24 ธันวาคม 2022
4 K

ในยุคที่ผู้คนเริ่มหันมาสนใจ Sustainable Fashion กันอย่างจริงจังมากขึ้น ใช้เวลาทำความรู้จักแบรนด์ที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน สืบหาประวัติและที่มาก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อของชิ้นหนึ่ง ตั้งใจเตรียมตัวและเดินทางไปงานแลกเสื้อผ้า รวมถึงสนับสนุนการสวมใส่เสื้อผ้ามือสอง

แต่นั่นคือทั้งหมดของแฟชั่นยั่งยืนแล้วหรือยัง 

อีกทางเลือกหนึ่งที่เริ่มลงมือทำเองได้ที่บ้าน คือ ‘การซ่อมแซมเสื้อผ้า’ ซึ่งลดกระบวนการผลิตจากทรัพยากรใหม่ต่าง ๆ และเสริมส่งให้อายุการใช้งานเสื้อผ้าของคุณ รวมไปถึงอายุของโลกของเรายาวขึ้นอีกนิด วิธีการซ่อมที่อยากแนะนำนั้นไม่ซับซ้อน เพียงใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในบ้าน ผสานกับความสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัว เสกให้เสื้อผ้าเก่านั้นดูใหม่ขึ้นในพริบตา

วิธีซ่อมเสื้อผ้าด้วยการปักแสนง่าย ยืดอายุเสื้อตัวโปรดให้อยู่คู่ตู้ไปนานๆ

ซ่อม กับ ผ้า

กว่าเสื้อผ้าสุดเก๋ตัวหนึ่งในตู้จะเดินทางมาอยู่บนตัวเรานั้น มันผจญภัยผ่านหลายกระบวนการแทบนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาวัสดุ การผลิตในระบบอุตสาหกรรมผ่านแรงงานจำนวนมาก การบรรจุใส่หีบห่อและขนส่ง การวางขายในร้านหรือออนไลน์ ไปจนถึงการทำลายชิ้นส่วนที่ไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพ

เสื้อผ้าแต่ละชิ้นจะอยู่กับผู้บริโภคนานที่สุดในช่วง ‘การใช้งาน’ เมื่อเสื้อผ้าเกิดร่องรอยขึ้น ผู้ใส่ก็อาจไม่อยากใช้งานเสื้อผ้านั้นอีกต่อไป เพราะรู้สึกว่า ‘มันเก่า ไม่สมบูรณ์ ดูไม่เรียบร้อย’ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแนวคิดการซ่อมเสื้อผ้าเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น กลายเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจและกำลังถูกพูดถึงในหลายประเทศ นั่นคงเป็นเพราะทุกคนตระหนักเรื่องความยั่งยืน และร่วมอยากเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้น เราลองลงมือเย็บปักพร้อมกันทีละขั้นตอน

วิธีซ่อมเสื้อผ้าด้วยการปักแสนง่าย ยืดอายุเสื้อตัวโปรดให้อยู่คู่ตู้ไปนานๆ

ซ่อม กับ เข็ม

‘เย็บ ปัก ถัก ร้อย’ หลายคนแค่ฟังก็รู้สึกยาก เพราะนึกถึงวิธีการที่ละเอียดจนน่าปวดหัว อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็น่าจะใช้งานไม่ง่าย จะทำตามอย่างไรยังคิดไม่ออก ใจเย็นก่อน! เราคัดเลือกอุปกรณ์คู่ใจในการเริ่มลงมือซ่อมเสื้อผ้าครั้งแรกสำหรับมือใหม่มาให้แล้ว 

ไม่ต้องมีจักรเย็บผ้าอันใหญ่ ๆ เพราะการเย็บปักด้วยมือนั้นง่าย เริ่มต้นทำด้วยเข็ม ด้าย และอื่น ๆ อีกมากมายในวิชา กพอ.

1. เสื้อผ้าที่มีร่องรอย

2. เข็มเย็บผ้าหรือเข็มปักผ้า

3. ด้าย ไหมปัก หรือไหมพรม 

4. สะดึง

5. เข็มหมุด

6. กรรไกรก้ามปูหรือทั่วไป

7. ดินสอหรือชอล์กเขียนผ้า

วิธีซ่อมเสื้อผ้าด้วยการปักแสนง่าย ยืดอายุเสื้อตัวโปรดให้อยู่คู่ตู้ไปนานๆ

ซ่อม กับ มือ

1. หยิบเสื้อผ้าที่มีร่องรอยซึ่งเก็บซ่อนไว้ไม่ยอมโยนทิ้งไปขึ้นมาสักหนึ่งชิ้น ร่องรอยดังกล่าวจะเป็นรูขาด รอยเลอะเปรอะเปื้อน หรือความไม่ตั้งใจใดก็ได้

2. สังเกตร่องรอย แล้วลองใช้เวลาทบทวนที่มาและเรื่องราวของเสื้อผ้าชิ้นนั้น

3. ขึงสะดึงให้ตึงรอบ ๆ ร่องรอย จะได้สะดวกต่อการทำงานเย็บปัก

วิธีซ่อมเสื้อผ้าด้วยการปักแสนง่าย ยืดอายุเสื้อตัวโปรดให้อยู่คู่ตู้ไปนานๆ

4. ร่างลวดลายอย่างง่าย โดยอาจอิงกับจินตนาการหรือสิ่งที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงจากเรขาคณิต และเส้นสายจากธรรมชาติ

5. ในที่นี้เราเลือกเสื้อสีส้มตัวโปรดที่ไม่ได้หยิบมาซ่อมสักที เสื้อเชิ้ตนี้มีรอยขาดขนาดเล็กตรงด้านหลังของแขนขวา ร่องรอยไม่ได้ใหญ่มาก แต่เวลาใช้งานเพื่อนบางคนก็มักจะทักว่า “เสื้อขาดตรงนี้หรือเปล่า” ตอนนี้คงถึงเวลารักษารอยกันแล้วล่ะ

6. ขอหยิบรูปทรง ‘Sparkle’ ซึ่งมีลวดลายเหมือนประกายส่องแสงและขั้นตอนการเย็บไม่ซับซ้อนจนเกินไป ผนวกกับเรื่องราวในตอนนั้นที่ซื้อเสื้อตัวนี้จากตลาดที่อากาศร้อน และมีแสงแดดจากพระอาทิตย์ส่องเป็นประกาย 

วิธีซ่อมเสื้อผ้าด้วยการปักแสนง่าย ยืดอายุเสื้อตัวโปรดให้อยู่คู่ตู้ไปนานๆ

7. นำรูปทรงที่เลือกสรรในจินตนาการหรือในอินเทอร์เน็ตมาลงมือร่างที่ร่องรอยบนผ้า โดยใช้ดินสอหรือชอล์กเขียนผ้า หากไม่มี ใช้ดินสอหรือสีธรรมดาเขียนลงไปอ่อน ๆ ก็ได้

วิธีซ่อมเสื้อผ้าด้วยการปักแสนง่าย ยืดอายุเสื้อตัวโปรดให้อยู่คู่ตู้ไปนานๆ

8. เลือกสีด้ายที่เข้ากับผ้าในมุมมองของคุณ จะเป็นคู่สีตรงข้าม สีข้างเคียงกัน หรือสีที่โปรดปรานก็ย่อมได้ ในที่นี้ขอเลือกสีที่ชอบซึ่งเป็นสีส้ม อ่อนลงเล็กน้อยและไม่โดดจากสีเสื้อจนเกินไป จากนั้นจึงร้อยด้ายเข้าในเข็ม และมัดปมที่ปลายด้าย

วิธีซ่อมเสื้อผ้าด้วยการปักแสนง่าย ยืดอายุเสื้อตัวโปรดให้อยู่คู่ตู้ไปนานๆ

9. ปักเข็มขึ้นมาบนผ้าจุดหนึ่งตามรอยดินสอ ให้ปมที่ผูกไว้อยู่ด้านในเสื้อผ้า และปักเข็มลงบนจุดต่อไปตามที่ร่างไว้ 

แปลงความสร้างสรรค์เป็นลวดลายปัก ลงมือซ่อมเสื้อผ้าที่รักให้อยู่ไปนาน ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นยั่งยืน

10. ปักขึ้นและลงเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากสร้างกรอบให้รูปทรง จากนั้นปักขึ้นลงคล้ายการระบายสีให้เต็มพื้นที่ รูปทรงจะปรากฏขึ้นช้า ๆ ขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับลวดลายที่เลือกว่าซับซ้อนมากน้อยเท่าไร ต้องใช้เวลาแค่ไหนในการรังสรรค์

แปลงความสร้างสรรค์เป็นลวดลายปัก ลงมือซ่อมเสื้อผ้าที่รักให้อยู่ไปนาน ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นยั่งยืน

11. ในระหว่างนี้เราเลือกใช้ด้ายมากกว่าหนึ่งสี เพื่อเพิ่มความสดใสให้กับเสื้อเชิ้ตที่มีอายุขัยตัวนี้ และตั้งใจสื่อสารว่านี่เป็นลวดลายที่มีมิติ สร้างขึ้นจากความละเมียดละไม ไม่ได้ต้องการลบร่องรอยให้กลืนหายไป

แปลงความสร้างสรรค์เป็นลวดลายปัก ลงมือซ่อมเสื้อผ้าที่รักให้อยู่ไปนาน ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นยั่งยืน

12. ซ่อมเสร็จแล้ว! เสื้อเชิ้ตตัวเก่านี้ดูใหม่ขึ้นเป็น ‘ประกาย’ จากพลังความตั้งใจและความสร้างสรรค์ พร้อมให้นำไปสวมใส่ต่อ

แปลงความสร้างสรรค์เป็นลวดลายปัก ลงมือซ่อมเสื้อผ้าที่รักให้อยู่ไปนาน ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นยั่งยืน

ซ่อม กับ ใส่

สวมใส่ไปกับรอยซ่อม ไม่ต้องเขินอาย! 

แม้เสื้อผ้าตัวแรกที่ผ่านการซ่อมแซมสำเร็จแล้ว อาจดูไม่สมบูรณ์และถูกใจสักทีเดียว ไม่เป็นไร นี่คือการเรียนรู้และลงมือทำจากฝีมือของเราที่พัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ ขั้นตอนการเย็บปักถักซ่อมเบื้องต้นนี้ เป็นเพียงวิธีการพื้นฐานที่ทุกคนทดลองหาวิธีการที่เหมาะกับตัวเองได้โดยการลงมือทำต่อไป พอซ่อมเสร็จแล้ว อย่าลืมนำเสื้อผ้าที่มีร่องรอยและลวดลายไปสวมใส่เป็นประจำด้วยความภาคภูมิใจ เพราะความสร้างสรรค์ล้วนเกิดขึ้นด้วยความพยายามจากสองมือของเรา 

การซ่อมเสื้อผ้าเป็นอีกทางเลือก หากคุณอยากเริ่มลงมือทำอะไรง่าย ๆ ด้วยตัวเองที่บ้าน การเย็บปักลวดลายให้ร่องรอยเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะลดปริมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ สนับสนุนการบริโภคแฟชั่นอย่างยั่งยืน หรือทำให้อยากใช้งานเสื้อผ้าตัวนั้นต่อไป แต่ยังสร้างสมาธิระหว่างการเย็บปัก ความภูมิใจในการเริ่มต้นลงมือใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แถมยังนำผลงานสร้างสรรค์ลวดลายต่าง ๆ ไปอวดเพื่อนได้ด้วยนะ 

แปลงความสร้างสรรค์เป็นลวดลายปัก ลงมือซ่อมเสื้อผ้าที่รักให้อยู่ไปนาน ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นยั่งยืน

วันไหนเสื้อผ้าเกิดร่องรอย ก็ซ่อมแซมวนไป จนกว่าจะสวมใส่ต่อไม่ได้!

หากอยากรู้แนวคิดและหลักการซ่อมแซมเสื้อผ้า เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการยืดอายุเสื้อตัวโปรดต่อไป ลองมาทำความรู้จักกับ Community ที่ส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้า ใช้งานซ้ำ และเล่าเรื่องราวแฟชั่นยั่งยืน ได้ที่

https://www.facebook.com/amore.amend

Writer

วีณา พันธุ์ธีรานุรักษ์

วีณา พันธุ์ธีรานุรักษ์

นักออกแบบที่ชอบแอบบอกว่าตัวเองเป็นเป็ด สนใจเรื่องความยั่งยืนไปจนถึงการพบคนแปลกหน้า และสักวันจะเลี้ยงหมาที่ตั้งชื่อเผื่อเอาไว้ให้ได้

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล