19 กุมภาพันธ์ 2021
2 K

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว พื้นที่สื่อในโลกออนไลน์พูดถึงคนสองกลุ่มมากเป็นพิเศษ

กลุ่มแรกคือ อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุุขประจำหมู่บ้าน กำลังหลักในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคในระดับชุมชน ซึ่งทำงานในระบบอาสาสมัครทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

อีกกลุ่มคือ แรงงานต่างด้าว ที่หลายคนมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา จนมีทัศนคติเชิงลบต่อคนกลุ่มนี้

ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนักในจังหวัดสมุทรสาคร เรามีโอกาสได้พบคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นส่วนผสมของคนทั้งสองกลุ่มข้างต้น คือ เป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย แต่เมื่อมีเวลาว่างก็รับบทบาทเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีมแพทย์พยาบาลเพื่อช่วยกันหยุด COVID-19

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19
อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

พวกเขาทำงานเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลแลแก้ปัญหาสาธารณสุขในระดับชุมชนมาหลายสิบปี มีเครือข่ายอยู่ในหลายจังหวัดที่มีจำนวนชาวต่างด้าวสูง พวกเขาคือคนที่คุณหมอหลายคนยืนยันว่า ถ้าไม่มีคนกลุ่มนี้ ปัญหา COVID-19 ในหลายพื้นที่จะรุนแรงกว่านี้แน่นอน

พวกเขาคือกลุุ่ม อสต. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

อสต. ในสายตาคุณหมอ

นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร อธิบายเรื่อง อสต. ให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า มีหลักการเหมือน อสม. เพียงแต่ตัวอาสาสมัครเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งกลุ่มหลักคือ กลุ่มแรงงานต่างด้าว เริ่มต้นขึ้นราว 20 ปีก่อน โดยมูลนิธิศุภนิมิต ซึ่งทำงานกับแรงงานต่างด้าวมาอย่างยาวนาน แล้วพบว่า ควรสร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ระบบสาธารณสุขเข้าถึงแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ จึงร่างหลักสูตรอบรม อสต. ขึ้น และเริ่มดำเนินงานในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานเดียวกับที่ดูแล อสม.

“อสต. เข้ามาช่วยเติมเต็มการดูแลสาธารณสุุขของพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นสมุทรสาครมีคนไทยห้าแสนคน มีแรงงานต่างชาติสองแสนแปดหมื่นคน การดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้จึงสำคัญมาก เพราะไม่ว่าโรคจะเกิดกับคนกลุุ่มไหน สุุดท้ายก็จะไปถึงคนทุกกลุุ่ม การป้องกันแต่แรกจึงสำคัญมาก” ผูู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาครอธิบาย

การทำงานของ อสม. และ อสต. เป็นแบบจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน แต่ต่างกันตรงที่ อสม. มักจะไม่ได้มีงานประจำ จึงทำงานอาสาได้ตลอด และเป็นคนในพื้นที่ แต่ อสต. เป็นแรงงานที่ทำงานประจำตั้งแต่เช้ายันเย็นสัปดาห์ละ 5 – 6 วัน จึงว่างแค่บางวัน และมาอยู่ในพื้นที่เพราะมาทำงาน เมื่อหมดสัญญาก็จะกลับออกไป จึงต้องจัดหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนอาสาสมัครที่ย้ายออกไป

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19
อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

อสต. ในสายตาอาสาสมัคร

เรามีโอกาสได้คุยกับ เต้ย-ทเว เล (Htwe Lay) อายุุ 23 ปี และ ปาย-แซต ไป อู (Sat Paing Oo) อายุุ 25 ปี สองสมาชิก อสต. ที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร พวกเขาทำงานในโรงงานปลากระป๋องแห่งเดียวกัน และตัดสินใจเรียนภาษาไทยที่วัดป้อมวิเชียรโชติการามเหมือนกัน

“คนพม่าจะบอกกันว่า ที่วัดป้อมฯ มีสอนภาษาไทยวันอาทิตย์ ใช้เวลาประมาณเก้าเดือนถึงหนึ่งปี ใครที่พูดหรืออ่านเขียนไทยไม่ได้ก็จะมาเรียนกัน รุ่นหนึ่งหลายร้อยคน” เต้ยพูดถึงเหตุผลที่เขานัดเราคุุยที่วัดป้อมฯ เขาเล่าต่อว่า พอเรียนจบ อ่านเขียนภาษาไทยได้คล่องแล้ว ตอนนี้พวกเขากำลังเรียน กศน. ในระดับมัธยมปลายร่วมกับชาวไทย ด้วยความตั้งใจว่า ถ้ามีวุฒิมัธยมปลายก็จะได้งาน และมีอนาคตที่ดีขึ้น

ที่นี่เป็นสถานที่รวมตัวของชาวต่างด้าวที่อยากพัฒนาตัวเองซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นถ้าหากหน่วยงานไหนอยากติดต่อกับคนกลุ่มนี้ นี่คือช่องทางที่ดีที่สุด โรงพยาบาลสมุทรสาครก็เลยใช้ช่องทางนี้ในการประกาศหาและจัดอบรม อสต.

ถ้าใครคิดว่าแรงงานต่างด้าวมีเป้าหมายเดียวในชีวิตคือ ทำงานเก็บเงิน โดยไม่สนใจสิ่งอื่น คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่

“พออ่านออกเขียนได้ เขาก็ให้ความรูุ้เรื่องเกี่ยวกับสุุขภาพ ต้องดูแลสุขภาพยังไง เรียนทุกวันอาทิตย์ สามเดือน ดีสำหรับเราด้วย เพราะเรียนจบมาก็ช่วยดูแลครอบครัว ดูแลเพื่อนเราได้” ปายพูดถึงเหตุผลที่ทำให้เขายอมสละเวลาวันหยุุดมาอบรม

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

เมื่อจบหลักสูตรแล้ว อาสาสมัครจะมีความรู้เรื่องอนามัยพื้นฐาน ช่วยเป็นล่ามให้หมอได้ ช่วยสอนเรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ พวกเขาจะใช้เวลาว่างลงพื้นที่ไปพบพี่น้องชาวต่างด้าวในพื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึง เพราะติดข้อจำกัดด้านภาษาและความไว้วางใจ พวกเขาจะไปถามปัญหาด้านสุขภาพ แล้วให้คำแนะนำ รวมไปถึงงานเก็บข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลเด็ก ดูเรื่องลูกน้ำ ยุงลาย ชวนคนท้องไปฝากครรภ์ บอกพ่อแม่ให้พาลููกไปฉีดวัคซีน และเก็บตัวเลขที่จำเป็นกลับมาให้เจ้าหน้าที่

ถ้าป่วยเกินกว่าจะรักษาได้ ก็ต้องพาไปหาหมอ แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มีประกันสุขภาพอยู่แล้ว แต่พวกเขาอาจไม่ทราบสิทธิ์ที่ได้รับ พอพูดภาษาไทยไม่ได้ ก็มีความกลัวไปหมด อสต.จึงมีหน้าที่เข้าไปให้ความเข้าใจ สลายความกลัวเหล่านี้ และบางคนก็ไปหาหมอมาแล้ว แต่ฟังที่หมออธิบายไม่เข้าใจทั้งหมด อสต. จึงต้องช่วยแปลให้ฟัง

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

ทีมเดียวกัน

อสต. มีข้อจำกัดด้านเวลาการอบรมและการทำงานสูงมาก การชักชวนให้คนมาเป็น อสต. จึงไม่ใช่งานง่าย แต่ก็ไม่ใช่งานยาก

“ไม่ว่าเป็นคนชาติไหน จะยากดีมีจนแบบไหน ก็มีจิตอาสากันทั้งนั้น” นายแพทย์อนุกูลพูดถึงหัวใจของโครงการ แล้วอธิบายต่อว่า กลยุทธ์สำคัญอีกอย่างในการชวนคนมาเป็น อสต. คือ การทำให้ทุกคนรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม นั่นก็คือการแจกเสื้อทีม หมวกเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทีม หรือการให้ยืมเครื่องมือบางอย่างออกไปตรวจสุุขภาพได้

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

โรงพยาบาลสมุทรสาครมีคนต่างชาติเป็นผู้ใช้บริการเยอะมาก มาคลอดปีละ 7,000 คน จึงมีการจ้างล่ามกว่า 20 คน เพื่อช่วยสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย โรงพยาบาลจึงชักชวนล่ามกลุ่มนี้ให้เป็นอาสาสมัคร และช่วยชักชวนคนอื่นต่อ ช่วยแปล ช่วยอบรม และช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพราะสื่อสารได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ชาวไทย

นายแพทย์อนุกูลพูดถึงนวัตกรรมสำคัญที่ช่วยให้การทำงานระหว่างโรงพยาบาลกับ อสต. ราบรื่น เป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลพัฒนาขึ้นในช่วง COVID-19 เมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้มีการนำไปใช้ทั่วประเทศ นั่นก็คือ การทำแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ อสต. สื่อสารข้อมูลจากการลงพื้นที่ให้โรงพยาบาลทราบ อาสาสมัครพิมพ์รายงานผลเป็นภาษาพม่า และระบบจะแปลให้ทางโรงพยาบาลอ่านผลเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

กำลังกายและกำลังใจในช่วง COVID-19

ในช่วง COVID-19 อสต. มีบทบาทที่สำคัญมากในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนต่างด้าวเรื่องการป้องกันตัวเอง

“การระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นตามชุมชนเป็นส่วนใหญ่ เราต้องตั้งโรงพยาบาลสนาม นำผู้ป่วยเจ็ดร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติไปรวมกัน เราต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยป้องกันบุุคลากรทางการแพทย์ คือให้ผู้ป่วยด้านในสื่อสารกับแพทย์ด้านนอกผ่านหุ่นยนต์ที่มีจอ ล่ามต้องอยู่กับหมอตลอดเวลา นั่นหมายความว่า ล่ามจะอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ” คุณหมออนุกูลเล่า

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

“ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ เราจึงเกิดแนวคิดว่า ระหว่างการรักษาตัว เราชวนคนที่พูดภาษาไทยได้มาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข เป็น อสต. ใส่หมวกเขียว ทุกเย็นจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรม ทำให้ได้จำนวน อสต. เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ อสต. กลุ่มนี้จะช่วยดูแลผู้ติดเชื้อภายในอาคาร ช่วยสื่อสารกับแพทย์ด้วยการพาผู้ติดเชื้อมาที่หน้าจอของหุ่นยนต์ เมื่อหายออกมาแล้ว เขาก็ช่วยสื่อสารกับกลุ่มแรงงานต่างชาติได้”

ระบบ อสต. ในจังหวัดสมุทรสาครนั้นมีประสิทธิภาพมาก จนผู้ว่าราชการจังหวัดออกนโยบายเร่งผลิต อสต. เพิ่ม ขอความร่วมมือให้ทุกบริษัทที่มีแรงงานต่างชาติ ส่งพนักงานมาอบรม ให้ได้สัดส่วน อสต. อย่างน้อย 1 คนต่อจำนวนคนต่างด้าว 100 คน

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19
อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

คุณค่าของชีวิต

“การทำงาน อสต. เป็นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหมดอายุ เราอยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ถ้าเปิดอบรมรุุ่นใหม่ อาจารย์มาสอนอีก เราก็มาช่วยเป็นล่าม ช่วยอาจารย์ ช่วยพูดกับรุ่นน้อง ช่วยทั้งเรื่องภาษาและช่วยให้เขาไม่กลัว มันทำให้เราได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มด้วย” เต้ยพูดถึงความตั้งใจในอนาคต

ส่วนนายแพทย์อนุกูลก็พูดถึงคุณค่าของ อสต. ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นความสำคัญว่า “ไม่ว่าคนชาติไหนก็ไม่มีใครอยากเป็นต้นเหตุของปัญหา เราไม่ต้องไปหาหรอกว่าใครเป็นต้นเหตุ เพราะมีคนเป็นต้นเหตุมากมาย สิ่งสำคัญคือการป้องกันตัวเอง อสต. มีความสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้โรคติดต่อเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ COVID-19 แต่โรคติดต่อทุุกอย่าง พวกเขาเป็นเหมือนเขื่อนที่ไปช่วยกั้นน้ำไว้ ถ้าไม่มีคนกลุุ่มนี้ ปัญหาจะร้ายแรงกว่านี้มาก”

ปายทิ้งท้ายด้วยคำถามที่หลายคนคงสงสัยว่า พวกเขาได้อะไรจากการมาเป็นอาสาสมัครที่ทั้งเหนื่อย ค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับ

“เราอยากเรียนรู้เพิ่มเติม พอได้เรียนก็คุ้มค่า ได้แบ่งปัน ถ้าเราช่วยได้ก็อยากช่วย มันเหนื่อยนะ แต่เวลาที่เขาหายแล้ว ความเหนื่อยกลายเป็นความดีใจ ภูมิใจในตัวเองว่าเราก็ทำได้”

อสต. กลุ่มคนต่างด้าวในสมุทรสาคร ฮีโร่อาสาสมัครสาธารณสุขสู้ COVID-19

ภาพ : โครงการบันทึกประวัติศาสตร์โควิด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ช่างภาพ : บัณฑิต โชติสุวรรณ และเริงฤทธิ์ คงเมือง, โรงพยาบาลสมุทรสาคร

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป