“I make miniature art every day.”

คือสิ่งที่ Tatsuya Tanaka (ทัตซึยะ ทะนะกะ) เขียนไว้ในหน้าโพรไฟล์ อินสตาแกรม ของเขา

อย่างที่เขาบอก ทัตซึยะอัพรูปน่ารักๆ ของหุ่นโมเดลตัวจิ๋วกับของใช้ในชีวิตประจำวันวันละ 1 ภาพผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ตอนแรกทัตซึยะก็แค่ถ่ายอัพลงไอจีเล่นๆ แต่แล้วจำนวนแฟนคลับกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนจะหยุดก็เกรงใจ จะเลิกก็เสียดาย รู้สึกตัวอีกที เขาก็อัพรูปทุกวันอย่างต่อเนื่องมาตลอด 8 ปี

ส่วนสิ่งที่เขาไม่ได้บอกคือ เขาเป็นคนเดียวในประเทศที่สามารถยึดการสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบนี้เป็นอาชีพ

“รวมผลงานออกโฟโต้บุ๊กเป็นที่ระลึกเสร็จก็ว่าจะหยุด ดันขายดี พอจะจบที่งานนิทรรศการสิ่งที่อยากลองทำก็โผล่มาเรื่อยๆ สุดท้ายก็ยาวมาถึงตอนนี้ครับ” ทัตซึยะเล่า

ยิ่งอัพยิ่งปัง จากงานอดิเรกกลายเป็นงานหลัก มีหลายสื่อแห่แหนมาสัมภาษณ์เขามากมาย ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและได้พาหุ่นจิ๋วไปขึ้นปกนิตยสาร ทำวิดีโอ โฆษณา ให้หลายแบรนด์ รวมไปถึงไตเติลละครด้วย ที่เก๋มากคือการเอา miniature ไปรวมกับ VR ให้คนได้เข้าไปสัมผัสโลกคนจิ๋วที่เขาสร้างขึ้นแบบเคลื่อนที่ได้!

นอกจากนี้ ผลงานเขายังไปดังเปรี้ยงในจีน มีแฟนคลับเอารูปไปโพสต์ใน Weibo ให้ราวกับเป็น Official Account จนมีคนติดตามเพียบ

ทุกวันนี้นอกจากจะมีโฟโต้บุ๊ก ปฏิทินของจริง โปสการ์ด และจิ๊กซอว์ ยังขยันจัดงานนิทรรศการเก๋ๆ นอกจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกงก็ไปมาแล้ว

ถ้าคุณยังไม่เคยเห็นผลงานของเขาคงแอบคิดในใจ แค่ถ่ายรูปโมเดลจิ๋ว จะอะไรกันขนาดนั้น?

แต่ถ้าคุณเป็นหนึ่งใน 1.9 ล้านผู้ติดตามของเขาคงรู้ดีว่าสิ่งที่เรารอคอยดูอยู่ทุกวันคือความคิดสร้างสรรค์ผสมความคาวาอี้ที่ทำให้เราใช้คำว่า “โอ๊ย น่ารักอะ” อย่างสิ้นเปลือง

ดวงตาของเขาคงเป็นรุ่นพิเศษที่ทำให้มองเห็นโลกสุดแฟนตาซีที่บร็อกโคลี่กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ วาฟเฟิลกลายเป็นไซต์ก่อสร้างที่มีป๊อกกี้เป็นเสา ลูกแม็กกลายเป็นตึกระฟ้า สาหร่ายกลายเป็นคลื่นอันเกรี้ยวกราด เมนบอร์ดคอมพิวเตอร์กลายเป็นทุ่งนา หรือที่คั้นน้ำส้มที่เพิ่งรู้ตัวว่าฉันเป็น UFO

ว่าแล้วก็ย่อตัวให้เล็กเข้าไปในโลก miniature calendar อันกว้างใหญ่ พูดคุยกับดีไซเนอร์หนุ่มนักประดิษฐ์สุดอารมณ์ดีที่มีความคิดสร้างสรรค์เหลือเฟือที่สุดคนหนึ่งกันดีกว่า

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นในการใช้โมเดลจิ๋วถ่ายรูปอัพทุกวัน

การเล่นอินสตาแกรมคือจุดเริ่มต้นครับ ผมแค่จะถ่ายรูปด้วยมือถืออัพลงไอจีขำๆ บางครั้งอยากได้คนในภาพด้วยแต่ก็ไม่มีเวลาไปติดต่อคนมาเป็นแบบให้ พอดีผมชอบสะสมพวกโมเดลตัวเล็กๆ อยู่แล้ว เลยเอาของที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้ไปก่อน พออัพไปสักพักมีคนคอมเมนต์เล่นๆ ว่า อยากเห็นรูปแนวนี้ทุกวันจังเลย เราก็ถูกยุง่าย งั้นลองดูละกัน

 

แล้วทำไมต้องเป็น calendar

อ๋อ อันนี้เพิ่มเข้ามาทีหลังครับ ตอนแรกคิดแค่ว่าจะอัพรูปทุกวัน ซึ่งทำมาได้ปีหนึ่งเริ่มอยากทำเว็บไซต์ด้วยเลยต้องคิดชื่อเว็บ ซึ่งพอมองว่าการที่เราอัพทุกวันมันคล้ายๆ กับปฏิทินแบบฉีก เลยตัดสินใจใช้ชื่อนี้

 

จุดเด่นของงาน miniature คืออะไร

น่าจะเป็น ‘Mitate’ นะครับ (มิตะเตะ แปลง่ายๆ ว่า การเห็นสิ่งหนึ่งเป็นอีกอย่าง) จริงๆ แล้วชื่อตำแหน่งของผมคือ mitate-shashinka (ช่างภาพถ่ายมิตะเตะ) และ mitate-zakka คือเป็นนักประดิษฐ์งานที่เกิดจากมิตะเตะด้วย หลังๆ มักมีงานที่ไม่ต้องใช้โมเดลจิ๋ว แต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เรื่องมุมมองในการเลือกของสิ่งหนึ่งให้ดูเหมือนอีกอย่างโดยที่ความจริงแล้วไซส์ต่างกัน ตอนแรกใช้โมเดลเล็กๆ เพราะทำให้คนเปลี่ยนมุมที่เคยมองของไซส์ปกติได้ชัดเจน เช่น บร็อกโคลี่ จากที่เคยเป็นผัก พอให้เป็นต้นไม้ กลายเป็นต้นไม้ใหญ่เลย พอวางองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มมันยิ่งต่อยอดไอเดียไปเรื่อยๆ อาจจะเรียกว่าการมองมุมกลับก็ได้มั้งครับ

สิ่งสำคัญในการทำงาน Mitate คืออะไร

เราตั้งใจจะทำของบางอย่างให้ดูเหมือนอีกอย่าง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนต้องรู้จักสิ่งที่เราจะใช้ก่อน เช่น จะใช้กรรไกรทำเป็นอะไรสักอย่าง แต่ดันเลือกกรรไกรรูปทรงประหลาดที่คนดูไม่ออก แบบนั้นคือจบเลย คนต้องรู้ว่ามันคืออะไร จริงๆ แล้วขนาดประมาณไหน ถึงจะดูรูปผมแล้วสนุกครับ

 

ดังนั้นเลยใช้ Daily Life เป็นธีมงาน?

ใช้ธีมนี้เพราะคนที่เข้ามาดูผลงานผมหลากหลายมากทั้งเชื้อชาติและวัย เลยต้องหาของที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน ของที่ทุกคนรู้จักแน่ๆ ก็หนีไม่พ้นอาหาร เครื่องเขียน ของใช้ในชีวิตประจำวัน

 

ต้องอัพรูปทุกวันมาตลอด 8 ปี เคยหมดมุกบ้างมั้ย

ไม่เคยลำบากเรื่องไอเดียเลยครับ พอทำมาเรื่อยๆ มันชินกับการคิดทุกวัน จดไอเดียสะสมไว้ วันไหนจะถ่ายก็คือเลือกเอาจากที่จด

ปัญหาที่เจอคือไม่มีอารมณ์ทำมากกว่า เพราะบางช่วงที่ยุ่งมากๆ จะไม่ค่อยมีเวลามาใส่ใจรายละเอียดมากนัก ต้องสู้กับจิตใจตัวเอง เช่นมีเวลาแค่นี้ เอาเท่านี้พอ หรือจะเฮ้ย เอาอีกหน่อย ให้มันสุดอีกนิด

 

ทำไมเป็นคนที่มีไอเดียหลั่งไหลได้เหลือเฟือขนาดนี้

นั่นสินะ คงเป็นประสบการณ์การทำงานวงการโฆษณา สมัยก่อนทำงานคล้ายอาร์ตไดเรกเตอร์ ซึ่งต้องคิดไอเดีย คิดภาพ คิดก๊อปปี้ พื้นฐานในการคิดงานต่างๆ คงสะสมมาตั้งแต่ตอนนั้น เปลี่ยนรูปแบบงานแต่วิธีคิดเหมือนเดิม ความเป็นดีไซเนอร์ช่วยเรื่องการสื่อสารให้คนเข้าใจ

 

แล้วเคยรู้สึกกดดันที่ต้องทำทุกวันรึเปล่า

ไม่เลยครับ พอมองว่าเป็นงานอดิเรกเลยไม่ค่อยกดดัน ผมให้อิสระตัวเองในการทำงานค่อนข้างมากด้วย เพราะการถูกผูกมัดทำให้งานไม่สนุก เวลามีงานติดต่อเข้ามาผมจะบอกลูกค้าแต่แรกว่าไม่รับปากนะว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์เขาถ่ายรูปรึเปล่า ถ้าอยากทำงานสนุกทุกวันต้องมีอิสรภาพในการทำงานครับ


ข้อดีของการอัพทุกวันล่ะ

การที่เราอัพรูปทุกวันก็จะมีคนตั้งใจรอดูรูปเราทุกวันด้วยเช่นกันครับ

 

คิดว่าเพราะอะไรคนถึงชอบผลงานเราขนาดนี้ ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ

เพราะทุกคนก็ชอบพวกโมเดลจิ๋วอยู่แล้วมั้งครับ หรืออาจจะเป็น ‘ความรู้สึกมีส่วนร่วม’ เพราะผมใช้ของที่มีทั่วไปในบ้านทุกคนมาปรับมุมมองให้สนุกขึ้น ชวนให้คิดตามว่ามันมองเป็นสิ่งนี้ได้จริงๆ ด้วย บางคนเห็นแล้วอาจจะรู้สึกว่าฉันก็เอาของที่มีที่บ้านมาลองทำมั่งได้นะเนี่ย ดูไม่ยาก เข้าถึงง่าย ความรู้สึกอยากลองทำดูบ้างก็น่าจะเกี่ยวนะผมว่า

 

ทำมา 8 ปีแล้วงานในปัจจุบันต่างกับช่วงแรกยังไง

เปลี่ยนไปเหมือนกันนะครับ เมื่อก่อนไม่มีมิตาเตะเลยนะ ผ่านไป 1 ปีถึงเริ่มมีปนเข้ามา ซึ่งรูปพวกนี้คือได้ไลก์เยอะมาก กลายเป็นว่ารูปที่ไม่ใช่มิตาเตะแทบไม่ได้ไลก์เลย พอรู้ว่าคนชอบแนวนี้ผมเลยมาทางนี้เต็มตัว

แล้วแนวทางในการทำงานล่ะ

ทำไปสักพักเราจะเริ่มรู้ว่ารูปแบบไหนที่คนไม่เก็ต เช่น รูปที่องค์ประกอบเยอะเกินไป คนชอบรูปที่เรียบง่าย เวลาจัดภาพผมเลยพยายามไม่แต่งเติมตัวอุปกรณ์หลักที่เราใช้ ส่วนฉากหรือองค์ปประกอบอื่นๆ ผมจะไม่ค่อยหยิบเข้าหยิบออก ผมว่ามันคล้ายๆ หมากรุก ถ้าเราเปลี่ยนใจใหม่กี่ครั้งก็ได้ การเดินหมากมันไม่เฉียบเหมือนตอนตั้งใจเอาให้ได้ในตาเดียวเนอะ

 

งานละเอียดแบบนี้ สำหรับเรามันเวรี่เจแปนีส คุณว่าความเป็นคนญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับการสร้างผลงานมั้ย

ความละเอียด ความประณีต ในการทำงานก็เป็นจุดเด่นของคนญี่ปุ่นนะ แต่ผมคิดว่าจุดที่เป็นญี่ปุ่นมากของงานผมคือ ‘การเว้นช่องว่าง’ งานผมให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ค่อนข้างมาก เพราะในการสื่อสารเรื่องราวส่วนที่เป็นช่องว่างนี่แหละสำคัญ เลยพยายามระวังไม่ยัดอะไรให้รกเกินไป

 

เรียกได้ว่าเป็นงานมินิมอล

คิดว่าใช่นะครับ ผมพยายามจำกัดจำนวนโมเดลให้น้อยที่สุด คิดแล้วคิดอีกว่าโมเดลตัวนั้นจำเป็นรึเปล่า

 

จริงๆ แล้วมีโมเดลทั้งหมดกี่ตัว

น่าจะมากกว่า 20,000 ตัวนะครับ เอาจริงๆ ไม่เคยนับ กะเองคร่าวๆ จากขนาดตู้เก็บ ส่วนมากเป็นโมเดลสำเร็จรูป ถ้าไม่มีโพสต์ที่อยากได้จริงๆ ค่อยให้ผู้ช่วยทำขึ้นมาใหม่

 

งานที่ทำแล้วได้เงินก็มีเข้ามาตั้งเยอะ ทำไมยังทำงานฟรีที่ต้องทำทุกวันอีกต่างหาก

ถ้าไม่ทำอาจจะไม่มีงานเข้ามาก็ได้นะครับ ไอจีเหมือนเป็นพื้นที่ช่วยโฆษณาผลงาน มีลูกค้าติดต่อเข้ามาเพราะชอบงานที่อัพก็เยอะ ไอจีเลยมีประโยชน์ที่ทำให้ได้ทำงานที่สนุกๆ อื่นๆ ด้วย

 

สิ่งที่อยากสื่อสารผ่านผลงาน

อยากทำให้คนรู้สึกผูกพันกับสิ่งของมากขึ้นล่ะมั้งครับ ผลงานของผมน่าจะทำให้คนมองสิ่งของรอบตัวด้วยมุมมองใหม่เพราะผมใช้ของทั่วไปที่คนรู้จักอยู่แล้ว เขารู้จักรูปทรงของสิ่งนั้น แต่อาจจะไม่เคยตั้งใจมองอย่างจริงจัง หรือไม่ต้องคิดอะไรก็ได้ แค่ทำให้คนที่เห็นรูปพวกนี้รู้สึกว่าชีวิตมันสนุกได้ก็เพียงพอแล้วครับ

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงาน

พอได้เจอคนที่มาชมงานนิทรรศการจากหลายประเทศ ผมรู้สึกว่าคนที่ไหนก็คิดอะไรคล้ายๆ กันนะ ของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ก็คล้ายกัน ผลงานของผมเลยสื่อสารกับพวกเขาได้แม้เราจะพูดกันคนละภาษา โลกเราเหมือนจะกว้างใหญ่ แต่จริงๆ ก็เล็กนะ มนุษย์ก็คือมนุษย์นั่นแหละ มันทำให้ผมรู้สึกว่าทุกคนคือเพื่อน สัมผัสได้ถึงสันติภาพ 

 

สิ่งที่ทำให้ดีใจที่สุดที่เลือกทำงานนี้

การที่ผมพูดได้เต็มปากว่างานอดิเรกแสนรักสิ่งนี้คืออาชีพของผมครับ

miniature-calendar.com

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ