ประโยคที่ซือฟังแล้วชอบตั้งแต่ยังไม่รู้เรื่องราวเบื้องหลัง คือ ‘Keep Calm and Carry On’ ค่ะ

หลายท่านน่าจะทราบแล้วว่า Keep Calm and Carry On เป็นคำขวัญที่คิดขึ้นมาในอังกฤษช่วงปี 1939 โดยแผนก Wartime Propaganda ของ Ministry of Information เขาตั้งใจทำโปสเตอร์ข้อความนี้ออกมาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนที่กำลังเผชิญความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2

โปสเตอร์ดังกล่าวถูกพิมพ์ไว้มากถึง 2.45 ล้านฉบับ แต่ผลจากการเปลี่ยนนโยบายทางการสื่อสารในช่วงนั้น ทำให้โปสเตอร์นี้ไม่ได้นำมาเผยแพร่มากเท่าที่ควร น่าเสียดายว่าโปสเตอร์ส่วนใหญ่ถูกนำไปรีไซเคิลในปีถัดมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนกระดาษฉับพลัน

อย่างไรก็ดี มีโปสเตอร์ 1 แผ่นที่เหลือรอดมาและนอนสงบนิ่งอยู่ก้นกล่องหนังสือเก่านานหลายสิบปี จนช่วงปี 2000 เจ้าของร้านหนังสือมือสองชื่อคุณ Stuart Manley บังเอิญซื้อหนังสือกล่องนั้นมา เมื่อพบโปสเตอร์นี้ที่ก้นกล่อง เขาชอบมากและเอาใส่กรอบติดไว้ในร้านหนังสือ

คนส่งนมและ Keep Calm and Carry On สปิริตแบบอังกฤษที่ส่งหน้าบ้านทุกเช้าเกือบ 400 ปี
โปสเตอร์ของจริงที่ติดไว้ในร้านหนังสือ Barter Books มณฑล Northumberland ของคุณ Stuart Manley 
ภาพ : www.warhistoryonline.com

ปรากฏว่าลูกค้าหลายคนเห็นแล้วก็ชอบเหมือนกันต่างอยากซื้อบ้าง จนคุณ Stuart ตัดสินใจพิมพ์ขายให้รู้แล้วรู้รอดในปี 2001 กล่าวกันว่าเมื่อชาวอังกฤษต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ทำให้คำขวัญนี้ยิ่งเป็นที่นิยมค่ะ

ปัจจุบัน Keep Calm and Carry On กลายเป็นความ ‘อังกฤษ’ ซึ่งเป็นที่จดจำได้มากที่สุดอย่างหนึ่งในโลก ถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าสารพัดอย่าง ซือคิดว่าที่คำขวัญนี้โดนใจผู้อ่าน น่าจะเป็นเพราะคุณสมบัติครบถ้วน คือมีทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์และเป็นประโยคอมตะ ใช้ได้กับทุกคน ทุกเวลา ไม่เฉพาะในช่วงสงคราม

เวลาเจอปัญหาทั้งเล็กและใหญ่ในชีวิต หากเรา Keep Calm พยายามนิ่ง ๆ ไว้ แล้วก้าวต่อไป ใช้ชีวิตต่อไป น่าจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้ผ่านความยากลำบากไปได้ คุณผู้อ่านว่าไหมคะ

มีภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งที่ยังคงถูกนำเสนอคู่กับคำขวัญ Keep Calm and Carry On คือภาพนี้ค่ะ

คนส่งนมและ Keep Calm and Carry On สปิริตแบบอังกฤษที่ส่งหน้าบ้านทุกเช้าเกือบ 400 ปี
ภาพ : rarehistoricalphotos.com

ภาพนี้ชื่อ ‘Delivery After Raid’ ถ่ายในปี 1940 ฉากอันโหดร้ายด้านหลังคือของจริง เป็นสภาพเมืองลอนดอนที่ถูกถล่มเละจากการโจมตีทางอากาศ ด้านหลังจะเห็นนักดับเพลิงตัวจริงกำลังช่วยกันดับไฟ

เหตุการณ์ช่วงนั้นในประวัติศาสตร์อังกฤษเรียกว่า ‘The Blitz’ เป็น 8 เดือนแห่งฝันร้าย (กันยายน 1940 – พฤษภาคม 1941) ที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของนาซีเยอรมนีโฉบมาเหนือน่านฟ้าอังกฤษแล้วบอมบ์สถานที่สำคัญ ๆ ทั้งในลอนดอนและเมืองสำคัญอื่น ๆ ทั่วเกาะอังกฤษ ชาวอังกฤษกว่า 1.5 ล้านคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ถูกส่งตัวออกจากเมืองใหญ่ไปอยู่ในชนบท ตลอดเวลากว่า 8 เดือน ชาวอังกฤษกว่า 30,000 คนเสียชีวิต บาดเจ็บอีกกว่า 50,000 คน

อย่างไรก็ตาม นายแบบในภาพไม่ใช่ Milkman ตัวจริงค่ะ แต่เป็นผู้ช่วยช่างภาพที่ไปขอยืมเครื่องแบบและขวดนมจากคนส่งนมตัวจริงมาเข้าฉาก เพราะช่างภาพ Fred Morley ต้องการบันทึกสภาพสังคมในช่วงนั้นไว้ และเห็นว่าอาชีพ ‘คนส่งนม’ นี่แหละที่จะเป็นตัวแทนคำขวัญ Keep Calm and Carry On (ที่ออกมาเพียงปีเดียวก่อนถ่ายภาพนี้) ได้ดีเยี่ยม เพื่อจูงใจให้ชาวอังกฤษกัดฟันสู้และใช้ชีวิตต่อไปแบบปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้

คนส่งนมและ Keep Calm and Carry On สปิริตแบบอังกฤษที่ส่งหน้าบ้านทุกเช้าเกือบ 400 ปี
เด็ก ๆ นั่งอยู่หน้าบ้านที่ถูกระเบิด นอกเมืองลอนดอน ปี 1940
ภาพ : www.britannica.com – New Times Paris Bureau Collection/USIA/NARA

ทำไมต้องเป็นอาชีพคนส่งนม

เหตุผลที่คุณ Fred Morley เลือกถ่ายภาพคนส่งนม น่าจะเป็นเพราะเป็นหนึ่งอาชีพที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษมาอย่างยาวนาน แบบเห็นแล้ว แหม ช่างอังกริ๊ด อังกฤษ สมกับคำขวัญ Keep Calm and Carry On หากคนอังกฤษจะใช้ชีวิตช่วงสงครามให้ ‘ปกติ’ หนึ่งในความปกตินั้นคือมีคนส่งนมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผู้ใหญ่จิบชาใส่นม เด็ก ๆ ก็ดื่มนม เป็นอาหารพื้นฐานที่สุดของชาวอังกฤษมาแต่ไหนแต่ไร

อาชีพคนส่งนมในอังกฤษจึงเป็นอาชีพเก่าแก่ มีต้นกำเนิดที่บันทึกไว้ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17 โน่นเลยค่ะ แต่เดิมชาวบ้านกินนมจากวัวที่ตัวเองเลี้ยง ทำชีสทำเนยกันเอง แต่เมื่อเมืองขยายตัว ย่อมมีประชาชนที่ไม่ได้เลี้ยงวัวแต่ต้องการนม จึงเกิดอาชีพนี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากบันทึกปี 1794 ของนักเขียน Thomas Baird และนวนิยายเรื่องดังอย่าง David Copperfield ระบุถึงอาชีพนี้ว่า คนส่งนมยุคนั้นคือคนที่ ‘หาอาชีพอื่นทำไม่ได้แล้ว’ กิริยาท่าทางไม่น่าเข้าใกล้ รูปลักษณ์ดูไม่ค่อยสะอาดสะอ้าน นมที่ส่งก็ผสมน้ำซะใสแจ๋วเพื่อเพิ่มกำไร

แต่ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงค่ะ จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้คนอังกฤษจะหาซื้อนมได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่ง แต่อาชีพคนส่งนมยังมีอยู่ในอังกฤษ และได้รับการยอมรับว่าเป็นสัญลักษณ์ทางสังคม

ที่สำคัญ เป็นอาชีพที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและการเปลี่ยนแปลงหลากหลายรูปแบบ ทั้งในแง่อุปกรณ์ขนส่งสินค้า พาหนะ ระบบการจ้างงาน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ขาย ทั้งหมดนี้ถูกปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและช่วยผ่อนแรงคนส่งนม แต่ไม่ว่าจะยุคใด อาชีพนี้ยังถือว่าเป็นงานหนักอยู่ดีค่ะ ก็น่าจะหนักจริง ๆ ลองดูภาพกันนะคะ

ในยุคแรกเริ่ม คนส่งนมใช้ไม้คานกับถังใส่นม เรียกว่า Yoke & Pails ตามรูปด้านล่างนี้ค่ะ

คนส่งนมและ Keep Calm and Carry On สปิริตแบบอังกฤษที่ส่งหน้าบ้านทุกเช้าเกือบ 400 ปี
ภาพ : www.reading.ac.uk
คนส่งนมและ Keep Calm and Carry On สปิริตแบบอังกฤษที่ส่งหน้าบ้านทุกเช้าเกือบ 400 ปี
บรรยากาศการส่งนมในปี 1857 คนส่งนมที่ยังใช้ไม้คานและถังนมมาส่งนมให้ลูกค้าซึ่งกำลังปั่นนมทำเนย 
ภาพ : www.telegraph.co.uk

หนังสือ The British Milkman เขียนโดย Tom Phelps เล่าประวัติคนส่งนมชื่อคุณ William Fryer ไว้ว่า เขาเกิดในปี 1843 เริ่มทำงานในฟาร์มของพ่อตั้งแต่ 8 ขวบ และเริ่มไปเป็นผู้ช่วยคนส่งนม จนอายุครบ 20 ปีจึงทำงานเป็นคนส่งนมเต็มตัว William ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 รีดนมแม่วัว 10 ตัว ออกไปส่งนม ให้อาหารวัว เก็บฟาง เก็บล้างอุปกรณ์ทั้งหมด กว่าจะได้กลับบ้านบางครั้งก็เที่ยงคืน และต้องตื่นเช้ามืดเพื่อเริ่มทำงานวันถัดไป

ยุคแรกนี้ยังเป็นยุคที่คนส่งนมส่วนใหญ่ยังต่างคนต่างทำ แต่ในปี 1864 เริ่มมีการตั้งบริษัทชื่อ Express Dairy และจ้างคนมาทำงาน นมถูกขนส่งทางรถไฟมาจากชนบทเพื่อจัดส่งให้ลูกค้าในกรุงลอนดอน การส่งนมตามบ้านเปลี่ยนจากใช้ไม้คานกับถังนมมาเป็นรถเข็น (เรียกว่า Pram ตามรูปด้านล่าง) ลูกค้าแต่ละบ้านจะเตรียมภาชนะไว้เพื่อตวงนมตามปริมาณที่ต้องการ

คนส่งนมและ Keep Calm and Carry On สปิริตแบบอังกฤษที่ส่งหน้าบ้านทุกเช้าเกือบ 400 ปี
คนส่งนมกับรถเข็นของบริษัท Kirby & West ที่ก่อตั้งในปี 1868 ภาพนี้ถ่ายบนถนน Westcotes Drive เมือง Leicester ไม่ทราบปีที่ถ่าย 
ภาพ : www.plymouthherald.co.uk
คนส่งนมและ Keep Calm and Carry On สปิริตแบบอังกฤษที่ส่งหน้าบ้านทุกเช้าเกือบ 400 ปี
คนส่งนมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ภาพ : 9gag.com

อย่างไรก็ตาม การส่งนมด้วยรถเข็นแบบนี้ก็ยังถือเป็นงานหนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องลุยโคลนหรือส่งนมตอนหน้าหนาวที่ถนนกลายเป็นน้ำแข็งลื่น ๆ บางครั้งจึงมีการใช้ม้าเข้ามาช่วยค่ะ แต่คนส่งนมก็ยังต้องตื่นตี 3 ตี 4 เหมือนเดิม เพื่อบริการลูกค้าหลักร้อยในแต่ละวัน กว่าจะเสร็จงานทั้งหมดก็ค่ำ และต้องทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน

ตั้งแต่ช่วงปี 1920 บริษัทส่งนมในอังกฤษเปลี่ยนมาบรรจุนมในขวดแก้วตามอย่างสหรัฐอเมริกา (ที่ใช้ขวดแก้วบรรจุนมมานานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว) เพราะสะอาดและถูกใจลูกค้ามากกว่า เมื่อนมหมดก็วางขวดเปล่าไว้หน้าบ้าน คนส่งนมจะมาเก็บไปและวางนมขวดใหม่ไว้ให้แทน มีปริมาณขวดนมที่หมุนเวียนทั่วอังกฤษทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านขวด (ปี 1928) และเปลี่ยนมาใช้รถส่งนมแบบม้าลาก ที่บรรทุกนมและผลิตภัณฑ์จากนมอื่น ๆ ได้มากกว่า มีทั้งครีม ไข่ เนย ชีส แยม ผลไม้กระป๋อง ขนมปังกรอบ คือกลายเป็นร้านชำเคลื่อนที่ไปเลย การเก็บเงินก็มีบริการแบ่งจ่ายรายสัปดาห์ ซึ่งเป็นที่ถูกใจของผู้มีรายได้น้อย

คนส่งนมและ Keep Calm and Carry On สปิริตแบบอังกฤษที่ส่งหน้าบ้านทุกเช้าเกือบ 400 ปี
การส่งนมในวันหิมะตก ปี 1938 
ภาพ : www.telegraph.co.uk

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คนส่งนมบางส่วนถูกเกณฑ์ไปออกรบ บริษัทส่งนมจึงมีการจ้างผู้หญิง เด็กหนุ่ม รวมทั้งผู้ชายอายุ 60 – 70 มาออกรอบส่งนม

อาชีพคนส่งนมในอังกฤษดูจะมีเกียรติภูมิอันหนึ่งที่ส่งต่อกันมาคือ ไม่ว่าในสถานการณ์เช่นไร ฝนตก ฟ้าร้อง สภาพถนนไม่เป็นใจ แต่ลูกค้าทุกบ้านต้องมีนมกิน

ประวัติศาสตร์เกือบ 400 ปีของอาชีพ ‘คนส่งนม’ และ Keep Calm and Carry On ในอังกฤษ อาชีพอันมีเกียรติที่ยังมีถึงทุกวันนี้
ภาพถ่ายปี 1935 ในลอนดอน
ภาพ : www.telegraph.co.uk
ประวัติศาสตร์เกือบ 400 ปีของอาชีพ ‘คนส่งนม’ และ Keep Calm and Carry On ในอังกฤษ อาชีพอันมีเกียรติที่ยังมีถึงทุกวันนี้
การส่งนมช่วงหน้าหนาวในปี 1947 
ภาพ : www.telegraph.co.uk
ประวัติศาสตร์เกือบ 400 ปีของอาชีพ ‘คนส่งนม’ และ Keep Calm and Carry On ในอังกฤษ อาชีพอันมีเกียรติที่ยังมีถึงทุกวันนี้
ในปี 1954 แม้จะเกิดภาวะน้ำท่วมจนวางขวดนมเปล่าไว้หน้าบ้านไม่ได้ แต่ลูกค้ารู้ว่าคนส่งนมจะยังคงทำงาน ป้ายหน้าบ้านกลายเป็นจุดวางขวดนมเก่าและส่งนมขวดใหม่ Milkman ในภาพชื่อคุณ Bill Turner 
ภาพ : www.telegraph.co.uk

ในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 อาชีพคนส่งนมในอังกฤษได้รับการยอมรับว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และลูกค้าต่างถือว่าคนส่งนมเป็น ‘เพื่อน’ ของครอบครัว เด็ก ๆ ชอบเล่นกับม้าของคนส่งนม คนส่งนมมีเครื่องแบบเท่ ๆ ที่มาพร้อมความภูมิใจในอาชีพของตน เป็นการยกระดับจากยุคแรกเริ่มที่อาชีพนี้มีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก

เกร็ดหนึ่งที่น่ารักเกี่ยวกับอาชีพนี้คือ คนส่งนมเป็นดั่งพี่ยามประจำหมู่บ้าน คอยเป็นหูเป็นตาเพื่อดูแลผู้สูงอายุหรือคนป่วย ในปี 1974 Terry Payne แห่งเมือง Dudley รีบแจ้งตำรวจให้พังประตูเข้าไปช่วยลูกค้าอายุ 71 ปี ชื่อ Dorothy Smith ที่เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตกได้ทันเวลา

ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งต้นทศวรรษ 1960 คนอังกฤษยังคงพึ่งพานมสดที่ส่งตามบ้านเป็นหลัก แต่หลังจากนั้นสภาพสังคมเปลี่ยนไป ผู้หญิงออกทำงานมากขึ้น ทำอาหารน้อยลง หรือหากทำก็ต้องการอาหารแบบปรุงง่ายเสร็จเร็ว ทำให้ความต้องการวัตถุดิบอย่างนม ไข่ ครีม ชีส น้อยลงไปด้วย อีกทั้งคนหนุ่ม ๆ ไม่ค่อยมีใครอยากทำงานนี้เพราะมองว่าเป็นงานหนัก ต้องตื่นเช้า ที่สำคัญ ต้องทำงานตลอด 7 วัน และยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหากสินค้าถูกขโมย คนส่งนมบางส่วนถึงกับยืนยันจะไม่ส่งนมตามเส้นทางอันตรายที่ขโมยเยอะ โดยเฉพาะในวันเก็บเงินประจำสัปดาห์ ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ชาวอังกฤษหาซื้อนมสดได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ แผงหนังสือพิมพ์ โดยไม่ต้องง้อคนส่งนม

การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นตามยุคสมัย ทำให้ธุรกิจส่งนมต้องปรับตัว ในยุค 1980 คนส่งนมเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างนมพร่องมันเนย น้ำส้มคั้นสด และผลไม้ออร์แกนิก เข้ามาเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่ตื่นตัวกับกระแสรักสุขภาพ บางบริษัทมีบริการส่งไวน์เป็นกล่อง ๆ ส่งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

ปัจจุบัน หากยังต้องการสัมผัสจิตวิญญาณคนส่งนมแบบอังกฤษ ก็เลือกใช้บริการของบริษัทส่งนมรายใหญ่อย่าง ‘Milk & More ที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 50 ปีได้ โดยบริษัทการันตีว่า นมและสินค้าต่าง ๆ จะส่งถึงหน้าประตูบ้านไม่เกิน 7 โมงของวันถัดไป มีสินค้าให้เลือกมากมาย แทบจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตย่อย ๆ ทั้งขนมอบ เครื่องดื่ม ผักผลไม้ อุปกรณ์ทำสวน โดยคัดเลือกสินค้ามาจากซัพพลายเออร์ที่มีแนวทางทำธุรกิจคล้าย ๆ กัน คือแนวทางที่ส่งเสริมความยั่งยืนและใส่ใจกับคุณภาพผลิตภัณฑ์

ที่น่าชื่นชมคือ ที่นี่ยังใช้วิธีดั้งเดิม คือใช้ขวดแก้วบรรจุนม และให้ลูกค้าวางขวดแก้วเปล่าไว้หน้าบ้าน รอให้คนส่งนมมาเก็บ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ

ประวัติศาสตร์เกือบ 400 ปีของอาชีพ ‘คนส่งนม’ และ Keep Calm and Carry On ในอังกฤษ อาชีพอันมีเกียรติที่ยังมีถึงทุกวันนี้
ภาพ : www.milkandmore.co.uk

บนเว็บไซต์ของ Milk & More ยังปรากฏรูปสุดคลาสสิกของวิชาชีพคนส่งนมที่ถ่ายโดย Fred Morley ในปี 1940 ท่ามกลางความยับเยินของสงคราม เคียงคู่กับรูปคนส่งนมในศตวรรษที่ 21 เพื่อบอกว่าอาชีพคนส่งนมจะยังอยู่คู่สังคมอังกฤษต่อไป

เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พวกเขาจะยังคง Keep Calm and Carry On

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม