วันนี้ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ‘แม่น้ำโขง’ หรือ ‘แม่น้ำของ’ ตามที่ชาวเชียงของเรียกขาน ยังคงไหลเช่นเดิมเหมือนคราวบรรพบุรุษ หากเรามองผ่านแต่เพียงผิวน้ำ เพราะลึกลงไปแล้ว แม่น้ำของต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่มาดี… และที่มาร้าย

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน แม่น้ำของกำลังกลายเป็นแม่น้ำเขื่อน โดยเฉพาะตอนบนของแม่น้ำที่อยู่ในเขตประเทศจีน มีการสร้างเขื่อนถึง 11 แห่งจาก 28 แห่งตามแผน ยังไม่รวมประเทศต้นน้ำอื่นๆ ที่มีโครงการกักเก็บและปล่อยน้ำตามความต้องการของมนุษย์ ทำให้สายน้ำโขงตอนล่างผิดเพี้ยนจนไม่เป็นธรรมชาติ วิถีชีวิต ผู้คน สัตว์ และสิ่งมีชีวิตหลายล้านชีวิตที่อิงกับลุ่มน้ำโขงตอนล่างถูกบังคับให้รับผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

กำแพงเขื่อนขนาดยักษ์เข้ามาขวางลำน้ำจนปลาว่ายไปวางไข่ไม่ได้ สายน้ำที่ขึ้นลงตามใจมนุษย์บางกลุ่มทำให้ระบบนิเวศเดิมพังทลาย ซ้ำร้าย พ.ศ. 2559 มีการฟื้นโครงการร่วมมือระหว่างประเทศที่จะระเบิดแก่งหินในแม่น้ำของอีกครั้ง สืบเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เพื่อเปิดทางให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่สำหรับขนส่งสินค้าแล่นผ่านสะดวก โดยเป้าหมายคือบริเวณแก่งไก่ อำเภอเชียงของ สุดท้ายโครงการต้องพับไปใน พ.ศ. 2563 ไม่ใช่เพราะความโชคดี แต่เกิดจากความพยายามเปล่งเสียงคัดค้านของผู้คนตัวเล็กๆ ที่มองเห็นผลกระทบระยะยาวและไม่อาจกู้คืนกลับ รวมตัวกันลุกขึ้นมาต่อต้าน

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

 ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้ก่อตั้งและครูใหญ่ของโฮงเฮียนแม่น้ำของ เป็นผู้นำร่วมกับเครือข่ายหลายภาคส่วน สวนกระแสธารที่เข้ามาโดยกล่าวอ้างว่าเป็น ‘การพัฒนา’ จนทำให้ ครม. มีมติยกเลิกโครงการระเบิดแก่งหิน นับเป็นการสิ้นสุดโครงการระเบิดแก่งหินที่ต่อสู้ยืดเยื้อกันมานานตลอดระยะเวลา 20 ปี

แม้โครงการระเบิดแก่งหินจะยุติแล้ว แต่ครูตี๋ในวัย 60 ปี ยังคงไม่อาจเกษียณและยุติบทบาทตนเอง ตราบใดที่แม่น้ำของและวิถีชีวิตตลอดสายน้ำแห่งนี้ยังคงเผชิญภัยอื่นอีกมาก ตราบใดที่ลมหายใจและสายน้ำของยังไม่หยุดลง ครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของยังคงยืนหยัดทำหน้าที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แม่น้ำของของเรา ผ่านบทเรียนสายน้ำโขง

ครูตี๋รอเราอยู่บนเรือที่เทียบท่าอยู่ข้างโฮงเฮียนแม่น้ำของแล้ว เราขอชวนทุกคนลงเรือลำเดียวกันไปเรียนหลักสูตรทางไกลว่าด้วยแม่น้ำของ แม่น้ำสายสำคัญที่เป็นดั่งเส้นเลือดของเราและมนุษย์ทุกคนบนโลก

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

โฮงเฮียนแม่น้ำของ (สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ) เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่าย เป็นอาคารไม้สองชั้นภายใต้ร่มเงาของต้นไม้นานาชนิดริมฝั่งแม่น้ำของ 

โรงเรียนแห่งนี้มีแม่น้ำของเป็นห้องเรียน และมีเรื่องราววิถี-ชีวิต ตลอดสายน้ำเป็นครูบาอาจารย์

“กระบวนการให้ความรู้ของโฮงเฮียนแม่น้ำของคือการลงพื้นที่ เราใช้พื้นที่จริงเป็นตัวอธิบายให้คนเข้าใจถึงความสำคัญของแม่น้ำของ ผ่านกายภาพ ผ่านเรื่องเล่าตำนาน มีสามเรื่องหลักที่สำคัญมาก คือ ประวัติศาสตร์ นิเวศ และวัฒนธรรม สามสิ่งนี้ร้อยเรียงกลายเป็นแม่น้ำของ” เรือค่อยๆ แล่นไปตามแม่น้ำ พร้อมกับเสียงครูตี๋เริ่มอธิบาย

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“ผู้คนริมฝั่งแม่น้ำของในอดีตชาญฉลาดมากในการสอนเรื่องแม่น้ำให้กับลูกหลาน แทบทุกจุดในแม่น้ำของล้วนมีชื่อ มีเรื่องราว และมีความหมาย เป็นเช่นนั้นเพราะการแล่นเรือในแม่น้ำของต้องใช้ประสบการณ์อย่างมาก สายตาของคนขับเรือนอกจากมองผิวน้ำ เขาจะคอยมองริมฝั่งด้วยว่าถึงไหนแล้ว จะได้รู้ว่าต้องหลบทางไหน เพราะหน้าน้ำอาจมีแก่งหินซ่อนอยู่ ทำให้เรือแตกได้ ยิ่งตำแหน่งไหนเป็นน้ำวนหรือเป็นน้ำเชี่ยว เขายิ่งต้องคอยระวัง 

“คนสมัยก่อนมีวิธีการจำช่วงแม่น้ำผ่านเรื่องเล่า อย่างตรงนี้ชื่อ ช่องไซ มาจากตำนานที่ว่า คนริมแม่น้ำของตัวใหญ่เหมือนยักษ์ มีปู่ละหึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านนับถือ เป็นยักษ์ที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณริมน้ำของในอดีต ช่องไซก็คือสถานที่ที่ปู่ละหึ่งเอาไซมาดักปลาในแม่น้ำ ถัดไปอีกหน่อยบริเวณบ้านเมืองกาญจน์ ผาตรงนี้คนเชียงของเรียกว่า ผาถ่าน 

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ
โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“ผาถ่านมีสีค่อนข้างเข้ม ว่ากันว่าปู่ละหึ่งหาบถ่านมาแล้วคานหักจนกระบุงหล่นลงสู่แม่น้ำ อันหนึ่งหล่นลงมาเป็นผาถ่าน อีกอันหล่นอยู่บ้านวัดหลวงเป็นท่าผาถ่าน แล้วคนสมัยก่อนก็วางกฎเกณฑ์ผ่านอุบายการตั้งชื่อด้วย เช่น ผาก้นช้าง มีลักษณะเหมือนช้างกำลังเดินขึ้นฝั่ง ส่วนฝั่งตรงกันข้ามมีผาคางเสือ โบราณว่าถ้าน้ำขึ้นถึงก้นช้างและคางเสือ บ้านไหนมีลูกชายคนเดียวไม่ให้มา เพราะอันตราย ด้วยกระแสน้ำทำให้น้ำขึ้นสูงจนมองไม่เห็นแก่งหินที่อาจจมอยู่ด้านล่าง”

จบตำนานสนุก เรือของเราแล่นเทียบท่าบริเวณหาดทรายกลางแม่น้ำของ คุณครูและพรรคพวกกระโดดลงเรืออย่างกระฉับกระเฉง ก่อนจะทำหน้าที่ผูกเรือจอดอย่างชำนาญ แล้วลงเดินสำรวจหาดทรายกว้างแห่งนี้พร้อมกัน

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ
โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“ในอดีต หาดทรายตรงนี้เป็นระบบนิเวศสำคัญจากสิบระบบนิเวศของแม่น้ำของ ช่วงน้ำลงจะเห็นหาดทรายโผล่ขึ้นมา นกท้องถิ่นจะมาวางไข่ บางชนิดวางไข่กลมกลืนกับหินกรวดเพื่ออำพรางศัตรู ส่วนนกอพยพใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่หากินและแหล่งอาศัย แม่น้ำของของเราค้นพบนกมากกว่าร้อยชนิด” ครูตี๋เล่าย้อนความอุดมสมบูรณ์

“เห็นต้นไม้ตรงนั้นมั้ย” เรามองตามนิ้วมือที่มีริ้วรอยบอกประสบการณ์ “นั่นต้นไคร้ ต้นไม้สำคัญของแม่น้ำของ จะเกาะตามดอน รากมันเยอะ เวลาน้ำขึ้นปลาจะเข้าไปอาศัยแล้วก็วางไข่ ใบก็เป็นอาหารปลา พอน้ำเริ่มแห้ง ต้นก็โผล่ขึ้นมากลายเป็นที่อยู่ของนก ตอนนี้มีซากต้นไคร้เยอะมาก เพราะน้ำขึ้นและลงไม่เป็นฤดูกาลจากการปล่อยและกักน้ำของเขื่อน หลายต้นก็ตาย ยังไม่มีโอกาสผลิใบเลย เช่นเดียวกับนกที่วางไข่ตรงชายหาด พอน้ำขึ้นลงผิดฤดูกาล น้ำก็ท่วมไข่จนจมน้ำตาย ระบบนิเวศของที่นี่เสียหายไปหมด” แววตาของครูใหญ่แห่งลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนไป ก่อนเอ่ยปากเสริม

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“เมื่อก่อนหาดตรงนี้มีนกเป็นพันๆ ตัวเลยนะ ดูตอนนี้สิ เราแทบไม่เห็นรอยเท้าของมันด้วยซ้ำ”

เรากลับขึ้นเรือเดินทางกันต่อ ทุกคนต่างยืนขึ้นช่วยกันใช้ไม้ไผ่ดันเรือออกจากหาดทรายและแก่งหิน

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“แก่งหินตรงนี้ชาวบ้านเรียก แก่งไก่ แก่งหินที่เขาจะมาระเบิด สมัยก่อนริมแม่น้ำของยังอุดมสมบูรณ์ ไก่ป่าจะใช้แก่งหินสำหรับกระโดดข้ามไปมาสองฝั่ง แต่คนจากโครงการฯ เขาว่านี่มันหินโสโครก เป็นสิ่งกีดขวาง แต่มุมมองของชาวบ้าน มันคือบ้านของปลา ถ้าพูดเชิงวิทยาศาสตร์ เกาะแก่งพวกนี้เป็นตัวทำให้เกิดออกซิเจนในน้ำและเป็นจุดกำเนิดของสาหร่ายไก มันคือฐานของห่วงโซ่อาหาร เป็นอาหารของปลา พอไม่มีไก ปลาก็หาย สัตว์อื่นก็ไม่มีแหล่งอาหาร 

“ทั้งหมดเกิดจากน้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ ทั้งที่เดิมทีตรงนี้เคยเป็น ลั้ง พื้นที่รวมทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านไทย-ลาว เข้ามาหาปลาด้วยกัน บ้างก็สร้างกระท่อมเล็กๆ ริมฝั่งไว้หลบแดดตอนรอปลาติดเบ็ด ตอนนี้แทบไม่เหลือให้เห็น

“เมื่อปีที่ผ่านมาคุณอาจเห็นข่าวรายงานว่า แม่น้ำโขงน้ำใส สำหรับคนทั่วไป น้ำใสคงเป็นเรื่องดี สำหรับแม่น้ำของตรงกันข้ามเลยครับ ถ้าน้ำใสมันคือสัญญาณเตือนที่อันตรายมากๆ เป็นการบอกว่าสายน้ำแห่งนี้กำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพราะตะกอนเหล่านั้นคือปุ๋ย คือแร่ธาตุต่างๆ ในน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาล 

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“น้ำใสจึงไม่ใช่ข่าวดีสำหรับแม่น้ำของอย่างที่หลายคนเข้าใจ” ครูตี๋เงียบอยู่ครู่ใหญ่ สายตาเหม่อมองทอดออกไปสู่เวิ้งแม่น้ำ แววตาตรงกันข้ามกับแววตาเปล่งประกายตอนเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำของอย่างสิ้นเชิง

  “ผมสงสารแม่น้ำของ…” ครูตี๋เว้นจังหวะ “ทุกคนบอกว่าแม่น้ำของคือแม่ของประเทศตัวเอง นี่คือแม่น้ำสายสำคัญของโลก ไหลตั้งแต่ที่สูงจากทิเบตลงมา ผ่านหลากหลายประเทศที่เรียกขานชื่อแม่น้ำแห่งนี้แตกต่างกัน ทุกคนอาศัยประโยชน์จากแม่น้ำแห่งนี้ แต่ไม่มีประเทศไหนที่จะรักแม่และดูแลแม่ มีแต่จะทำลายแม่ตัวเองทั้งนั้น 

“นี่คือความโชคร้ายของแม่น้ำสายนี้”

เรือแล่นกลับมาเทียบท่าตรงโฮงเฮียนแม่น้ำของ เราพูดคุยกันต่อภายในศาลาที่มีแผนที่แม่น้ำของแขวนอยู่

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ
โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“แผนที่อันนี้ Naga Studio หนึ่งในเครือข่ายของเราวาดให้ เราตั้งชื่อว่า เมืองพิเศษและวิเศษ เพื่อจะล้อกับโครงการของภาครัฐที่จะทำให้เชียงของเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันพิเศษสำหรับกลุ่มนายทุนบางกลุ่ม 

“หลังจากเราเห็นแผนที่โครงการที่เขาจัดทำขึ้นมา มันเป็นแผนที่ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสร้างอุตสาหกรรม สร้างโครงการต่างๆ ที่แทบไม่ได้คิดถึงคนตัวเล็กๆ หรือชาวบ้านเท่าไหร่เลย และยังไม่ได้แสดงถึงความพิเศษที่แท้จริงของพื้นที่แห่งนี้ พื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ เราเลยตัดสินใจทำแผนที่นี้ขึ้นมาเป็นภาพวาดแสดงความวิเศษของเชียงของ ไม่ว่าชาวบ้านหรือคนทั่วไปมาเห็น เขาก็เข้าใจได้ง่ายๆ

“ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา แม่น้ำของและเชียงของต้องเจอกับการเข้ามาของโครงการพัฒนาจำนวนมาก แต่การพัฒนาที่ว่ากลับไม่ได้ส่งประโยชน์ให้กับผู้คนส่วนใหญ่ริมแม่น้ำเลย ในฐานะของคนที่อาศัยที่นี่ เราถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์ แม่น้ำแห่งนี้ไม่ได้เป็นของใคร แต่เป็นของทุกคน คุณต้องฟังเสียงของผู้คน

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“ทีนี้ประชาชนจะพูดด้วยอะไร เราก็ต้องพูดด้วยองค์ความรู้ นี่คือกระบวนการที่สำคัญที่สุด ชาวบ้านไม่รู้ ไม่ใช่ว่าเขาโง่นะครับ แต่ความรู้พวกนี้ถูกบัง ถูกเบียด ถูกขับออกไป เช่น ความรู้ของท้องถิ่นต่างๆ ครูเกิดมายังไม่ได้เรียนเรื่องแม่น้ำของเลย ไปเรียนนู่นเรื่องเจ้าพระยา นี่คือปัญหาใหญ่ของหลักสูตรการศึกษาไทย เราต้องทำโรงเรียนนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยต่อเติมสิ่งที่ขาดให้กับท้องถิ่น เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รัฐบาลไม่ได้สอน นิเวศแม่น้ำของ ไม่มีหลักสูตรสอน 

“ทั้งหมดเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเสริมและโรงเรียนก็ร่วมด้วยกันกับเรา” ครูตี๋อธิบาย

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

“การทำงานของเรา เรายึดเรื่องขององค์ความรู้เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน คุณจะเปลี่ยนโลกใบนี้ คุณจะเปลี่ยนผู้คน คุณต้องเปลี่ยนที่นี่” ครูตี๋ชี้ไปที่หัว “นี่ที่ว่าก็คือชุดความคิดของคน ความรู้ที่ว่าเราใช้กระบวนการวิธีวิทยาหรืองานวิจัยแบบสากล ลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาเรื่องราวของแม่น้ำของ เป็นงานวิจัยที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยทำวิจัย ชาวบ้านก็มีองค์ความรู้เกี่ยวกับรากเหง้าของเขา นี่เป็นเรื่องสำคัญมากๆ การรู้จักตัวเอง รู้จักรากเหง้า การพัฒนาต้องต่อยอดจากสิ่งที่มีก่อน ไม่ใช่หยิบอะไรก็ไม่รู้มาครอบ เรื่องต่างๆ ที่เราพูดกับภาครัฐหรือนายทุน จึงไม่ใช่เรื่องที่คิดขึ้นเอาเอง แต่เรามีเอกสาร มีข้อมูลอ้างอิงจากการทำวิจัยและลงพื้นที่จริง คำพูดของเราจึงมีน้ำหนัก พูดให้คนทั้งโลกฟังเขาก็เชื่อถือ

“กระบวนการทำงานของเราจึงไม่ได้มีแค่การ ‘สู้’ แต่ยังต้อง ‘สร้าง’ ไปด้วย”

การต่อสู้ของพวกเขาเปรียบดังสายน้ำ ค่อยๆ ชะเหลี่ยมคมอันตรายของหินให้เกลี้ยงเกลาและสวยงาม 

“ช่วงแรกที่ครูลุกขึ้นมาพูด ชาวบ้านหลายคนก็ตั้งคำถามนะ เราจะสู้ได้ยังไง”

“เราเป็นแค่ชาวบ้านตัวเล็กๆ แต่เรามีสิทธิ์ที่จะสู้ มันเป็นสิทธิ์ที่เราจะลุกขึ้นมาปกป้อง เราเป็นเหมือนนักมวย ยกแรกอาจจะโดนซ้อมหน่อย เราก็อดเอาหน่อย สวนบ้างตามแรงที่มี การต่อสู้เราไม่สามารถยิงหมัดเดียวแล้วน็อกเขา ไม่มีทาง เราต้องคิดยาว ดึงยาว สู้ยาว ยิ่งยาวยิ่งได้เปรียบ เพราะเราได้สั่งสมความรู้และกระจายสู่ชาวบ้านมากขึ้น ความคิดมวลชนก็จะเปลี่ยนและอยู่กับเขาไปตลอด 

“แม้ตัวของครูตายไป ครูก็ไม่ห่วง เดี๋ยวก็จะมีคนขึ้นมาสู้แทนครู ชาวบ้านเขารับรู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร เขารู้ว่ามันมีทางเลือกอื่นๆ จากองค์ความรู้ที่เราทำงานวิจัยมาตลอด โครงการใหญ่ๆ ยิ่งลากยาวมันจะยิ่งเหนื่อยตาย ดอกเบี้ยมันจะขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่เสียอะไรเลย ไม่ต้องใช้ทุน นอกจากแรงอึดเท่านั้นเอง” 

โฮงเฮียนแม่น้ำของ โรงเรียนเล็กๆ ริมโขง จ.เชียงราย ที่สอนวิชาแม่น้ำโขงด้วยตาและหัวใจ

ตลอด 20 ปีที่ครูตี๋เคลื่อนไหวโดยใช้องค์ความรู้เป็นตัวนำได้แสดงผลแล้วในปัจจุบัน จากการเพิ่มขึ้นของเครือข่าย รวมถึงจำนวนโรงเรียนที่นำเสนอเรื่องราวท้องถิ่น เฉกเช่นกับโฮงเฮียนแม่น้ำของที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ 

“นี่คือหน้าที่ของครู ผมไม่เคยรู้สึกผิดเลยที่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูใหญ่ในระบบ เพื่อมาเป็นครูในแบบที่ต้องการ เราทำหน้าที่ของครูทุกวัน นำความรู้มาบอกชาวบ้าน นำเสนอให้โลกได้รับรู้ ผมทำหน้าที่นี้มาตลอดยี่สิบปี สู้มาตลอด สิ่งหนึ่งที่เราบรรลุคือ เราหยุดการระเบิดแก่งได้ เราถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นความสำเร็จของภาคประชาชน 

“แต่ใหญ่มากกว่าระเบิด คือเรื่องเขื่อน เพราะมันอยู่ในเขตของคนอื่น ขณะนี้เรากำลังขับเคลื่อนอยู่แน่นอน ถ้าติดตามข่าวจะเห็นว่าภาคประชาชนมีการวิพากษ์วิจารณ์เขื่อนจีนเยอะมาก สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วตอนนี้คือ สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำของ เพราะที่ผ่านมาเป็นองค์กรของรัฐ ต่อแต่นี้ไปเราจะต้องมีพื้นที่ของประชาชน เขาต้องมีสิทธิ์มีเสียงที่ได้ถูกรับฟัง ซึ่งเราจะพูดผ่านองค์ความรู้ ตลอดยี่สิบปี ชาวบ้านอธิบายเรื่องคุณค่าของแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งทางนิเวศ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ได้หมดแล้ว เขาต้องเข้าใจแล้ว คุณต้องเห็นแล้วว่าประชาชนเขาไม่ยอม 

“นี่มันง่ายที่สุดแล้วสำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เมื่อประชาชนเขาไม่ยอม คุณก็ควรหยุด นี่คือสิ่งที่เรากำลังเดินในก้าวต่อไป เอาองค์ความรู้นี่แหละต่อสู้” ครูตี๋พูดพร้อมประกายตาที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง

การขับเคลื่อนตลอด 20 ปี ของ ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของ ที่ตั้งโรงเรียนริมโขงสอนเรื่องแม่น้ำโขงให้คนเชียงของรักและรู้จักรากเหง้าผ่านประวัติศาสตร์ นิเวศ และวัฒนธรรม
การขับเคลื่อนตลอด 20 ปี ของ ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของ ที่ตั้งโรงเรียนริมโขงสอนเรื่องแม่น้ำโขงให้คนเชียงของรักและรู้จักรากเหง้าผ่านประวัติศาสตร์ นิเวศ และวัฒนธรรม

เรานั่งพูดคุยกับครูตี๋จนดวงดาวเผยแสงระยิบระยับท่ามกลางฟ้ามืด คุณครูและพรรคพวกเริ่มนำฟืนมาก่อไฟให้ไออุ่น เราทานอาหารเคล้าเรื่องราวความเป็นไปของแม่น้ำของ ก่อนหยิบกีตาร์ขึ้นมาบรรเลงเพลง ตั้งวงล้อมกองไฟ

นี่คือวงดนตรีเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นเพื่อรอรับชมดวงจันทร์โผล่จากขอบฟ้า เพราะที่แห่งนี้ดวงจันทร์โผล่ออกมาให้เห็นเชื่องช้ากว่าที่อื่น ด้วยระดับความสูงและแนวดอยที่ซ่อนดวงจันทร์เอาไว้เบื้องหลัง ท่ามกลางบรรยากาศผ่อนคลายคลอเสียงดนตรี การปล่อยเวลาให้ช้าลงอีกนิดกลายเป็นเรื่องดีขึ้นมา เช่นเดียวกับสายน้ำโขงที่พวกเขาอยากจะขอให้มันช้าลงอีกนิด… การเข้ามาของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้มาจากความเห็นชอบของพวกเขา ชาวแม่น้ำของ

พวกเขาปิดท้ายหลักสูตรของค่ำคืนนี้ด้วยบทเพลง เชียงของของเรา (รับฟังได้ทางยูทูบ) ที่ทางพี่ๆ วงนั่งเล่น แต่งให้กับพวกเขา และเล่นให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ในวันเปิดโฮงเฮียนแม่น้ำของ แต่ครูตี๋ขอตอบแทนน้ำใจด้วยภาพวาดพญานาคฝีมือของอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ที่ช่วยวาดและมอบให้กับครูตี๋ตอนจัดกิจกรรมปลุกจิตสำนึกรักแม่น้ำของ หลายคนอาจคุ้นตาจากคลิปวิดีโอของวงนั่งเล่น

วงนั่งเล่นแต่งเพลงเชียงของของเราขึ้นมาเพื่อบอกเล่าวิถีของพวกเขา ซึ่งกำลังถูกบรรเลงโดยพรรคพวก ครูตี๋ร้องตามอย่างแผ่วเบา ราวกับกำลังซึมซับเนื้อหาของบทเพลงให้ตนเองและให้ใครสักคนที่ตั้งใจเงี่ยหูฟังเรื่องราวของพวกเขา

ก็รู้ว่าโลกหมุนไว เวลาหมุนไปทุกวินาที

บ้านเรานี้… ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนแปลง

แต่ถ้ามีรักและความเข้าใจ ค่อยๆ เสริม ค่อยๆ แต่ง

บางอย่างอาจเปลี่ยนแปลง… แต่ไม่เปลี่ยนไป


เชียงของของเรา – นั่งเล่น

โฮงเฮียนแม่น้ำของกำลังก่อสร้างห้องสมุดเพื่อรวบรวมหนังสือและเอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับแม่น้ำของเพื่อเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาใช้บริการ ผู้ที่สนใจช่วยเหลือ สนับสนุนกิจกรรม ตลอดจนบุคคลที่สนใจเดินทางมาเรียนรู้เรื่องราวของแม่น้ำของ ที่นี่มีหลักสูตรให้เลือกตามความสนใจ ตั้งแต่หนึ่งวันจนถึงหลักเดือนเพื่อร่วมรับฟังและทำงานกับชุมชน

สอบถามและนัดหมายได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08 1531 8203 (คุณอู๊ด) Facebook : โฮงเฮียนแม่น้ำของ

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'