ในบทความก่อน ๆ ผมเคยได้เกริ่นเล่าเรื่องมาแล้วว่า ชาวคริสเตียนรวมทั้งบาทหลวงมากมายเข้ามาในเมืองสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง บรรดาบาทหลวงเหล่านี้เดินทางเข้ามาพร้อมกับเรือบรรทุกสินค้าที่เดินทางสัญจรไปรอบโลกในยุคแห่งการค้นพบ (Age of Discovery) 

โลกใหม่หรือทวีปอเมริกาสร้างความมั่งคั่งให้กับกษัตริย์ชาวสเปน และเมืองท่าต่าง ๆ ในเอเชียก็มีทรัพย์สินเต็มพระคลังราชสำนักโปรตุเกส เรือของกษัตริย์คาทอลิกเหล่านี้จึงแล่นไปพร้อมกับบาทหลวงประจำเรือ ทำหน้าที่ดูแลอภิบาลชุมชนตามชาติภาษาของตน ตามเมืองท่าอาณานิคมเล็ก ๆ ริมชายฝั่ง ยิ่งดินแดนใดที่มีบรรดา Creole หรือพวกลูกครึ่งชาวพื้นเมืองเกิดมากจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ เช่น ในกรุงศรีอยุธยา พะสิม ศรีลังกา หรือมะนิลา งานดูแลชาวคริสต์พื้นเมืองหลายพันคนใน ‘ค่าย’ หรือชุมชนชาวคริสต์ต่าง ๆ ก็กินเวลาบาทหลวงเหล่านั้น จนไม่อาจปลีกตัวออกไปเผยแผ่ศาสนาให้กับชาวพื้นเมืองอื่น ๆ ได้ 

บาทหลวงเหล่านี้จึงทำงานอยู่ในค่ายชุมชนตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ่ นี่ยังไม่นับรวมบรรดาบาทหลวงที่ขาดจิตตารมณ์ของการแพร่ธรรม แต่กลับเดินทางออกจากยุโรปเพื่อแสวงหาความร่ำรวย จากการค้าขายกับดินแดนห่างไกลในเอเชีย สินค้าแปลก ๆ และเครื่องเทศบันดาลความมั่งคั่งอย่างไม่อาจจินตนาการได้ในทวีปยุโรป

เจาะลึก 350 ปีการหยั่งรากของคริสต์ศาสนาลงในสยาม ในนิทรรศการคณะมิสซัง MEP ที่ปารีส
เจาะลึก 350 ปีการหยั่งรากของคริสต์ศาสนาลงในสยาม ในนิทรรศการคณะมิสซัง MEP ที่ปารีส
เรือสำเภาจำลองที่คณะมิชชันนารีใช้เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา

กำเนิดคณะ MEP บาทหลวงในดินแดนตะวันออกไกล

ด้วยบาทหลวงทำงานอยู่แต่ในค่ายของชนชาติตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาการแพร่ธรรมที่ไม่เกิดผลในเอเชีย สันตะสำนักแห่งโรมไม่อาจนิ่งนอนใจ จึงก่อตั้งกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ (Propaganda Fide) ขึ้นในปี 1622 ในรัชสมัยพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 15 มีจุดประสงค์ในการประกาศข่าวดีของพระคริสต์ออกไปสู่ชาวต่างชาติ และผู้ที่รับเป็นแม่งานใหญ่คือราชสำนักแห่งฝรั่งเศส 

คณะนักบวชมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Paris Foreign Missions Society หรือเรียกสั้น ๆ ว่า MEP) จึงเกิดขึ้น เพื่อส่งบรรดามิชชันนารีไปยังดินแดนที่อำนาจทางการค้าของชาวโปรตุเกสและสเปนไปไม่ถึง หรือยังไม่มั่นคงนัก ซึ่งในสมัยนั้นหมายถึงประเทศจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งบางส่วนของเวียดนาม 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองในจีนขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเผยแผ่ศาสนาใหม่นัก บรรดาบาทหลวงที่ถูกส่งออกไปจึงไปตกค้างอยู่ในดินแดนที่ให้เสรีภาพทางศาสนามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในยุคนั้น คือ ‘กรุงศรีอยุธยา’ และลงหลักปักฐานเผยแผ่ศาสนาในสยามตั้งแต่นั้นมา 

จวบจนในปีนี้ คณะ MEP จึงจัดให้มีการเฉลิมฉลอง 350 ปีการแพร่ธรรมของบาทหลวงเหล่านี้ขึ้น โดยจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับคณะ MEP ขึ้นในอารามประจำคณะในกรุงปารีส – ถือว่าเป็นครั้งแรกของคณะที่ฉลองความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และค่อนข้างพิเศษไปกว่านั้นตรงที่ บรรดามิชชันนารีของคณะนี้เริ่มงานแพร่ธรรมแรก ๆ ในกรุงศรีอยุธยา คณะ MEP มีอายุ 360 ปี ส่วนการแพร่ธรรมในอยุธยานั้นเริ่มมาถึง 350 ปีแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ. 2205 ในสมัยพระนารายณ์) 

น่าเสียดายที่ ‘บ้านแรก’ ของคณะที่กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายไปในกองเพลิงในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แต่เรายังสังเกตเห็นซากอิฐบางส่วนได้ภายในวัดนักบุญยอแซฟ ที่ตำบลสำเภาล่ม (ส่วนตัววัดปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยปลายรัชกาลที่ 5)

เจาะลึก 350 ปีการหยั่งรากของคริสต์ศาสนาลงในสยาม ในนิทรรศการคณะมิสซัง MEP ที่ปารีส
บาทหลวงฟรองซัว ปัลลือ มิชชันนารีชาวฝรั่งผู้บุกเบิกงานแพร่ธรรมที่กรุงศรีอยุธยา
ภาพ : missionsetrangeres.com
เจาะลึก 350 ปีการหยั่งรากของคริสต์ศาสนาลงในสยาม ในนิทรรศการคณะมิสซัง MEP ที่ปารีส
ภาพถ่ายขาวดำการทำงานของบรรดามิชชันนารีในอดีตภายในนิทรรศการ

นิทรรศการรำลึก 350 ปี การส่งมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสมายังสยาม

สำหรับท่านผู้อ่านต่างศาสนิก อาจจะงงกับคำว่า ‘คณะ’ ในศาสนาคริสต์ บาทหลวงและนักบวชรวมทั้งแม่ชี ซิสเตอร์ จำเป็นต้องมีการสังกัด ‘คณะ’ ที่มีจุดประสงค์ในการทำงานแตกต่างกัน ที่คุ้นหูคนไทยมาก ๆ ก็เช่น คณะเซนต์คาเบรียล คณะเยสุอิต คณะโดมินิกัน คณะฟรังซิสกัน ฯลฯ 

คณะ MEP ถือเป็นคณะบาทหลวงที่ทำงานในประเทศไทยยาวนานที่สุด โดยไม่เคยทิ้งร้างห่างช่วงไปเลยตลอด 350 ปี แม้ว่าจะประสบความยากลำบากหลายต่อหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ปฏิวัติของพระเพทราชาที่มีการทำลายหมู่บ้านชาวคริสต์ หรือเหตุการณ์พิพาทอินโดจีนที่ศาสนาคริสต์ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นจารชนให้ฝรั่งเศส และเป็นคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่สืบทอดงานลงหลักปักฐานศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในสยามให้มั่นคงมาจนทุกวันนี้

ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณพ่อปัตทวี วงศ์ศรีแก้ว บาทหลวงจากมิสซังอุบลราชธานี ที่ตอนนี้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านแนะนำให้ไปชมนิทรรศการนี้ ณ บ้านของคณะ MEP ที่กรุงปารีส ผมก็บอกไปว่าตอนนี้คงไม่มีโอกาสไปหรอก ทั้งโควิด ทั้งสถานการณ์โลกต่าง ๆ (แน่นอนเงินในกระเป๋าด้วย)

“พ่อช่วยเล่าเรื่องความเป็นมาและสถานการณ์ของคณะ MEP ในตอนนี้ให้ฟังได้ไหมครับ” 

“MEP ตอนนี้เขายังทำงานอยู่ แม้ว่าจะผ่านมาเกือบ 400 ปีแล้ว ทั่วโลกมีบาทหลวงราว ๆ 180 องค์ใน 13 ประเทศ ส่วนในปารีสมีบาทหลวงประจำที่ศูนย์ฯ อยู่ราว ๆ 15 – 20 องค์ มีผู้เตรียมตัวบวชอีกราว ๆ 17 องค์ เขาก็ประสบปัญหาขาดแคลนบาทหลวงเหมือนกัน เพราะสมัยนี้คนสนใจจะบวชมีน้อย เลยจัดเตรียมทุนไว้ให้ฆราวาสแพร่ธรรม ทุนนี้มีมาเป็นร้อยปีแล้ว สำหรับเยาวชนที่อยากสัมผัสบรรยากาศของการแพร่ธรรมในดินแดนห่างไกล เป็นทุนให้เปล่า 1 ปี กลับมาจะตัดสินใจบวชหรือไม่ก็ได้ ส่วนมากเขาก็จะไปทำงานในที่ที่กันดาร อย่างแอฟริกา เวียดนาม แต่ละปีก็จะมีอาสาสมัครออกไปทำงานปีละราว ๆ 150 คน”

“แล้วในไทยเป็นยังไงบ้างครับ”

“MEP ในไทยเนี่ย เขาโอบอุ้มและตั้งหลักให้พระศาสนจักรคาทอลิกไทยมาตั้ง 300 ปีแล้ว ลงหลักปักฐานให้จนมั่นคง เขาก็จะมีนโยบายว่า ประเทศไหนที่ศาสนจักรคาทอลิกมั่นคงแล้ว ก็จะค่อย ๆ ถอนตัวออกไปทำงานในประเทศอื่น ๆ ต่อ แต่บ้านของคณะในไทยก็ยังมีนะ อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดแขกสีลมไง” 

ผมนึกถึงบ้านของคณะ MEP มีรั้วอิฐแดงข้างป้ายรถเมล์ตรงข้ามวัดแขก ข้างในมีโบสถ์หลังเล็ก ๆ เงียบ ๆ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ออกไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล

พ่อปัตทวีเสริมว่า

“ถ้าใครมาชมนิทรรศการเองไม่ได้ ก็มีนิทรรศการแบบออนไลน์ด้วยนะ เข้าไปชมได้ เป็นแบบ Virtual Online Tours” พ่อวีบอก สำหรับผู้สนใจจะชม เข้าลิงก์นี้ได้เลย มีข้อมูลแปลเป็น 3 ภาษา ฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย

ผมลองเข้าไปชมแล้ว เป็นนิทรรศการเล็ก ๆ แต่รวบรวมวัตถุสิ่งของหลายชิ้นที่นำมาจากสยาม ทั้งสมุดข่อย สมุดไทย ตำรายาแพทย์แผนพื้นบ้านต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกประจำวันของของออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ราชทูตไทยที่เดินทางมายังฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ให้รายละเอียดการเดินทางไปฝรั่งเศสลึกซึ้งอย่างเหลือเชื่อ (ใครที่คิดว่าชาวสยามไม่ชอบการจดบันทึก ต้องลองอ่านไดอารี่เล่มนี้ของท่าน)

“สมัยพระนารายณ์ บาทหลวง MEP บางท่านเดินทางมาเป็นล่ามให้ที่นี่ พวกเขาจึงแวะกลับมายังบ้านเดิมของคณะ และพาราชทูตไทยมารับประทานอาหารค่ำที่นี่ด้วย ยังมีรูปอยู่เลยนะ เป็นรูปสีน้ำมันที่ตอนนี้ตกเป็นสมบัติเอกชน แสดงภาพขุนนางสวมครุยใส่ลอมพอก หรือเครื่องประดับศีรษะสีขาวทรงแหลมที่เราเห็นบ่อย ๆ ในงานพระราชพิธี กำลังนั่งโต๊ะล้อมวงกับบาทหลวง เขากินข้าวกันที่ตึกนี้แหละ แต่ไม่ทราบว่าห้องไหน เพราะมันก็ผ่านเวลามาตั้ง 300 กว่าปีแล้ว” คุณพ่อเอาภาพวาดมาให้ดูพร้อมบอกว่า ภาพนี้ยังไม่เคยเอามาจัดแสดงที่ไหนมาก่อนเลย

เจาะลึก 350 ปีการหยั่งรากของคริสต์ศาสนาลงในสยาม ในนิทรรศการคณะมิสซัง MEP ที่ปารีส
ตึกของคณะ MEP ซึ่งเคยรับรองคณะทูตจากสยาม
เจาะลึก 350 ปีการหยั่งรากของคริสต์ศาสนาลงในสยาม ในนิทรรศการคณะมิสซัง MEP ที่ปารีส
ภาพคณะทูตสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์รับประทานอาหารในตึกของคณะ MEP 
ภาพ : missionsetrangeres.com
บันทึกประจำวันของออกพระวิสุทธสุนทรหรือโกษาปาน
บันทึกของสังฆราชหลุยส์ ลาโน สมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวถึงการแพร่ธรรมในลาว ซึ่งยังไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ

นิทรรศการยังบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามกับคณะ MEP ที่ดำเนินไปกว่า 350 ปี เพราะนอกจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยได้ส่งคณะทูตมายังราชสำนักของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส และแน่นอนว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นล่าม ก็ต้องเป็นบาทหลวงของคณะผู้ชำนาญภาษาสยาม บ้านของคณะ MEP จึงมีโอกาสต้อนรับทูตชาวสยามถึง 2 ครั้ง และยังมีเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือนวาติกันเพื่อเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาอีกด้วย

ในนิทรรศการยังโชว์ศิลปวัตถุอื่น ๆ เช่น กล่องลงรักปิดทองจากสยาม เหยือกเงินที่เป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการกว่า 1,500 ชิ้นจากพระนารายณ์ (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์) แต่นำภาพถ่ายมาจัดแสดง 

เป็นที่น่าเสียดายว่า สงครามและความวุ่นวายต่าง ๆ ในฝรั่งเศสทำให้เครื่องราชบรรณาการจากสยามสูญหายไปจนหมด ยิ่งชิ้นที่ทำจากเงินหรือวัสดุมีค่า ก็มักจะถูกหลอมกลายเป็นเหรียญเอาไว้ใช้จ่ายแทน

ชามเบญจรงค์ทรงมะนาวตัดจากสยาม ของที่ระลึกที่คณะ MEP เก็บรักษาไว้
พระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงสมเด็จพระสันตะปาปา

ถึงแม้ทุกวันนี้ MEP จะลดบทบาทลงมากในการทำงานแพร่ธรรมในไทย แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าพระศาสนจักรคาทอลิกไทยที่ดำเนินงานก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ เกิดจากน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อและโลหิตของบรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ที่เข้าทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ แม้ในรอบ 300 ปี หลายครั้งนักบวชเหล่านี้จะถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายทางการเมืองทุกครั้งที่สยามมีเรื่องปะทะกับฝรั่งเศสก็ตาม แต่ความตั้งใจจริงของพวกท่านที่จะนำพระธรรมของพระคริสตเจ้าเข้ามาปลูกไว้ในดินแดนเอเชีย เกิดผลสวยงาม สะท้อนออกมาเป็นกลุ่มคริสตชนมากมายทั่วทั้งสยามและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพ : คุณพ่อปัตทวี วงศ์ศรีแก้ว

นิทรรศการ L’Évangile au Pays du Sourire 

จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ถึง 30 มิถุนายน 2565

ผู้สนใจเข้าชมได้ฟรี วันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.00 – 18.00 น. 

ณ ที่ทำการสำนักงาน Missions Etrangères de Paris เลขที่ 128 rue du bac กรุงปารีส

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช