The Cloud x กระทรวงการต่างประเทศ

ถ้าพูดถึงประเทศไทยในสายตาชาวโลกเขาจะนึกถึงอะไรกันบ้าง ถ้าเป็นอาหารไทย ก็คงเป็นต้มยำกุ้ง ถ้าเป็นนิสัยคนไทย ก็คงเป็นรอยยิ้มที่มาได้ในทุกสถานการณ์ และถ้าพูดถึงกีฬา ก็คงหนีไม่พ้นมวยไทย เมื่อเป็นเช่นนี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงนำ ‘มวยไทย’ มาเป็นหนึ่งในกิจกรรมด้านการทูตวัฒนธรรม กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ

กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินภารกิจอันท้าทายนี้ร่วมกับ ครูดิน-วิทวัส ค้าสม (ครูมวยไทยผู้ก่อตั้งค่ายลานนาไฟท์ติ้งมวยไทย และอาจารย์โรงเรียนเทพบดินทร์วิทยาเชียงใหม่) ซึ่งได้ออกเดินทางไปกับกระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยในแดนไกลหลายสิบประเทศ ภายในระยะเวลาเกือบ 10 ปี งานของครูดินมีทั้งการพานักมวยไปชกกับนักมวยเจ้าถิ่น ชกโชว์ และสอนนักมวย นักบอล ทหาร เด็กผู้หญิง ไปจนถึงคนพิการ

ครูดิน วิทวัส ผู้พามวยไทยทัวร์ทั่วโลก สอนเจ้าหญิง ผู้นำ ทหาร เด็กในสลัม และคนพิการ

นอกจากมวยไทยจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในหลายมิติ (โดยเฉพาะในมุมที่เรานึกไม่ถึงมาก่อน) การเดินทางรอบโลกของครูดินยังเต็มไปด้วยประสบการณ์ ทั้งสนุก ระทึกขวัญ และน่าประทับใจมากมาย

ไปดูกันว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มวยไทยพาครูดินไปเจออะไรมาบ้าง

รัสเซีย-คาซัคสถาน ถิ่นคู่ปรับสุดหิน

ครูดินเริ่มพามวยไทยออกเดินทางเมื่อ พ.ศ. 2555 แค่ประเทศแรกก็ได้เจอโจทย์ที่ยากที่สุดแล้ว รัสเซียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยแชมป์โลกมวยสากล โดดเด่นถึงขนาดมีสไตล์การชกเป็นของตัวเอง นอกจากนักมวยรัสเซียจะมีพื้นฐานที่ดีมากแล้ว สถานที่สอนหรือบรรดายิมมวยทั้งหลายยังลึกลับไม่ต่างจากที่เราเคยเห็นในหนัง หลายแห่งอยู่ใต้ดินแบบต้องใส่รหัสผ่านถึงเปิดไปเจอห้องลับนี้ มีการตรวจรักษาความปลอดภัยแน่นหนา

แม้ว่าการนำมวยไทยไปสาธิตในครั้งแรกยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก แต่เมื่อกลับไปอีกก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ มีนักมวยสนใจมาเรียนมากขึ้น มีการเปิดค่ายมวยไทยในรัสเซียแบบจริงจังหลายแห่ง และมีชาวรัสเซียทั้งนักมวยและคนธรรมดาเรียนมวยไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

การไปเยือนคาซัคสถานนั้นก็ยากไม่แพ้กัน นักมวยที่เขาเตรียมไว้ชกกับนักมวยไทยก็เป็นนักมวยฝีมือดี “รัสเซีย คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน เขามีพื้นฐานการต่อสู้พื้นฐานอย่างมวยปล้ำ ยูโด อยู่แล้ว มาถึงเขาก็ทำท่าจาพนม ฟันศอกหลังใส่เราเลย ผมตะลึงเลย เพราะไม่เคยเห็นประเทศไหนทำมาก่อน” อาจจะด้วยความล้าจากการเดินทาง สภาพอากาศ และความฟิตที่ไม่พอ นักมวยจากไทยก็เลยแพ้ 3 คู่รวด

ครูดินเล่าต่อว่า พอชกเสร็จก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องมวยไทยให้นักชกคาซัคสถาน ซึ่งนักมวยเขาเอาจริงเอาจังกว่าประเทศอื่น ๆ แทนที่จะชกเข้าเป้าที่ครูถือ กลับเล็งมาที่ใบหน้าของครูแทน งานนี้ครูดินก็เลยได้โชว์การใช้สายตาและการหลบหมัด ถึงแม้จะไม่ได้ออกอาวุธใด ๆ แต่ก็ครูดินก็ได้ใจ และได้รับการยอมรับจากนักมวยชาวคาซัคสถานไปเต็ม ๆ หลังจากนั้น ในคาซัคสถานก็เริ่มมีการตั้งชมรมมวยไทยมากขึ้น และนิยมเรียนมวยไทยกับครูมวยไทยชาวไทยเพิ่มมากขึ้น

ครูดิน วิทวัส ผู้พามวยไทยทัวร์ทั่วโลก สอนเจ้าหญิง ผู้นำ ทหาร เด็กในสลัม และคนพิการ
ครูดิน วิทวัส ผู้พามวยไทยทัวร์ทั่วโลก สอนเจ้าหญิง ผู้นำ ทหาร เด็กในสลัม และคนพิการ

เช็ก-ฮังการี เวทีคอนเสิร์ตของเหล่าผู้ชื่นชอบมวย

ทริปต่อมา ครูดินพามวยไทยไปขึ้นเวทีใหญ่ในฮอลล์ที่จัดไฟแสงสีสุุดอลังการที่สาธารณรัฐเช็ก มีการจัดการแข่งขันชกมวยระหว่างนักมวยไทยอันดับหนึ่งของเช็กกับนักมวยจากประเทศไทย เรียกว่าเตรียมล้มนักชกจากประเทศต้นตำรับเต็มที่ เสียงเชียร์ของเจ้าถิ่นจึงกระหึ่มฮอลล์ แต่สุดท้ายนักมวยจากประเทศไทยก็ใช้ทักษะและประสบการณ์เอาชนะนักมวยจากเช็กไปได้

บรรยากาศการชกที่ฮังการีคึกคักไม่แพ้กัน นักมวยเจ้าถิ่นเป็นนักมวยไทยขวัญใจอันดับหนึ่งของประเทศ คนดูเข้ามาเต็ม มีดีเจมาเปิดแผ่นกระตุ้นบรรยากาศไม่ต่างจากเวทีคอนเสิร์ต เมื่อเริ่มต้นเสียงระฆังไปได้ไม่เท่าไหร่ คนดูทั้งสนามก็เงียบกริบ เมื่อนักมวยของไทยฟันศอกเข้าที่คิ้วนักมวยเจ้าถิ่นจนได้เลือด พอขึ้นยกสอง นักมวยไทยก็น็อกเจ้าถิ่นลงไปนอนให้กรรมการนับสิบ

แม้ว่าผลจากการชกจะไม่สมใจกองเชียร์ แต่ก็ทำให้มีคนอยากเรียนมวยไทยมากขึ้น หลายปีให้หลังครูดินมีโอกาสกลับมาที่นี่อีกครั้ง รอบนี้เขาขอเปลี่ยนจากการชกที่มีผลแพ้ชนะ เป็นการมาสอนมวยไทย สอนให้เข้าใจวัฒนธรรมของมวยไทยในทุกมิติ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจมวยไทยและความเป็นไทยอย่างถููกต้อง

ครูดิน วิทวัส ผู้พามวยไทยทัวร์ทั่วโลก สอนเจ้าหญิง ผู้นำ ทหาร เด็กในสลัม และคนพิการ
ครูดิน วิทวัส ผู้พามวยไทยทัวร์ทั่วโลก สอนเจ้าหญิง ผู้นำ ทหาร เด็กในสลัม และคนพิการ

กังฟู-มวยไทย การประชันหน้ากับมังกรในจีนแผ่นดินใหญ่

“ไม่มีศิลปะการต่อสู้ของประเทศไหนดีกว่าประเทศไหน” ครูดินมองว่าทุกประเทศต่างก็มีลักษณะเฉพาะตัว การนำมวยไทยมาปะทะกังฟูจึงไม่ใช่การชิงแชมป์หาสุดยอดศิลปะการต่อสู้ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

รอบนี้ครูดินมีโอกาสได้เดินทางไปยัง 9 มณฑลทั่วประเทศจีน เป้าหมายคือพานักมวยไปชกสาธิตและสอนมวยไทย 

“เมืองแรกที่ไปคือเฉิงตู ไปถึงเขาเอาสิงโตมาเชิดโชว์เลย” ครูดินเล่าว่าครั้งนั้นเจ้าภาพเตรียมการแสดงแบบจัดเต็ม มีการแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้า แล้วก็มีการโชว์รำกังฟูที่สวยงาม เมื่อเจ้าภาพเชิญนักมวยไทยร่วมแสดงด้วย ครูดินก็บอกให้นักมวยถอดเสื้อ แล้วลงไปปล่อยลีลาแม่ไม้มวยไทยต่อยเตะกันดังตุ้บตั้บ จนเรียกเสียงปรบมือได้กึกก้อง แล้วก็ปิดท้ายด้วยการชวนนักมวยไทยและนักมวยกังฟูออกมาร่ายรำร่วมกัน จบการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างสวยงาม

จากนั้นครูดินก็ได้รับคำเชิญไปสอนมวยให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เมืองซีอาน ที่นี่สร้างนักมวยเก่ง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือนักมวยที่เคยขึ้นชกกับ บัวขาว (บัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยไทยอันดับหนึ่งระดับสากล) 

“ตั้งแต่มาอยู่นี่ มีคนมาท้าต่อยผมทุกวัน” ครูดินเล่าถึงวิธีแลกเปลี่ยนวิชาของชาวกังฟูด้วยเสียงหัวเราะ มวยไทยกับกังฟูเรียนในโรงยิมเดียวกัน นักศึกษาที่เรียนกับครูดินก็เคารพครูดินอย่างมากไม่ต่างจากที่พวกเขาปฏิบัติกับครูชาวจีน ตกเย็นจึงมีเด็กขอเลี้ยงข้าวครูทุกวัน ซึ่งครูดินก็ปฏิเสธทุกวัน แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ครูกังฟูก็ขอเลี้ยงข้าวเย็นครูดินทุุกวันเช่นกัน 

“ผมไม่ชอบดื่มเหล้าครับ” ครูดินออกตัวก่อนเล่าต่อถึงความแตกต่างในวงเหล้าของครูมวยไทยและครูมวยจีน “ถ้าครูมวยไทยกินเหล้ากันจะคุยกันเรื่องเฮฮา แต่ครูจีนเขาคุยแต่เรื่องกังฟู เขาจะคุยเรื่องวิชากันในวงเหล้า” จิบไปได้สักพักบรรดาครู ๆ ก็จะลุกขึ้นมารำไทเก๊ก หรือรำท่ากังฟูตลก ๆ ครูดินก็โดนยุให้ลุกขึ้นมารำมวยไทยด้วย “โอ้ย ผมไม่ไหวหรอกครับ แค่ทรงตัวยังไม่อยู่เลย ยังจะให้ผมรำมวยไทยอีก” ครูดินทิ้งท้ายว่า แม้จีนจะมีกังฟูเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ แต่มหาวิทยาลัยกีฬาชื่อดังของประเทศและครูกังฟูทั้งหลาย ก็ยังเปิดใจให้กับมวยไทย

ครูดิน วิทวัส ผู้พามวยไทยทัวร์ทั่วโลก สอนเจ้าหญิง ผู้นำ ทหาร เด็กในสลัม และคนพิการ

ตะวันออกกลาง ความแตกต่างของวัฒนธรรม

กาตาร์จะได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ดังนั้นจึงมีโครงการก่อสร้างสนามฟุตบอลหลายแห่ง ซึ่งประเทศไทยก็มีความพร้อมในการเข้าไปช่วยทำงานก่อสร้างในหลายด้าน แต่กิจกรรมแรกที่ไทยนำไปเบิกทาง เพื่อสร้างความสนิทสนมก่อนเจรจาเรื่องสำคัญก็คือ การสอนมวยไทย

มวยไทยได้รับความนิยมมากในกาตาร์ เมื่อมีโค้ชมวยไทยฝีมือดีจากเมืองไทยเดินทางมาสอน ผู้นำระดับสูงของประเทศหลายคนจึงอยากมาเรียน และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ขอขึ้นเวทีชกกับครูมวย ครูดินจึงต้องประชุมทีมอย่างเคร่งเครียด ว่าการชกครั้งนี้ต้องชกอย่างระมัดระวังมาก ๆ เพราะถ้าทำอะไรเกินเลย จากที่ตั้งใจจะมาสร้างความสัมพันธ์ ผลอาจจะเป็นตรงข้าม

“ผมบอกนักมวยเราว่า ต้องต่อยแบบไม่ให้เขาเจ็บ แต่เราต้องชนะ ต้องใช้ศิลปะเข้าสู้ การใช้ศิลปะเข้าสู้ทำให้ชนะใจเขาด้วย เพราะมวยไทยไม่ใช่การต่อสู้เพื่อทำร้ายฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นศิลปะป้องกันตัวมากกว่า” ครูดินเล่าต่อว่า ด้วยวัฒนธรรมของที่นี่นักมวยต้องใส่เสื้อชก และครูดินสอนได้แค่นักมวยชายเท่านั้น ส่วนนักมวยหญิง ต้องให้ครููมวยหญิงชาวต่างชาติมาเรียนกับครูดิน แล้วเอาไปสอนนักมวยหญิงชาวกาตาร์อีกที แม้จะเต็มไปด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง แต่ผลตอบรับก็ออกมาดีมาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างประทับใจ ส่งผลให้การเจรจาเรื่องอื่น ๆ ราบรื่นไปด้วย

เมื่อเดินทางต่อไปยังจอร์แดน ก็มีแขกระดับ VVIP อีกท่านขอมาเรียนมวยไทยด้วย นั่นก็คือเจ้าหญิงของจอร์แดน ซึ่งครูดินต้องเตรียมตัวและระมัดระวังตัวอย่างดี ป้องกันทุุกอย่างไม่ให้เจ้าหญิงบาดเจ็บ หากสาธิตมวยไทยแล้วเกิดพลาดพลั้งไปแม้เพียงนิด อนาคตความสัมพันธ์ของสองประเทศคงไม่สดใสแน่ สุดท้ายการสาธิตมวยไทยเพื่อสานสัมพันธ์กับจอร์แดนครั้งนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี จนคณะของครูดินและท่านทูตไทยได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับเจ้าหญิงในวัง และเป็นจุดเริ่มต้นให้สถานทูตได้ทำงานด้านวัฒนธรรมร่วมกับเจ้าหญิงต่อ

การเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพามวยไทยไปกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศรอบในสิบปีของ ครูดิน วิทวัส
การเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพามวยไทยไปกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศรอบในสิบปีของ ครูดิน วิทวัส

แอฟริกา พาบุกป่า เยือนสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และสลัม

“การไปแอฟริกานี่คือที่สุดของความลำบากแล้วครับ” ครูดินออกตัวพร้อมเสียงหัวเราะ เพราะโจทย์ที่ได้รับคือ ไปสอนมวยไทยในหมู่บ้านชนบทของประเทศโมซัมบิก แล้วก็ยังเจออุปสรรคด้านภาษา เพราะคนที่นี่ใช้ภาษาโปรตุเกส แล้วคนที่เรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ต้องหากิจกรรมให้เขาสนุุกสนานไปด้วย แต่ข้อดีของการไปสอนมวยไทยในพื้นที่อันห่างไกลก็คือ ที่นั่นไม่มีอะไรเลย มวยไทยจึงเป็นกิจกรรมใหม่ของชีวิตที่ทำให้พวกเขามีความสุข ไปพร้อม ๆ กับได้รู้จักประเทศไทย

จากนั้นครูดินเดินทางต่อไปที่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เพื่อสอนมวยไทยในสลัมและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งคนที่มาเรียนกับครูดินเป็นผู้หญิง เมื่อผู้หญิงได้ขึ้นสังเวียนเดียวกับผู้ชาย เสียงเชียร์ก็จะดังยิ่งขึ้นไปอีก “พอมีผู้หญิงขึ้นไปชก พวกเขาจะตื่นเต้นมากที่เห็นผู้หญิงก็สู้คนได้” ครูดินพูดถึงเพื่อนชาวแอฟริกาในมุมที่น่าสนใจว่า “ร่างกายพวกเขาดูแข็งแรง แต่เขาไม่ได้ชอบการต่อสู้ แม้จะดููแข็งแรงแต่ก็อ่อนโยน และไม่ได้เกิดมาเพื่อต่อสู้ การได้รู้จักมวยไทยทำให้พวกเขารู้จักพื้นฐานการป้องกันตัว และเคารพในศิลปะมวยไทย เพราะมวยไทยไม่ได้ส่งเสริมความรุนแรง แต่เราเรียนไปเพื่อช่วยลดความรุนแรง”

การเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพามวยไทยไปกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศรอบในสิบปีของ ครูดิน วิทวัส
การเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพามวยไทยไปกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศรอบในสิบปีของ ครูดิน วิทวัส

กองทัพทหาร-บ้านคนพิการ ในชิลีกับลิทัวเนีย

การสอนมวยไทยให้นักมวยหรือคนทั่วไปในหลายประเทศไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แต่มวยไทยก็ยังเดินทางไปได้ไกลกว่านั้น ครั้งนี้ครูดินพามวยไทยเข้าไปถึงกองทัพของชิลี ที่นี่ต้องการให้บรรจุมวยไทยเข้าไปอยู่หลักสูตรของกองทัพอย่างจริงจัง เพราะศิลปะการต่อสู้อย่างมวยไทย คือพื้นฐานสำคัญที่ทหารทุกคนควรมี 

“เมื่อไหร่ที่ปืนตก ก็ยังมีศิลปะการต่อสู้เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นเรื่องของจิตวิทยา” ดังนั้น มวยไทยจึงไม่ใช่แค่กีฬาหรือการออกกำลังกาย แต่ยังเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เสริมสร้างกำลังใจด้วย

ไม่ใช่แค่นักมวย ทหาร หรือคนที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะเรียนมวยไทยได้ ที่ลิทัวเนีย ครูดินพามวยไทยไปสาธิตเช่นเคย แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือ คนที่ครูดินยกเป้าให้ชกกำลังนั่งอยู่บนรถเข็น หมัดที่ถูกชกเข้าเป้าไม่ได้มีกำลังมากนัก แต่ก็เป็นกำลังสุดแรงเท่าที่ผู้พิการจะทำได้ ครูดินมีโอกาสสอนมวยไทยให้คนพิการ แม้จะคาดไม่ถึงมาก่อน แต่ครูดินก็เต็มที่กับทุกการสาธิตมวยไทย “ผมต้องเอาเป้าเข้าไปใกล้ ๆ ให้เขาชก เพราะเขาแรงน้อย อย่างบางคนก็นั่งรถเข็น แต่เขาก็สนุก หลังจากสอนเสร็จทุกคนก็มีรอยยิ้ม”

การเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพามวยไทยไปกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศรอบในสิบปีของ ครูดิน วิทวัส
การเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพามวยไทยไปกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศรอบในสิบปีของ ครูดิน วิทวัส

การแลกเปลี่ยนไม่ใช่การสอน

หลังจากการเดินทางไปหลายต่อหลายประเทศ สิ่งหนึ่งที่ครูดินเห็นว่าทุกประเทศมีร่วมกันคือ ทุกประเทศเคารพในมวยไทย และมวยไทยไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อคนอื่น ในจุดที่นักมวยกำลังจะแพ้หรือกำลังจะคว้าชัยชนะ แรงใจของนักมวยมักพุ่งทะยานขึ้น เพราะเสียงเชียร์ที่ดังกระหึ่มจากคนรอบข้าง วินาทีที่กำลังจะแพ้ หากได้หันไปเห็นผู้คนที่มาเชียร์หรือครอบครัวที่ยืนอยู่ข้างสนาม อาจทำให้นักมวยมีแรงฮึดขึ้นสู้ เพื่อคว้าชัยชนะให้กับคนข้างสนามเหล่านั้นได้ ท้ายที่สุด ชัยชนะไม่ได้เป็นเพียงชัยชนะของแค่นักมวยคนเดียว แต่ชัยชนะนั้นเป็นของคนรอบข้างด้วย

“ผมไม่อยากให้เรียกว่านี่คือการสอนมวยไทย ผมเรียกว่ามาแลกเปลี่ยน” การเดินทางพามวยไทยไปสู่สายตาชาวโลกของครูดินได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างทางมากมาย ได้เรียนรู้ว่าทุกประเทศมีศิลปะการต่อสู้และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมคือความละเอียดอ่อนที่ครูดินเองก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศเหล่านั้น

การเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพามวยไทยไปกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศรอบในสิบปีของ ครูดิน วิทวัส

การพามวยไทยไปต่างแดนทำให้เรามองเห็นภาพของประเทศไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้เห็นมุมมองที่ประเทศอื่นมองคนไทย ในหลายแง่มุมมากกว่าที่เคยเป็น

“ถึงผมจะยังหาคำตอบไม่ได้ว่ามวยไทยเปลี่ยนโลกยังไง แต่ผมคิดว่ามวยไทยสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ และทำให้คนรู้จักคนไทยได้มากขึ้น” ครูดินทิ้งท้ายถึงพลังของมวยไทย

การเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพามวยไทยไปกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศรอบในสิบปีของ ครูดิน วิทวัส

ภาพ : กระทรวงการต่างประเทศ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์