ธุรกิจ : บริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด

ประเภทธุรกิจ : ธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2544

อายุ : 21 ปี

ผู้ก่อตั้ง : สมชาย โรจนมงคล

ทายาทรุ่นสอง : ภรภัทร โรจนมงคล

‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’

‘เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด’

นี่คงเป็น 2 สุุภาษิตไทยที่หลายคน โดยเฉพาะทายาทธุรกิจ ได้ยินจากผู้ใหญ่ที่บ้านบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ

แน่นอนว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อาวุโสย่อมมีประโยชน์ แต่การตั้งคำถามและกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ก็คือสิ่งสำคัญที่ทำให้โลกของเราพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดเช่นกัน

เพราะฉะนั้น ก่อนเริ่มบทความ เราขอชวนคุณคิดตามสักหน่อย

หากท่านเป็นเจ้าของโรงงานสินค้าโภคภัณฑ์แห่งหนึ่ง แต่ทว่านับวันผ่านไป การแข่งขันในอุตสาหกรรมยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ สงครามราคาก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น การขยายฐานการผลิตเป็นสิ่งที่ยาก เนื่องจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบมีอยู่อย่างจำกัด คุณจะทำอย่างไรให้โรงงานแห่งนี้เติบโต

พัฒนาคุณภาพของสินค้า นั่นไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจประเภทนี้ (สินค้าโภคภัณฑ์คือประเภทสินค้าที่มีความแตกต่างของสินค้าจากแต่ละผู้ผลิตน้อยมาก ๆ จนเรียกได้ว่า ไม่ว่าซื้อจากที่ไหนก็เหมือนกัน)

สิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้โดยตลอดคือ การให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อให้ผลิตได้เยอะที่สุดและถูกที่สุด ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ลดค่าตอบแทนบุคลากร ลดจำนวนคน ไม่ลงทุนในด้านระบบหรือการตลาด แต่สิ่งที่ทายาทธุรกิจรายนี้ทำนั้นต่างออกไป

เขาหันมาเพิ่มงบประมาณด้านบุคลากร พัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานตลอดจนระบบในการทำงาน

แม้ว่าสิ่งที่เขาทำจะเรียกได้ว่าเป็นคนละขั้วกับสิ่งที่คนอื่น ๆ เคยทำมาในอุตสาหกรรมนี้ แต่นั่นทำให้ธุรกิจของเขามีเปอร์เซ็นต์การเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นเกือบทุกปี และอัตรากำไรที่ก้าวกระโดดเป็นเท่าตัว

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ปฏิรูปธุรกิจไม้ยาง โดยให้ความสำคัญกับคนมากขึ้น

วันนี้ The Cloud จึงมีนัดพิเศษกับ นิ้ง-ภรภัทร โรจนมงคล ทายาทรุ่นสอง บริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด ธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราในจังหวัดตรัง ที่ตั้งใจจะปฏิรูปวิธีการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ และพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า การทำธุรกิจที่ ‘ดี’ จริง ๆ แล้วนั้น ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูที่เอาไว้โฆษณาบริษัท แต่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ด้วย

เอาล่ะ เขาทำได้อย่างไร ขอเชิญทุกท่านติดตามได้ ณ บัดนี้

ก่อตั้งโรงไม้

ย้อนกลับไปในสมัยก่อน ชาวสวนในภาคใต้ปลูกต้นยางเพื่อเอาน้ำยางเป็นหลัก เมื่อต้นยางอายุประมาณ 20 – 25 ปี ก็จะหมดอายุการให้น้ำยาง ทำให้ต้นยางเหล่านั้นถูกโค่นทิ้งและนำไปเผา 

เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีในการถนอมเนื้อไม้ก็ได้เข้ามาในประเทศไทย ทำให้เก็บรักษาไม้ยางพาราได้ จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราขึ้น โดยโรงงานแปรรูปไม้จะรับไม้ยางพารามาจากเกษตรกรเพื่อนำมาแปรรูป ก่อนส่งต่อไปให้โรงงานอื่น ๆ ที่นำไม้เหล่านั้นไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ

“คุณพ่อเริ่มต้นจากการเป็นพนักงาน ด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และความสามารถในการดูแลทุกอย่างแทนเจ้าของโรงงานได้ ทำให้เขากลายเป็นผู้จัดการที่มีชื่อเสียงในวงการขึ้นมา เลยมีนายทุนชาวนครศรีธรรมราช 3 – 4 ท่าน เข้ามาชวนคุณพ่อว่า สนใจอยากเป็นเถ้าแก่ไหม จะช่วยลงทุนโรงงานไม้ที่ตรังให้ แล้วก็จะมีหุ้นให้ส่วนหนึ่ง”

นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Megawood

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ปฏิรูปธุรกิจไม้ยาง โดยให้ความสำคัญกับคนมากขึ้น

“จำได้ว่าคุณพ่อกินนอนอยู่ที่โรงงานกว่า 5 ปี คอยเฝ้าโรงงานทั้ง 2 กะ จำภาพได้ว่าโรงไม้ในสมัยนั้นค่อนข้างสกปรก รกรุงรัง ผมก็ไม่ชอบ แต่คุณพ่อผมบอกว่า นี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี”

ด้วยจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการที่เน้นผลลัพธ์ บวกกับความโปร่งใสของคุณพ่อของนิ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มนำนักบัญชีเข้ามาตรวจสอบบริษัท หรือความซื่อสัตย์กับหุ้นส่วน ทำให้ผลประกอบการของโรงงานเป็นที่น่าพึงพอใจ นักลงทุนเหล่านั้นตัดสินใจที่จะลงทุนเพิ่ม จากเดิมที่เช่าโรงงานก็เปลี่ยนมาเป็นการสร้างโรงงานขึ้นมาเอง

“สไตล์ของคุณพ่อผมไม่เน้นระบบมาก เน้นใช้จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ เรียกว่าเข้าโรงงานทุกวัน ใช้คนน้อย ๆ ต้นทุนต่ำ ๆ แล้วผู้บริหารตัดสินใจเองหมด พนักงานมีปัญหาก็ให้มาบอก แล้วฉันจะบอกว่าแก้ยังไง นั่นคือในยุคของคุณพ่อผม คุณพ่อผมสอนว่าการเป็นโรงงาน ปัญหาเป็นอาหารเช้า วิธีการมีแค่อย่างเดียวคือแก้ให้เร็ว นั่นคือคำสอนของท่านตั้งแต่วันแรก 

“ท่านไม่เชื่อในเรื่องระบบ ในเรื่องคน ท่านเชื่อในจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ว่าไม่มีอะไรทดแทนสิ่งนี้ได้ ซึ่งผมไม่ได้เห็นด้วย แต่ต้องเก็บไว้ในใจ”

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ปฏิรูปธุรกิจไม้ยาง โดยให้ความสำคัญกับคนมากขึ้น

The Next Gen

เวลาผ่านไป Megawood ค่อย ๆ เติบโตขึ้น จนเมื่อนิ้งเรียนจบ คุณพ่อจึงเรียกตัวเขาให้กลับมาช่วยบริหารธุรกิจที่บ้าน

“เดิมทีผมตั้งใจว่าอยากจะหน่วงเวลานิดหนึ่งเพื่อไปพิสูจน์ตัวเองก่อน แต่เมื่อคุณพ่อเอ่ยปากชวน ใจหนึ่งผมก็อยากกลับมาทำที่บ้านอยู่แล้ว”

ทว่าเส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป

ตำแหน่งแรกของนิ้งคือผู้ช่วยผู้จัดการโรงงาน ในแง่หนึ่งก็เป็นตำแหน่งที่ทำให้เขาได้เข้าไปดูในทุก ๆ ส่วนของโรงงาน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นตำแหน่งที่ทำให้เขาอึดอัดมาก ๆ เพราะแนวทางบริหารของเขากับผู้จัดการโรงงาน ซึ่งเป็นพนักงานเก่าแก่ของคุณพ่อนั้นไม่ตรงกัน 

“สมัยก่อนบริษัทไม่มีวิศวกรแม้แต่คนเดียว ผมจะรับเข้ามาสักคน เขาก็จะบอกว่าไม่จำเป็น เวลาจะขับเคลื่อนคน เขามีความเชื่อแบบดั้งเดิมว่าต้องใช้พลังลบคอยไล่หลัง แต่วิธีการของผมคือ เราไปข้างหน้า แล้วชวนเขาให้ตามเรามา”

เมื่อความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเวลาผ่านไปกว่า 5 ปี นิ้งตัดสินใจลาออกจาก Megawood ย้ายจากตรังไปอยู่โคราช เพื่อเป็นการพักใจให้กับตัวเอง

แต่ชะตาของเขากับ Megawood ก็มาบรรจบกันอีกครั้ง เพราะหลังจากนั้น Megawood ได้ขยายโรงงานไปที่หาดใหญ่ ทำให้หุ้นส่วนคนหนึ่งตัดสินใจโทรมาขอนัดพบกับนิ้ง

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ปฏิรูปธุรกิจไม้ยาง โดยให้ความสำคัญกับคนมากขึ้น

“ตอนนั้นผมก็สงสัยว่ามานัดเจอทำไมถึงโคราช เขาบอกว่าโรงงานที่หาดใหญ่เปลี่ยนผู้จัดการมาแล้วหลายคน แต่หาผู้จัดการดี ๆ ที่ลงตัวไม่ได้สักที เลยอยากให้ผมกลับไปช่วย

“ผมตอบเลยว่า ไม่ ถ้าจะให้ผมกลับไปแล้วเจอแบบเดิม ยังไงก็ไม่ ตอนนี้ถึงแม้ผมอาจจะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ผมมีความสุขดี ถ้าจะให้ผมกลับไปจริง ๆ ผมยื่นเงื่อนไขว่า ต้องมีพื้นที่ให้ผมทำงาน ให้ผมกำหนดนโยบาย ให้ทรัพยากรผม คุณเฝ้าอยู่ห่าง ๆ ผมจะรีพอร์ตเป็นระยะ ๆ ถ้าหากผลงานไม่ได้ เดี๋ยวผมถอยเอง”

เมื่อเวลาผ่านไป 2 อาทิตย์ หุ้นส่วนคนนั้นก็ได้โทรกลับมาหานิ้งว่าพวกเขาตกลงตามเงื่อนไข โดยจะให้สิทธิ์นิ้งในการบริหารโรงงานสาขาเต็มที่ ตั้งแต่ก่อสร้างโรงงานจนถึงการดำเนินกิจการ และหลังจากนั้นไม่นาน บอร์ดบริหารก็ตัดสินใจย้ายผู้จัดการคนเก่าไปคุมที่หาดใหญ่แทน และย้ายมาคุมโรงงานที่กำลังขยายตัวที่ตรัง ทำให้นิ้งได้ขึ้นเป็นผู้บริหารเต็มตัวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2558

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ปฏิรูปธุรกิจไม้ยาง โดยให้ความสำคัญกับคนมากขึ้น

ปฏิวัติ

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2558 – 2560 ที่นิ้งเข้ามา ตอนนั้นเป็นช่วงที่อุตสาหกกรมนี้กำลังไปได้ดี ทำให้กำไรของ Megawood เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า แต่เขายอมรับว่าตัวเองก็มีข้อผิดพลาดในช่วงนั้น

“ในช่วงนั้นเรียกได้ว่าลมมันส่ง ผมโชคดีที่เข้ามาในจังหวะที่ถูกต้อง ทำให้เลยดูเหมือนว่าผมเก่ง ในแง่หนึ่งมันก็ดี เพราะทำให้เรามีความมั่นใจ ผู้ถือหุ้นเราก็แฮปปี้ แต่ข้อเสียคือมันทำให้อัตตาเรามากขึ้น ผมบ้าบิ่นไปลงทุนสิ่งที่ไม่ควรเยอะ ไปทำธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับความเชี่ยวชาญของเราเลย อย่างเช่นสวนผักออร์แกนิก”

เมื่อวิกฤตวงการยางพารามาถึงใน พ.ศ. 2561 เขาจึงจำเป็นต้องตัดธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักออกไป แต่อีกสิ่งที่เขาเปลี่ยนบริษัทไปอย่างเห็นได้ชัด และทำให้ Megawood ฟื้นตัวจากวิกฤตในวงการไม้ยางพาราตอนนั้นได้อย่างรวดเร็วคือ

“ผมหันมาให้ความสำคัญกับระบบและคน”

“ตอนนั้นที่บริหารร่วมกับคุณพ่อ ผมยังไม่มีโอกาสได้ทำ แต่ตอนนี้ผมมีโอกาสแล้วก็เลยเต็มที่เลย เริ่มมีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ เอาที่ปรึกษาเข้ามาช่วงวางระบบบัญชี อะไรต่าง ๆ และข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุดเลยว่าสิ่งที่เราวางรากฐานวันนั้นแล้วมันประสบความสำเร็จ ก็คือการที่วันนี้ผมย้ายภูมิลำเนามาอยู่กรุงเทพฯ ได้”

“คนอื่นอีกหลายคน เขาบอกว่าผมกำลังทำผิดพลาดมหันต์ เพราะว่าอุตสาหกรรมไม้ยางพารา โดยปกติถ้าเจ้าของไม่อยู่จะมีแต่ความฉิบหาย เพราะช่องโหว่ค่อนข้างเยอะ แต่ปรากฏว่า 4 เดือนที่ผ่าน ระบบที่เราเซ็ตไว้ คนที่เราฝึกเขาไว้ เขาสานต่อสิ่งที่เราทำไว้ได้ แต่ก็แน่นอนว่ายังต้องพัฒนาอีกเยอะ”

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ผู้พิสูจน์ว่าการทำธุรกิจที่ดี พัฒนาผลประกอบการได้จริง

The People

เนื่องจากอุตสาหกรรมไม้ยางพาราโดยปกติแล้ว เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งขันกันที่ปริมาณ อัตรากำไรไม่ได้สูง สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมาเลย ก็คือการจ้างแรงงานในอัตราที่ถูกมาก ๆ

“ผมรู้สึกอึดอัดกับเรื่องนี้มานาน ผมไปเห็นบ้านพักของพนักงานที่อยู่กันแบบแร้นแค้น มีหนี้มีสินแล้วผมรับไม่ได้ ผมเลยตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้”

นิ้งตั้งใจจะทำสิ่งที่บริษัทอื่นไม่กล้าทำ เพื่อให้เป็นแบบอย่างกับบริษัทอื่น ๆ ในวงการ แล้วทำให้วงการนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกับเขา

ณ ตอนนี้คนงานกว่า 500 คนของ Megawood เป็นแรงงานไทยทั้งหมดเกือบ 100% โดยมีแรงงานต่างด้าวเพียง 3 คน ที่นิ้งเอาไว้ฝึกแผนก HR ในเรื่องของการทำเอกสารเท่านั้น

ถ้าหากถามว่าทำไมถึงต้องเป็นคนไทย เหตุผลของคุณนิ้งมีอยู่สั้น ๆ ข้อเดียว

“เพราะเราสื่อสารกันรู้เรื่อง”

“มันเป็นค่านิยมข้อแรกของเราเลยว่า เพราะเมื่อธุรกิจเกิดปัญหา แล้วเราไปเล่าให้เขาฟังว่าทุกคนต้องช่วยกันนะ เขาก็ปรับให้เราได้เลย เพราะฉะนั้น การพูดภาษาเดียวกับพวกเขามีความหมายมาก” 

มากกว่านั้น ค่าตอบแทนพนักงานที่ Megawood ในหลาย ๆ ตำแหน่ง ก็เรียกได้ว่าอยู่ในระดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีขนาดใกล้เคียงกัน 

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ผู้พิสูจน์ว่าการทำธุรกิจที่ดี พัฒนาผลประกอบการได้จริง

“สำหรับคนทำงาน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน เราต้องมองให้ออกถึงเบื้องหลังของเขา ว่าครอบครัวเขามีหนี้สิน มีปัญหาชีวิตอะไรที่อยู่เบื้องหลัง แม้เงินจะซื้อความสุขไม่ได้ แต่มันซื้อความสะดวกได้ แล้วถ้าเราจ้างเขาดีพอ มีงานให้เขาทำต่อเนื่องมากพอ ทำให้เขาเอาเงินตรงนั้นไปแก้ปัญหาบางอย่างในชีวิตเขาได้ มันจะทำให้เขาโฟกัสกับเรื่องงานได้มากขึ้น”

มากไปกว่านั้น Megawood ไม่ได้เพียงดูแลพนักงานในเรื่องค่าตอบแทน แต่ยังดูแลไปถึงคุณภาพชีวิตและพื้นเพของพนักงานเหล่านั้นด้วย บริษัทแห่งนี้เปิดคลินิกด้านการเงินสำหรับพนักงาน เพื่อช่วยเหลือในด้านวางแผนการเงินให้กับพนักงาน เรียกได้ว่าหลายครั้งถึงกับจูงมือไปปิดบัตร ลดหนี้ เลิกยากันเลยทีเดียว

“การที่เราให้ความสำคัญเรื่องพวกนี้ มันทำให้เราแตกต่างในหมู่ตลาดผู้ใช้แรงงาน

“เวลาเข้ามาทำงานแล้วถ้าเขามีความสุข ไม่ใช่แค่เราเห็นเขายิ้มในโรงงาน แต่ครอบครัวที่บ้านเขาก็จะได้ความรู้สึกที่ดีไปด้วย แต่ถ้าเขากลับไปแล้วเครียด ทะเลาะกับที่บ้าน แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นมาทำงานในสภาพที่ไม่พร้อม มันคือสิ่งที่ส่งต่อถึงกัน เราต้องมองเบื้องหลังของเบื้องหลังให้เห็น”

เมื่อคุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น จึงทำให้องค์กรน่ารักขึ้น พนักงานของ Megawood เกือบทุกคนแทบจะไม่มีใครลาออกเพราะไม่ชอบองค์กรเลย และจุดนี้จึงทำให้ Megawood มีพนักงานดี ๆ ที่คอยอยู่เคียงข้างองค์กร และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อวิกฤตผ่านไป

“เวลาเราจะหาคน ผมจะสัมภาษณ์โดยที่แทบไม่คุยเรื่องงานเลย เราจะคุยเรื่องการใช้ชีวิตเป็นหลัก เพื่อดู Mindset และ Character ของเขาว่าน่าทำงานด้วยไหม เราเชื่อว่าคาแรกเตอร์พวกนี้มันฝึกกันไม่ได้ แต่ทักษะต่าง ๆ มันฝึกกันได้”

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ผู้พิสูจน์ว่าการทำธุรกิจที่ดี พัฒนาผลประกอบการได้จริง

The System

จุดที่ทำให้นิ้งมาลงทุนในด้านคนได้ คือ ภรรยาของเขา ดิว-ภรรัก บวรธนสารกุล เข้ามาเป็นหนึ่งในทาเลนต์ของบริษัท

ในขณะที่นิ้งมีความรู้ในด้านวิศวกรรม ดิวก็มีความรู้ในด้านการวางระบบและการขาย ทำให้ Megawood สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารคลังสินค้า สร้างความเชื่อใจกับลูกค้าเพื่อปรับเปลี่ยนราคาซื้อ-ขาย วัตถุดิบและสินค้าให้เหมาะสมที่สุด ตั้งแต่การยอมให้ลูกค้านำสินค้าไปลองใช้ดูก่อน แล้วค่อยพิจารณาเพิ่มราคาในล็อตถัดไป

นี่จึงเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตรากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น จนลงทุนกับบุคลากรในองค์กรเพิ่มได้

ในทางกลับกัน ขณะที่หลาย ๆ องค์กรมุ่งเน้นเพิ่มกำไรโดยการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนพนักงาน แต่สำหรับ Megawood นิ้งกลับมองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ควรจะมาช่วย Empower พนักงานต่างหาก

“เมื่อวานเราเพิ่งประชุมกันไปว่า เรากำลังทำวิจัยพัฒนาเครื่องจักรชุดหนึ่งอยู่ โดยวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อการเลย์ออฟ แต่เป็นการมอบพลังให้เขา ทำให้เขาทำงานสะดวกขึ้น สร้างผลผลิตได้มากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีในการจัดการที่ทาง Megawood นำเข้ามาใช้ ในขณะที่บริษัทประเภทเดียวกันที่อื่น ๆ ยังไม่ได้นำเข้ามา เพื่อทำให้ช่างซ่อมบำรุงจนถึงหัวหน้างานติดต่อกันได้สะดวกยิ่งขึ้น

ในเรื่องของการพัฒนาองค์กรเอง นิ้งก็ยังสร้างเซ็ตคำถามขึ้นมา เพื่อให้พนักงานในองค์กรใช้ฟีดแบ็กและชื่นชมกันเองได้ ตลอดจนมี Session ที่นำคำถามเหล่านั้นมาฟีดแบ็กให้ผู้บริหารอย่างนิ้งฟังได้เช่นกัน

นี่จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่การพัฒนาระบบ ช่วยทลายกำแพงของอัตตาในการสื่อสารในองค์กรได้

Mega’s Future

สำหรับก้าวต่อไปของ Megawood นั้น นิ้งมองไว้ว่าคือการนำบริษัทไปสู่จุดที่มีรายได้ 2,000 ล้านให้ได้ โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญนั่นก็คือ การทำงานโดยไม่มีอัตตาและการเลือกคนที่ใช่เข้ามา ทำให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าวิกฤตเข้ามามากแค่ไหนก็ตาม

ท้ายที่สุด อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Megawood มาอยู่ในจุดนี้ได้ และจะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ ‘ความกล้าหาญ’

“พ่อเลือกที่จะปล่อยผมเล่นเองตั้งแต่ผมอายุเพียง 30 ในขณะที่รุ่นพ่อแม่ของกิจการอื่น ๆ ยังคงไม่ปล่อยมือกันง่าย ๆ ไม่ใช่เพราะท่านเห็นว่าผมเก่งหรือเชื่อใจผมหรอกนะครับ แต่เพราะท่านอ่านออกว่า ถ้าไม่ให้ผมเล่นท่าถนัดให้เต็มที่ ก็คงวัดผลไม่ได้ ดึงกันไปมา เสียทั้งความรู้สึก เสียทั้งผลประกอบการเปล่า ๆ

“ผมว่านี่คือความกล้าหาญมากครับ”

และความกล้าหาญนี้ก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นิ้งได้รับสืบทอดมาจากคุณพ่อของเขาด้วยเช่นกัน

ทายาท Megawood โรงงานแปรรูปไม้ในตรัง ผู้พิสูจน์ว่าการทำธุรกิจที่ดี พัฒนาผลประกอบการได้จริง

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ