ถัดจากตัวเมืองกว่า 30 กิโลเมตร มีสวนเล็ก ๆ ซ่อนตัวปะปนอยู่กับคันนาบ้านโคกกลาง ต.จระเข้ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น มองดูแล้วเหมือนพื้นที่ธรรมดา มีสีเขียว มีทุ่งหญ้า มีบ้านพักหลังเล็ก เหมือนสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไปที่หลับตาจิ้มยังได้ในสมัยนี้ 

แต่ถ้าบอกว่าที่นี่เริ่มต้นตั้งแต่ 7 ปีก่อน ในตอนที่กระแสคาเฟ่กลางคันนายังไม่น่าพิสมัย ในตอนที่ผู้คนยังนึกไม่ออกว่าขอนแก่นมีดีอะไร สวนแห่งนี้บุกเบิกกิจกรรมมากมายที่ทำให้แขกเมืองทั้งไทย-เทศมองเห็นคุณค่าของวิถีชนบท

จากผืนดินแห้งแล้งที่ซื้อมาเพราะความไม่รู้ สองพี่น้องเจ้าของสวน ผู้เรียกตัวเองว่าคนขอนแก่นชายขอบ ใช้ประสบการณ์จากการเติบโตในเมืองหลวง ผสมผสานกับความทรงจำของบ้านเกิดในวัยเยาว์ ปลุกปั้นที่ดินว่างเปล่าให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารของจังหวัดได้สำเร็จ 

มาที่นี่ คุณจะไม่ได้แค่นั่งดื่มกาแฟอุ่นจากบาริสต้าเปื้อนยิ้ม กินกับข้าวดี ๆ จากสวนเกษตรปลูกเอง หรือหย่อนกายพักผ่อนในโฮมสเตย์อบอุ่น เพราะเอกลักษณ์ของมีกินฟาร์ม คือ กิจกรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้ผู้คนได้สัมผัสวิถีชีวิตในชุมชน ทั้งชวนคุณออกไปสำรวจสวนป่า ลุยโคลนดำนา ทานอาหารจากวัตถุดิบพื้นถิ่น แม้กระทั่งการจัดทริปทัวร์ทั่วจังหวัดแบบถึงแก่น

สองสาวเปิดบ้านรอเล่าให้ฟัง ว่าอะไรคือเบื้องหลังความมหัศจรรย์ของพวกเธอ 

มีกินฟาร์ม สวนในฝันของสองพี่น้องกลับบ้าน ที่อยากทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองท่องเที่ยว
มีกินฟาร์ม สวนในฝันของสองพี่น้องกลับบ้าน ที่อยากทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองท่องเที่ยว

ฝันดี ฝันเด่น

“มีกินฟาร์มเกิดจากภาพความทรงจำวัยเด็กตอนอยู่กับตากับยาย​ สมัยนั้นเรายังได้เห็นว่าในน้ำมีปลา ​ในนามีข้าว​ มีกระท่อมปลายนา มีการปลูกผักสวนครัว​ บวกกับมีเพื่อนในแบบเรียน​อย่าง​ มานีมานะ ภาพจำเหล่านั้นกล่อมเกลาเราให้อยากมีบ้านสวนของตัวเองในสักวัน” เสียงของ ปู-จงรัก จารุพันธุ์งาม พี่สาวผู้ก่อตั้งมีกินฟาร์ม เล่าให้เราฟังเมื่อถามว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของสวนแห่งนี้

เธอชวนย้อนไปถึงวันวาน ที่เด็กหญิงปูยังคงติดสอยห้อยตามคุณตาคุณยายผู้มีอาชีพเกษตรกร ไปปลูกผัก เก็บของป่า ขึ้นภูเขาทำไร่เลื่อนลอย เด็กน้อยในวันนั้นชอบพักจักรยานไว้ใต้โคนต้นไม้ใหญ่ พอนึกย้อนกลับไป ปูคิดว่าเธอชอบเล่นคนเดียว ชอบอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่จำความได้

พ่อแม่ของเธอทำงานก่อสร้าง ถัดจากทุ่งนากว้างของตายายคือการย้ายที่อยู่อาศัยตามงานของครอบครัวไปเรื่อย ๆ กว่าจะได้มีบ้านเป็นหลักแหล่งที่ขอนแก่นก็ตอนมัธยมต้น พ่วงมาด้วยการดูแลน้องอีก 2 คน ที่คนสุดท้องอายุห่างจากเธอเกือบ 12 ปี 

หลังผ่านการเรียนมัธยมโดยไม่มีคู่หู ปราศจากเพื่อนสนิทตัวติดกัน ปูเข้ามาศึกษาคณะรัฐศาสตร์และการปกครอง ม.ธรรมศาสตร์ ด้วยนิสัยทำงานกับใครก็ได้ ทั้งเด็กบ้านนอก ทั้งเด็กเมืองจากอีกชนชั้นของสังคม ปูกลายเป็นนักกิจกรรมที่มีเพื่อนเยอะ เธอจบมาลุยงานสายวิชาการอย่างจริงจัง กระทั่งตัดสินใจเก็บกระเป๋าไปใช้ชีวิตที่อังกฤษถึง 6 ปี เพื่อพบว่าแท้จริงแล้วเธออยากกลับบ้านมาสานฝัน

ร่วม 20 ปีที่ปูจากขอนแก่นมา แน่ล่ะเธอกลับมาพร้อมกับความเป็นอื่นในบ้านตัวเอง เว้นเสียแต่ความหลงใหลในการเกษตรที่มันอยู่ในเนื้อ ในตัว ในแก่น ต่อให้ใช้ชีวิตเป็นชนชั้นกลางในเมืองหลวงหรือประเทศอังกฤษก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เธอเชี่ยวชาญคือปูแผ้วถางสวนได้อย่างว่องไว

ตัดภาพมาที่น้องสาวคนเล็ก ยิ้ม-ปราณีต จารุพันธุ์งาม ผู้เล่าว่าความทรงจำในวัยเด็กของปูไม่มีเธออยู่เลย

“เราเป็นพี่น้องที่โตไม่ทันกัน เราอนุบาล พี่ปูไปเรียน ม.ปลาย ในเมืองแล้ว ตอนเราประถมพี่ปูเรียนธรรมศาสตร์ เราอยู่ ป.6 พี่เรียนจบ พอเราเข้าไปเรียน ม.ปลาย ในเมือง พี่เราไปเรียนเมืองนอก พอเราเข้ามหาลัย เขาก็ยังอยู่อังกฤษ ถึงเราตามไปก็ตามไม่เห็นฝุ่น”

กระนั้น ยิ้มก็ได้เข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ ตามรอยพี่ ด้วยการเรียนสาขาภาพยนตร์ มหาลัยศิลปากร เพียงแต่หลังทำงานเขียนบทหนังได้ 3 ปี เธอยังคงรู้สึกเหมือนเด็กจบใหม่ที่ต้องเขียนเรื่องสมมติเป็นคนอื่น อ่อนประสบการณ์ และกลายเป็นคนอกหักจากวงการเขียนบทหนังไทยเพราะแพ้ภัยตัวเอง 

“เราเพิ่งมาเป็นโฮมซิกตอนอยู่กรุงเทพได้ 7 – 8 ปี มานั่งคิดดูคงเพราะตอนเรียนเรามีพี่ยุ้ย (พี่คนกลาง) อยู่กรุงเทพฯ แล้วเราก็อยู่ในคอนโดที่พี่ปูซื้อไว้ บรรยากาศมันคือบ้านของเรา เหมือนเรามีบ้านหลายหลัง

“พออกหักจากวงการ เรากลายเป็นคนว่างเปล่าเลย แต่สิ่งหนึ่งที่เรามี คือยังมีคนรอเราอยู่ที่บ้าน”

เส้นทางของพี่กับน้องมาบรรจบก็ตรงนี้ หากมานีมานะกล่อมเกลาให้พี่ปูอยากมีบ้านสวน นักเรียนฟิล์มอย่างพี่ยิ้มก็คงถูกสื่ออย่างรายการ พื้นที่ชีวิต หรือ เป็นอยู่คือ เชิญชวนให้อยากกลับบ้าน 

บ้านสวนหลังเล็กยังคงลอยล่องอยู่บนวิมาน ในฐานะมือเขียนบทที่ตอนเรียนมักรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ สิ่งที่ยิ้มทำคือการวางแผนให้ไปถึงจุดนั้นอย่างรัดกุม

มีกินฟาร์ม สวนในฝันของสองพี่น้องกลับบ้าน ที่อยากทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองท่องเที่ยว

กำปั้นทุบดิน

“เรากลับบ้านมาพร้อมกับความคิดที่จะเป็นแบบ Little Forest เลย ไปเรียนทำเค้กมาด้วย คิดเลยว่าอยากมาปลูกอะไร ๆ กี่แปลง วางแผนดีมาก ลงทุนด้วยเงินก้อนเล็กจากการเขียนบท สรุป แค่แปลงเรายังขุดไม่ลง พ่อมาขุดให้”

สองสาวหัวเราะร่วนเมื่อภาพในจินตนาการสวนทางกับความเป็นจริง หน้าที่ของคนลงมือปลูกจึงเป็นปูที่คุ้นเคยกับดินมาตั้งแต่เด็ก ยิ้มบอกว่าเรื่องราวหลังจากนี้จะคล้ายกับการผจญภัยของพวกเธอในเมืองดอกคูน 

“ใช้คำว่าเราเป็นคนขอนแก่นชายขอบ อยู่ห่างจากตัวเมือง 30 กิโล พ่อแม่ก็เป็นชาวบ้านธรรมดา การที่เรามีโอกาสเข้าไปศึกษาในเมือง เรากลับมาพร้อมกับวิธีคิดที่แตกต่างจากคนที่นี่

“เราเริ่มจากติดลบ ไม่มีพาวเวอร์ ไม่มีทุน ไม่มีความรู้ ไม่มีคอนเนกชัน แถมมีภาระทางการเงินจากธุรกิจก่อนหน้า

“ที่ตรงนี้คือที่ดินเปล่าซึ่งแห้งแล้งมาก ไม่มีต้นไม้เลย ถ้าเมื่อ 7 ปีที่แล้วเรามีความรู้เรื่องทำเลธุรกิจคงไม่ซื้อแปลงนี้ บวกกับธุรกิจเก่าก็อยู่ไม่ไกล ภาษาอีสานเรียกย่างลัดท่งได้ คือเดินลัดทุ่งนามาอีกนิดเดียวก็ถึงแปลงนี้แล้ว เราคิดว่าการทำสวนจะเป็นแค่งานอดิเรก เลยตั้งชื่อว่า ‘สวนเกษตรมีกิน’ ตั้งใจแค่ให้เป็นตู้กับข้าวของครอบครัว”

หลังปักชำกิ่งก้านลงในดิน เพื่อนกลุ่มแรกในขอนแก่นที่โชคชะตาพานให้พบคือกลุ่มคนทำ Community Space แห่งหนึ่ง เป็นร้านอาหารที่มีหนังสือขาย มีโซนสำหรับจัดกิจกรรมและแสดงงานศิลป์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สองพี่น้องอยากทำ 

“ด้วยคาแรกเตอร์ของเราที่เข้ากับใครก็ได้ บวกกับความสนใจส่วนตัว ก็พาเราไปรู้จักกับคนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมในขอนแก่น แม้จะยังรู้สึกเป็นอื่นในบ้านตัวเอง อย่างน้อยเราก็ถูกกอดจากคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้ แต่เราเองก็มีภาระ ทำงานเพื่อสังคมไม่ไหว สารภาพกับเพื่อนย้อนหลังเลยว่า เราให้ใครไม่ได้นะ ถ้าเราเองยังไม่แข็งแรง”

มิตรภาพที่เกิดขึ้น ทำให้ยิ้มมีโอกาสได้เป็นผู้จัดการร้านนั้น ส่วนปูก็ได้นำผลผลิตจากสวนเกษตรเริ่มสร้างมาทำเมนูเพื่อสุขภาพขายในร้าน ด้วยฝีมือทำอาหารที่แม่พร่ำสอน เป้าหมายที่เธอหวังไว้ไม่มากมาย เพียงต้องการให้ลูกค้ารู้จักเธอผ่านอาหาร เผื่อจะมีวันใดแวะเวียนมาที่สวนบ้างก็เท่านั้น

ปลาย พ.ศ. 2559 พื้นที่แห่งมิตรก็ปิดลงด้วยเหตุปัจจัย สองพี่น้องหันกลับมามองตู้กับข้าวของครอบครัวที่นับวันจะงอกเงยผลผลิตเต็มตะกร้า และคำว่า Mice City จากมิตรอีกคนหนึ่งก็ชี้ทางสว่างให้กับพวกเธอ

“นักท่องเที่ยวทั่วไปจะไปเที่ยวร้านกาแฟ ถ่ายรูปเล่น แต่กลุ่ม Mice คือผู้บริหาร เขาชอบไปเที่ยวชุมชน พี่ปูเลยได้ไอเดียว่าจะทำบ้านนอกขายให้คนกลุ่มนี้ นี่คือความคิดของคนไม่เคยทำธุรกิจ

“กระแสการท่องเที่ยว พ.ศ. 2560 ตอนนั้นใครจะมาทำเพิงขายกาแฟกลางทุ่ง ไม่มีหรอก โดยเฉพาะในขอนแก่น แต่เราไม่มีทุน หนึ่งแสนก็ไม่มี เปิดคาเฟ่ไม่ได้อยู่แล้ว เราอาศัยประสบการณ์ที่อยู่อังกฤษ ทำกับข้าวเป็น เริ่มจัดกิจกรรมในสวน”

มีกินฟาร์ม สวนในฝันของสองพี่น้องกลับบ้าน ที่อยากทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองท่องเที่ยว
มีกินฟาร์ม สวนในฝันของสองพี่น้องกลับบ้าน ที่อยากทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองท่องเที่ยว

จ้างร้อย เล่นล้าน

‘ลงทุ่งดำนาปิ้งปลาข้างคันแท’ คือกิจกรรมแรกของพวกเธอ ปูหยิบเอาความทรงจำจากอังกฤษมาปรับใช้กับคนไทย แบ่งพื้นที่นาคนละ 16 ตารางเมตร ให้ผู้ร่วมกิจกรรม 20 คนได้เป็นเจ้าของแปลงข้าว เธอคิดว่าถ้าเขาได้ลงมือดำนาเอง ในระยะเวลา 4 เดือนกว่าข้าวจะเติบโต คงต้องมีใครวนกลับมาดูบ้าง 

ไม่พ้นลงเอยเหมือนเคย คือไม่มีใครกลับมาเลยสักคน

แม้ผลลัพธ์จะไม่ได้ดังใจหวัง แต่สิ่งที่ตามมาคือการมีภาพออกไปว่าสวนเล็ก ๆ แห่งนี้มีกิจกรรมดำนา นั่งกินข้าวปิ้งปลาบนผืนเสื่อ นับเป็นครั้งแรกในจังหวัดขอนแก่นก็ว่าได้

เข้าตาอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ปูรู้จักโดยบังเอิญ คราวนี้จำนวนผู้เข้าร่วมไม่ใช่แค่หลักสิบ แต่เป็นนักศึกษานับร้อย ปูขยายกิจกรรมมากกว่าการดำนา แต่เธอดึงเอาหมอลำพื้นบ้านมาสร้างสีสัน ทำบายสีสู่ขวัญกันอย่างยิ่งใหญ่ ภาพที่ออกไปก็ยิ่งสวยงามกว่าครั้งก่อน

“แต่ความน่าสงสารของเราคือโถงนาก็ยังไม่มี ต้นไม้ในสวนก็ยังไม่โตมาก เราต้องไปเช่าเต็นท์คนในหมู่บ้าน ยืมเสื่อ ยืมลำโพงจากวัด จากที่ไม่มีอะไรเลยก็รับแขกเป็นร้อยคนได้ เพราะความเกื้อกูลกันตามแบบคนบ้านนอก”

เธอเริ่มรู้ว่าสวนมีกินมีศักยภาพมากพอจะรับแขกได้ อาจเพราะตัวตนของสองสาวบ้านนอกที่เล่าเรียนในเมืองหลวงนั้นสะท้อนออกมาทางรสนิยม บริษัทมีชื่อเสียงมากมายก็เริ่มติดต่อเข้ามาเป็นลูกค้า รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ภายหลังมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการเติบโตของพวกเธอ ต่อให้สายตาของเด็กเรียนหนังอย่างยิ้มจะมองดูเบรกดาวน์แล้วต้องแตกแน่นอนก็ตาม

“มีการติดต่อมาว่าอยากจัดการประชุมผู้อำนวยการ ททท. ภาคอีสานทั้งหมดประมาณ 30 คน ไม่ต้องมีอาหารกลางวัน แต่ให้จัด Heavy Break มีเวลาทำ 14 วัน เรารับเลย”

“ถ้าเป็นคนอื่นคงไม่กล้ารับหรอก เพราะต้องสร้างอาคารในฤดูฝน ไม่รู้จะเสร็จทันไหม หญ้ามุงหลังคาก็ไม่ได้มีพร้อม เราคิดแค่ว่าโอกาสมาอยู่ข้างหน้า ถ้าไม่คว้า มันไปที่อื่นแน่นอน ซึ่งสุดท้ายงานนั้น หลังคามุงเสร็จครึ่งเดียว (หัวเราะ)”

ภายใต้โถงใหญ่ที่มุงด้วยหญ้าคากับผ้าใบ พวกเธอตีโจทย์ Heavy Break ออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ได้มีแค่ขนมนมเนย แต่กาแฟพร้อมเสิร์ฟตลอดเวลา มีข้าวเหนียวหมูทอดเป็นอาหารว่าง มีขนมหมกเตาถ่านที่ร้อนตลอดวัน พิเศษกว่านั้นคือพวกเธอมีสาโทหมักโดยคุณแม่เป็น Goodbye Drink 

ความสร้างสรรค์กลางทุ่งนาในครานั้น ส่งผลให้ ททท. เลือกสวนเกษตรมีกินให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Creative & Gastronomy Tourism) ในปีที่ภาคอีสานถูกจับตามอง ผืนดินนี้จึงถูกเหยียบย่ำไม่ขาดสายทั้งฝีเท้าของคนไทยและต่างชาติ 

พวกเธอผ่านการรับมือกับอุปสรรคมาเกือบทุกกระบวนท่า ออกไอเดียพลิกแพลง แก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาแล้วก็หลายครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่า คนนอกบ้านรู้จักสวนในฝันของเธอก่อนคนในขอนแก่นเองด้วยซ้ำไป

เป็นเหตุให้ทั้งคู่ตัดสินใจเปิดร้านอาหารและคาเฟ่เล็ก ๆ ที่ไม่เกินความสามารถ จาก ‘สวนเกษตรมีกิน’ ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็น ‘มีกินฟาร์ม (MEKIN FARM)’ ใน พ.ศ. 2562 โดยมีแขกคนแรกชวนปาดเหงื่อคือผู้ว่าฯ ททท.

มีกินฟาร์ม สวนในฝันของสองพี่น้องกลับบ้าน ที่อยากทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองท่องเที่ยว
คุยกับสองพี่น้องกลับบ้าน ผู้เนรมิตสวนจากฝันในวัยเยาว์ให้กลายเป็นแหล่งท่องท่องเที่ยวเชิงอาหารแถวหน้าของ จ.ขอนแก่น

เที่ยวถึงแก่น

ทำมาได้สักพัก สองพี่น้องก็ตระหนักได้ว่า มีกินฟาร์มที่เดียวคงไม่มีความน่าสนใจพอจะให้คนจองตั๋วเครื่องบิน ตีตั๋วรถทัวร์มาถึงขอนแก่น นักท่องเที่ยวควรมีตัวเลือกที่หลากหลาย มีรูทการเดินทางที่มาแล้วไม่เสียใจ ทั้งคู่ริเริ่มเชื่อมโยงชุมชนเข้ากับการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองทั้งกลุ่มคนทั่วไปและ Mice City 

บวกกับตอนนั้นปูเองก็สร้างสรรค์กิจกรรมแปลกแหวกแนวอย่าง Fine Dining ขึ้นมากลางทุ่ง ในโมงยามที่แทบไม่มีใครรู้จัก โดยให้เชฟชาวสิงคโปร์เพื่อนของเธอ เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เช่น หอยทราย ดักแด้ มาปรุงรสเป็นอาหารจานเลิศ ได้รับเสียงตอบรับที่ดี นำไปสู่การคิดเส้นทางท่องเที่ยว Food Journey และขอนแก่น 2 วิถี จนมีผู้แนะนำให้พวกเธอไปจดทะเบียนเป็นธุรกิจนำเที่ยว

“มีกินฟาร์มในฐานะแหล่งท่องเที่ยวควรมีพันธมิตรที่เติบโตไปด้วยกัน ถ้าเราจะเติบโตก็ควรไปพร้อมกันทั้งชุมชน ร้านเค้ก คนทำงานคราฟต์ แม่ ๆ พ่อ ๆ ในชุมชน เราคนเดียวไม่พอสำหรับนักท่องเที่ยวหรอก”

หลังจากนั้นเพจ ‘เที่ยวถึงแก่น’ จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นอีกช่องทางในการนำเสนอโปรแกรมท่องเที่ยวขอนแก่น 2 วิถี คือ วิถีเมือง พาเที่ยวตามจุดเช็กอิน ร้านกาแฟ เหมาะกับสาย Cafe Hopping และวิถีชนบท พาขึ้นภูเขา เข้าป่า เดินตลาดนัด คัดสรรมาเป็นอย่างดีโดยคนแก่นนครที่อยากนำเสนอแง่มุมใหม่ซึ่งน้อยคนจะเคยเห็น 

“เราไม่ได้เติบโตในฐานะธุรกิจการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่มันมีส่วนช่วยพัฒนาเมืองในฐานะคนขอนแก่นชายขอบ โมเดลขอนแก่น Smart City มีอะไรออกมาชุมชนภายนอกบ้าง นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เขาได้ประโยชน์ 

เป็นแพสชันส่วนตัวที่เราอยากทำเพื่อบ้านเกิด ไม่ใช่แค่หาเงินเข้ากระเป๋าแล้วใช้ชีวิตรอวันตาย แต่มันเป็นการให้อะไรกลับคืนสู่บ้าน สู่คนในชุมชนผ่านการจ้างงาน ซื้อวัตถุดิบของชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ คนในชุมชนมาทำงานกับเราแล้วมีรายได้ประจำ หลายคนชอบมองงานพวกนี้ว่าเป็นจิตอาสา แต่เรามองว่าท้องมันต้องอิ่ม เรื่องเงินต้องชัดเจน ซึ่งเหนื่อยนะกับการเอาพลังกายพลังใจไปทำงานที่ไม่ได้ตอบแทนเป็นเงินเสมอไป แถมต้องควักเนื้อ”

เป็นอีกครั้งที่พวกเธอเปิดตัวยิ่งใหญ่โดยไม่ตั้งใจ งานแรกของเที่ยวถึงแก่นคืออีเวนต์เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ของ Disaya Vacationist แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ Leica Camera Thailand มีเวลาเสกเพียง 10 วันเพื่อรองรับผู้เข้าร่วมจำนวน 60 คน จากสองสาวที่ชอบเล่นคนเดียว ไม่มีเพื่อนคู่คิด อาศัยความอัธยาสัยดีรวบรวมมิตรสหายมาตลอดชีวิต กลายเป็นคนที่มีเพื่อนทั่วจังหวัด จนดึงผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาอาชีพมารวมตัวกันเพื่อสร้างงานนี้ให้เกิดขึ้นได้ พวกเธอบอกว่าเป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับเพื่อนหลายคน ได้ให้คุณค่ากับงานดี ๆ ของทุก ๆ คนที่รู้จัก เพราะทั้งคู่เองเคยรับโอกาสดี ๆ เช่นนั้น และเชื่อว่าคนมีดีทุกคนควรอยู่ให้ถูกที่ กิจกรรมนี้จึงลุล่วงไปด้วยดีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

คุยกับสองพี่น้องกลับบ้าน ผู้เนรมิตสวนจากฝันในวัยเยาว์ให้กลายเป็นแหล่งท่องท่องเที่ยวเชิงอาหารแถวหน้าของ จ.ขอนแก่น
คุยกับสองพี่น้องกลับบ้าน ผู้เนรมิตสวนจากฝันในวัยเยาว์ให้กลายเป็นแหล่งท่องท่องเที่ยวเชิงอาหารแถวหน้าของ จ.ขอนแก่น

บ้านหลังสุดท้าย

เวลาผ่านไปหลายสิบปี ในที่สุดเด็กหญิงปูก็ได้มีบ้านสวนสมใจ มีโฮมสเตย์หลังเดียวท่ามกลางสีเขียวขจีของแมกไม้ ที่บรรจงปลูกอย่างตั้งใจเพื่อไม่ให้เด็กหญิงปูในวัยเยาว์ต้องผิดหวัง และมันเปิดประตูรอรับแขกเสมอ

สองสาวอยากให้คนมาพักที่นี่ด้วยความรู้สึกเหมือนกลับบ้าน หรืออย่างน้อยก็เหมือนได้มาเยี่ยมบ้านเพื่อนสนิท เธอจัดแจงบรรยากาศให้ดูอบอุ่น มีหนังสือให้เลือกอ่าน มีชาให้ต้มดื่มเอง มีเจ้าของบ้านที่เทคแคร์เอาใจใส่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Living with ME Like My KIN คือดูแลทุกคนประดุจญาติ ไม่ว่าจะร้านอาหาร โฮมสเตย์ ทัวร์ท่องเที่ยว หรืออื่นใด เราจะเห็นรอยยิ้มกว้างของสองพี่น้องและเสียงหัวเราะกลั้วบทสนทนา

มองผิวเผิน เรื่องราวการผจญภัยก็ควรจะจบลงที่ตรงนี้ เป็นคนกลับบ้านที่กลับมาสานฝันตัวเองให้เป็นจริงจนน่าเอาเยี่ยงอย่าง แต่ผิดถนัด

“บางคนถามว่าทำไมเราไม่ขายคอร์สคนกลับบ้าน เราไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเราอยู่ได้แล้วด้วยธุรกิจนี้ ไม่กล้าการันตี ไม่ขายฝัน เพราะเราก็เจ็บปวดกับความฝันมาเยอะ

“ถ้าคุณมีพื้นที่บ้านนอกของตัวเอง แล้วอยากกลับมาปลูกต้นไม้ ทำสวน เราสนับสนุนเต็มที่ แต่ถ้าบอกว่าจะออกจากงานมาทำธุรกิจแบบนี้ เราจะเป็นปางห้ามญาติทันที (หัวเราะ) 

“คุณมีทุนเยอะแค่ไหน มีเงินสำรองแค่ไหน มีแผนสองไหมถ้างานนี้ไม่เลี้ยงชีพ ต้นไม้มันรอเราได้นะ แต่ปากท้องมันไม่รอ ถ้าจะทำธุรกิจต้องคิดแบบธุรกิจ อย่าคิดแบบฝัน เรามีบ้านสวนในฝันได้ แต่ธุรกิจในฝันต้องค่อย ๆ คิด”

พวกเธอเองก็ใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะปั้นสรรให้ที่ดินเคยแห้งแล้งเป็นสวนเกษตร ตอบโจทย์ความต้องการและหาเลี้ยงตัวเองได้ สิ่งที่ยากคือเธอไม่ได้มีเบาะรองหลังเมื่อล้มลง ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นเป็นรายได้เสริม พวกเธอคือมีกินฟาร์ม

แรกเริ่ม เงิน 2,000 – 3,000 บาทคือเงินหมุนรายวันสำหรับปู พี่สาวคนโตของครอบครัวที่เคยหาเงินต่อเดือนได้เยอะมาก ส่วนยิ้มเองก็ยอมรับว่าสำหรับคนอายุ 32 ถ้าไปจับงานวงการโฆษณาคงได้เงินมากกว่านี้ แต่เธอแลกมาด้วยการได้อยู่บ้าน ได้กินอาหารดี ๆ เป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องวางแผนอย่างดีเพื่อให้เกิด ซึ่งกับสองพี่น้องคู่นี้ต้องเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจเข้าไปอีก และผสมด้วยความผูกพัน

“เราพูดกันตลอดว่า ธุรกิจนี้ถ้าฉันเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ มันคงไม่เกิดขึ้น หรือถ้ายิ้มไม่ยอมให้พี่เขาเป็นคนนำ มีกินฟาร์มมันจะไม่ใช่ฟาร์มในทุกวันนี้ ยิ้มต้องใช้ความพี่ปู ความมุทะลุ ความมุมานะของเขาว่าจะเป็นแบบนี้ให้ได้ พอเขามั่นใจ เราก็จะเป็นคนคิดว่าถ้าจะเป็นอย่างนั้น ต้องทำอะไรบ้าง

“การเติบโตของมีกินฟาร์มมันก็เป็นการเติบโตของยิ้มด้วย เราในวัย First Jobber ก็เป็นยิ้มศิลปากรที่ตั้งตัวเราไว้ใหญ่มาก พอกลับมาบ้านเราตัวลีบเล็ก แล้วก็ค่อย ๆ โตขึ้นผ่านการทำงาน ซึ่งเราแฮปปี้กับจุดนี้ของตัวเองมาก เราจะเป็นคนกลับบ้านที่ไม่กลับกรุงเทพฯ แน่นอน”

ฝั่งพี่สาว อธิบายเสริมให้เข้าใจว่าทำไมพวกเธอจึงเป็นส่วนเติมเต็มกันและกัน

“พี่ปูโชคดีที่ครอบครัวเชื่อมั่นในตัวเรา โดยเฉพาะยิ้ม เราห่างกับเขาเยอะ มันมีทั้งความเหมือนและไม่เหมือน เราเป็นคนมองกว้าง ยิ้มเขาจะมีความกลัวบางอย่าง เช่น งานใหญ่ ๆ ที่เราอยากเสี่ยง เขาก็จะคอยฉุดเรา พอเราทำธุรกิจมาสักพักก็จะรู้ว่าต้องรอบคอบมากขึ้น เหมือนพี่น้องที่เป็น Business Partner ที่เคารพความคิดเห็นกัน”

ทั้งคู่มองเห็นร่วมกันว่าทิศทางของมีกินฟาร์มก็คงจะดำเนินเช่นนี้ต่อไป ไม่ถึงกับโด่งดังเปรี้ยงปร้าง แต่มีลูกค้าแวะมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย เป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจให้ผู้คนกลับไปเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ จากสิ่งละอันพันละน้อยที่สอดแทรกอยู่ในทุกซอกมุมของสวนแห่งนี้ ปูกระซิบบอกว่านี่แหละคือความยั่งยืนของธุรกิจ เพราะการทำพื้นที่ให้ดี จะดึงดูดแต่คนดี ๆ เข้ามาหา

ไม่ต่างอะไรกับยิ้ม ผู้เคยตั้งอัตตาตัวเองไว้ใหญ่โต ยามมองไปยังพี่สาวท่ามกลางสวนหย่อมหญ้า เธอรู้สึกเหมือนดินผืนนี้เป็นขุมพลังวิเศษบางอย่างที่ทำให้พี่ปูมีความสุขเกินกว่าใคร

หลายคนอาจมีภาพความสุขคล้าย ๆ กัน ว่าอะไรจะดีมากไปกว่าการได้อยู่ในบ้านอบอุ่น รายล้อมด้วยธรรมชาติ แบบเดียวกับที่เคยฝันอยากมี แต่ยิ้มเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนมากมองความสุขเป็นคนละภาพกับพี่ปู รวมถึงตัวเธอด้วย

“เราเคยมีภาพว่าถ้าอยู่ในบ้านสวนแบบนั้นเราต้องมีความสุขมากแน่เลย แต่ถ้ามันไม่ใช่ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เรามีความสุขกับการได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ได้เป็นแม่ครัว บาริสต้า ครูสอนทำขนม คนนำเที่ยว ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ที่เอื้อให้เราได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่าง นั่นแหละเป็นความสุขของเรา”

พวกเธอหวังว่าคุณจะได้รับสิ่งเดียวกันนั้นเมื่อขับรถออกไป

คุยกับสองพี่น้องกลับบ้าน ผู้เนรมิตสวนจากฝันในวัยเยาว์ให้กลายเป็นแหล่งท่องท่องเที่ยวเชิงอาหารแถวหน้าของ จ.ขอนแก่น

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล