้าง อาคาร และของใช้ที่คุณอาจเคยสัมผัสโดยไม่รู้ตัว

Sustain the Anger

เมื่อถามว่าจะส่งต่อองค์ความรู้เรื่องความยั่งยืนไปสู่คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร คำตอบของอาเธอร์ก็เกินกว่าที่เราจะคาดคิดอีกครั้ง 

“ผู้คนแค่ต้องโกรธอย่างแท้จริง” อาเธอร์กล่าวด้วยสีหน้าเรียบง่าย สั้น ๆ แต่ลึกซึ้ง

“ถ้าปราศจากไฟโกรธ คุณจะคงสิ่งที่คุณอยากทำไว้ไม่ได้ เพราะอุปสรรคหลาย ๆ อย่างจะโค่นคุณลง ในทางกลับกัน อีกด้านหนึ่งของความโกรธก็คือความรัก เพราะคุณแคร์อะไรบางอย่าง คุณถึงตั้งใจที่จะทำและทุ่มเทให้กับมัน”

เมื่อความรักต่อโลกกลายเป็นความโกรธ ผู้คนจึงลงมือทำเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน และความยั่งยืนของโลกใบนี้นั้นเป็นไปได้จริง

ในอนาคต อาเธอร์วางแผนจะทำให้การเปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากขึ้นสำหรับทุกคน โดยตั้งใจจะสร้างห้องครัวเปลี่ยน ‘ขยะ’ ให้กลายเป็น ‘อาหารจานพิเศษ’ 

“ผมแค่หวังจะเป็นคนคนหนึ่งที่ช่วยนำความยั่งยืนมาผสานเข้ากับชุมชนในแต่ละท้องที่ได้

“ตอนนี้เรากำลังร่วมมือกับองค์กรรัฐรวมถึง PTTGC ในการนำองค์ความรู้เหล่านี้มาเป็นเครื่องจักร เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นวัสดุก่อสร้างหรือสิ่งของที่ผู้คนนำกลับไปใช้ได้”

และไม่แน่ ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจได้เห็นเครื่องจักรหรือห้องแล็บของอาเธอร์มาตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ให้พวกเราสร้างความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันก็เป็นได้

คุณอาเทอร์ หวง (Arthur Huang) ผู้ก่อตั้ง Miniwiz

Lessons Learned

  • การทำธุรกิจด้านความยั่งยืน ไม่ใช่แค่ทำผลิตภัณฑ์จากวัสดุที่ดีต่อโลก แต่ต้องยั่งยืนในด้านของการเงินด้วย
  • จงสื่อสัตย์ในวิกฤต เพราะความสื่อสัตย์นั้นจะทำให้คนอื่นเชื่อมั่นในตัวเรา
  • คงความโกรธเอาไว้ เพราะความโกรธคือไฟที่จะช่วยให้เราก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ได้

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ