“สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา”

ประโยคคลาสสิกที่เจ้าชายน้อยกล่าวไว้นี้ อาจหมายความรวมถึงจุลินทรีย์ด้วยก็เป็นได้

คำว่าจุลินทรีย์หรือจุลชีพ คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วที่หลายชนิดเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ตั้งแต่แบคทีเรียไปจนถึงเห็ดรา ซึ่งแม้จะมองไม่เห็น แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นล้วนมีบทบาทสำคัญต่อเราและโลก

ในกิจกรรม Earth Appreciation ลำดับที่ 9 นี้ เราจะพาไปสำรวจจักรวาลมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วเหล่านี้กัน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมลำดับสุดท้ายของซีรีส์เรียนรู้ธรรมชาติผ่านสวนเบญจกิติที่ The Cloud ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ในการจัดกิจกรรมพิเศษ 5 ครั้ง เพื่อชวนคนเมืองละสายตาจากหน้าจอมือถือ มาสัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติในสวนแนวคิดใหม่กลางเมือง 

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง

บุคคลสำคัญที่ช่วยออกแบบกิจกรรมทั้ง 5 ครั้ง และมาเป็นวิทยากรของเราวันนี้ ก็คือนักสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติคนสำคัญของประเทศไทย นั่นคือ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ดร.อ้อย อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว เจ้าของพื้นที่ชุ่มน้ำนูนีนอย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่เธอได้ฟื้นฟูไว้เพื่อให้เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมธรรมชาติศึกษาสำหรับเด็ก ๆ ที่ยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักสืบสายลม นักสืบสายน้ำ นักสืบชายหาด

และวันนี้ เราจะมาเรียนรู้หนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้น นั่นก็คือ นักสืบสายลม

ตรวจสุขภาพปอดของเมือง

หากเดินไปถามผู้คนตามท้องถนน คงมีคนไม่มากนักที่จะรู้จักคำว่า ‘ไลเคน’

“ไลเคนคือรากับสาหร่ายที่มาอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นเหมือนหุ้นส่วนธุรกิจ สาหร่ายมีคลอโรฟิลล์สังเคราะห์แสงได้ ก็ทำหน้าที่เหมือนแม่ครัวสร้างอาหารและแบ่งให้รา ส่วนราคือเจ้าของบ้าน มีเส้นใยถักทอห่อหุ้มสาหร่าย ปกป้องสาหร่ายจากสารพัดอย่าง ทำให้ไลเคนขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ป่าเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตร เขตทุนดราใกล้ขั้วโลก ไปจนถึงทะเลทราย ไลเคนทนความแห้งแล้งได้ แต่อย่างเดียวที่มันไม่ทนก็คือมลภาวะ” ดร.อ้อย แนะนำให้ทุกคนรู้จักสิ่งมีชีวิตสุดพิเศษที่ชื่อไลเคน  

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง
ไลเคนชื่อ ร้อยเหรียญ

ด้วยความที่ไลเคนไม่ทนมลภาวะนี้เอง ทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือบ่งชี้คุณภาพอากาศ เพราะไลเคนแต่ละชนิดมีความทนทานต่อมลพิษในระดับต่างกัน บางชนิดมีความอ่อนไหวสูง เจอมลพิษแค่นิดเดียวก็อยู่ไม่ได้แล้ว ทำให้ถ้าเจอไลเคนกลุ่มนี้ที่ไหน ก็ดีใจได้ว่าที่นั่นมีอากาศที่บริสุทธิ์ บางชนิดค่อนข้างทนทาน ทนมลพิษได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเจอไลเคนกลุ่มนี้เป็นหลักก็แปลว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับพอใช้ แต่ถ้าที่ไหนเจอไลเคนกลุ่มที่ทนทานสูงเป็นหลัก ก็แปลได้ว่าคุณภาพอากาศเข้าขั้นน่าเป็นห่วง ยิ่งถ้าไม่เจอไลเคนสักชนิด ก็อาจแปลได้ว่าสุขภาพปอดของเมืองควรพบคุณหมอได้แล้ว  

ในคู่มือ ‘นักสืบสายลม’ ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิโลกสีเขียว ได้แบ่งไลเคนตามระดับความทนทานต่อมลพิษเป็น 4 ระดับ คือ กลุ่มทนทานสูง (อากาศแย่) กลุ่มทนทานปานกลาง (อากาศพอใช้) กลุ่มอ่อนไหว (อากาศดี) และกลุ่มอ่อนไหวมาก (อากาศบริสุทธิ์ดีมาก) ซึ่งกลุ่มหลังนี้พบเฉพาะในเขตป่าเขาเท่านั้น  

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง

ความสนุกของการดูไลเคนก็คือ นอกจากเราจะได้เล่นบทนักสืบแล้ว ยังทำให้เราได้มองโลกในมุมที่ต่างออกไป เป็นการมองโลกในรายละเอียด มองให้เห็นความสวยงามของสิ่งเล็ก ๆ ที่ก่อนหน้านี้เราอาจเคยมองข้าม เพียงแค่ต้นไม้ต้นเดียวก็อาจมีอะไรให้ดูได้เป็นชั่วโมง ซึ่ง ดร.อ้อย เปรียบว่า เหมือนการดำน้ำดูปะการังบนผิวของต้นไม้

“หน้าตาของไลเคนมีหลากหลายมาก บางชนิดเหมือนคุกกี้ทาร์ตที่มีแยมตรงกลาง บางชนิดเหมือนลิปสติก บางชนิดก็เหมือนถ้วยแชมเปญ” ดร.อ้อย แสดงภาพไลเคนอันหลากหลายให้ดู ซึ่งทั่วโลกมีรวมแล้วหลายหมื่นชนิด มีทั้งขึ้นบนก้อนหิน กำแพง หลังคาบ้าน แม้แต่บนถนน แต่ที่เห็นได้ง่ายที่สุดและเป็นที่ที่เราจะตามหากันวันนี้ ก็คือไลเคนที่ขึ้นบนต้นไม้   

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง
ความหลากหลายของไลเคนทั่วโลก

ทีมงานเริ่มแจกคู่มือนักสืบสายลม ที่เป็นคู่มือการจำแนกไลเคนในเมืองแบบง่าย ๆ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพอากาศ พร้อมอุปกรณ์สำคัญของการสำรวจที่ ดร.อ้อย เรียกว่า ‘ตาวิเศษ’ นั่นก็คือแว่นขยาย

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง

“การจำแนกไลเคน เราจะเริ่มจากดูลักษณะรวม ๆ ก่อนว่า รูปร่างของมันเป็นแบบไหน เป็นผืนเป็นดวง เป็นใบ หรือเป็นพุ่ม” ดร.อ้อย ชวนให้เราเปิดหน้าแรกของคู่มือ ซึ่งมีภาพของไลเคนกลุ่มต่าง ๆ อยู่ ซึ่งแต่ละภาพก็จะมีเลขหน้าเพื่อให้เราเข้าไปดูรายละเอียด โดยจะบอกจุดเด่นรวมถึงคู่แฝดที่หน้าตาคล้ายกันเอาไว้

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง

แต่ก่อนที่เราจะจำแนกไลเคนได้ ต้องรู้ก่อนว่าอะไรที่ไม่ใช่ไลเคน อย่างแรกก็คือรา วิธีแยกความแตกต่างทำได้ง่าย ๆ โดยใช้เล็บขูดเบา ๆ เป็นบริเวณเล็ก ๆ ถ้าเห็นสีเขียวข้างใต้ แปลว่านั่นคือไลเคน เพราะมีสาหร่ายอยู่ร่วมด้วย ถ้าไม่มีก็แปลว่าเป็นแค่ราอย่างเดียว สิ่งมีชีวิตต่อมาที่อาจดูคล้ายไลเคนก็คือสาหร่ายหรือตะไคร่ ถ้าใช้แว่นขยายส่องดูใกล้ ๆ จะเห็นเป็นเส้นสายสีเขียว ส่วนพืชจิ๋วอย่างมอส เราจะเห็นเป็นใบเล็ก ๆ มีเส้นกลางใบ ส่วนลิเวอร์เวิร์ตจะเป็นแผ่นหยัก ถ้าใช้แว่นขยายส่องจะเห็นเป็นจุดพรุน

การสำรวจวันนี้เราแบ่งเป็น 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะสำรวจไลเคนบนต้นไม้ 1 ต้น พร้อมจดบันทึกชนิดไลเคนที่เจอบนต้นนั้น ซึ่งเราสำรวจในสวนเฟสเก่า เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่อยู่มานาน ทำให้เป็นไลเคนที่บ่งบอกคุณภาพอากาศของที่นี่ได้ ขณะที่ต้นไม้ที่เพิ่งปลูกในสวนเฟสใหม่ อาจเป็นไลเคนที่ติดมาตั้งแต่อยู่ที่โรงเพาะชำต่างจังหวัด

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง

เมื่อปฏิบัติการนักสืบสายลมเริ่มขึ้น เด็ก ๆ ก็วิ่งนำไปส่องไลเคนก่อนใคร ความท้าทายของการจำแนกก็คือ การต้องสังเกตรายละเอียด เพราะหลายชนิดมีคู่แฝดที่หน้าตาคล้ายกัน เช่น ไลเคนกลุ่มที่เป็นผืนสีเขียวมีใบ ถ้าขอบใบเผยอขึ้น ก็คือ ‘สาวน้อยกระโปรงบานบางกอก’ แต่ถ้าขอบใบแนบชิดไปกับลำต้น ก็ต้องสังเกตต่อว่า แผ่นใบแผ่ออกแบน ๆ หรือเบียดชิดเป็นลอนนูน ถ้าเป็นแบบแรกก็คือ ‘หัตถ์ทศกัณฑ์กุมน้ำแข็ง’ แต่ถ้าเป็นแบบหลังก็คือ ‘ริ้วแพร’ ซึ่ง ดร.อ้อย บอกว่าให้นึกถึงผ้าแพรที่มีรอยจีบซ้อนกันเป็นริ้ว

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง
ชื่อไลเคนจากซ้ายไปขวา : สาวน้อยกระโปรงบานบางกอก – หัตถ์ทศกัณฑ์กุมน้ำแข็ง – ริ้วแพร

ส่วนกลุ่มไลเคนที่เป็นก้อนนูนสีเหลือง เมื่อส่องดูจะเห็นว่ามีรูเล็ก ๆ มากมาย ดร.อ้อย ชวนให้สังเกตว่า ถ้าเป็น ‘หนึ่งผลหนึ่งรู’ ที่ดูเหมือนปากปล่องภูเขาไฟหรือไหกระเทียมดอง นั่นก็คือ ‘ไหทองโรยขมิ้น’ ส่วน ‘ผลรวม- 1 ก้อนหลายรู’ เป็นไลเคนที่ชื่อว่า ‘ร้อยรู’

“คำว่า ‘ผล’ ก็คืออับสปอร์ของมัน ไลเคนขยายพันธุ์ด้วยสปอร์และการแตกหน่อ ซึ่งลักษณะของหน่อก็จะใช้จำแนกได้ด้วย บางชนิดแตกหน่อเป็นแท่งยาว ๆ บางชนิดเป็นแท่งสั้น ๆ บางชนิดเป็นเหมือนผงแป้ง บางชนิดเป็นกิ่ง”

ส่วนลักษณะของผลหรืออับสปอร์ก็มีหลากหลาย บางชนิดเหมือนปากปล่องภูเขาไฟ เช่น พริกไทยร้อยเม็ด บางชนิดเหมือนจานขนม เช่น ร้อยเหรียญ บางชนิดเป็นลายเส้น เช่น หลังตุ๊กแก แม้แต่ระดับความจมความลอยของผลก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือจำแนกได้ เช่น ถ้าเป็นผลสีดำและกึ่ง ๆ จมอยู่ในผืนไลเคนสีเทาก็คือ ‘สิวหัวช้างจิ๋ว’ แต่ถ้าเป็นผลสีดำบนผืนไลเคนสีเขียว ลอยอยู่เหมือนมีใครเอาผลไปแปะไว้ ก็คือ ‘ไฝพระอินทร์’

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง
แถวบนจากซ้ายไปขวา : ไหทองโรยขมิ้น – ร้อยรู แถวล่าง : พริกไทยร้อยเม็ด – สาคูถั่วดำ

 หลายคนประทับใจกับชื่อภาษาไทยของไลเคน ซึ่งในยุคแรกตั้งโดยภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ชอบตั้งชื่อตามตัวละครในวรรณคดี จากนั้นเมื่อทีมมูลนิธิโลกสีเขียวมาพัฒนาคู่มือนักสืบสายลมจึงมีการตั้งชื่อเพิ่มเติม ซึ่งทีมนี้เป็นสายขนม ชื่อไลเคนจึงมีทั้งสาคูถั่วดำ โดรายากิ ไปจนถึงซ่าหริ่มน้ำกะทิ (ที่ตั้งมาตั้งแต่ก่อนยุคการเมืองแบ่งขั้ว)

 “ชื่อโดรายากิเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรุ่น ตอนแรกก่อนจะเป็นชื่อนี้ เราเสนอชื่อขนมโบราณไป เด็ก ๆ รุ่นใหม่ก็ไม่รู้จัก พอน้อง ๆ เขาเสนอชื่อมาบ้าง ก็เป็นขนมที่เราไม่รู้จัก เลยได้มาเป็นโดรายากิของโดราเอมอนที่เป็นจุดเชื่อมต่อของคน 2 รุ่น” ดร.อ้อย เล่าเกร็ดสนุก ๆ ของการตั้งชื่อ  

 เมื่อทุกทีมสำรวจเสร็จสิ้น ทีมงานก็จดบันทึกข้อมูลชนิดไลเคนที่พบในตารางแบบฟอร์ม โดยไลเคน 1 ชนิดที่แต่ละกลุ่มพบจะนับเป็น 1 ครั้ง ซึ่งได้ผลสรุปว่า พบกลุ่มทนทานสูง 20 ครั้ง กลุ่มทนทานปานกลาง 31 ครั้ง จากไลเคนทั้งหมด 12 ชนิด ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ที่นี่มีอากาศพอใช้

 “เราไม่เคยสำรวจเจอไลเคนกลุ่มอากาศดีในกรุงเทพฯ เลย แต่เราก็ใส่ไว้ในคู่มือ เพราะหวังว่าสักวันเราจะไปถึงจุดที่มีไลเคนกลุ่มนี้ในเมืองได้” ดร.อ้อย เล่าจากประสบการณ์ที่ทีมมูลนิธิโลกสีเขียวสำรวจไลเคนในเมืองกรุงมานับสิบปี

บนแผนที่ที่ ดร.อ้อย แสดงให้ดู คือผลการสำรวจไลเคนที่สวนลุมพินีในปีต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นว่า สิ่งที่เหมือนกันของผลสำรวจในทุกปีก็คือ ตรงใจกลางของสวนมีคุณภาพอากาศดีกว่าริมขอบสวนที่ติดถนน และฝั่งที่ติดถนนวิทยุมีคุณภาพอากาศดีกว่าฝั่งที่ติดถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นข้อยืนยันว่า ต้นไม้ริมถนนช่วยดูดซับมลพิษได้

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง

“ที่น่าสนใจคือที่แคว้นเวเนโต ประเทศอิตาลี มีงานวิจัยหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก เขาสำรวจไลเคนคล้าย ๆ กับที่เราทำนี่แหละ และแสดงออกมาเป็นแผนที่ สีเขียวคือกลุ่มอากาศดี สีเหลืองคือพอใช้ สีแดงคืออากาศแย่ แล้วก็เอามาเปรียบเทียบกับแผนที่แสดงจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอด สีแดงคือจำนวนผู้ป่วยเยอะ สีเขียวคือผู้ป่วยน้อย ซึ่งถ้าดูเผิน ๆ มันเหมือนแผนที่เดียวกันเลย” ดร.อ้อย แสดงภาพแผนที่ 2 ภาพให้ดู ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า คุณภาพอากาศคือสิ่งที่สัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพของเรา และไลเคนก็คือเครื่องมือง่ายที่สุดที่จะตรวจวัดสิ่งนี้

 แม้ปัจจุบันเราจะมีเครื่องมือเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศมากมายที่วัดได้ทั้งค่า PM 2.5 หรือสารพิษอื่น ๆ แต่ ดร.อ้อย บอกว่าการใช้ไลเคนก็ยังมีความสำคัญและมีข้อดีที่แตกต่างออกไป

 “อย่างแรกคือเรื่องราคา ถ้าซื้อเครื่องตรวจเล็ก ๆ ราคา 6,000 กว่าบาทแล้ว แต่ถ้าใช้ไลเคน ก็แค่คู่มือนี้เล่มเดียว ซึ่งทุกคนเข้าถึงได้ ข้อดีของเครื่องวัดที่ใช้วิธีตรวจทางเคมีคือการวัดตัวเลขได้เป๊ะ ๆ บอกได้ว่ามีสารอะไรบ้าง แต่ข้อจำกัดคือวัดได้เฉพาะขณะนั้น แค่ลมพัดมาค่าก็เปลี่ยน แต่ขณะที่ไลเคนคือการวัดผลกระทบทางชีวภาพซึ่งจะอยู่ยาว บอกได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาคุณภาพอากาศของพื้นที่ตรงนั้นเป็นยังไง”

หลายคนคงจำได้ว่าในช่วง PM 2.5 สูง ๆ เราจะเห็นข่าวการฉีดน้ำไล่ฝุ่นแถว ๆ เครื่องตรวจวัด ซึ่งอาจหลอกเครื่องตรวจวัดได้ แต่หลอกไลเคนไม่ได้

“เราหวังว่าในอนาคตของกรุงเทพฯ จะไม่ได้มีไลเคนแค่กลางสวน แต่จะมีอยู่ริมถนนที่เราสัญจรด้วย ซึ่งที่สิงคโปร์มีนะคะ ขนาดต้นไม้ริมถนนก็มีไลเคนกลุ่มทนทานปานกลาง ส่วนในสวนพฤกศาสตร์ก็มีกลุ่มอากาศดีเลย”

ความสำคัญของไลเคนไม่ได้เป็นแค่ตัวชี้วัดคุณภาพอากาศเท่านั้น แต่ในธรรมชาติ ไลเคนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้โลก ดร.อ้อย เล่าว่า เวลาที่มีเกาะภูเขาไฟเกิดใหม่กลางมหาสมุทร ไลเคนคือสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรก ๆ ที่ขึ้นไปบุกเบิกพื้นที่ โดยราในไลเคนจะปล่อยสารเคมีออกมาเพื่อย่อยสลายหินและดูดซึมแร่ธาตุ ราแต่ละชนิดก็จะปล่อยสารเคมีที่ต่างกันไป ทำให้จากดินแดนอันแห้งแล้งที่มีแต่ก้อนหิน ก็เริ่มมีดินและความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้น ไลเคนจึงเป็นเหมือนผู้ปรับสภาพพื้นที่ที่ทำให้ดินแดนใหม่กลายเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตมากมาย

รู้จักไลเคนหลายสายพันธุ์ในสวนเบญจกิติ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่บอกคุณภาพอากาศในเมือง

จักรวาลใหญ่ใต้ฝ่าเท้า

สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่มีความสำคัญต่อชีวิตเราไม่ได้มีเพียงแค่ไลเคนเท่านั้น แต่ในผืนดินใต้ฝ่าเท้าของเราลงไป ยังมีจุลินทรีย์อีกมากมายที่ล้วนทำหน้าที่สำคัญ ยิ่งถ้าเป็นในป่าที่สมบูรณ์ เพียงแค่หยิบดินมาหนึ่งกำมือ ก็อาจมีจำนวนชนิดของจุลินทรีย์มากกว่าชนิดของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั่วทวีปอเมริกาเหนือเสียอีก ซึ่งจักรวาลใต้ดินนี้เป็นเหมือนพรมแดนใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังสนใจศึกษา

“ในธรรมชาติ ต้นไม้ที่เราเห็นบนดินเป็นชีวิตแค่ครึ่งเดียว แต่อีกครึ่งหนึ่งอยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นครึ่งที่สนับสนุนชีวิตข้างบน หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Wood Wide Web ที่ต้นไม้ทั้งป่ามีระบบรากเชื่อมโยงกันด้วยโครงข่ายเส้นใยของรา เป็นเหมือนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของต้นไม้” ดร.อ้อย เล่าถึงอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของโลกธรรมชาติที่ตามองไม่เห็น

เส้นใยของราใต้ดินนี้ มีความสัมพันธ์กับรากต้นไม้อย่างแนบแน่น ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างรากับสาหร่ายในไลเคน ซึ่งในระบบใต้ดินนี้ ราจะทำหน้าที่ดูดซึมธาตุอาหารในดินและส่งให้ต้นไม้ ในขณะที่ต้นไม้ก็จะส่งผลผลิตจากการสังเคราะห์แสง เช่น น้ำตาล ไปให้ราเป็นของตอบแทน

“เรารู้กันว่าต้นไม้สร้างอาหารเองได้จากการสังเคราะห์แสง แต่แค่นั้นยังไม่พอต่อการเติบโต ต้นไม้ยังต้องการแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แม้ว่าในอากาศจะเต็มไปด้วยก๊าซไนโตรเจนหรือ N2 แต่ไนโตรเจนในรูปนี้ พืชยังดึงมาใช้ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยราที่จะช่วยเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนให้อยู่ในรูปอื่น ๆ เช่น ไนเตรตที่ละลายน้ำและพืชดูดซึมไปใช้ได้ ทำให้รากับต้นไม้กลายเป็นหุ้นส่วนกัน เส้นใยราหลอมรวมกับรากไม้ ราช่วยต้นไม้ดูดซึมแร่ธาตุจากดิน ต้นไม้ก็แบ่งน้ำตาลให้รา จุลชีพอื่น ๆ ในดิน ก็มารวมกันอยู่ที่รากไม้ เป็นเหมือนโลกซาฟารีใต้ดิน”

รับบทนักสืบสายลม เดินสำรวจพันธุ์ไลเคนในสวนเบญจกิติ และจักรวาลจิ๋วที่มีบทบาทมหึมา ในกิจกรรม Earth Appreciation

บทบาทของเส้นใยราไม่ได้มีเพียงแค่การดูดซึมสารอาหารและส่งให้พืชเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ต้นไม้ใช้ส่งข้อมูลหากันด้วย เช่น เมื่อมีฝูงแมลงศัตรูพืชโจมตีที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้นไม้ที่อยู่ใกล้ ๆ ก็รับรู้ได้ ทำให้ปล่อยสารเคมีออกมาที่ใบเพื่อป้องกันตัว อีกทั้งเส้นใยโครงข่ายนี้ยังเป็นเหมือนทางด่วนเพื่อเดลิเวอรี่อาหารจากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้น เช่น ต้นแม่ส่งอาหารให้ต้นลูกที่อยู่ภายใต้ร่มเงาและได้รับแสงแดดน้อย 

“แม้แต่หนอนที่จะมาไชรากต้นไม้ ก็เคยมีการค้นพบว่า เส้นใยราจะช่วยทำบ่วงเกี่ยวรัดหนอนไว้ไม่ให้เข้าถึงรากไม้ ซึ่งทุกวันนี้ นักวิจัยก็กำลังพยายามแกะรหัสภาษาที่ต้นไม้ส่งหากันผ่านโครงข่ายนี้ เป็นเหมือนพรมแดนใหม่ที่น่าตื่นเต้นมาก”

รับบทนักสืบสายลม เดินสำรวจพันธุ์ไลเคนในสวนเบญจกิติ และจักรวาลจิ๋วที่มีบทบาทมหึมา ในกิจกรรม Earth Appreciation

เมื่อ ดร.อ้อย เล่าจบ ผู้ร่วมงานคนหนึ่งก็บอกว่า ฟังแล้วนึกถึงหนังเรื่อง Avatar ที่ต้นไม้ในป่ามีเครือข่ายเส้นใยที่เชื่อมต่อถึงกัน

เช่นเดียวกับในหนัง ทุกวันนี้ความสัมพันธ์สุดมหัศจรรย์นี้กำลังถูกทำลายลงด้วยการกระทำของมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในตัวการที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงก็คือปุ๋ยเคมี

 “พอเราใส่ปุ๋ยเคมีให้พืช ต้นไม้ก็เลยเสียนิสัย กลายเป็นต้นไม้ติดยา กินแต่อาหารสำเร็จรูป จู่ ๆ ได้ของฟรี ก็หยุดแบ่งน้ำตาลให้รา พอไม่มีรา ดินก็เลยตาย กลายเป็นดินแข็ง ๆ ต้นไม้ตอนนี้ก็ไม่มีเพื่อนใต้ดินแล้ว เพราะต้นไม้ไม่แบ่งอะไรให้เลย แมลงมาก็ไม่มีใครเตือนหรือป้องกัน แล้วพอฝนตก ดินก็ถูกชะลงไป เพราะไม่มีใครช่วยดูดซับปุ๋ยที่มันมากเกิน ไนโตรเจนจากปุ๋ยก็ไหลลงไปในแม่น้ำลำคลอง ไปจนทะเล เกิดเป็นแดนมรณะหรือ Dead Zone ในทะเล เป็นบ่อเกิดของวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งถ้าเล่าแล้วจะยาวมาก”

ดร.อ้อย เล่าถึงการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในธรรมชาติ ตั้งแต่มนุษย์ ท้องไร่ท้องนา ผืนป่า ไปจนถึงมหาสมุทร ซึ่งทุกวันนี้ความไม่เข้าใจธรรมชาติของผู้คนกำลังทำลายสายใยอันซับซ้อนนี้ ซึ่งที่สุดแล้วก็จะเป็นการทำลายตัวเอง ดังนั้น ก่อนที่โลกจะเดินไปถึงจุดนั้น เราทุกคนจึงควรต้องมาฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติอีกครั้ง เพื่อจะได้เข้าใจและรักษาระบบที่โอบอุ้มชีวิตของพวกเราไว้

Reconnect with Nature

ประโยคที่ว่า “เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ” อาจมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่เราเคยคิด

“ร่างกายของเรา เป็นเซลล์ของเราจริง ๆ แค่ส่วนเดียวเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งคือจุลชีพมากมายที่อาศัยอยู่ร่วมกับเรา ทั้งในลำไส้ บนผิวหนัง และแทบทุกที่ บางชนิดช่วยเราย่อยอาหาร บางชนิดช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน สุขภาพเราขึ้นกับจุลชีพเหล่านี้ เพราะเราวิวัฒนาการมาด้วยกัน” ดร.อ้อย เล่าถึงอีกหนึ่งความสำคัญของเหล่าตัวจิ๋วที่มีนามว่าแบคทีเรีย

รับบทนักสืบสายลม เดินสำรวจพันธุ์ไลเคนในสวนเบญจกิติ และจักรวาลจิ๋วที่มีบทบาทมหึมา ในกิจกรรม Earth Appreciation

แต่ทุกวันนี้ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป หลายคนพึ่งพาอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋องที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ใช้ชีวิตอยู่ในตึกสูง ห้องแอร์ โดยที่วัน ๆ เท้าแทบไม่เปื้อนดิน ทำให้เราห่างเหินกับจุลินทรีย์ที่ดีมากมายที่มีอยู่ในธรรมชาติ

“มีงานวิจัยพบว่า คนที่สุขภาพดีมีจุลินทรีย์ในร่างกายที่หลากหลาย เปรียบได้กับระบบนิเวศป่าเขตร้อน ในขณะที่คนสุขภาพไม่ดี ความหลากหลายของจุลินทรีย์จะน้อยกว่า เหมือนอยู่ในระบบนิเวศทะเลทราย ทำให้การแพทย์ยุคนี้มีการสกัดจุลชีพจากอุจจาระคนที่สุขภาพดี มาเป็นยาให้คนสุขภาพไม่ดี”

แต่แทนที่เราจะต้องไปรับจุลินทรีย์ที่ดีด้วยวิธีนั้น ดร.อ้อย บอกว่ามีวิธีที่ง่ายกว่า นั่นก็คือการพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ

“มีการพบว่าเวลาเราออกไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ เพียงแค่ 3 ชั่วโมง ระบบภูมิคุ้มกันก็ดีขึ้นแล้ว แล้วถ้าเราลองถอดรองเท้าและใช้เท้าเปล่าสัมผัสดิน ประจุไฟฟ้าที่เราสะสมมาทั้งวันจากการเผาผลาญที่เกิดเป็นอนุมูลอิสระ ก็จะถูกแลกเปลี่ยนกับพื้นดินที่เป็นประจุลบ”

ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นพูดถึงเรื่องประจุลบกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจนในสมองหรือการช่วยให้ผ่อนคลาย ซึ่งแหล่งที่ดีมากของประจุลบนอกจากผืนดินแล้วก็คือแหล่งน้ำ เคยมีงานวิจัยว่า ในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่าเขาหรือทะเล มีประจุลบมากกว่าในเมืองคอนกรีตหลายเท่า

“นอกจากนั้น ในดินทั่วโลกจะมีแบคทีเรียตัวหนึ่งที่ชื่อ Mycobacterium vaccae ที่จะกระตุ้นให้สมองเราหลังสารเซโรโทนินหรือสารเคมีแฮปปี้ ทำให้กิจกรรมบำบัดจิตใจหลายแห่งใช้วิธีให้คนทำสวน แล้วอีกอย่างก็คือน้ำมันหอมระเหยจากพืชที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเรา ทำให้ที่ญี่ปุ่นมีกิจกรรมที่เรียกว่า การอาบป่า คือพาตัวเองเข้าไปอยู่ในธรรมชาติ เพื่อรับจุลชีพ รับประจุลบ รับน้ำมันหอมระเหยจากพืช”

และนั่นเป็นเหตุผลของการที่เรามักจะรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย สบายใจ เมื่อได้เข้าไปสู่พื้นที่ธรรมชาติ ได้เห็นต้นไม้ เห็นทะเล เห็นน้ำตก เห็นดอกไม้ ไม่ต่างจากท่อนหนึ่งในบทเพลงที่ว่า “ถ้าเราเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า”

แม้กรุงเทพฯ จะไม่เหลือป่าแล้ว แต่อย่างน้อยการมีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำกลางเมืองแบบนี้ ก็คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คนเมืองได้สัมผัสธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

รับบทนักสืบสายลม เดินสำรวจพันธุ์ไลเคนในสวนเบญจกิติ และจักรวาลจิ๋วที่มีบทบาทมหึมา ในกิจกรรม Earth Appreciation

และวันนี้ หลังจากที่เราได้สำรวจไลเคนกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาที่ ดร.อ้อย จะพาเราไปอาบป่ากลางเมืองกัน

ระหว่างทาง เราได้หยุดดูนกเค้าจุดที่ตำแหน่งประจำ ซึ่งวันนี้อยู่กันถึง 4 ตัว จากนั้นทีมงานของสวนเบญจกิติก็เปิดเส้นทางพิเศษให้ได้เดินเยี่ยมชมสวนในโซนที่ยังไม่เปิดให้คนทั่วไป ได้เดินผ่านบ่อน้ำบ่อที่ 1 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการบำบัดน้ำจากคลองไผ่สิงโตด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด ซึ่งระหว่างทาง ดร.อ้อย ชวนดูพืชพรรณท้องถิ่นหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือต้นแขมที่ขึ้นอยู่ข้าง ๆ ดงธูปฤาษี ซึ่งเธอบอกว่าอยากให้มีต้นแขมมากกว่านี้ เพราะเป็นพืชท้องถิ่นและนกมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าธูปฤาษีที่เป็นพืชต่างถิ่น ส่วนตรงพืชบกที่ขึ้นเองอยู่ตามสองข้างทาง เธอก็ชี้ชวนให้ดูพืชหลายชนิดที่กินได้ ไม่ว่าจะเป็น กะทกรก โทงเทง ผักโขม ที่หากคนไม่รู้จักก็จะนึกว่าเป็นวัชพืช

“พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีฟังก์ชันเยอะมาก เป็นถิ่นอาศัยให้สัตว์หลายชนิด กักเก็บคาร์บอนได้มหาศาล แล้วอาหารก็เยอะมาก เป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต ของกินเต็มไปหมด และสำคัญที่สุดคือเป็นฟองน้ำรองรับน้ำเวลาฝนตกหนัก ๆ ถ้าเรารักษาพื้นที่ชุ่มน้ำในกรุงเทพฯ ไว้ได้ เราก็จะมีฟองน้ำที่ช่วยป้องกันน้ำท่วมเมือง แล้วพืชน้ำก็ยังช่วยบำบัดสารพิษ คือมีบริการทางนิเวศเยอะมาก”

ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแบบนี้ ก็คือหน้าตาของกรุงเทพฯ ในอดีต ก่อนที่เราจะถมคูคลอง สร้างถนน สร้างตึกสูง จนทำให้น้ำไม่มีที่ไปและท่วมเมืองอยู่บ่อยครั้ง

“ถ้าเราจะทำกรุงเทพฯ ให้ยั่งยืน เราต้องออกแบบให้อยู่ร่วมกับระบบนิเวศดั้งเดิมคือพื้นที่ชุ่มน้ำ เราจะได้ไม่ต้องไปต้านกับแรงธรรมชาติ กรุงเทพฯ สมัยก่อน เรามีหนองสลับกับโคก อย่างแถวสุวรรณภูมิ แต่ก่อนเรียกหนองงูเห่า ส่วนดอนเมืองเป็นที่ดอน เขาเรียกทุ่งเหยี่ยว เพราะมีเหยี่ยวและแร้งเยอะ” ดร.อ้อย เล่าถึงภาพในอดีตของบางกอก ซึ่งเคยเต็มไปด้วยสัตว์มากมาย รวมถึงแรดและสมัน ซึ่งเป็นกวางที่มีเขาอลังการและพบที่เดียวในโลกคือลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่พวกเราก็ทำให้มันสูญพันธุ์

“การได้เห็นพื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นในเมืองเป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก เพราะในยุคหนึ่ง พื้นที่บึงหรือหนองแบบนี้จะถูกมองว่าเป็นบึงเน่า ๆ ถ้าจะพัฒนาต้องถมเรียบ เป็นสนามกอล์ฟ เป็นสิ่งปลูกสร้าง แต่น่าดีใจที่วันนี้เราพัฒนากลับมาในรูปแบบนี้”

ทีมงานของสวนเบญจกิติบอกว่า วันที่กรุงเทพฯ ฝนตกหนักและน้ำท่วมเมืองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่นี่น้ำไม่ท่วม เพราะมีบ่อมากมายไว้รองรับน้ำ ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ น้ำก็ซึมลงใต้ดินได้ ซึ่งก็ทำให้เราจินตนาการว่า หากกรุงเทพฯ มีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น ฝนตกมา น้ำก็จะมีที่ไป ไม่ต้องไหลมาท่วมบ้านอย่างทุกวันนี้

รับบทนักสืบสายลม เดินสำรวจพันธุ์ไลเคนในสวนเบญจกิติ และจักรวาลจิ๋วที่มีบทบาทมหึมา ในกิจกรรม Earth Appreciation

“สิ่งที่อยากเห็นก็คือ อยากให้ที่นี่พัฒนาไปในทิศทางที่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น มีพืชพื้นถิ่นที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็น่ารอดูว่าจะมีสัตว์อะไรกลับมาบ้าง”

หนึ่งในสัตว์ที่หลายคนอยากให้กลับมาก็คือหิ่งห้อย ซึ่ง ดร.อ้อย ได้บอกในสิ่งเดียวกับที่ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ พูดไว้ในกิจกรรมครั้งแรกว่า ข้อจำกัดสำคัญของหิ่งห้อยคือมลภาวะทางแสง เพราะหิ่งห้อยสื่อสารกันด้วยการกะพริบแสง หากแสงไฟยามค่ำคืนยังเจิดจ้า หิ่งห้อยก็จะอยู่ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราพอช่วยได้คือการปรับรูปแบบโคมไฟ โดยอาจหาที่ครอบหลอดไฟไม่ให้แสงฟุ้งกระจายขึ้นฟ้า ซึ่งประหยัดพลังงานได้ด้วย โดยอาจใช้หลอดไฟที่วัตต์ต่ำกว่า แต่ยังได้ความสว่างที่ทางเดินเท่าเดิม

“มลภาวะแสงส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์พอ ๆ กับมลพิษแบบอื่นเลย ที่อเมริกามีนกเป็นล้าน ๆ ตัวตายเพราะชนกระจกเพราะโดนแสงล่อ ส่วนค้างคาวหรือผีเสื้อกลางคืนก็ได้ผลกระทบ แม้แต่คนเราก็เช่นกัน มีการพบว่าแสงที่ฟุ้งกระจายมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องอยู่กับความมืด เราแค่ควบคุมทิศทางแสงให้ส่องเฉพาะในที่ที่เราต้องการ การปล่อยแสงฟุ้งกระจายขึ้นฟ้าก็เหมือนปล่อยให้ท่อน้ำรั่ว”

เธอบอกว่าถ้าจัดการให้ดีก็ยังมีความหวัง โดยยกตัวอย่างบ้านของเธอที่เชียงดาวว่า ในค่ำคืนที่ฟ้าเปิด จะได้เห็นทั้งดาวบนฟ้าและดาวบนดิน (หรือหิ่งห้อย) ซึ่งไม่มีอะไรที่จะวิเศษไปกว่านั้นอีกแล้ว

เราก็หวังว่าสักวันกรุงเทพฯ จะเดินไปถึงจุดนั้น วันที่ริมถนนใหญ่มีไลเคนบ่งบอกว่าคุณภาพอากาศดี มีพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งไว้รองรับน้ำยามฝนตกหนักและเป็นบ้านให้สรรพสัตว์ได้มาพักอาศัย มีการควบคุมมลภาวะทางแสงที่ดีจนหิ่งห้อยกลับมา มีพื้นที่สีเขียวที่เดินถึงได้ภายใน 15 นาที

และเมื่อวันนั้นมาถึง กรุงเทพฯ ก็อาจใช้คำว่า ‘ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ ได้อย่างเต็มปาก

รับบทนักสืบสายลม เดินสำรวจพันธุ์ไลเคนในสวนเบญจกิติ และจักรวาลจิ๋วที่มีบทบาทมหึมา ในกิจกรรม Earth Appreciation

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ