Micro Politics : แรงสะท้อนของปัจเจกต่อแรงกระทบทางการเมืองผ่านบทละครเวทีและการแสดงร่วมสมัย

ผู้เขียน : ธนพนธ์ อัคควทัญญู , ประดิษฐ ประสาททอง, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์, ธนพล วิรุฬหกุล
ผู้แปล : ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์, เจมส์ เลเวอร์, นานา เดกิ้น, ชลเทพ ณ บางช้าง
จัดทำโดย :  Collective Thai Scripts
จำนวน : 224 หน้า  
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ*

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เกมที่ชื่อว่า ‘ดินแดนที่เราไม่เคยได้เป็นเจ้าของ’

ยินดีที่คุณจะได้รู้จักหนังสือบทละครไทยร่วมสมัยที่มีน้อยนักในประเทศนี้

เราเชื่อว่าคนอ่านหนังสือเพราะความไม่รู้เพื่อที่ตัวเองจะได้รู้ Micro Politics : แรงสะท้อนของปัจเจกต่อแรงกระทบทางการเมืองผ่านบทละครเวทีและการแสดงร่วมสมัย เป็นผลงานเล่มแรกของ Collective Thai Scripts คนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้คนในสังคมมองเห็นการมีอยู่ของงานแสดงที่หลากหลาย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำความเข้าใจและมีประสบการณ์กับการแสดงผ่านการอ่านบทอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการไปชมที่โรงละครเท่านั้น

ในเล่มประกอบไปด้วยบทละครทั้งหมด 4 เรื่อง คือ ที่ ไม่มีที่ (A Nowhere Place), การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์, HIPSTER THE KING และ บางละเมิด ทุกเรื่องแสดงในช่วงที่การเมืองไทยมีความระส่ำระส่าย และไม่มีสิทธิในการแสดงออกเท่าใดนัก

พอบทละครมาอยู่ในรูปแบบของหนังสือสองภาษา ไทย-อังกฤษ ก็เหมือนกับเรากำลังอ่านนิยายสักเรื่องหนึ่ง โดยเห็นบทสนทนามากพอๆ กับคำบรรยาย เรื่องราวดำเนินไปตามเกมการเมือง ที่ทุกคนเป็นผู้เล่นในเกมนี้อย่างไม่มีสิทธิเลือก

มีด่าน 4 ด่านที่ท้าทายให้คุณเล่น

คุณจำเป็นจะต้องเล่นให้ครบทุกด่าน

อาวุธที่คุณใช้ในเกมนี้ได้คือสติ ความคิด และประสบการณ์ ของคุณเท่านั้น

เราขอเตือนว่าเกมนี้ไม่มีความยุติธรรมและไม่มีความเท่าเทียม แต่เราจัดอันดับความยากง่ายในการอ่านไว้ให้ ดังนี้

GAME STARTS

ด่านที่ 1 : ที่ ไม่มีที่ (A Nowhere Place)

โดย ประดิษฐ ประสาททอง
ความยากระดับ 2 ดาว

คุณจะได้พบกับเจ้าสาวผู้มีอาการป่วยทางจิตและเจ้าบ่าวที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ยืนอยู่ในฉากเวิ้งว้างว่างเปล่า รอคอยที่จะพาคุณย้อนไปสำรวจความทรงจำร้ายๆ ในวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 ในแง่มุมที่หนึ่งคนเป็นผู้ถูกกระทำ และหนึ่งคนเป็นผู้กระทำ แต่ล้วนสูญเสียและมีบาดแผลไม่ต่างกัน

เสน่ห์ของบทละเรื่องนี้คือบทสนทนาทั้งหมดระหว่างสองตัวละครที่ตัดสลับกับคำอธิบายแบบวิชาการ ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่ทั้งคู่เป็นอยู่ คำบอกเล่าจากภาพจำที่ดูเลือนราง ไม่ปะติดปะต่อ ของพวกเขาทั้งคู่อาจทำให้คุณหงุดหงิดและสับสนไปสักหน่อย แต่ถ้าคุณเห็นภาพการทับซ้อนเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ยังเกิดซ้ำๆซากๆ ในรูปแบบเดิมๆ

เกิดเป็นคำถามว่านั่นเพราะเราไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้น ถูกปิดหูปิดตาจากความจริง บางคนไม่เคยรู้ บางคนไม่อยากรู้ บางคนแกล้งลืม หรือบางคนไม่เคยลืม จนสังคมเกิดอาการป่วยไข้ไม่ต่างจากตัวละครทั้งสองหรือเปล่า

ไม่ว่าจะเป็น 40 ปีที่ผ่านมา หรือ ณ ปัจจุบันนี้ ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป

ด่านที่ 2 : การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์

โดย ธนพนธ์ อัคควทัญญู
ความยากระดับ 3 ดาว

“บ้านเรามันแย่แค่ไหน สิบปีผ่านไป บ้านเราเคยเป็นยังไงมันก็เป็นอย่างนั้น”

คุณกำลังอยู่ในบ้านหลังเก่าที่เคยเป็นโรงหนังมาก่อน คุณกำลังฟังเรื่องเล่าจากปากพี่ชายที่ออกไปผจญโลกกว้างและกลับมาหลังจากผ่านไป 10 ปี ในขณะที่น้องทั้งสองคนไม่เคยก้าวออกจากบ้านที่อยู่แม้สักครั้งเดียว

บทละครนี้มีเนื้อเรื่องซับซ้อนและใช้วิธีเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ ที่บอกเช่นนี้เพราะเรื่องมีการตัดสลับไปมา ไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความแฟนตาซี ฟุ้งฝันกึ่งจริงกึ่งละเมอ และมีมวลความเศร้าหม่นลอยอยู่ รวมไปถึงบทสนทนาที่คล้ายจะมีสัญญะแฝงอยู่มากมาย มีบางช่วงที่ชวนให้ยิ้มสนุกได้ และในบางช่วงก็มีความเกรี้ยวกราดชวนขนลุกอยู่ไม่น้อย

ตัวละครทุกตัวมีความเปราะบาง มีสภาวะการสั่นคลอน และแตกร้าว อยู่ภายใน ทั้งหมดถูกยึดโยงด้วยความทรงจำและความผูกพันในทุกช่วงชีวิตที่พวกเขามีร่วมกันซึ่งสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อตัวตนของพวกเขาสักส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อย              

คุณจะผ่านด่านนี้ได้ถ้าคุณมีสายตาไว้มองโลกในมุมกว้าง คุณเข้าใจถึงการออกไปเจอเรื่องราว เจอความศิวิไลซ์ของพี่ชาย เข้าใจถึงความหยุดนิ่ง ไม่พัฒนา ของบ้านหลังเก่า และเข้าใจความกลัวที่จะก้าวออกจากที่ที่เคยอยู่ของน้อง 2 คน

อาจจะฟังดูง่าย แต่เราขอกระซิบว่าความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 คนนั้นซับซ้อนและมีเบื้องหลังอะไรอีกหลายอย่างที่อาจทำให้คุณหลงทางและติดอยู่ที่ด่านนี้

ด่านที่ 3 HIPSTER THE KING

โดย ธนพล วิรุฬหกุล
บทละคร โดย ธนนพ กาญจนวุฒิศิษฎ์
ความยากระดับ 3 ดาว

คุณกำลังยืนอยู่ตรงกลางและถูกรายล้อมด้วยคน 7 คนที่กำลังยืนนิ่งค้างในท่าทางต่างๆ พวกเขาถือของมากมายพะรุงพะรัง และสวมชุด 7 ชั้นที่ดูเกะกะเทอะทะ มีเสียงประกาศคอยตอกย้ำให้คุณเห็นถึงความทุ่มเท ความเหนื่อยยาก และสิ่งที่ต้องแบกรับของพวกเขาที่ถูกยกย่องว่าคือ ‘ผู้นำฮิปสเตอร์’

การแสดงนี้ไม่มีบทพูดประโยคสนทนาของตัวละคร เป็นเล่าเรื่องผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีคอนเซปต์บางอย่าง

หลังอ่านจบรอบแรก เราจับประเด็นอะไรไม่ได้สักอย่าง เอาแต่คิดภาพตามจนทำเราสับสนและหมดสนุกไปเสียเฉยๆ รอบสองเราจึงไม่สนใจว่าใครคนไหนทำอะไร ใส่เสื้อผ้าแบบไหน เพราะมีนักแสดง 7 คน มีชุด 7 ชุด อุปกรณ์ประกอบฉากอีกเยอะแยะมากมาย ตัดสิ่งเหล่านี้ออกไปเหลือแค่สิ่งที่เราสังเกตได้ นั่นก็คือแพตเทิร์นการเล่าเรื่อง แพตเทิร์นที่ว่าคือ

1.บนเวทีคือผู้นำฮิปสเตอร์ นอกเวทีคือนักแสดงธรรมดา

2.เริ่มด้วยผู้นำฮิปสเตอร์ 7 คนยืนนิ่งค้างด้วยท่าทางต่างๆ อยู่บนเวที

3.ในระหว่างการแสดงถ้าผู้นำฮิปสเตอร์ไม่สามารถทนต่อสภาวะนิ่งค้างได้ ผู้นำฮิปสเตอร์คนนั้นต้องขยับร่างกายส่วนเล็กๆ ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนออกจากเวที

4.เมื่อพวกเขาออกไปพักเขาจะได้ขยับร่างกายตามที่ใจอยาก ส่งเสียงออกมาก็ได้ จากนั้นก็กลับมายืนค้างบนเวทีด้วยชุดใหม่ มีอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเข้ามา

5.มีเสียงประกาศบอกให้เห็นความทุ่มเทของผู้นำฮิปสเตอร์ที่ยืนค้างอยู่ และบอกให้ผู้ชมปรบมือเพื่อให้ให้พวกเขาได้พัก ได้ขยับร่างกาย ได้ถอดชุดที่แสนอึดอัดนั้นออก และได้เป็นตัวของตัวเอง

เรื่องราวก็ดำเนินไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนผู้นำฮิปสเตอร์เหลือเพียงชุดชั้นสุดท้ายที่ชื่อว่า Our self ปิดท้ายการแสดงด้วยประโยค KEEP CALM AND LOVE ME

ฮิปสเตอร์เคยถูกนิยามไว้ในยุคหนึ่งว่าคือคนกลุ่มหนึ่งที่มองหาความแตกต่างและปฏิเสธจากกระแสนิยม แต่สุดท้ายฮิปสเตอร์ก็กลายเป็นเทรนด์ จากคนที่ต้องการที่จะแตกต่างและเป็นตัวของตัวเองนั้น กลับก่อให้เกิดวัฒนธรรมภายในกลุ่มขึ้นมา ชวนคิดให้คิดว่าการเป็นฮิปสเตอร์หมายถึงการที่เราได้เป็นตัวเองจริงๆ มั้ย ในขณะที่ทุกคนอยากพรีเซนต์ตัวเองแต่ก็ไหลไปกับกระแส ขยับไปตามจังหวะเดียวกัน เพราะถูก Shape ความคิดว่าใครๆ ก็ทำกัน ไม่ได้หยุดเพื่อที่จะดูว่าตัวตนของเราหล่นหายไประหว่างทางหรือเปล่า

ช่วงหนึ่งของบทการแสดงบอกไว้ว่า ‘หากมีใครไม่ปรบมือก็จะถูกบังคับให้ปรบมือ’ เลยทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่าจริงๆ แล้วมันเป็นสิทธิของเราที่จะเลือกทำอะไรก็ได้หรือเปล่า เหมือนการเมืองบ้านเราที่ประชาชนมักถูกบอกให้ทำ ถูกกล่อมด้วยคำพูด ตัวตนที่มีถูกกลืนไปกับกระแสสังคม และไม่ใด้ใช้สิทธิเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองเชื่อจริงๆ

ด่านที่ 4 บางละเมิด

โดย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์
ความยากระดับ 4 ดาว

ในห้องที่มีใบมีดโกนแขวนลอยอยู่เหนือหัวในระยะความยาวที่ต่างกันออกไปกระจายอยู่ทั่ว คุณนั่งอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่ง ตัวคุณและเธอมีกระดาษวงกลมสีแดงแปะเอาไว้ และมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยจับตามองอย่างใกล้ชิด

เธอแนะนำตัวว่าเธอเป็นนักแสดง เธอเป็นคุณครู และที่ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมอยู่ เพียงเพราะเธอพูดเรื่องที่ไม่ควรพูด

เธอท้วงถามถึงเสรีภาพในการแสดงออกที่ควรเป็นสิทธิของเธอ เธอสงสัยว่าจะถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์บ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมาได้มั้ย แล้วจุดจบของเธอคือการติดคุกแบบเพื่อนของเธอหรือเปล่า

การแสดงเดี่ยวเรื่อง ‘บางละเมิด’ นี้เคยจัดแสดงครั้งแรกในปี 2012 และรีสเตจอีกครั้งในปี 2015 ภายใต้บรรยากาศขมุกขมัวทางสังคมที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย ละครเรื่องนี้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากเพราะก่อนเปิดการแสดงได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการละครเวที

‘ดินแดนที่เราไม่เคยได้เป็นเจ้าของ’ คือประโยคขยายความชื่อเรื่องและเสริมประเด็นที่ถูกเล่าในบทการแสดงนี้ได้อย่างชัดเจน ด้วยบรรยากาศการละเมิดอันเข้มข้นในสังคมที่เกิดขึ้นจริง สะท้อนให้เห็นถึงการถูกตรวจสอบเสรีภาพด้วยอำนาจและกฎหมายที่ไม่ได้มีเพื่อประชาชน

ประเด็นหลักของเรื่องคือเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการคิด พูด พิมพ์ หรือเขียน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่บุคคลพึงมี เป็นสิทธิในระดับสากล

ฉากของเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่บนเวทีเสมอไป เราทั้งหมดต่างเป็นผู้เล่นในเกมนี้ทั้งสิ้น

เมื่อคุณได้อ่าน Micro Politics เล่มนี้ด้วยตัวคุณเอง คุณอาจจะพบวิธีผ่านด่านแต่ละด่านแตกต่างไปจากเรา และเราเคารพในความคิดนั้นของคุณอย่างจริงใจ

หวังว่าคุณจะพบคำตอบ และเราหวังว่าคุณจะเกิดคำถามไปพร้อมๆ กัน

สั่งซื้อ Micro Politics : แรงสะท้อนของปัจเจกต่อแรงกระทบทางการเมืองผ่านบทละครเวทีและการแสดงร่วมสมัย ได้ที่นี่

Writer

Avatar

สิรามล เฮ็งรักษา

คนกรุงเทพฯ ที่ชอบเดินทางด้วยรถไฟมากกว่านั่งเครื่องบิน รักการกินนมจืดพอๆ กับกาแฟที่ไม่ขมและโกโก้ที่ไม่หวาน กำลังทำความรู้จักโลกใบที่ใหญ่ขึ้นและเรียนรู้การเขียนเล่าเรื่องไปพร้อมๆ กัน

Photographer

Avatar

ช่อผกา แซ่ลอ

ชื่อน้อง เรียกสั้นๆ ว่าน้องน้องก็ได้ ไม่ได้มีน้องเพราะเป็นน้องสุดท้อง พี่ๆ จะเรียกว่าน้องน้อง ปัจจุบันหลงรักแสงและเงา