แม่น้ำโขงมีความสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยสายน้ำขนาดมโหฬารที่ไหลผ่านถึง 6 ประเทศ เริ่มต้นจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต ผ่านแผ่นดินจีนอันไพศาล ร้อยเรียง 5 ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเมียนมา สปป. ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ สิริระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 5,000 กิโลเมตร

ประชากรมากกว่า 60 ล้านชีวิต พึ่งพาแม่น้ำโขงในฐานะแหล่งอาหาร พื้นที่ทำกิน และพื้นที่เกษตรกรรม สายน้ำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งพันธุกรรมปลาที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด อุดมไปด้วยสัตว์น้ำกว่า 1,300 สายพันธุ์ การประมง ตลอดลำน้ำโขง มอบปริมาณปลามากที่สุดเทียบกับลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วโลก 

กรอบความร่วมมือของไทยกับนานาชาติ ที่จะนำลุ่มน้ำโขงไปสู่โลกใบใหม่หลังโควิด-1

อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน นับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมต่อสำคัญ ไม่เพียงต่อประเทศในอนุภูมิภาคฯ แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพาโครงข่ายถนน ราง เรือ เพื่อเดินทางและขนส่งสินค้า หลายสิบปีที่ผ่านมา ทรัพยากรมหาศาลรอบลำโขง ดึงดูดประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาร่วมลงทุนและพัฒนาพื้นที่นี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การพัฒนาทางกายภาพอย่างเดียว แต่รวมไปถึงมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนตามลุ่มน้ำ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้มิติการพัฒนาลุ่มน้ำโขงยิ่งซับซ้อนและท้าทาย ท่ามกลางการหลั่งไหลเข้ามาของหลายชาติมหาอำนาจ ประเทศไทยในฐานะข้อต่อและประเทศสมาชิกที่สำคัญของอนุภูมิภาคฯ วางแผนจะเดินหน้าความร่วมมือไปทางไหน และจะมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนากรอบความร่วมมือมิติต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคฯ ในอนาคต 

กรอบความร่วมมือของไทยกับนานาชาติ ที่จะนำลุ่มน้ำโขงไปสู่โลกใบใหม่หลังโควิด-1

The Cloudได้รับเกียรติพูดคุยกับ ท่านทูตอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ดูแลกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กลุ่มงานใหม่ล่าสุดแห่งกระทรวงการต่างประเทศ ที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุก มีเป้าหมายสูงสุดในการดูแลผลประโยชน์ของไทย ไปพร้อมกับการสร้างการเติบโตให้อนุภูมิภาคฯ ของเรา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนไปด้วยกัน

กรอบความร่วมมือของไทยกับนานาชาติ ที่จะนำลุ่มน้ำโขงไปสู่โลกใบใหม่หลังโควิด-1

กรอบความร่วมมือที่ขับเคลื่อนการพัฒนา

ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน เกิดกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงขึ้นครั้งแรก ในชื่อ Greater Mekong Subregion หรือ GMS โดยการขับเคลื่อนของประเทศญี่ปุ่น มีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) เป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาที่มีจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจเป็นหลัก 

“ความร่วมมือในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น North – South Economic Corridor ที่เชื่อมโยงจีน สปป. ลาว ไทย ลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ หรือ East – West Economic Corridor ที่เชื่อมเมียนมา ไทย สปป. ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พูดง่าย ๆ คือ เชื่อมตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียไปจนจรดมหาสมุทรแปซิฟิก 

“ผลที่ได้จากระเบียงเศรษฐกิจคือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเข้าด้วยกัน แต่ก่อนการคมนาคมไม่ได้สะดวกสบายเท่านี้ การเกิดขึ้นของ GMS ทำให้เกิดการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำ ถนนทางหลวง ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินเรือในแม่น้ำ”

กรอบความร่วมมือของไทยกับนานาชาติ ที่จะนำลุ่มน้ำโขงไปสู่โลกใบใหม่หลังโควิด-1

หลังจากนั้น กรอบความร่วมมือมากมายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็ทยอยเกิดขึ้น ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วยเม็ดเงินมหาศาล ไม่ใช่เพื่อแบ่งปันเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่เพื่อสร้างผลประโยชน์แก่ชาติของเขาเองด้วย โครงการต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มีทรัพยากรแรงงานคุณภาพและค่าจ้างต่ำ รวมถึงเป็นฐานการส่งออกแก่ประเทศเหล่านั้นที่เข้ามาลงทุนนั่นเอง 

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

ปัจจุบัน กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้ง 6 กรอบ ในการดูแลของท่านทูตอรุณรุ่งฯ และกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ซึ่งกำลังเร่งผลักดันอย่างแข็งขัน ประกอบไปด้วย

  • ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (Mekong – Ganga Cooperation หรือ MGC) มีอินเดียเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก
  • หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong – U.S. Partnership หรือ MUSP) มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก 
  • ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation หรือ MLC) มีจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก
  • ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong – Republic of Korea Cooperation หรือ Mekong – ROK) มีสาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก 
  • ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong – Japan Cooperation หรือ MJ) มีญี่ปุ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก 
  • ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS) กรอบความร่วมมือที่จัดตั้งขึ้นตามข้อริเริ่มของไทย

“กรอบความร่วมมือทั้งหกมีความสำคัญในแบบตัวเอง แม้จะมุ่งเน้นไปที่ภาพกว้างในการสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) เหมือนกัน แต่ประเทศผู้ขับเคลื่อนต่างก็มีศักยภาพในมิติที่แตกต่างกัน หน้าที่ของเราคือ วิเคราะห์ว่าจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากกรอบความร่วมมือนั้น ๆ อย่างไร ให้ไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่างสมประโยชน์ร่วมกัน”

กรอบความร่วมมือ ACMECS หัวใจของอนุภูมิภาค

ACMECS คือ กรอบความร่วมมือที่สำคัญที่สุด เพราะไม่เพียงประกอบไปด้วยสมาชิกทั้ง 5 ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังเป็นกรอบความร่วมมือที่ไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ในช่วงที่ชาติมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาเดินหน้าเข้ามามีบทบาทในอนุภูมิภาคฯ เราเป็นผู้ผลักดันความร่วมมือนี้ให้แข็งแกร่งขึ้น พร้อมทั้งผลักดันแผนแม่บท ACMECS เพื่อผลประโยชน์ร่วมในทุกมิติของทั้ง 5 ประเทศสมาชิก 

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

แผนแม่บท ACMECS มุ่งเน้นไปที่ 3 เป้าหมายหลัก คือ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาคฯ (Seamless Connectivity) การสอดประสานด้านกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายของประชาชน (Synchronized ACMECS Economies) และการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)

“จุดประสงค์ของความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ คือ ผลกระโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีการแบ่งสรรปันส่วนเท่าเทียมกันและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการลดช่วงว่างของประเทศสมาชิกทั้ง 5 เพราะแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ไทยให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะเมื่อเพื่อนบ้านพึ่งพาตัวเองได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศเราก็จะได้รับผลประโยชน์ด้วย เพราะมีพรมแดนติดกัน ทุกอย่างจึงเชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด แท้จริงแล้ว อนุภูมิภาคฯ นี้ ถือเป็นพื้นที่ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ”

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

ท่านทูตอรุณรุ่งฯ อธิบายถึงโจทย์ใหญ่ที่สุดของความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในปัจจุบันคือ โลกหลังโควิด-19 ที่เราต้องเร่งทำการฟื้นฟูประเทศและอนุภูมิภาคฯ ในหลาย ๆ ด้าน (Post-COVID Recovery) โดยการฟื้นฟูนั้นจะต้องทำร่วมกันเป็นองคาพยพ โดยเฉพาะในมิติของประเทศเพื่อนบ้าน ที่เชื่อมต่อกันทั้งในแง่พรมแดน วัฒนธรรมประเพณี และผู้คน 

“ในสถานการณ์โควิด-19 หากยังมีประเทศใดไม่ได้รับวัคซีน การฟื้นฟูของโลกจากการแพร่ระบาดก็ยากที่จะยั่งยืน ทุก ๆ ประเทศในโลกต้องได้รับวัคซีนร่วมกัน เช่นเดียวกับการพัฒนาในอนุภูมิภาคนี้ เราไม่สามารถรอดหรือเฟื่องฟูไปคนเดียวได้ รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย ดังนั้น จุดมุ่งหมายของการสร้างความร่วมมือคือ เราต้องมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนไปด้วยกัน”

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

โฉมหน้าของอนุภูมิภาคหลังโควิด-19

การผลักดันความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ หลังโควิด-19 แบ่งเป็น 2 มิติใหญ่ ๆ คือ การฟื้นฟูด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

“โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพื่อฟื้นฟูสภาพระบบเศรษฐกิจและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศไทยได้นำ BCG Model หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมมาเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ” 

BCG Model มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 3 มิติไปพร้อมกัน คือ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและการพัฒนาทรัพยากรชีวภาพเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เน้นการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เน้นการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม 

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

เพื่อให้ต่อจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและอนุภูมิภาคฯ สามารถดำเนินควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล เยียวยาโลกของเรา ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก

“อีกประเด็นที่สำคัญคือ การพาณิชย์ดิจิทัล ซึ่งช่วงโควิด-19 ภาคเอกชนและประชาชนจำนวนมาก เริ่มเปลี่ยนมาค้าขายทางดิจิทัลมากขึ้น ช่วงเวลาหลังการแพร่ระบาดจึงเป็นช่วงที่ควรเร่งรัด ผลักดันระบบที่ส่งเสริมการค้าดิจิทัล รวมถึงสร้างทักษะความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้ประชาชนไทยและภูมิภาค”

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ดึงดูดการเข้ามาพัฒนาและลงทุนของหลายชาติจากทั่วโลก เราจึงต้องส่งเสริมและพัฒนาทักษะแรงงาน (Reskill และ Upskill) ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ให้มีขอบเขตทักษะที่กว้างไกลขึ้น เพื่อในอนาคต อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะสามารถขยายจากการเป็นฐานผลิตส่วนประกอบรถยนต์เป็นหลัก ไปสู่การผลิตชิ้นส่วนสำคัญทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเช่น เซมิคอนดักเตอร์ชิป (Semiconductor Chips) ได้ด้วย และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของโลก”

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกทั้ง 5 คือ เมียนมา สปป. ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ต่างมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการฟื้นฟูและพัฒนาอนุภูมิภาคฯ ในมิติต่าง ๆ หลังโควิด-19 เพื่อให้เรากลับมาเป็นที่จับตาต้องใจการลงทุนจากประเทศนอกอนุภูมิภาคฯ โดยประเทศไทย ในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์และการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผ่านมา ถือเป็นข้อต่อสำคัญที่ขาดไม่ได้ในทุก ๆ เรื่อง หากขาดไทยไป อนุภูมิภาคฯ ก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้เช่นแต่ก่อนเช่นกัน

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อผลประโยชน์ทวีคูณ

อย่างที่ท่านทูตอรุณรุ่งฯ เล่าไปข้างต้น แต่ละกรอบความร่วมมือล้วนมีศักยภาพที่จะนำไปสู่การพัฒนา เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้ประชาชนตลอดลุ่มน้ำโขง ตามนโยบายของแต่ละประเทศผู้ขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือ ว่าจะโฟกัสหรือให้น้ำหนักไปที่ประเด็นใด

“อย่างประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ และการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น จึงเน้นไปที่วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ 

“ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถอดบทเรียนให้ความรู้ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการรีไซเคิลรถยนต์ทั้งคัน และในอนาคต ญี่ปุ่นน่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยเราส่งเสริมและพัฒนาทักษะแรงงานให้มีประสิทธิภาพเพื่อรับกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต” 

ขณะที่ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ที่อินเดียเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก จะเน้นไปทางมิติวัฒนธรรม เพราะประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่างได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมมาจากฮินดู พราหมณ์ รวมถึงพุทธศาสนาที่มีต้นกำเนิดจากอินเดีย และที่สำคัญ มิติทางวัฒนธรรมยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายต่างประเทศ Act East ของอินเดียอีกด้วย

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

“หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ มีการยกระดับความร่วมมือในหลายด้าน ตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดน อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ไปจนถึงการปราบปรามการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และสัตว์ป่า แต่มิติที่กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงของเรามองว่าน่าสนใจมาก และกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ยังไม่เคยพูดถึง คือการที่สหรัฐอเมริกาหยิบยกประเด็นการส่งเสริมศักยภาพของสตรี ซึ่งในปัจจุบัน เน้นไปที่กลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สามารถเป็นกำลังเข้มแข็งของครอบครัวในการสร้างรายได้จุนเจือ และเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานรากหลังโควิด-19”

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

ท่านทูตอรุณรุ่งฯ เอ่ยอย่างกระตือรือร้นว่า “แม้ปัจจุบันอนุภูมิภาคฯ ของเราจะได้รับความช่วยเหลือจากหลายประเทศมหาอำนาจในเรื่องการบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 แต่จะเป็นไปได้ไหม ที่เราจะสร้างฐานการผลิตวัคซีนที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในอนาคต

“จากวิสัยทัศน์ของสาธารณรัฐเกาหลี ที่ต้องการเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนของโลก เรามองว่า ในเมื่อเขาเชี่ยวชาญแนวทางออกแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) อนุภูมิภาคฯ ของเราที่พร้อมด้วยทรัพยากร สามารถจับมือกับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเป็นแหล่งผลิตวัคซีนที่พึ่งพาตัวเองได้ เพราะตอนนี้มีแนวโน้มว่าโรคโควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่คงอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรา และต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปีต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถผลิตวัคซีนเองได้ ก็จะเป็นการดีในการพึ่งพาอนุภูมิภาคตัวเอง

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

“นี่คือหน้าที่ของกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง และกระทรวงการต่างประเทศ ในการวิเคราะห์และชี้เป้าว่าแต่ละกรอบความร่วมมือที่เราดูแล มีช่องทางหรือมิติใดที่จะเสริมสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้ไทย ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศผู้ขับเคลื่อนนอกอนุภูมิภาคฯ ได้บ้าง ให้ทุกคนได้ผลประโยชน์เท่าทวีคูณ”

กรอบความร่วมมือ MLC เด็กอัจฉริยะ

กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง หรือ MLC ที่มีจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก แม้จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นเพียง 5 ปี แต่มีความก้าวหน้ามาก ท่านทูตอรุณรุ่งฯ จึงให้ฉายากรอบความร่วมมือนี้ว่าเป็น ‘เด็กอัจฉริยะ’ เพราะได้สนับสนุนเงินจากกองทุนพิเศษในการวิจัยโครงการต่าง ๆ ไปแล้วหลายร้อยโครงการ

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19
กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

“หนึ่งในโครงการที่น่าจับตามอง โดยกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย ซึ่งจีนอนุมัติให้เงินทุนช่วยเหลือไปเมื่อสองปีที่แล้ว คือ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นประตูการค้าชายแดน เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเข้ากับบ่อเต็นของ สปป. ลาว และบ่อหานของจีน นับเป็นโครงการที่ดีที่จะส่งเสริมเรื่องการค้า การลงทุนข้ามพรมแดน และการสร้างงานมหาศาล

“ซึ่งในที่สุด จะต้องมีการนำระบบดิจิทัลและนวัตกรรม เข้ามาส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงการต่างประเทศจึงไปหารือกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. เกิดการจัดตั้งระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) เพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการที่ทันสมัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเราจะนำทรัพยากรชีวภาพมาแปรรูป เพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ และส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยด้วย BCG Model”

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

นอกจากประเทศจีนแล้ว สาธารณรัฐเกาหลีก็ให้การสนับสนุนเงินในลักษณะกองทุน เพื่อดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเช่นกัน อย่างโครงการถอดบทเรียนการบริหารจัดการโรคโควิด-19 กับแรงงานต่างด้าว โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการส่งเสริมความเข้าใจการบริหารจัดการน้ำของชุมชนที่ยั่งยืน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสาธารณรัฐเกาหลี

“โครงการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่ ปลายทางคือ ผลประโยชน์สู่ประชาชน แต่หลายคนอาจไม่รู้ เพราะเป็นโครงการที่เสนอผ่านหน่วยงาน กว่าจะออกดอกผล ก็เป็นตอนที่หน่วยงานต่าง ๆ เอาผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการไปปฏิบัติแล้ว ไม่ได้เห็นผลรวดเร็วทันใจ เพราะต้องใช้เวลาในการศึกษาดำเนินการ”

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นที่ถูกจับตา คือเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นความร่วมมือหลักของหลายกรอบความร่วมมือ รวมถึง MLC เช่นกัน โดยบางฝ่ายเห็นว่า สืบเนื่องจากมีการสร้างเขื่อนจำนวนมากบนแม่น้ำล้านช้าง ต้นน้ำของแม่น้ำโขง ทำให้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำและระบบนิเวศของทั้งลุ่มน้ำโขงตอนปลายซึ่งไหลผ่าน 5 ประเทศ ในอนุภูมิภาคฯ ซึ่งบางฝ่ายก็เห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำโขงและระบบนิเวศ เช่น ปัญหาโลกร้อน

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

“เราผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) ต่อยอดจากที่จีนให้ข้อมูลระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนจิ่งหงตลอดทั้งปี เพื่อส่งเสริมการจัดการและพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนและไม่หยุดนิ่ง”

“ฝ่ายจีนก็มีฐานข้อมูลด้านอุทกศาสตร์ของตัวเอง ที่บางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ไทยหรือ MRC มี ในปัจจุบัน จีน, MLC และ MRC จึงมีความร่วมมือใกล้ชิดกันมากขึ้น มีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกศาสตร์ รวมถึงความเป็นไปได้ในทำการศึกษาการบริหารจัดการตะกอนของแม่น้ำโขง เมื่อทุกส่วนทำงานโดยอ้างอิงข้อมูลชุดเดียวกัน ต่อไปเมื่อพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับน้ำหรือระบบนิเวศ ทุกฝ่ายจะได้เข้าใจตรงกันและหาหนทางแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาปัญหาที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ประชาชน นับเป็นพัฒนาการความร่วมมือที่ดี

“การที่แต่ละประเทศมีข้อมูลชุดเดียวกัน ความเข้าใจตรงกัน ในที่สุดก็จะถ่ายทอดไปสู่ความร่วมมือที่มันตรงเป้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเตือนน้ำท่วม น้ำแล้ง เมื่อไหร่ อย่างไร ผู้ได้รับผลประโยชน์ก็คือ ประชาชนทั้งสองฝั่งโขงนั่นเอง”

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

เติบโตอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สมัยก่อนกรอบความร่วมมืออาจถูกผลักดันโดยการทูตเชิงเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) แต่ปัจจุบันมีศาสตร์ทางการทูตมากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทูตวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) การทูตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Diplomacy) ไปจนถึงการทูตว่าด้วยเรื่องน้ำ (Water Diplomacy) 

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงแห่งกระทรวงการต่างประเทศ กับภารกิจสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงหลังโควิด-19

“อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทูตเพื่อประชาชน (People Diplomacy) ประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหล่อหลอมผูกพันกับสายน้ำ ทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ ดังนั้น การขับเคลื่อนด้วยประชาชนคือ รูปแบบที่งอกงามที่สุดและยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาและการเจริญเติบโตของอนุภูมิภาคฯ ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องอาศัยศาสตร์ของการทูตที่หลากหลายมาหลอมรวมกันเป็นองคาพยพ

“ปลายทางของทุกกรอบความร่วมมือคือผลประโยชน์ร่วมกัน ‘จับมือให้อุ่น’ คือสโลแกนในการดำเนินงานของกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงและกระทรวงการต่างประเทศ แต่ละประเทศมีจุดแข็งของเขา นำจุดแข็งมารวมกัน ยิ่งส่งเสริมผลลัพธ์เชิงบวกเป็นเท่าทวี

“ประเทศไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกที่ต้องการให้ทุกประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน และตอบโจทย์นโยบายต่างประเทศไทย 5S หรือ 5 มี คือ มีความมั่นคง (Security), มีความมั่งคั่งและยั่งยืน (Sustainability), มีมาตรฐานสากล (Standard), มีสถานะและเกียรติภูมิ (Status) และมีพลัง (Synergy)” ท่านทูตอรุณรุ่งฯ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพ : กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กระทรวงการต่างประเทศ

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล