บรรยากาศรอบข้างเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อพาหนะของเราเคลื่อนเข้าสู่อาณาเขตของเมืองเก่ามะละกา สถานที่ท่องเที่ยวชมสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคมของประเทศมาเลเซีย จากตึกสูงคุมโทนสีพาสเทลแบบทันสมัย เปลี่ยนเป็นอาคารทรงชิโน-โปรตุกีส อาคารบางหลังเคลือบด้วยสีแดงสดตัดกันกับประตูและหน้าต่างสีขาว ถนนสายหลักเริ่มแคบลงอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อก้าวเท้าลงจากรถแล้วพบกับโบสถ์คริสต์สีแดงสด มีแม่น้ำมะละกาผ่านกลางเมืองอยู่ตรงเบื้องหน้า บรรยากาศที่อบอวลอยู่รอบตัวทำให้ทราบได้ทันทีว่าเมืองเก่าแห่งนี้ ‘ไม่ธรรมดา’

จากตะวันตกสู่ตะวันออก
มะละกา (Melaka) คือเมืองหลวงของรัฐมะละกาที่ตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรมาเลเซีย ตามตำนานเชื่อว่าชื่อ ‘มะละกา’ มีที่มาจากชื่อต้นมะละกา (Melaka tree) หรือที่เราอาจรู้จักว่า ต้นมะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.) ที่ตั้งโดยเจ้าชายของสุมาตราครั้นเสด็จประพาสที่นี่ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำออกสู่ทะเลทางช่องแคบมะละกา ทำให้มะละกาเป็นเมืองท่าสำคัญของมาเลเซียในอดีต ที่เคยทำการค้ากับจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศในทวีปยุโรป
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 16 เมืองมะละกาถูกยึดครองจากการล่าอาณานิคมของโปรตุเกส ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมืองได้ตกเป็นอาณานิคมของอาณาจักรดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน ตามด้วยการถูกยึดครองจากอาณานิคมอังกฤษในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 มะละกาได้ถูกจัดให้เป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซียหลังจากที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ จึงไม่แปลกที่หลักฐานทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมของเมืองโบราณแห่งนี้ แสดงออกถึงการผสมผสานระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออกอย่างลงตัว
บริเวณปากแม่น้ำจึงมีลักษณะของความเป็น ‘เมืองเก่า’ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีบ้านเรือนสไตล์ชิโน-โปรตุกีส เรียงรายตามซอกซอย มีสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นในสมัยอาณานิคมของโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ ยังคงอยู่แม้กาลเวลาผ่านไป มีแม่น้ำมะละกาผ่านกลางเมือง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างเด่นชัดของบริเวณแห่งนี้ ทำให้เมืองเก่าริมปากแม่น้ำแห่งนี้ถูกจัดให้เป็น ‘เมืองมรดกโลก’ (World Heritage Site) จากองค์การยูเนสโกใน ค.ศ. 2008
เมืองโบราณร่วมสมัย
ถนนสายหลัก Jalan Laksamana ที่แยกตัวออกจากถนนในเขต ‘เมืองใหม่’ ของมะละกาเริ่มแคบลงเรื่อย ๆ เป็นสัญญาณว่ากำลังจะเข้าสู่เขต ‘เมืองเก่า’ มีโบสถ์เซนต์ฟรานซิสซาเวียร์ (Church of St. Francis Xavier) สีขาวตั้งตระหง่านอยู่เป็นลำดับแรก เลียบถนนไปไม่ไกลก็พบว่าตัวเองมาอยู่ที่กลางจัตุรัสดัตช์ (Dutch Square) หรือจัตุรัสแดง (Red Square) ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางในการเยี่ยมชมเมืองเก่ามะละกาแห่งนี้
หันหน้ากลับไปก็จะเจอกับโบสถ์คริสต์แห่งมะละกา (Christ Church Melaka) สีแดงสด ขนาบข้างด้วยอาคารสีแดงเฉดเดียวกัน เปรียบเสมือนศาลาว่าการ (City Hall) ในสมัยที่มะละกาถูกปกครองโดยอาณานิคมดัตช์ แต่ศาลาว่าการแห่งนี้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงเรียนที่สอนโดยมิชชันนารีในสมัยการปกครองของอังกฤษ และในปัจจุบันได้รับการบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของมนุษย์
ตรงกลางจัสตุรัสมีน้ำพุควีนวิกตอเรีย (Queen Victoria’s Fountain) ที่สร้างขึ้นในสมัยอาณานิคมของอังกฤษ และไม่ไกลกันมีหอนาฬิกาประจำเมือง (Tan Beng Swee Clock Tower) สร้างโดยชาวจีนผู้อาศัยอยู่ในเมือง ถึงแม้ว่าองค์ประกอบที่อยู่รายรอบจัตุรัสแห่งนี้จะมีที่มาต่างกัน แต่เมื่อรวมกันแล้วจะเห็นถึงความลงตัวที่เป็นความเฉพาะของมะละกา




ลัดเลาะมาทางด้านข้างจัตุรัสแดงจะเห็นเป็นทางเดินขึ้นบันไดนำไปสู่เนินเขาเตี้ยๆ ซึ่งด้านบนเป็นที่ตั้งซากปรักหักพังของโบสถ์เซนต์พอล (St. Paul’s Church) ที่แรกเริ่มโบราณสถานแห่งนี้สร้างในสมัยการยึดครองของโปรตุเกส และตั้งชื่อว่า Nossa Senhora da Annunciada แต่เมื่อถูกยึดครองจากอาณานิคมดัตช์ ชื่อของโบสถ์นี้ก็ถูกเปลี่ยนมาจนถึงปัจจุบัน
และโบสถ์แห่งนี้ไม่ได้ใช้งานจนเปลี่ยนเป็นสุสานบุคคลสำคัญในสมัยนั้น เนื่องจากชาวดัตช์ได้สร้างโบสถ์ใหม่ที่จัตุรัสแดงแทน ด้านหน้าโบสถ์เก่าแห่งนี้มีอนุสาวรีย์แกะสลักของนักบุญฟรานซิส เซเวียร์ (St. Francis Xavier) นักบุญคนสำคัญของมะละกา ซึ่งนักบุญรุ่นหลังที่ศรัทธาจึงสร้างโบสถ์เซนต์ฟรานซิสซาเวียร์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19


ลงบันไดจากเนินเขาอีกด้านหนึ่ง จะเจอกับซากป้อมปราการ (Formosa) ที่สร้างขึ้นสมัยการปกครองของโปรตุเกส ด้านล่างสุดของเนินเขาบรรจบกับถนนที่ตัดผ่านปลายด้านหนึ่งนำไปทาง ‘เมืองใหม่’ ปลายอีกด้านของถนนนำกลับไปสู่จัตุรัสแดงของ ‘เมืองเก่า’ ระหว่างทางกลับไปที่จัสตุรัส จะผ่านพิพิธภัณฑ์ของมะละกา ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมสิ่งมีค่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมืองมะละกา
ตรงข้ามกันมีหอคอยที่รองรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะชมเมืองเก่ามะละกาจากมุมสูง 360 องศา ทำให้ได้บรรยากาศการชมเมืองต่างไปอีกแบบ ใกล้ๆ กันมีพิพิธภัณฑ์ทางทะเล (Maritime Museum) ของมะละกาซ่อนตัวอยู่ในโครงสร้างรูปเรือสำเภาจำลองขนาดยักษ์ ตั้งอยู่บนพื้นดินเลียบแม่น้ำมะละกา


กลับไปที่จุดเริ่มต้น ณ จัตุรัสแดง ข้ามถนนและข้ามสะพานข้ามแม่น้ำมะละกาก็จะเข้าสู่ย่านค้าขาย ที่ส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนหรือที่เรามักคุ้นหูกันในชื่อ ‘ไชน่าทาวน์’ เป็นตรอกซอกซอยมากมายที่รายล้อมถนนด้วยอาคารทรงชิโน-โปรตุกีส
ส่วนใหญ่มักเป็นที่อยู่อาศัย บ้างเปิดเป็น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก หรือโรงแรม โดยถนนที่ต่อจากสะพานข้ามแม่น้ำมะละกาเป็นถนนเส้นหลักที่มีนักท่องเที่ยวขวักไขว่มากที่สุด คล้ายกับเป็นศูนย์กลางของไชน่าทาวน์ในมะละกา ชื่อว่า Jalan Hang Jebat หรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันในชื่อ Jonker Street นอกจากนี้ยังมีวัดจีนและมัสยิดแทรกตัวอยู่ในระยะที่ไม่ไกลกัน

สายน้ำกับงานศิลป์
สองฝั่งริมแม่น้ำมะละกาในย่านเมืองเก่าเป็นทางเดินเลียบตลอดแนว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะแบบภาพวาดบนฝาผนัง (Street Art) จากฝีแปรงของศิลปินท้องถิ่น ผลงานส่วนใหญ่แสดงออกในเชิงวัฒนธรรม ความกลมกลืนกันของหลายเชื้อชาติ คล้ายกับทุกภาพมีเรื่องราวเบื้องหลังเป็นของตัวเอง
ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวในการเดินตามล่าถ่ายรูปของรูปวาดบนผนัง เพื่อสะสมเป็นคอลเลกชันภาพถ่ายที่คล้ายคลึงกับงานศิลปะฝาผนังที่จอร์จทาวน์ (George Town) บนเกาะปีนัง ทำให้การเดินเล่นริมแม่น้ำมีความตื่นเต้น และลุ้นว่าจะเจองานภาพวาดฝาผนังอะไรในซอยเล็กๆ ด้านหน้า
บางภาพวาดเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่อยู่ตัวละครในฝาผนัง หรือจะเรียกว่าภาพวาดฝาผนังแบบสามมิติ อีกทางเลือกของการเยี่ยมชมสองข้างทางแม่น้ำมะละกาก็คือ การโดยสารเรือนำเที่ยว ซึ่งจะพานักท่องเที่ยวล่องไปตามแม่น้ำมะละกาที่ไหลผ่ากลางบริเวณเมืองเก่า ทำให้ได้บรรยากาศการเที่ยวที่แตกต่างกันออกไป









แสงไฟยามค่ำคืน
สลับมาบรรยากาศยามค่ำคืนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับช่วงกลางวัน แต่ยังคงเสน่ห์ของความเป็นมรดกโลกได้อย่างเต็มที่ แสงแดดที่ร้อนอบอ้าวกลายเป็นลมพัดเย็นสบายเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากทะเล ร้านค้าที่เคยคึกครื้นกลางวันส่วนใหญ่ปิดตัวลง บ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำมะละกาเริ่มเปล่งแสงสว่างหลากหลายสี ราวกับมีงานเทศกาลตลอดแนวแม่น้ำ
ร้านอาหารกลางคืนเริ่มกางโต๊ะ ตั้งเก้าอี้ ริมทางเท้าเลียบแม่น้ำ ทำให้บรรยากาศของอาหารริมทางถูกยกระดับขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว บางร้านมีการประดับเทียนเพื่อสร้างบรรยากาศมื้ออาหารเย็นของหลายคนๆ ให้เกิดความ ‘สมบูรณ์แบบ’ มากขึ้น เมื่อกลับไปดูแสงไฟกลางจัตุรัสแดง ก็จะพบว่าการมีสีแดงของอาคารโดยรอบตัดกับแสงไฟประดับสีเหลืองนวลนั้น ทำให้บรรยากาศรอบตัวดีขึ้นไปยิ่งกว่ากลางวัน



การเดินทางโดยรถบัสเพียง 2 ชั่วโมงจากสถานีขนส่ง TBS (Terminal Bersepadu Selatan) ในกัวลาลัมเปอร์ถือเป็นการเดินทางที่ง่ายดายและสะดวกสบาย มีรถประจำทางออกเดินทางไปยังสถานีขนส่งมะละกา (Melaka Sentral Bus Terminal) ทุกชั่วโมง และต่อรถประจำทางหรือแท็กซี่มาลงที่จัตุรัสแดงโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที
แผนการเดินทางจัดแบบไปเช้าเย็นกลับจากเมืองหลวงได้อย่างง่ายดาย หรือถ้าหากมีเวลา อยากจะสัมผัสเมืองเก่าทั้งกลางวันและยามค่ำคืน การมานอนดูวิถีชีวิตคนดั้งเดิมริมแม่น้ำมะละกาสักครั้งหนึ่ง แล้วตื่นเช้ามารับประทานติ่มซำหรือโรตีกับกาแฟร้อนสไตล์มาเลเซีย ก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนที่สมบูรณ์แบบอย่างหนึ่งในชีวิต

Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ