“พี่รู้ไหม นักท่องเที่ยวคนไทยหลายคนนึกภาพฝันว่า ข้างบนเขาที่มีดอกบัวผุด หน้าตาจะเป็นอย่างไร”

แอ๊ด คนนำทางพื้นเมืองเอ่ยปากกับผม ก่อนเริ่มต้นเดินขึ้นเขา

“พวกเขาคิดว่าเป็นอย่างไรครับ”

“พวกเขาคิดว่า ข้างบนโน้นน่าจะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ แล้วมีบัวสวยงามขนาดใหญ่ที่เรียกว่า บัวผุด ลอยเด่นอยู่กลางสระราวสรวงสวรรค์ แต่พอได้เห็นของจริงก็บอกว่า แค่นี้เหรอ”

ผมอมยิ้มกับจินตนาการสุดบรรเจิดของนักท่องเที่ยวเหล่านี้

ตามหา ‘บัวผุด’ ดอกไม้ยักษ์ที่ทั้งสวย เหม็น และเป็นสุดยอดปรสิตระดับเซียนในเมืองไทย

ความฝันประการหนึ่งของนักท่องธรรมชาติทั่วโลก คือได้มีโอกาสมาเห็นบัวผุด (Rafflesia kerrii) ดอกไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่กระจายพันธุ์เฉพาะในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทย แหลมมลายู และอินโดนีเซีย 

อุทยานแห่งชาติเขาสก คือที่หมายตาของนักธรรมชาติวิทยาทั่วโลกที่อยากมาดูดอกไม้ชนิดนี้ในประเทศไทย กลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 พวกเราขับรถรวดเดียวจากกรุงเทพฯ เข้ามาในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสก เมื่อมีคนส่งข่าวว่าบัวผุดกำลังออกดอกแล้ว

เขาสกเป็นผืนป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ทางภาคใต้ ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ขุนเขาแห่งป่าฝน’ ครอบคลุมป่าคลองหยีและคลองพระแสง อำเภอพนมและอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ประมาณ 463,131 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาขึ้นสลับซับซ้อน และมีแนวหน้าผาสูงชัน ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติงดงาม และเป็นป่าแหล่งอาศัยของสัตว์ป่ากว่า 415 ชนิด มีสัตว์ป่าสงวนถึง 4 ชนิด คือ เก้งหม้อ เลียงผา สมเสร็จ และแมวลายหินอ่อน

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ได้เกิดโครงการสร้างเขื่อนรัชชประภาหรือเขื่อนเชี่ยวหลานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้พื้นป่าเขาสกนับแสนไร่ต้องจมน้ำกลายเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน และได้เกิดโครงการอพยพสัตว์ป่าขึ้นครั้งแรกในประเทศ โดยมีคุณสืบ นาคะเสถียร เป็นหัวหน้าโครงการ ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่า มีการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ตกค้างตามเกาะในอ่างเก็บน้ำได้นับพันชีวิต 

และต่อมา คุณสืบได้เขียนงานวิจัยออกมาเผยแพร่ว่า โครงการอพยพสัตว์ป่าประสบความล้มเหลว เพราะไม่สามารถช่วยสัตว์ป่าได้สัตว์ป่าเหล่านั้นได้ จากความอ่อนแอ ความอดอยาก และหลายตัวที่รอดชีวิตก็ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ได้ จนในที่สุดก็ล้มตายจนหมดสิ้น การสร้างเขื่อนคือต้นเหตุแห่งการทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในป่าโดยสิ้นเชิง 

ระหว่างทางเข้าอุทยานเขาสก เราสังเกตเห็นว่า รีสอร์ต ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกนับร้อยแห่งปิดตัวเองราวกับเมืองร้าง เพราะผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเลย

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบริเวณนี้ล้วนพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้รักการผจญภัยในธรรมชาติ ขึ้นเขา เดินป่า ล่องแก่ง ขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทยไม่ค่อยมา แต่นิยมไปล่องเรืออ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ดูความงดงามของน้ำตก หน้าผา ถ้ำ และทิวทัศน์เทือกเขาหินปูนที่ตั้งตระหง่านเหนือผืนน้ำอ่างเก็บน้ำ จนได้รับฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทย

“จะว่าไปแล้ว คนไทยชอบเที่ยวอะไรสบายๆ ไม่ต้องลำบากในการเดินมาก อ่างเก็บน้ำจึงตอบโจทย์มากกว่า การเดินป่าเขาสกที่ต้องอาศัยการเดินเท้า” ไกด์คนเดิมบอกกับเรา

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากมารายงานตัวลงทะเบียนคนเข้าพื้นที่หน้าที่ทำการอุทยานแล้ว เรามุ่งหน้าเดินขึ้นเขาสูงชันรวดเดียว แทบจะไม่มีพื้นราบให้เดิน ผ่านป่าไผ่ ผ่านป่าดิบเขาเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงอย่างทุลักทุเล ราวกับธรรมชาติกำลังสอนเราว่า ก่อนจะสัมผัสกับความมหัศจรรย์แห่งชีวิตเบื้องบน เราจะผ่านบททดสอบอันเหนื่อยยากได้ไหม

ขณะที่เรากำลังดื่มน้ำดับกระหาย แอ๊ดกวักมือชี้ให้เราดูก้อนสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่คล้ายหม้อบนพื้นดิน เมื่อเดินเข้าไปใกล้ หัวใจก็เต้นเร่าด้วยความดีใจ เมื่อเห็นดอกบัวผุดปรากฏขึ้นต่อหน้าจริงๆ แต่เป็นดอกตูมๆ ยังไม่บาน

ตามหา ‘บัวผุด’ ดอกไม้ยักษ์ที่ทั้งสวย เหม็น และเป็นสุดยอดปรสิตระดับเซียนในเมืองไทย

“ใจเย็นครับ ด้านหน้าคงจะมีดอกบานให้เห็นแน่นอน”

เห็นดอกใหญ่ขนาดนี้ แต่น่าแปลกตรงที่เราไม่เห็นใบ รากหรือลำต้นของบัวผุดเลย เพราะบัวผุดจัดว่าเป็นพืชกาฝากขนาดใหญ่ ไม่ต้องมีราก ลำต้น หรือใบสังเคราะห์แสง แต่เจริญงอกงามอยู่บนลำต้นของเถาไม้วงศ์องุ่นป่า ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ย่านไก่ต้ม’ 

ดอกตูมเหล่านี้ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะบานออกมาเต็มที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

เราเดินต่อไปอีกไม่ไกล หัวใจก็เต้นแรงอีกครั้ง เมื่อเห็นดอกบัวผุดบานอยู่บนพื้นดินเป็นดอกเดี่ยวๆ เส้นผ่านศูนย์กลางของตัวดอกประมาณ 50 เซนติเมตร เรานั่งพิจารณาความงามของดอกไม้ชนิดนี้อย่างใกล้ชิด เป็นดอกไม้ที่งดงามจริงๆ แลกกับกลิ่นเหม็นเน่าฉุนโชยออกมา เพื่อล่อแมลงชนิดต่างๆ ให้เข้ามาผสมเกสร

ตามหา ‘บัวผุด’ ดอกไม้ยักษ์ที่ทั้งสวย เหม็น และเป็นสุดยอดปรสิตระดับเซียนในเมืองไทย
ตามหา ‘บัวผุด’ ดอกไม้ยักษ์ที่ทั้งสวย เหม็น และเป็นสุดยอดปรสิตระดับเซียนในเมืองไทย

ดอกบัวผุด : Rafflesia kerri โดยเฉลี่ยจะมีขนาด 50 – 80 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมาก 6 – 8 กิโลกรัม

บัวผุดที่พบในประเทศไทยได้รับการตั้งชื่อเป็นสปีชีส์ของโลกเมื่อ พ.ศ. 2527 โดย วิลเลิม เมเยอร์ (Willem Meijer) นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์จากมหาวิทยาลัยเคนทักกี สหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อพฤกษศาสตร์สากลเพื่อเป็นเกียรติแก่ อาร์เธอร์ ฟรานซิส จอร์จ เคอร์ (Arthur Francis George Kerr) นายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวไอริช ผู้สำรวจพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 ที่จังหวัดกระบี่

เราโชคดีมากที่มาทันเห็นดอกบัวผุดบานเต็มที่ได้ 3 วันแล้ว เพราะบัวผุดบานเพียง 5 – 7 วัน ก่อนใบจะเหี่ยว เปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ และเน่าเปื่อยหลุดออกจากลำต้นในที่สุด

เราค่อยๆ พิจารณาความงดงามของดอกไม้ชนิดนี้ที่เป็นดอกแยกเพศ เกสรตัวผู้-ตัวเมีย กันอยู่คนละดอก ดอกจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ภายนอกสุดเรียกว่า กลีบดอก มีลักษณะอวบน้ำเป็นสีแดงคล้ำจำนวน 5 กลีบ ถัดมาคือกำบังดอกสีแดง เป็นส่วนที่ล้อมรอบใจกลางดอก และส่วนสุดท้ายคือ จานกลางดอกและหนาม มีแผ่นแบนคล้ายจานสีแดงสด มีปุ่มคล้ายหนามขึ้นอยู่ตรงกลาง หนามทำหน้าที่กระจายความร้อนและส่งกลิ่นเหม็นออกมา โดยมีกำบังดอกช่วยทำให้กลิ่นเหม็นเน่าภายใน ไม่ฟุ้งกระจายไปไกล เพื่อล่อแมลงชนิดต่างๆ อาทิ แมลงวัน แมลงวันหัวเขียว ผึ้ง ชันโรง ให้มาตอมดอก เพื่อช่วยแพร่ละอองเรณูของเกสรตัวผู้ที่อยู่กันคนละดอกไปผสมเกสรตัวเมีย 

ตามหา ‘บัวผุด’ ดอกไม้ยักษ์ที่ทั้งสวย เหม็น และเป็นสุดยอดปรสิตระดับเซียนในเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นความลับทางวิทยาศาสตร์ว่า ดอกบัวผุดแพร่พันธุ์ได้อย่างไร เพราะดอกบานเพียงไม่กี่วัน ก่อนจะเหี่ยวเฉา โอกาสที่แมลงจะผสมเกสรจึงน้อยมาก และดอกที่ผสมแล้วใช้เวลาเท่าไรกว่าจะเจริญเติบโตเป็นผลและเมล็ด และกลับมาอาศัยเป็นกาฝากอยู่บนลำต้นของย่านไก่ต้ม เถาวัลย์วงศ์องุ่นได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสังเกตว่า การแพร่พันธุ์ของดอกบัวผุดน่าจะต้องอาศัยปัจจัยหลายประการคือ

  1. ดอกตัวผู้ ตัวเมีย ต้องอาศัยอยู่ใกล้กัน และบานพร้อมกัน เพื่อทำให้แมลงวันที่จะพาละอองเรณูของดอกเกสรตัวผู้ไปหาดอกเกสรตัวเมียมีโอกาสสูงขึ้น ก่อนจะเหี่ยวเฉาไปภายในไม่ถึงอาทิตย์
  2. หลังจากนั้น สัตว์ขนาดเล็ก อาทิ กระแต ต้องมากินผลบัวผุดที่แก่จัด และเมล็ดของบัวผุดอาจจะติดเล็บของมัน และกระแตต้องไปตะกุยบนผิวลำต้นของเถาวัลย์วงศ์องุ่น จนเมล็ดบัวผุดฝังเข้าไปในท่อน้ำเลี้ยงได้ จึงเกิดการเจริญงอกงามของดอกบัวผุดจนกลายเป็นปรสิต

บัวผุดจึงเป็นพืชเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก เพราะกระจายพันธุ์ได้ยาก และต้องอาศัยเป็นกาฝากของอยู่ในป่าดิบชื้นเท่านั้น มิหนำซ้ำ ชาวบ้านนิยมนำดอกตูมมาต้มน้ำดื่ม ด้วยความเชื่อว่า ช่วยทำให้หญิงมีครรภ์คลอดง่าย มดลูกเข้าอู่เร็ว

แต่ในความงดงามและความลึกลับของดอกไม้ชนิดนี้ เบื้องหลังคือเป็นพืชเบียน (Parasitic Plant) ปรสิต หรือกาฝากระดับเซียน

บัวผุดไม่ต้องการใบที่จะสังเคราะห์อาหารด้วยแสง แต่ดูดกินแร่ธาตุและน้ำจากย่านไก่ต้ม เถาวัลย์วงศ์องุ่นเถาวัลย์ หรือสูบเลือด สูบอาหาร จากเจ้าของบ้าน โดยต้นเจ้าของบ้านก็ยังมีชีวิตอยู่ตามปกติ 

เรียกว่าเป็นปรสิตระดับสุดยอด สูบเลือดสูบเนื้อเจ้าของบ้านแบบเนียนๆ แต่ไม่สูบให้ถึงกับตาย แต่เลี้ยงไว้เรื่อยๆ เพราะหากเจ้าบ้านตาย ปรสิตก็อาจจะตายได้ เพราะไม่รู้จะไปสูบแร่ธาตุอาหารกับใครได้ 

บัวผุด ดอกไม้แสนงาม จึงเป็นสุดยอดปรสิตในทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับสังคมมนุษย์ ก็มีสุดยอดปรสิตแบบบัวผุดอาศัยอยู่แบบเนียนๆ เช่นกัน

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว