ตราดาวสามแฉกของ Mercedes-Benz คือสัญลักษณ์ของความหรูหรา ความสะดวกสบาย และยานพาหนะที่ปลอดภัย ในสายตาผู้ใช้และคนทั่วไป

แต่เบื้องหลังการผลิตรถยนต์หนึ่งคันของ Mercedes-Benz มีอะไรยิ่งกว่า

Mercedes-Benz เป็นแบรนด์สัญชาติเยอรมนีที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีเป้าหมายผลิตรถโดยสารหรูมาตั้งแต่แรกเริ่ม แนวคิดในการทำธุรกิจคือคำว่า ‘ดีที่สุด’ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์รักษาคุณภาพมาโดยตลอด แบรนด์ให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับลูกค้า และหลักการการออกแบบต้องสมดุลระหว่างเทคโนโลยีนำสมัยและความรู้สึกของผู้ใช้งาน

13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’

หนึ่งในผู้ก่อตั้งคือคนที่ผลิตรถใช้เครื่องยนต์คันแรกของโลก 

และแม้จะมีอายุถึง 95 ปี Mercedes-Benz ยังครองตำแหน่งผู้นำด้านนวัตกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่ริเริ่มนำเบาะหนังไปใช้กับยานพาหนะ คิดค้น Intelligence Drive ระบบความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เป็นรถยี่ห้อแรกๆ ที่นำ Airbag มาใส่ในระบบความปลอดภัย หมั่นปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้ใช้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่อย่างเทคโนโลยีรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องเล็กๆ อย่างการเพิ่มเฉดสีไฟในรถ

The Cloud ชวนคุณมาไขความลับของ Mercedes-Benz ที่ครองใจผู้ใช้มาเกือบศตวรรษ กับบทบาท ‘รถในฝัน’ ของใครหลายๆ คน

13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’

1. Mercedes-Benz คือผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์มาตั้งแต่จุดเริ่มต้นใน ค.ศ. 1926 เกิดขึ้นจากสองวิศวกรผู้ผลิตรถใช้เครื่องยนต์ของเยอรมนีและภาวะเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 

ขณะที่ผู้คนใช้รถม้าในการสัญจร คาร์ล เบนซ์ (Karl Benz) เริ่มพัฒนารถเป็นคนคิดค้นรถยนต์คันแรกของโลกได้สำเร็จ มีลักษณะเป็นรถยนต์สามล้อ และเป็น เบอร์ธา เบนซ์ (Bertha Benz) ภรรยาของเขาที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์นี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เธอใช้รถยนต์สามล้อเดินทางไกล 106 กิโลเมตร ในเวลา 12 ชั่วโมง นับเป็นการเดินทางไกลโดยรถที่ใช้เครื่องยนต์ครั้งแรก ซึ่งในทริปนั้นทำให้เธอเห็นโอกาสในการพัฒนารถยนต์ และได้คิดค้นนวัตกรรมผ้าเบรก 

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็อทลีพ ไดม์เลอร์ (Gottlieb Daimler) คู่แข่งของเขาก็ผลิตรถยนต์สี่ล้อ จนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายธุรกิจจำต้องปิดตัวเพราะพิษเศรษฐกิจและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงานต่างๆ สองคนนี้กลับตัดสินใจควบรวมบริษัทจนเป็น Mercedes-Benz ตั้งแต่ ค.ศ. 1926 มาถึงปัจจุบัน โดยตั้งใจจะผลิตรถโดยสารหรูมาตั้งแต่ต้น

ส่วนคำว่า Mercedes เป็นชื่อของลูกสาวนักแข่งรถ เอมิล เจลลิเนก (Emil Jellinek) เป็นคนแรกที่นำรถยนต์จากโรงงานของแบรนด์ไปขายต่อและขายดีมากๆ จนได้รับสมญานามว่า ดีลเลอร์คนแรกของ Mercedes-Benz

2. ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’ เป็นทั้งสโลแกนและแนวคิดในการทำธุรกิจของแบรนด์

สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจของ Mercedes-Benz คือคำว่า The Best และสโลแกน The Best or Nothing เป็นคติประจำใจของพนักงานทุกคนที่ตั้งใจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุดในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่นวัตกรรม สมรรถนะ ดีไซน์ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม 

เป็นเหตุผลให้เบนซ์ควบรวมธุรกิจกับแบรนด์ยานยนต์ระดับโลกเพื่อสร้างรถที่ตอบโจทย์การใช้งานทุกแบบ เช่น Mercedes-AMG สำหรับคนที่ชอบความเร็ว หรือ Mercedes-Maybach ที่หรูหรายิ่งขึ้น

สิ่งเหล่านี้นำเสนอผ่านสัญลักษณ์บนโลโก้ของแบรนด์ตั้งแต่ยุคก่อน ดาวสามแฉกหมายถึงการเป็นผู้นำและเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งสามแฉกบนแทนอากาศ แฉกซ้ายขวาแทนบกและน้ำ ช่อลอเรลเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ส่วนวงกลมด้านนอกคือโลกใบนี้ ซึ่งสัญลักษณ์ดั้งเดิมนี้จะเห็นบนชุดพนักงานที่โรงงานประกอบรถยนต์เท่านั้น

3. ริเริ่มนวัตกรรมมากมาย ทั้งการนำเบาะหนังมาใช้กับรถยนต์ ไปจนถึงระบบความปลอดภัยอย่าง Airbag

ในยุคที่ใครๆ ก็เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย โจทย์ในการผลิตรถยนต์ที่ Mercedes-Benz ยึดถือมาตลอดมี 2 ข้อหลักๆ คือ หนึ่ง ความหรูหราและความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยที่คาร์ล เบนซ์ นำเบาะหนังลักษณะคล้ายโซฟาไปใส่ในรถยนต์สามล้อของตัวเอง และสอง ความปลอดภัย รถยนต์ของแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใดก็ตามต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยดีเยี่ยม และยังเป็นแบรนด์แรกๆ ที่นำเทคโลโยี Airbag มาใช้กับรถยนต์เมื่อ ค.ศ.1981 และยังเป็นแบรนด์ผู้นำที่ทำให้การผลิตรถหรูเข้ากระบวนการแบบ Mass Production

Mercedes-Benz ยังคิดค้นระบบ Intelligent Drive ที่ช่วยเหลือผู้ขับขี่เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ยกตัวอย่างเช่น ระบบควบคุมการทรงตัวอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำงานหากมีล้อใดล้อหนึ่งหมุนด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากับล้ออื่นขณะขับขี่ ระบบจะตัดกำลังหรือเบรกที่ล้อๆ นั้น เพื่อให้รถกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม หรือระบบ Brake Assist เมื่อลูกค้าเหยียบแป้นเบรก ตัวรถจะเพิ่มแรงดันเบรกเข้าไป ทำให้ไม่ต้องเหยียบเบรกแรงเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน

13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’
13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’

4. ใช้หลักการออกแบบ 6 ข้อ เพื่อให้รถทุกรุ่นมีเอกลักษณ์เดียวกัน

โจทย์ใหญ่ของการออกแบบยานยนต์คือ การออกแบบอนาคตหรือสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครเห็น ในขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าดีไซน์นี้จะยังดูสวยไม่ตกยุคต่อไปอีกอย่างน้อยก็ 10 ปี ปรัชญาดีไซน์ของแบรนด์คือ Sensual Purity ต้องเรียบง่ายแต่ตระการตายิ่งขึ้น โดยดีไซเนอร์ทุกทีมให้ความสำคัญกับสองขั้วตรงข้าม ได้แก่ เทคโนโลยีและความรู้สึกของผู้ใช้ หรือ Hot and Cool 

Hot คือความสวยงาม น่าหลงใหล เปรียบเหมือน ก็อทลีพ ไดม์เลอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งที่สนใจรถคลาสสิกและรถแข่งในยุคแรกๆ ส่วน Cool คือ คาร์ล เบนซ์ ผู้ก่อตั้งอีกคนที่ให้ความสำคัญกับเทคนิคและนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 

และแม้ดีไซน์ของรถแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันไปตามคาแรกเตอร์และกลุ่มเป้าหมาย แต่มีหลักการทั้ง 6 ที่เหมือนกันทุกคันทุกรุ่น และเป็นเอกลักษณ์ที่แม้จะถอดโลโก้ออกก็ยังรู้ว่าเป็น Mercedes-Benz อันได้แก่ 

1. ประสบการณ์ที่ไม่คาดคิด

2. ดีเทลที่ต่างกันสองขั้ว

3. สัดส่วนไร้ที่ติ

4. รูปแบบอิสระและเรขาคณิต

5. การออกแบบที่มีนัยสำคัญ

6. เสน่ห์โดยธรรมชาติ

5. ปรัชญา One Man, One Engine

แบรนด์มองว่าการประกอบเครื่องยนต์เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง และเพราะเชื่อในสิ่งที่ดีที่สุด รถยนต์ Mercedez-AMG ทุกรุ่นจึงใช้ระบบการผลิตตามปรัชญา One Man, One Engine ที่โรงงานในเมือง Affalterbach ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีพนักงานประมาณ 1,400 คน

หนึ่งเครื่องยนต์จะประกอบด้วยมือของช่างฝีมือหนึ่งคน ซึ่งแต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องยนต์รูปแบบที่ต่างกันออกไป เมื่อเสร็จสมบูรณ์ทุกขั้นตอนแล้ว ช่างจะติดป้ายชื่อที่เขียนว่า “Handcrafted by…” นั่นแปลว่า แม้จะเป็นรถยนต์รุ่นเดียวกัน คนที่ประกอบเครื่องยนต์ของรถแต่ละกันอาจเป็นคนละคนก็ได้

6. แบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร (Sales Talk) จนต้องมีตำแหน่ง Product Expert คอยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ

การผลิตรถยนต์หนึ่งคันไม่ได้เริ่มจากแค่ศาสตร์ทางวิศวกรรมเหมือนสมัยก่อน แต่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น นักเคมีทำให้เครื่องยนต์เผาไหม้สะอาดขึ้น นักออกแบบทำให้เบาะสบายขึ้น และด้วยเทคโนโลยีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในทุกวัน

รถบางรุ่นแตกต่างกันที่รายละเอียดเล็กๆ สมรรถนะที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา และนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีบางอย่างต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการบอกเล่า ทำให้การสื่อสารระหว่างพนักงานขายและลูกค้ารวมถึงการสื่อสารทางการตลาดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด Mercedes-Benz จึงมีตำแหน่ง Product Expert ที่คอยสนับสนุนการทำงานของฝ่ายขาย คอยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งตำแหน่งนี้ต้องผ่านการอบรมอย่างจริงจังเกี่ยวกับแบรนดิ้งและผลิตภัณฑ์ทุกครั้งที่มีรถรุ่นใหม่วางขาย

13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’
13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’

7. ออกแบบโชว์รูมที่รวมพื้นที่ฝ่ายขายและฝ่ายบริการหลังการขายไว้ด้วยกัน เพื่อตอบรับกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด

จากเดิมเป็นโชว์รูมรถยนต์ทั่วไปที่พื้นที่ฝ่ายขายแยกออกจากพื้นที่ฝั่งเซอร์วิสหรือฝ่ายบริการหลังการขาย โชว์รูมรูปแบบใหม่คือการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยมีตำแหน่ง Star Assistant คอยต้อนรับลูกค้าทุกคน เพื่อถามความต้องการในการเข้ารับบริการครั้งนั้น ลูกค้าที่นำรถเก่ามาตรวจเช็กก็ไม่จำเป็นต้องนั่งรอในห้องรับรองอย่างเดียว แต่สามารถเดินดูรถใหม่หรือคุยกับพนักงานฝ่ายขายได้เช่นกัน

Mercedes-Benz ยังคิดมากไปกว่านั้น จึงออกแบบให้มีร้านกาแฟขนาดย่อมและห้องอาหาร ไปจนถึงห้องเอนเตอร์เทนเมนต์สำหรับลูกๆ ที่มาซื้อรถกับพ่อ หรือแม้แต่จอมอนิเตอร์เล็กใหญ่ที่มีทั่วทุกมุมของโชว์รูม ก็เชื่อมกับไอแพดของพนักงานขาย ทำให้ควบคุมนำเสนอสินค้าต่างขึ้นหน้าจอได้เลย

กว่าจะเป็นบริการที่ราบรื่นไร้ที่ติ พนักงานทุกคนต้องจำลอง Customer Journey ตั้งแต่จอดรถจนถึงขับรถออกไป โดยมีที่ Primus Autohaus เป็นโชว์รูมแรกนำร่องในประเทศไทย

8. วันส่งมอบรถเป็นวันที่สำคัญที่สุดในการสร้างความประทับใจ 

ตัวแทนจำหน่าย Mercedes-Benz แต่ละสาขามีประเพณีการส่งมอบรถที่แตกต่างกัน ซึ่งความสำคัญของวันนี้คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าว่า หากต้องการความช่วยเหลือ จะมีคนคอยดูแลอย่างแน่นอน ลูกค้าจะได้เจอกับพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการหลังการขายทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้จัดการศูนย์บริการ ผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ และผู้จัดการฝ่ายขาย 

ยกตัวอย่างประสบการณ์การส่งมอบรถที่ตัวแทนจำหน่าย Primus Autohaus พนักงานจะแอบทำการบ้านเกี่ยวกับลูกค้าก่อน ลูกค้าชอบอะไร สนใจอะไร เช่น ลูกค้าบางคนเป็นแฟนบอลทีมลิเวอร์พูล พนักงานจะเปลี่ยนโฉมโชว์รูมให้เป็นธีมสนามบอล พร้อมตกแต่งด้วยของที่ระลึกแบรนด์ลิเวอร์พูล หรือครั้งหนึ่งมีลูกค้าเป็นนักการทูต พนักงานสอบถามภรรยาของเขาล่วงหน้าเพื่อเตรียมไวน์ที่ชอบให้ดื่ม และเปิดเพลงที่ชอบสร้างบรรยากาศ เป็นต้น

9. ให้ความสำคัญกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อม พัฒนารถยนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ปัจจุบันซึ่งผ่านมาตรฐาน EURO5 

Mercedes-Benz เป็นผู้นำด้านรถไฟฟ้า ส่วนในประเทศไทยเริ่มปรับตัวโดยการจำหน่ายรถยนต์ Plug-in Hybrid ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินร่วมกับไฟฟ้าก่อน เนื่องจากยังมีสถานีชาร์จไม่ครอบคลุมในหลายๆ พื้นที่ สิ่งที่ได้จากรถยนต์ประเภทนี้คือสมรรถนะที่สูงขึ้น ในขณะที่ใช้น้ำมันน้อยลง รวมถึงค่ามลพิษที่เกิดจากการใช้งานน้อยลงไปด้วย ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลทุกรุ่นก็ผ่านมาตรฐาน EURO5 ที่ควบคุมการปล่อยมลพิษของรถยนต์ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป โดยลดเขม่าและสารพิษที่ออกจากท่อไอเสีย ซึ่งทำให้เกิดแก๊สที่ทำลายเยื่อโพรงจมูก

10. ลบภาพจำเดิมๆ เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ในตลาดเป็นรถรุ่น GLA 200 ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์วัยหนุ่มสาวและคนเมืองโดยเฉพาะ

เรามักมีภาพจำว่า Mercedez-Benz คือแบรนด์ของผู้ใหญ่ ดูภูมิฐาน มั่นคง แต่ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย ทำให้แบรนด์ออกแบบรถรุ่น GLA 200 ซิตี้คาร์รุ่นล่าสุดของแบรนด์ ถ้าเปรียบเทียบคงเป็นเหมือนฝาแฝดของรถรุ่นคลาสสิกอย่าง A-Class ที่ให้ภาพลักษณ์ทะมัดทะแมงกว่า สปอร์ตกว่า มีพื้นที่จัดเก็บสิ่งของได้มากกว่า ด้วยเครื่องยนต์ขนาดเล็ก 1,300 ซีซีเหมือนอีโค่คาร์ทั่วไป แต่เพราะเทคโนโลยีเทอร์โบและวัสดุของเครื่องยนต์ ทำให้มีแรงม้าที่มากกว่าเทียบเท่ากับเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี นั่นหมายความว่า รถรุ่นนี้มีสมรรถนะเหมือนรถยนต์เครื่อง 2,000 ซีซี แต่ใช้น้ำมันเท่าเครื่องยนต์ 1,300 ซีซีเท่านั้น อันเป็นที่มาของรหัส 200 ด้านหลังชื่อรุ่น

ดีไซน์ภายในออกแบบแบบมินิมอล ลดปุ่มต่างๆ หรือซ้อนตำแหน่งปุ่มต่างๆ มีระบบ AI ที่ Mercedes-Benz พัฒนาขึ้นทำให้ผู้ขับขี่เลือกสั่งงานด้วยเสียงได้ โดยสามารถคุยได้ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้แค่คีย์เวิร์ดอีกต่อไป

ที่สำคัญ รถรุ่นนี้ทำการประกอบทั้งหมดในประเทศไทย

13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’

11. ไม่ได้พัฒนาแค่เทคโนโลยีและความสวยงามอย่างเดียว Mercedes-Benz ใส่ใจในฟังก์ชันเล็กๆ จาก Pain Point ของผู้ใช้

Mercedes-Benz ออกแบบรถทุกรุ่นโดยยึดจากการใช้งานของผู้ใช้ที่ดีที่สุดเป็นหลักเสมอ เช่น มีฟังก์ชันเปิดหน้าต่างเพื่อระบายความร้อนจากกุญแจรถ โดยไม่ต้องขึ้นรถและสตาร์ทรถก่อน กุญแจยังมีระบบ Independent Lock คือการปลดล็อกเฉพาะประตูฝั่งคนขับ ในกรณีที่ใช้รถคนเดียวเพื่อความปลอดภัย

13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’

แม้จะพัฒนารูปลักษณ์มาเรื่อยๆ เพราะเป็นสิ่งแรกที่คนทั่วไปชื่นชมว่าสวยทันสมัยแค่ไหน แต่สุดท้ายคนขับต้องอยู่กับภายในมากกว่า ทีมออกแบบของ Mercedes-Benz เลยให้ความสำคัญกับภายในรถไม่แพ้กัน การออกแบบต้องมั่นใจว่าคนขับจะไม่เบื่อรถคันเดิมแม้เวลาผ่านไป

รถ Mercedes-Benz ทุกรุ่นจึงมีฟังก์ชันเปลี่ยนสีไฟบรรยากาศในรถได้ 5 – 12 สี ถ้าคิดว่านั่นเยอะแล้ว รถรุ่นใหม่อย่าง GLA 200 มีไฟให้เลือกถึง 64 สี เพราะแบรนด์มองว่าเฉดสีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้หญิง 

13 เบื้องหลังของ Mercedes-Benz แบรนด์ที่เชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็อย่าทำเลย’

12. อนุรักษ์รถรุ่นคลาสสิกให้คงอยู่โดยการสร้าง Mercedes-Benz Classic Center 

เพราะเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีอายุเกือบร้อยปี ทำให้มีรถปีเก่ารุ่นคลาสสิกอยู่ไม่น้อย Mercedez-Benz จึงก่อตั้งศูนย์บริการรับซ่อม เปลี่ยนอะไหล่ ชุบชีวิตรถรุ่นที่เลิกผลิตไปแล้วอย่างน้อย 15 ปีตั้งแต่ ค.ศ.1993 เพื่อให้บริการข้อมูล ความรู้ และคำแนะนำกับเจ้าของรถรุ่นคลาสสิก ทั้งยังมีหน้าที่ดูแลทำนุบำรุงรถยนต์ประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงใน Mercedes-Benz Museum 160 คัน รวมถึงรถของบริษัทอีกกว่าหนึ่งพันคัน โดยผู้เชี่ยวชาญที่ส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบันมี 2 ที่ด้วยกัน ได้แก่ เมือง Fellbach ประเทศเยอรมนีและ Irvine รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งสาขาแคลิฟอร์เนียมีบริหารให้เช่ารถรุ่นคลาสสิกสำหรับถ่ายโฆษณาหรือภาพยนตร์ด้วย

แนวคิดในการทำงานของ Mercedes-Benz Classic Center คือไม่มีงานไหนเล็กเกินไปหรือใหญ่เกินไป และการยกเครื่องรถทั้งคันให้เหมือนใหม่ทั้งหมดต้องใช้เวลา 2 ปีเต็ม แม้จะเร่งรัดให้เหลือแค่ปีกว่าๆ ได้ แต่ Mercedes-Benz ก็ไม่ทำ เพราะความสมบูรณ์แบบมาพร้อมเวลาที่เพิ่มขึ้น 

และคงเหมือนกับสโลแกนของแบรนด์ที่ว่า ‘The Best or Nothing’ อย่างไรอย่างนั้น

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล