‘ศึกษาสิ่งของ เข้าใจผู้คน’ คือสโลแกนเท่ๆ ของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งถ้าใครเคยผ่านมาในรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ก็คงเคยเห็นภาพอาคารที่โอ่โถงสวยงามกันบ้างแล้ว แต่วันนี้เราอยากชวนทุกคนเข้าไปดู ‘ของ’ และ ‘ท่าที’ ต่อของซึ่งถูกจัดแสดงด้านในมิวเซียม ภายใต้การดูแลของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแห่งนี้ว่าเขา ‘ศึกษา’ สิ่งของอะไร? แล้วมีวิธีล้ำๆ ที่จะช่วยทำความ ‘เข้าใจ’ ผู้คนอย่างไร?

“ในฐานะคนที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เราแปลกใจอยู่เสมอที่คนมักจะตื่นเต้นเมื่อเห็นของ โดยเฉพาะของที่เรานึกว่ามันเป็นที่รู้จักทั่วๆ ไป พอเขาเข้ามาเห็นก็จะตั้งคำถามว่าไอ้โน่นคืออะไร พอเราอธิบายไปแล้ว สิ่งที่เรามักได้เห็นคือดวงตาเป็นประกายของคนฟัง

“เขามักจะตื่นเต้น สนใจว่านี่เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน หรือไม่ก็เป็นสิ่งซึ่งอาจจะเคยได้ยินมานานแล้ว แต่ไม่รู้มันทำงานยังไงหรือมันมีหน้าที่อะไร” ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เล่าให้เราฟังว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดประตูให้คนเข้าชมอย่างเป็นทางการมากว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยชื่อของพิพิธภัณฑ์เองก็เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระองค์

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ส่วนคอลเลกชันหรือสิ่งของในครอบครองนั้นหลักๆ มาจาก 2 ส่วน หนึ่งคือ ดร.วินิจ วินิจนัยภาค บริจาคศิลปวัตถุและโบราณวัตถุจำนวนกว่า 2,500 รายการให้กับทางมหาวิทยาลัย และสอง มาจากการศึกษาวิจัยภาคสนามของคณาจารย์ในคณะที่ออกพื้นที่และได้วัตถุมารักษาดูแล รวมถึงจัดแสดงมาโดยตลอด ทำให้ปัจจุบันมีวัตถุที่อยู่ในระบบของพิพิธภัณฑ์มากกว่า 6,000 ชิ้น 

“มีทั้งของเก่าอายุเป็นล้านปี มาจนถึงของที่เพิ่งเก็บขึ้นมาเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ เราอาจไม่มีของที่เด่นหรือสำคัญ (ในแง่โบราณคดี) มาก แต่สิ่งสำคัญของเราคือเรามีของที่หลากหลาย เราไม่ได้สนใจว่ามันเป็นของแท้หรือเก่าอย่างเดียว เรายังสนใจของปลอมหรือของที่ผลิตขึ้นมาไม่นานนี้ สนใจของซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์และวัฒนธรรมได้” อาจารย์สุดแดนกล่าว

เอาเข้าจริง เราอยากจะเปลี่ยนคำว่า ‘หลากหลาย’ เป็น ‘มีแทบทุกอย่าง’ ไปเสียเลย เพราะในคอลเลกชันของที่นี่ ผู้ชมสามารถมาดูได้ตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผายุคศรีสัชนาลัย ยาวมาถึงปูนปั้นหัวหนุมานที่ถูกถอดมาจากศาลาเฉลิมกรุง ของที่มาจากยุโรปอย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ หรือชิ้นส่วนทับหลังจากโบราณสถานในวัฒนธรรมแบบเขมร ของชิ้นใหญ่ยักษ์อย่างเพดานวัด ไปจนถึงของชิ้นจิ๋วอย่างหลอดใส่ ‘รักยม’ ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ซึ่งแน่นอนว่าพอของเหล่านี้มาอยู่รวมกันแล้ว ย่อมต้องมีการคิดกันหลายตลบว่าจะจัดแจง จัดแสดง ตีความ รวมถึงสื่อสารเนื้อเรื่อง ของวัตถุสู่ผู้ชมอย่างไร อาจารย์สุดแดนบอกกับเราว่าพิพิธภัณฑ์ที่นี่เลือกที่จะจัดนิทรรศการ ‘กึ่งถาวร’ คือหมุนเวียนของจัดแสดงไปเรื่อยๆ ทุกๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี

ดังนั้น เมื่อเราไปเยี่ยมชมแต่ละครั้งจะมีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นของใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ อีกทั้งวิธีการจัดนิทรรศการของเขาก็น่าสนใจ กล่าวคือไม่ได้จัดแสดงตามเส้นเวลา (Chronological Order) อย่างเดียว แต่มีการหยิบจับประเด็นที่เราอาจจะนึกไม่ถึงจากวัตถุแต่ละชิ้น 

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

อาทิ การจัดแสดงล่าสุดที่ชื่อ ‘แสง สิ่งของ และการมองเห็น’ (จัดแสดงถึงสิ้นปนี้) ซึ่งไม่ได้เน้นการจัดกลุ่มวัตถุ แต่เน้นการนำเสนอ ‘มุมมอง’ ของนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาที่มีต่อของชิ้นนั้นๆ จากการเขียนสู่การใช้กล้องถ่ายภาพ แปลว่าข้างๆ ของแต่ละชิ้นแทนที่จะมีแค่คำบรรยายสั้นๆ ว่าคืออะไร อายุเท่าไร ได้มาจากที่ไหน ฯลฯ ซึ่งปกติมักจะถูกเขียนด้วยเสียงของบุคคลนิรนามในพิพิธภัณฑ์ เรากลับได้อ่านบทความ (บางอันแทบเรียกได้ว่าเรื่องสั้นชั้นดี) ที่เขียนโดยนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาผู้เลือกของชิ้นนั้นมาจัดแสดง

โดยเล่าเรื่องประสบการณ์ภาคสนามว่าเขาไปเจอของชิ้นนั้นได้อย่างไร มีความผูกพันกับมันอย่างไร เหมือนเป็นบันทึกของอาจารย์ท่านนั้นๆ ทำให้มีความเป็นปัจเจกและอ่านเพลิน แถมยังสามารถโยงไปถึงประเด็นเกี่ยวกับวงการว่านักสังคมศาสตร์มีการเอามุมมองของตัวเองมาใส่ในวัตถุที่ตนศึกษา (โดยเฉพาะวัตถุจากชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมอื่น) มากน้อยแค่ไหน พิพิธภัณฑ์จะมีความเป็นกลางได้หรือไม่ อย่างไร

นอกจากนิทรรศการชั้นล่างแล้ว อีกจุดเด่นของที่นี่คือการทำทางลาดขนาดใหญ่ใจกลางพิพิธภัณฑ์ที่นำพาคนและวีลแชร์ขึ้นไปสู่อีกส่วนสำคัญ คือ ‘Open Storage’ หรือ ‘คลังเปิด’ นั่นเอง

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ระหว่างทางลาดผู้ชมจะค่อยๆ ปรับบรรยากาศและถูกชวนเชื้อให้คิดถึงความหมายของสิ่งของในแง่มุมต่างๆ แต่เมื่อถึงข้างบนผู้ชมจะพบกับห้องคลังที่เต็มไปด้วยวัตถุ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสของได้ด้วยตนเอง ได้ตีความของตามความสนใจของเขาในแต่ละกลุ่มสิ่งของได้ ซึ่งในส่วนนี้มีความเยอะทั้งจำนวนของ ทั้งเรื่องให้เล่า รับรองว่าดูทั้งวันก็ไม่เบื่อ 

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

สุดท้ายเราอยากนำเสนออีกวิธีการจัดการที่น่าสนใจมากกกกก (ก ไก่ ล้านตัว) คือโครงการนำร่องจัดนำวัตถุมาสแกนสามมิติ! โดยโครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์สุดแดนกล่าวถึงเหตุผลหลักๆ ในการทำโครงการนี้กับเราว่า “เรามองว่ามีความสำคัญสองอย่าง หนึ่ง เป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุที่เราคัดสรรมา สามารถบันทึกลักษณะพิเศษของสิ่งของที่เราสแกนได้ ในแง่การเก็บข้อมูล ธรรมดาเรามีภาพถ่ายที่เป็นทะเบียนวัตถุอยู่แล้ว แต่การสแกนทำให้เห็น 360 องศา ช่วยให้เรา Identify ของหรือลักษณะเฉพาะของของแต่ละชิ้นได้

“อีกส่วนหนึ่งเราเชื่อว่าการสแกนจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเอาภาพที่ได้ไปเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป เช่น ทำนิทรรศการออนไลน์ ซึ่งทำให้คนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงวัตถุได้ในเบื้องต้น สามารถพลิกดูได้ทั้งหมด ศึกษาดูเบื้องต้นได้ และหากสนใจจริงๆ อาจจะเข้ามาดูในพิพิธภัณฑ์ของเราได้ในอนาคต”

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

เราโชคดีมากที่ ผศ. ดร.ชาวี บุญรัตน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ให้เกียรติมาสาธิตวิธีการสแกนให้เราดูกันจะจะ! อาจารย์บอกว่าเครื่องสแกนนี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทางสถาปัตย์ ที่คณะมี 2 รุ่น โดยรุ่นใหญ่กว่านี้สามารถสแกนได้ทั้งอาคาร (ราคาอยู่ที่หลักล้าน!) ปกติแล้วใช้สำหรับการเก็บข้อมูลอาคาร โดยเฉพาะข้อมูลโบราณสถาน รวมไปถึงการจำลองแบบอาคารเสมือนสามมิติ (Virtual Building) ที่ให้คนกดเข้าไปลองเดินในบ้านได้

เกิดเป็นไอเดียว่าพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็น่าจะสามารถทำออกมาเป็น Virtual Museum ได้ด้วยเหมือนกัน โดยเริ่มจากสแกนวัตถุซึ่งจะใช้เครื่องสแกนรุ่นที่เล็กกว่า คือ FARO Freestyle 3D ทำงานโดยใช้เลเซอร์วัดระยะ หรืออีกวิธีคือการใช้กล้องถ่ายรูปธรรมดานี่แหละ แต่เก็บภาพจากมุมรอบๆ ทุกด้าน (เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับ 360 องศา คือแทนที่เราจะอยู่ตรงกลางแล้วหมุนถ่ายรูปรอบตัว แต่กลับเอาของมาวางไว้ตรงกลางแล้วเราเดินวนถ่ายรูปเขาแทน) โดยโปรแกรมจะสร้างภาพสามมิติขึ้นมาโดยการเก็บข้อมูลเป็นจุดๆ ในพื้นที่สามมิติ หรือที่เรียกว่า Point Cloud และอ่านเทียบตำแหน่งจุดจากความแตกต่างของจุดหนึ่งไปยังอีกจุด

ดังนั้น เวลาสแกนจะต้องเลือกวัตถุที่มีพื้นผิวด้าน ไม่โปรงแสง ไม่สะท้อนกับแสงเท่าไร ยิ่งสแกนเยอะ Point Cloud ก็จะยิ่งหนาขึ้น ยิ่งหนามากเท่าไรก็จะมีความใกล้เคียงกับวัตถุจริงมากเท่านั้น 

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

อย่างไรก็ดี แม้เครื่องจะจับลักษณะพื้นผิว รวมไปถึงสีของวัตถุที่ค่อนข้างใกล้เคียงแล้ว ความผิดพลาดหรือ Scan Error ก็ยังมีอยู่ อาทิ วัตถุพวกไห เราอาจไม่สามารถเอาเครื่องเข้าไปสแกนด้านในของไหได้ ดังนั้น ก็จะมีบางส่วนที่หายไป ตรงนี้อาจจะต้องไปแก้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลังสแกนอีกที โดยเอาข้อมูลที่ได้มาไปแปรค่าลงบนโครงสร้าง แล้วตกแต่งให้เต็มด้วยโปรแกรมสามมิติอื่นๆ เช่น Maya เพื่อให้ขนาดไฟล์ไม่ใหญ่เกินไป เหมาะสำหรับที่จะเอาขึ้นบนเว็บไซต์ได้ 

แน่นอนว่าการอัพโหลดออนไลน์นี้จะทำให้คนเข้าถึงมันได้ 24 ชั่วโมงจากหน้าจอของตัวเอง และสามารถหมุนดูและเล่นกับมันได้มากขึ้นกว่าที่อยู่ในคลังหรือหลังกระจกตู้จัดแสดง แถมทางทีมงานยังแง้มๆ กับเราว่าในอนาคตอาจจะมีการพิมพ์วัตถุสามมิติออกมาให้ผู้ใช้ได้สัมผัสและเรียนรู้จากมันด้วย! 

แม้ว่าการสแกนสามมิติจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการพิพิธภัณฑ์สากลซะทีเดียว แต่โครงการนำร่องของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินี้ก็อาจถือเป็นอีกก้าวเล็กๆ ที่จะผลักดันวงการพิพิธภัณฑ์ในบ้านเราให้หันมามอง ‘มูลค่า’ ของวัตถุ ไม่เพียงแค่ในความเก่าหรือความแท้ของวัตถุเท่านั้น 

แต่ยังครอบคลุมไปถึงความเชื่อมโยงจากวัตถุเหล่านั้นต่อผู้ชมอีกด้วย

อย่างที่อาจารย์สุดแดนได้บอกกับเราทิ้งท้ายไว้ว่า “ของเป็นสื่อกลางที่ทำให้มนุษย์ซึ่งอาจจะเป็นคนรุ่นปัจจุบัน ได้เห็นและเชื่อมโยงกับมนุษย์ยุคก่อนหน้านั้น เมื่อคนทั้งสองยุคได้รู้จักกันแล้วเขาจะรู้สึกว่า เอ้อ มันไม่ได้แตกต่างกันเลย”

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร