ในยุคโลกไร้พรมแดนแบบนี้ คุณอาจเคยฝันถึงการไปใช้ชีวิตและทำงานที่มุมอื่นของโลก แต่หลายครั้งการปักหลักในดินแดนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคทางภาษา การต้องแข่งขันหางานทำ รวมถึงการรับมือกับทัศนคติที่คนในประเทศนั้นมีต่อผู้มาใหม่อย่างเรา 

Migrateful’ คือธุรกิจเพื่อสังคมของอังกฤษที่มองเห็นปัญหานี้ และอยากช่วยให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกใหม่ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพ (ย้ายมาแบบสมัครใจ) ผู้ลี้ภัย (ย้ายด้วยเหตุจำเป็น เช่น ภัยสงคราม) หรือผู้ขอลี้ภัย (รอรับสถานะผู้ลี้ภัยอยู่) 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ได้ช่วยคนกลุ่มนี้แบบให้เปล่า แต่ชวนพวกเขามาทำงานที่ได้แสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่

นั่นคือการทำอาหาร

Migrateful ช่วยผู้ลี้ภัยสร้างชีวิตใหม่ ผ่านการเปิดคลาสสอนทำอาหารจากบ้านเกิด

Migrateful ชวนเหล่าผู้ย้ายถิ่นฐานซึ่งชอบเข้าครัวเป็นทุนเดิมมาสวมหมวกเชฟ สอนคนในดินแดนใหม่ทำอาหารจากบ้านเกิดที่จากมา มากกว่าการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ห้องเรียนนี้คือสถานที่เพิ่มพลังและปูทางสู่บ้านใหม่ให้เชฟแต่ละคน

ขอเชิญเปิดประตูห้องเรียนที่อบอวลด้วยกลิ่นหอมจากอาหารนานาชาติ ตั้งแต่ศรีลังกา จาไมกา จนถึงซีเรีย แล้วลิ้มรสเรื่องราวของ Migrateful ไปด้วยกันค่ะ

Migrateful ช่วยผู้ลี้ภัยสร้างชีวิตใหม่ ผ่านการเปิดคลาสสอนทำอาหารจากบ้านเกิด

ห้องเรียนที่เกิดจากการสัมผัสปัญหาจริง

Migrateful ก่อตั้งโดย Jess Thomson หญิงสาวที่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในแนวหน้าเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในหลากหลายพื้นที่ และได้เห็นปัญหาที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ จนเกิดแรงบันดาลใจช่วยพวกเขาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

เจสร่วมเรียนคอร์สของ Year Here แพลตฟอร์มที่ช่วยพัฒนาระบบนิเวศของธุรกิจเพื่อสังคม แล้วจากการได้ทำงานกับกลุ่มผู้ลี้ภัยหญิง ผู้ก่อตั้งก็พบว่าพวกเธอกระตือรือร้นที่จะพูดคุยถึงอาหารจานโปรด

“นั่นคือตอนที่ฉันคิดว่านี่คือทักษะซึ่งพวกเธอทุกคนมี เกือบทุกคนว่างงานเพราะข้อจำกัดทางภาษาและเพราะคุณสมบัติที่มีอยู่ไม่เป็นที่ยอมรับในอังกฤษ นี่เป็นทางที่จะช่วยให้พวกเธอได้มีงานทำ” 

ใน ค.ศ. 2017 Migrateful จึงลืมตาดูโลก แล้วจากห้องเรียนขนาดกะทัดรัดในบ้านของเจส ไอเดียนี้ก็เติบโตเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเต็มตัวที่มีรายละเอียดน่าสนใจอัดแน่น

Migrateful ช่วยผู้ลี้ภัยสร้างชีวิตใหม่ ผ่านการเปิดคลาสสอนทำอาหารจากบ้านเกิด

ห้องเรียนที่ผู้มาใหม่เป็นคุณครู

  พวกเขาตั้งใจช่วยเสริมพลังผู้อพยพและผู้ลี้ภัยให้เข้าสู่บ้านใหม่ได้อย่างราบรื่น ตั้งแต่พัฒนาทักษะ เสริมสร้างความมั่นใจ สร้างรายได้ จนถึงช่วยให้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 

 ก่อนเริ่มคลาสสอนทำอาหาร องค์กรจึงมีโปรแกรมฝึกฝนพวกเขาให้กลายเป็นเชฟเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะภาษา และช่วยให้ผู้ที่เคยสนุกกับการทำอาหารในบ้านกลายเป็นเชฟสอนทำอาหารเต็มตัว 

หลังผ่านการฝึกฝนเรียบร้อย เหล่าเชฟจะมีโอกาสเปิดคลาสสอนทำอาหารจากบ้านเกิดให้ชาวอังกฤษ โดยใครที่มีสิทธิ์ในการทำงานแล้วก็จะได้รับค่าจ้างด้วย คลาสที่ว่านี้มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรียนเป็นกลุ่ม เรียนตัวต่อตัว จนถึงเรียนทางออนไลน์ และทุกคลาสที่เปิดให้จองจะมีคำอธิบายน่าสนใจ ชวนให้ผู้ชอบเข้าครัวและอยากเรียนรู้วัฒนธรรมเข้ามาเปิดโลกร่วมกัน

Migrateful ช่วยผู้ลี้ภัยสร้างชีวิตใหม่ ผ่านการเปิดคลาสสอนทำอาหารจากบ้านเกิด
Migrateful ช่วยผู้ลี้ภัยสร้างชีวิตใหม่ ผ่านการเปิดคลาสสอนทำอาหารจากบ้านเกิด

ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2021 นี้ จะมีคลาสสอนทำอาหารซีเรียโดย เชฟ Lina คุณแม่ลูกสามที่ลี้ภัยสงครามจากบ้านเกิดมาอังกฤษใน ค.ศ. 2017 ลินาหัดทำอาหารมาตั้งแต่อายุ 14 และงานครัวก็กลายเป็นงานอดิเรกที่เธอโปรดปราน ส่วนตัวอย่างอาหารซีเรียที่เธอจะสอนก็เช่น สลัดมันฝรั่งและ Borak ขนมอบซึ่งมีชีสเป็นส่วนประกอบสำคัญ 

นอกจากคลาสสอนทำอาหารแบบนี้ Migrateful ยังมีบริการอีกหลายรูปแบบ ตั้งแต่ไปจัดคลาสกับองค์กรต่างๆ บริการจัดเลี้ยงที่คนร่วมงานจะได้สัมผัสอาหารนานาชาติ ซึ่งทำโดยคนประเทศนั้นตัวจริง หรือช่วงปลายปีที่บรรยากาศคริสต์มาสลอยกรุ่นในอากาศแบบนี้ ผู้ที่สนใจก็จองคลาสเพื่อหัดทำอาหารสำหรับเทศกาลกับเพื่อนร่วมงานได้

คลาสสอนทำอาหารของ Migrateful จึงไม่ใช่แค่ห้องเรียนทั่วไป แต่เป็นพื้นที่แนะนำตัวผู้อพยพและผู้ลี้ภัยกับบ้านหลังใหม่ พื้นที่ซึ่งช่วยให้พวกเขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และพร้อมจะก้าวสู่สังคมอย่างมั่นคงกลมกลืน 

“เมื่อเข้ามาในกลุ่มนี้ เราไม่ได้ถูกเรียกว่าผู้ลี้ภัยหรือผู้ขอรับสิทธิลี้ภัย เราได้รับการเรียกเป็นบุคคล ซึ่งหมายถึงเราได้รับความเคารพ ความรัก และความใส่ใจ” เชฟ Noor จากปากีสถานกล่าวไว้ 

เรื่องราวหลังคลาสสอนทำอาหารจานเด็ดจากบ้านเกิดผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ที่ยกระดับชีวิตคนสอนและเปิดโลกผู้เรียน
เรื่องราวหลังคลาสสอนทำอาหารจานเด็ดจากบ้านเกิดผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ที่ยกระดับชีวิตคนสอนและเปิดโลกผู้เรียน

ห้องเรียนที่กว้างใหญ่ขึ้นทุกวัน

จาก ค.ศ. 2017 ห้องเรียนสอนทำอาหารของ Migrateful ค่อยๆ เติบโตขึ้น และได้รับการตอบรับอย่างดีจากสังคม

ปัจจุบันพวกเขาช่วยสนับสนุนเหล่าเชฟได้ 66 คนจากมากกว่า 30 ประเทศ จัดคลาสไปแล้ว 1,878 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 20,211 คน และ 99.2 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนบอกว่าจะแนะนำคลาสนี้ให้คนอื่นต่อ

“ห้องเรียนนี้เป็นวิธีเพิ่มคุณค่าให้กับการใช้เวลาช่วงเย็น ทั้งการทำและกินอาหารกับผู้คนใหม่ๆ การพูดคุยและเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต อาหาร และวัฒนธรรมของคนอื่น” หนึ่งในผู้ร่วมคลาสสอนทำอาหารรีวิว 

เพราะอย่างนี้ ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Migrateful จะระดมทุนจำนวน 121,554 ยูโร เพื่อสร้างโรงเรียนสอนทำอาหารของตัวเองในลอนดอนได้สำเร็จภายในเดือนเดียว (ก่อนหน้านี้พวกเขาต้องตระเวนจัดคลาสตามสถานที่ต่างๆ) โดยได้เงินไปเกินเป้าที่ตั้งไว้ และมีหนึ่งในผู้สนับสนุนใหญ่คือ Sadiq Khan นายกเทศมนตรีของลอนดอน ซึ่งร่วมลงขันไป 45,000 ยูโร

และขณะที่ตัวธุรกิจเพื่อสังคมนี้เติบโต เหล่าเชฟที่ Migrateful ช่วยเหลือก็ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสวยงาม ตัวอย่างเช่น เชฟ Majeda จากซีเรีย ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นเชฟที่นี่ ก่อนจะได้มีโอกาสเปิดธุรกิจของตัวเองในเวลาต่อมา

Migrateful จึงนับเป็นตัวอย่างของประตูที่ช่วยให้กลุ่มคนที่อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังในสังคมก้าวสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญคือ เป็นการก้าวไปด้วยการใช้ทักษะที่พวกเขาชื่นชอบและเชี่ยวชาญ

คงจะดีถ้ามีประตูเช่นนี้เปิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในสังคม เป็นโอกาสให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพและเติบโตงดงามในแบบของตัวเอง 

เรื่องราวหลังคลาสสอนทำอาหารจานเด็ดจากบ้านเกิดผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ที่ยกระดับชีวิตคนสอนและเปิดโลกผู้เรียน

ข้อมูลอ้างอิง

www.migrateful.org

www.spacehive.com

www.nesta.org.uk

www.theguardian.com

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN