ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว พื้นที่สื่อในโลกออนไลน์พูดถึงคนสองกลุ่มมากเป็นพิเศษ
กลุ่มแรกคือ อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุุขประจำหมู่บ้าน กำลังหลักในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคในระดับชุมชน ซึ่งทำงานในระบบอาสาสมัครทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
อีกกลุ่มคือ แรงงานต่างด้าว ที่หลายคนมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา จนมีทัศนคติเชิงลบต่อคนกลุ่มนี้
ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนักในจังหวัดสมุทรสาคร เรามีโอกาสได้พบคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นส่วนผสมของคนทั้งสองกลุ่มข้างต้น คือ เป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย แต่เมื่อมีเวลาว่างก็รับบทบาทเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีมแพทย์พยาบาลเพื่อช่วยกันหยุด COVID-19


พวกเขาทำงานเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลแลแก้ปัญหาสาธารณสุขในระดับชุมชนมาหลายสิบปี มีเครือข่ายอยู่ในหลายจังหวัดที่มีจำนวนชาวต่างด้าวสูง พวกเขาคือคนที่คุณหมอหลายคนยืนยันว่า ถ้าไม่มีคนกลุ่มนี้ ปัญหา COVID-19 ในหลายพื้นที่จะรุนแรงกว่านี้แน่นอน
พวกเขาคือกลุุ่ม อสต. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว

อสต. ในสายตาคุณหมอ
นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร อธิบายเรื่อง อสต. ให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า มีหลักการเหมือน อสม. เพียงแต่ตัวอาสาสมัครเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งกลุ่มหลักคือ กลุ่มแรงงานต่างด้าว เริ่มต้นขึ้นราว 20 ปีก่อน โดยมูลนิธิศุภนิมิต ซึ่งทำงานกับแรงงานต่างด้าวมาอย่างยาวนาน แล้วพบว่า ควรสร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ระบบสาธารณสุขเข้าถึงแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ จึงร่างหลักสูตรอบรม อสต. ขึ้น และเริ่มดำเนินงานในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานเดียวกับที่ดูแล อสม.
“อสต. เข้ามาช่วยเติมเต็มการดูแลสาธารณสุุขของพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นสมุทรสาครมีคนไทยห้าแสนคน มีแรงงานต่างชาติสองแสนแปดหมื่นคน การดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้จึงสำคัญมาก เพราะไม่ว่าโรคจะเกิดกับคนกลุุ่มไหน สุุดท้ายก็จะไปถึงคนทุกกลุุ่ม การป้องกันแต่แรกจึงสำคัญมาก” ผูู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาครอธิบาย
การทำงานของ อสม. และ อสต. เป็นแบบจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน แต่ต่างกันตรงที่ อสม. มักจะไม่ได้มีงานประจำ จึงทำงานอาสาได้ตลอด และเป็นคนในพื้นที่ แต่ อสต. เป็นแรงงานที่ทำงานประจำตั้งแต่เช้ายันเย็นสัปดาห์ละ 5 – 6 วัน จึงว่างแค่บางวัน และมาอยู่ในพื้นที่เพราะมาทำงาน เมื่อหมดสัญญาก็จะกลับออกไป จึงต้องจัดหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนอาสาสมัครที่ย้ายออกไป


อสต. ในสายตาอาสาสมัคร
เรามีโอกาสได้คุยกับ เต้ย-ทเว เล (Htwe Lay) อายุุ 23 ปี และ ปาย-แซต ไป อู (Sat Paing Oo) อายุุ 25 ปี สองสมาชิก อสต. ที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร พวกเขาทำงานในโรงงานปลากระป๋องแห่งเดียวกัน และตัดสินใจเรียนภาษาไทยที่วัดป้อมวิเชียรโชติการามเหมือนกัน
“คนพม่าจะบอกกันว่า ที่วัดป้อมฯ มีสอนภาษาไทยวันอาทิตย์ ใช้เวลาประมาณเก้าเดือนถึงหนึ่งปี ใครที่พูดหรืออ่านเขียนไทยไม่ได้ก็จะมาเรียนกัน รุ่นหนึ่งหลายร้อยคน” เต้ยพูดถึงเหตุผลที่เขานัดเราคุุยที่วัดป้อมฯ เขาเล่าต่อว่า พอเรียนจบ อ่านเขียนภาษาไทยได้คล่องแล้ว ตอนนี้พวกเขากำลังเรียน กศน. ในระดับมัธยมปลายร่วมกับชาวไทย ด้วยความตั้งใจว่า ถ้ามีวุฒิมัธยมปลายก็จะได้งาน และมีอนาคตที่ดีขึ้น
ที่นี่เป็นสถานที่รวมตัวของชาวต่างด้าวที่อยากพัฒนาตัวเองซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นถ้าหากหน่วยงานไหนอยากติดต่อกับคนกลุ่มนี้ นี่คือช่องทางที่ดีที่สุด โรงพยาบาลสมุทรสาครก็เลยใช้ช่องทางนี้ในการประกาศหาและจัดอบรม อสต.
ถ้าใครคิดว่าแรงงานต่างด้าวมีเป้าหมายเดียวในชีวิตคือ ทำงานเก็บเงิน โดยไม่สนใจสิ่งอื่น คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่
“พออ่านออกเขียนได้ เขาก็ให้ความรูุ้เรื่องเกี่ยวกับสุุขภาพ ต้องดูแลสุขภาพยังไง เรียนทุกวันอาทิตย์ สามเดือน ดีสำหรับเราด้วย เพราะเรียนจบมาก็ช่วยดูแลครอบครัว ดูแลเพื่อนเราได้” ปายพูดถึงเหตุผลที่ทำให้เขายอมสละเวลาวันหยุุดมาอบรม

เมื่อจบหลักสูตรแล้ว อาสาสมัครจะมีความรู้เรื่องอนามัยพื้นฐาน ช่วยเป็นล่ามให้หมอได้ ช่วยสอนเรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ พวกเขาจะใช้เวลาว่างลงพื้นที่ไปพบพี่น้องชาวต่างด้าวในพื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึง เพราะติดข้อจำกัดด้านภาษาและความไว้วางใจ พวกเขาจะไปถามปัญหาด้านสุขภาพ แล้วให้คำแนะนำ รวมไปถึงงานเก็บข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลเด็ก ดูเรื่องลูกน้ำ ยุงลาย ชวนคนท้องไปฝากครรภ์ บอกพ่อแม่ให้พาลููกไปฉีดวัคซีน และเก็บตัวเลขที่จำเป็นกลับมาให้เจ้าหน้าที่
ถ้าป่วยเกินกว่าจะรักษาได้ ก็ต้องพาไปหาหมอ แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มีประกันสุขภาพอยู่แล้ว แต่พวกเขาอาจไม่ทราบสิทธิ์ที่ได้รับ พอพูดภาษาไทยไม่ได้ ก็มีความกลัวไปหมด อสต.จึงมีหน้าที่เข้าไปให้ความเข้าใจ สลายความกลัวเหล่านี้ และบางคนก็ไปหาหมอมาแล้ว แต่ฟังที่หมออธิบายไม่เข้าใจทั้งหมด อสต. จึงต้องช่วยแปลให้ฟัง

ทีมเดียวกัน
อสต. มีข้อจำกัดด้านเวลาการอบรมและการทำงานสูงมาก การชักชวนให้คนมาเป็น อสต. จึงไม่ใช่งานง่าย แต่ก็ไม่ใช่งานยาก
“ไม่ว่าเป็นคนชาติไหน จะยากดีมีจนแบบไหน ก็มีจิตอาสากันทั้งนั้น” นายแพทย์อนุกูลพูดถึงหัวใจของโครงการ แล้วอธิบายต่อว่า กลยุทธ์สำคัญอีกอย่างในการชวนคนมาเป็น อสต. คือ การทำให้ทุกคนรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม นั่นก็คือการแจกเสื้อทีม หมวกเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทีม หรือการให้ยืมเครื่องมือบางอย่างออกไปตรวจสุุขภาพได้

โรงพยาบาลสมุทรสาครมีคนต่างชาติเป็นผู้ใช้บริการเยอะมาก มาคลอดปีละ 7,000 คน จึงมีการจ้างล่ามกว่า 20 คน เพื่อช่วยสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย โรงพยาบาลจึงชักชวนล่ามกลุ่มนี้ให้เป็นอาสาสมัคร และช่วยชักชวนคนอื่นต่อ ช่วยแปล ช่วยอบรม และช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพราะสื่อสารได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ชาวไทย
นายแพทย์อนุกูลพูดถึงนวัตกรรมสำคัญที่ช่วยให้การทำงานระหว่างโรงพยาบาลกับ อสต. ราบรื่น เป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลพัฒนาขึ้นในช่วง COVID-19 เมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้มีการนำไปใช้ทั่วประเทศ นั่นก็คือ การทำแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ อสต. สื่อสารข้อมูลจากการลงพื้นที่ให้โรงพยาบาลทราบ อาสาสมัครพิมพ์รายงานผลเป็นภาษาพม่า และระบบจะแปลให้ทางโรงพยาบาลอ่านผลเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ

กำลังกายและกำลังใจในช่วง COVID-19
ในช่วง COVID-19 อสต. มีบทบาทที่สำคัญมากในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนต่างด้าวเรื่องการป้องกันตัวเอง
“การระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นตามชุมชนเป็นส่วนใหญ่ เราต้องตั้งโรงพยาบาลสนาม นำผู้ป่วยเจ็ดร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติไปรวมกัน เราต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยป้องกันบุุคลากรทางการแพทย์ คือให้ผู้ป่วยด้านในสื่อสารกับแพทย์ด้านนอกผ่านหุ่นยนต์ที่มีจอ ล่ามต้องอยู่กับหมอตลอดเวลา นั่นหมายความว่า ล่ามจะอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ” คุณหมออนุกูลเล่า

“ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ เราจึงเกิดแนวคิดว่า ระหว่างการรักษาตัว เราชวนคนที่พูดภาษาไทยได้มาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข เป็น อสต. ใส่หมวกเขียว ทุกเย็นจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรม ทำให้ได้จำนวน อสต. เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ อสต. กลุ่มนี้จะช่วยดูแลผู้ติดเชื้อภายในอาคาร ช่วยสื่อสารกับแพทย์ด้วยการพาผู้ติดเชื้อมาที่หน้าจอของหุ่นยนต์ เมื่อหายออกมาแล้ว เขาก็ช่วยสื่อสารกับกลุ่มแรงงานต่างชาติได้”
ระบบ อสต. ในจังหวัดสมุทรสาครนั้นมีประสิทธิภาพมาก จนผู้ว่าราชการจังหวัดออกนโยบายเร่งผลิต อสต. เพิ่ม ขอความร่วมมือให้ทุกบริษัทที่มีแรงงานต่างชาติ ส่งพนักงานมาอบรม ให้ได้สัดส่วน อสต. อย่างน้อย 1 คนต่อจำนวนคนต่างด้าว 100 คน


คุณค่าของชีวิต
“การทำงาน อสต. เป็นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหมดอายุ เราอยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ถ้าเปิดอบรมรุุ่นใหม่ อาจารย์มาสอนอีก เราก็มาช่วยเป็นล่าม ช่วยอาจารย์ ช่วยพูดกับรุ่นน้อง ช่วยทั้งเรื่องภาษาและช่วยให้เขาไม่กลัว มันทำให้เราได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มด้วย” เต้ยพูดถึงความตั้งใจในอนาคต
ส่วนนายแพทย์อนุกูลก็พูดถึงคุณค่าของ อสต. ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นความสำคัญว่า “ไม่ว่าคนชาติไหนก็ไม่มีใครอยากเป็นต้นเหตุของปัญหา เราไม่ต้องไปหาหรอกว่าใครเป็นต้นเหตุ เพราะมีคนเป็นต้นเหตุมากมาย สิ่งสำคัญคือการป้องกันตัวเอง อสต. มีความสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้โรคติดต่อเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ COVID-19 แต่โรคติดต่อทุุกอย่าง พวกเขาเป็นเหมือนเขื่อนที่ไปช่วยกั้นน้ำไว้ ถ้าไม่มีคนกลุุ่มนี้ ปัญหาจะร้ายแรงกว่านี้มาก”
ปายทิ้งท้ายด้วยคำถามที่หลายคนคงสงสัยว่า พวกเขาได้อะไรจากการมาเป็นอาสาสมัครที่ทั้งเหนื่อย ค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับ
“เราอยากเรียนรู้เพิ่มเติม พอได้เรียนก็คุ้มค่า ได้แบ่งปัน ถ้าเราช่วยได้ก็อยากช่วย มันเหนื่อยนะ แต่เวลาที่เขาหายแล้ว ความเหนื่อยกลายเป็นความดีใจ ภูมิใจในตัวเองว่าเราก็ทำได้”

ภาพ : โครงการบันทึกประวัติศาสตร์โควิด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ช่างภาพ : บัณฑิต โชติสุวรรณ และเริงฤทธิ์ คงเมือง, โรงพยาบาลสมุทรสาคร